อุมัร อัลค็อยฺยาม (عُمَرُالخَيَّام)

อบุลฟุตูฮฺ อุมัร อิบนุ อิบรอฮีม อัลค็อยฺยาม อันนีซะบูรีย์ มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ฮ.ศ.436-517 (ค.ศ.1044-1123) ในวัยเด็ก อุมัรมีอาชีพทำและขายกระโจม (อัลคิยาม-แคมป์) ด้วยเหตุนี้เขาจึงมีฉายานามว่า “อัลค็อยฺยาม”ซึ่งหมายถึง คนทำหรือขายกระโจมนั่นเอง นับแต่วัยเด็ก อุมัรได้เดินทางรอนแรมเพื่อแสวงหาความรู้ จนกระทั่งเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในมหานครแบกแดด เมื่อปี ฮ.ศ.466 (ค.ศ.1074) อุมัร อัลค็อยฺยามได้ประดิษฐ์คิดค้นในศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ อาทิเช่น คณิตศาสตร์, ดาราศาสตร์, ภาษาศาสตร์, นิติศาสตร์, ประวัติศาสตร์และวรรณคดี

ถึงแม้ว่า อุมัร อัลค็อยฺยามจะมีชื่อเสียงด้วยบทกวี รุบาอิยาต ซึ่งถูกแปลออกเป็นภาษาต่างๆ ทั้งในรูปร้อยแก้วและร้อยกรอง และมีอยู่ในหอสมุดของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก แต่เขาก็มีความชำนาญในวิชาพีชคณิต โดยเฉพาะการแก้สมการกำลังสาม (Cubic equation) โดยอาศัยวิธีการในเรขาคณิตที่ไม่เคยมีผู้ใดคิดค้นมาก่อน และเขายังเป็นผู้ที่รู้จักการนำทฤษฎี (binomial equation) ซึ่งเป็นสมการที่ใช้เป็นฐานของตัวเลขที่มีค่าบวก อุมัร อัลค็อยฺยามจึงเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีที่ว่านี้

บทกวี รุบาอิยาตฺ ของอุมัร อัลค็อยฺยามเป็นที่น่าทึ่งและชวนหลงใหลสำหรับนักปราชญ์ตะวันตกในด้านปรัชญาและงานวรรณกรรม เพราะในบทกวีรุบาอิยาตฺ สอดแทรกความคิดที่กำหนดเป้าหมายของชีวิตโดยเรียกร้องสู่การใช้ชีวิตที่เสเพล การหาความสุข และการแสวงหาโอกาสในชีวิตที่ไม่จีรัง อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์บางท่านปฏิเสธว่า ความคิดที่สอดแทรกเข้ามาในรุบาอิยาตฺนี้ไม่ใช่ของอุมัร อัลค็อยฺยาม หากแต่เป็นความคิดของผู้อื่นที่เจือสมเข้ามา เนื่องจาก อุมัร อัลค็อยฺยามมีความเลื่องลือในด้านคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์

ผู้ที่ติดตามและศึกษาเรื่องราวชีวิตของอุมัร อัลค็อยฺยามซึ่งเป็นคนละคนกับ อัลค็อยฺยามแห่งรุบาอิยาตฺ ที่เสเพลและหมกมุ่นกับการเสพสุขและไม่พบเส้นทางแห่งสัจธรรมนั้น จะพบว่าในประวัติของเขามีรูปลักษณ์ของปราชญ์อาวุโสผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งได้ทิ้งผลงานทางวิชาการและพรสวรรค์อันมากมายเอาไว้

บรรดานักประวัติศาสตร์ในสาขาวิทยาศาสตร์ต่างก็เห็นพ้องกันว่า อุมัร อัลค็อยฺยามเป็นนักวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ของชาวอาหรับและมุสลิมในภาษาเปอร์เซียและอาหรับ แต่กระนั้นพวกเขาก็มิได้กล่าวถึงความเกี่ยวพันของอุมัร อัลค็อยฺยามกับบทกวีรุบาอิยาตฺ และการศึกษาในยุคใหม่ได้ยืนยันแล้วว่า บทกวีรุบาอิยาตฺ มิใช่วรรณกรรมของอุมัร อัลค็อยฺยามแต่เป็นของนักกวีคนอื่น นักบูรพาคดีชาวรัสเซีย “ซูคอฟสกี้” สามารถอ้างบทกวีรุบาอิยาตฺจำนวน 82 บทไปยังผู้ประพันธ์เดิม ยังคงเหลือเพียงไม่กี่บทเท่านั้นที่ไม่ทราบว่าเป็นผลงานของผู้ใดจวบจนปัจจุบัน

อุมัร อัลค็อยฺยามบรรลุผลอย่างน่าทึ่งในการแก้สมการพีชคณิตที่มีกำลังสาม ซึ่งถือเป็นจุดสุดยอดที่นักพีชคณิตจะบรรลุถึงแม้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ อุมัร อัลค็อยฺยามยังผนวกวิชาพีชคณิตเข้ากับวิชาตรีโกณมิติ ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบว่าเขาสามารถแก้สมการที่ซับซ้อนในวิชาตรีโกณมิติโดยอาศัยสมการพีชคณิตในการแก้สมการเหล่านั้น

อุมัร อัลค็อยฺยามให้ความสนใจเป็นพิเศษในวิชาดาราศาสตร์และในปี ฮ.ศ.471 (ค.ศ.1079) อุมัรได้คำนวณความยาวของปีปฏิทินสุริยคติได้ 365 วัน 5 ชั่วโมง 49 นาที และ 5.75 วินาที โดยใช้การคำนวณในหอดูดาวอย่างแม่นยำ การคำนวณของอุมัรนี้จะคลาดเคลื่อนเพียง 1 วัน ในทุกๆ 5,000 ปี ส่วนการคำนวณในปฏิทิน “เกรเกอรี่” ซึ่งเป็นปีที่นิยมแพร่หลายทั่วโลกในทุกวันนี้จะมีความคลาดเคลื่อน 1 วัน ในทุกๆ 3,300 ปี

อุมัร อัลค็อยฺยามได้ศึกษาอย่างละเอียดถึงกฎความสมดุลของของเหลวและเขาถือว่าวิชาเรขาคณิตเป็นเนื้อหาสำคัญสำหรับการศึกษาคณิตศาสตร์ทุกแขนง เหตุนี้เขาจึงมุ่งศึกษาเรขาคณิตของอิกลิดุสที่ได้รับการอธิบายและวิพากษ์จากนักปราชญ์มุสลิม และสมควรกล่าวถึงด้วยว่า อุมัร อัลค็อยฺยามคือบุคคลแรกที่คิดค้นว่าสมการพีชคณิตยกกำลังสามนั้น มีรากหรือกรณฑ์ 2 ตัว และศึกษาเรื่อง สแควร์รูท ด้วยหลักคณิตศาสตร์ล้วนๆ


ซัยยิด ฮุซัยน์กล่าวว่า : อุมัร อัลค็อยฺยามถือเป็นก้าวกระโดดแห่งยุค กล่าวคือ เขาเป็นทั้งนักกวีและนักคณิตศาสตร์ที่ช่ำชองในเวลาเดียวกัน คุณลักษณะสองประการนี้มีน้อยมากในคนๆ เดียวกัน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลงานของอุมัร อัลค็อยฺยามในวิชาพีชคณิตย่อมบ่งถึงอัจฉริยภาพของเขา

จอร์จ ซาร์ตัน ระบุว่า : อุมัร อัลค็อยยามคือบุคคลแรกที่พยายามรวบรวมสมการที่มีกำลังต่างๆ ได้ถึง 13 ชนิด ต่อมาภายหลัง ซีโมน สตีเฟ่นซึ่งมีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ค.ศ. 1458-1620 มีสัญชาติฮอลแลนด์ ได้ถือตามตารางของอุมัร อัลค็อยฺยาม พร้อมกับมีการแก้ไขเพียงเล็กน้อย แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่นักวิชาการตะวันตกกล่าวอ้างอย่างผิดพลาดว่า สตีเฟ่น เป็นเจ้าของความคิดในการรวบรวมสมการเหล่านั้น และหลงลืมเจ้าของความคิดที่แท้จริง คือ อุมัร อัลค็อยฺยาม

ส่วนหนึ่งจากตำราที่อุมัร อัลค็อยฺยามได้แต่งไว้ได้แก่
1. ตำราการกำหนดปฏิทินที่ชื่อว่า ปฏิทิน อัลญ่าลาลีย์
2. ตำรา อัชชิฟาอฺ
3. หนังสือการคำนวณของอินเดีย
4. ตำรา อัลมีซานฺ อัลญับรี่ย์
5. ตำรา มีซานฺ อัลฮิกมะฮฺ
6. ตำราว่าด้วยปัญหาในวิชาคำนวณ
7. ตำราตารางดวงดาว “ซิจญ์ มาลิก ชาฮฺ”
8. สาส์น 5 ฉบับว่าด้วยปรัชญา
9. ตำรา อัลเกาวฺน์ วัตตักลีฟ
10. ตำรา “อัลมุกนิอฺ” ในวิชาเรขาคณิต
ฯลฯ