ศาสนาอิสลามในยุครัตนโกสินทร์

การตั้งชุมชนของประชาคมมุสลิมในยุครัตนโกสินทร์ มีความเกี่ยวเนื่องกับการตั้งชุมชนมาแต่เก่าก่อนการสถาปนากรุงเทพมหานครหรือกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี กล่าวคือ ชุมชนเก่าดั้งเดิมแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีที่ประชาคมมุสลิมเคยตั้งรกรากอยู่ ก็ยังคงเป็นหลักแหล่งที่ประชาคมมุสลิมดั้งเดิมอาศัยอยู่ จวบจนการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานี ในเขตพระนครศรีอยุธยา ดังเช่น คลองตะเคียน หัวรอ หัวแหลม ลุมพลี และในเขตอำเภอเมืองยังคงมีชุมชนของชาวมุสลิมตั้งอยู่และขยายสู่เขตข้างเคียง เมื่อจำนวนประชากรมุสลิมมีเพิ่มมากขึ้น กอรปกับ

การเคลื่อนย้ายเข้ามาสมทบของประชาคมมุสลิมรุ่นใหม่ ซึ่งหมายถึงชาวมุสลิมจากหัวเมืองภาคใต้ที่ถูกนำเข้ามาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ฯ การขยับขยายและการสร้างชุมชนใหม่จึงเกิดขึ้นตามมา ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและฝั่งธนบุรีตลอดจนการขยายถิ่นฐานสู่จังหวัดในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคตะวันออกฉียงเหนือ (อีสาน) รวมถึงบางจังหวัดในภาคใต้ตอนบนอีกด้วย

ทั้งนี้สามารถแบ่งประชาคมมุสลิมในยุครัตนโกสินทร์ออกเป็นกลุ่มต่างๆดังนี้

๑) ประชาคมมุสลิมดั้งเดิมที่มีความเก่าแก่มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีทั้งมุสลิมเชื้อสายมลายู มุสลิมจามซึ่งเป็นบรรพชนในกองอาสาจาม มุสลิมมักกะสันและมุสลิมสายอินโด-อิหร่าน ที่มาจากอาหรับ เปอร์เซีย อินเดีย และเบงกอลรวมถึงพวกเติร์ก  ประชาคมมุสลิมกลุ่มนี้ได้ตั้งรกรากอยู่ในกรุงศรีอยุธยาและหัวเมืองตามเส้นทางการค้า และเมื่อกรุงแตก ก็มีการอพยพหลบหนีข้าศึกลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา โดยอาศัยกรุงธนบุรีเป็นแหล่งรวมตัว เกิดเป็นชุมชนบริเวณคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) คลองบางกอกน้อย บางอ้อ ตลาดแก้ว ตลาดขวัญ ปากลัด และบริเวณชานเมือง เป็นต้น

ตัวอย่างที่เด่นชัดของประชาคมมุสลิมกลุ่มนี้ ก็คือ แขกแพและแขกเทศนั่นเอง เราอาจเรียกประชาคมมุสลิมกลุ่มนี้ว่าเป็น “มุสลิมดั้งเดิม” หรือ “แขกเก่า” ซึ่งหมายรวมถึงมุสลิมสุหนี่และชีอะฮฺ (เจ้าเซ็น) ทั้งสองพวก

๒) ประชาคมมุสลิมยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประชาคมกลุ่มนี้ ความจริงแล้วเป็นพลเมืองมุสลิมดั้งเดิมที่อยู่ในเขตหัวเมืองประเทศราช ซึ่งมีอยู่ ๒ กลุ่มใหญ่ คือ ประชาคมมุสลิมจากหัวเมืองมลายู และประชาคมมุสลิมจากเขมร (กัมพูชา) ที่เรียกว่า มุสลิมจาม เป็นชาวมุสลิมเขมรที่เข้ามาในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ฯ คนละรุ่นกับมุสลิมจามในสมัยอยุธยา

๓) ประชาคมมุสลิมที่เคยเป็นพลเมืองในบังคับของต่างชาติซึ่งเข้ามาประกอบอาชีพและตั้งหลักแหล่งอยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ชาวมุสลิมยะวา (ชวา) และมุสลิมเชื้อสายอินเดีย เป็นต้น

๔) ประชาคมมุสลิมที่เป็นชาวต่างชาติแต่เดิมซึ่งอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในจังหวัดทางภาคเหนือและภาคอีสาน ได้แก่ ชาวมุสลิมเชื้อสายปาทาน เบงกะลี (บังกลาเทศ) พม่า และชาวมุสลิมเชื้อสายจีนจากมณฑลยูนนาน (ประเทศจีน) เป็นต้น