อบู อัรรอยฮานฺ อัลบีรูนีย์ (ابوالرَّيْحَان البِيْرُوْنِي)

อบู อัรรอยฮานฺ มุฮำมัด อิบนุ อะฮฺมัด อัลบีรูนีย์ ถือกำเนิดในปี ฮ.ศ.362 (ค.ศ.973) ณ ตำบลชานเมืองของแคว้นคุวาริซฺมี่ (สารานุกรมอิสลาม 4/397) อัลบีรูนีย์เป็นนักปราชญ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 มีสติปัญญาเป็นเลิศ เลื่องลือในสรรพวิชาและโดดเด่นเหนือนักปราชญ์ร่วมสมัยเดียวกัน  ทั้งนี้เพราะอัลบีรูนีย์ได้คิดค้นและมีผลงานวิจัยมากมายในวิชาคณิตศาสตร์, เคมี, ดาราศาสตร์และประวัติศาสตร์

หลังจากสคาวฺว์ นักวิชาการชาวเยอรมันได้ทำการศึกษาตำราบางเล่มของอัลบีรูนีย์อย่างละเอียด เขาได้มีผลสรุปยอมรับว่า อัลบีรูนีย์คือ ภูมิปัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์รู้จักเลยทีเดียว (ก็อดรี่ย์ ฮาฟิซฺ เฏาวฺกอน อ้างแล้ว หน้า 164)

คำว่า “บีรูนีย์” อ้างถึง “บีรูน” ซึ่งเป็นชื่อเมืองในแคว้นสินธุ (ปัจจุบันอยู่ในเขตของปากีสถานตะวันตก) ตามความเห็นของอิบนุ อบี อุซอยบิอะฮฺ (อุยูน อัลอัมบาอฺ ฟี ฏ่อบะกอต อัลอะฏิบบาอฺ หน้า 59)

แต่ยากูต อัรรูมี่ย์ กล่าวว่า คำว่า “อัลบีรูนีย์” เป็นฉายา เพราะคำว่า “บีรูน” ในภาษาเปอร์เซีย หมายถึง “นอกเมือง” ทั้งนี้อัลบีรูนีย์อาศัยอยู่ในแคว้นคุวาริซฺม์เพียงช่วงเวลาสั้นๆ และพลเมืองคุวา ริซฺม์เรียกคนแปลกหน้าด้วยชื่อนี้ เมื่อเขาจากแคว้นคุวาริซฺม์ไปเป็นเวลานานเขาจึงกลายเป็นคนแปลกหน้าไปในที่สุด แต่ก็มีบางคนเรียกเขาว่า อัลคุวาริซฺมีย์ (อิรชาดุล อะรีบ อิลา มะอฺริฟะติลอะดีบ, ยากูตอัรรูมี่ย์ 6/308 (1930)) อัลบีรูมีย์มีเชื้อสายเติร์ก เมืองที่เกิดชื่อว่า คอยวะฮฺ ในแคว้นคุวาริซฺม์ และเสียชีวิตที่ฆอซฺนะฮฺ ในปี ฮ.ศ.440/ค.ศ.1048 เขามิเพียงแต่เป็นนักดาราศาสตร์เท่านั้นแต่ยังโดดเด่นในวิชาคณิตศาสตร์, การแพทย์, วรรณคดี, ประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์, ฟิสิกค์, เภสัชกรรมและธรณีวิทยา

อัลบีรูนีย์เป็นที่รู้จักในหมู่นักวิชาการของตะวันออกและตะวันตก จนกระทั่งถูกถือว่า เป็นผู้วางรากฐานคนหนึ่งของวิชาตรีโกณมิติ เขายังได้คำนวณน้ำหนักของธาตุจำนวน 18 ตัวอย่างและ    อัญมณีบางชนิดตลอดจนพัฒนาการห่าค่าใหม่ๆ ของพื้นที่สามเหลี่ยมโดยการบ่งชี้ของด้านรูปทรงสามเหลี่ยม (Side) ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการหาค่าของเฮรอน (ค.ศ.150)

อัลบีรูนีย์ใช้ชีวิตอยู่ในแคว้นคุวาริซฺม์จนมีอายุได้ 23 ปี และเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองมีความผกผันเขาจึงย้ายถิ่นฐานสู่แคว้นญุรญานและอาศัยอยู่ที่นั่นถึง 15 ปี ระหว่างนั้นเขาแต่งตำราเล่มแรกที่ชื่อว่า “อัลอาซารฺ อัลบากียะฮฺ มินัล กุรูน อัลคอลียะฮฺ” (บรรดาร่องรอยที่เหลืออยู่นับแต่ยุคอดีต) ในปี ฮ.ศ.407 (ค.ศ.1017) อัลบีรูนีย์เดินทางกลับสู่ถิ่นเกิดของตน เวลานั้น ซุลตอน มะฮฺมูด อัลฆอซฺนะวีย์ได้ทำศึกและยึดครองแคว้นคุวาริซฺม์ อัลบีรูนีย์และเหล่านักปราชญ์จำนวนหนึ่งได้ตกเป็นเชลยและถูกกวาดต้อนสู่ราชธานีฆอซนะฮฺ, ซุลตอนมะฮฺมูดได้เลือกให้อัลบีรูนีย์เป็นโหราจารย์ประจำราชสำนักของพระองค์

เมื่อซุลตอน มัสอู๊ด อิบนุ มะฮฺมูด อัลฆอซฺนะวีย์ขึ้นครองราชย์สืบมา พระองค์โปรดให้อัลบีรูนีย์เป็นคนสนิทของพระองค์ อัลบีรูนีย์จึงพำนักอยู่ในอาณาจักรอัลฆอซฺนะวีย์ เมื่อซุลตอนยกทัพเข้าทำศึกกับอินเดียตอนเหนือ พระองค์ก็โปรดให้อัลบีรูนีย์ติดสอยห้อยตามไปด้วยในการศึกหลายครั้ง ด้วยเหตุนี้อัลบีรูนีย์จึงมีโอกาสเรียนรู้ภาษาสันสกฤตและอีกหลายภาษาของอินเดีย ในระหว่างที่เขาใช้เวลาอยู่ในอินเดีย เขาได้แต่งตำราเกี่ยวกับเรื่องราวที่ถูกกล่าวขานของอินเดียขึ้นมาเล่มหนึ่ง

ต่อมาอัลบีรูนีย์ได้กลับสู่นครฆอซฺนะฮฺ และแต่งตำราสารานุกรมดาราศาสตร์ที่ชื่อ “อัลกอนูน อัลมัสอูดีย์” ในภาควิชาดาราศาสตร์ (astronomy) ซึ่งมีถึง 143 บทด้วยกัน ซึ่งเป็นตำราที่อาศัยหลักการค้นคว้าและการทดลองส่วนตัวที่อัลบีรูนีย์ได้ค้นพบและมอบตำราเล่มนี้แก่ซุลตอนมัสอูด อัลฆอซฺนะวีย์

อัลบีรูนีย์มีความเปรื่องปราดและฉลาดเฉลียวอย่างโดดเด่น มีความอดทนเป็นเลิศในการวิเคราะห์ค้นคว้าอย่างละเอียด รวบรวมข้อเท็จจริง สรุปและหาหลักฐานสนับสนุน เขามีความเจนจัดในภาควิชาดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ การคิดค้นกฎเพื่อทราบถึงเส้นรอบวงของโลกก็เป็นผลงานของอัลบีรูนีย์

มีความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ซึ่งแพร่หลายในยุคปัจจุบันว่าไอแซค นิวตัน นักวิทยาศาสตร์อังกฤษ (ฮ.ศ.1052-1140) คือบุคคลแรกที่คิดค้นทฤษฎีแรงดึงดูดของโลก (gravity) ทั้งๆ ที่ทราบกันดีว่า บุคคลแรกที่คิดค้นทฤษฎีนี้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์คือ อัลบีรูนีย์ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวมุสลิม

อัลบีรูนีย์ได้ให้ความสนใจในวิชาดาราศาสตร์จนสามารถคำนวณการเกิดสุริยคราสและจันทรคราสได้อย่างแม่นยำ และค้นพบว่าดวงอาทิตย์ใหญ่กว่าโลกและใหญ่กว่าดวงจันทร์ เขาอธิบายอย่างชัดเจนถึงการเกิดแสงแดงที่ขอบฟ้าและความมืดที่ปกคลุมชั้นบรรยากาศโลก และคำนวณเส้น รอบวงของโลกได้อย่างแม่นยำ ตลอดจนกำหนดทิศกิบละฮฺที่ชาวมุสลิมจะหันหน้าไปยังทิศกิบละฮฺขณะปฏิบัติละหมาดโดยใช้ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ที่ก้าวหน้า

ส่วนหนึ่งจากประเด็นปัญหาที่รู้จักกันในนามของอัลบีรูนีย์มีหลายข้อด้วยกัน อาทิเช่น ไม่สามารถใช้ไม้บรรทัดและวงเวียนแก้ปัญหาเรขาคณิตได้ อย่างเช่นความพยายามในการแบ่งฉากออกเป็น 3 ส่วนที่เท่ากัน , การคำนวณขนาดพื้นที่ของโลก , แสงมีความเร็วเหนือความเร็วของเสียง และอัลบีรูนีย์ยังยืนยันว่า โลกนั้นมีสัณฐานกลม และโลกเคลื่อน (โคจร) รอบแกนโลก ซึ่งทฤษฎีของอัลบีรูนีย์แตกต่างจากความเชื่อที่แพร่หลายในยุคนั้นว่า ดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก

อัลบีรูนีย์อาศัยการเปรียบเทียบและการรวบรวมสถิติเป็นหลักเกณฑ์ในการแสวงหาความรู้ และหลีกเลี่ยงการมุ่งเน้นท่องจำที่เกินเหตุ เขายืนกรานว่า ผู้ค้นคว้าจำเป็นต้องย้อนกลับไปดูตำราอ้างอิงแรกๆ ที่เป็นต้นฉบับในภาษาเดิม ด้วยเหตุนี้ อัลบีรูนีย์จึงพูดและเขียนได้ดีในหลายภาษา เช่นภาษาเปอร์เซีย , กรีก (ละติน) , ซุรยานียะฮฺ (ซีเรียโบราณ) , สันสกฤต ตลอดจนภาษาอาหรับ ซึ่งเขามีความแตกฉาน ทั้งนี้เพื่อให้เข้าถึงตำราอ้างอิงต้นฉบับเดิมนั่นเอง

ถือกันว่า อัลบีรูนีย์เป็นบุคคลหนี่งจากเหล่านักปราชญ์ของอาหรับและมุสลิม ซึ่งอาศัยหลักการค้นคว้าและการทดลองเป็นสื่อของการสั่งสมความรู้โดยไม่มีการยึดเอาทัศนะทางวิชาการต่างๆ อย่างขาดการศึกษาและการตรวจสอบข้อเท็จจริง จากกรณีนี้จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า วิธีการของอัลบีรูนีย์ในการค้นคว้าตั้งอยู่บนหลักของการวิเคราะห์ การประจักษ์ การสังเกตและการสรุปผล อัลบีรูนีย์รักการแสวงหาความรู้อย่างกว้างไกล รักการอ่านและการแต่งตำราเป็นชีวิตจิตใจ

เขามักจะขลุกอยู่กับการอ่านและเขียนโดยที่ไม่เคยวางปากกาและไม่ละสายตาจากการตั้งข้อสังเกต เขาไม่เพียงแต่มีความรู้และแต่งตำราเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ , ดาราศาสตร์และการแพทย์ ทว่าเขายังได้แต่งหนังสือวรรณคดี ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ จนกลายเป็นสารานุกรมที่เดินได้ ผู้สันทัดกรณีในวิชาประวัติศาสตร์ต่างก็ยอมรับว่าตำราของอัลบีรูนีย์โดดเด่นในด้านตรรก มีสำนวนทีสละสลวยและเรียบเรียงอย่างมีวาทศิลป์

อัลบีรูนีย์ นิยมการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์หรือติเพื่อก่อ เขามักจะแสดงทัศนะของตนอย่างมีอิสระและกล้าหาญ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการมีความคิดอย่างกล้าหาญ และความปรารถนาอันแรงกล้าเพื่อบรรลุสู่ข้อเท็จจริง ตลอดจนการมีใจเปิดกว้างและบริสุทธิ์ใจเป็นคุณลักษณะที่หาได้ยากยิ่งนอกโลกอิสลามในเวลานั้น

จอร์จ ซาร์ตัน กล่าวว่า :อัลบีรูนีย์เป็นนักค้นคว้า , นักปรัชญา , นักคณิตศาสตร์ , นักภูมิศาสตร์และเป็นนักวิชาการที่มีความรู้กว้างไกล อีกทั้งเป็นนักปราชญ์อิสลามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดผู้หนึ่งและเป็นนักปราชญ์คนสำคัญของโลก

เอดเวิร์ด ชามัว กล่าวว่า : “ชัยค์ อบู อัรรอยฮาน อัลบีรูนีย์เป็นนักคิดคนสำคัญที่โดดเด่นในแวดวงวิชาการ” และนี่คือตารางแสดงค่าคำนวณน้ำหนักธาตุและอัญมณีบางส่วนที่อัลบีรูนีย์ได้คำนวณเทียบกับค่าคำนวณที่ได้ในปัจจุบัน ซึ่งมีผลที่คำนวณใกล้เคียงกันมาก ดังนี้

ธาตุ

การคำนวณของอัลบีรูนีย์

การคำนวณในปัจจุบัน

ทองคำ

ปรอท

ทองแดง

เหล็ก

ดีบุก

ตะกั่ว

ทับทิม

หยก

ไข่มุก

19.26

13.74

8.92

7.82

7.22

11.40

3.75

2.73

2.73

19.26

13.56

8.85

7.79

7.29

11.35

3.52

2.75

2.75

ส่วนหนึ่งจากตำราที่อัลบีรูนีย์ได้อรรถาธิบายและวิจารณ์เอาไว้ ได้แก่

1. พื้นที่ของรูปทรง Parabola ของชัยค์ อิบนุ ซะฮฺล์และยูญิน อิบนุ รุสตุม อัลกูฮีย์ (เสียชีวิตในปี  ฮ.ศ.380)

2. ตำรากำหนดพื้นผิวของโลกตามรูปทรงแอสโตรแล็บ ของอัลลามะฮฺ อะฮฺมัด อิบนุ มุฮำมัด อิบนิ อัลฮะซัน อัซซอฟาอีย์ (เสียชีวิตในปี ฮ.ศ.380)

3. ตำราของอบีญะอฺฟัร อัลคอซินฺ (เสียชีวิต ค.ศ.961-971)

ฯลฯ

นอกจากนี้อัลบีรูนีย์ยังได้แต่งตำรามากกว่า 120 เล่มในศาสตร์แขนงต่างๆ ส่วนหนึ่งถูกแปลออกเป็นภาษาละติน , อังกฤษ , ฝรั่งเศสและเยอรมัน ในตำรา “อัลอาซาร อัลบากียะฮฺฯ” ที่อัลบีรูนีย์ได้แต่งขึ้นนั้นมีบทว่าด้วยการกำหนดพื้นผิวของโลก ซึ่งไม่ปรากฎว่ามีตำราเล่มใดเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนอัลบูรีนีย์ จึงนับได้ว่าอัลบีรูนีย์เป็นผู้วางหลักการในการวาดพื้นผิวโลกลงบนรูปโลกทรงกลม ตำราเล่มนี้ สคาวว์ ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ.1879 ส่วนหนึ่งจากตำราที่อัลบีรูนีย์ได้แต่งขึ้นได้แก่

1. อัลอาซาร อัลบากียะฮฺ มินัล กุรูน อัลคอลียะฮฺ

2. หนังสือว่าด้วยการคำนวณตรีโกณมิติ

3. ประวัติศาสตร์อินเดีย

4. หนังสือว่าด้วยเส้นรอบวงของโลก

5. ตำรา “อัลกอนูน อัลมัสอูดีย์” ในวิชาดาราศาสตร์

6. ตำรา เภสัชกรรม

7. หนังสืออรรถาธิบายแรงดันของเหลว

8. ตำราการใช้เครื่องมือวัดตำแหน่งดวงดาว (แอสโตรแล็บ)

9. ตำราวิชาแอสโตรโนมี่

10. ตำราการดูจันทร์เสี้ยว

ฯลฯ