อัสบาบุนนุซูล | อายะฮฺที่ 19 ซูเราะฮฺอัล-บะกอเราะฮฺ

“หรือเหมือนดั่งสายฝนที่เทลงมาจากฟ้า ในสายฝนนั้นมีความมืดมิด ฟ้าคำรณ และแสงฟ้าแลบ พวกเขาจะเอานิ้วมืออุดหูของตนเอาไว้เนื่องจากอสุนีบาตเพราะกลัวความตาย (มาพรากเอาชีวิต) และอัลลอฮฺนั้นทรงห้อมล้อมพวกชนผู้ปฏิเสธเอาไว้”

มูลเหตุแห่งการประทาน

อัฏเฏาะบารีย์ บันทึกรายงานจากอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.), อิบนุ มัสอู้ด และท่านอื่นๆ เอาไว้เกี่ยวกับประทานอายะฮฺนี้ลงมาว่า : มีชายสองคนจากหมู่ชนผู้สับปลับ (มุนาฟิก) ซึ่งเป็นชาวนครมะดีนะฮฺได้หลบหนีจากท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ไปหาพวกมุชริก (พวกตั้งภาคี)

แล้วสายฝนที่อัลลอฮฺ (تعالى) ทรงกล่าวถึงมิได้ประสบกับบุคคลทั้งสอง ในสายฝนนั้นมีฟ้าคำรณ อสุนีบาต และแสงฟ้าแลบทุกครั้งที่มีอสุนีบาต (ฟ้าผ่า) ส่องแสงสว่างแก่บุคคลทั้งสอง ทั้งสองคนก็จะเอานิ้วมืออุดหูของตนเนื่องจากมีความกลัวว่า อสุนีบาตนั้นจะเข้าสู่หูของตน อันจักเป็นเหตุให้ถึงแก่อาสัญและเมื่อแสงฟ้าแลบส่องสว่างเจิดจ้า ทั้งสองก็ก้าวเดินตามแสงสว่างนั้น แต่เมื่อไม่มีแสงสว่างเจิดจ้า

ทั้งสองก็มองไม่เห็นทางและหยุดอยู่กับที่ไม่เดินต่อไป และทั้งสองก็เปรยขึ้นว่า : อนิจจา หวังว่าเราคง (จะมีชีวิตรอด) อยู่ถึงรุ่งเช้า เราจักได้มาหามุฮัมมัด แล้วเราก็จะวางมือของเราในมือของมุฮัมมัด ครั้นถึงรุ่งเช้าทั้งสองก็มาหานบี (صلى الله عليه وسلم)  และยอมรับอิสลาม (ด้วยความจริงใจ) และวางมือของตนในมือของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم)  หมายถึงให้สัตยาบันในความสัจของตนด้วยการจับมือกับท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) และทั้งสองก็ประพฤติตนเป็นมุสลิมที่ดี อัลลอฮฺ (تعالى) จึงนำเอาเรื่องของชายผู้สับปลับทั้งสองคนที่ออกไป (เจอเหตุการณ์ของสายฝน) มาเป็นอุทาหรณ์แก่บรรดากลุ่มชนผู้สับปลับ ณ นครมะดีนะฮฺ

และพวกกสับปลับนั้นเมื่อพวกเขามายังที่ชุมนุมของนบี (صلى الله عليه وسلم) พวกเขาจะเอานิ้วมืออุดหูของพวกตนเอาไว้ เนื่องจากเกรงกลัวคำพูดของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ว่าจะมีสิ่งหนึ่งลงไปในหูของพวกเขาหรือเกรงว่าพวกเขาจะหลุดคำพูดถึงสิ่งหนึ่งออกมาอันจะเป็นเหตุให้พวกเขาถูกฆ่า เหมือนอย่างที่ชายผู้สับปลับสองคนที่ออกไปนั้นจะเอานิ้วมืออุดหูของตนเอาไว้ และเมื่อมีแสงส่องสว่างแก่พวกกลุ่มชนผู้สับปลับ พวกเขาก็ย่างเท้าเดินไปในแสงสว่างนั้น

(กล่าวคือ) เมื่อพวกเขามีทรัพย์สินมากมายมีลูกหลาน ตลอดจนได้รับทรัพย์สงครามหรือได้รับชัยชนะในการพิชิต พวกเขาก็เดินไปตามนั้นและกล่าวว่า “แท้จริง ศาสนาของมุฮัมมัดนี้เป็นศาสนาแห่งสัจธรรม” พวกเขาก็มั่นคงอยู่ในศาสนานั้น เหมือนอย่างชายผู้สับปลับสองคนนั้นจะก้าวเดินในยามที่มีแสงฟ้าแลบส่องสว่างแก่ตน และเมื่อมีความมืดมิดปกคลุมเหนือพวกเขา

(กล่าวคือ) คราใดที่ทรัพย์สินของพวกเขาเสียหาย สูญเสียลูกหลานและมีภัยบะลาอฺมาประสบกับพวกเขา พวกเขาก็กล่าวว่า : “นี่เป็นเพราะศาสนาของมุฮัมมัด” แล้วพวกเขาก็ออกนอกศาสนาเป็นผู้ปฏิเสธก็เหมือนกับชายผู้สับปลับสองคนนั้นในขณะที่ไร้แสงฟ้าแลบและมีแต่ความมืดมิดปกคลุมนั้นแล” (ตัฟซีร อัฏเฏาะบารีย์ 1/119)

อิบนุ ญะรีร อัฏเฏาะบารีย์ บันทึกรายงานนี้จากสายรายงานของ อัส-สุดดีย์ อัล-กะบีรฺ  จากอบีมาลิก และอบีศอลิฮฺ จากอิบนุอับบาส และจากมุรเราะฮฺ จากอิบนุมัสอู้ด และกลุ่มชนหนึ่งจากเหล่าเศาะฮฺหาบะฮฺ (ลุบาบุนนุกูลน หน้า 10)

อนึ่ง  ในอายะฮฺที่ 19 จากซูเราะฮฺ อัล-บะกอเราะฮฺ นี้อัลลอฮฺ (تعالى)  ทรงเปรียบเปรยศาสนาอิสลามกับสายฝนเพราะหัวใจจะมีชีวิตงอกเงยออกมาด้วยน้ำ และทรงเปรียบเปรยความคลุมเคลือของเหล่าผู้ปฏิเสธกับความมืดมนทั้งหลาย ซึ่งมีความมืดมิดของยามค่ำคืนความมืดมิดของเมฆฝน และความมืดมิดของสายฝนที่หลั่งลงมา และทรงเปรียบเปรยสิ่งที่มีอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอ่านทั้งสัญญาดีและสัญญาร้ายกับฟ้าคำรณและแสงฟ้าแลบ (ศ๊อฟวะฮฺ อัต-ตะฟาซีร; มูฮัมมัด อาลี อัศ-ศ่อบูนีย์ เล่ม 1 หน้า 39)

ทั้งนี้หากพิจารณาสำนวนของ อัลกุรอานในเชิงวาทศิลป์ (อัล-บะลาเฆาะฮฺ) แต่ถ้าหากพิจารณาตามการรายงานที่ว่าด้วยมูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺนี้ลงมาก็ถือเป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นอันมีบุคคล สถานการณ์และอากัปกริยาที่เกิดขึ้นในภาวะต่างๆตามถ้อยคำที่มีระบุมา

และบรรดาอายะฮฺในตอนต้นซูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ จำนวน 20 อายะฮฺนี้ มีสี่อายะฮฺที่กล่าวถึงคุณลักษณะของศรัทธาชน (มุอฺมิน) และสองอายะฮฺในการกล่าวถึงลักษณะของชนผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของกลุ่มชนผู้สัปปลับ (มุนาฟิก) (อัส-บาบุนนุซุล; อัล-วาหิดีย์ อัน-นัยสะบูรีย์ หน้า 11)