อัลบัตฺตานีย์ (البتا ني)

อบูอับดิลลาฮฺ มุฮำมัด อิบนุ ญาบิรฺ อิบนิ ซินานฺ อัลบัตฺตานีย์  ถือกำเนิดในเมือง บัตฺตาน จากเขตปริมณฑลของเมืองฮัรฺรอนฺ (ริมฝั่งแม่น้ำ บะลัคฺ (บักเตรีย) ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดของแม่น้ำยูเฟรติส) ในปี ฮ.ศ.235 (ค.ศ.850) และสิ้นชีวิตในปี ฮ.ศ.317 (ค.ศ.929) ณ นคร ดามัสกัส (ซีเรีย)  อัลบัตฺตานีย์ เป็นลูกหลานของ ซาบิตฺ อิบนุ กุรฺเราะฮฺ อัลฮัรฺรอนีย์ (ฮ.ศ.221-288) นักปราชญ์นามอุโฆษในวิชาคณิตศาสตร์ อัลบัตตานีย์ได้เคลื่อนย้ายที่พักของตนระหว่างเมืองอัรฺริกเกาะฮฺ ริมฝั่งแม่น้ำยูเฟรติส และเมืองอันตอกียะฮฺ ในแคว้นชาม  และสร้างหอดูดาวในเมืองอันตอกียะฮฺ ซึ่งเรียกกันว่า “หอดูดาวอัลบัตตานีย์” และแต่งปฏิทินดวงดาวรู้จักกันว่า “ปฏิทินอัซซอบิอฺ”

และยังได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆ ที่ถูกใช้ในหอดูดาวประจำเมือง อันตอกียะฮฺ อันมีส่วนในการทำให้นักวิชาการชาวอาหรับและมุสลิมในยุคเดียวกันและยุคต่อมามีความเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในหอดูดาว

อัลบัตฺตานีย์ มีฉายานามมากมาย เช่น ปโตเลมีของชาวอาหรับ, สารานุกรมสรรพศาสตร์ของชาวอาหรับและมุสลิม เป็นต้น  แต่ชาวยุโรปเรียกชื่อของอัลบัตฺตานีย์เพี้ยนเป็น Albategni หรือ อัลบาตาฆอนิอุส ถือกันว่า อัลบัตตานีย์เป็นนักดาราศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอาหรับและโลกอิสลามโดยรวม เขาเป็นผู้คิดค้นตารางดาราศาสตร์ที่มีความละเอียดและสำคัญอย่างยิ่งยวดจนได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก และเป็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญมากสำหรับผู้ค้นคว้าในวิชาดาราศาสตร์ และเป็นผู้แรกที่นำเอาการคำนวณในวิชาตรีโกณมิติ (trigonometry) ไปใช้ในเรื่องดาราศาสตร์ และยังเป็นบุคคลแรกที่นำเอาวิชาพีชคณิตรวมเข้ากับวิชาตรีโกณมิติแทนเรขาคณิต ซึ่งเคยแพร่หลายในสมัยโบราณ

อัลบัตฺตานีย์ได้เขียนคำอธิบายโดยสรุปสำหรับตำราดาราศาสตร์ 4 เล่ม ของปโตเลมี โดยแสดงความเห็นขัดแย้งหลายประเด็นกับความเห็นของปโตเลมีเกี่ยวกับวิชาดาราศาสตร์ อัลบัตฺตานีย์เป็นผู้ประสบความสำเร็จในการคำนวณจุดห่างสูงสุดระหว่างดวงอาทิตย์กับโลกซึ่งยืนยันว่ามันมีระยะมากกว่า 16 องศา 47 นาที อันเป็นระยะคำนวณที่นักวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยคำนวณได้

ปโตเลมีได้กำหนดปีปฏิทินทางสุริยคติ ในหนังสือ อัลมาญิสฏี่ย์ (มาเจสติก) ของตนว่ามีจำนวน 365 วัน 5 ชั่วโมง 55 นาที 12 วินาที แต่อัลบัตฺตานีย์ได้ผลสรุปในการคำนวณอย่างละเอียดว่า ปีปฏิทินทางสุริยคติมีจำนวน 365 วัน 5 ชั่วโมง 46 นาที 32 วินาที  ส่วนค่าจำนวนจริงที่นักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ได้คำนวณผ่านเทสส์โคปและกล้องส่องไฟฟ้าและเรดาร์ มีค่าเท่ากับ 360 วัน 5 ชั่วโมง 48 นาที กับอีก 46 วินาที

อัลบัตฺตานีย์ ทุ่มเทศึกษาค้นคว้าวิชาตรีโกณมิติเป็นอันมาก เขาคือผู้พัฒนาทฤษฎี “ด้านตรงข้ามมุมน้อยหารด้วยด้านตรงข้ามมุมฉาก” หรือ sine (جيب) คำว่า sine หรือ sinus ในภาษาของยุโรปเป็นคำแปลละตินจากภาษาอาหรับ ญัยบฺ (جيب) นอกจากนี้ อัลบัตฺตานีย์ยังได้แก้ไขค่าความสมดุลของฤดูร้อนและฤดูหนาว และค่าระยะความเอียงของจักราศี โดยคำนวณค่าได้ 23 องศา 35 นาที นักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ยืนยันว่า การคำนวณของอัลบัตฺตานีย์ถูกต้อง

เนลลีโน่ ได้กล่าวถึงปฏิทินดวงดาวของอัลบัตฺตานีย์ว่า “ในปฏิทินดวงดาวของอัลบัตฺตานีย์นี้มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงในวิชาดาราศาสตร์และตรีโกณมิติ เป็นแหล่งอ้างอิงของนักดาราศาสตร์ในยุโรปตลอดช่วงยุคกลางและต้นยุคการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของยุโรป ปฏิทินดวงดาวนี้มีความถูกต้องกว่าปฏิทินดวงดาวของปโตเลมี”

Bail ยอมรับว่า ปฏิทินดวงดาวอัซซอบิอฺของอัลบัตฺตานีย์เป็นตำราที่ทรงคุณค่าที่สุด Plato of Tivoc ได้แปลเป็นภาษาละตินในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในชื่อ “ศาสตร์แห่งดวงดาว” และได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1537 ในเมืองนูริมเบิร์ก

เนลลีโน่ ยังกล่าวอีกว่า กษัตริย์ อัลฟองโซที่ 10 แห่งคัสติลล่าได้มีบัญชาให้แปลปฏิทินดวงดาวนี้จากภาษาอาหรับเป็นภาษาสเปน ตำราฉบับแปลนี้ได้รับการตีพิมพ์อยู่หลายครั้ง อาทิเช่นในปี ค.ศ.1646

ชาวยุโรปต่างก็ทึ่งกับผลงานทางวิชาการของอัลบัตฺตานีย์เป็นอันมาก มีการแปลผลงานของเขาเป็นภาษาละตินในคริสตศตวรรษที่ 13 หนึ่งในชาวยุโรปที่เผยแพร่ผลงานของอัลบัตฺตานีย์ คือ โรเบิร์ต แห่ง เชสเตอร์ ชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 อีกคนหนึ่งคือ เลวี บุตร กัรชูน ซึ่งเป็นชาวยิวได้เผยแพร่ตำราของอัลบัตฺตานีย์เป็นภาษาละตินซึ่งเป็นข้อเขียนเกี่ยวกับทฤษฎีเงา, Sine, hypotenuse (ด้านยาวที่สุดของรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก) arc (โค้ง) และอุปกรณ์ที่ถูกใช้สอย การแปลตำราของอัลบัตฺตานีย์นี้มีขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 นับเป็นตำราเล่มแรกๆ ที่ชาวยุโรปรู้จักเกี่ยวกับวิชาตรีโกณมิติ

โรจิโอ เมนเตรส นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน (เกิดในปี ค.ศ.1436) ได้แปลผลงานของอัลบัตฺตานีย์ในวิชาตรีโกณมิติและวิชาคณิตศาสตร์อีกด้วย

ส่วนหนึ่งจากตำราที่อัลบัตฺตานีย์ได้เขียนไว้ ได้แก่

– หนังสือเกี่ยวกับโหราศาสตร์โดยละเอียด
– ตำราว่าด้วยเส้นรอบวงจักราศีและค่าของดวงอาทิตย์
– บทสรุปตำราดาราศาสตร์ของปโตเลมี
– อรรถกถาข้อเขียนทั้ง 4 ของปโตเลมี
– ตำราวิชาดาราศาสตร์  ฯลฯ