อัสบาบุนนุซูล | อายะฮฺที่ 26 ซูเราะฮฺอัล-บะกอเราะฮฺ

“แท้จริงอัลลอฮฺไม่ทรงละอายในการที่พระองค์จะทรงยกอุทาหรณ์ใดๆขึ้นเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นริ้นสักตัวหนึ่งตลอดจนสิ่งที่เหนือกว่านั้น (เล็กกว่าหรือใหญ่กว่า) ก็ตาม ที่กรณีของบรรดาศรัทธาชนนั้น พวกเขาย่อมรู้ดีว่าอุทาหรณ์นั้นคือสัจธรรมจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา ส่วนในกรณีของผู้ปฏิเสธนั้นพวกเขาจะกล่าวว่า อัลลอฮฺทรงประสงค์อะไรกันแน่ในการยกอุทาหรณ์ด้วยสิ่งนี้?  พระองค์ทรงให้ผู้คนเป็นอันมากหลงทางด้วยอุทาหรณ์นั้น และทรงชี้นำทางแก่ผู้คนเป็นอันมากด้วยอุทาหรณ์นั้น และพระองค์จะไม่ทรงให้ผู้ใดหลงทางด้วยอุทาหรณ์นั้นนอกจากบรรดาผู้ที่ฝ่าฝืนเท่านั้น”

มูลเหตุแห่งการประทาน

อิบนุ ญะรีร บันทึกรายงานจาก อัส-สุดดีย์ ด้วยบรรดาสายรายงานของเขาว่า : เมื่ออัลลอฮฺ (تعالى) ทรงยกอุทาหรณ์ทั้งสองนี้แก่บรรดากลุ่มชนผู้สัปปลับ (มุนาฟิก) – หมายถึงพระดำรัสที่ว่า (مَثَلُهُمْ كَمَثَلِ الَّذِي اسْتَوْقَدَ نَاراً…)  “อุปมาพวกเขากับอุปมัยดั่งผู้ที่จุดไฟ”  และพระดำรัสที่ว่า  (أَوْ كَصَيِّبٍ مِّنَ السَّمَاء…) “หรือเหมือนดังสายฝนที่เทลงมาจากฟากฟ้า”  –  (จำนวน 3 อายะฮฺ)

พวกกลุ่มชนผู้สัปปลับ (มุนาฟิก) ก็กล่าวว่า: “อัลลอฮฺทรงสูงส่งและยิ่งใหญ่เกินกว่าการที่พระองค์จะทรงยกอุทาหรณ์เหล่านี้” อัลลอฮฺ (تعالى)  จึงทรงประทานพระดัสที่ว่า  (…إِنَّ اللَّهَ لاَ يَسْتَحْيِي أَن يَضْرِبَ مَثَلاً) “แท้จริงอัลลอฮฺไม่ทรงละอายในการที่พระองค์จะทรงยกอุทาหรณ์ใดๆ ขึ้นเปรียบเทียบ”  จนถึงพระดำรัสที่ว่า (…أُولَـٰئِكَ هُمُ الْخَاسِرُ‌ونَ)  “พวกเขาเหล่านี้แหละคือบรรดาผู้ขาดทุน” ลงมา (ตัฟซีร อัฏเฏาะบารีย์ 1/138, ตัฟซีร อัล-กุรฏุบีย์ 1/241, อัสบาบุนนุซุล ของ อัล-วาหิดีย์ หน้า 12 )

อัสสะยูฏีย์กล่าวไว้ในตัฟซีร อัล-ญะลาลัยน์ ว่า : คำกล่าวนี้มีสายรายงานที่ถูกต้องที่สุดและเหมาะสมที่สุดกับสิ่งที่ผ่านมาก่อนแล้วในตอนต้นของซูเราะฮฺ (อัตตัฟซีร อัล-มุนีร 1/110)

อัล-วาหิดีย์ ได้บันทึกจากสายรายงานของอับดุลเฆาะนีย์ อิบนุ สะอัด อัษ-ษะกอฟีย์ จากมูซา อิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ว่า: แท้จริงอัลลอฮฺ (تعالى) ได้ทรงกล่าวถึงบรรดาเจว็ดของเหล่าผู้ตั้งภาคีว่า

وَإِن يَسلُبهُمُ الذُّبابُ شَيـًٔا لا يَستَنقِذوهُ مِنهُ ۚ ضَعُفَ الطّالِبُ وَالمَطلوبُ  ….﴿٧٣

“และหากแมลงวันจะฉกฉวยสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปจากพวกเจว็ดนั้น พวกมันก็มิอาจนำเอาสิ่งนั้นกลับคืนมาจากแมลงวันนั้นได้เลยผู้ที่วอนขอและผู้ที่ถูกวอนขอต่างก็อ่อนแอ” (ซูเราะฮฺ อัล-หัจญ์ อายะฮฺที่ 73)

และพระองค์ได้ทรงกล่าวถึงแผนการของเหล่าเจว็ดตลอดจนทำให้มันเป็นเหมือนบ้านของแมงมุม (ใยของแมงมุม) พวกที่ตั้งภาคีก็กล่าวว่า: ดูเอาเถิด ที่อัลลอฮฺได้กล่าวถึงแมลงวันและแมงมุมเอาไว้ในอัลกุรอ่านที่ประทานลงมาแก่มุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم)  เพราะอันใดเล่าที่พระองค์กระทำเช่นนี้? ดังนั้นอัลลอฮฺ (تعالى) จึงทรงประทานอายะฮฺนี้ (อายะฮฺที่ 26 ซูเราะฮฺ อัล-บะกอเราะฮฺ) ลงมา” อัส-สะยูฏีย์ระบุว่า อับดุลเฆาะนีย์ (ซึ่งปรากฏในสายรายงานนี้) อ่อนมากๆ (ลุบาบุนนุกูล หน้า 11)

อับดุรรอซซ๊าก ได้กล่าวไว้ในตัฟซีรของเขาว่า: มะฮฺมัรได้บอกเราจากเกาะตาดะฮฺว่า: เมื่ออัลลอฮฺ (تعالى) ทรงกล่าวถึงแมงมุมและแมลงวัน พวกตั้งภาคีก็กล่าวว่า: “ไฉนหนอแมงมุมกับแมลงวันต้องถูกนำมากล่าวถึงด้วย?”  อัลลอฮฺจึงประทานอายะฮฺนี้ลงมา

อิบนุ อบี ฮาติม บันทึกรายงานจากอัล-หะซันว่า: “เมื่ออายะฮฺที่ 73 จากซูเราะฮฺ อัลหัจญ์ ประทานลงมาพวกตั้งภาคีได้กล่าวว่า: อุทาหรณ์อะไรกันนี่ถึงต้องนำมากล่าว? หรือกล่าวว่า: สิ่งนี้ไม่เหมือนกับอุทาหรณ์เอาเสียเลย! อัลลอฮฺ (تعالى) จึงทรงประทานอายะฮฺนี้ (อายะฮฺที่ 26 ซูเราะฮฺ อัล-บะกอเราะฮฺ) ลงมา (ลุบาบุนนุกูล หน้า 12) อัส-สะยูฏีย์ กล่าวว่า: การระบุว่าพวกตั้งภาคี (มุชริก) เป็นผู้กล่าวในรายงานข้างต้นไม่สอดรับกับการที่อายะฮฺนี้ถูกประทานที่นครมะดีนะฮฺ (ลุบาบุนนุกูล อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน)

อัศ-ศอบูนีย์ อ้างจากตัฟซีร อัล-กุรฏุบีย์ 1/2450 และตัฟซีร อัศ-ศอวีย์ 1/17 ว่า: เมื่ออัลลอฮฺ (تعالى) ทรงกล่าวถึงถึงแมลงวันและแมงมุมในคัมภีร์ของพระองค์ ตลอดจนทรงยกเป็นอุทาหรณ์แก่พวกตั้งภาคี เหล่ายะฮูดีย์ก็กล่าวว่า: นี่ไม่เหมือนกับพระดำรัสของอัลลอฮฺและพระองค์ประสงค์สิ่งใดด้วยการกล่าวถึงบรรดาสิ่งที่ไร้ค่าเหล่านี้? อัลลอฮฺ (تعالى) จึงทรงประทานอายะฮฺนี้ลงมา (ศ็อฟวะฮฺ อัต-ตะฟาซีร 1/44)