ในสมัยดึกดำบรรพ์ พื้นที่ของเมืองบางกอกหรือกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ยังอยู่ใต้ทะเลโคลน แต่ราว 5000 ปีมาแล้ว มนุษย์อุษาคเนย์เริ่มตั้งหลักแหล่งถาวรเป็นชุมชนหมู่บ้าน ครั้นหลัง พ.ศ. 1600 มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมือง และสังคม วัฒนธรรมขนานใหญ่ มีบ้านเมืองและรัฐรุ่นใหม่เติบโตขึ้นโดยรอบอ่าวไทย โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น รัฐอโยธยาศรีรามเทพ (ที่ต่อมาเป็นกรุงศรีอยุธยา) ซึ่งตั้งอยู่ตอนบนของอ่าวไทย เหนือกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ขึ้นไป

ทำให้บริเวณกรุงเทพฯ ในสมัยโบราณเป็นพื้นที่ชายเลน ห่างไกลไปทางทิศใต้ของรัฐอโยธยา มีคนพื้นเมืองตั้งหลักแหล่งบ้านเรือนอยู่ที่ดอนชายเลนบ้างแล้ว คนพื้นเมืองยุคแรกนี้คงเป็นพวกทำมาหากินชายฝั่งทะเล เช่น พวกพูดภาษามาเลย์-จาม กับชวา-มลายู จนถึงตระกูลมอญเขมรกับลาว-ไทยที่กระจัดกระจายจากพื้นที่ภายในภาคพื้นหรือบริเวณหุบเขาลงมาประสมประสานอยู่ด้วยกันกับพวกอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ทะเล (สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพมาจากไหน?, มติชน (2548) หน้า 18)

ยังมีปัญหาที่ยังตัดสินไม่ได้ว่าคำ “บางกอก” มาจากภาษาอะไรกันแน่ และทำไมจึงเรียกว่า “บางกอก” บางท่านก็ว่าการเรียกว่า “บางกอก” นั้นก็โดยเข้าใจว่า บริเวณนั้นแต่เดิมจะเป็นป่ามะกอก คือมีต้นมะกอกมากนั่นเอง จึงเอานามต้นไม้มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ตำบลบางกอก (ส. พลายน้อย, เล่าเรื่องบางกอก, รวมสาส์น : พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2535 หน้า 16)

หมอสมิท (Mal colm Smith) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ A physician at the court of Siam ว่า “ชื่อบางกอกมาจากคำว่า บาง คือหมู่บ้านคำหนึ่ง และคำว่า กอก ซึ่งเป็นผลไม้ป่าชนิดหนึ่ง (Spondias pinnata) อันเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวยุโรป และว่าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาเมืองไทยในคริสต์สตวรรษที่ 16 เป็นผู้ให้กำเนิดคำนี้”

แต่ในหนังสือ “จดหมายเหตุรายวันของท่านบาทหลวง “เดอ ชวาสี”” ได้หมายเหตุไว้ว่า “บางกอก คือจังหวัดธนบุรี บางแปลว่า บึง กอกแปลว่า น้ำ (กลายเป็นแข็ง) หรือน้ำกลายเป็นดิน หรือที่ลุ่มกลายเป็นดอน” แต่ก็ไม่ได้บอกว่า กอก ที่ว่านั้นเป็นภาษาอะไร?

นอกจากนี้ยังมีบางท่านกล่าวว่า น่าจะมาจากคำว่า Benkok ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลตามตัวว่าคดโค้ง หรืองอ อ้างว่า แม่น้ำในบางกอกสมัยก่อนโน้นคดโค้งอ้อมมาก พวกมลายูที่มาพบเห็นจึงพากันเรียกเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ความเห็นเหล่านี้ก็คงเป็น “ความเห็น” เท่านั้น (ส. พลายน้อย อ้างแล้ว หน้า 16-17)

“ในพระสมณศาสน” ภาษาบาลีที่พระราชทานไปยังลังกา แต่ครั้งยังทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวิหารมีข้อความตอนหนึ่งว่า “เมืองธนบุรี” นั่นแหละเรียกว่า เมืองบางกอก เพราะสร้างขึ้นในระหว่างคลองบางกอกทั้งสอง โดยชื่อแห่งเมืองไรเล่า แม้ราชธานีของไทยบัดนี้ (คือรัตนโกสินทร์ ฯ) ชาวต่างประเทศมีอังกฤษ ฝรั่งเศสและมุสลมาร เป็นต้น ผู้มีโวหารไม่คุ้นกับภาษานครก็ยังเรียกอยู่อย่างนั้นแหละ ฉะนั้นความจริงจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ผู้อ่านจะพิจารณากันเอาเอง อนึ่งคำว่า มุสลมาร นั้นน่าจะหมายถึง มุสลิมีน เป็นสำเนียงอย่างเปอร์เซีย คือชาวมุสลิมนั่นเอง

เชอวาลิเออร์ เดอโชมองต์ (Chevalier de Chaunmont) ราชฑูตของสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์บันทึกจดหมายเหตุไว้ว่า “เมืองบางกอกเป็นหัวเมืองหนึ่งของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำห่างจากทะเล 24 ไมล์ …..เดินทางจากอยุธยามาบางกอกทางเรือใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง (ออกจากอยุธยา 5 โมงเย็น) ถึงบางกอกรุ่งขึ้นเวลาเช้า……เวลาเช้าเดินทางออกจากบางกอกถึงปากอ่าวเวลา 4 โมงเย็น” (จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ หน้า 16, คณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี, กรมศิลปากร, กรุงเทพฯ (2525))

แม้ชาวต่างชาติจะรู้จักเมืองนี้ในนาม บางกอก แต่ชื่อทางการของเมืองหน้าด่าน แห่งนี้คือ ทณบุรีศรีมหาสมุทร ตั้งอยู่บนเกาะบางกอกล้อมรอบด้วยคลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ คลองทั้งสองนี้เดิมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา จนเมื่อประมาณ 480 ปีที่แล้วในสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาได้ขุดคลองลัดบางกอกใหญ่มาที่ท่าขนอนซึ่งตั้งอยู่เหนือปากคลองตลาดเพื่อย่นระยะการเดินทางของเรือสินค้า คลองลัดบางกอกใหญ่นี้ได้กลายมาเป็นลำน้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ส่วนลำน้ำเดิมได้ตื้นเขินกลายเป็นคลองไปแล้ว (พิมประไพ พิศาลบุตร, สำเภาสยามตำนานเจ็กบางกอก, นานมีบุ๊ค, กรุงเทพฯ (2544) หน้า 20-21)

เมืองทณบุรีฯ แห่งนี้เป็นป้อมปราการป้องกันข้าศึกศัตรูที่เข้ามาทางใต้ และเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญยิ่งเมืองหนึ่งของอาณาจักรสยาม ทำหน้าที่เป็นด่านเก็บภาษีสินค้า ซึ่งผ่านเข้าออกของอยุธยา ชาวอังกฤษและฮอลันดาที่เข้ามาค้าขายในสมัยพระเจ้าทรงธรรมบันทึกไว้ว่า……

“เมืองทณบุรีฯ เป็นด่านภาษีของกรุงศรีอยุธยา ตัวเมืองมีกำแพงล้อมรอบตั้งอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในมีตึกสามชั้นไว้รับรองบุคคลสำคัญที่สองฝั่งแม่น้ำมีป้อมปืนใหญ่ไว้ยิงสลุตต้อนรับแขกเมือง โดยมีทหารต่างชาติประจำอยู่ป้อมละ 10 คน เรือทุกลำที่ผ่านไปมาจะต้องแวะจอดที่เมืองนี้ เพื่อแจ้งรายละเอียดต่างๆ เช่น จำนวนลูกเรือ สินค้าในเรือ เดินทางมาจากและจะไปที่ไหน รวมทั้งเสียภาษีสินค้าในเรือในอัตรา 10 ชัก 1 หากลำใดขัดขืนลูกเรือจะถูกจับและปรับ (จารุปภา จองมู “ก่อนและหลังกรุงธนบุรี” จากหนังสือชุด นักเดินทางเพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน ฉบับธนบุรี, หน้า 80 สำนักพิมพ์สารคดี พ.ศ. 2542)

ดังนั้นความเจริญของเมืองนี้ จึงเป็นผลสืบเนื่องจากการเป็นด่านเก็บภาษีเรือสำเภาและเรือกำปั่นของฝรั่ง แขก จีน จาม ชวา ญี่ปุ่น จากหลากหลายสารทิศที่เข้ามาทำการค้ากับกรุงศรีอยุธยา การที่เมืองนี้ขึ้นตรงกับพระคลังบ่งว่าอีกส่วนหนึ่งของชุมชนที่อยู่อาศัยในละแวกเมือง ทณบุรีฯ ก็น่าจะเป็นครอบครัวของผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานพระคลังเช่นกัน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานพระคลัง และกรมท่าที่มาประจำการอยู่ที่เมืองบางกอก (ทณบุรีฯ) ส่วนหนึ่งเป็นผู้ชำนัญการ มาเลย์ แขกมัวร์ จีน จาม รวมถึงทหารรับจ้างฝรั่งรับจ้างมาประจำการป้อมเก็บภาษี

ตัวอย่างเช่น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี ค.ศ. 1685 พระยาไตรภพสิงหนาท เจ้าเมืองทณบุรีฯ ที่ออกไปต้อนรับ เซอวาลิเออร์ เดอโชมองต์ ราชทูตฝรั่งเศสถึงปากน้ำก็เป็นต่างชาติ (พรทิพย์ภา บูรกิจบำรุง และพีรพจน์ เมธาวงศ์บริบูรณ์ “จุฬาราชมนตรี” สกุลบุนนาค หน้า 399, ชมรมสายสกุลบุนนาค พ.ศ. 2542) เอกสารฝรั่งระบุว่า ในปีนั้นผู้บัญชาการทหารที่บางกอกเป็นโปรตุเกส ในขณะที่เจ้ามืองเติร์ก เป็นอิสลาม (นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์มหาราช, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 หน้า 61, สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2543)


ที่ปากคลองบางกอกใหญ่เป็นที่ตั้งของกำปงมุสลิมมาตั้งแต่สมัย พระเจ้าทรงธรรม มีบ้านเรือนทั้งที่บนฝั่งและที่เป็นเรือนแพรวมอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวมุสลิมสร้างมัสยิดขึ้นที่ปากคลองบางกอกใหญ่ เป็นเรือนไม้ใต้ถุนยกสูง เรียกว่า กุฎีต้นสน หรือกุฎีใหญ่ …..มัสยิดต้นสนแห่งนี้เป็นมัสยิดนิกายสุนนีอันเป็นนิกายที่ชาวมุสลิมในไทยนับถือกันมาก ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้พระราชทานที่ดินหลังมัสยิดให้ขยายอาณาบริเวณเพิ่มเติม  ในสมัยนั้นอาณาบริเวณมัสยิดต้นสนเป็นสถานที่รวมบุคคลสำคัญมากมาย บางท่านก็เป็นแม่ทัพนายกองมุสลิมชั้นผู้ใหญ่ เช่น พระยาจักรี (หมุด) พระยายมราช และพระยาราชวังสัน ที่ร่วมกู้ชาติกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, อ้างแล้ว หน้า 26-29)

กล่าวโดยสรุป เมืองบางกอกซึ่งหมายรวมถึงฝรั่งธนบุรีและฝั่งพระนครซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น มิใช่เป็นดินแดนแปลกใหม่แต่อย่างใดสำหรับชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู เพราะเป็นถิ่นเดิมที่ชาติพันธุ์มลายูนับตั้งแต่โบราณเมื่อครั้งที่กรุงเทพฯ ยังคงเป็นพื้นที่ชายเลนปากอ่าวเคยตั้งหลักแหล่งและชุมชนมาแต่เก่าก่อน แม้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเอง เจ้าเมืองบางกอกก็เป็นชาวมุสลิมถึงแม้จะไม่ใช่เชื้อสายมลายูก็ตาม หากแต่เป็นเชื้อสายเติร์ก (ตุรกี) กระนั้นก็มีชุมชนมลายูตั้งถิ่นฐานอยู่มาก่อน เช่น พวกมักกะสัน เป็นต้น

ยิ่งเมื่อลุสู่รัชสมัยกรุงธนบุรีก็ปรากฏชัดซึ่งหลักฐาน ถึงการมีอยู่ของชุมชนมลายูมุสลิมสืบต่อมาอย่างต่อเนื่อง อาจกล่าวได้ว่า การกวาดต้อนชาวมลายูจากหัวเมืองภาคใต้เมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้นเป็นการเคลื่อนย้ายและเพิ่มจำนวนประชาคมชาวมลายูเข้ามาสมทบกับประชาคมเดิมขนานใหญ่ มลายูบางกอกจึงเป็นชนพื้นเมืองเดิมที่มีรากเหง้ามาเก่าแก่แล้วนับแต่สมัยโบราณ มิใช่เพิ่งจะมาเริ่มต้นเมื่อครั้งสถาปนากรุงเทพฯ ซึ่งยังคงถูกเรียกต่อมาว่า บางกอกก็หาไม่ ชาวมลายูบางกอกมีตัวตนอยู่ก่อนหน้านั้นมาเป็นเวลานานแล้ว และสามารถย้อนกลับไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเลยทีเดียว! หรือถ้าจะย้อนอดีตกลับไปยุคดึกดำบรรพ์ก็มีหลักฐานยืนยันเช่นเดียวกันว่า

ชาติพันธุ์มลายูได้เคยเข้ามาตั้งชุมชนโบราณนับแต่ครั้งที่ดินแดนแถบนี้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของทะเลและโคลนตมก็ตามก็หาได้เกินจริงไม่

“ก่อนกวาดต้อนมลายูตานี

นมนานชั่วนาตาปีผ่านภพ

กำปงมลายูนี้โบราณหนักหนา

กล่าวกันว่ามีเค้าภาษามลาย

เมืองบางกอกก็มีประเภทแขก

เรือสำเภาสินค้าประดามี

ลุสมัยพระองค์ผู้ทรงธรรม

ต่างร่วมจิตร่วมใจสร้างกุฎี

แม้คลองบางกอกน้อยที่ตื้นเขิน

ลุสมัยกู้ชาติของเจ้าตาก

ทั้งแขกมลายูและแขกเทศ

แลครั้งองค์ปฐมบรมจักรีวงศ์

ชาวประชาหลากหลายภาษา

ครานั้นแลเมื่อต้นกรุงใหม่

เข้ามาสมทบตั้งเป็นนิคมใหญ่

นายูตานีพลัดถิ่นถูกเรียกขาน

เป็นมลายูบางกอกรุ่นใหม่

โปรดเข้าใจให้แจ่มแจ้ง

มลายูกับบางกอกอยู่คู่กัน

ณ เมืองนี้นามบางกอก

เคยมีมลายูชนตั้งกำปงอยู่

แม้ชื่อบางกอกที่ว่ามา

ครั้งเจ้ากูตั้งอโยธยาศรีรามเทพ

นั่งเมืองควบคุมด่านภาษี

ต่างล่องผ่านเข้าออกกันจอแจ

แขกมลายูผู้อยู่มาเก่าก่อน

นามต้นสนต้นคลองบางกอกใหญ่

ก็มีชุมชนมลายูตั้งถิ่นอยู่

ขุนนางมากมีล้วนแต่แขก

ก็ชุมนุมเนืองแน่นในบางกอก

ย้ายธานีข้ามฟากเจ้าพระยา

ต่างเรียกขานบางกอกสืบสานมา

มลายูตานีปากใต้ถูกกวาดครัว

กาลเวลาผ่านล่วงเลยไป

นายูบางกอกสืบชั้นมา

หาใช่มลายูบางกอกแต่เดิมไม่

อย่าอคติว่าเรานั้นเป็นแขกอื่น

มานมนานกาเลแล้วโปรดเข้าใจ”