ศาสนาอิสลามในสมัยกรุงธนบุรี

มัสยิดกุฎีต้นสนหลังเก่า

เมื่อ กรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว ชาวไทยหลายพวกรวมทั้งมุสลิมด้วย จำนวนมากก็อพยพลงมาทางใต้ของกรุงศรีอยุธยาตามลำน้ำเจ้าพระยา พวกมุสลิมได้มาตั้งหลักแหล่งที่คลองบางกอกใหญ่ ในหนังสือ “ประวัติมัสยิดต้นสน” ที่เล่าถึงประวัติของมัสยิดต้นสน ซึ่งเป็นมัสยิดศูนย์กลางของชุมชนมุสลิมสำคัญแห่งหนึ่งในสมัยอยุธยาตอนปลาย กล่าวว่า บริเวณคลองบางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรีมีพวกมุสลิมตั้งภูมิลำเนาค้าขายมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มุสลิมกลุ่มนี้กล่าวว่า พวกเขาเข้ามาตั้งชุมชนในคลองบางกอกใหญ่ตั้งแต่ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรง ธรรม (พ.ศ. ๒๑๕๓-๒๑๗๗/ค.ศ. ๑๖๑๐-๑๖๒๘) (ดูรายละเอียดในเสาวนีย์ จิตต์หมวด, กลุ่มชาติพันธุ์ : ชาวไทยมุสลิม (กรุงเทพฯ : กองทุนสง่ารุจิระอัมพร, ๒๕๓๑) หน้า ๑๒๕) โดยกล่าวถึงกระดานไม้จารึกภาษาอาหรับ ซึ่งถูกไฟไหม้บางส่วนครั้งเสียกรุง ได้ลอยน้ำมาและมุสลิมคลองบางกอกใหญ่เก็บรักษาไว้ที่มัสยิดต้นสนจนบัดนี้ (เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๑๙ ; ที่ระลึกงานเปิดมัสยิดต้นสน ๒๕ ก.พ. ๒๔๙๘ ; ใน “ประวัติมัสยิดต้นสน” (พระนคร. การพิมพ์ไชยวัฒน์ ๒๕๑๘) หน้า ๑๓)

มุสลิม แถบมัสยิดต้นสนคงตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยาแล้ว เพราะจากบันทึกประวัติขุนนางมุสลิมกรมท่าขวาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นระบุ ว่า ครั้งที่พวกเขาอพยพหนีสงครามมาจากกรุงศรีอยุธยา ก็ได้อาศัยอยู่แถบกุฎีใหญ่หรือมัสยิดต้นสน ร่วมกับมุสลิมกลุ่มเดิมริมคลองบางกอกใหญ่ มีปรากฏในสมุดข่อยโบราณ บันทึกข้อความไว้ว่า

เจียมลูกพ่อเดช มันถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารของพระเจ้าทรงธรรมที่กรุงศรีอยุธยา อุตส่าห์ส่งผ้าโสร่งตาหมากรุกมาให้พ่อของมันถึงบางกอกใหญ่จนได้ (วารสาร ที่นี่ต้นสน, ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดต้นสน หน้า ๖)

คำว่า “กระฎีใหญ่” เป็นชื่อย่อมาจาก กะฎีบางกอกใหญ่ ชาวมุสลิมที่นี่อพยพมาจากหัวรอหรือแถบคลองตะเคียน พระนครศรีอยุธยาคำว่า “มัสยิดต้นสน” นั้นเพิ่งมาเรียกกันในชั้นหลัง เมื่อรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยหลวงโกชาอิสหาก มหาดเล็กในรัชกาลที่ ๓ ได้ทำการตอนต้นสนซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง นำมาปลูกไว้ที่หน้าบริเวณประตูของมัสยิดทั้งสองด้าน ต่อมาต้นสนคู่นี้ได้เติบโตสูงชะลูด เป็นที่สะดุดตาของผู้พบเห็นได้ง่าย จึงเรียกมัสยิดต้นสนตั้งแต่บัดนั้นมา (อ้างแล้วหน้า ๙)

บ้างก็ว่า มัสยิดบางกอกใหญ่นี้มีประวัติว่า “โต๊ะสน” ซึ่งเป็นคหบดีเป็นผู้ก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ต่อมาคงเรียกเพี้ยนจากมัสยิดโต๊ะสนเป็นมัสยิดต้นสน (รัชนี กีรติไพบูลย์ (สาดเปรม) ใน “บทบาทของชาวมุสลิมในภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๔๕๓” หนังสืออนุสรณ์งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮ.ศ. ๑๔๒๔ หน้า ๖๖)

การก่อสร้างมัสยิดของโต๊ะสน คงหมายถึงอาคารมัสยิดก่ออิฐถือปูน มีความกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๕ เมตรเศษ รูปทรงของอาคารสร้างคล้ายศาลาการเปรียญ โดยลอกเลียนแบบอาคารก่ออิฐถือปูนในพระบรมมหาราชวังหลังหนึ่งมาเป็นแบบ มีหน้าจั่วประดับลวดลายปูนปั้นตามศิลปะไทย (วารสาร ที่นี่ต้นสน ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๖ หน้า ๘)

ชุมชนชาวมุสลิมในคลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวง ถือเป็นชุมชนของข้าหลวงเดิมที่สืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ตั้งมัสยิดต้นสนนั้นก็อยู่ใกล้กับพระราชวังเดิม นับเป็นจุดศูนย์รวมของเหล่าแม่ทัพนายกองมุสลิมชั้นผู้ใหญ่ เช่น เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (หมุด) พระยายมราชและพระราชบังสัน เป็นต้น นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังได้ทรงพระราชทานที่ดินด้านหลังบริเวณมัสยิดให้ กว้างขวางเพื่อขยายส่วนที่เป็นสุสาน (กุบูร) อีกด้วย

มัสยิด ต้นสนมีอาณาบริเวณติดต่อกับวัดหงส์รัตนารามและวัดโมฬีโลกยาราม พระอารามหลวงขนาบอยู่ทั้งสองด้าน แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยมุสลิมกับชาวไทยพุทธที่อยู่ร่วมกัน อย่างปกติสุข

ชาวมุสลิมที่คลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) และคลองบางกอกน้อยนั้น เรียกแต่เดิมว่า “แขกแพ” ดังในโคลงนิราศนรินทร์ เมื่อล่องมาถึงคลองบางกอกใหญ่ว่า

ชาวแพแผ่แง้ค้า ขายของ

แพรพัศตราตาดทอง เทศย้อม

(นิราศนรินทร์ โคลงที่ ๑๙)

(นรินทร์ธิเบศร์ (อิน) “นิราศนครินทร์คำโคลง และนิราศปลีกย่อย” (พระนคร : แพร่พิทยา ๒๕๑๓) หน้า ๒๔)

เนื่อง จากสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลและนายนรินทร์ธิเบศร์ ต่างก็เขียนวรรณกรรมทั้งสองเล่มขึ้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงเชื่อได้ว่า มุสลิมกลุ่มที่กล่าวถึง คือ แขกแพนั้นเป็นพวกที่เก่าแก่ และอพยพมาทั้งหมด ที่เหลืออยู่คงแตกฉานซ่านเซ็นเพื่อหนีการเป็นเชลยไปที่อื่นๆ ครั้นเหตุการณ์สงบจึงอพยพเข้ามาทำมาหากินอยู่ในบริเวณเดิม ที่ตนเคยอาศัยอยู่ ปัจจุบันยังคงมีมุสลิมเป็นจำนวนมากตั้งชุมชนอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในแหล่งเดิมนับแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา อาทิเช่น บริเวณคลองตะเคียน คลองปทาคูจาม (คลองปะจาม) บ้านพลับ ลุมพลี หัวรอ หัวแหลม เป็นต้น

สำหรับคลองบางกอกน้อยนั้น เป็นที่พักของประชาคมมุสลิมเก่าแก่ที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน บรรพบุรุษท่านหนึ่งของประชาคมมุสลิมคลองบางกอกน้อย คือ พระภักดีเสนา-บุตรหลวงทิพเทวา ซึ่งเป็นบุตรของพระยาพัทลุง (ฮุเซ็น) พระภักดีเสนา มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในแถบหัวแหลมกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งสงครามเสียกรุง พ.ศ. ๒๓๑๐ บรรดามุสลิมในกรุงศรีอยุธยาได้ถอยแพล่องเรือมาตามลำน้ำเจ้าพระยา มาตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่บริเวณตลาดแก้ว บางอ้อ บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ จนถึงบริเวณบางลำภูล่าง

ในส่วนของบรรพบุรุษชาวมุสลิมที่ บางกอกน้อยนั้น ได้มาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บริเวณต้นมะกอกน้อย (ปากคลองบางกอกน้อย) ตรงพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีรถไฟธนบุรีปัจจุบัน (สายสกุลสัมพันธ์ ๒๕๔๓ หน้า ๖) เหนือเมืองธนบุรีขึ้นไปแม่น้ำเจ้าพระยาเก่าไม่ผ่านตัวจังหวัดนนทบุรี ปัจจุบัน เมื่อผ่านปากเกร็ดลงมาถึงบริเวณวัดเฉลิมพระเกียรติ ที่สมัยก่อนเรียก “ตลาดขวัญ” ก็ไหลไปทางตะวันตก ทุกวันนี้เรียกว่า “คลองแม่น้ำอ้อม” แล้ววกกลับมาทางตะวันออก ทุกวันนี้เรียก “คลองบางกรวย” มาโผล่ที่ฝั่งตรงข้ามวัดเขมาภิรตาราม สมัยก่อนเรียก “ตลาดแก้ว” (สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน?, ศิลปวัฒนธรรม, ๒๕๔๘ หน้า ๙๙-๑๐๐) ทั้งตลาดขวัญ ตลาดแก้ว และบางอ้อ ล้วนแล้วแต่เป็นชุมชนเก่าของประชาคมมุสลิมดั้งเดิมที่สืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

ที่ “ปากลัด” เมืองพระประแดง มีหลักฐานระบุเช่นกันว่า เป็นแหล่งที่ชาวมุสลิมดั้งเดิมที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งกรุงแตกได้เข้ามาตั้งหลักแหล่ง เพราะเป็นเมืองที่เคยอยู่ในเส้นทางการอพยพตามลำน้ำเจ้าพระยา เมืองพระประแดง เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้ ตั้งมาแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง กรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๖๓-๒๑๗๑ พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า เมืองพระประแดงอยู่ห่างปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามามาก… จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองสมุทรปราการให้เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้แทนต่อไป

ในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุง ธนบุรีแล้ว พระองค์ได้ทรงมีพระบัญชาให้รื้อถอนกำแพงเมืองพระประแดงเดิมไปก่อกำแพง พระราชวังธนบุรี และอื่น ๆ ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองใหม่ว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ (คัดลอกและย่อมาจากหนังสือของจังหวัดสมุทรปราการจากหอสมุดแห่งชาติ) ในภายหลังเมื่อลุต้นกรุงรัตนโกสินทร์ฯ แล้ว ชาวมุสลิมจากปัตตานีได้ถูกจับเป็นเชลยและถูกนำมาไว้ที่ปากลัดนี้อีกคำรบหนึ่ง (หนังสืออนุสรณ์ฉลองเปิดป้ายอาคารมัสยิดดารอสอาดะฮฺ ๒๕๔๖ หน้า ๓๖)