หมวดการมอบฉันทะ

ความหมาย

การมอบฉันทะ เรียกในภาษาอาหรับว่า อัล-วะกาละฮฺ (اَلْوَكَالَةُ) ตามหลักภาษา หมายถึง การไว้ธุระด้วยความวางใจหรือการยินยอมให้ทำแทนโดยมีหลักฐาน

ส่วนความหมายตามคำนิยามของนักนิติศาสตร์ คือการที่บุคคลหนึ่งมอบอำนาจสิ่งที่ตนเองมีสิทธิกระทำจากสิ่งที่สามารถทำแทนกันได้ให้ผู้อื่นกระทำแทนในขณะที่ตนยังมีชีวิต โดยมีถ้อยคำมอบอำนาจ

การมอบฉันทะหรือการมอบอำนาจถือเป็นบัญญัติศาสนาที่มีระบุเอาไว้ในอัลกุรอาน อัล-หะดีษ และอิจญ์มาอฺ

อัลกุรอาน ได้แก่พระดำรัสที่ว่า :

وَإِنْ خِفْتُمْ شِقَاقَ بَيْنِهِمَا فَابْعَثُواْ حَكَمًا مِنْ أَهْلِهِ وَحَكَمًا مِنْ أَهْلِهَا

“และถ้าหากพวกท่านเกรงว่าจะเกิดความระหองระแหงระหว่างบุคคลทั้งสอง (สามีและภรรยา) แล้ว ดังนั้นพวกท่านก็จงส่งผู้ชี้ขาดคนหนึ่งจากครอบครัวของฝ่ายชาย และผู้ชี้ขาดอีกคนหนึ่งจากครอบครัวของฝ่ายหญิง”  (สูเราะฮฺอัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 35)


อัลหะดีษ อาทิเช่น หะดีษที่รายงานจากท่านอุรวะฮฺ อัลบารุกีย์ (ร.ฮ.) ว่า

دَفَعَ إليَّ رَسُوْلُ الله صلى الله عليه و سلم دينَارًالأشتَريَ له شَاةً  فاشْتَرَيْتُ لَه شَاتَيْنِ ، فَبعتُ إحدَاهُمَابِدِيْنَارٍ ، وَﺟﺌﺖ بالشَّاة وَالدِّيْنَارِإِلى النَّبِيِّ صلى الله عليه وسلم ، فَذكَرَله مَاكَانَ مِنْ أَمْرِه ، فقالَ له بَارَكَ الله لَكَ فى صَفَقَةِ يَمِيْنِكَ

“ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (صلى الله عليه وسلم) ได้มอบเหรียญดีนารฺให้แก่ฉันเพื่อให้ฉันซื้อแพะให้แก่ท่าน แล้วฉันก็ซื้อแพะมาให้แก่ท่านสองตัว และฉันได้ขายหนึ่งในสองตัวนั้นด้วยราคาหนึ่งดีนารฺ ฉันได้นำแพะตัวนั้นและเหรียญดีนารฺมาให้ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) แล้วอุรวะฮฺก็เล่าเรื่องราวของเขาให้แก่ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) และนบี (صلى الله عليه وسلم) ก็กล่าวกับเขาว่า : ขออัลลอฮฺโปรดประทานความจำเริญให้แก่ท่านในการค้าขายของท่าน” (รายงานโดยบุคอรี -3443- / และติรมีซี -1258-)

ข้อกำหนดของการมอบฉันทะ

หลักเดิมของการมอบฉันทะ (อัล-วะกาละฮฺ) เป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาตให้กระทำได้ ในบางกรณีก็เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำ (สุนนะฮฺ) ถ้าหากเป็นการช่วยให้สามารถกระทำสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำ และบางทีอาจเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ (มักรูฮฺ) ถ้าหากเป็นการช่วยเหลือให้สามารถกระทำสิ่งที่ไม่ควรกระทำ หรือเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) หรือเป็นสิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) ขึ้นอยู่กับสิ่งที่มีการมอบฉันทะให้กระทำในสิ่งนั้น ๆ

องค์ประกอบของการมอบฉันทะ

การมอบฉันทะมีองค์ประกอบ 4 ประการดังต่อไปนี้

1. ผู้มอบฉันทะ (อัล-มุวักกิล) คือผู้ที่ขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นเพื่อให้ทำการบางอย่างแทนตน โดยมีเงื่อนไขในตัวผู้มอบอำนาจว่า เขามีความสามารถที่จะดำเนินการสิ่งที่เขามอบฉันทะได้อย่างบรรลุผลใช้ได้ โดยเขามีกรรมสิทธิ์หรือมีอำนาจดำเนินการ กล่าวคือ เขามีสิทธิตามศาสนบัญญัติที่จะทำการในสิ่งที่เขาอนุญาตให้บุคคลอื่นไปทำการแทน และศาสนายอมรับว่าการดำเนินการของเขามีผลใช้ได้ถูกต้องและมีผลเกิดขึ้นตามมา

ดังนั้นเจ้าของทรัพย์สินที่บรรลุศาสนภาวะและมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่ถูกอายัดทรัพย์ หรือ ผู้ปกครองทรัพย์สินของผู้เยาว์ เช่น บิดา ปู่ และผู้ที่ได้รับหน้าที่ดูแลผู้เยาว์ตามการสั่งเสียย่อมมีสิทธิในการมอบฉันทะให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนตนได้

และฝ่ายชายที่บรรลุศาสนภาวะ มีสติปัญญา ย่อมมีสิทธิมอบฉันทะให้ผู้ชายคนหนึ่งสนองรับการนิกาห์แทนตนได้ ตลอดจนผู้ปกครอง (วะลี) ที่มีคุณธรรมย่อมมีสิทธิมอบฉันทะให้บุคคลอื่นทำพิธีนิกาห์บุตรีของตนหรือสตรีที่อยู่ภายใต้การปกครองของตนได้

อนึ่งคนตาบอด ในกรณีของการซื้อขายหรือการกระทำอย่างอื่นที่จำต้องอาศัยการแลเห็นนั้นถือว่าใช้ไม่ได้ แต่การที่คนตาบอดมอบฉันทะให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทนในเรื่องดังกล่าวย่อมถือว่าใช้ได้

2. ผู้รับมอบฉันทะ (อัล-วะกีล) คือผู้ทำการแทนบุคคลอื่นโดยได้รับคำยินยอมและได้รับมอบฉันทะ ผู้รับมอบฉันทะมีเงื่อนไขเช่นเดียวกับผู้มอบฉันทะดังที่กล่าวมาแล้วในข้อที่ 1 แต่มีข้อยกเว้นในกรณีการมอบฉันทะให้ผู้เยาว์ที่อยู่ในวัยที่รู้เดียงสา (มุมัยยิซ) ซึ่งยังไม่บรรลุศาสนภาวะเพื่อให้ประกอบพิธีฮัจญ์ที่ตกเป็นสุนนะฮฺ การมอบให้เชือดกุรบ่านและการมอบให้แจกจ่ายซะกาฮฺ ย่อมถือว่าใช้ได้

อนึ่งมีเงื่อนไขเพิ่มเติมในตัวผู้รับมอบฉันทะว่าต้องถูกระบุตัวแน่นอน ดังนั้นถ้าหากผู้มอบฉันทะได้กล่าวแก่คนสองคนว่า “ฉันมอบฉันทะให้คนหนึ่งจากสองคนนี้ขายบ้านของฉัน” การมอบฉันทะนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ และมีเงื่อนไขอีกว่าผู้รับมอบฉันทะจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรม (อาดิลฺ) ถ้าหากเขาเป็นผู้ได้รับมอบฉันทะจากผู้พิพากษา (กอฎี) หรือเป็นผู้ได้รับมอบฉันทะจากผู้ปกครองให้ขายทรัพย์สินของผู้ที่อยู่ในปกครองของตน

3. ถ้อยคำที่ใช้ตกลงในการมอบฉันทะ คือคำเสนอ (อีญาบ) และคำสนองรับ (กอบูล)

ในการใช้ถ้อยคำตกลงในการมอบฉันทะมีเงื่อนไข 2 ประการ คือ

ต้องเป็นถ้อยคำจากฝ่ายผู้มอบฉันทะที่บ่งบอกว่า เขายินยอมมอบฉันทะอย่างชัดเจนหรือมีนัยบ่งชี้ว่ามีเจตนาในการมอบฉันทะ ทั้งนี้อนุญาตให้ใช้วิธีเขียนข้อความหรือจดหมายแทนคำพูดในการมอบฉันทะได้

สำหรับผู้รับมอบฉันทะ การแสดงออกว่ายอมรับการมอบฉันทะนั้นก็ถือว่าใช้ได้แล้ว โดยไม่มีเงื่อนไขว่าต้องกล่าวรับการมอบฉันทะเป็นถ้อยคำ ยิ่งไปกว่านั้นการดำเนินการตามที่ได้รับมอบฉันทะ ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

ต้องไม่นำการมอบฉันทะไปผูกพันกับเงื่อนไขใด ๆ แต่หากผู้รับมอบฉันทะได้เข้าไปดำเนินการในกรณีนี้เมื่อเงื่อนไขที่ผูกพันเอาไว้เกิดขึ้นจริง การดำเนินการนั้นก็ถือว่าใช้ได้เพราะมีการยินยอมและอนุญาตให้เข้าไปดำเนินการแล้ว และการกำหนดระยะเวลาในการมอบฉันทะไว้ เช่น ผู้มอบฉันทะกล่าวว่า “ท่านเป็นผู้รับมอบฉันทะจากฉันในการดำเนินการนั้น ๆ มีกำหนดเวลาหนึ่งเดือน” ถือว่าใช้ได้ และจะสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นสุดเวลาที่กำหนดไว้ โดยผู้รับมอบฉันทะไม่มีสิทธิดำเนินการใด ๆ อีกภายหลังจากสิ้นสุดเวลาที่มอบฉันทะให้

4. เรื่องที่มอบฉันทะให้ดำเนินการ หมายถึงเรื่องอันเป็นธุระที่ผู้ได้รับมอบฉันทะจะเข้าไปดำเนินการแทนผู้มอบฉันทะสำหรับเงื่อนไขในเรื่องที่มอบฉันทะมีดังนี้

– 1 สิทธิในการดำเนินการเป็นของผู้มอบฉันทะขณะที่เขามอบฉันทะให้ผู้อื่นทำการแทน

– 2 เรื่องที่มอบฉันทะต้องเป็นที่รู้กันแม้จะเพียงบางแง่มุมก็ตาม

– 3 เรื่องที่มอบฉันทะต้องเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการแทนกันได้ เช่น การซื้อขาย, การสมรส, การหย่า, การหุ้นส่วน และการประนีประนอม เป็นต้น

ประเภทของการมอบฉันทะที่มีผลใช้ได้

การมอบฉันทะที่มีผลใช้ได้ มีหลายประเภท อาทิเช่น

– การมอบฉันทะให้ทำศาสนกิจ (อิบาดะฮฺ) ประเภทที่มีเงื่อนไขว่าร่างกายต้องมีความสามารถปฏิบัติได้ แต่มิใช่เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ศาสนกิจนั้นเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) เช่น ฮัจญ์ และอุมเราะฮฺ ขณะที่เขาไม่มีความสามารถปฏิบัติด้วยตนเองได้

– การมอบฉันทะให้ดำเนินการในส่วนที่จะทำให้การทำศาสนกิจ (อิบาดะฮฺ) ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินสมบูรณ์ลุล่วง อาทิเช่น มอบฉันทะให้จ่ายซะกาตแก่ผู้มีสิทธิได้รับ การเชือดสัตว์กุรบ่าน เป็นต้น

– การมอบฉันทะเพื่อทำให้โทษประหารชีวิตเป็นที่ปรากฏและการมอบอำนาจให้เอาผิดตามโทษประหาร

– การมอบฉันทะให้เข้าครอบครองสิ่งที่ศาสนาอนุมัติ เช่น การล่าสัตว์และเก็บพื้น เป็นต้น

– การมอบฉันทะในเรื่องต่าง ๆ ที่ศาสนาอนุมัติและสามารถดำเนินการแทนการได้

ประเภทของการมอบฉันทะที่ใช้ไม่ได้

– การมอบฉันทะที่ใช้ไม่ได้มีหลายประเภท อาทิเช่น

– การมอบฉันทะให้ทำศาสนกิจ (อิบาดะฮฺ) ที่เกี่ยวข้องกับร่างกายเพียงอย่างเดียว เช่น การละหมาด, การถือศีลอด เป็นต้น

– การมอบฉันทะเพื่อทำให้การลงโทษ (ฮัดฺด์) เป็นที่ปรากฏ

– การมอบฉันทะเพื่อให้เป็นพยานแทน

– การมอบฉันทะให้บนบาน (นะซัร) และสาบานแทน

– การมอบฉันทะในเรื่องอีลาอฺ (คือการที่สามีสาบานว่าจะไม่ร่วมประเวณีกับภรรยาของตนเลยหรือเป็นเวลาเกินกว่าสี่เดือน) เรื่อง การลิอาน (คือการใช้ถ้อยคำที่ศาสนากำหนดไว้ เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับฝ่ายสามีที่จำเป็นต้องกล่าวหาภรรยาของตนว่ามีชู้ และเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของตน) และในเรื่องกอซามะฮฺ (คือการที่พบว่ามีคนหนึ่งถูกฆ่าตายในหมู่บ้านหรือตำบลหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นฆาตกร ให้ญาติของผู้ตายจำนวนห้าสิบคนสาบานปรักปรำคนหนึ่งว่าเป็นฆาตกร แล้วจัดการลงโทษหรือให้พวกที่ถูกกล่าวหาสาบานว่าพวกเขาไม่ได้ฆ่าและไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นฆาตกร)

– การมอบฉันทะให้รับสมอ้าง (อิกฺรอร)

– การมอบฉันทะให้ไปฉกชิงทรัพย์ หรือลักขโมย หรือประกอบอาชญากรรม เป็นต้น