สถานภาพของอะห์ลิซซิมมะฮฺในสังคมมุสลิม

ถึงแม้ว่าโดยหลักการอิสลามอันชัดเจนจะมีความอะลุ้มอล่วยต่ออะห์ลิซซิมมะฮฺ แต่ทว่าสถานภาพของกลุ่มชนเหล่านี้ในสังคมก็ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันในระหว่างยุคสมัยของอิสลามที่ยาวไกลและในดินแดนต่างๆ ของอาณาจักรอิสลาม สถานภาพดังกล่าวในบางครั้งก็อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกซึ่งมักจะคุกคามต่อประชาคมมุสลิมจากฝ่ายโรมันหรือพวกครูเสด ด้วยเหตุนี้ในบางครั้งจึงมีผลให้ฝ่ายปกครองที่เป็นมุสลิมมีความเข้มงวดกวดขันต่อกลุ่มชนเหล่านี้อยู่บ้างในช่วงเวลาสั้นๆ

ดังเช่นมีการออกข้อกำหนดต่อพวกอะห์ลุซซิมมะฮฺบางประการเนื่องจากมีเหตุปัจจัยที่มาจากความรู้สึกนิยมในศาสนาที่ค่อนข้างรุนแรงซึ่งปกคลุมไปทั่วในช่วงสมัยยุคกลางไม่ว่าจะเป็นในดินแดนของมุสลิมเองหรือดินแดนของพวกฝรั่ง แต่ในกาลต่อมาข้อกำหนดหรือเงื่อนไขที่เข้มงวดเหล่านี้ถูกยกเลิกไป โดยถือเอาความเสมอภาพเป็นที่ตั้งดังเช่นที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของฮารูน อัรร่อชีด , อัลมุตะวักกิล แห่งราชวงศ์อับบาสียะฮฺ

และในรัชสมัยของอัลหากิม บิ อัมริลลาฮ์ แห่งราชวงศ์ฟาฏิมียะห์ในอียิปต์และแคว้นชาม  สถานที่สำคัญทางศาสนาหรือโบสถ์ในศาสนาคริสต์และยิวในดินแดนอิสลามยังคงมีการสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่พันธสัญญาที่กระทำกันระหว่างรัฐอิสลามกับอะห์ลุซซิมมะฮฺได้กำหนดไว้ถึงการไม่อนุญาตให้อะห์ลุซซิมมะฮฺทำการก่อสร้างโบสถ์ทางศาสนาขึ้นใหม่ในดินแดนที่ปกครองโดยรัฐอิสลาม และให้รักษาโบสถ์หรือสถานที่สำคัญทางศาสนาที่สร้างเอาไว้แต่เดิมเท่านั้น

นอกจากนี้ชาวมุสลิมยังได้อนุญาตให้ชาวซิมมีย์สามารถแสดงออกอย่างเปิดเผยในการปฏิบัติ ศาสนพิธีของตนในหัวเมืองต่างๆ ระฆังของโบสถ์ก็ยังคงสามารถก้องกังวาลจากหอระฆังโบสถ์ แตรประกอบพิธีทางศาสนาของชาวยิวยังคงส่งเสียงและขบวนพาเหรดในเทศกาลทางศาสนายังคงสามารถเดินขบวนแห่แหนพร้อมไม้กางเขน และเครื่องหอมได้อย่างเสรีโดยไม่มีการขัดขวางอันใด เราสามารถที่จะพบในตำรับตำราทางประวัติศาสตร์ถึงการพรรณนาบอกเล่าเป็นอันมากถึงเทศกาลรื่นเริงของชาวคริสเตียน ชาวยิว และโซโรอัสเตอร์ในอียิปต์ อิรัก และเปอร์เซีย

ชาวอะห์ลุซซิมมะฮฺ ยังได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่สำคัญๆ ในสังคมอิสลาม บุคคลผู้มีความสำคัญและมีความสามารถจากชาวซิมมีย์ต่างก็ประกอบอาชีพทางการค้า การแลกเปลี่ยนเงินตรา ตลอดจนการเงินการคลัง และเสมียนในดีวานต่างๆ นอกจากนี้ชนชั้นกลางของอะห์ลุซซิมมะฮฺยังได้ประกอบอาชีพกสิกรรม การทอผ้า การฟอกหนังสัตว์และการย้อมผ้า ส่วนคนยากจนก็ยังประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับการรักษาความสะอาดของถนนหนทาง ดูแลตลาด และเป็นช่างตีเหล็ก เป็นต้น

นักประวัติศาสตร์บางท่านระบุว่า อียิปต์ถูกพิชิตโดยการประนีประนอมทั้งหมดยกเว้นนครอเล็กซานเดรียถูกพิชิตโดยกองกำลังทหารในขั้นรุนแรง (เช่น ท่านอัลลัยษฺ อิบนุ สะอฺด์ , ท่านยะห์ยา อิบนุ อัยยูบ และท่านคอลิด อิบนุ หุบัยยิบ เป็นต้น) ในขณะที่มีนักประวัติศาสตร์อีกหลายท่านมีทัศนะว่า อียิปต์ถูกพิชิตโดยใช้กำลังทหารโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ อันเป็นพันธสัญญากับชาวเมือง (เช่น ท่านอับดุลเลาะห์ อิบนุ ฮุบัยเราะห์ , อิบนุ วะฮับ)

สรุปได้ว่าอียิปต์ถูกพิชิตโดยกำลังทหารในขั้นรุนแรง ในปี ฮ.ศ. ที่ 20 แต่ได้รับการปฏิบัติในขั้นของการประนีประนอมโดยคงกรรมสิทธิที่ดินไว้ในการครอบครองของเจ้าของที่ดินเดิมด้วยการเสียภาษี อัลค่อรอจฺญ์ (ภาษีส่วยที่ดิน) และมีการกำหนดให้เสียภาษีรัชชูปการ จากอะห์ลุซซิมมะฮฺแก่รัฐอิสลามซึ่งเมื่อเสียภาษีแล้วก็ไม่ต้องเป็นทหารในกองทัพอิสลาม และยังเป็นรายได้ของรัฐในการจัดการสาธารณูปโภคต่างๆ อีกด้วย