الإمامُ أَبُوْحَنِيْفَةَ อบูฮะนีฟะฮฺ – الإمام مَا لِكُ بنُ أَنَسٍ มาลิก – الإِمامُ الشَّافِعِيُّ อัชชาฟิอีย์ – الإمامُ أحْمَدُبنُ حَنْبَل อะฮฺมัด อิบนุ ฮัมบัล – الإمامُ الحَسَنُ الْبَصْرِيُّ อัลหะซัน อัลบัซรีย์

الإمامُ أَبُوْحَنِيْفَةَ อบูฮะนีฟะฮฺ นุอฺมาน อิบนุ ซาบิต (เสียชีวิตฮ.ศ.150/คศ.767) อิหม่ามมัซฮับอัลฮะนะฟีย์, หนึ่งในอิหม่ามมุจญ์ตะฮิด 4 ท่านของอะหฺลิซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ , ถือกำเนิด ณ เมืองอัลกูฟะฮฺ , ศึกษาและสั่งสอนตลอดจนตอบปัญหาศาสนาในเมืองแห่งนี้, ค่อลีฟะฮฺอัลมันซูรแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺได้เชื้อเชิญให้อิหม่ามอบูฮะนีฟะฮฺมาดำรงตำแหน่งกอฎีย์ในมหานครแบกแดด แต่อิหม่ามปฏิเสธจึงถูกคุมขังจนเสียชีวิต

Abu Hanifa Mosque

ส่วนหนึ่งจากมรดกทางวิชาการของท่านคือ ตำราอัลฟิกฮุลอักบัร และ มุสนัดอบีฮะนีฟะฮฺ, เป็นบุคคลแรกที่แบ่งนิติศาสตร์ออกเป็นบทและประเภทต่าง ๆ, เป็นนักวิชาการที่เจนจัดในด้านนิติศาสตร์ การแบ่งมรดกโดยอาศัยหลักการกิยาสและทัศนะ บรรดานักวิชาการในระดับมุจตะฮิดได้ถ่ายทอดหลักวิชาที่อิหม่ามอบูฮะนีฟะฮฺได้กำหนดวางเอาไว้และเผยแพร่มัซฮับของท่านในตำราต่าง ๆ หลายสิบเล่ม

الإمام مَا لِكُ بنُ أَنَسٍ  มาลิก อิบนุ อะนัส (ฮ.ศ.93-179/คศ.712-795) หนึ่งในบรรดาอิหม่ามนามอุโฆษ , ผู้วางรากฐานของมัซฮับอัลมาลิกียะฮฺ หนึ่งในมัซฮับทางนิติศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในอิสลามถือกำเนิดและเสียชีวิต ณ นครมะดีนะฮฺ,

ตำราที่ท่านได้แต่งไว้ คือ อัลมุวัฏเฏาะอฺ ซึ่งถือเป็นตำรามูลฐานของมัซฮับ, ตำราอัรรอดฺดุ อะลัลกอดะรียะฮฺ , ตำราอัลมุเดาวะนะฮฺ อัลกุบรอ , มัซฮับของท่านอิหม่ามมาลิกมีความแพร่หลายเป็นอันมากในดินแดนตะวันตกของโลกอิสลาม


الإِمامُ الشَّافِعِيُّ  มุฮำหมัด อิบนุ อิดรีส อัชชาฟิอีย์ (ฮ.ศ.150-204/คศ.767-820) อิหม่ามผู้วางรากฐานของหนึ่งในสี่มัซฮับของฝ่ายอะหฺลิสซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ, ถือกำเนิดในเมืองฆ็อซฺซะฮฺ และเจริญวัยในนครมักกะฮฺ และศึกษาเล่าเรียนกับอิหม่ามมาลิกในนครมะดีนะฮฺ, เสียชีวิต ณ ประเทศอียิปต์ สุสานฝังศพของท่านเป็นที่รู้จักกันในกรุงไคโร ณ ตีนเขา อัลมุก็อฏฏอม

  

ตำราที่ท่านแต่งไว้มีมากมาย ที่สำคัญได้แก่ ตำราอัลอุมฺม์ในภาคนิติศาสตร์ รวบรวมโดย อัลบุวัยฏีย์และอัรร่อบิอฺ อิบนุ สุลัยมานเป็นผู้แบ่งบทต่าง ๆ , ตำราอัลมุสนัดในภาควิชาอัลหะดีษ, ตำราอัสสุนันและอัรริซาละฮฺ ในภาควิชาหลักมูลฐานนิติศาสตร์อิสลาม

الإمامُ أحْمَدُبنُ حَنْبَل  อะฮฺมัด อิบนุ ฮัมบัล (ฮ.ศ.164-241/คศ.780-855) เป็นชาวเมืองแบกแดด , มีความนิยมเคร่งครัดในแนวทางแบบอัสสะละฟียะฮฺและไม่เห็นด้วยกับการใช้ทัศนะตีความตัวบทและต่อต้านพวกนิยมแนวทางแบบมัวะอฺตะซิละฮฺในปัญหาการเป็นมัคลู๊กของอัลกุรอาน จึงถูกทดสอบในรัชสมัยของค่อลีฟะฮฺอัลมะอฺมูน, และอัลมุอฺตะซิม  ถูกคุมขังในนครแบกแดดและถูกลงทัณฑ์จากราชสำนัก  ค่อลีฟะฮฺ อัลมุตะวักกิลได้อภัยโทษให้ในภายหลัง  ตำราที่โด่งดังที่สุดของท่าน คือ อัลมุสนัดในภาควิชาอัลหะดีษ


الإِمامُ الأَوْزَاعِيُّ  อับดุรเราะฮฺมาน อัลเอาซาอี่ย์ (ฮ.ศ.88-157/คศ.707-774) อิหม่ามในภาคนิติศาสตร์อิสลาม, ถือกำเนิดในเมืองบะอฺละบัก, เป็นผู้มีความกล้าหาญ, เคยคัดค้านบรรดาผู้ปกครองที่อธรรม โดยเฉพาะหลังการลุกฮือ อัลมุนัยฏิเราะฮฺ (คศ.759)  สุสานของท่านอยู่ทางตอนใต้ของกรุงเบรุต, ส่วนหนึ่งจากตำราที่ท่านรวบรวมเอาไว้ คือ อัสสุนันและอัลมะซาอิล


الإمامُ الحَسَنُ الْبَصْرِيُّ  อบูสะอีด อัลหะซัน อัลบัซรีย์ (เสียชีวิตฮ.ศ.110/คศ.728) ตาบิอีย์ (ชนรุ่นถัดมาจากรุ่นของสาวก) นักวิชาการอิลมุ้ลกะลาม และนักวิชาการหะดีษเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้ซึ่งเลื่องลือที่สุดผู้หนึ่ง และเป็นนักสันโดษรุ่นอาวุโส, ถือกำเนิดในนครมะดีนะฮฺ และพำนักอยู่ในนครอัลบัซเราะฮฺ,

ท่านเป็นอิหม่ามของชาวเมืองอัลบัซเราะฮฺและเป็นจอมปราชญ์แห่งยุค มีความเป็นเลิศในการทำความเข้าใจบรรดาหลัก นิติศาสตร์อิสลาม การสั่งสอน การตักเตือนและการถ่ายทอดอัลหะดีษ อัมร์ อิบนุ อุบัยด์และวาซิลฺ อิบนุ อะตออฺ ผู้นำของพวกมัวะอฺตะซิละฮฺได้แยกตัวจากท่านอิหม่ามอัลหะซัน, ท่านมีสถานภาพอันสูงส่งในด้านตะเซาวุฟ มัซฮับของท่านตั้งอยู่บนการบำเพ็ญตนและปลีกตัวจากโลกดุนยา