ภาคผนวก : มุสลิมได้ผ่านทวีปนี้ก่อนชาวยุโรป

ภาพโลกของ อัล-มัสอูดียฺจากมิลเลอร์ แผนที่ของอาหรับ เล่มที่ 5 หน้า 156  -แผ่นดินที่น่าจะตรงกับทวีปอเมริกาในปัจจุบันถูกระบุว่า أرض مجهولة หรือ "แผ่นดินนิรนาม" นั่นเอง-ใครคือบุคคลแรกที่ค้นพบอเมริกา?  นี่คือคำถามที่ชวนให้งุนงง บทความทางวิชาการของอเมริกานับสิบได้พยายามหาคำตอบด้วยการขุดค้นทางมานุษวิทยา, โบราณคดี, และการบอกเล่าทางประวัติศาสตร์  คำตอบที่แน่ๆ ก็คือ ย่อมไม่ใช่นักท่องทะเลชาวสเปนนาม คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสที่เคยท่องทะเล เพื่อนำเอาเอาการค้นพบทวีปทั้ง 2 (อเมริกาเหนือ-ใต้) กลับมาอีกครั้งหนึ่ง และเปิดประตูแห่งการรุกรานของสเปน และชาวยุโรปต่อโลกใหม่เมื่อ 5 ศตวรรษก่อน  ชาวอินเดียนแดงเผ่าต่างๆ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับโลกเก่าอย่างไม่ต้องสงสัยได้เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่นั่นมาก่อนแล้ว นี่ย่อมหมายความว่า ต้องมีคนหนึ่งที่ได้ค้นพบทวีปอเมริกามาก่อนคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส

การศึกษาทางวิชาการเหล่านี้ได้บรรลุถึงผลลัพธ์ที่แน่นอนว่า มีการอพยพสู่ทวีปอเมริกาหลายระลอก  และมีหลักฐานทางโบราณคดีหลายชิ้นที่มีความเกี่ยวพันกับอารยธรรมหลากหลายเริ่มตั้งแต่อารยธรรมอียิปค์โบราณ, อารยธรรมของพวกฟินิเชี่ยน และอารยธรรมของจีนและอินเดีย ตลอดจนสิ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีในมรดกทางประวัติศาสตร์ของอิสลามในนามของ “ดินแดน อัลว๊าก-อัลว๊าก” ซึ่งก็คือรัฐต่างๆ ในสหภาพโซเวียตเก่า ซึ่งมีดินแดนเชื่อมต่อกับแคว้นไซบีเรียกับอล๊าสก้าอันมีช่องแคบขนาดเล็กที่สามารถใช้เรือใบข้ามช่องแคบดังกล่าวมาแบ่งแยกดินแดนนี้เท่านั้น

นอกเสียจากว่ามีหลักฐานยืนยันมากมายอย่างไร้ข้อกังขาถึงข้อที่ว่า ชาวมุสลิมผู้พิชิตได้เคยไปถึงยังดินแดนดังกล่าวมา และสถาปนาอิสลามขึ้นที่นั่น พร้อมทั้งเรียกร้องอิสลามมาก่อนแล้วในช่วงหลายศตวรรษของยุคกลางจวบจนกระทั่งคำสอนอิสลามได้บิดเบือนไปตามกาลเวลา อันเป็นผลมาจากขาดการติดต่อของผู้คนในทวีปอเมริกากับโลกอิสลาม หลักฐานเหล่านี้ถึงแม้ว่าจะมีมากมายแต่ก็ขาดความเป็นระบบในเชิงทฤษฎีทางวิชาการ แต่ทว่าเป็นเพียงข้อสังเกตของนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิชาวมุสลิม, ความจดจำต่างๆ ของอินเดียนแดงมุสลิมและสาระทางวิชาการที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในการศึกษาของสถาบันทางการศึกษาของอเมริกาเกี่ยวกับด้านนี้

เพื่อความเป็นรูปธรรมบรรดาข้อสังเกตที่มีความสำคัญและหายากเหล่านี้ซึ่งยังขาดความครบถ้วนสมบูรณ์ได้ถูกนักค้นคว้าที่มุ่งมั่นผู้หนึ่งซึ่งพยายามสืบสาวข้อสังเกตเหล่านี้ในรูปของทฤษฎีวิชาการอันมีท่าทีเป็นประจักษ์พยานยืนยันถึงความรุ่งเรืองแห่งการเคลื่อนไหวในการเรียกร้องของอิสลาม และเป็นสิ่งกระตุ้นเร่งเร้าให้บรรดาอนุชนที่เป็นลูกหลานในยุคใหม่ให้สืบสานการดำเนินงานอันมั่นคงเช่นนี้ซึ่งเผยแผ่อิสลามออกไปทุกสารทิศของโลกกลมๆ ใบนี้


ส่วนหนึ่งจากบรรดาข้อสังเกตที่น่าชวนวิเคราะห์ ก็คือการปรากฏนามชื่อของเมืองและตำบลในอเมริกาจำนวนนับร้อยด้วยนามชื่อในอิสลาม ชื่อบ้านนามเมืองเหล่านี้เหล่าอินเดียนแดงได้ใช้เรียกขานเมืองต่างๆ ของพวกเขา และชาวยุโรปก็ยังคงอนุรักษ์นามชื่อเหล่านั้นไว้โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลง บรรดาตัวอย่างที่แพร่หลายและคุ้นเคยในการเรียกขานจนติดปากของอินเดียนแดงมุสลิมเหล่านี้ก็เช่น เมือง ”ตัลลอ-ฮาซี” (تالله هاسي) ซึ่งในภาษาของอินเดียนแดงหมายถึง “พระเจ้าทรงประทานให้แก่ท่านในอนาคต” (الله سيطيك في المتقبل)

นักค้นคว้าลูกครึ่งเลบานอน แคนาดา นามว่า ดร.ยูซุฟ มัรวะห์ ซึ่งบางทีท่านผู้นี้อาจจะเป็นนักค้นคว้าชาวมุสลิมที่โดดเด่นที่สุดในกรณีสันทัดนี้ก็เป็นได้ ท่านได้รวบรวมนามชื่อจำนวน 565 ชื่ออันเป็นชื่อเรียกสถานที่ (หมู่บ้าน, ตำบล, เมือง, ภูเขา, ทะเลสาบ, แม่น้ำ ฯลฯ) ในอเมริกาเหนือซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาอาหรับและเกี่ยวพันกับอิสลามในจำนวน 565 ชื่อนี้ มีปรากฏอยู่ในอเมริกาถึง 484 ชื่อ แคนาดา 81 ชื่อ

สถานที่ต่างๆ เหล่านี้ได้รับการขนานนามในช่วงระยะเวลาก่อนการค้นพบโลกใหม่ของโคลัมบัส ส่วนหนึ่งจากนามชื่อเหล่านี้ ได้แก่ (ตัวเลขในวงเล็บแสดงจำนวนประชากร) หมู่บ้านมักกะห์ (720) ในมลรัฐอินเดียน่า, เผ่ามักกะห์อัลฮิดียะห์ ในวอชิงตัน ตำบล “มะดีนะห์” (1100) และ “ฮาซิน” (هازن) (500) มลรัฐนอร์ตดาโกต้า มะดีนะห์ (1700) และมะดีนะห์ (120000) ทั้ง 2 ที่อยู่ในโอไฮโอ มะดีนะห์ (1100) มลรัฐเทนเนสซี่ มะดีนะห์ (26000) มลรัฐเท็กซัส มะดีนะห์ (1200) รัฐเอ็นตาริโอของแคนาดา และ “เมฮเมต” ซึ่งมาจากคำว่า มุฮำหมัด (محمد) (3200) มลรัฐอิลินอย มินา (100) รัฐ ยูท่าห์ และ “อัรฟา” ซึ่งมาจากคำว่า อะรอฟะห์ (عرفة) (700) รัฐออนตาริโอของแคนาดา

ดร.มัรวะห์ได้ค้นคว้าถึงต้นตอที่มาของชื่อเผ่าอินเดียนแดงเป็นจำนวนมากว่าที่มาจาก ภาษาอาหรับและเกี่ยวข้องกับอิสลาม นอกจากนี้ ดร.มัรวะห์ยังได้พบว่ามีชื่อที่มีรากศัพท์ในภาษาอาหรับใช้เรียกเมืองและตำบลในหมู่เกาะจาไมก้า, อาฮาม่า, ไฮติ, โดมินิกัน, ทรินิแดด, โปรโตริโก, คิวบา, อาร์เจนติน่า, บราซิล และแม็กซิโก ที่สำคัญๆ ได้แก่คำว่า “ยาอัลลอฮฺ”, “มักกะห์”, “มะดีนะห์ “มัคคอ”   ซึ่งมาจากคำว่า มักกะห์ หรือท่าเรือของเมือง มัคคอในเยเมน, คำว่าแอดนิ (เอเดน) ในจาไมกา, คำว่า มัคคอ, อารูส, มินาในโปรโตริโก

ยิ่งไปกว่านั้น คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้บันทึกเล่าไว้ในสมุดบันทึกความจำของตนว่า “ในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1492 เขาได้ลงทอดสมอที่เกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งใน อัลบาฮาม่า เกาะนี้ถูกเรียกว่า “ญุวานฮานี” ซึ่งต่อมาได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ซาน เซลฟาโดร” ตามที่โคลัมบัสตั้งให้ ดร.ยูซุฟ มัรวะห์ มีความเห็นว่า นามชื่อว่า ญุวาน ฮานี นี้ถูกเรียกเพี้ยนมาจากสำนวนในภาษาอาหรับที่ว่า “อิควาน ฮานี” ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่แพร่หลายในแคว้นเอ็นดาลูเซียของสเปน ซึ่งบางทีชาวเอ็นดาลูเซียซึ่งเป็นอาหรับมุสลิม (หรือพวกมัวร์) อาจจะเป็นพวกแรกที่ค้นพบเกาะแห่งนี้มาก่อนก็เป็นได้

และเฟอร์ดินานด์ โคลัมบัส บุตรชายของคริสโตเฟอร์ได้เล่าว่าบิดาของตนได้พบชายฉกรรจ์ผิวดำหลายคนในเขตของฮอนดูรัส, ซึ่งพวกนี้โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวเผ่าเผ่าหนึ่งที่ในเวลานั้นอาศัยอยู่ใน “เอลมามี่ย์” ดร.มัรวะห์มีข้อคิดเห็นว่าคำนี้น่าจะมาจากคำในภาษาอาหรับที่ว่า อัลอิมาม (الامام)

เท่านั้นยังไม่พอ ดร.ฟิลบารี่ย์ นักวิชาการชาวอเมริกาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ซึ่งเป็นนักค้นคว้าที่โด่งดังระดับโลกคนหนึ่งในด้านพิสูจน์-อ่านอักขระและการแกะสลักของมนุษย์ในยุคโบราณได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ “อเมริกาก่อนคริสตกาล ; ผู้ตั้งชุมชนโบราณในโลกใหม่” ว่าเขาได้พบคำในภาษาอาหรับจำนวนนับสิบปรากฏอยู่ในภาษาของอินเดียนแดงซึ่งยังคงมีสำเนียงเหมือนเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือผิดเพี้ยนไปแม้แต่น้อยตามกาลเวลา

คำต่างๆ เหล่านี้ (พร้อมด้วยความหมายของแต่ละคำในการใช้อินเดียนแดงจะอยู่ในวงเล็บ)  ได้แก่ ว่าต่อน (โลก,พื้นดิน), สิกอย (การรดน้ำ,บริการน้ำ), ฮ่าซีดะห์ (มาจากคำว่า ฮ่าซีดะห์ในภาษาอาหรับซึ่งหมายถึงสิ่งเพาะปลูกที่ถูกเก็บเกี่ยว) ดัลกุ, ดะลัก (ฝนตก) นัตจฺ (ออกลูกออกผลหรือให้ลูกให้ลูกให้ผล, ผลผลิต) บุนยาน (สร้างหรือยกสูงกว่าพื้น) ฮุวา (เขา), กอฮิร (ผู้พิชิต) อิฮยานี (ผู้ให้ชีวิต) ยา อัยยะห์ (โอ้ช่างน่าอัศจรรย์) อะตา (เพี้ยนมาจากคำว่า อะอฺตอ และคำว่าอะตา นี้ก็ถูกใช้ในความหมายว่า “มอบให้” ),  เซาวา (ถูกจัดให้เป็นระเบียบ, แน่นอน) ตักซฺ (บรรยากาศ, อากาศ), วาบิ้ล (ฝน), ฮามมา (มาจากคำว่า ฮัมมะห์ (حمة) ซึ่งมีความหมายว่า “ร้อน” ก่อฮูล่า (มาจากคำว่า อัลกุฮูละห์ (القحولة) ซึ่งแปลว่า แห้งแล้ง หรือแห้ง) โกน(จักรวาลหรือโลก) ซับกฺ (รูปร่าง, รูปทรง) มันยา (มาจากคำว่า มินยะห์ หรือ มันยะห์ ซึ่งหมายถึง ลิขิต, การกำหนด) อะมาร (ดวงจันทร์, รุ่ซูบ (น้ำขัง หรือ โกรธ)

อย่างไรก็ตามเมื่อเราได้อ่านตัวอย่างเหล่านี้นั้นเราสามารถสังเกตถึงสิ่งที่ ดร.ฟิล บารี่ อาจจะไม่ได้ฉุกคิดนั่นก็คือคำเหล่านี้หลายคำมีความเกี่ยวข้องกับพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเป็นคำอธิบายที่เป็นที่ยอมรับเมื่อนำไปเทียบกันระหว่างภาษาของชนชาติอิสลามทั้งหลายที่ล้วนแล้วแต่มีภาษาอาหรับที่เกี่ยวข้องกับอัลกุรอานเข้าไปผสมร่วมกับภาษาอื่นๆ ทั้งนี้เพราะว่าชาวมุสลิมให้ความสำคัญในการศึกษาและท่องจำอัลกุรอาน

อิสลามศึกษาเมื่อหลายศตวรรษ

ดร.บารี่ย์ ฟิล ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักฐานทางวิชาการที่มีน้ำหนักในหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า “ประวัติศาสตร์อเมริกา” หลักฐานเหล่านี้ได้ยืนยันถึงการมีโรงเรียนอิสลามศึกษาประมาณ 10 กว่าแห่งปรากฏอยู่ในทวีปอเมริกา เช่น ในรัฐเนวาดา, โคโลราโด, นิวแม็กซิโก และอินเดียน่าในสหรัฐอเมริกา ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประวัติจนกลับไปในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 700 ถึง 800

ศาสตราจารย์ Barry Fell ผู้ซึ่งเกษียณจากมหาวิทยาลัย Harvard และเป็นสมาชิกของวิทยาลัยเพื่อวิทยาศาสตร์และศิลปะแห่งอเมริกา สมาคม The Royal Society สมาคมศึกษาอักษรโบราณ สมาคมวิทยาศาสตร์และการค้นพบวัตถุ ได้ยืนยันเกี่ยวกับการแผ่ขยายของอิสลามในอเมริกาในช่วงปี 650-659 ซึ่งเป็นการวินิจฉัยว่าข้อโต้แย้งของลายลักษณ์อักษร Cufic ในยุคนั้นที่มีการขุดค้นพบหลักฐานต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา หากคำพูดของศาสตราจารย์ Fell เป็นจริง กล่าวได้ว่าชาวมุสลิมได้เข้าถึงดินแดนอเมริการะหว่างยุคของท่านอุสมาน (Uthman) หรืออย่างน้อยที่สุดในยุคของท่านอาลี คอลีฟะฮฺที่สี่ อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวไม่มีการค้นพบในหลักฐานของชาวมุสลิม

ศาสตราจารย์ Fell ได้ใช้หลักฐานจากการขุดค้นด้านโบรารสถานหลาย ๆ ครั้ง ที่เกิดขึ้นหลายๆที่ในมลรัฐโคโลราโด นิวเม็กซิโกและอินเดียน่า เพื่อยืนยันว่ามีการก่อสร้างสำนักศึกษาของชาวมุสลิมในระหว่างยุคศาสนจักรของ อังกฤษระหว่างปี 700-800 ตัวอักษร ภาพวาด และชาร์ตต่างๆ ที่สลักบนก้อนหินซึ่งถูกค้นพบในที่ห่างไกล และเป็นซากแผ่นหินในแถบอเมริกาตะวันตกที่แสดงถึงระบบการศึกษาระดับพื้นฐาน และระดับกลางของชาวมุสลิมในช่วงนั้น เอกสารเหล่านี้บันทึกเป็นตัวอักษร Cufic ของภาษาอาหรับแถบแอฟริกาเหนือ ซึ่งครอบคลุมวิชาต่าง ๆ อาทิ การอ่าน การเขียน เรขาคณิต ศาสนา ประวัติศาสตร์ ภูมิสาสตร์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และการเดินเรือ บรรพบุรุษของผู้ตั้งถิ่นฐานเหล่านี้น่าจะเป็นเผ่าพื้นเมืองของ Iroquois, Algoquins, Anasazi Hohokam และ Olmec ในปัจจุบัน

ดร.บารี่ได้ค้นพบตัวบทบันทึก, ตารางการเรียนการสอน และใบแสดงค่าธรรมเนียมที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งบอกถึงระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนหลายแห่งที่สอนในระดับประถมศึกษาและระดับอุดมศึกษา บรรดาลายลักษณ์อักษรที่ใช้เขียนในโรงเรียนเหล่านั้นใช้ตัวอักษรกูฟีย์โบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอักษรอาหรับแบบกูฟีย์โบราณที่ถูกใช้เขียนในแถว แอฟริกาเหนือ บรรดาเนื้อหาสาระที่บทบันทึกด้วยภาษาอาหรับกูฟีย์โบราณนี้กล่าวถึงตามความคิดของ ดร.เบรี่ก็คือ การอ่าน, การเขียน, คำนวณ, วิชาศาสนา, ประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์, คณิตศาสตร์, ดาราศาสตร์ และวิชาการตั้งสมมุติฐานข้อสังเกต

ดร.เบรี่เชื่อว่า ชาวมุสลิมที่เคยมาเยือนอเมริกาซึ่งมาจากแถบแอฟริกาเหนือได้กลายเป็นอินเดียนแดงหลายเผ่าด้วยกัน คือ อินเดียนแดงเผ่า อิรก่อวีซ ญุนญ่าวีน อานาซาซียฺ, โฮโกกัม, โอลเกม ดร.เบรี่ได้ชี้ชัดถึงสิ่งสลักที่มีนามชื่อ มูฮำหมัด (ซ.ล.) ที่ถูกค้นพบในเนวาดา, และถูกเก็บรักษาไว้ในมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ และแผ่นสลักคำว่า “บิสมิลลาห์” ที่ถูกค้นพบในรัฐเนวาดาอีกเช่นกัน

 

หลักฐานชิ้นที่สองโดยศาสตราจารย์ Fell คือ ข้อความจารึก “ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ” (ภาพที่ 1) พบบนหินในช่วงที่มีการขุดค้นทางโบราณคดีเนวาดา อยู่ในยุคศตวรรษที่เจ็ด ซึ่งสัญลักษณ์ระบบ Haraka ยังไม่ถูกพัฒนา เช่นเดียวกับหินที่มีข้อควาจารึก “มูฮัมมัดคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ” (ภาพที่ 2) ซึ่งอยู่ในยุคเดียวกัน เมื่อมองหลักฐานทั้งสองชิ้นเปรียบเทียบกัน ข้อความจารึกนั้นไม่ใช่อักษรอารบิกสมัยปัจจุบัน ตรงกันข้ามทั้งสองสิ่งเป็นอักษรสไตล์ Cufic ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในยุคศตวรรษที่เจ็ด

จากข้อค้นพบของศาตราจารย์ Fell ชาวอาหรับตั้งรกรากในเนวาดาระหว่างศตวรรษที่เจ็ดถึงแปด การมีอยู่ของสำนักการศึกษาก่อนหน้านี้ ซึ่งเผยแพร่อิสลามและวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินเรือทำให้มีความหวังตามมาด้วยการตรวจสอบทางโบราณคดีโดยศาสตราจารย์ Heizer และศาสตราจารย์ Baumhoff แห่งมหาวิทยาลัย California ที่เขต site WA 25 ในเนวาดา การขุดค้นในเนวาดาค้นพบและการเขียนในรูปของอักขระ Naskhi Arabic และอักษรซูฟิก (Cufic style) ซึ่งถูกจารึกบนก้อนหินหลายก้อนซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับสำนักนี้

(ภาพที่ 3) การใช้สูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์ “เพชร 5 เม็ด เท่ากับ อลีฟ” (อักษรแรกของอักษรอารบิก) จากภาพ 3b และ 3c ถูกพบระหว่างการขุดค้นพบในเนวาดามีลักษณะเดียวกันกับอักษรอารบิกที่พบในแอฟริกาเหนือ ในทำนองเดียวกันหินก้อนอื่นๆ ที่ถูกพบในเนวาดามีคำจารึกไว้ว่า “พระเจ้า” ในลักษณะเทคนิคที่โดดเด่นของยุคศตวรรษที่ 7-8 ในแอฟริกาเหนือ ความคล้ายคลึงด้านลักษณะอักษรระหว่างสไตล์การเขียนที่หลากหลายของนามศาสนฑูตในหลายช่วงเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับแอฟริกาและอเมริกา ซึ่งพบระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดีเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ภาพ 4  A ถูกพบใน al-Ain Lahag ประเทศโมรอคโค และภาพ ภาพ 4B พบในแม่น้ำ East Walker หลักฐานทั้งสองชิ้นขณะนี้อยู่ที่มหาวิทยาลัยคาลิฟอเนีย ภาพ 4C ถูกค้นพบในเนวาดา ภาพ 4C และ 4D ตั้งอยู่ที่ มณฑล Churchill และถูกเก็บไว้ในมหาวิทยาลัยคาลิฟอเนีย เช่นเดียวกับ ภาพ 4F ที่ถูกค้นพบใน Al-Haji Minoun ประเทศโมรอคโค ขณะที่ภาพ 4G จารึกบนดินเผาซึ่งถูกเปิดเผยใน Al-Suk เมือง Tripoli ประเทศลิเบีย และภาพ 4H ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอเนีย ถูกค้นพบใน Cottonwood Canyon และสุดท้ายภาพ 4I ตั้งอยู่ที่ชายแดนระหว่างโมรอคโคและลิเบีย สิ่งจารึกทั้งหมดนี้เป็นของยุคศตวรรษที่ 8-9 แสดงได้อย่างชัดเจนถึงความคล้ายคลึงของลักษณะอักษรของอเมริกาเหนือและแอฟริกาเหนือ เช่นเดียวกับข้อคิดเห็นอย่างเปิดเผยของการอพยพที่เกิดขึ้นจากทวีปในแอฟริกาไปสู่ทวีปอเมริกา

และสิ่งแกะสลักที่ถูกค้นพบในชุดแรกๆ ที่ถูกสลักด้วยคำอาหรับลายกูฟีย์ว่า “ชัมส์” (شمس) ซึ่งถูกพบในรัฐเท็กซัสในปี ค.ศ.1935 หลังจากนั้นก็มีการค้นพบแผ่นแกะสลักภาษาอาหรับลายกูฟียฺอีกเป็นจำนวนหลาย 10 ชิ้น ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ 18 แห่งของอเมริกา และพิพิธภัณฑ์ในแคนานดาอีก 6 แห่ง

ภาพที่ 5 อักขระซูฟิก ถูกพบในปี 1951 ใน White Mountains ใกล้กับเมืองเบนตันชายแดนเมืองเนวาดา ประโยคที่กล่าวว่า “Shaytan maha mayan” หมายถึงชัยตอนนั้นเป็นที่มาของการความเท็จทั้งปวง ถูกเขียนในภาษาอาหรับสไตล์ซูฟิก ซึ่งพบในช่วงศตวรรษที่เจ็ด

ดร.มูฮำหมัด ญัรรอรีย์ และดร.อาลี ค่อซีม จากมหาวิทยาลัยเบงงอซี และทรีโปลีในลิเบียได้มีส่วนร่วมในการกำหนดอายุแผ่นสลักและอ่านคำแปลในช่วงระหว่างเยือนมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด และเช่นกัน  ดร.บารี่  สามารถนำเอาอักษรที่แสดงค่าทางคณิตศาสตร์ของอินเดียนแดงบางเผ่าที่ยังคงถูกใช้อยู่ในปัจจุบันมาเชื่อมเกี่ยวแสดงความสัมพันธ์กับอักษรที่แสดงค่าคณิตศาสตร์ของอาหรับทั้งที่ใช้ออกเสียงและใช้เขียนโดยดร.ได้ยืนยันว่าอักษรอาหรับเป็นรากฐานที่มา

อีกด้านหนึ่ง ดร.บารี่ ได้ชี้ถึงแผ่นสลักชิ้นหนึ่งที่สลักว่า : บันทึกสำหรับการเยือนของ นักท่องทะเลจากมาลายา (تسجيل لن يارةجرلملايا) ซึ่งถูกค้นพบใน “ซานเซลฟาโดร” ดร.บารี่ กล่าวว่า : นักท่องทะเลชาวมุสลิมและมุสลิมบางคนที่พูดภาษาอาหรับได้ (ตามหลักฐานของสิ่งแกะสลัก) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 มีความนิยมในการเยือนอินโดนีเซียและเขตที่ใกล้เคียง และบางทีพวกนี้อาจจะเดินเรือท่องทะเลสู่ตะวันออก (ในมหาสมุทรแปซิฟิก) จนกระทั่งได้ขึ้นทางทิศตะวันตกของผืนแผ่นดินของทวีปอเมริกาเหนือและใต้ ตรงบริเวณรัฐแคลิเฟอร์เนียและรัฐเนวาดาของอเมริกา

ภาพที่แปด แสดงให้เห็นชิ้นส่วนของหินที่ถูกค้นพบในถ้ำที่อยู่ในเขต Corinto ประเทศเอลซัลวาดอร์ ซึ่งมีคำจารึกว่า “Malaka Haji mi Malaya” ซึ่งถูกบ่งชี้ว่าอยู่ในยุคศตวรรษที่สิบสาม มีคำแนะนำที่เป็นไปได้ว่ามุสลิมในแอฟริกาใต้น่าจะมาจากที่ใดที่หนึ่งในอินโดนีเซีย

และดร.เบรี่ ฟิล ยังได้ค้นพบเหรียญกษาปณ์และเหรียญตราของอิสลามอีกเป็นจำนวนนับสิบในอเมริกา นอกจากว่า ดร.เบรี่ ฟิล ตั้งสมมุติฐานว่า เหรียญกษาปณ์เหล่านี้ถูกนำมายังที่นี่โดยกลุ่มคนที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมทั้งนี้เป็นเพราะว่าเหรียญตราเหล่านี้เป็นที่แพร่หลายอยู่ในยุโรปและแอฟริกาเหนือ

ระหว่างที่เดินทางไปเมือง Malden สู่ Cambridge ในรัฐ Massachusetts ในปี 1787 นาย Thaddeus Mason Harris ได้กล่าวถึงเหรียญซึ่งถูกค้นพบระหว่างการก่อสร้างถนน ผู้ที่ค้นพบมิได้ให้ความสำคัญกับเหรียญนี้มากนักโดยแสดงให้เห็นด้วยการวางไว้ในอุ้งมือ ดังนั้น Harris ตัดสินใจส่งเหรียญนี้ไปตรวจสอบยังห้องสมุดมหาวิทยาลัย Harvard (ภาพที่ 7) จากการศึกษาแสดงผลว่า นี่คือเหรียญ Samarqand ดิรฮัม จากศตวรรษที่แปดและเก้า จากที่เห็นในภาพ เหรียญแสดงให้เห็นคำว่า “ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ มูฮัมมะดุรร่อซูลลุ้ลลอฮฺ” (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ นบีมูฮัมมัดคือร่อซูลของพระองค์) และ “บิสมิลลาฮฺ” (ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ)

ดร.ไซรูส กอร์ดอน ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ “ก่อนโคลัมบัส” ว่าเขาไม่ยอมรับว่า ชาวมุสลิมได้เดินทางมาถึงอเมริกาในยุคต้นๆ นอกเสียจากจุดเดียวที่ ดร. ผู้นี้กล่าวถึงในหนังสือของเขาว่ามีการค้นพบเหรียญตราจำนวนมากในเวเนซูเอลา ที่มีทั้งเหรียญตราของโรมันและเหรียญกษาปณ์อิสลามจำนวน 2 เหรียญ ที่มีอายุราวฮิจเราะหฺที่ 8 โดยกอร์ดอนได้บ่งชี้ว่า สิ่งนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่ามีเรือท่องมาจากแอฟริกาเหนือหรือเอ็นดาลูเซียในสเปนได้เคยมาถึงทวีปอเมริกา ซึ่งคาดว่าราวๆ ปี ค.ศ. 800

ทั้งนี้เพราะว่าเหรียญตราของโรมันนั้นยังคงเป็นที่นิยมใช้ กันของประชาชนในจักรวรรดิอิสลาม ช่างเป็นสิ่งที่น่าทึ่งที่ถ้อยคำปฏิญาณทั้ง 2 ประโยค, พระนามของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) พระนามของศาสนทูตของพระองค์ (ซง,ง) ได้ถูกฝังลงในดินแดนแห่งนี้ประหนึ่งดังราวหลักฐานอันชัดเจนถึงความเป็นสากล และความยิ่งใหญ่ของสาส์นอิสลาม

อีกประการหนึ่ง คำจารึกที่อยู่บนหินซึ่งเป็นของยุคก่อนหน้าช่วงปี 650 ด้วยอักษรซูฟิก คำว่า Hamid (ภาพที่หก) เป็นอีกหนึ่งคำจารึกที่ถูกค้นพบบนหินแอตแลนต้า ในหมู่บ้าน Fire ในเนวาดา

โคลัมบัสเคยเห็นมัสยิด

ยิ่งไปกว่านั้น โคลัมบัสได้บันทึกยอมรับไว้ในสมุดโน้ตของเขาว่า “ในวันหนึ่งของเดือนตุลาคม ปีค.ศ. 1492 ขณะที่เรือของเขาได้ล่องทะเลอยู่ใกล้ๆ กับชายฝั่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของคิวบา โคลัมบัสได้เห็นมัสยิดแห่งหนึ่งตระหง่านอยู่เหนือยอดเขาอันงดงาม

ดร.ยูซุฟ มัรวะห์ กล่าวว่า ร่องรอยของโบราณสถานที่เป็นมัสยิด, หออะซาน และสิ่งแกะสลักสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของอิสลามได้ถูกค้นพบในคิวบา, แม็กซิโก, รัฐเท็กซัส และเนวาดา อาทิเช่น ร่องรอยของ หออะซานของเมืองลารีโด รัฐโนโฟลีออนของเม็กซิโก โดยมีลายแกะสลักบนหออะซานดังกล่าวโดยประโยคที่ว่า (لاخالب الاالله) ไม่มีผู้พิชิตใดนอกจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และร่องรอยของมัสยิดในโดนิมิกันที่ถูกเปลี่ยนเป็นโบสถ์คริสต์ในภายหลัง

ซึ่งตัวอักขระภาษาอาหรับที่ยังคงปรากฏอยู่บนฝาผนังของมัสยิดแห่งนี้จวบจนทุกวันนี้ด้วยประโยคที่ว่า : لااله الاالله محمدرسول الله และในเมืองออสติน มลรัฐแท็กซัสได้ถูกค้นพบหินโบราณก้อนหนึ่งที่มีอายุราวศตวรรษที่ 12 ถูกสลักว่า بسم الله الرحمن الرحم และในเกาะคิวบา มลรัฐกามาฆ่อวี มีอาคารโบราณสถานเก่าแก่สีขาวที่มีรูปทรงกลมสวยงามมีขนาดกว้างและมีผนังสูง อาคารแห่งนี้ถูกสร้างจากหินสีขาวที่ถูกแกะสลัก และยังมีประตูเหล็กที่หนักอึ้งมีโค้งจากช่วงบนสุด และมีช่องหน้าต่างสูงรูปทรงกลมใส่กระจกสีลายล้อม

ผู้มาเยือนขณะเดินเข้าสู่ภายในอาคารแห่งนี้จะพบว่าพื้นทั้งหมดจะถูกปูด้วยแผ่นหินอ่อนที่มีฐานกลมยกสูงขึ้นมาเหนือพื้นตามระยะทางที่แบ่งช่วงเท่าๆ กัน มีเสาหินอ่อนสีขาวตั้งเด่นอยู่บนฐานนั้นโดยเสาเหล่านี้จะแบ่งสัดส่วนของป้อมหรือปราสาทออกเป็นปีกระเบียงและห้องมากมาย นอกจากนี้ยังมีก้อนหินขนาดกว้างมียอดโมสูงมีโองการอัลกุรอานที่ถูกแกะสลักบนผนังปรากฏชัด และมีธรรมาสน์ (มิมบัร) ที่ยืนละหมาดของอิหม่าม (เมี๊ยะฮฺรอบ) และตะเกียงน้ำมันภายในสถานที่แห่งนี้ซึ่งเป็นมัสยิดของผู้อาศัยอยู่ในป้อมดังกล่าว

ป้อมแห่งนี้ตั้งอยู่ตรงระยะทาง 40 ก.ม. ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองท่องเที่ยวที่รู้จักกันในนาม “ซิยาโง ดี อาฟีล่า” บนฝั่งตะวันตกของเกาะแห่งหนึ่งในอ่าว แอนนา มาเรีย” และที่ตั้งของป้อมก็ห่างจากน้ำทะเลแคริบเบียนเพียงแค่ 12 เมตรกว่าๆ เท่านั้น กระทรวงการท่องเที่ยวได้บูรณะป้อมแห่งนี้ในต้นทศวรรษที่ 70 และเปลี่ยนห้องชั้นล่างและชั้นบนบางห้องของป้อมเป็นห้องอาหารสำหรับบริการนักท่องเที่ยว นักเชี่ยวชาญทางโบราณคดีในคิวบาได้กล่าวว่า : ป้อมแห้งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1192 นั่นก็คือก่อนหน้าโคลัมบัสถึง 300 ปี

ดร.จอห์น ตาซีร ยังได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส” ว่า ในการเดินทางครั้งที่ 2 ของโคลัมบัสเขาได้รับทราบจากล่ามชาวไฮติว่า ชาวแอฟริกาผิวดำได้มาถึงไฮติก่อนหน้าโคลัมบัส และชาวไฮติก็ได้นำหลักฐานชิ้นหนึ่งมายืนยันถึงสิ่งดังกล่าว อันเป็นศาตราวุธที่ชาวแอฟริกันมุสลิมได้ทิ้งเอาไว้ ศาตราวุธชิ้นนี้ถูกทำมาจากแร่สีเหลืองในแอฟริกาเรียกว่ากันว่า “ฆ่อวานีม” ซึ่งเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ชาวอาหรับว่า ฆี่นา หรือ ฆ่อนี่ โคลัมบัสได้นำเอาแร่ชนิดนี้บางส่วนกลับไปยังสเปนเพื่อตรวจสอบและเขาก็พบว่า 56.25% จากแร่ชนิดนี้เป็นทองคำ 18.75% เป็นเงิน 25% เป็นทองแดง ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ของส่วนประกอบเดียวกันที่ถูกผลิตในกีเนียของ แอฟริกา

ในการเดินทางครั้งที่ 3 ของโคลัมบัสในปี ค.ศ. 1498 เขาได้ขึ้นบกที่ทรินิแดดโดยที่เขาต้องประหลาดใจว่า ผู้คนที่นั่นใช้ผ้าเช็ดหน้าที่ถูกทอมาจากฝ้ายอย่างละเอียดประณีต โคลัมบัสได้สังเกตเห็นว่าผ้าเช็ดหน้าเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกับผ้าปิดศีรษะและผ้าท่อนล่างที่ถูกใช้ในกีเนีย ทั้งสีสัน รูปแบบ และความสะอาดสะอ้านของมัน โคลัมบัสยังได้กล่าวบันทึกไว้อีกว่า ชื่อของผ้าชนิดนี้คือ “อัล-มิฮฺซัร” ซึ่งก็คือคำในภาษาอาหรับที่หมายถึงชนิดของเสื้อผ้าซึ่งยังคงใช้กันอยู่จนถึงทุกวันนี้ในเขตร้อนของบางประเทศในกลุ่มประเทศอาหรับ แอฟริกาและในแถบเส้นศูนย์สูตร เช่น อินโดนีเซีย เป็นต้น เช่นกัน โคลัมบัส แสดงความแปลกใจว่า สตรีอินเดียนแดงที่แต่งงานแล้วจะสวมใส่กางเกงชั้นในขาสั้น และเขาก็ตั้งคำถามว่าเป็นไปได้อย่างไรที่คนเช่นคนเหล่านี้จะเรียนรู้ถึงสิ่งดังกล่าวได้

เฮอร์นาน เกอร์ติช นายทหารชาวสเปนได้เล่าพรรณนาถึงเสื้อผ้าของผู้หญิงอินเดียนว่าเป็น “ฮิญาบชุดยาว” และเสื้อผ้าของผู้ชายอินเดียนแดงว่าเหมือนกับ “อัลมิอฺซัร” เฟอร์ดินาน โคลัมบัสผู้เป็นลูกได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาที่เขียนถึงคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสผู้เป็นบิดาว่า “อัลมิอฺซัร” เป็นเสื้อผ้าแบบเดียวกันและชนิดผ้าเดียวกันที่สตรีชาวมัวร์ (ชาวมัวร์ที่ยังคงอยู่ในสเปนหลัง แกรนาดาล่มสลาย) ในแกรนาดาใช้สวมใส่ หญิงชาวมัวร์นั้นหมายถึงชาวมุสลิมในสเปนที่ยังคงเหลืออยู่หลังการยึดครองของฝรั่งคริสเตียน และยังคงมีความคล้ายคลึงกันระหว่างผ้าคลุมของเด็กๆ กับผ้าคลุมที่ใช้กันในแอฟริกาเหนืออันเป็นเรื่องเหลือเชื่อตามหนังสืออ้างอิงดังกล่าว

คอลิด อับดุรร่ออูฟ (ทรอย เพนเธอร์ เดิม) หนุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายสวิสในขณะที่มารดาของเขามีเชื้อสายเผ่าชีโรกี ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระหว่างชาวอินเดียนแดงด้วยกัน และยังเป็นที่ทราบกันดีถึงเรื่องราวการทรมานที่เผ่าชีโรกีได้ประสบจากน้ำมือของชาวยุโรปผู้รุกรานทวีปอเมริกาในยุคแรกๆ หลังจากการค้นพบทองคำในเขตจอร์เจีย ซึ่งเป็นดินแดนของพวกเขา และเผ่าชีโรกีได้อพยพเข้าสู่ดินแดนส่วนในของอเมริกาซึ่งรู้จักกันในมรดกเล่าขานของอินเดียนแดงว่า “การเดินทางแห่งน้ำตา” ปี ค.ศ. 1838 ซึ่งการเดินทางอพยพครั้งนี้มีเด็ก สตรี และคนสูงอายุของเผ่า และในระหว่างการอพยพนั้นมีผู้คนเรือนร้อยได้เสียชีวิตลงเนื่องจากโรคร้าย, ความหิวโหย และความทุระกันดาร โหดร้ายของการอพยพ บุคคลหนึ่งที่ได้เสียชีวิตในครั้งนั้นคือ ย่าฝ่ายแม่ของคอลิด อับดุรร่ออู๊ฟ เผ่า “ชีโรกี” เป็นเผ่าอินเดียนแดงที่มีความเจริญมากที่สุดเผ่าหนึ่ง และส่วนหนึ่งจากข้อสังเกตของคอลิดนั้นก็คือ ขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งเผ่าได้สืบทอดกันมาตลอดระยะเวลาหลายปีนั้นก็คือ ชายฉกรรจ์ของเผ่าจะโพกศีรษะ สตรีของเผ่าจะสวมผ้าคลุมศีรษะ และใบหน้าซึ่งมีความคล้ายคลึงกับฮิญาบของอิสลามที่แพร่หลายในโลกอิสลามทุกวันนี้ คอลิดกล่าวว่า ในเมื่อบรรดาปู่ย่าตายายของฉันสามารถรักษาศาสนาของพวกเขาได้ ฉันก็ขอกลับคืนสู่ศาสนาของพวกท่านทั้งหลายและฉันจะรักษาศาสนานี้ไว้ อินซาอัลลอฮฺ

อินเดียนแดงและอิสลาม

อินเดียนแดงอีกคนหนึ่งนามว่า มาฮิร อับดุรร่อซ๊าก ซึ่งก่อนหน้านี้ประมาณสองปีเขาได้เขียนถึงความทรงจำเล็กๆ ลงไปในนิตยสาร “เมสเสจญ์” หรือ “สาส์น” ภายใต้ชื่อเรื่อง “สืบค้นโคตรเหง้าอินเดียนแดง” มาฮิร เป็นมุสลิมคนหนึ่งและเป็นสมาชิกในกลุ่มศิลปินอินเดียนชีโรกี ณ กรุงนิวยอร์ก ซึ่งมีมุสลิมหลายคนเป็นสมาชิก มาฮิรกล่าวว่า ผู้คนทั้งหลายมักนึกไม่ถึงว่าอินเดียนแดงมีความเกี่ยวพันกับศาสนาอิสลามเมื่อประมาณพันปีมาแล้ว โดยมีนักเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวมุสลิมได้เดินทางมาถึงทวีปอเมริกา และปักหลักอาศัยอยู่ท่ามกลางกลุ่มอินเดียแดงดั้งเดิม

มาฮิรได้กล่าวไว้ในบทความสั้นของเขาว่า มีสาระเรื่องราวหลากหลายที่ตำราทางประวัติศาสตร์ไม่เคยกล่าวถึงเลย เป็นต้นว่า มีเอกสารหลายฉบับที่มีอายุอานามประมาณช่วงปี ค.ศ. 1600 ถึง ค.ศ. 1800 ซึ่งจะพบว่าชาวมุสลิมอินเดียนแดงมีบทบาทผู้นำในหมู่ชนของพวกเขาอย่างมาก หลักฐานยืนยันชิ้นหนึ่งถึงสิ่งดังกล่าวก็คือ ข้อตกลง “สันติภาพและความเป็นมิตร” ที่ถูกกระทำกันริมฝั่งแม่น้ำไคโลร่า เมื่อปี ค.ศ. 1787 ข้อตกลงฉบับนี้มีลายเซ็นซึ่งอับดุลฮัก และมุฮำหมัด อิบนุ อับดิลลาฮฺ จากทางฝ่ายอินเดียนแดงและข้อตกลงฉบับนี้ได้รับรองถึงสิทธิหลายประการอันเป็นผลดีแก่ฝ่ายอินเดียนแดง

หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่มาฮิรได้กล่าวถึง ก็คือ รายงานที่มีการนำเสนอต่อศาลแห่งสหรัฐอเมริกาจากทางสภาคองเกรส โดยระบุถึงการที่รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาต้องการความร่วมมือจากอินเดียนแดงในการร่างรัฐธรรมนูญหลักของอเมริกา มาฮิรเข้าใจว่าเอกสารเหล่านี้ถูกเก็บรักษาอยู่ในฝ่ายกองทะเบียนแห่งชาติหอสมุดสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา มาฮิรได้ยืนยันว่าภาษาของอินเดียนแดงมีคำภาษาอาหรับและเปอร์เซียผสมอยู่หลายคำโดยเขาชี้ชัดว่าเกือบทุกเผ่าจะต้องมีคำว่า “อัลลอฮฺ” (ซ.บ.) ปรากฏอยู่ในปทานุกรมของเผ่า

มาฮิรยังได้ยืนยันสิ่งที่คอลิดได้กล่าวมาก่อนแล้วอีกว่า เสื้อผ้าที่เป็นชุดประจำเผ่าของผู้หญิงมีความคล้ายคลึงกับฮิญาบของอิสลาม ในขณะที่เสื้อผ้าของผู้ชายประจำเผ่าจะมีผ้าโพกศีรษะที่ปล่อยหางผ้ายาวจดหัวเข่ารวมอยู่ด้วย และชุดประจำเผ่าเหล่านี้ยังคงนิยมใช้กันอยู่จวบจนถึงปี ค.ศ. 1832 นอกจากนี้หัวหน้าเผ่าชีโรกีคนสุดท้ายนั้นเป็นชาวมุสลิมมีชื่อว่า ร่อมาดอน บิน วาฏี ซึ่งอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1866 ตามที่มาฮิรได้กล่าว

โคลัมบัสได้กล่าวบันทึกไว้ในสมุดบันทึกของตนเกี่ยวกับการเดินทางครั้งแรกของเขาว่า อินเดียนแดงไม่ใช่พวกเคารพรูปปั้น แต่ทว่าพวกเขาศรัทธาต่อพลังและความสมบูรณ์แห่งฟากฟ้าและแน่นอนพวกเขาก็ไม่ใช่ชาวคริสเตียน เพราะไม่เช่นนั้น โคลัมบัสผู้มีความทะเยอทะยานย่อมจะไม่ตั้งเป้าหมายการเดินทางของเขาว่าเป็นการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ และเขาย่อมจะต้องไม่ละทิ้งที่จะกล่าวถึงที่ว่า ชาวอินเดียนแดงเป็นคริสเตียนไว้ในสมุดบันทึกของตนเป็นแน่ เพราะสมุดบันทึกนี้เป็นประหนึ่งดั่งสาส์นเป็นทางการที่จะต้องส่งมอบให้กับราชสำนักสเปนขณะที่เขาเดินทางกลับ ในสมุดบันทึกเล่มเดียวกันนี้

โคลัมบัสได้ระบุว่า เมื่อตนได้เดินทางล่องเรือถึงคิวบา โคลัมบัสได้ส่งชาย 2 คนเพื่อไปเจรจากับท่าน “ข่านผู้ยิ่งใหญ่” หนึ่งในสองคนนั้นคือ ลูอิสเดอร์ ติรบิส ซึ่งมีความสันทัดเชี่ยวชาญภาษาอาหรับและฮิบรูเป็นอย่างดี คนทั้ง 2 ได้กลับมาโดยไม่ได้เข้าพบท่านข่าน แต่กลับมาพร้อมกับต้นใบยาสูบ คำว่า “ข่าน” เป็นคำในภาษาฮินดี ซึ่งตรงนี้เราไม่อาจจะทราบได้ว่าสาเหตุที่โคลัมบัสต้องการเข้าพบท่านข่านเป็นเพราะว่าโคลัมบัสยังเข้าใจอยู่ว่า เขาได้มาถึงอินเดียแล้ว หรือว่าชาวอินเดียนแดงได้บอกชื่อกษัตริย์ของพวกเขาในทำนองนี้แก่โคลัมบัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ จากการเดินทางสู่โลกใหม่ของโคลัมบัส

พวกเขาเหล่านี้พูดถึงอเมริกาเมื่อพันปีก่อน

คำถามที่ถูกกระทู้ตรงนี้คือ เพราะเหตุใดชาวมุสลิมจึงไม่บันทึกการเดินทางของพวกเขาสู่ดินแดนแห่งโน้น?  มีคำตอบสารพันมากมายสำหรับคำถามนี้ ประการแรกก็คือ มรดกทางวิชาการของพวกเราสูญหายไปเป็นอันมาก และจำเป็นที่จะต้องยอมรับว่า มรดกทางวิชาการของชาวมุสลิมที่มีอยู่ทั้งในรูปลายลักษณ์อักษรที่ถูกขีดเขียนและตีพิมพ์ที่นอกเหนือจากศาสตร์แห่งอิสลาม และอักษรศาสตร์ทั้งหลายยังคงไม่ได้รับการศึกษาวิจัยอย่างเพียงพอในปัจจุบัน  สุดท้ายก็คือว่า การเดินทางเหล่านี้ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คาดว่าตรงกับช่วงเสื่อมของอารยธรรมอิสลาม อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งบ่งชี้อีกมากมายในมรดกทางตำรับตำราอิสลามของเราถึงการเดินทางเหล่านั้นซึ่งเป็นไปได้ที่การเดินทางบางครั้งบางหนสามารถทำสำเร็จตามเป้าหมายในการเดินทางถึงทวีปอเมริกาทั้ง 2 ทวีป และปักหลักลงอยู่ ณ ที่นั่น

ดร.ยูซุฟ มัรวะห์ ได้รวบรวมสิ่งบ่งชี้เหล่านี้ไว้เป็นต้นว่า นักประวัติศาสตร์และนักภูมิศาสตร์ อบูลฮะซัน อาลี อิบนุ อัลฮุซัยนฺ อัลมัซอูดิ้น (ค.ศ.871-957) ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ “มูรูญุซฺซะฮับ ว่า มะอาดินุ้ลเญาฮัร” ว่า : ระหว่างรัชสมัยของ ค่อลีฟะห์แห่งราชวงศ์อุม่าวี่ย์ ณ แคว้นเอ็นดาลูเซีย อัลดุลลอฮฺ อิบนุ มูฮำหมัด (ค.ศ. 888-912) นักเดินเรือชาวมุสลิมนามว่า “ค็อชกอช อิบนุ สะอีด อิบนีอัสวัด” ได้ออกจากเมืองโคโคบาฮ์ (قحطبة) เพื่อท่องทะเลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในปี 889 เพื่อที่จะได้ถึงยัง “ดินแดนนิรนาม” และเขาก็ได้กลับสู่เอ็นดาลูเซียด้วยทรัพย์สมบัติเลอค่ามากมาย,

อบูบักร อิบนุ อุมัร อัลฆ่อตียะห์ นักประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมได้เล่าว่า ระหว่างรัชสมัยของค่อลีฟะห์ฮิชาม ที่ 2 (976-1009) แห่งราชวงศ์อุม่าวียะห์ ณ แคว้นเอ็นดาลูเซีย นักเดินเรือชาวมุสลิมนามว่า อิบนุ ฟารุค ได้ออกท่องทะเลจากเมืองแกรนาดา (غرناضا) ในปี ค.ศ. 999 สู่มหาสมุทรแอตแลนติก โดยมีจุดมุ่งหมายจอดทอดสมอ ณ เกาะโกมีร่า ในหมู่เกาะแคนารี ในหมู่เกาะแคนารีนี่เองที่โคลัมบัสได้ตกหลุมรักสตรีนางหนึ่งที่มีชื่อเรียกขานว่า บียาตริซ บูบับดิลลาฮ์ (เพี้ยนมาจากคำว่า อบูอับดิลลาฮ์) บุตรสาวเจ้าผู้ครองเกาะแห่งนี้

ส่วนหนึ่งจากสิ่งบ่งชี้เหล่านั้นก็คือ สิ่งที่ถูกกล่าวในประวัติศาสตร์ว่า ระหว่างรัชสมัยของค่อลีฟะห์ อับดุรร่อมานที่ 3 (926-961) แห่งราชวงศ์อุม่าวียะห์ในแคว้นเอ็นดาลูเซีย นักเดินเรือชาวมุสลิมเชื้อสายแอฟริกันได้ออกเรือท่องทะเลจากแคว้นเอ็นดาลูเซียยังทิศตะวันตกของทะเลแห่งความมืดมน (แอตแลนติก) หลังจากที่พวกเขาได้หายหน้าหายตาไปเป็นระยะเวลานาน พวกเขาก็ได้เดินเรือกลับมาพร้อมด้วยทรัพย์สินอันมากมายจาก “ดินแดนอันแปลกประหลาดที่ชวนพิศวง”

อัชช่ารีฟ อัลอิดรีซี่ย์ (1099-1166) นักภูมิศาสตร์ชาวมุสลิมนามอุโฆษได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ “นุซฺฮะตุ้ลมุชต๊าก ฟี อิคติรอกิ้ลอาฟ๊าก” ว่ามีนักเดินเรือกลุ่มหนึ่งจากแอฟริกาเหนือได้ท่องทะเลสู่เกาะแห่งหนึ่งที่มีผู้คนอาศัยอยู่และมีที่ดินที่ถูกเพาะปลูก ในวันที่ 4 ได้มีล่ามแปลคนหนึ่งจากผู้คนเหล่านั้นออกมาหาเหล่านักท่องทะเลเพื่อแปลภาษาของชาวเกาะเป็นภาษาอาหรับ!

การเดินเรืออีกรายหนึ่งที่มีการยืนยันในประวัติศาสตร์ก็คือการข้ามท้องทะเลแห่งความมืดมน (แอตแลนติก) ของเชค ซัยนุดดีน อาลี อิบนุ ฟาดิ้ล อัลมาซันด่ารอนี่ย์” การเดินทางเที่ยวนี้ได้เริ่มต้นจากตอนใต้ของมอรอคโคเพื่อเดินทะเลสู่เกาะสีเขียวในทะเลแคริบเบียน ในปีค.ศ. 1291- ฮ.ศ.690 ช่วงรัชสมัยของกษัตริย์ อบู ย๊ะอฺกู๊บ ซีดี ยูซุฟ (1261-1307)

ชีฮาบุดดีน อบู้ล อับบ๊าส อะห์หมัด อิบนุ ฟาดิ้ล อัลอุม่ารี่ย์ (ค.ศ.1300-1384 – ฮ.ศ.700-786) นักประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมได้พรรณนาเล่าถึงการค้นพบทางประวัติศาสตร์ต่อดินแดนเบื้องหลังทะเลอันมืดมนโดยบรรดาสุลตอนแห่งอาณาจักรมาลี ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของแอฟริกา ชีฮาบุดดีนผู้นี้ได้เล่าไว้ในหนังสืออันโด่งดังของเขาที่ชื่อ ม่าซาลิกุ้ล อับซ้อร ฟี ม่ามาลีกิ้ล อัมซ้อร ฉะนั้น ถ้าหากว่าดินแดนที่ถูกกล่าวถึงในรายงานบอกเล่าเหล่านี้มีอันหนึ่งอันใดคือดินแดนของทวีปอเมริกาในปัจจุบัน นั่นย่อมหมายความว่า มุสลิมได้เคยไปถึงที่นั่นก่อนหน้าโคลัมบัสถึง 500 ปี

ยิ่งไปกว่านั้น “เควิน เชลิงตัน” ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาชื่อ “ประวัติศาสตร์แอฟริกา” ซึ่งถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในกรุงลอนดอนปี ค.ศ. 1989 ว่า : เมนซา มูซา (ค.ศ.1312-1337) สุลตอนแห่งอาณาจักรมาลีทางตะวันตกของแอฟริกาได้ทรงหยุดพำนักระหว่างเสด็จสู่นครมักกะห์ในกรุงไคโรเมื่อปี ค.ศ.1320 และปีถัดมาสุลตอนได้ทรงเล่าให้ค่อลีฟะห์นัซรุดดีน มูฮำหมัด แห่งราชวงศ์มัมลูกีย์ที่มีอำนาจในอียิปต์ฟังว่า พระเชษฐาของพระองค์คือ สุลตอนอบู บุคอรีย์ ได้ส่งกองเรือ 2 กอง ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก กองเรือแรกมีจำนวนเรือ 400 ลำ และกองเรือที่สองมีจำนวนเรือ 200 ลำ สุลตอนอบู บุคอรีได้ทรงร่วมเสด็จไปในกองเรือที่ 2 ด้วย ครั้นในภายหลังเมื่อพระองค์ไม่ทรงเสด็จกลับ สุลตอนเมนซา มูซาก็เสด็จขึ้นครองจักรวรรดิมาลีในปี ค.ศ. 1311 ต่อมาสุลตอนอบู บุคอรีก็ทรงเสด็จนิวัติสู่ราชธานี ติมบักตูพร้อมด้วยทองคำจำนวนมหาศาล

นอกจากนี้ เจ.อาร์ รูดเจริส ยังได้ยืนยันไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ “บุรุษสีผิวของโลกผู้ยิ่งยง” ว่า : บรรดาพ่อค้าวานิชย์ทางตะวันตกของแอฟริกาได้เคยเดินเรือถึงทวีปอเมริกาทั้ง 2 ทวีปมาก่อนชาวยุโรป

อีกด้านหนึ่งนั้น ยังคงมีฉากหน้าประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเป็นที่รู้กันมาก่อน และมีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์ของอิสลาม ดร.ยูซุฟ มัรวะห์ ได้ชี้ชัดว่า หลังแกรนาดาแตกไปในปี ค.ศ. 1492 ชาวมุสลิมจำนวนได้หนีตายจากการสังหารหมู่และศาลตรวจสอบ (ที่ฝ่ายคริสเตียนใช้ตัดสินกับผู้ไม่ยอมเข้ารีตในคริสต์ศาสนาของสเปน) ปรากฏว่าส่วนหนึ่งจากดินแดนที่มุสลิมพยายามที่จะหลบหนีไปยังที่นั่นก็คือ ดินแดนของทวีปอเมริกาทั้ง 2 ทวีป  มีเอกสาร 2 ฉบับได้ยืนยันถึงการมีอยู่ของชาวมุสลิมที่โน่นก่อนปี ค.ศ. 1550

และนี่คือสาเหตุเบื้องหลังของการออกพระบรมราชโองการของชาร์ลที่ 5 กษัตริย์สเปนในปี ค.ศ. 1539 ห้ามมิให้บรรดาลูกหลานของชาวมุสลิมอพยพสู่เดินแดนเหล่านี้ และยังได้มีพระบรมราชโองการอีกฉบับหนึ่งออกมาในปี ค.ศ. 1543 เพื่อเน้นถึงฉบับก่อน ซึ่งได้มีพระบรมราชโองการให้รวบรวมชาวมุสลิมทุกคนและขับไล่ออกจากเขตอาณานิคมของสเปนโพ้นทะเลในโลกใหม่

และที่แน่นอนตามการระบุบันทึกของโคลัมบัสนั่นก็คือ การเดินทางของโคลัมบัสใช้เรือ 3 ลำ โคลัมบัสเป็นผู้ควบคุมเรือลำหนึ่งในขณะที่กัปตันเรืออีก 2 ลำนั้นมีเชื้อสายมุสลิม ทั้ง 2 คนนี้เป็นคนร่ำรวยและมีความชำนาญเชี่ยวชาญในการท่องทะเล และทั้งคู่ยังเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งของการเดินทางโดยมีเป้าหมายทางการค้าและทางการเมือง ดร.ยูซุฟ มัรวะห์ ได้สืบเชื้อสายของบุคคลทั้งกลับไปถึงสุลตอนแห่งมอรอคโดค อบู ซัยยาน มูฮำหมัดที่ 3 (ค.ศ.1362-1366)


จบสมบูรณ์ (เผยแพร่เมื่อ 2 ตุลาคม 2553)
*ขอขอบคุณ คุณฟาดิลา (ชาดำเย็น) ที่เอื้อเฟื้อในการแปลคำบรรยายภาพจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย -ญ่าซากุมุ้ลลอฮุค็อยรอน-

3. จากข้อค้นพบของศาตราจารย์ Fell ชาวอาหรับตั้งรกรากในเนวาดาระหว่างศตวรรษที่เจ็ดถึงแปด การมีอยู่ของสำนักการศึกษาก่อนหน้านี้ ซึ่งเผยแพร่อิสลามและวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินเรือทำให้มีความหวังตามมาด้วยการตรวจสอบทางโบราณคดีโดยศาสตราจารย์ Heizer และศาสตราจารย์ Baumhoff แห่งมหาวิทยาลัย California ที่เขต site WA 25 ในเนวาดา การขุดค้นในเนวาดาค้นพบและการเขียนในรูปของอักขระ Naskhi Arabic และอักษรซูฟิก (Cufic style) ซึ่งถูกจารึกบนก้อนหินหลายก้อนซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับสำนักนี้ (ภาพที่สาม) การใช้สูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์ “เพชร 5 เม็ด เท่ากับ อลีฟ” (อักษรแรกของอักษรอารบิก) จากภาพ 3b และ 3c ถูกพบระหว่างการขุดค้นพบในเนวาดามีลักษณะเดียวกันกับอักษรอารบิกที่พบในแอฟริกาเหนือ ในทำนองเดียวกันหินก้อนอื่นๆ ที่ถูกพบในเนวาดามีคำจารึกไว้ว่า “พระเจ้า” ในลักษณะเทคนิคที่โดดเด่นของยุคศตวรรษที่ 7-8 ในแอฟริกาเหนือ ความคล้ายคลึงด้านลักษณะอักษรระหว่างสไตล์การเขียนที่หลากหลายของนามศาสนฑูตในหลายช่วงเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับแอฟริกาและอเมริกา ซึ่งพบระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดีเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง