อัลมุรอบิฏูน (Almoravides) เข้าสู่อัลอันดะลุส

ภาพเขียนสีน้ำมัน ยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีน ถือธงศึกนำทัพชาวมุสลิมกอบกู้อัล-อันดะลุสพวกมุรอบิฏูน มีเชื้อสายเบอร์เบอร์ก๊กซอนฮาญะฮฺที่อาศัยอยู่ในท้องทะเลทรายในแอฟริกาเหนือ ประกอบด้วยเผ่าลัมตูนะฮฺ, ญุดาละฮฺ และมะซูฟะฮฺ โดยเผ่าลัมตูนะฮฺ เป็นผู้นำ เหตุที่เรียกพวกเขาว่ามุรอบิฏูนนั้น นักประวัติศาสตร์กล่าวว่าเป็นการอ้างถึง ริบาฏ ของชัยคฺ อิบนุ ยาซีนผู้เผยแพร่ความคิดและอุดมการณ์ทางศาสนาในหมู่ชนเผ่าซอนฮาญะฮฺ คำว่า ริบาฏ แต่เดิมหมายถึง สถานที่รวมฝูงม้าที่เตรียมเอาไว้สำหรับการทำศึกกับศัตรู และยังมีความหมายรวมถึง สถานที่พำนักของบรรดานักปฏิบัติธรรม เรียกผู้พักอาศัยอยู่ในริบาฏว่า อัลมุรอบิฏ ซึ่งจะทำหน้าที่ 2 อย่างในเวลาเดียวกัน คือ

 

การปฏิบัติธรรมและการเป็นทหารรักษาเส้นพรมแดน ริบาฏของชัยค์ อิบนุ ยาซีนเป็นที่รวมของผู้คนราว 1,000 คน ทั้งหมดถูกเรียกขานว่า อัลมุรอบิฏูน นอกจากนี้พวกเขายังถูกเรียกขานอีกว่า อัลมุลัซซิมูนฺ (หมายถึงบรรดาผู้ที่ใช้ผ้าคลุมหน้า) เพราะพวกเขาจะใช้ผ้าสีเข้มปกปิดส่วนล่างของใบหน้าเหมือนอย่างที่พวกตอวาริก (ตูอาเร็ก) ในแอฟริกาเหนือมักจะใช้กัน พวกมุรอบิฏูนได้เริ่มแผ่ขยายอำนาจของพวกตนด้วยการรวบรวมเผ่าต่างๆ ในก๊กซอนฮาญะฮฺให้เป็นหนึ่งเดียว

 

หลังจากนั้นก็ครอบครองดินแดนภาคตะวันตกของแอฟริกาเหนือ ผู้นำที่เข้มแข็งที่สุดของพวกอัลมุรอบิฏูน คือ ยูซุฟ อิบนุ ตาชฺฟีน ซึ่งเป็นเจ้าเมืองมอรอคโค ในปีฮ.ศ.1061 ยูซุฟได้สร้างนครมัรรอกิช เป็นเมืองหลวงของพวกมุรอบิฏูน แทนจากเมืองอัฆมาตฺ ในปีฮ.ศ.455 ยูซุฟสามารถพิชิตนครฟ๊าสได้สำเร็จ และแผ่อำนาจครอบคลุมมอรอคโคทั้งหมด อำนาจของอาณาจักร อัลมุรอบิฏูน ที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีนฺยังได้แผ่ครอบคลุมซูดานตะวันตก, กาน่า, มาลี และไนเจอร์อีกด้วย เหตุนี้พวกอัลมุรอบิฏูนจึงกลายเป็นความหวังสำหรับพลเมืองอัลอันดะลุสในการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นจากการคุมคามของพวกคริสเตียน

 

ยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีนฺได้เริ่มจัดเตรียมความพร้อมในการเข้ากู้สถานการณ์ในอัลอันดะลุส เขาจัดเตรียมทัพในมอรอคโคที่มั่นของตนแล้ว มุ่งหน้าสู่เมืองซิบตะฮฺ (คิวต้า) ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลที่จะใช้ข้ามช่องแคบญิบรอลต้าสู่ฝั่งตอนใต้ของอัลอันดะลุส แต่สะกูต อิบนุ มุฮำหมัดไม่ยอมอนุญาตให้กองทัพของยูซุฟผ่านเข้าเมืองและใช้กองเรือของตน ยูซูฟพยายามติดต่อกับเจ้าเมืองซิบตะฮฺ (คิวต้า) และยึดครองเมืองนี้ได้สำเร็จ และเริ่มเตรียมการสำหรับการยกกำลังทหารข้ามช่องแคบญิบรอลต้า

 

แต่ทว่าบรรดาผู้ปกครองในหัวเมืองภาคใต้ของอัลอันดะลุสกลับมีคำสั่งห้ามเรือทุกลำที่มีพวกมุรอบิฏูนโดยสารข้ามมาเข้าจอดเทียบท่าตามชายฝั่ง ด้วยเหตุนี้ การช่วยเหลือของยูซุฟ จึงล่าช้าเนื่องจากการกระทำของผู้ปกครองชาวมุสลิมเหล่านั้น อัลมุอฺตะมัด อิบนุ อับบาดฺ เจ้าเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) จึงมีสาส์นถึงเจ้าเมืองบัฏลิยูส (Badajoz) และเจ้าเมืองฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) โดยร้องขอให้บุคคลทั้งสองส่งบรรดากอฎีย์ (ผู้พิพากษา) มายังเมืองอิชบีลียะฮฺ ทั้งหมดได้ร่วมปรึกษาหารือกัน อิบนุ อับบาดเจ้าเมืองอิชบีลียะฮฺได้กล่าวว่า “คนเลี้ยงอูฐ ย่อมดีสำหรับฉันมากกว่าคนเลี้ยงสุกร”

 

หมายถึง อิบนุ ตาชฟีนฺย่อมดีกว่าอัลฟองซัว ถึงแม้ว่าการเข้ามายังอัลอันดะลุสของอิบนุ ตาชฟีน อาจจะเป็นสาเหตุทำให้อำนาจของผู้ครองรัฐอิสระต้องหมดไปก็ตาม ทั้งหมดจึงตกลงกันในการขอความช่วยเหลือจากอัลมุรอบิฏูน แม้แต่เจ้าเมืองทั้งสองข้างต้นก็เห็นด้วยเช่นกัน

 

คณะตัวแทนของอัลอันดะลุส ได้เดินทางสู่อัลญะซีเราะฮฺ อัลคอฎรออฺ (Algeciras) ซึ่งมีอัรรอฎี ยะซีด อิบนุ อัลมุอฺตะมัด เป็นผู้ปกครอง ต่อจากนั้นก็ลงเรือข้ามฝั่งไปยังแอฟริกาเหนือเพื่อร่วมหารือกับอิบนุ ตาชฟีน โดยเฉพาะสถานที่สำหรับการยกพลขึ้นบกของพวกมุรอบิฏูน อิบนุ ซัยดูนได้ชี้แนะให้ยกพล ณ ภูเขาตอริกในฝั่งอัลอันดะลุส

 

ในวันที่ 15 ร่อบีอุลเอาวั้ล ปีฮ.ศ.479/คศ.1086 ยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีนก็มีคำสั่งให้กองทัพของตนทยอยข้ามฝั่งเป็นระลอกๆ โดยมีดาวุด อิบนุ อาอิชะฮฺ เป็นแม่ทัพ มีจำนวนกำลังพล 7,000 คน ส่วนยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีน ได้ข้ามฝั่งพร้อมกับกองทัพระลอกสุดท้าย ขณะนั้นยูซุฟมีอายุได้ 80 ปี เขาตัดสินใจที่จะเข้าร่วมในการญิฮาดเพื่อที่จะได้รับเกียรติของการญิฮาด ซึ่งจริงๆ แล้วเขาสามารถบัญชาการกองทัพของตนจากเมืองซิบตะฮฺ (คิวต้า) ได้ แต่เขาไม่ต้องการพลาดโอกาสในการญิฮาด จึงเข้าร่วมในการศึกด้วยตนเอง

 

เมื่อยูซุฟต้องการจะข้ามฝั่งก็ปรากฏว่าเกิดพายุขึ้นในท้องทะเล มีคลื่นสูงและรุนแรง ยูซุฟจึงทำการละหมาดอิสติคอเราะฮฺ และวิงวอนขอต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ว่า : “โอ้ พระองค์อัลลอฮฺ หากพระองค์ทรงรู้ว่าในการข้ามฝั่งของเรานี้เป็นความดีสำหรับชาวมุสลิมแล้วไซร้ ขอพระองค์ได้ทรงเอื้ออำนวยให้การเคลื่อนกำลังพลข้ามฝั่งนั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ถ้าหากไม่เป็นไปตามนั้นแล้ว ขอให้พระองค์ทรงให้เกิดความยากลำบากจนข้าพระองค์ไม่สามารถข้ามฝั่งไปได้ด้วยเถิด”

 

ยังไม่ทนจบคำวิงวอนนั้น ท้องทะเลก็สงบลง ยูซุฟจึงทำการข้ามฝั่ง และยกพลขึ้นบกที่อัลญะซีเราะฮฺ อัลคอฎรออฺ (Algaciras) หลังจากนั้นก็มุ่งหน้าสู่ชานเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) ในระหว่างนั้นเอง ข่าวการเสียชีวิตของอบูบักร บุตรชายของยูซุฟซึ่งเป็นผู้ปกครองมอรอคโคได้มาถึงยูซุฟ แต่เขาก็ตัดสินใจที่จะทำการญิฮาดต่อไปโดยส่งมัซฺดะลีย์ เสนาบดีของตนไปเป็นผู้ปกครองอาณาจักรมุรอบิฏูนในมอรอคโคในระหว่างเส้นทางการเดินทัพสู่อิชบีลียะฮฺนั้น

 

ผู้คนได้ออกมาต้อนรับกองทัพมุสลิม และบรรดาอาสาสมัครเป็นจำนวนมากก็เข้าร่วมสมทบในกองทัพ ครั้นเข้าใกล้เมืองอิชบีลียะฮฺ อัลมุอฺตะมัด ก็ออกมาต้อนรับยูซุฟ อิบนุ ตาชฺฟีนและพบกันเป็นการส่วนตัว ทั้งสองได้สัมผัสมือและโอบกอดกัน แต่ละฝ่ายได้แสดงออกซึ่งความรักระหว่างกัน และวิงวอนขอต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้ภารกิจของตนเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ

 

สมรภูมิอัซซัลลาเกาะฮฺ (ซาราจัส) วาดโดยชาวตะวันตกหลังจากพักทัพเป็นระยะเวลาสั้นๆ กองทัพก็เคลื่อนกำลังพลมุ่งหน้าสู่เมืองบัฏลิยูส (Badojoz) อัลมุตะวักกิล เจ้าเมืองบัฏลิยูสซึ่งเป็นผู้ปกครองรัฐอิสระที่ดีที่สุดคนหนึ่งก็ออกมาต้อนรับกองทัพและสนับสนุนทุกสิ่งเท่าที่สามารถกระทำได้แก่กองทัพพันธมิตรมุสลิม อัลมุตะวักกิล ประกาศตนเองเป็นทหารคนหนึ่งภายใต้การบัญชาการของอิบนุ ตาชฟีนฺ บรรดาผู้ปกครองรัฐอิสระทั้งหลายก็เร่งรุดออกมาร่วมสมทบ ในขณะที่บางส่วนก็ให้การสนับสนุน พลเมืองอัลอันดะ ลุสยืนกรานที่จะเป็นทัพหน้าให้กับกองทัพมุรอบิฏูน ภายใต้การนำทัพของอิบนุ อับบาด

 

 

ส่วนกองทัพมุรอบิฏูนก็เป็นทัพหลัง อิบนุ อับบาดซึ่งเป็นนักกวีได้กล่าวบทกวีในระหว่างการเดินทัพมีเนื้อความว่า :

“ไม่มีทางเลี่ยงแล้วจากการพ้นโศกอันใกล้

ความประหลาดใจจะมายังเจ้าโดยอัศจรรย์

การศึกที่เป็นสิริมงคลเหนือตัวเจ้า

จะนำเอาการพิชิตอันใกล้กลับคืน

เพื่อพระผู้เป็นเจ้าลางดีของเจ้านั้นจักเป็น

การลบล้างศาสนาแห่งไม้กางเขน

ไม่มีทางเลี่ยงแล้วจากวันที่จำเป็น

พี่น้องเคียงคู่กับวันแห่งอัลกอลีบ”

(คำว่า อัลกอลีบ หมายถึง กอลีบ (บ่อร้าง) ที่ตำบลบัดร์ซึ่งเกิดสมรภูมิบัดร์ อัลกุบรอ ซึ่งชาวมุสลิมได้รับชัยชนะต่อพวกมุชริกีนมักกะฮฺ และกอลีบ (บ่อร้าง) นั้นเป็นที่ฝังศพของเหล่ามุชรีกีนที่ถูกสังหารในสมรภูมิบัดร์)

 

 

สมรภูมิอัซซัลลาเกาะฮฺ (Sarajas)

ปีฮ.ศ.479/คศ.1086 กองทัพพันธมิตรมุสลิมได้เคลื่อนทัพสู่เขตแดนที่เรียกว่า อัซซัลลาเกาะฮฺ (Sarajas) ณ ที่นี่ อิบนุ ตาชฟีนได้เริ่มจัดระเบียบกองทัพของตน ครั้นเมื่อข่าวการมายังอัลอันดะลุสของกองทัพมุรอบิฏูนได้รู้ถึงอัลฟองซัว อัลฟองซัวก็ยกเลิกการปิดล้อมเมืองซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) และเคลื่อนทัพบ่ายหน้าสู่อัซซัลลาเกาะฮฺ (Sarajas) อัลฟองซัวได้มีสาส์นถึงชานญะฮฺ (Sancho) กษัตริย์อรากอน (Aragon) เพื่อขอกำลังสนับสนุน ตลอดจนกษัตริย์ฝรั่งเศสและแคว้นญะลีกียะฮฺ (Galicia) และนาฟาร่า (Navarre) เพื่อขอทัพเสริมและเสบียงในการทำศึก

 

บรรดาสังฆนายกและบาดหลวงชั้นผู้ใหญ่ก็มีสาส์นถึงพระสันตะปาปาเพื่อให้พระองค์ประกาศสงครามอันศักดิ์สิทธิ์ (ครูเสด) กับกองทัพมุสลิม นอกจากนี้ยังมีกองทหารอาสาคริสเตียนจากฝรั่งเศสและอิตาลีเข้าร่วมสมทบจนกระทั่งกองทัพของอัลฟองซัวซึ่งมีจำนวนกำลังพลถึง 150,000 คนโดยประมาณในระหว่างที่ชาวมุสลิมมีจำนวนทหารไม่เกิน 25,000 คนเท่านั้น

 

จนกระทั่งอัลฟองซัวถึงกับกล่าวอย่างโอหังว่า : ข้าจะรบกับเหล่าอมนุษย์ (ญิน) มนุษย์และบรรดาเทวทูตแห่งชั้นฟ้า! และมีสาส์นถึงอิบนุ อับบาดและอิบนุ ตาชฺฟีนฺโดยดูแคลนบุคคลทั้งสอง อิบนุ ตาชฟีนฺจึงมีสาส์นตอบกลับไปว่า : “โอ้ อัซฺฟอนซ์ (อัลฟองซัว) เราได้รู้แล้วว่าท่านได้เคยวิงวอนให้เรามาพบกัน (ในการทำศึก) และท่านก็ปรารถนาว่าจะมีกองเรือที่นำท่านข้ามทะเลมาหาเรา  แน่แท้เราได้ข้ามทะเลมาหาท่านแล้ว และแท้จริงพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงรวมระหว่างเรากับท่านในดินแดนนี้ และท่านจะได้ประจักษ์ถึงบั้นปลายแห่งคำวิงวอนของท่าน และคำวิงวอนของเหล่าผู้ปฏิเสธนั้นหาใช่อื่นใดนอกจากตกอยู่ในความหลงผิดเพียงนั้น!”

 

อิบนุ ตาชฟีนฺได้เขียนสาส์นสลักหลังสาส์นของอัลฟองซัว และมีข้อเสนอแก่อัลฟองซัวให้เลือกเอา 3 ข้อ คือ

1.  เข้ารับอิสลาม แล้วเขาก็จะมีสิทธิหน้าที่เฉกเช่นชาวมุสลิม

2.  จ่ายภาษีญิซฺยะฮฺ อย่างไร้ศักดิ์สิทธิ์

3.  ทำสงคราม

 

การมีจำนวนทหารในกองทัพที่มากกว่ากองทัพมุสลิมหลายเท่า ทำให้อัลฟองซัวเกิดความลำพองตนและหยิ่งยะโสโอหัง อัลฟองซัวได้ปลุกเร้าเหล่าทหารในกองทัพของตนให้เตรียมทำศึกขั้นแตกหักกับชาวมุสลิม พวกเขาเริ่มยกไม้กางเขน และอ่านคัมภีร์ไบเบิ้ลและให้สัตยาบันว่าจะยอมตาย ในระหว่างที่ชาวมุสลิมต่างก็เตือนกันให้ระวังถึงโทษทัณฑ์ในการหนีทัพในวันแห่งการยาตราทัพและอ่านซูเราะฮฺ อัลอัมฟาลฺ และกำชับในระหว่างกันให้มีความอดทนในการเผชิญหน้ากับศัตรู

 

อัลฟองซัวได้มีสาส์นถึงฝ่ายมุสลิมในวันพฤหัสบดี โดยกล่าวว่า : “ให้การศึกเป็นที่รู้กันระหว่างเรากับพวกท่านในวันจันทร์ เป็นต้น หรือวันเสาร์โดยที่วันเสาร์อยู่ระหว่างวันศุกร์อันเป็น อีดของชาวมุสลิม และวันอาทิตย์อันเป็นวันตรุษของชาวคริสเตียน” แต่อิบนุ ตาชฟีนฺและอิบนุ อับบาด ก็สั่งให้ทหารของตนเตรียมพร้อมเสมอ เพราะอาจจะเกิดการโจมตีเมื่อใดก็ได้และสาส์น ของอัลฟองซัวก็น่าจะเป็นกลอุบายในการศึก

 

อิบนุ รุมัยละฮฺ นักปราชญ์ชาวมุสลิมได้ตื่นขึ้นในตอนดึกสงัด และขอพบอิบนุ ตาชฟีนโดยด่วนพร้อมกับบรรดาแม่ทัพนายกอง อิบนุ รุมัยละฮฺได้บอกข่าวดีแก่พวกเขาว่า : ฉันได้ฝันเห็นท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺมาบอกข่าวดีแก่ฉันถึงการพิชิตและชัยชนะ และท่านยังได้บอกว่าฉันจะได้รับมรณะสักขี (ชะฮีด) ในวิถีทางของพระองค์อัลลอฮฺ” ข่าวดีดังกล่าวได้แพร่สะพัดออกไปในหมู่ทหาร ทำให้พวกเขายินดีและมีขวัญกำลังใจเป็นอันมาก ฝ่ายอิบนุ รุมัยละฮฺ ได้อาบน้ำชำระล้างร่างกายและใส่น้ำมันหอมเพื่อเตรียมตัวสำหรับการได้รับมรณะสักขี (ชะฮีด)

 

ในวันที่ 12 ร่อญับ ปีฮ.ศ.479/คศ.1086 สมรภูมิอัซซัลลาเกาะฮฺ (Sarajas) ก็เริ่มขึ้น กองทัพของอัลฟองซัวได้กรีฑาทัพเข้าสู่สมรภูมิ ฝ่ายกองทัพมุสลิมก็ทำการต่อสู้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ อิบนุ อับบาด ต้องสูญเสียม้าศึกของตนถึง 3 ตัว พวกคริสเตียนทุ่มกำลังเข้าสู้รบกับฝ่ายมุสลิมอย่างหนักหน่วงรุนแรงจนกระทั่งแนวรบของฝ่ายมุสลิมเริ่มเสียเปรียบเลือดไหลนองไปทั่วพื้นสมรภูมิ จนกระทั่งม้าศึกและผู้คนต่างก็ลื่นไถลไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ นี่คือที่มาของชื่อสมรภูมิอัซซัลลาเกาะฮฺ (ที่หมายถึงลื่นไถล)

 

ความปราชัยเริ่มปรากฏขึ้นในฝ่ายกองทัพมุสลิม นอกจากว่าอิบนุ ตาชฟีนได้เตรียมพร้อมเอาไว้สำหรับสถานการณ์เช่นนี้ เขานำทหารจำนวนหนึ่งแยกออกมาคุมเชิงอยู่ใกล้ๆ กับพื้นที่ของสมรภูมิ และมีบัญชาให้กองทหารของตนเข้าโจมตีฝ่ายศัตรู 2 ส่วนด้วยกัน กองทหารส่วนหนึ่งเข้าโจมตีกลางกองทัพคริสเตียนซึ่งเป็นทัพหลวงของอัลฟองซัว และกองทหารอีกส่วนหนึ่งเข้าโอบล้อมเป็นแนวยาวรอบกองทัพของอัลฟองซัว โดยมีอิบนุ อาอิชะฮฺเป็นแม่ทัพเพื่อจุดไฟเผาทัพหลังของพวกคริสเตียน

 

กองทัพมุสลิมทั้ง 2 ส่วนได้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากอิบนุ ตาชฟีนฺเป็นอย่างดี ณ จุดนี้เองความปั่นป่วนและความระส่ำระสายตลอดจนความเสียเปรียบของฝ่ายกองทัพคริสเตียนก็เริ่มขึ้น ความปราชัยก็คืบคลานสู่แนวรบของอัลฟองซัวและตกอยู่ระหว่างวงล้อมของกองกำลังที่อัลมุอฺตะมัดบัญชาการและกองทหารคุมเชิงของพวกมุรอบิฏูน ซึ่งมีอิบนุ ตาชฟีนฺ –อายุ 80 ปี- เป็นผู้บัญชาการด้วยตัวเองเขามุ่งหวังที่จะได้รับมรณะสักขี (ชะฮีด) ในสมรภูมิครั้งนี้

 

การสู้รบดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนับแต่รุ่งเช้าจนพลบค่ำ กองทัพที่อิบนุ ตาชฟีนฺบัญชาการก็สามารถตีฝ่าเข้าสู่ใจกลางกองทัพของพวกคริสเตียนจนเข้าไปถึงตัวอัลฟองซัว ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสที่หัวเข่า (ซึ่งส่งผลให้เขากลายเป็นคนขาเป๋ไปตลอดชีวิต) อัลฟองซัวหลบหนี และติดตามด้วยกองทัพของตน ฝ่ายทหารชาวมุสลิมก็ไล่ติดตามพวกคริสเตียนจนกระทั่งมืดค่ำ ยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีนฺจึงมีคำสั่งให้ยุติการไล่ติดตามและถอยกลับสู่ที่มั่น อัลฟองซัวสามารถหลบหนีถึงนครโทเลโดพร้อมด้วยอัศวินที่รอดชีวิตเพียง 100 คนเท่านั้นจากทั้งหมด 50,000 นาย (เฉพาะจำนวนอัศวินทหารม้า)

 

ในสมรภูมิอัซซัลลาเกาะฮฺ (Sarajaz) มีนักวิชาการศาสนาและบุคคลสำคัญได้พลีชีพเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น อิบนุ รุมัยละฮฺ, อัลมัซมูดีย์ กอฎีย์แห่งนครมัรรอกิช, อบูรอฟิอฺ อัลฟัฎล์ อิบนุ ฮัซฺม์ นักนิติศาสตร์อิสลาม เป็นต้น อิบนุ ตาชฟีนฺไม่ได้เอาทรัพย์สงครามแต่อย่างใด หากแต่ได้แบ่งทรัพย์สงครามที่ยึดได้แก่บรรดาผู้ครองนครรัฐและทหารชาวอัลอันดะลุส

 

ยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีนฺมีเจตนาจะทำการศึกอย่างต่อเนื่องเพื่อปราบปรามนครโทเลโด และยุติการแผ่อำนาจของอัลฟองซัวและกองทัพคริสเตียนแต่ทว่าเกิดภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของอาณาจักรอัลมุรอบิฏูนในมอรอคโคทำให้ยูซุฟจำต้องเดินทางกลับสู่มอรอคโค ในปีฮ.ศ.479/คศ.1086

 

ภายหลังการทำศึกในสมรภูมิอัซซัลลาเกาะฮฺได้หนึ่งเดือน ยูซุฟได้ละทิ้งทหารของตนเอาไว้ในอัลอันดะลุสเพื่อให้ทำการญิฮาดต่อไปภายใต้การนำทัพของซิยัร อิบนุ อบีบักรฺ ในส่วนของบรรดาผู้ปกครองรัฐอิสระในอัลอันดะลุสก็ยังคงมีความแตกแยกและไม่คิดที่จะฉวยโอกาสในการญิฮาดเพื่อปลดแอกนครโทเลโดให้กลับสู่การปกครองของชาวมุสลิมทั้งๆ ที่อัลฟองซัวก็บาดเจ็บสาหัส และมีกำลังพลที่บอบช้ำจากการปราชัยในสมรภูมิอัซซัลลาเกาะฮฺ (Sarajas)

 

ฝ่ายอัลฟองซัวได้กลับมายังนครโทเลโดและเริ่มรวบรวมกำลังทหารที่แตกพ่ายกระจัดกระจายไปในภาคเหนือของอัลอันดะลุสอีกครั้งในปีฮ.ศ.480/คศ.1087 หนึ่งปีหลังจากความปราชัยในสมรภูมิอัซซัลลาเกาะฮฺ อัลฟองซัวก็มีบัญชาให้สร้างป้อมปราการลุยัยฏ์ (Aledo) ใกล้กับเมืองมัรซียะฮฺ (Murcia) และระดมพลจำนวน 13,000 คน เพื่อเข้าประจำการในป้อมปราการแห่งนี้และเตรียมการสำหรับการเข้าโจมตีรัฐอิสระของชาวมุสลิม

 

อีกครั้งหนึ่งที่พลเมืองอัลอันดะลุสรู้สึกถึงภัยคุกคามของอัลฟองซัว และรับรู้ว่าพวกเขาไม่สามารถเผชิญหน้ากับอัลฟองซัวและกองทัพของเขาได้นอกจากต้องอาศัยกองทัพของอิบนุตาชฟีน ด้วยเหตุนี้อัลมุอฺตะมัด อิบนุ อับบาดจึงข้ามฝั่งไปยังมอรอคโคด้วยตัวเองและพบกับยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีนเพื่อขอให้ปกป้องอัลอันดะลุสจากภัยคุกคามของพวกคริสเตียน ในปีฮ.ศ.482 จึงนำทัพข้ามฝั่งสู่อัลอันดะลุสอีกครั้งและบรรดาผู้ปกครองรัฐอิสระก็เข้าร่วมกับยูซุฟในการเคลื่อนกำลังพลสู่ป้อมปราการลุยัยฏ์  และเข้าปิดล้อมอย่างหนักหน่วง

 

อัลฟองซัวจึงเตรียมรี้พลของตนมุ่งหน้าเข้าช่วยเหลือป้อมปราการและทหารที่ถูกปิดล้อม ทำให้ยูซุฟจำต้องล่าถอยจากป้อมปราการเพื่อคุมเชิงฝ่ายศัตรู ฝ่ายอัลฟองซัวเห็นว่าตนจำต้องละทิ้งป้อมปราการลุยัยฏ์ จึงสั่งให้รื้อทำลายลงเสีย และถอยทัพกลับสู่นครโทเลโด ภัยคุกคามที่มีต่อรัฐอิสระจึงยุติลงในด้านตะวันออกของอัลอันดะลุส ยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีน จึงเดินทางกลับสู่มอรอคโคอีกครั้งโดยทิ้งกองกำลังรักษาการณ์เอาไว้ในอัลอันดะลุส แต่ทว่าบรรดาผู้ปกครองรัฐอิสระก็ยังคงจมปลักอยู่ในความขัดแย้ง มีการรบพุ่งระหว่างกันอยู่เช่นเดิม ทำให้พลเมืองมุสลิมในอัลอันดะลุสจำต้องมีสาส์นไปถึงยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีนฺ

 

นอกจากนี้ยังมีฟัตวา (คำวินิจฉัย) ของบรรดานักวิชาการศาสนา อาทิเช่น อบูฮามิด อัลฆ่อซาลีย์ และอบูบักร อัฏฏอรฏูซีย์ให้ปลดบรรดาผู้ปกครองเหล่านั้นออกจากตำแหน่ง คำฟัตวาได้ถูกส่งจากแคว้นชาม (ซีเรีย) ถึงยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีนฺซึ่งยูซุฟก็ยอมรับในคำฟัตวาและการเรียกร้องของพลเมืองอัลอันดะลุส ในปีฮ.ศ.483 ยูซุฟจึงนำกองทัพของตนข้ามสู่ฝั่งอัลอันดะลุสเป็นครั้งที่สาม

 

บรรดาผู้รักการญิฮาดจากพลเมืองอัลอันดะลุสก็เข้าร่วมกับยูซุฟ ตลอดจนผู้ปกครองรัฐอิสระบางคนก็ร่วมสมทบ ยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีนฺมีความมุ่งมั่นที่รวมอัลอันดะลุสให้เป็นปึกแผ่นถึงแม้จะต้องใช้กำลังในกรณีที่จำเป็นก็ตาม เขานำทัพมุ่งหน้าสู่เมืองโทเลโดเป็นอันดับแรกเพื่อพิชิตเมืองนี้กลับคืนจากพวกคริสเตียน มีการปิดล้อมอย่างหนักแต่ก็ไม่สามารถตีเมืองโทเลโดได้ ยูซุฟจึงจำต้องถอยทัพและมุ่งสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่อัลอันดะลุสให้สำเร็จเสียก่อน แต่ทว่าเหตุการณ์ในมอรอคโคได้กดดันให้ยูซุฟต้องเดินทางกลับสู่ฝั่งแอฟริกาเหนืออีกครั้ง

 

โดยมอบหมายให้แม่ทัพซิยัร อิบนุ อบีบักรบัญชาการกองทัพที่ทิ้งไว้ในอัลอันดะลุสเพื่อสานต่อการรวมต่ออัลอันดะลุสให้เป็นหนึ่ง ในปีฮ.ศ.484/คศ.1091 แม่ทัพซิยัรได้นำกองทัพอัลมุรอบิฏูนมุ่งหน้าสู่นครโคโดบาฮฺซึ่งขึ้นกับนครอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) มีอัลฟัตฮฺ อิบนุ อัลมุอฺตะมัด อิบนิ อับบาดเป็นผู้ปกครอง อัลฟัตฮฺ ปฏิเสธที่จะยอมส่งมอบเมืองโคโดบาฮฺ การรบพุ่งจึงเกิดขึ้นระหว่างสองฝ่าย กองทัพของนครโคโดบาฮฺได้รับความปราชัย และอัลฟัตฮฺเสียชีวิตในการรบ ภรรยาของอัลฟัตฮฺคือพระนางซาอิดะฮฺก็ลี้ภัยไปยังอาณาจักรกิชตาละฮฺ (Castile) ของพวกคริสเตียน กล่าวกันว่า พระนางได้เข้ารีตในคริสต์ศาสนา!

 

แม่ทัพซิยัร อิบนุ อบีบักรสามารถนำทัพเข้าพิชิตนครโคโดบาฮฺได้สำเร็จ หลังจากนั้นก็มุ่งหน้าสู่อิชบีลียะฮฺ (Sevilla) นครรัฐอิสระที่ใหญ่ที่สุดในอัลอันดะลุส อัลฟองซัวจึงฉวยโอกาสนี้ในการส่งกองทัพของตนภายใต้การนำของแม่ทัพ อัลบัรฮานุช (อัลเบอร์ฮันช์) เพื่อเข้าบดขยี้กองทัพของอัลมุรอบิฏูน การรบพุ่งเป็นไปอย่างรุนแรง ฝ่ายกองทัพคริสเตียนก็ประสบความปราชัย ส่วนแม่ทัพอัลบัรฮานุชบาดเจ็บสาหัส

 

ครั้นเมื่อข่าวการได้รับชัยชนะของกองทัพมุสลิมแพร่สะพัดออกไป เจ้าเมืองดานียะฮฺ (Denia) และเจ้าเมืองอัลบิลยารฺ (Islas Baleaves) ก็ประกาศเข้าร่วมกับกองทัพอัลมุรอบิฏูน หลังจากนั้นแม่ทัพซิยัรก็นำกองทัพมุ่งหน้าสู่นครอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) เพื่อพิชิตนครแห่งนี้ อัลมุอฺตะมัด ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับกองทัพ อัลมุรอบิฏูน จึงยืนกรานที่จะทำการสู้รบ เขาปลุกเร้าพลเมืองของตนให้ทำการต่อสู้ป้องกันเมือง แต่พลเมืองอิชบีลียะฮฺปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนต่ออัลมุอฺตะมัด นครอิชบีลียะฮฺจึงตกอยู่ในกำมือของกองทัพอัลมุรอบิฏูนในปีฮ.ศ.484/คศ.1091

 

นับว่า อิบนุ อับบาด (อัลมุอฺตะมัด บิลลาฮฺ) เจ้าเมืองอิชบีลียะฮฺเป็นผู้ปกครองรัฐอิสระในอัลอันดะลุสที่ดีที่สุดผู้หนึ่ง ทั้งในด้านสถานะที่สูงส่งซึ่งเปรียบได้กับค่อลีฟะฮฺฮารูน อัรร่อชีด และในด้านการสร้างความเจริญให้กับรัฐอิสระของตนซึ่งถือเป็นรัฐอิสระที่ใหญ่ที่สุดในอัลอันดะลุสอย่างน้อยคุณงามความดีของอิบนุ อับบาดก็เป็นที่ประจักษ์เมื่อเขาทำการขอความช่วยเหลือไปยังพวกมุรอบิฏูนให้ส่งกองทัพมาพิทักษ์อัลอันดะลุส

 

เมื่อนครอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) พร้อมกับหัวเมืองภาคใต้ทั้งหมดของอัลอันดะลุสยอมจำนนต่ออำนาจของอัลมุรอบิฏูนแล้ว แม่ทัพซิยัร อิบนุ อบีบักรก็มีคำสั่งให้เนรเทศอัลมุอฺตะมัด อิบนุ อับบาดไปยังเมืองอัฆมาตฺในมอรอคโค พร้อมกับสั่งอายัดทรัพย์สินทั้งหมดของเขา อิบนุ อับบาด ต้องใช้ชีวิตที่ลำเค็ญและยากจนข้นแค้นในมอรอคโค จวบจนกระทั่งในปีฮ.ศ.488/คศ.1095 ยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีนฺได้ปล่อยตัวเขาเป็นอิสระต่อมาเขาก็สิ้นชีวิตลง การปกครองในยุคหลายก๊กของรัฐอิสระก็จบลงด้วยการสิ้นชีวิตของอิบนุ อับบาดผู้นี้


สรุปเหตุการณ์สำคัญในช่วงการปกครองของรัฐอิสระ

ฮ.ศ.400             อัลอันดะลุสแตกออกเป็นรัฐอิสระ 22 รัฐ

ฮ.ศ.403             สุลัยมาน อิบนุ อัลหะกัม อัลอุม่าวีย์ ปลดฮิชาม อัลมุอัยยัดบิลลาฮฺ

ฮ.ศ.422             ประกาศยกเลิกการปกครองของอัลอุม่าวียะฮฺในอัลอันดะลุส

ฮ.ศ.440             อบุลวะลีด อัลบาญีย์เรียกร้องให้รวมอัลอันดะลุสเป็นหนึ่ง

ฮ.ศ.456             โศกนาฏกรรมเมืองบัรบัชตัร (Barbastro) โดยน้ำมือของพวกฝรั่งเศสและนอร์แมนด์

ฮ.ศ.468             ซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) ดานียะฮฺ (Denia) และบะลันซียะฮฺ (Valencia) รวมเป็นหนึ่ง

ฮ.ศ.475             นครฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) ตกอยู่ในกำมือของอัลฟองซัวที่ 6

ฮ.ศ.478             เสียเมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia)

ฮ.ศ.479             อิบนุ ตาชฟีนฺข้ามฝั่งสู่อัลอันดะลุส

ฮ.ศ.479             สมรภูมิอัซซัลลาเกาะฮฺ (Sarajas)

ฮ.ศ.483             อิบนุ ตาชฟีนฺ เริ่มสร้างความเป็นปึกแผ่นในอัลอันดะลุส

ฮ.ศ.484             อิบนุ อับบาด ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมอยู่ภายใต้ร่มธงของอิบนุ ตาชฟีนฺ นครอิชบีลียะฮฺถูกปิดล้อมและตกอยู่ใต้อำนาจของอัลมุรอบิฏูน อิบนุ อับบาดถูกเนรเทศ

ฮ.ศ.488             อัลมุอฺตะมัด อิบนุ อับบาด สิ้นชีวิต

(สิ้นสุดยุคการปกครองของรัฐอิสระ)

 

เมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia) อยู่ใต้อำนาจของอัลกอดิร บิลลาฮฺ ซึ่งเป็นผู้ปกครองที่แย่ที่สุดในบรรดารัฐอิสระของอัลอันดะลุส อัลกอดิรได้ยอมสวามิภักดิ์ต่ออัลฟองซัวที่ 6 (Alfonso VI (Leon) ยิ่งไปกว่านั้นยังยอมอยู่ใต้อำนาจของอัลกุมบีฏูร (เอลซิด) ซึ่งปล่อยให้อัลกอดิรปกครองเมืองบะลันซียะฮฺ โดยแลกกับเครื่องบรรณาการ พลเมืองบะลันซียะฮฺต้องตกอยู่ในภาวะกดดันที่เลวร้ายจากอัลกอดิร บิลลาฮฺจึงทำให้อิบนุ ญะฮฺฮาฟฺ กอฎีย์ (ผู้พิพากษา) ต้องร่วมมือกับพรรคพวกของตนในการขจัดอำนาจของอัลกอดิร อิบนุ ญะฮฺฮาฟฺได้ลอบติดต่อกับพวกมุรอบิฏูนและสามารถจับกุมตัวอัลกอดิรในขณะที่กำลังจะหลบหนีออกจากปราสาทของตนได้สำเร็จ

 

อัลกุมบีฏูร (เอลซิด) จึงนำกองทัพของตนเข้าปิดล้อมเมืองอิชบีลียะฮฺและเผาทำลายเขตชานเมืองจนสูญเสียอย่างหนัก ในขณะที่พวกมุรอบิฏูนยังไม่สามารถส่งกองทัพมาช่วยเหลือได้ทันเวลา ฝ่ายเจ้าเมืองซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) อัลมุสตะอีน บิลลาฮฺก็ไม่คิดจะช่วยเหลือ ทำให้ชาวเมืองบะลันซียะฮฺจำต้องทำข้อตกลงกับอัลกุมบีฏูร (เอลซิด) แต่ทว่าเงื่อนไขของอัลกุมบีฏูร (เอลซีด) กระทำกับชาวเมืองนั้นสุดที่จะยอมรับได้ การปิดล้อมยังคงดำเนินต่อไปเป็นเวลา 20 เดือน จนกระทั่งชาวเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) ตกอยู่ในภาวะคับขัน ไม่มีอาหารและน้ำดื่ม

 

นักประวัติศาสตร์ระบุว่า : ชาวเมืองที่ถูกปิดล้อมต้องกินหมู แมว และซากสัตว์ประทังชีวิต ผู้ใดหลบหนีออกจากเมืองก็จะถูกจับกุมและถูกควักลูกตา หรือตัดมือ หรือถูกสังหาร โรคระบาดก็แพร่กระจายไปทั่วเมือง ในที่สุดชาวเมืองอิชบีลียะฮฺจึงจำต้องส่งตัวแทนออกไปเจรจากับเอลซิดว่าจะยอมจำนนแต่ขอให้ เอลซิดรับประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพลเมือง ในปีฮ.ศ.487 ประตูเมืองก็ถูกเปิดออก ทหารของเอลซิดก็เข้ายึดครองป้อมประตูหอรบอย่างรวดเร็ว

 

หลังจากนั้นก็มีคำสั่งให้ทหารรวบรวมคนหนุ่มและชายฉกรรจ์ทั้งหมดที่สามารถทำการรบได้ และสั่งให้ประหารชีวิตทั้งหมดเสีย ใครที่ไม่สามารถทำการรบได้ก็สั่งให้เนรเทศ เอลซิดสั่งให้ฆ่าคนทุกคนในเมืองที่มีท่อนเหล็กหรือมีดพร้า และให้เปลี่ยนมัสญิดญามิอ์เป็นโบสถ์ในคริสต์ศาสนา ส่วนกอฎีย์ อิบนุ ญะฮฺฮาฟฺ นั้นถูกฝังทั้งเป็นหน้าโบสถ์แห่งนั้น นี่คือความโหดร้ายป่าเถื่อนของอัลกุมบีฏูร (Compeador,Elcid) บุคคลที่ชาวตะวันตกโดยเฉพาะชาวคริสเตียนในสเปนยกย่องและขนานนามเขาว่าเป็นวีรบุรุษแห่งตำนาน มีการแต่งเพลงขับร้องที่เกี่ยวกับวีรกรรมของเขา

 

มหาวิหารแห่งนครอิชบีลียะฮฺ ภายในมีร่างของ เอลซิด วีรบุรุษของชาวสเปนฝังอยู่  โดมมหาวิหารแห่งนี้คือมัสญิดกลางของนครแห่งนี้นักบูรพาคดีบางคนถึงขั้นกล่าวว่า เอลซิดเป็นต้นแบบของอัศวินที่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง และการกระทำของเขาเป็นสิ่งที่ชอบธรรม ภาพลักษณ์ของเอลซิดในภาพยนตร์ที่ฮอลลีวูด สร้างขึ้นช่างสง่างามและมีท่าทีที่อ่อนโยนกับศัตรู เป็นผู้พิทักษ์บัลลังก์ของกษัตริย์คริสเตียนแห่งสเปน และเป็นอัศวินที่กล้าหาญ รักความยุติธรรม แต่ทว่านั่นก็เป็นเพียงภาพมายาอันจอมปลอมที่พวกตะวันตกสร้างขึ้นในตำนานของเอลซิดผู้ถูกอุปโลกน์ว่าเป็นวีรบุรุษแห่งตำนาน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเพียงหัวหน้ากองทหารรับจ้างที่มุ่งแสวงหาอำนาจและทรัพย์สิน และพร้อมที่จะตระบัดสัตย์ได้ทุกเมื่อเพื่อแลกกับข้อเสนอที่มากกว่า เอลซิดผู้นี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงธาตุแท้ของชาวคริสเตียนในยุคนั้นว่ามีความจงเกลียดจงชังต่อชาวมุสลิมมากเพียงใด!

 

เมื่อเหตุการณ์ในแอฟริกาเหนือสงบลงแล้ว ยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีนฺก็ได้ข้ามฝั่งสู่แคว้นอัลอันดะลุสเป็นครั้งที่ 4 ในปีฮ.ศ.490/คศ.1097 และจัดเตรียมกองทัพใหญ่ทางตอนใต้ของอัลอันดะลุสและให้มุฮำหมัด อิบนุ อัลฮาจฺญ์เป็นแม่ทัพ ยกทัพมุ่งหน้าสู่นครโทเลโด นครหลวงของอัลฟองซัวฝ่ายอัลฟองซัวจึงแต่งทัพออกมาต้านทานกองทัพของมุสลิม โดยทัพทั้งสองได้เผชิญหน้ากัน ณ กันชะเราะฮฺ การรบพุ่งเป็นไปอย่างรุนแรง ในที่สุดอิบนุ อัลฮาจฺญ์ก็สามารถเอาชนะกองทัพส่วนใหญ่ของพวกคริสเตียน

 

ส่วนพวกที่เหลือก็หลบหนีเข้าสู่กำแพงเมืองของนครโทเลโด อิบนุ อัลฮาจญ์ก็นำทัพมุ่งหน้าสู่เมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia) ในปีฮ.ศ.493/คศ.1100 และทำการปิดล้อมเมืองบะลันซียะฮฺ เอาไว้หลังจากที่สร้างความปราชัยแก่กองทัพของเอลซิดในสมรภูมิหลายครั้งที่เกิดขึ้นรอบๆ เมือง

 

การปิดล้อมเมืองบะลันซียะฮฺไปอย่างต่อเนื่อง อิบนุ ตาชฟีนฺจึงส่งทัพเสริมที่นำโดย อบูมุฮำหมัด อัลมัซฺดะลีย์ ในปีฮ.ศ.495 เพื่อสนับสนุนการปิดล้อมของชาวมุสลิมที่นั่น อัลกุมบีฏูร (เอลซิด) ได้เสียชีวิตลงตั้งแต่ปีฮ.ศ.493 แล้ว ชัยมานะฮฺ ภรรยาของเอลซิดได้บัญชาการต่อมาและพยายามที่จะต่อสู้ป้องกันเมืองบะลันซียะฮฺเอาไว้ แต่ในที่สุดก็จำต้องล่าถอยออกไปหลังจากทำลายอาคารบ้านเรือนจนหมดสิ้น อัลมัซฺดะลีย์ได้ยาตราทัพเข้าสู่เมืองบะลันซียะอฺ (Valencia) ในเดือนร่อญับ ปีฮ.ศ.495 และยุติการปิดล้อมเมืองซึ่งใช้เวลาถึง 8 ปี

 

อิบนุ ตาชฟีนฺซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 95 ปี ได้ตัดสินใจกลับสู่แอฟริกาเหนืออีกครั้ง โดยรับสัตยาบันให้กับอะลี อิบนุ ยูซุฟบุตรชายของตนให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งในการปกครองอัลอันดะลุสก่อนที่จะเดินทางกลับสู่มอรอคโคในแอฟริกาเหนือ อิบนุ ตาชฟีนฺได้กำชับสั่งเสียบุตรชายของตนสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่อัลอันดะลุสด้วยการจัดตั้งกองทัพและกระจายกำลังทหารตามเขตพรมแดนและที่มั่นสำคัญ

 

กองทัพหลักมีจำนวนกำลังพล 17,000 คน (เป็นทหารม้า) ส่วนหนึ่งประจำการในนครอิชบีลียะฮฺ 7,000 คน นครโคโดบาฮฺ 1,000 คน ฆอรนาเฏาะฮฺ 1,000 คน ดินแดนตะวันออกของอัลอันดะลุสจำนวน 4,000 คน และ 4,000 คนที่เหลือกระจายกำลังอยู่ตามเส้นพรมแดนและป้อมปราการที่อยู่ประชิดพรมแดนของศัตรู

 

อะลี อิบนุ ยูซุฟมิใช่บุตรชายคนโตของยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีนฺแต่เขาเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเหนือกว่าพี่น้องของตนทั้งในด้านความสุขุมคัมภีรภาพ, ความยำเกรง, ความเคร่งครัดในหลักคำสอนของศาสนาและการญิฮาด อะลี อิบนุ ยูซุฟจึงมีความเหมาะสมในการเป็นผู้สืบทอดอำนาจจากบิดาของเขา

 

ยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีนได้กลับสู่มอรอคโค และลงพำนักที่ปราสาทในนครหลวงมัรรอกิช เขาล้มป่วยและเสียชีวิตในตอนเช้าของวันจันทร์ที่ 1 เดือนมุฮัรรอม ในปีฮ.ศ.500/คศ.1107 ขณะมีอายุได้ร้อยปีเศษ ศพของเขาถูกฝังในนครมัรรอกิช คุณูปการที่สำคัญที่สุดซึ่งยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีนฺได้สร้างวีรกรรมเอาไว้ก็คือ การกู้สถานการณ์ของอัลอันดะลุสที่กำลังถูกคุกคามจากพวกคริสเตียนทางตอนเหนือ และทำให้ชาวมุสลิมยังคงสืบสานอารยธรรมอิสลามต่อมาอีกหลายร้อยปี

 

 

อาณาจักรอัลมุรอบิฏูนในรัชสมัยอะลี อิบนุ ยูซุฟ อิบนิ ตาชฟีนฺ

ภาพแกะสลักเหนือโค้งเป็นรูปมือ กับนิ้วทั้ง 5 บ่งถึงบัญญัติ 5 ประการ ในศาสนาอิสลามถือเป็นสัญลักษณ์ ประจำอาณาจักรอัล-มุรอบิฏูนอะลี อิบนุ ยูซูฟ ได้รับสัตยาบันขึ้นเป็นผู้ปกครองอัลอันดะลุสในวันที่ยูซุฟ บิดาของเขาเสียชีวิต ขณะมีอายุได้ 23 ปี เขาดำเนินตามแบบอย่างของบิดาที่วางเอาไว้ นักประวัติศาสตร์ระบุว่า เขามีความมุ่งมั่นอันสูงส่ง มีความรู้อย่างกว้างขวาง เป็นนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ มีความรักและนิยมชมชอบบรรดานักวิชาการศาสนาและมักจะเข้าร่วมในวงสนทนาและการศึกษา อะลี อิบนุ ยูซุฟได้แต่งตั้งให้ตะมีม พี่ชายของตนเป็นแม่ทัพใหญ่ของกองทัพอัลมุรอบิฏูนในอัลอันดะลุส หลังจากนั้นเขาก็เดินทางกลับสู่มอรอคโค

 

ในปีฮ.ศ.501/คศ.1108 อะลี อิบนุ ยูซุฟได้มีสาส์นถึงตะมีม พี่ชายของตนเพื่อให้แม่ทัพตะมีมเริ่มเตรียมการสู้รบกับดินแดนตะวันออกของอัลอันดะลุสเพื่อทำลายเมืองหน้าด่านที่เหลืออยู่สำหรับพวกคริสเตียน แม่ทัพตะมีมจึงนำทัพมุ่งหน้าสู่อุกลีชฺ (Ucles) ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของนครโทเลโด ในเมืองอุกลีชฺ (Ucles) แห่งนี้มีทหารคริสเตียนประจำการอยู่ราว 10,000 คน แต่ทว่าพวกทหารคริสเตียนได้หลบหนีจากเมืองอุกลีชฺ ภายใต้การกดดันจากกองทัพอัลมุรอบีฎูน ไปรวมตัวกันที่ป้อมปราการที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับเมืองอุกลีชฺ (Ucles)

 

อัลฟองซัวจึงส่งทัพภายใต้การนำของชานญะฮฺ (Sancho) ซึ่งมีอายุยังไม่เกิน 11 ปี แต่อัลฟองซัวส่งบุตรชายคนเดียวของเขามาในกองทัพเพื่อเป็นสัญลักษณ์ โดยมีอัศวินจำนวน 7 คนให้ความช่วยเหลือ จนกระทั่งสมรภูมิครั้งนี้ถูกเรียกขานว่า “สมรภูมิ 7 อัศวิน” กองทัพของอาณาจักรกิชตาละฮฺ (Castile) รัชทายาทของอัลฟองซัวและเหล่าอัศวินทั้ง 7 ได้ถูกกองทัพอัลมุรอบิฏูนทำลายลงอย่างราบคาบ อัลฟองซัวได้รับความสะเทือนใจเป็นอันมากที่ต้องสูญเสียดินแดนตะวันออกของอัลอันดะลุสจากอำนาจของตน

 

และที่สำคัญคือสูญเสียชานญะฮฺรัชทายาทของตน เนื่องจากชานญะฮฺได้จู่โจมเข้าสู่ใจกลางของสมรภูมิเคียงคู่กับอัศวินที่คอยดูแล และถูกทหารชาวมุสลิมเข้าล้อมและแทงบุคคลทั้งสองจนเสียชีวิต ทำให้กองทัพคริสเตียนเสียขวัญและแตกพ่ายไม่เป็นขบวน แม่ทัพอัลบัรฮานุช (เอลเบอร์ฮันช์) จึงถอยทัพกลับสู่นครโทเลโดแต่กองทัพอัลมุรอบิฏูนก็ไล่ติดตามและสามารถสังหารแม่ทัพและเหล่าอัศวินทั้ง 7 คนได้สำเร็จ สมรภูมิที่เมืองอุกลีชฺ (Ucles) ซึ่งถูกเรียกขานว่า “สมรภูมิ 7 อัศวิน” เป็นชัยชนะของฝ่ายมุสลิมเทียบได้กับสมรภูมิอัซซัลลาเกาะฮฺ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น

 

หลังจากนั้นอัลฟองซัวที่ 6 (Alfonso VI) ได้สิ้นพระชนม์อาณาจักรคริสเตียนก็แตกออกเป็น 2 ส่วนคือ อาณาจักรที่ปกครองโดยอัลฟองซัวที่ 1 แห่งอารากอน (Aragon) ผู้มีฉายานามว่า อัลมุฮาริบ (นักรบ) และอาณาจักรที่ปกครองโดยอัลฟองซัวที่ 7 (Alfonso Raimundez Vii)

 

ในปีฮ.ศ.503/คศ.1110 อะมีร อะลี อิบนุ ยูซุฟได้ข้ามช่องแคบญิบรอลต้าสู่ฝั่งอัลอันดะลุสเพื่อสืบสานการญิฮาด เขาได้จัดเตรียมทัพและมุ่งหน้าสู่นครโทเลโดเพื่อกดดันให้โทเลโดยอมจำนน ฝ่ายอัลฟองซัว อัลมุฮาริบก็จัดเตรียมกองทัพคริสเตียนเพื่อรับมือกองทัพอัลมุรอบิฏูน ฝ่ายกองทัพคริสเตียนได้เผชิญหน้ากับกองทัพอัลมุรอบิฏูนบนเส้นทางในเขตของเมืองมัจฺญ์รีฏ (แมด ดริด)

 

อะมีร อะลีได้นำกองทัพเข้าจู่โจมและไล่ติดตามบดขยี้พวกคริสเตียนในเมืองฏอละบีเราะฮฺ (Talavera de la Reina) การรบพุ่งเป็นไปอย่างรุนแรงและหนักหน่วง และจบลงด้วยความปราชัยของฝ่ายคริสเตียน สงครามครั้งนี้ถูกเรียกว่า สมรภูมิเหล่ากอฎีย์ เพราะมีบรรดากอฎีย์ (ผู้พิพากษา) จากหัวเมืองมุสลิมเข้าร่วมในกองทัพอัลมุรอบิฏูนเป็นอันมาก

 

ต่อจากนั้นกองทัพอัลมุรอบิฏูนก็บ่ายหน้าสู่ตอนเหนืออันเป็นที่ตั้งของเมืองซะระกุสเฏาะฮฺ ในปีฮ.ศ.505/คศ.1112 และเข้าปิดล้อมเมืองนี้เอาไว้ทุกด้านและสามารถยึดเมืองซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) ได้จากพวกคริสเตียน

 

อัลฟองซัว อัลมุฮาริบ (นักรบ) รู้ว่าบัดนี้นครโทเลโดของตนต้องเผชิญกับภัยคุกคามของกองทัพอัลมุรอบิฏูนจึงส่งตัวแทนไปยังคริสเตียนยุโรปเพื่อขอกำลังสนับสนุน ฝรั่งเศสและอิตาลีจึงส่งกองทัพและกำลังอาวุธมาสนับสนุนอัลฟองซัวเพื่อต่อสู้กับพวกอัลมุรอบิฏูน

 

ในปีฮ.ศ.508/คศ.1114 ได้เกิดการรวมตัวเป็นพันธมิตร 3 ฝ่ายของรัฐคริสเตียน อันได้แก่ รัฐบัรชะลูนะฮฺ (Barcelona) ซึ่งเป็นรัฐที่มีกองทัพเรือขนาดใหญ่, รัฐปีซ่าและเจนัวในอิตาลี รัฐทั้ง 3 นี้ได้ร่วมกันจัดกองทัพเรือจำนวน 300 ลำ และมุ่งหน้าสู่หมู่เกาะทางตะวันออก (อัลบิลยาร) – Islas Baleares – ของอัลอันดะลุส และสามารถยึดครอง เกาะยาบิซะฮฺ (Ibiza) และเข้าปิดล้อมเกาะมะยูรเกาะฮฺ (Mallorca) ซึ่งผู้ปกครองเกาะแห่งนี้ (อับดุลลอฮฺ อัลมุรตะฎอ) ได้ขอความช่วยเหลือไปยังกองทัพอัลมุรอบิฏูน, อะมีร อะลี อิบนุ ยูซุฟจึงรีบส่งกองทัพเรือจำนวน 300 ลำโดยมี “ตากิรฏอสฺ” เป็นแม่ทัพเรือเข้าโอบล้อมกองเรือรบของฝ่ายคริสเตียนซึ่งสามารถถอนกำลังเรือรบออกไป แต่มีเรือรบบางส่วนต้องอับปางลงสู่ท้องทะเลเนื่องจากมีพายุใหญ่ และตกเป็นเชลยแก่ฝ่ายมุสลิมจำนวน 3 ลำ

 

รัฐอิสระของมุสลิมเกือบทั้งหมดได้ถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอัลมุรอบิฏูนและพวกเขาก็พยายามที่จะยึดเกาะมะยูรเกาะฮฺ (Mallorca) ซึ่งตกอยู่ในกำมือของพวกคริสเตียนกลับคืน ในปีฮ.ศ.511/คศ.1117 อะมีร อะลี อิบนุ ยูซุฟได้ข้ามมายังฝั่งอัลอันดะลุสและนำกองทัพมุ่งหน้าสู่ดินแดนตะวันตก และสามารถพิชิตเมืองกอลมะรียะฮฺ นครหลวงของโปรตุเกสทางตะวันตกได้สำเร็จ

 

ฝ่ายอัลฟองซัว อัลมุฮาริบ (Alfonso I) ก็ขอความช่วยเหลือไปยังรัฐคริสเตียนยุโรป ทั้งในฝรั่งเศสและอิตาลีให้ส่งกองทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์มาช่วยเหลือตนอีกครั้ง ทหารของอัลฟองซัวในครั้งนี้มีจำนวน 50,000 คนได้เคลื่อนกำลังเข้าทำลายการปิดล้อมนครโทเลโด หลังจากนั้นก็นำทัพมุ่งหน้าสู่เมืองซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) และปิดล้อมเอาไว้เป็นเวลา 9 เดือน กองทัพอัลมุรอบิฏูนไม่สามารถส่งกองทัพไปช่วยเหลือซะระกุสเฏาะฮฺได้ทันการ จนทำให้ชาวเมืองจำต้องยอมจำนนในเดือนรอมาฎอน ปีฮ.ศ.512

 

อัลฟองซัวได้ยอมให้พลเมืองเดินทางออกจากเมืองซะระกุสเฏาะฮฺอย่างปลอดภัย และเปลี่ยนมัสญิดญามิอฺเป็นที่พักของบรรดาบาทหลวง และยังได้เข้ายึดครองหัวเมืองหน้าด่านของชาวมุสลิมทางตอนเหนืออีกด้วย เมืองซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) เสียให้แก่กองทัพคริสเตียนภายหลังการเสียเมืองฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) ราว 30 ปี และเคยตกอยู่ในอำนาจของชาวมุสลิมเป็นเวลา 400 ปี

 

ในปีฮ.ศ.514/คศ.1120 อะมีร อะลี อิบนุ ยูซุฟได้มีคำสั่งไปถึงอิบรอฮีม อิบนุ ยูซุฟพี่ชายของเขาซึ่งเป็นผู้ปกครองอิชบีลียะฮฺให้รวบรวมกำลังทหารเพื่อตีเมืองซะระกุสเฏาะฮฺกลับคืน กองทัพของฝ่ายมุสลิมและคริสเตียนได้รบพุ่งกันที่ตำบล ดัรเกาะฮฺ (Doroca) ซึ่งขึ้นกับเมืองซะระกุสเฏาะฮฺ การรบพุ่งเป็นไปอย่างดุเดือด เนื่องจากกำลังทหารของมุสลิมน้อยกว่าและขาดกำลังเสริมจึงทำให้มุสลิมประสบความปราชัยอย่างย่อยยับ มีผู้เสียชีวิตในสมรภูมิครั้งนี้เป็นอันมาก

 

บางรายงานระบุว่า มีจำนวนถึง 20,000 คน ส่วนหนึ่งเป็นนักวิชาการคนสำคัญที่พลีชีพในสมรภูมิ อาทิเช่น อบู อะลี อัซซอดะฟีย์, มุฮำหมัด อิบนุ ยะฮฺยา (อิบนุ อัลฟัรรออฺ) กอฎีย์แห่งเมืองอัลมะรียะฮฺ (Almeria) เป็นต้น อิบรอฮีม อิบนุ ยูซุฟได้นำทหารที่เหลือรอดชีวิตกลับสู่นครบะลันซียะฮฺและความปราชัยในสมรภูมิครั้งนี้ทำให้อำนาจและความน่าเกรงขามของกองทัพอัลมุรอบิฏูน ต้องสั่นคลอนและถูกซ้ำเติมด้วยการลุกฮือของอิบนุ ตูมัรต์ ในมอรอคโค ปีฮ.ศ.515

 

และในปีฮ.ศ.515 อะมีร อะลี อิบนุ ยูซุฟได้ข้ามฝั่งมายังอัลอันดะลุสเป็นครั้งที่ 4 เนื่องจากเกิดความไม่สงบในนครโคโดบาฮฺเป็นเวลาถึง 4 ปี และสงบลงด้วยการมาถึงอัลอันดะลุสของอะมีร อะลี อิบนุ ยูซุฟ

 

เมื่อสูญเสียเมืองซะระกุสเฏาะฮฺแก่พวกคริสเตียนกิชตาละฮฺ (Castile) และอัลฟองซัว อัลมุฮาริบ ได้รับชัยชนะอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรรดาชาวคริสเตียนที่เป็นพลเมืองในรัฐมุสลิม (อะหฺลุซซิมมะฮฺ) เริ่มวางแผนในการบ่อนทำลายรัฐมุสลิมทั้งๆ ที่พวกคริสเตียนได้รับสิทธิเสรีภาพในทุกด้านอย่างสมบูรณ์ อัลฟองซัวได้ลอบติดต่อกับบรรดาคริสเตียนที่อาศัยอยู่ในทุกหัวเมืองโดยเตรียมพร้อมในการสนับสนุนกำลังคนและเสบียงตลอดจนการชี้จุดอ่อนของชาวมุสลิมในแต่ละหัวเมือง

 

อัลฟองซัวจึงนำกองทัพครูเสดออกจากเมืองซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) มุ่งหน้าสู่ดินแดนตะวันออกของอัลอันดะลุส ในปีฮ.ศ.519 และเข้าสู่เมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia) ในระหว่างเส้นทางการเดินทัพของอัลฟองซัวมีชาวคริสเตียนที่เป็นพลเมืองในรัฐมุสลิมเข้าร่วมในกองทัพเป็นจำนวนถึง 50,000 คน หลังจากนั้นก็นำทัพมุ่งหน้าสู่เมืองดานียะฮฺ (Denia) และเดินทัพผ่านเมืองชาฏิบะฮฺ (Jativa) จนกระทั่งถึงเมืองอัลมะรียะฮฺทางตอนใต้

 

ทุกเมืองที่กองทัพของอัลฟองซัวผ่านไปต่างก็มีชาวคริสเตียนเข้าร่วมสมทบและนำทางตลอดจนชี้จุดอ่อนของฝ่ายมุสลิม กองทัพได้เคลื่อนถึงเขตตะวันตกของวาดี อาชฺ (Guadix) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมืองฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) ในปีฮ.ศ.520 แต่ทว่าเกิดพายุหิมะและมีฝนตกหนักตลอดจนเกิดโรคระบาดในกองทัพของอัลฟองซัว และชาวมุสลิมได้แต่งกองทัพออกเข้าโจมตีทหารของอัลฟองซัวหลายระลอก ทำให้อัลฟองซัวจำต้องยกเลิกการปิดล้อมและถอยทัพกลับสู่นครโทเลโด โดยมีชาวคริสเตียนที่เคยเป็นพลเมืองในรัฐมุสลิมติดตามไปด้วย 10,000 คนเนื่องจากเกรงว่าจะถูกชาวมุสลิมแก้แค้นในการทรยศของพวกเขา โรคระบาดยังได้ตามไปเล่นงานชาวคริสเตียนในนครโทเลโดอีกด้วย

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่าชาวคริสเตียนที่อาศัยอยู่ท่ามกลางชาวมุสลิมในอัลอันดะลุสไม่เคยและไม่มีวันที่จะรู้จักสิ่งใดนอกจากการมีใจสวามิภักดิ์ต่อพวกคริสเตียนด้วยกันเท่านั้น และพวกเขาคือภัยคุกคามที่แท้จริงทุกครั้งที่พวกเขาสบโอกาส ด้วยเหตุนี้อัลกอฎีย์ อบุลวะลีด อิบนุ รุชด์ปู่ของอิบนุ รุชด์จึงข้ามฝั่งไปยังมอรอคโคโดยมีเป้าหมายที่จะเข้าพบอะมีร อะลี อิบนุ ยูซุฟ เพื่อเสนอแนะแก่อะมีร 3 เรื่องคือ

 

1.  ให้เนรเทศบรรดาพลเมืองคริสเตียนที่ทรยศต่อสัญญา (อัซซิมมะฮฺ) ซึ่งเป็นการลงโทษที่เบาที่สุด อะมีร อะลี จึงมีคำสั่งให้เนรเทศพวกเขาเป็นจำนวนมากไปยังมอรอคโคในปี ฮ.ศ.521

 

2.  ให้อะมีร อะลี บัญชาให้สร้างกำแพงเมืองเพื่อป้องกันนครหลวงมัรรอกิช และทุกเมืองที่ไม่มีกำแพงเมืองและป้อมปราการ

 

3.  ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมเช่นนี้ อัลอันดะลุสจำต้องมีผู้ปกครองที่มีความเข้มแข็ง เด็ดขาด และมีสติปัญญา อบุลวะลีดชี้แนะว่า แม่ทัพตะมีมมีบุคลิกไม่เหมาะสมและสมควรปลดออก อะมีร อะลีจึงตอบรับข้อเสนอด้วยการปลดแม่ทัพตะมีม และแต่งตั้งตาชฟีนฺบุตรชายของตนให้เป็นผู้ปกครองอาณาจักรอัลมุรอบิฏูนในอัลอันดะลุส

 

ปีฮ.ศ.523/คศ.1129 อาณาจักรคริสเตียนในช่วงเวลานี้ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

1)  อาณาจักรอรากอน (Aragon) มีอัลฟองซัว นักรบเป็นกษัตริย์

 

2)  อาณาจักรลิออง (Leon) และญะลีกียะฮฺ (Galicia) หรือ อาณาจักรกิชตาละฮฺ (Castile, la Nueva) มีอัลฟองซัวที่ 7 (Alfonso Raimundez Vii) และในปีฮ.ศ.523 อัลฟองซัว อันริกีซฺ (Alfonso Enriques) ได้ประกาศแยกตนเป็นอิสระในโปรตุเกส และเรียกอาณาจักรของตนว่า อาณาจักรโปรตุเกส

 

ในปีฮ.ศ.528/คศ.1134 อัลฟองซัว กษัตริย์อรากอนได้ยกทัพมุ่งหน้าสู่เมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia) และสามารถเข้ายึดครองเมืองหน้าด่านบางส่วนได้ เจ้าเมืองบะลันซียะฮฺและมัรซียะฮฺ (Murcia) จึงได้นำทัพออกมาสู้รบกับกองทัพของอัลฟองซัวในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อ อิฟรอเฆาะฮฺ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองลาริดะฮฺ (Lerida) มีบางรายงานระบุว่ากองทัพของอัลฟองซัวนักรบมีจำนวนถึง 12,000 คน ในขณะที่ฝ่ายมุสลิมมีกองทัพม้าเพียง 3,000 คนเท่านั้น

 

การรบพุ่งระหว่าง 2 ฝ่ายเป็นไปอย่างดุเดือด ฝ่ายมุสลิมมีกำลังทหารน้อยกว่าแต่ต่อสู้ด้วยอาวุธแห่งศรัทธา ในที่สุดฝ่ายที่น้อยกว่าก็สามารถเอาชนะฝ่ายที่มีกำลังทหารมากกว่า พวกทหารคริสเตียนแตกพ่ายและทิ้งศพแม่ทัพของพวกเขาเอาไว้ในสมรภูมิ รวมถึงอัลฟองซัวก็ต้องสิ้นชีวิตในสมรภูมิครั้งนี้ ข่าวชัยชนะของชาวมุสลิมในสมรภูมิอิฟรอเฆาะฮฺ ทั้งๆ ที่มีจำนวนทหารน้อยกว่าได้แพร่สะพัดไปทั่วอัลอันดะลุส และถ้าหากกองทัพอัลมุรอบิฏูนจะฉวยโอกาสในการเข้าตีซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) ก็ย่อมไม่มีผู้ใดทัดทานพวกเขาได้แต่ทว่าพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงลิขิตเอาไว้ตามพระประสงค์ของพระองค์ พวกมุรอบิฏูนก็มิได้กระทำการสิ่งใดในเรื่องดังกล่าว

 

เมื่ออัลฟองซัว อัลมุฮาริบ สิ้นชีวิตในสมรภูมิ “อิฟรอเฆาะฮฺ” อัลฟองซัวที่ 7 (Alfonso Raimundez Vii) ก็ฉวยโอกาสผนวกอาณาจักรอรากอน (Aragon) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกิชตาละฮฺ (Castile) และกลายเป็นผู้ปกครองรัฐคริสเตียนในอัลอันดะลุส โดยขนานนามตนเองว่า “สุลต่าน” แต่ในเอกสารของชาวมุสลิมเรียกเขาว่า “สุลัยฏีน” หมายถึง สุลต่านน้อย

 

ส่วนโปรตุเกสยังคงตกอยู่ในอำนาจของอัลฟองซัว อันรีกีซฺ (Enriquez) เมื่ออัลฟองซัวที่ 7 รวมอำนาจได้เป็นที่เรียบร้อย ก็แต่งทัพเพื่อเข้าโจมตีเมืองบัฏลียูส (Badajoz) ตาชฟีนฺ อิบนุ อะลี จึงนำทัพมาขัดขวางในสถานที่ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับอัซซัลลาเกาะฮฺ (Sarajas) และสามารถสร้างความปราชัยให้แก่พวกคริสเตียนในการศึกครั้งนั้น

 

ในเดือนซุลฮิจญะฮฺ ปีฮ.ศ.528 ตาชฟีนได้นำกองทัพของตนออกทำศึกกับพวกคริสเตียน กองทัพมุสลิมได้เดินทัพผ่านไปยังเส้นทางอัลบิการฺ ก็ถูกกองทัพของศัตรูลอบเข้าโจมตีในช่วงเวลากลางคืนโดยมิทันตั้งรับ กองทัพมุสลิมเกิดความระส่ำระสาย กองทหารของคริสเตียนก็บุกโจมตีจนถึงกระโจมของอะมีร ตาชฟีนฺซึ่งตั้งรับการโจมตีของฝ่ายศัตรูพร้อมกับทหารม้าเพียง 40 นายเท่านั้น

 

อะมีร ตาชฟีนฺต่อสู้อย่างกล้าหาญจนกระทั่งดาบในมือของเขาหักจึงใช่โล่ในการต่อสู้กับศัตรู เมื่อทหารที่แตกทัพรู้ถึงการต่อสู้ของแม่ทัพอะมีร ตาชฟีนฺ ก็เริ่มรวมตัวกันอีกครั้ง ทหารมุสลิมคนหนึ่งก็สามารถปลิดชีพแม่ทัพฝ่ายคริสเตียน ทำให้กองทัพของฝ่ายคริสเตียนต้องเสียขวัญและถูกตีกระหนาบซ้ำจนต้องได้รับความปราชัยในที่สุด

 

ในปีฮ.ศ.533 อะมีร ตาชฟีนได้กลับสู่มอรอคโคตามคำสั่งของผู้เป็นบิดา เนื่องจากพี่ชายคนโตของอะมีร ตาชฟีนได้สิ้นชีวิตลง อะมีร อะลีจึงได้แต่งตั้งให้ตาชฟีนเป็นรัชทายาทต่อจากตน ครั้นถึงปีฮ.ศ.537/คศ.1143 อะมีร อะลี อิบนุ ยูซุฟ อิบนิ ตาชฟีนฺก็สิ้นชีวิต ตาชฟีนฺผู้เป็นรัชทายาทจึงขึ้นครองอำนาจในอาณาจักรอัลมุรอบิฏูน นักประวัติศาสตร์ระบุว่า อะมีร ตาชฟีนฺเป็นวีรบุรุษผู้กล้า เขาไม่เคยดื่มของมึนเมา ไม่ฟังการขับร้องและดนตรี และไม่เคยหาความสุขด้วยการล่าสัตว์ แต่เป็นผู้ที่มีความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า เคร่งครัด ชอบถือศีลอดและนมัสการในยามค่ำคืน

 

การดำรงตำแหน่งผู้ปกครองอาณาจักรของอะมีร ตาชฟีนฺไม่ได้ยาวนานแต่อย่างใด กล่าวคือ เขาเสียชีวิตในปีฮ.ศ.539/คศ.1145 เนื่องจากพลัดตกจากหลังม้าลงสู่ขอบเหวแห่งหนึ่งในเวลากลางคืน ในปีเดียวกันนี้สถานการณ์ในมอรอคโคเกิดความเปลี่ยนแปลงเนื่องจากอัลมะฮฺดีย์ อิบนุ ตูมัรตฺได้เรียกร้องเชิญชวนไปสู่การสถาปนาอาณาจักรของพวกอัลมุวะฮฺฮิดูนในแอฟริกาเหนือ และการสิ้นสุดของอาณาจักรอัลมุรอบิฏูนก็เกิดขึ้นในเวลาต่อมา

 

หลังจากอะมีร ตาชฟีนฺเสียชีวิต อิบรอฮีม อิบนุ ตาชฟีนฺบุตรชายก็ได้รับสัตยาบันขึ้นเป็นผู้ปกครองอาณาจักรอัลมุรอบิฏูน ขณะมีอายุได้ 16 ปีและเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ในมอรอคโคกำลังสับสนวุ่นวาย พวกอัลมุวะฮฺฮิดูนได้รวมกำลังทหารของพวกตนเข้ากวาดล้างพวกอัลมุรอบิฏูน และสามารถเข้ายึดครองเมืองฟาสและแผ่อำนาจเข้าครอบครองอาณาเขตส่วนใหญ่ของมอรอคโค ยกเว้นนครมัรรอกิช นครหลวงของพวกอัลมุรอบิฏูน

 

ในปีฮ.ศ.540/คศ.1146 ในสถานการณ์ที่คับขันเช่นนี้ พวกคริสเตียนในอัลอันดะลุสได้แต่งทัพเพื่อทำสงครามขับไล่ชาวมุสลิมและอัลมุรอบิฏูนออกจากเขตแดนตะวันออก มีการรบพุ่งครั้งใหญ่ในเขตอัลลัจฺญ์และอัลบะซีฎใกล้ๆ กับเมืองญะลันญาญะฮฺ (Chinchilla) กองทัพฝ่ายมุสลิมได้รับความปราชัยอย่างย่อยยับ และนี่เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของอิบรอฮีมและความเสื่อมอำนาจของอาณาจักรอัลมุรอบิฏูน ในสมรภูมิอัลบะซีฏ (Albacete) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างซัยฟุดเดาละฮฺ อิบนุ ฮูดและกองทัพคริสเตียนทางตอนเหนือ อิบนุ ฮูดถูกสังหารในสมรภูมิครั้งนี้

อุปกรณ์เครื่องเขียนที่ชาวอาหรับได้ประดิษฐ์เพื่อใช้ในการคัดตัวอักษรอาหรับแบบวิจิตรศิลป์

ภายหลังอำนาจก็ตกอยู่กับอบู มุฮำหมัด อิบนุ อิยาฎซึ่งเป็นแม่ทัพคนหนึ่งของอิบนุ ฮูดที่สามารถนำทหารที่เหลือกลับสู่บะลันซียะฮฺ (Valencia) อิบนุ อิยาฎได้แผ่อำนาจของตนเหนือเมืองหน้าด่านของบะลันซียะฮฺ เขาอยู่ในอำนาจราว 1 ปีเศษ และเสียชีวิตในการรบกับกองทัพของกิชตาละฮฺ (Castile) มุฮำหมัด อิบนุ สะอีด อิบนิ มัรดะนีชลูกเขยของเขาได้ปกครองบะลันซียะฮฺต่อมา

 

ในปีฮ.ศ.541/คศ.1147 พวกอัลมุวะฮฺฮิดูนได้ทำการปิดล้อมนครมัรรอกิช นครหลวงของพวกอัลมุรอบิฏูน ตลอดระยะเวลา 9 เดือน พวกอัลมุวะฮฺฮิดูนก็สามารถยึดครองนครมัรรอกิชได้สำเร็จ อะมีร อิบรอฮีมตกเป็นเชลย และพวกอัลมุรอบิฏูนถูกสังหารเป็นอันมาก ต่อมาอะมีร อิบรอฮีมก็ถูกประหารชีวิตหลังจากที่ปกครองได้เพียง 2 ปี อาณาจักรอัลมุรอบิฏูนก็สิ้นสุดลง (ฮ.ศ.462-ฮ.ศ.541) หลังจากมีอำนาจได้ราว 80 ปี

 

อาณาจักรอัลมุรอบิฏูนได้ถูกสถาปนาขึ้นและดำรงอยู่บนเส้นทางของการเผยแผ่หลักคำสอนของอิสลาม มีบรรดานักปราชญ์ทางศาสนาเป็นผู้ก่อตั้งและควบคุมบริหาร อาณาจักรนี้ปกครองด้วยอัลกุรอ่านและซุนนะฮฺ เป็นอาณาจักรแห่งความดีและการญิฮาด ดังที่อิบนุ อัลคอตีบ (ร.ฮ.) ได้ระบุเอาไว้ว่า การญิฮาดไม่เคยขาดตอนตลอดระยะเวลา 50 ปี สร้างความเป็นปึกแผ่นในมอรอคโคในเบื้องแรก

 

หลังจากนั้นก็สร้างเอกภาพให้กับอัลอันดะลุส และขจัดความแตกแยก ทำให้ชาวมุสลิมมีศักดิ์ศรี และปราบปรามรัฐอิสระหากพวกอัลมุรอบิฏูนไม่มีความดีอันใดเลยนอกจากชัยชนะอันงดงามในสมรภูมิอัซซัลลาเกาะฮฺ (Sarajas) ก็ย่อมเป็นที่เพียงพอถึงความดีงามของพวกเขา ท่านอบูบักร อิบนุ อัลอะรอบีย์ นักวิชาการคนสำคัญได้กล่าวถึงคุณลักษณะของพวกอัลมุรอบิฏูนว่า “พวกเขาได้ทำการเรียกร้องสู่สัจธรรม และการช่วยเหลือศาสนา และอาณาจักรของพวกเขาเป็นอาณาจักรที่ดำเนินตามซุนนะฮฺมากที่สุดอาณาจักรหนึ่ง” และพวกเขาได้ทำให้การสูญเสียอัลอันดะลุสล่าช้าออกไปเป็นเวลาถึง 400 ปี (4 ศตวรรษ) ด้วยกัน

 

สรุปเหตุการณ์สำคัญในสมัยอัลมุรอบิฏูน

ฮ.ศ.485     พลเมืองบะลันซียะฮฺ ลุกฮือภายใต้การนำของกอฎีย์

ฮ.ศ.487     เมืองบะลันซียะฮฺถูกปิดล้อมและเอลซิดบิดพลิ้วต่อชาวเมือง

ฮ.ศ.488     การสร้างความเป็นปึกแผ่นของอัลอันดะลุสโดยยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีนฺ

ฮ.ศ.495     พิชิตเมืองบะลันซียะฮฺ

ฮ.ศ.495     แต่งตั้งอะลี อิบนุ ตาชฟีนฺเป็นรัชทายาท

ฮ.ศ.500     ยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีนฺสิ้นชีวิต

ฮ.ศ.501     ชาวมุสลิมได้รับชัยชนะในสมรภูมิอักลีชฺ

ฮ.ศ.512     เมืองซะระกุสเฏาะฮฺยอมแพ้ต่อกองทัพของอัลฟองซัว อัลมุฮาริบ

ฮ.ศ.515     อัลมุรอบิฏูนระส่ำระสายภายหลังการปราชัยในสมรภูมิกอตันดะฮฺ

ฮ.ศ.519     กองทัพครูเสดรุกรานอัลอันดะลุส

ฮ.ศ.528     ชาวมุสลิมได้รับชัยชนะในสมรภูมิอิฟรอเฆาะฮฺ

ฮ.ศ.528     ชาวมุสลิมได้รับชัยชนะในสมรภูมิอัลบุการฺ

ฮ.ศ.537     อะลี อิบนุ ยูซุฟ อิบนิ ตาชฟีนฺสิ้นชีวิต

ฮ.ศ.539     ตาชฟีนฺ อิบนุ อะลีสิ้นชีวิต

ฮ.ศ.540     อิบนุ ฮูดปราชัยในสมรภูมิอัลบะซีฏ

ฮ.ศ.541     สิ้นสุดการปกครองของอาณาจักรอัลมุรอบิฏูนในมอรอคโค

 

คัมภีร์อัล-กุรอานที่ถูกเขียนด้วยตัวอักษรอาหรับแบบอัล-อันดะลุสโบราณ

บรรดานักวิชาการคนสำคัญในสมัยอัลมุรอบิฏูน

1.  อบูมุฮำหมัด อับดุลลอฮฺ อิบนุ อิบรอฮีม อัลฮิญาซีย์ นักกวี, นักวรรณกรรม และนักวิชาการผู้ยิ่งใหญ่ เคยเข้าร่วมในการรบกับพวกคริสเตียน ณ ป้อมตะฮฺซุบ ใกล้กับนครฆอรนาเฏาะฮฺเสียชีวิตในปีฮ.ศ.550

2.  อิบนุ บัชฺกะว๊าล ค่อลัฟ อิบนุ อัลดิลมะลิก นักวิชาการอัลหะดีษแห่งอัลอันดะลุส เจ้าของหนังสือตารีค อัลอันดะลุส เกิดในปีฮ.ศ.494 และเสียชีวิตในปีฮ.ศ.587

3.  อิบนุ บาญะฮฺปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญในวิชาดาราศาสตร์, คณิตศาสตร์, ปรัชญา, การแพทย์และดนตรี เสียชีวิตที่เมืองฟาสในปีฮ.ศ.533

4.  อัลคอซรอญีย์ นักปราชญ์ในด้านแพทย์ศาสตร์

5.  อิบนุ กอซฺมาน นักกวีผู้ประพันธ์กวีแบบอัซซะญัล เป็นคนแรก เป็นต้น

 

พวกอัลมุรอบิฏูนได้ย้ายเมืองหลวงจากนครโทเลโดไปยังนครโคโดบาฮฺ หลังจากนั้นก็ย้ายเมืองหลวงไปยังฆอรนาเฏาะฮฺ ต่อมาภายหลังก็ย้ายกลับไปยังนครโคโดบาฮฺ (Cordoba) อีกครั้ง

 

การปกครองในสมัยของอัลมุรอบิฏูนเป็นไปอย่างยุติธรรม พวกเขาจะรับซะกาตตามสิทธิของนักรบเพื่อปกป้องศาสนาและหนึ่งในสิบของภาษีที่ดิน (อัลคอรอจญ์) เท่านั้น ในสมัยที่พวกเขาเรืองอำนาจไม่มีกองโจรปล้นสะดมไม่มีพวกลักเล็กขโมยน้อยในอัลอันดะลุส พลเมืองมีความอยู่ดีกินดีและมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีการจัดตั้งกองทหารที่จะออกศึกในฤดูร้อนและฤดูหนาว มีการญิฮาดตลอดช่วงเวลา 50 ปี

 

บรรดากอฎีย์ (ผู้พิพากษา) จะมีอำนาจอิสระในการตัดสินคดีความ บรรดาผู้ปกครองไม่อาจแทรกแซงระบบตุลาการ แต่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะด้วยความเต็มใจ ถือกันว่า อาณาจักรอัลมุรอบิฏูนเป็นรัฐมุสลิมที่มีความงดงามในด้านการเมืองการปกครอง การทหารและการส่งเสริมวิทยาการที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม ถึงแม้ว่าจะมีช่วงเวลาในการปกครองที่สั้นก็ตาม