อัลอันดะลุสยุคหลายก๊ก (อัตตอวาอิฟ) และการแตกแยกออกเป็นรัฐอิสระ

ในปีฮ.ศ.400/คศ.1010 แคว้นอัลอันดะลุสเกิดการแตกแยกแต่ละก๊ก (ตออิฟะฮฺ) หรือตระกูลที่มีอิทธิพลต่างก็ประกาศแยกตนเป็นอิสระในหัวเมืองต่างๆ เป็นจำนวนถึง 22 รัฐโดยฉวยโอกาสความอ่อนแอและการขัดแย้งกันเองของพวกอัลอุม่าวียะฮฺ ช่วงระยะเวลาแห่งความมืดมนก็เริ่มต้นขึ้นในประวัติศาสตร์ของอัลอันดะลุส รัฐอิสระเหล่านี้ ได้แก่

บะลันซียะฮฺ (Valencia)
* อัลมุบารอกและอัลมุซอฟฟัรประกาศแยกตนเป็นอิสระในนครบะลัยซียะฮฺ (Valencia)

ดานียะฮฺและอัลบิลฺยารฺ (Denia)
* มุญาฮิด อัลอามิรีย์ ผู้สืบเชื้อสายจากอัลฮาญิบ อัล มันซูร ได้ประกาศแยกตนเป็นอิสระในเมืองดานียะฮฺและหมู่เกาะอัลบิลยารฺ ทางตะวันออกของอัลอันดะลุส

 

อัรกุช (Arcos dela Frontera)
* ตระกูลค็อซฺรูน ได้ประกาศแยกตนเป็นอิสระในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อ อัรกุช (Arcos)

 

อัลบุนต์
* อับดุลลอฮฺ อิบนุ อัลกอซิม ตั้งตนเป็นอิสระในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อ “อัลบุนต์”

 

นครโคโดบาฮฺ (Cordova)
* ในปีฮ.ศ.403/คศ.1014 สุลัยมาน อิบนุ อัลหะกัม อิบนิ สุลัยมาน อิบนิ อับดิรเราะฮฺมาน อันนาซิรได้ก่อการกบฏต่อค่อลีฟะฮฺฮิชาม อัลมุอัยยัด บิลลาฮฺ โดยฉวยโอกาสในช่วงที่เกิดความระส่ำระส่ายในหัวเมืองต่างๆ ของอัลอันดะลุส และเข้ายึดอำนาจในนครหลวงโคโดบาฮฺ และปลดค่อลีฟะฮฺฮิชามออกจากตำแหน่ง

 

วัลบะฮฺ (Huelva)
* ตระกูลอัลบักรีย์ ก่อการกบฏต่อนครหลวงโคโดบาฮฺและประกาศแยกตนเป็นอิสระในเมืองวัลบะฮฺ

 

ฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada)
* ซาดีย์ อิบนุ ซีรีย์ ชาวเบอร์เบอร์ก่อการกบฏและปกครองฆอรนาเฏาะฮฺเป็นรัฐอิสระ

 

ซานตา มารีอาซันตะมะรียะฮฺ (Santa Mariah)
* ฮุซัยล์ อิบนุ อับดิลมะลิก ตั้งตนเป็นอิสระและกุมอำนาจการบริหารในเมืองซันตะมะรียะฮฺ

 

มูรูรฺ (Moron)
* ตระกูลตะซีรีย์ ประกาศแยกตนเป็นอิสระในเมือง  ”มูรูรฺ” ทางตอนใต้ของอัลอันดะลุส

 

มัรซียะฮฺ (Murcia)
* คอยฺรูน อัลอามิรีย์ ญาติของอัลฮาญิบ อัลมันซูรประกาศแยกตนเป็นอิสระในเมืองมัรซียะฮฺ

 

การปกครองในนครโคโดบาฮฺได้ตกต่ำลงภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี (ฮ.ศ.399-400) และแคว้นอัลอันดะลุสก็แตกออกเป็นเสี่ยงๆ สถานการณ์เลวร้ายและดำดิ่งสู่เหวมากขึ้นเป็นลำดับ

 

ปี ฮ.ศ.405 / คศ.1015

กอรฺมูนะฮฺ (Carmona)
* อบู มุฮำหมัด อิบนุ บุรซฺ ประกาศตั้งตนเป็นอิสระและกุมอำนาจในเมืองกอรฺมูนะฮฺแต่เพียงผู้เดียว

 

อัลมะรียะฮฺ (Almeria)
* คอยฺรูน อัลอามิรีย์ผู้ครองรัฐอิสระในเมืองมัรซียะฮฺได้แผ่อำนาจเข้าครอบครองเมืองอัลมะรียะฮฺ

 

รินดะฮฺ (Ronda)
* ตระกูลยัฟฺรูนฺได้แยกตนเป็นอิสระในเมืองรินดะฮฺ

 

ในปีฮ.ศ.407/คศ.1017 อะลี อิบนุ ฮัมฺมูดฺ จากพวกอะดาริซะฮฺ ได้ก่อการกบฏต่อค่อลีฟะฮฺสุลัยมาน อัลมุสตะอีน บิลลาฮฺ และปลดค่อลีฟะฮฺ ต่อมา อะลี อิบนุ ฮัมมูดก็รับตำแหน่งค่อลีฟะฮฺเฉลิมพระนามว่าอันนาซิร บิลลาฮฺ ในปีเดียวกัน อัลกอซิม อิบนุ ฮัมมูดฺได้ก่อการกบฏต่อค่อลีฟะฮฺ อันนาซิรฺ บิลลาฮฺผู้เป็นพี่ชาย และสามารถปลงพระชนม์ค่อลีฟะฮฺได้และเข้ารับตำแหน่งค่อลีฟะฮฺ เฉลิมพระนามว่า อัลมะอฺมูน แต่ทว่ายะฮฺยา อิบนุ อะลี อิบนิ ฮัมมูด ก็สามารถแย่งชิงอำนาจจากอาของตนและกุมอำนาจในนครโคโดบาฮฺ

 

ซัรกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza)
* ในปีฮ.ศ.408/คศ.1018 อัลมุนซิร อิบนุ ยะฮฺยา อัตตุญัยบีย์ได้ประกาศแข็งเมืองต่อนครโคโดบาฮฺและแยกตนเป็นอิสระในเมืองซัรกุสเฏาะฮฺ

 

ในปีฮ.ศ.412/คศ.1021 อับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ ฮิชาม อิบนิ อัลดิลญับบารฺ อิบนิ อับดิรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺ สามารถชิงอำนาจกลับสู่ราชวงศ์ อัลอุม่าวียะฮฺอีกครั้งและยุติอำนาจของตระกูลฮัมมูด ซึ่งมีอำนาจนับแต่ปีฮ.ศ.407-412 อับดุรเราะฮฺมาน ได้ตั้งตนเป็นค่อลีฟะฮฺเฉลิมพระนามว่า อัลมุสตัซฺฮิรฺ บิลลาฮฺในนครโคโดบาฮฺ

 

บัฏลิอุส (Badajoz)
* อับดุลลอฮฺ อิบนุ มุฮำหมัด ได้แยกตนเป็นอิสระในเมืองบัฏลิอุส ในปีฮ.ศ.413/คศ.1022

 

อิชบีลียะฮฺ (Sevilla)
* มุฮำหมัด อิบนุ อิสมาอีล อิบนิ อับบาด กอฎีย์ (ผู้พิพากษา) ในเมืองอิชบีลียะฮฺ ได้ตั้งตนเป็นอิสระในปีฮ.ศ.414/คศ.1023

 

นับละฮฺ (ลับละฮฺ) (Niebla)
* อะหฺหมัด อิบนุ ยะฮฺยาเข้ายึดอำนาจและประกาศแยกตนเป็นอิสระในเมืองนับละฮฺ

 

ในปีฮ.ศ.414/คศ.1033 มุฮำหมัด อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อิบนิ อุบัยดิลลาฮฺ อิบนิ อับดิรเราะฮฺมาน อันนาซิร ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งค่อลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺ เฉลิมพระนามว่า อัลมุสตักฟีย์ บิลลาฮฺ ค่อลีฟะฮฺผู้นี้เป็นผู้หมกมุ่นอยู่กับการละเล่น ความเกียจคร้านและตกเป็นทาสของอารมณ์ใฝ่ต่ำ ไร้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดินทำให้พวกอัลอุม่าวียะฮฺ และชาวเมืองโคโดบาฮฺก่อการลุกฮือและปลงพระชนม์พระองค์

 

ค่อลีฟะฮฺผู้นี้คือ บิดาของนักกวีสตรีนามว่า วิลาดะฮฺ ที่โด่งดังในอัลอันดะลุส บรรดานักกวีทั้งหลายต่างก็หลงใหลในตัวนางและบทกวีของนาง ส่วนหนึ่งคือนักกวีผู้เลืองนาม อิบนุ ซัยดูนฺและอิบนุ อับดูซ, กวีบทหนึ่งที่อิบนุ ซัยดูนฺ ประพันธ์ถึงวิลาดะฮฺ หญิงรักของตนคือ

“ฉันคะนึงถึงเธอ ณ อัซซะอฺรออฺโดยถวิลหา      และขอบฟ้าเบิกบานแลหน้าปฐพีช่างสดใส”

 

ในปีฮ.ศ.416/คศ.1025 ตระกูลฮัมดูนได้ฉวยโอกาสการลุกฮือระหว่างพวกอัลอุม่าวียะฮฺก่อการกบฏซ้อนและเข้ายึดครองนครโคโดบาฮฺอีกครั้ง แต่ทว่าในปีฮ.ศ.418/คศ.1027 มุฮำหมัด อิบนุ ญะฮฺวัรฺได้ก่อการลุกฮือและยึดอำนาจการปกครองจากพวกตระกูลฮัมดูนได้สำเร็จและนำตำแหน่งค่อลีฟะฮฺกลับคืนสู่พวกอัลอุม่าวียะฮฺ โดยแต่งตั้งฮิชาม อิบนุ มุฮำหมัด อิบนิ อับดิลลาฮฺ อิบนิ อับดิรเราะฮฺมาน อันนาซิรให้เป็นค่อลีฟะฮฺเฉลิมพระนามว่า”อัลมุอฺตัซฺ บิลลาฮฺ”

 

บาญะฮฺ (Beja)
* ในปีฮ.ศ.422/คศ.1031 อัลฮาญิบ อิบนุ มุฮำหมัดได้แยกตนเป็นอิสระในเมืองบาญะฮฺ

 

ฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo)
* ตระกูล ซุนนูน แผ่อิทธิพลเข้ายึดครองนครโทเลโดและแยกตนเป็นอิสระจากนครหลวงโคโดบาฮฺ

 

กลางเดือนซุลฮิจญะฮฺ ปีฮ.ศ.422/คศ.1031 บรรดานักปราชญ์และเหล่าแม่ทัพนายกองตลอดจนบุคคลสำคัญของชาวมุสลิมได้ร่วมประกาศยกเลิกระบอบคิลาฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺและมอบอำนาจการปกครองแก่อบุล ฮัซฺม์ อิบนุ ญะฮฺวัรฺ อาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺในอัลอันดะลุสได้ยุติลงหลังจากมีอำนาจได้ราว 200 ปี มีอับดุรเราะฮฺมาน อัดดาคิลเป็นผู้สถาปนา

 

ในยุคของอัดดาคิลมีความเข้มแข็งในการสถาปนาอาณาจักร ต่อมาก็ลุ่สู่ความเจริญรุ่งเรืองในยุคของเหล่าผู้ปกครองรัฐ (อุมารออฺ) และบรรดาค่อลีฟะฮฺในช่วงตอนกลาง แล้วก็แตกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยในช่วงเวลา 50 ปี หลัง ซึ่งมีรัฐอิสระเกิดขึ้นถึง 22 รัฐหรือมากกว่านั้น

 

พวกรัฐคริสเตียนได้ฉวยโอกาสในช่วงที่อัลอันดะลุสแตกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย ยึดครองอาณาเขตหนึ่งในสามของอัลอันดะลุสทางตอนเหนือ พวกคริสเตียนสามารถตีชิงเอาแว่นแคว้นทั้งหมดที่อัลฮาญิบ อัลมันซูร ได้เคยพิชิตและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอัลอันดะลุสกลับคืนสู่อำนาจพวกตน ในทุกวันนี้ พวกเราเป็นประชาชาติที่แตกแยก ซึ่งอาจจะยังไม่ถึงขั้นที่อัลอันดะลุสได้ประสบ ฉะนั้นยังคงมีความหวังสำหรับประชาชาติมุสลิมในการสร้างเอกภาพและความเข้มแข็งให้กลับคืนมาเช่นครั้งอดีตแต่ทว่าความหวังย่อมมิอาจสัมฤทธิผลได้ด้วยความเพ้อฝัน แต่จำต้องอาศัยความจริงใจและการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเป็นที่ตั้ง

 

ในช่วงเวลานั้น กราเซียฮฺที่ 2 ได้มีอำนาจอยู่ในอาณาจักรกิชตาละฮฺ (Castile) และถูกลอบสังหารในปีฮ.ศ.420 ขณะประกอบพิธีอภิเษกสมรสกับน้องสาวของกษัตริย์ลิออง โอรสของ กราเซียฮฺที่ 2 คือ ชานญะฮฺ (Sancho) ที่ 3 ก็แผ่อำนาจปกครองกิชตาละฮฺ (Castile) และนาฟาเราะฮฺ (Navarre) และนำกองทัพเข้าโจมตีอาณาจักรลิอองและผนวกเข้าเป็นอาณาเขตของตน หลังจากนั้นชานญะฮฺก็ขนานพระนามพระองค์เองว่า กษัตริย์แห่งสเปน (Kings of Spain) รัฐคริสเตียนทางตอนเหนือของอัลอันดะลุสก็เริ่มเป็นปึกแผ่น ในขณะที่สถานการณ์ของชาวมุสลิมในอัลอันดะลุสยังคงระส่ำระสายเนื่องจากมีการรบพุ่งระหว่างก๊กอิสระต่างๆ ระหว่างกันเอง

 

ในปีฮ.ศ.426/คศ.14035 ชานญะฮฺหรือซานโชว์มหาราชได้สิ้นพระชนม์ ฟัรดิลันด์ (Fernando) โอรสของซานโชว์ก็สืบอำนาจต่อจากบิดาของตนและทำให้อาณาเขตของลิอองที่เหลือถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกิชตาละฮฺแห่งใหม่ (Castile, La Nueva)

 

มัรซียะฮฺ (Murcia)
* ในปีฮ.ศ.429 ตระกูลตอฮิรก็รวมอำนาจในเมืองมัรซียะฮฺ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอัลอันดะลุส

 

ซัรกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza)
* ในนครหลวงของภาคเหนือ นครซะระกุสเฏาะฮฺซึ่งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตระกูลอัตตุญัยบีย์ได้ถูกสุลัยมาน อิบนุ มุฮำหมัด อิบนิ ฮูด นำไพร่พลของตนก่อการกบฏแย่งชิงอำนาจจากพวกอัตตุญัยบีย์และยึดอำนาจในนครแห่งนี้ แล้วสถาปนาตัวเองขึ้นเป็น ค่อลีฟะฮฺ อัลมุสตะอิน บิลลาฮฺ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีฮ.ศ.431/คศ.1040

 

อัลมะรียะฮฺ (Almeria)
* เจ้าเมืองอัลมะรียะฮฺจากตระกูลซุมาดิฮฺได้ประกาศแยกตนเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับนครโคโดบาฮฺ เมืองอัลมะรียะฮฺ ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอัลอันดะลุส ถือเป็นเมืองหลวงทางทะเลและเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือในอัลอันดะลุส

 

อิชบีลียะฮฺ (Sevilla)
* หลังจากเจ้าเมืองอิชบีลียะฮฺสิ้นชีวิต บุตรชายของเขา คือ อัลมุอฺตะฎิด บิลลาฮฺ ได้ปกครองต่อมาในปีฮ.ศ.433 อัลมุอฺตะฎิด บิลลาฮฺ ผู้นี้เป็นคนไม่ดี และขอความช่วยเหลือจากพวกคริสเตียนทางตอนเหนือ เขาทำสัญญากับฟัรดิลันด์ (Fernando) และยอมจ่ายบรรณาการแก่อาณาจักรคริสเตียนเพื่อแลกกับการคุ้มครองเมืองของตนจากอิทธิพลของโคโดบาฮฺ

 

ซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza)
* ในปีฮ.ศ.438 อัลมุสตะอิน บิลลาฮฺ เสียชีวิตเมืองซะระกุสเฏาะฮฺ ก็แตกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยในส่วนของตัวเมืองยังคงอยู่ภายใต้อำนาจของอะหฺหมัด อิบนุ สุลัยมาน ส่วนอาณาเขตที่ขึ้นกับซะระกุสเฏาะฮฺ ซึ่งเรียกว่าเขตบัรบัชตัรนั้น อยู่ภายใต้อำนาจอิสระของยูซุฟ อิบนุ สุลัยมาน น้องชายของอะหฺหมัด

 

บรรดารัฐอิสระของก๊กต่างๆ (ดุวัยลาตฺ อัตตอวาอิฟ)

ลำดับ รัฐอิสระ ผู้ปกครอง ปีที่แยกเป็นอิสระ
1

บะลันซียะฮฺ (Valencia)

อัลมุบารอกและอัลมุซ็อฟฟัรฺ ฮ.ศ.400
2 ดานียะฮฺ / อัลบิลยารฺ (Baleares) มุญาฮิด อัลอามิรีย์ ฮ.ศ.400
3 อัลบุนต์ อับดุลลอฮฺ อิบนุ อัลกอซิม ฮ.ศ.400
4

อัรกุช (Arcos)

ตระกูลค็อซฺรูน ฮ.ศ.400
5

กุรฏุบะฮฺ (Cordova)

พวกอัลอุม่าวียะฮฺ ตระกูลฮัมดูน
และตระกูลญะฮฺวัรผลัดเปลี่ยนกัน
ฮ.ศ.403
6

วัลบะฮฺ (Huelva)

ตระกูลอัลบักรีย์ ฮ.ศ.403
7

ฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada)

ซาดีย์ อิบนุ ซีรีย์ ฮ.ศ.403
8

ซันตะมะรียะฮฺ (Santa Mariah)

ฮุซัยล์ อิบนุ อับดิลมะลิก ฮ.ศ.403
9

มูรูร (Moron)

ก๊ก ตะซีรีย์ ฮ.ศ.403
10

มัรซียะฮฺ (Murcia)

คอยรูน อัลอามิรีย์-ก๊กตอฮิร ฮ.ศ.403
11

กอรมูนะฮฺ (Carmona)

อบู มุฮำหมัด อิบนุ บิรฺซ้าล ฮ.ศ.405
12

อัลมะรียะฮฺ (Almeria)

คอยรูน อัลอามิรีย์ ฮ.ศ.405
13

รินดะฮฺ (Ronda)

ตระกูลยัฟรูน ฮ.ศ.406
14

ซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza)

อัลมุนซิร อัตตุญัยบีย์ – ก๊กฮูด ฮ.ศ.408
15

บัฏลิอูส (Badajoz)

อับดุลลอฮฺ อิบนุ มุฮำหมัด ฮ.ศ.413
16

อิชบีลียะฮฺ (Sevilla)

มุฮำหมัด อิบนุ อิสมาอีล อิบนิ อับบาด ฮ.ศ.414
17

ลุบละฮฺ (Niebla)

อะหฺหมัด อิบนุ ยะฮฺยา ฮ.ศ.414
18

บาญะฮฺ (Beja)

อัลฮาญิบ อิบนุ มุฮำหมัด ฮ.ศ.422
19

ฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo)

ตระกูลซุนนูน

ฮ.ศ.422
20

บัรบัชตัร (Babastro)

ยูซุฟ อิบนุ สุลัยมาน

ฮ.ศ.438
20 ซันตะมะรียะฮฺตะวันตก
(West Santa Mariah)

ก๊กฮารูน

ฮ.ศ.407

 

อบุลวะลีด อัลบาญีย์ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่
ในปีฮ.ศ. 440 มีนักปราชญ์ท่านหนึ่งเดินทางถึงแคว้นอัลอันดะลุส ซึ่งก่อนหน้านั้น 13 ปี นักปราชญ์ผู้นี้ได้จากแคว้นอัลอันดะลุสไปยังดินแดนตะวันออกของโลกอิสลามเพื่อแสวงหาวิชาความรู้ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ คือ อบุลวะลีด อัลบาญีย์ เป็นนักปราชญ์ผู้อาวุโสท่านหนึ่งในอัลอันดะลุส เป็นนักปฏิบัติ และเป็นนักญิฮาด จะขอกล่าวถึงเรื่องราวของนักปราชญ์ผู้นี้ เพื่อหวังว่าจะได้เป็นแบบอย่างสำหรับบรรดานักวิชาการและเหล่านักศึกษาในยุคของเรานี้

 

อบุลอัลวะลีด สุลัยมาน อิบนุ ค่อลัฟ อัลบาญีย์ เป็นนักนิติศาสตร์อิสลามสังกัดมัซฮับมาลิกีย์ และเป็นนักวิชาการหะดีษที่ยิ่งใหญ่แห่งอัลอันดะลุส อบุลวะลีด ถือกำเนิดในเมืองบัฏลิยูส (Badajoz) ปีฮ.ศ.403 เมื่อเติบใหญ่ได้เดินทางสู่แคว้นอัลฮิญาซฺ, นครแบกแดด และแคว้นชาม (ซีเรีย) และกลับสู่อัลอันดะลุสหลังจากใช้เวลา 13 ปีในการเดินทางเสาะแสวงหาความรู้จากเหล่านักปราชญ์เป็นอันมาก อบุลวะลีดได้แต่งตำราเป็นจำนวนมาก

 

อาทิเช่น “อัลมุนตะกอ” อรรถาธิบายหนังสือ อัลมุวัตเตาะฮฺของอิหม่ามมาลิก อิบนุ อนัส, “ชัรฮุลมุเดาวะนะฮฺ” และ  ”อัลอิชาเราะฮฺ” ในวิชาหลักมูลฐานนิติศาสตร์อิสลาม เป็นต้น อบุลวะลีด มีความรู้อย่างเอกอุ ทั้งๆ ที่เป็นคนยากจนและมีความสมถะ เขาจะทานอาหารที่ได้มาจากหยาดเหงื่อในการทำงาน บ่อยครั้งที่เขาออกไปสั่งสอนสานุศิษย์ในขณะที่มือของเขายังมีร่องรอยของการจับฆ้อนในการทำงานตามอาชีพของเขา และจะตอบโต้พวกคริสเตียนและหักล้างคำกล่าวอ้างตลอดจนเรียกร้องเชิญชวนพวกนั้นสู่ศาสนาอิสลาม อบุลวะลีดจึงเป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ มีความสูงส่งสมกับความเป็นปราชญ์ทางศาสนา

 

อบุลวะลีดได้ใช้เวลาในการเดินทางไปทั่วอัลอันดะลุสถึง 30 ปีในการเรียกร้องให้มีเอกภาพ ความเป็นปึกแผ่น และยุติการขัดแย้งเพื่อรวมพลังเข้าต่อสู้กับแผนการของพวกคริสเตียนทางเหนือ เขาตระเวนเรียกร้องเชิญชวนทั้งผู้ปกครองและพลเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครอง, ทหารและชาวบ้านสู่แนวร่วมแห่งอิสลาม บรรดาผู้ปกครองต่างก็ให้การต้อนรับอบุลวะลีดในทุกที่ทุกเมืองที่เขาไปถึง พวกนั้นต่างก็แสดงความความยินดีต่อการเรียกร้องและการทุ่มเทของอบุลวะลีด แต่นั่นก็เป็นเพียงคำพูดและเป็นเรื่องการเมืองอันจอมปลอม ไม่มีผู้ใดลงมือกระทำอย่างจริงจังสักคนเดียว กระนั้นอบุลวะลีดก็หาได้สิ้นหวังไม่ เขายังคงดำเนินภารกิจที่ยิ่งใหญ่ต่อไปซึ่งในภายหลังได้ส่งผลตามมา

 

มาลิเกาะฮฺ (Malaga)
* ในปีฮ.ศ.449/คศ.1057 ตระกูลอับบาดฺได้ยึดครองเมืองมาลิเกาะฮฺ (Malaga) และเขตแดนโดยรอบ และเข้ายึดครองเมืองนับละฮฺ (Nienbla), วัลบะฮฺ (Huelva) และเกาะชังกีฏ ตลอดจนซันตะมะรียะฮฺ (Santa Maria) และชัลยะฮฺ จนกระทั่งถึงมหาสมุทรแอตแลนติก และเข้ายึดครองเมืองมัรซียะฮฺ (Murcia) และเริ่มคุกคามต่อฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada)

ปราสาทแห่งนครมาลิเกาะฮฺ หอระฆังโบสถ์ในเมืองซานตามารีอาเดิมคือหออะซานของมัสญิด

ฝ่ายพวกคริสเตียนนั้น ฟัรดะลันด์ (Fernando) ได้นำทัพข้ามลำน้ำดุวัยเราะฮฺ (Duero) และปิดล้อมป้อมปราการบาซู ทางตอนใต้ของแม่น้ำดุวัยเราะฮฺ พลเมืองมุสลิมได้ต่อสู้ป้องกันเมืองอย่างกล้าหาญและขอความช่วยเหลือไปยังชาวมุสลิมในหัวเมืองอื่น แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือแต่อย่างใด จนในที่สุด ฟัรดะลันด์ (Fernando) ก็จู่โจมอย่างหนักหน่วงต่อเมืองนี้ พลเมืองถูกสังหารและถูกจับเป็นเชลยเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปีฮ.ศ.449/คศ.1057

 

ในปีฮ.ศ.452/คศ.1060 อัลดุลอะซีซ อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อิบนิ อัลฮาญิบ อัลมันซูร ผู้ปกครองเมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia) ได้เสียชีวิต อัลมะลิก อัลมุซอฟฟัรฺ บุตรชายก็ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน และได้สมรสกับบุตรีของอัลมะอฺมูน ผู้ปกครองเมืองฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) รัฐทั้ง 2 จึงรวมเป็นหนึ่ง

 

ในปีฮ.ศ.456/คศ.1064 ฟัรดะลันด์ (Fernando) ได้นำทัพสู่เมืองฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) นครหลวงในภาคกลางของอัลอันดะลุส และปล้นสะดมเขตชานเมือง และยึดครองเมืองกุลุมะรียะฮฺ (Coimbra) ได้สำเร็จ

 

เมืองซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) นับเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกลุ่มรัฐอิสสระ และเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับพรมแดนของรัฐคริสเตียนทางตอนเหนือ เมืองซะระกุสเฏาะฮฺ อยู่ใต้อำนาจของก๊กตุญัยบีย์ ต่อมาพวกก๊กฮูดก็เข้ายึดอำนาจ เมื่อสุลัยมาน อิบนุ ฮูด หรืออัลมุสตะอีน บิลลาฮฺ ได้สิ้นชีวิตลง รัฐแห่งนี้ก็แตกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย อะฮฺหมัด อิบนุ สุลัยมาน (อัลมุกตะดิร บิลลาฮฺ) ยังคงมีอำนาจในตัวเมืองซะระกุสเฏาะฮฺ ในขณะที่เมืองบัรบัชตัร (Babastro) มียูซุฟ อัลมุซอฟฟัร บิลลาฮฺ น้องชายของอะหฺหมัดเป็นผู้ปกครอง

 

การรุกรานของพวกนอร์แมนด์

เผ่านอร์แมนด์ (ไวกิงค์) ได้รวมตัวกันเข้าโจมตีในปีฮ.ศ.456 พร้อมกับพวกฝรั่งเศส มีจำนวนกำลังพลมากกว่า 40,000 คน พวกนอร์แมนด์และฝรั่งเศสได้ข้ามเทือกเขาพิเรนีส และมุ่งหน้าสู่เมืองซัรกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) และบนเส้นทางการเดินทัพนั้น มีเมืองบัรบัชตัร (Barbastro) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองซัรกุสเฏาะฮฺราว 60 ก.ม.และเข้าปิดล้อมเมืองนี้เอาไว้

ป้อมปราการและปราสาทที่สร้างโดยอบูญะอฺฟัร อะฮฺมัด อิบนุ สุลัยมาน ในนครซัรฺกุสเฏาะฮฺ (ซาราโกซ่า) อัล-อันดะลุส

อัลมุซอฟฟัรฺ บิลลาฮฺได้ขอความช่วยเหลือไปยังอัลมุกตะดิร บิลลาฮฺให้ส่งกำลังทหารมาสนับสนุน แต่อัลมุกตะดิรกลับปฏิเสธและปล่อยให้ชาวมุสลิมถูกปิดล้อมไว้ในตัวเมือง อัลมุซอฟฟัรฺจึงขอความช่วยเหลือไปยังรัฐอิสระต่างๆ แต่ก็ไม่มีผู้ใดตอบรับ บรรดานักวิชาการศาสนาก็มีการเคลื่อนไหวในทุกเขตแดน แต่ก็ไม่มีผู้ใดรับฟัง การปิดล้อมเป็นไปอย่างหนักหน่วงตลอดระยะเวลา 40 วัน มีการรบพุ่งกับนอกเมืองอย่างรุนแรง

 

เมื่อมีกำลังทหารน้อยกว่า พวกนอร์แมนด์จึงสามารถจู่โจมเข้าสู่ตัวเมือง ฝ่ายมุสลิมก็ตั้งป้อมต่อสู้อยู่ภายในตัวเมืองอย่างทรหด แต่ทว่ามีผู้ทรยศชี้ทางน้ำที่ใช่หล่อเลี้ยงผู้คนในตัวเมืองให้กับพวกฝรั่งเศส พวกนั้นจึงตัดเส้นทางส่งน้ำ ทำให้พลเมืองตกอยู่ในสภาวะคับขันเนื่องจากขาดน้ำ ชาวเมืองบัรบัชตัร (Barbastro) จึงยื่นข้อเสนอต่อพวกนอร์แมนด์และฝรั่งเศสว่าจะยอมแพ้ แต่พวกนั้นก็ปฏิเสธและยกกำลังทหารเข้าจู่โจมตัวเมืองเข่นฆ่าผู้คนเป็นจำนวนมาก จำนวนที่น้อยที่สุดตามที่มีระบุไว้คือ 40,000 คน และมากที่สุดคือจำนวน 100,000 คน

 

เมื่อพวกนอร์แมนด์ยึดเมืองนี้ได้ก็จัดแบ่งให้ทหารนอร์แมนด์ปกครองเขตต่างๆ นอกจากนี้พวกนอร์แมนด์ได้เลือกสาวงามของเมืองนี้จำนวน 5,000 คน แล้วส่งไปยังนครคอนสแตนติโนเปิ้ลเพื่อเป็นกำนัลแก่จักรพรรดิโรมัน พวกนอร์แมนด์ได้ทิ้งทหารของพวกตนเอาไว้เพื่อรักษาเมืองจำนวน 3,500 คน หลังจากนั้นก็กลับสู่พรมแดนฝรั่งเศสพร้อมกับทรัพย์สงครามและเชลยศึกจำนวนมาก

 

ประวัติศาสตร์ย้อนรอยหรือไม่? ท่านผู้อ่านคงยังจำได้ถึงเสียงกรีดร้องของสตรีชาวบอสเนีย ที่ถูกล่วงละเมิดเกียรติอย่างน้อย 50,000 คน และผู้ชายชาวบอสเนียที่ถูกเข่นฆ่าไม่น้อยกว่า 200,000 คน หรือว่าลืมเลือนไปเสียแล้ว!

 

เหตุการณ์อันน่าเจ็บปวดนี้ ได้ทำให้อบุลวะลีด อัลบาญีย์จำต้องเคลื่อนไหวโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากผู้ปกครองคนใด เขาทำการปลุกระดมและเรียกร้องบรรดาชาวมุสลิมให้ทำการญิฮาดในวิถีทางของพระองค์อัลลอฮฺและช่วยเหลือบรรดาผู้อ่อนแอ ถึงแม้ว่าไม่มีผู้ปกครองคนใดคิดที่จะเคลื่อนไหว

 

แต่บรรดานักปราชญ์ก็เข้าเป็นแนวร่วมกับอัลบาญีย์ ส่วนหนึ่งคือ ท่านอิบนุ ฮัซฺม์ (อะลี อิบนุ อะฮฺหมัด) นักวิชาการคนสำคัญที่เป็นทั้งนักนิติศาสตร์, นักกวี, นักปรัชญา, นักประวัติศาสตร์ ถือกำเนิดในนครโคโดบาฮฺ ปีฮ.ศ.384, ท่านอิบนุ อับดิลบัรร์ ถือกำเนิดในนครโคโดบาฮฺ ปีฮ.ศ.368 ผู้ได้รับฉายานามว่า ฮาฟิซ (นักท่องจำอัลหะดีษ) แห่งดินแดนตะวันตก และท่านอิบนุ รุชด์ (ปู่ของอิบนุ รุชด์ นักปรัชญา) ซึ่งเป็นนักนิติศาสตร์ผู้เจนจัดในมัซฮับมาลิกีย์ เป็นต้น

 

การเคลื่อนไหวของบรรดนักปราชญ์คนสำคัญๆ ในอัลอันดะลุสได้ปลุกจิตสำนึกของบรรดาผู้คนตลอดจนอัลมุกตะดิร ซึ่งอัลมุซอฟฟัรฺ พี่น้องของเขาได้ถูกสังหารพร้อมกับพลเมืองบัรบัชตัรฺ (Barbastro) ก็คิดได้เขาจึงร่วมมือกับอัลบาญีย์ในการรวบรวมกำลังพลจำนวน 6,000 คน พร้อมกับอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังสนับสนุน เสียงตักบีรอันกึกก้องของกำลังพลชาวมุสลิมก็บ่ายหน้าสู่เมืองบัรบัชตัรฺ

 

ในระหว่างทางบรรดาทหารอาสาและชาวบ้านได้เข้าร่วมสมทบจากทั่วทุกสารทิศ หลังจากถึงกำแพงเมืองก็เกิดการสู้รบเป็นเวลาถึง 9 เดือน และยุติลงด้วยชัยชนะของชาวมุสลิม พวกนอร์แมนด์ถูกสังหารถึง 1,500 คน ที่เหลือถูกจับเป็นเชลย ในขณะที่ฝ่ายกำลังพลมุสลิมมีผู้พลีชีพเพียง 50 คนเท่านั้น เมืองบัรบัชตัรก็กลับสู่การปกครองของชาวมุสลิมอีกครั้ง

 

ชัยชนะของชาวมุสลิมในครั้งนี้เป็นผลมาจากความทุ่มเทในการเรียกร้องปลุกจิตสำนึกตลอดระยะเวลาหลายสิบปีของอบุลวะลีด อัลบาญีย์ ถือเป็นคุณูปการของเหล่านักวิชาการที่ยึดมั่นในอุดมการณ์และบทบาทของตนซึ่งประชาคมมุสลิมในทุกวันนี้มีความต้องการเหล่านักวิชาการที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ นักวิชาการที่เป็นทั้งผู้สืบสานหลักคำสอนของศาสนาอันถูกต้อง ทุ่มเทในการเผยแผ่และสั่งสอน ตลอดจนลงมือปฏิบัติจริง เรียกร้องสู่การญิฮาด และออกสู่สมรภูมิ มิใช่เป็นผู้ที่เที่ยวสั่งสอนผู้คนแต่ถ่ายเดียวครั้นถึงยามวิกฤติก็กลับนิ่งเงียบและลืมเลือนภารกิจของตน ดูเหมือนว่าประชาคมมุสลิมในทุกวันนี้จะขาดแคลนนักวิชาการที่เป็นแบบอย่างเยี่ยงอบุลวะลีด อัลบาญีย์ และเหล่านักปราชญ์ที่ร่วมออกศึก ขาดแคลนจนแทบจะหาไม่ได้เลยทีเดียว ลาเฮาล่าวาลากูวะต้าอิลลาฮฺ บิลลาฮฺ

 

การขัดแย้งระหว่างคริสเตียนทางตอนเหนือ

ฟัรดะลันด์ (เฟอร์ดินานด์) กษัตริย์คริสเตียนได้สิ้นพระชนม์ในปีฮ.ศ.458/คศ.1066 ในรัชสมัยของพระองค์นั้นได้สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับอาณาจักรคริสเตียนด้วยการรวมรัฐอิสระคริสเตียนเข้าเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้อำนาจของพระองค์ เมื่อสิ้นพระชนม์ลง อาณาจักรคริสเตียนได้ถูกแบ่งออกระหว่างโอรสทั้ง 3 ของพระองค์

 

ชานญะฮฺ (Sancho) โอรสองค์โตได้ครอบครอง กิชตาละฮฺ (Castile) อัลฟองซัว (Alfonso) โอรสองค์กลางได้ปกครองลิออง (Leon) ในขณะที่กราเซียฮฺ (Grasia) โอรสองค์เล็กได้ปกครองญะลีกียะฮฺ (Galicia) และโปรตุเกส (Portugal) แต่เพียงผู้เดียว ชานญะฮฺ (Sancho) โอรสองค์โตปรารถนาได้อาณาเขตของน้องชายทั้งสองของพระองค์จึงนำกองทัพเข้าโจมตีลิออง และปราบปรามลงได้ อัลฟองซัว จึงหลบหนีไปยังฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) ซึ่งอัลมะอฺมูน จากตระกูลซูนนูนฺ ปกครองอยู่อัลมะอฺมูนได้ให้การต้อนรับ อัลฟองซัวและผู้ติดตามเป็นอย่างดี

 

การดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้อัลฟองซัว ได้รับรู้ถึงจุดอ่อนของชาวมุสลิมและรู้ถึงลู่ทางในการเข้าสู่ฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) เขาใช้เวลาอยู่ในเมืองนี้ถึง 9 เดือน จึงรู้ข้อมูลของเมืองทุกด้าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการยึดครองเมืองในเวลาต่อมา

 

ในปีฮ.ศ.459/คศ.1067 ชานญะฮฺ (Sancho) ยังคงมุ่งหน้าในการแผ่อำนาจของตนเหนือลิออง (Leon) และสามารถผนวกแคว้นญะลีกียะฮฺ (Galicia) และโปรตุเกส (Portugal) ได้สำเร็จ ชานญะฮฺได้รวมอาณาจักรคริสเตียนให้เป็นหนึ่งอีกครั้ง ในระหว่างที่อัลอันดะลุสยังตกอยู่ในความขัดแย้งและการรบพุ่งกันเอง

 

การขัดแย้งระหว่างรัฐอิสระในอัลอันดะลุส

อิบนุ อับบาด ผู้ปกครองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) ได้เข้ายึดครองหัวเมืองกอรมูนะฮฺ (Carmona), มูรูร (Moron), อัรกุช (Arcos) และรินดะฮฺ (Rinda) จนทำให้อัลมุซอฟฟัร ผู้ปกครองบัฏลิอุส (Badajoz) จำต้องยอมจ่ายบรรณาการแก่ชานญะฮฺ (Sancho) เพื่อแลกกับการคุ้มครองตน

 

ในปีฮ.ศ.461/คศ.1069 อัลมุซอฟฟัร อิบนุ อับบาดได้เสียชีวิต อัลมุอฺตะมัด บิลลาฮฺ บุตรชายของเขาก็ขึ้นปกครองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) ในปีฮ.ศ.463 อัลมุอฺตะมัดก็นำทัพเข้ายึดครองนครโคโดบาฮฺ และสามารถยุติอำนาจของพวกตระกูลญะฮฺวัรฺลงได้ และผนวกโคโดบาฮฺเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตน ด้วยเหตุนี้อิชบีลียะฮฺ (Sevilla) จึงกลายเป็นรัฐอิสระที่ใหญ่ที่สุดในอัลอันดะลุส

 

อัลฟองซัว (Alfonso) ครองอำนาจ

ชานญะฮฺ (Sancho) เคลื่อนกำลังพลเข้ายึดครองป้อมซะมูเราะฮฺ (Zamora) ในระหว่างเส้นทางชานญะฮฺ ก็ถูกลอบปลงพระชนม์ในปีฮ.ศ.465 อาณาจักรคริสเตียนจึงไร้กษัตริย์ อัลฟองซัว (Alfonso) ซึ่งลี้ภัยอยู่ในนครโทเลโดของชาวมุสลิมก็เดินทางสู่อาณาจักรคริสเตียนในฐานะกษัตริย์แห่งกิชตาละฮฺ (Castile), ลิออง (Leon) และญะลีกียะฮฺ (Galicia) รวมเป็นอาณาจักรหนึ่งเดียว หลังจากนั้นอัลฟองซัวก็จับกุมกราเซียฮฺ น้องชายคนเล็กของตนและคุมขัง กราเซียฮฺ ใช้ชีวิตในที่คุมขังเป็นเวลาถึง 17 ปี

 

ภายหลังขึ้นเป็นกษัตริย์คริสเตียนแห่งสเปนแล้ว อัลฟองซัวก็ส่งกองทัพเข้าโจมตีเขตชานเมืองและที่เพาะปลูกของเมืองโทเลโด สร้างความบอบช้ำและอ่อนแอให้แก่เมืองเพื่อเป็นการปูทางสู่การยึดครอง แต่ความมุ่งหมายของอัลฟองซัว ก็คือ โจมตีเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) และนครหลวงโคโดบาฮฺ (Cordoba)

 

ในปีฮ.ศ.465/คศ.1073 อัลฟองซัว ได้ส่งคณะทูตไปยังนครอิชบีลียะฮฺ เพื่อเรียกร้องให้อัลมุอฺตะมัด บิลลาฮฺ ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ตนตามที่ได้มีสนธิสัญญากันไว้ และให้เพิ่มจำนวนภาษีที่จะถูกจัดเก็บเพื่อส่งไปให้ตนโดยเร็ว อัลมุอฺตะมิดได้อนุญาตให้พระมเหสีของอัลฟองซัวที่เดินทางมาพร้อมกับคณะทูตในขณะที่พระนางทรงครรภ์ให้พำนักในนครโคโดบาฮฺ ต่อมาพระนางได้คลอดพระโอรสในมัสญิดญามิอฺแห่งนครโคโดบาฮฺตามการชี้แนะของบรรดาบาดหลวงคริสเตียนที่กล่าวว่า : หากมีทารกถือกำเนิดในมัสญิดที่ใหญ่ที่สุดของชาวมุสลิมแล้ว ทารกผู้นั้นก็จะกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในภายหน้า

 

ผู้นำของคณะทูตคริสเตียนคือ อิบนุ ชาลีบ ชาวยิวที่เป็นเสนาบดีของอัลฟองซัว คณะทูตได้ลงพักอยู่นอกเมืองอิชบีลียะฮฺ อัลมุอฺตะมิดได้ส่งอบูบักร อิบนุ ซัยดูน เสนาบดีของตนออกไปเจรจากับคณะทูตแต่ทว่าอิบนุ ชาลีบ ชาวยิวได้ใช้ความแข็งแกร่งและความกักขฬะของตนในการเจรจา ทำให้อัลมุอฺตะมัดรับไม่ได้กับการกระทำและท่าทีของอิบนุ ชาลีบและโกรธกริ้วเป็นอันมาก จึงได้ส่งกำลังทหารเข้าไปสังหาร อิบนุ ชาลีบและคณะทูตทั้งหมดจำนวน 500 คน

 

แต่มี 3 คนที่สามารถหลบหนีกลับมาส่งข่าวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้อัลฟองซัวได้รับทราบถึงคำตอบของอัลมุอตะมัดได้สำเร็จ เหตุการณ์สังหารคณะทูตได้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่บรรดานักวิชาการศาสนา มีทั้งผู้ที่ไม่เห็นด้วย และผู้ที่เห็นด้วยกับการกระทำของอัลมุอฺตะมัด

 

ครั้นเมื่อข่าวมาถึง อัลฟองซัว (Alfonso) เขาก็สาบานว่าจะทำการแก้แค้นอย่างสาสม เขาจัดเตรียมกองทัพและระดมสรรพกำลังทหารจากทั่วอาณาจักรคริสเตียน ทัพหน้าของพวกคริสเตียนได้บุกทำลายและเผาผลาญทุกสิ่งที่ขวางหน้าตลอดเส้นทางการเดินทัพสู่เมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) เมื่อถึงอิชบีลียะฮฺก็เข้าปิดล้อมเมืองนี้เอาไว้

 

หลังจากนั้นอัลฟองซัวก็ส่งสาส์นไปยังอัลมุอฺตะมัด เพื่อขอให้ยอมส่งมอบอิชบีลียะฮฺแก่ตน แต่ทว่าอัลมุอฺตะมัดได้ตอบกลับไปว่า ถ้าหากอัลฟองซัวไม่ยอมยกเลิกการปิดล้อมและถอนทัพกลับ ตนจะขอความช่วยเหลือไปยังพวกมุรอบิฎูน ซึ่งกำลังแผ่อำนาจอยู่ในแอฟริกาเหนือ อัลฟองซัววิตกว่า พวกมุรอบิฏูนจะเข้ามายังผืนแผ่นดินอัลอันดะลุสแล้วจะทำให้สถานการณ์ของมุสลิมเปลี่ยนไป จึงได้ยกเลิกการปิดล้อมและยกทัพกลับสู่อาณาจักรของตน

 

ในปีฮ.ศ.467/คศ.1075 อัลมะอฺมูน อิบนุ ซินนูนฺ ได้เสียชีวิต อัลกอดิร บิลลาฮฺ หลานชายก็ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ปกครองฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) บุคคลผู้นี้นับเป็นผู้ปกครองรัฐอิสระในอัลอันดะลุสที่ยอดแย่ที่สุดคนหนึ่ง เหตุนี้เมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia) ซึ่งขึ้นกับนครโทเลโด จึงแยกตนเป็นอิสระ มีมุฮำหมัด อิบนุ อับดิลอะซีซฺ ซึ่งเป็นเสนาบดีของอัลมะอฺมูนเป็นผู้นำ

 

ต่อมาในปีฮ.ศ.468/คศ.1076 ตระกูลฮูดที่มีอำนาจอยู่ในซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) ได้ผนวกรัฐดานิยะฮฺ (Denia) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของซะระกุสเฏาะฮฺ และติดต่อกับผู้ปกครองบะลันซียะฮฺ (Valencia) ซึ่งมีศักดิ์เป็นพ่อตาของอะหฺหมัด อัลมุสตะอีน ให้รวมบะลันซียะฮฺเข้าเป็นส่วนหนึ่งของซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza)

 

อัลฟองซัว (Alfonso) กษัตริย์สเปนได้เริ่มคุกคามต่อนครฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) ในปีฮ.ศ.470 ด้วยการโจมตีเขตแดนและที่เพาะปลูกของนครโทเลโด การโจมตีเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 7 ปี ทำให้พลเมืองโทเลโดไม่พอใจต่อ อัลกอดิร บิลลาฮฺ ที่ไม่สนใจในการป้องกันเมืองจากการโจมตีของพวกคริสเตียนอย่างที่ควรจะเป็น

 

บรรดาบุคคลสำคัญได้ร่วมกันปรึกษาหารือและมีมติให้ขอความช่วยเหลือไปยังอัลมุตะวักกิล อะลัลลอฮฺ ผู้ปกครองบัฏลิยูส (Badajoz) อัลมุตะวักกิลเป็นผู้ปกครองที่ดีมีความเด็ดขาดและกล้าหาญ ในปีฮ.ศ.472 พลเมืองโทเลโดจึงร่วมกันปลดอัลกอดิร บิลลาฮฺ ออกจากตำแหน่งผู้ปกครอง แต่ภายหลังอัลฟองซัวก็ให้ความช่วยเหลือต่ออัลกอดิรในการกลับมาปกครองโทเลโดอีกครั้ง

 

ในปีฮ.ศ.474/คศ.1082 อัลฟองซัว (Alfonso) ได้มีสาส์นถึงอัลมุตะวักกิล ผู้ปกครองบัฏลิยูส (Badajoz) ให้ส่งเครื่องบรรณาการและมอบป้อมปราการที่มั่นบางแห่งให้แก่ตน แต่อัลมุตะวักกิลก็ตอบโต้การคุกคามของกษัตริย์คริสเตียนด้วยการมีสาส์นตอบกลับไปว่าตนเอง และพลเมืองบัฏลิยูส จะไม่ยอมจำนนหรือยอมรับการกดขี่ของพวกคริสเตียน ถึงแม้ว่าบัฏลิยูส จะเป็นเพียงแค่รัฐเล็กๆ ที่มีกำลังทหารไม่มากก็ตาม

 

ในปีเดียวกันนั้น (ฮ.ศ.474) อะหฺหมัด อัลมุกตะดิร บิลลาฮฺ ผู้ปกครองซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) ได้เสียชีวิต อาณาเขตของซะระกุสเฏาะฮฺจึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ระหว่างยูซุฟ อัลมุอฺตะมันและอัลมุนซิรบุตรชายทั้ง 2 ของอัลมุกตะดิร บิลลาฮฺ มีการรบพุ่งระหว่างพี่น้องทั้ง 2 ฝ่ายอัลมุอฺตะมัน ได้ขอความช่วยเหลือไปยังพวกคริสเตียน ทำให้เขาสามารถยึดครองอาณาเขตของซะระกุสเฏาะฮฺได้ทั้งหมด

 

และในปีฮ.ศ.474/คศ.1082 อบุลวะลีด อัลบาญีย์ นักปราชญ์ผู้ทุ่มเทในการเรียกร้องความเป็นเอกภาพของอัลอันดะลุสตลอดระยะเวลา 30 ปีได้เสียชีวิตลง ก่อนหน้าที่อัลบาญีย์จะเสียชีวิตนั้นเขาเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการส่งสาส์นไปถึงพวกมุรอบิฏูนในแอฟริกาเหนือเพื่อให้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออัลอันดะลุสที่กำลังอ่อนแอและแตกแยก

 

นครฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) ตกอยุ่ในกำมือฝ่ายคริสเตียน

ในเดือนมุฮัรรอม ปีฮ.ศ.478/คศ.1085 การให้ที่พักพิงของโทเลโดแก่อัลฟองซัวที่ 6 โอรสเฟอร์ดินานด์ในช่วงที่ลี้ภัยได้กลายเป็นผลร้ายแก่โทเลโดเอง กล่าวคือเป็นการเปิดโอกาสให้อัลฟองซัวได้รู้ข้อมูลในด้านการทหาร ชัยภูมิและจุดอ่อนของเมือง หลังจากส่งทหารโจมตีเขตชานเมืองโทเลโดตลอด 7 ปี อัลฟองซัว ก็นำทัพเข้าปิดล้อมอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่องจนกระทั่งเมืองโทเลโดต้องตกอยู่ในกำมือของกองทัพคริสเตียนหลังจากอัลฟองซัวได้ให้สัญญากับชาวเมืองในด้านความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินและสิทธิเสรีภาพในทางศาสนา

ชาวมุสลิมอัล-อันดะลุส รอคอยความช่วยเหลือของพวกอัลมุรอบิฏูน

แต่ทว่าอัลฟองซัวก็รักษาสัญญาเพียง 2 เดือน เท่านั้นนับแต่ยึดครองเมืองนี้ได้ อัลฟองซัวได้มีคำสั่งให้เปลี่ยนบรรดามัสญิดในตัวเมืองโทเลโดเป็นโบสถ์ในคริสต์ศาสนา ส่วนหนึ่งคือมัสญิดญามิอฺ ซึ่งเป็นมัสญิดที่ใหญ่ที่สุดในโทเลโด หลังจากนั้นอัลฟองซัวก็เคลื่อนทัพเข้ายึดครองเมืองตอลฺบีเราะฮฺและซันตะมะรียะฮฺ (Santa Maria) ภายหลังก็เคลื่อนทัพเข้าปิดล้อมซัรกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) นครหลวงทางภาคเหนือของอัลอันดะลุส

 

ในระหว่างนั้นอัลกอดิร บิลลาฮฺ ก็ยอมส่งมอบเมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia) เพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับอาณาจักรของอัลฟองซัวชาวเมืองบะลันซียะฮฺ จึงต้องแบกภาระในการเสียภาษีอันหนักอึ้งแก่อัลฟองซัว อัลมุสตะอิน บิลลาฮฺ น้องชายของอัลกอดิร บิลลาฮฺ ได้ขอความช่วยเหลือจากอัลกุมบิฏูรฺ (Campeador,El cid) ซึ่งเป็นหัวหน้ากองกำลังอัศวินคริสเตียนที่เป็นทหารรับจ้างให้กับทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือคริสเตียนเพื่อแลกกับทรัพย์สิน อัลกุมบิฏูร (เอลซิด) ได้รวบรวมกำลังทหารรับจ้างจำนวน 4,000 คน สนับสนุนอัลมุสตะอีน บิลลาฮฺ ซึ่งมีกำลังทหาร 3,000 คน  เพื่อนำเอาอำนาจการปกครองบะลันซียะฮฺกลับคืนมา

 

แต่ทว่าอัลกอดิร บิลลาฮฺ เจ้าเมืองบะลันซียะฮฺที่เป็นพันธมิตรกับอัลฟองซัว ได้ลอบส่งคนมาติดสินบนกับอัลกุมบิฏูร (เอลซิด) ด้วยทรัพย์สินที่มากกว่าอัลมุสตะอีนเสนอให้ อัลกุมบิฏูร จึงยุติการเคลื่อนไหวของตนโดยอ้างว่า อัลกอดิรเป็นพันธมิตรกับอัลฟองซัวและตนไม่ต้องการกวนใจอัลฟองซัว ไม่เพียงแค่นั้น อัลกุมบิฏูรยังได้ส่งคนไปติดต่อกับอัลมุนซิร ลุงของอัลมุสตะอีนซึ่งเป็นปรปักษ์กับอัลมุสตะอีนว่าตนมีความปรารถนาดีที่จะร่วมเป็นพันธมิตรกับอัลมุนซิรในการต่อต้านอัลมุสตะอีน แต่ทว่าต้องส่งทรัพย์สินมาให้ตนเป็นเครื่องแลกเปลี่ยน!

 

นอกจากนี้ อัลกุมบิฏูร (เอลซิด) ยังได้มีสาส์นถึงอัลฟองซัว ว่าตนและกำลังทหารของตนพร้อมจะสวามิภักดิ์ต่ออัลฟองซัว แต่มีเงื่อนไขว่า อัลฟองซัวต้องยกเขตแดนส่วนหนึ่งให้ตนเป็นผู้ปกครอง ซึ่งอัลฟองซัวก็ตอบตกลง

 

อัลกุมบีฏูร (Campeador,Elcid) ได้รวบรวมทหารรับจ้างจำนวน 7,000 คนเข้าคุกคามแว่นแคว้นต่างๆ ครั้นเมื่อยกทัพมุ่งหน้าสู่เมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia) อัลกอดิร เจ้าเมืองบะลันซียะฮฺก็ประกาศว่าตนยอมสวามิภักดิ์ต่อเอลซิด และจะส่งมอบภาษีและบรรณาการแก่เอลซิดผู้นี้ อนึ่งคำว่าเอลซิด (Elcid) เป็นคำเรียกขานที่ผู้นิยมชมชอบต่ออัลกุมบีฏูร ขนานนามให้แก่เขา มาจากคำในภาษาอาหรับว่า อัซซัยยิด (السيد) นั่นเอง

 

หลังจากเหตุการณ์อันขมขื่นที่อัลอันดะลุสต้องประสบมาโดยตลอดและสูญเสียเมืองฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) ให้แก่ฝ่ายคริสเตียน บรรดานักวิชาการและเหล่านักปราชญ์ก็สิ้นหวังจากบรรดาผู้ปกครองในการกอบกู้เกียรติและการปกป้องชาวมุสลิม และเกรงว่าจะสูญเสียอัลอันดะลุสทั้งหมดหากสถานการณ์ยังเป็นไปเช่นนี้ จึงได้รวมตัวกันส่งตัวแทนมุ่งหน้าไปยังแอฟริกาเหนือเพื่อขอความช่วยเหลือจากพวกอัลมุรอบิฏูน

 

การเรียกร้องให้พวกอัลมุรอบิฏูนเข้ามาแทรกแซงและช่วยเหลืออัลอันดะลุสให้รอดพ้นจากหลายทางด้วยกันคือ

1. บรรดานักปราชญ์ที่เป็นแนวร่วมกับอัลบาญีย์

2. การส่งสาส์นของอัลมุอฺตะมัด อิบนุ อับบาดไปยังยูซุฟ อิบนุ ตาชฺฟีน ภายหลังการคุกคามของอัลฟองซัวต่อเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla)

3. การกระตือรือร้นของอัลมุตะวักกิล บิลลาฮฺ เจ้าเมืองบัฏลิยูส (Badajoz) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดของอัลบาญีย์ที่เรียกร้องให้อัลอันดะลุสรวมเป็นหนึ่ง และขอความช่วยเหลือจากกองทัพอิสลามในมอรอคโค (อัลมุรอบิฏูน) คณะทูตจากอัลอันดะลุสได้มุ่งหน้าสู่มอรอคโค ในปีฮ.ศ.474 ก่อนหน้าการเสียเมืองโทเลโดเพื่อขอร้องให้ยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีน เข้ามาช่วยเหลือพลเมืองอัลอันดะลุส ยูซุฟได้ให้สัญญากับคณะทูต และเริ่มเตรียมการที่จำเป็นเพื่อภารกิจดังกล่าว

 

มัรซียะฮฺ

Murcia