ความมีภาษามลายูเป็นภาษาสำคัญสำหรับคนมลายูบางกอก

jawi00
ดูเหมือนว่าอัตลักษณ์อันเป็นคุณสมบัติสำคัญในการกำหนดความเป็นมลายู ในคำจำกัดความข้อนี้จะเป็นสิ่งที่ด้อยที่สุดสำหรับประชาคมมลายูบางกอก เพราะพวกเขาถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่า “เป็นคนมลายูแล้วทำไมพูดภาษามลายูไม่ได้” หรือ “เป็นคนอิสลามแล้วทำไมไม่พูดภาษาอิสลาม” เป็นต้น

 

เราคงไม่วิพากษ์เรื่องที่เกี่ยวกับภาษาอิสลามอีกเพราะในบทความอื่นที่เราได้วิพากษ์เอาไว้ได้ตอบโจทย์เรื่องนี้ไปแล้ว แต่สิ่งที่เราต้องวิเคราะห์ตามข้อเท็จจริงที่ประจักษ์เกี่ยวกับความสำคัญของภาษษมลายูสำหรับชาวมุสลิมมลายูบางกอก นั่นคือจุดมุ่งหมายหลักในบทความนี้ ความจริงที่ว่า คนมลายูบางกอกไม่ได้ใช้ภาษามลายูในการสื่อสารในชีวิตประจำวันของพวกเขามานานแล้ว

 

ความจริงข้อนี้คงไม่มีผู้ใดปฏิเสธ กระนั้นชาวมุสลิมมลายูบางกอกในบางพื้นที่นอกเมืองบางกอกก็ยังคงใช้ภาษามลายูในการสื่อสารในชีวิตประจำวันของพวกเขาอยู่ แม้ในปัจจุบันจะมีอัตราส่วนผู้พูดภาษามลายูน้อยลงกว่าแต่ก่อนก็ตาม อย่างที่ตำบลคลองหนึ่ง จังหวัดปทุมธานี ตำบลคลองหลวง สวนพริกไทย จังหวัดปทุมธานี และที่ตำบลท่าอิฐ จังหวัดนนทบุรี ก็ยังมีการใช้ภาษามลายูในระหว่างผู้คนในกำปงและชุมชนของตนอยู่

 

ถึงแม้ว่าภาษามลายูที่ใช้อาจจะมีสำเนียงแตกต่างไปบ้างกับภาษามลายูถิ่นในปัตตานีและจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีคำไทยเข้าไปผสมปนเป แต่คำมลายูก็ยังเป็นคำส่วนใหญ่ที่ใช้พูดกันในชุมชนตัวอย่างที่กล่าวมา อย่างน้อยเราก็มิอาจกล่าวว่า คนมลายูบางกอกทั้งหมดพูดภาษามลายูไม่ได้ หรือลืมภาษามลายูไปหมดสิ้นแล้ว เพราะยังมีคนมลายูในจังหวัดปทุมธานีและนนทบุรีพูดภาษามลายูกันอยู่นั่นเอง

 

สำหรับคนมลายูบางกอกโดยทั่วไปทั้งในเมืองบางกอกหรือจังหวัดในภาคกลางนั้น คำภาษามลายูก็ใช่ว่าจะหมดไปโดยสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าภาษาไทยจะเข้ามามีบทบาททดแทนในชีวิตประจำวันของพวกเขาก็ตาม คำมลายูที่ปรากฏในภาษาพูดของชาวมลายูบางกอกเท่าที่ผู้เขียนจำได้มีตัวอย่างดังนี้

 

1.สุเหร่า (มัสญิด) 2.บาแล (บะล่าเศาะฮฺ) 3.โต๊ะละแบ (ละบัย)

4.เงินมาละวะฮฺ (เงินเยี่ยมศพ) 5.บัง (อะซาน) 6.อิซีกุโบร์ (การซิกรุลลอฮฺ)

7.อีซีกะฮฺเว็น (มะฮัร) 8.ดาโป (ครัว) 9.กีตะอฺ (หนังสือ)

10.มุจะอฺ (เมิงฆุจับ-พูด) 11.ตะนอ (ต้นตอ-เครื่องหมายสัญลักษณ์) 12.ปิซัง (กล้วย-ความเกี่ยวดอง) 13. กาบสะโบะอฺ (กาบมะพร้าว) 14.บูดู (ปลาหมัก) 15.กะเตาะ (คางคก)

 

16.สุดู (สะแดะ-ช้อน , ไม้พายขนาดเล็กใช้กวนขนม) 17.มูลอ (เริ่ม) 18.บะดือ (บูโดะฮฺ-โง่)

19.อาเยาะฮฺ (พ่อ) 20. มะ , เมาะอฺ มุอฺ (อะเมาะอฺ – แม่) 21.อาเดะ (น้อง)

22. บัง , อะบัง (พี่) 23. โต๊ะ (ผู้ใหญ่) 24.โต๊ะกี , โต๊ะวัง , โต๊ะแชร์ (ปู่ ย่า ตา ยาย)

25. โสร่ง (ผ้านุ่ง) 26.หมวกกะเปียะอฺ (หมวกกะปิเยาะอฺ) 27. จะละกอ (คนจัญไร)

28.ตัมมะอฺ (ตัมมัต-จบ) 29.กำปง (หมู่บ้าน) 30.ญะโงะอฺ (เครา)

31.ตุกะอฺ (ตุงกัต-ไม้เท้า) 32.ฮุโดะฮฺ (น่าเกลียด) 33.บะเนาะอฺ (โง่-ทึบ)

34.ญาฮะฮฺ (เลว-ชั่ว) 35.ลาฆู (ทำนอง) 36. นะปะฮฺ (นะฟัส-ลมหายใจ)

37. ปะ,เปาะอฺ (พ่อ) 38.ตูฮัน (พระเจ้า) 39.บัรฮะลอ (รูปปั้น)

40. สะบะนา สะบะโต (เสอบะนัร-เสอบะตุล – ตรง ,ถูกต้อง)

 

41.บารังตักกะเดร์ (บารัง ตักเดรฺ –ลิขิตของพระเจ้า) 42.ตะละกง (ชุดคลุมเวลาละหมาด)

43.บูลัน (พระจันทร์) 44.ฮารู ฮารา (วุ่นวาย) 45. ต่วน (ท่าน)

46. ตาฮิ (อุจจาระ)  47.กะตุมปะ (ข้าวต้มมัด) 48.สะระบั่น (ผ้าโพกหัว)

49.ฮาโรส (อนุญาต-เป็นไปได้) 50.ดาดา (ดาดัร-ขนมแป้งทอด)

51. บะเละอฺ (กลับ-พลิก-คว่ำ) 52. แปและ (แปลก-ไม่คุ้น) 53. มะยัต (คนตาย)

54. บิหลั่น (มุอัซซิน) 55.โต๊ะฆูรู (โต๊ะครู-ผู้รู้) 56. โต๊ะแนแนะอฺ (บรรพบุรุษ)

57. ฮาบิฮฺ (หมด)  58. บุโระอฺ (เก่า)

59. เวาะอฺ , เฆาะฮฺ , (งุห์) , ดอ (ปะดอ) , ลัง , เตะฮฺ , จิ , จู (ลำดับญาติ)

60. แตแฆ (มะม่วงหิมพานต์)    เป็นต้น

 

คำมลายูเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่นึกออกเท่านั้นยังมีคำแปลกๆ ที่ตรวจทานในพจนานุกรมไม่พบแต่น่าจะเป็นคำมลายูที่เพี้ยนมาจากคำในภาษาท้องถิ่นซึ่งหาที่มาไม่พบจึงไม่นำมากล่าวไว้ อย่างไรก็ตามคำมลายูเหล่านี้กำลังจะสูญหายไปในปัจจุบัน เพราะเยาวชนลูกหลานคนมลายูบางกอกแทบจะไม่รู้จักคำมลายูในตัวอย่างที่ว่ามา เพราะพูดภาษาไทยในชีวิตประจำวัน

 

แต่สิ่งที่ยังคงบ่งชี้ถึงความเป็นมลายูของพวกเขาก็คือชื่อเรียกบรรดาบุคคลในลำดับญาติ เช่น เวาะอฺ , เฆาะฮฺ , ลัง , เตะฮฺ , จิ , จู เป็นต้น คำเรียกขานผู้อาวุโสว่า โต๊ะ , กี , แชร์ ก็ยังคงมีอยู่ กระนั้นประเด็นสำคัญที่บ่งชี้ถึงความเป็นมลายูของชาวมุสลิมมลายูบางกอกก็คงมิใช่คำมลายูที่ยังหลงเหลืออยู่ดังกล่าว หากแต่เป็นการศึกษากิตาบมลายูหรือกิตาบยาวี ซึ่งเยาวชนส่วนหนึ่งในโรงเรียนปอเนาะยังคงได้ร่ำเรียนกันดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

 

สำหรับผู้หลักผู้ใหญ่คนสูงอายุที่สนใจการศึกษาศาสนาพวกเขาก็จะเลือกในการฟังแปลจากผู้รู้ที่อ่านและอธิบายความหมายจากกิตาบยาวีมากกว่าตำราภาษาอาหรับ การยึดติดและเชื่อมั่นในข้อมูลจากตำรากิตาบยาวียังคงผูกขาดอยู่ในสำนึกของคนมลายูบางกอกโดยส่วนใหญ่ จนกระทั่งในบางครั้งข้อมูลในตำราภาษาอาหรับที่ผู้รู้นำมาถ่ายทอดยังไม่ได้รับความวางใจเท่ากับตำรากิตาบยาวีด้วยซ้ำไป

 

ฉะนั้นถึงแม้ว่าชาวมลายูบางกอกจะไม่ได้ใช้ภาษามลายูสำหรับการพูดในชีวิตประจำวันของพวกเขา แต่การเรียนและฟังแปลกิตาบยาวีคงได้รับความนิยมอยู่โดยมิได้เสื่อมคลาย กิตาบยาวีส่วนหนึ่งที่ใช้สอนในโรงเรียนปอเนาะของภาคกลางก็ถูกนำมาถ่ายทอดให้แก่บรรดาผู้อาวุโสเหล่านั้น และยังมีตำราอื่นๆ อีกหลายเล่มที่ถูกนำมาใช้ในการฟัง แปล เช่น

 

١- الدر الثمين (فرمات برهرڬك

٢- كشف الغمة  (فناوركدركأن

٣- منهاج العابدين

٤- منية المصلى

٥-  فروع السائل

٦- سلم المبتدى

٧- عقيدة الناجين فى علم أصول الدين

٨- ارشاد العباد إلى سبيل الرشاد

٩- كشف الغيية

١٠- كشف اللشام

เป็นต้น

 

ซึ่งตำรากิตาบยาวีที่ยกตัวอย่างมานี้ล้วนแล้วแต่เป็นตำราทางศาสนาที่นักปราชญ์ของปัตตานีได้เขียนขึ้นหรือถ่ายทอดมาจากต้นฉบับภาษาอาหรับ หรือตำราส่วนใหญ่ก็เป็นผลงานทางวิชาการของอุละมาอฺผู้ยิ่งใหญ่ของประชาคมมลายูในภูมิภาคนี้ คือ ท่านชัยคฺ ดาวุด อัล-ฟะฏอนียฺ (ร.ฮ.) อีกด้วย และผู้รู้ที่เป็นชาวมุสลิมมลายูบางกอกซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดและอรรถาธิบายก็มักจะเป็นนักเรียนเก่าตานี เช่น ปอเนาะดาลอ ปอเนาะบือระมิง และปอเนาะสะกัม เป็นต้น

 

ทุกวันนี้ในเขตสวนหลวง เมืองบางกอกทุกเช้าวันศุกร์หรือวันเสาร์หรือคืนวันศุกร์ค่ำลงจะมีพี่น้องมุสลิมทั้งเยาวชนและคนสูงอายุไปร่วมรับฟังการสอนกิตาบยาวีจากผู้รู้เหล่านี้ บางคนก็ขนีบหนังสือมลายูเพื่อใช้เรียนไปพร้อมกับรับฟังคำอธิบายจากปากครูเพื่อทบทวนความรู้ที่ตนเคยเรียนมาก่อน แต่ได้ร้างรากันไปจนกระทั่งมีเวลาว่างก็อาศัยเรียนตามสถานที่ต่างๆ ที่มีผู้รู้มาสอนกิตาบยาวี

 

นี่ย่อมเป็นประจักษ์ยืนยันได้ว่า ชาวมลายูมุสลิมบางกอกมิเคยลืมความสำคัญของภาษามลายู การที่พวกเขาไม่ได้พูดภาษามลายูนั่นเป็นเพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปแต่ภาษามลายูทางวิชาการที่บรรดาอุละมาอฺปัตตานีได้แต่งเอาไว้ก็ยังคงได้รับการสืบทอดและสานต่อโดยมิได้สูญหายไปจากบางกอกแต่อย่างใดเลย