อัรรอยฮาน (اَلرَّيْحَانُ )

             อัรรอยฮาน (اَلرَّيْحَانُ ) ท่านอิบนุ อัลก็อยยิม (ร.ฮ) กล่าวว่า : อัรรอยฮาน คือ พืชทุกชนิดที่มีกลิ่นหอม (ฉุน) แต่ละดินแดนเรียกชื่อต่างกัน ชาวมัฆริบ (ดินแดนตะวันตกของโลกอิสลามในแอฟริกาเหนือ) เรียกว่า อัลอาซฺ (اَلآسُ ) ซึ่งชาวอาหรับรู้จักกันว่า อัรรอยฮาน (اَلرَّيْحَانُ ) ส่วนชาวอิรักและชาม (ซีเรีย) เรียกว่า อัลฮับกุ้ (اَلْحَبْقُ )

              โดยทั่วไปแล้วอัรรอยฮาน ได้แก่ พืชจำพวก กะเพรา, โหระพา, สาระแหน่, ผักชี ฯลฯ
              *  กะเพรา  ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Ocimum tenuiflorum Linn.ในวงศ์ Labiatae กลิ่นฉุน ใช้ปรุงอาหาร พันธุ์ที่กิ่งและก้านใบสีเขียวอมแดง เรียก กะเพราแดง ใช้ทำยาได้
              *  โหระพา  ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Ocimum basilicun Linn. ในวงศ์ Labiatae ใบมีกลิ่นฉุน กินได้    
              *  สะระแหน่  ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Mentha cordifolia Opiz ในวงศ์ Labiatae ใบมีกลิ่นฉุน กินได้
              *  ผักชี  ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Coriandrum satirum Linn. ในวงศ์ Umbelliferae ทั้งต้นมีกลิ่น ใช้เป็นผัก เรียกว่า ผักชี ดอกเล็กสีขาว ผลกลมมีกลิ่นฉุน เมื่อแก่ใช้เป็นเครื่องเทศ, ชีฝรั่ง:  ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Eryngium foetidum Linn.ในวงศ์ Umbelliferae ใบยาวรีขอบจัก กลิ่นฉุน ใช้แต่งกลิ่นอาหาร

              ในคัมภีร์อัลกุรอาน ระบุถึง อัรรอยฮาน เอาไว้ 2 แห่ง คือ ในบทอัรเราะฮฺมาน อายะฮฺที่ 12 และบทอัลวากิอะฮฺ อายะฮฺที่ 89  โดยกล่าวถึงเรื่องราวของสวนสวรรค์ที่พระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ) ทรงประทานให้กับผู้ศรัทธา  ซึ่งในสวนสวรรค์นั้นมี “รอยฮาน” คือพืชที่ส่งกลิ่นหอม ในบทอัรเราะฮฺมานนั้น ระบุถึงว่า ในโลกใบนี้ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) ทรงให้มนุษยชาติอาศัยอยู่ มีผลหมากรากไม้ มีต้นอินทผลัมที่มีทะลาย และเมล็ดธัญพืชที่มีเปลือก และอัรรอยฮาน คือ พืชพันธุ์ที่มีกลิ่นหอม

              มีรายงานระบุว่า : ผู้ใดถูกเสนอรอยฮานให้แก่เขา เขาก็จงอย่าปฏิเสธ เพราะแท้จริง รอยฮานนั้นเบาในการถือ มีกลิ่นหอมดี
              (บันทึกโดยมุสลิม)
              อีกรายงานหนึ่งระบุว่า : เมื่อผู้หนึ่งในหมู่พวกท่านถูกมอบอัรรอยฮานให้ ผู้นั้นก็จงอย่าปฏิเสธอัรรอยฮานนั้น เพราะมันมาจากสวนสวรรค
              (บันทึกโดย อบูดาวูด และอัตติรมีซีย์)

 

              อัรรอยฮาน ชนิดที่เรียกว่า อัลอ๊าซฺ (الآس ) เป็นไม้ล้มลุกในวงศ์ Myrtacees มีความสูงถึง 2 เมตร มีกิ่งก้านสาขาที่มีตุ่มให้กลิ่นหอม  มักขึ้นอยู่ในที่โล่งเชิงเขา  และนิยมปลูกในเขตที่มีน้ำมากและริมฝั่งแม่น้ำ  กิ่งของมันจะสดอยู่เป็นเวลานาน  กล่าวกันว่า แหล่งกำเนิดเดิมของมันอยู่ในดินแดนเปอร์เซีย  ต่อมาชาวอาหรับนำมาแพร่หลายในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและในสเปน แต่ชาวอาหรับในดินแดนตะวันตก เรียกว่า อัรรอยฮาน 

              ผลของมันเรียกว่า ฮับบุลอ๊าซ อัลฮับล๊าส  ใบของมันมีน้ำมันหอมระเหยทำให้สดชื่นและไล่แมลงได้  เมื่อนำเอาใบอัลอ๊าซ (รอยฮาน) ที่แห้งมาบดและโรยที่แผลเริม จะมีผลดี และใช้ดับกลิ่นใต้วงแขนได้ดี  อัลอ๊าซยังมีสรรพคุณทำให้รากผมแข็งแรงและดำเงางาม  ผลของอัลอ๊าซ ที่เรียกว่า อัลฮับล๊าส มีสรรพคุณบรรเทาอาการเสมหะที่ปนเลือดในหน้าอกและปอด เคลือบกระเพาะอาหาร  มีประโยชน์ต่ออาการท้องเดิน  ขับปัสสาวะ และบรรเทาอาการเหงือกบวมอักเสบ  ตลอดจนแก้พิษของแมงมุมและแมงป่อง

 

              อัลบัฆดาดีย์ ระบุว่า : การสูดดม อัลอ๊าซ จะช่วยบรรเทาอาการปวดหัว
              อัลฮับกุ้ (اَلْحَبْقُ – Sweet Basil) คือรอยฮานของเมืองชาม (ซีเรีย) น่าจะมีแหล่งกำเนิดเดิมในอินเดีย เป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ในวงศ์ S,Labiee เป็นไม้ประดับ  มีความสูงประมาณ 50 ซ.ม. ใบสีขาวมีขอบหยัก  ดอกมีสีขาวอมแดงเล็กน้อย  นิยมใช้เป็นเครื่องเทศเพื่อแต่กลิ่นของอาหาร อิบนุ อัลก็อยยิม (ร.ฮ) ระบุว่า  การสูดดม อัลฮับกุ้  จะบรรเทาอาการปวดศีรษะ เนื่องจากความร้อน  ทำให้หลับดี  เมล็ดของมันทำให้อาการท้องร่วงบรรเทาและบำรุงหัวใจ

              ท่านอิบนุ ซีนา ระบุว่า  อัลฮับกุ้ มีสรรพคุณรักษาอาการริดสีดวงทวาร  อาการวิงเวียนศีรษะและเลือดกำเดาออก ในบ้านเรา มีตำรับอาหารไทยที่นิยมใส่พืชจำพวกอัรรอยฮานอยู่หลายอย่าง  ที่นิยมที่สุดแบบอาหารจานด่วนก็คงเป็นผัดกะเพรา  กล่าวกันว่า สูตรผัดกะเพราที่แพร่หลายไปทั่วในปัจจุบันนั้น  เพิ่งจะมีมาเมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมา  โดยเริ่มต้นที่เมืองพัทยาเป็นที่แรก