ความเป็นมลายูของชาวมลายูบางกอกในด้านการประกอบอาชีพและค้าขาย

วัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบมลายูสำหรับชาวมลายูบางกอกนั้น หากไม่นับการใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวัน (แต่ความสำคัญของภาษามลายูในด้านการเรียนการสอนกิตาบยาวียังคงปรากฏอยู่ดังที่กล่าวมาแล้ว) ก็จะไม่พบความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างคนมลายูตานีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับคนมลายูมุสลิมในบางกอก ยกเว้นในเรื่องของวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นเท่านั้นที่อาจจะแตกต่างกันเป็นธรรมดาสำหรับกลุ่มคนที่อยู่กันคนละภูมิภาค

 

กระนั้นโดยภาพรวมก็มีแบบจารีตประเพณีอย่างมลายูนิยมเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารการกิน การแต่งกายแบบประเพณีนิยม การประกอบอาชีพทางการเกษตรและการค้าขาย คนมลายูเป็นชนชาติเกษตรกรรมโดยสายเลือดนับแต่อดีต อย่างน้อยคำว่า  “เปอตานี”  หรือคำว่า (ตานี-ตานิง) ก็มีความหมายว่า เกษตรกร ชาวนา ผู้เพาะปลูก คำกริยาที่ว่า  เบอรฺตานี ก็มีความหมายว่า เพาะปลูก หรือ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ดู กอมูส ปุสตะกอ หน้า 119 , 537)

 

คำว่า เปอตานี หรือ ตานิง มักไม่ได้ถูกกล่าวถึงเมื่อมีการวิเคราะห์ถึงที่มาของคำว่า ปตานี หรือ ปัตตานี ทั้งๆ ที่คำๆ นี้บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ที่เด่นชัดที่สุดของคนมลายูตานี นั่นคือความเป็นเกษตรกรโดยสายเลือด ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ เลี้ยงปศุสัตว์หรือทำประมงน้ำจืดล้วนแล้วแต่เป็นวิถีการประกอบอาชีพของชาวมลายูปัตตานีมานับแต่อดีต ชาวมลายูตานีคือนักปลูกข้าวที่ไม่เป็นสองรองใคร สินค้าหลักที่ส่งออกของปัตตานีดารุสสลามในอดีตก็คือข้าวและผลผลิตทางการเกษตร แม้ปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนั้น

 

และความเป็นเกษตรกรและนักกสิกรรมนี่เองที่ได้ถูกถ่ายทอดสู่ชาวมลายูบางกอกเมื่อครั้งที่พวกเขาถูกเทครัวเป็นเชลยศึกเอามาไว้ที่บางกอกและเขตปริมณฑลในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อชาวมลายูตานีและหัวเมืองมลายูเป็นนักเกษตรกรรมโดยสายเลือดและวิถีการดำรงชีวิต ก็เท่ากับว่าการกวาดต้อนเชลยศึกจากหัวเมืองมลายูคือการเคลื่อนย้ายกำลังคนขนาดใหญ่นับพันนับหมื่นคนในภาคการเกษตรและการเพาะปลูกเพื่อสร้างผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักป้อนให้แก่พลเมืองในภาคกลางและกองทัพ ชาวมุสลิมมลายูจึงเป็นกลุ่มประชาคมที่มีบทบาทสำคัญในด้านการเกษตรกรรมซึ่งมิอาจปฏิเสธได้

 

ในตารีค ปาตานี บันทึกว่า “เมืองปัตตานีมีชื่อเสียงในด้านเป็นพื้นที่ปลูกข้าว ขณะนั้นเมืองปัตตานีอุดมสมบูรณ์ มีพืชผลที่เป็นอาหารมากมาย คนอาหรับได้นำข้าวไปยังเมืองอาหรับ คนเปอร์เซียก็นำข้าวกลับไปยังเมืองเปอร์เซียไปถวายกษัตริย์ชาฮินชาฮฺ…. คนมลายูกับคนอาหรับและเปอร์เซีย แลกเปลี่ยนสินค้า คือคนอาหรับและเปอร์เซียนำข้าวสารและข้าวเปลือกไปยังเมืองอาหรับ ส่วนข้าวสาลีนั้นนำมาจากเมืองอาหรับ คือแลกข้าวสารกับข้าวสาลี คนมลายูไม่กินข้าวสาลีเหมือนพวกเขา (หน้า 18-20) และมีหลักฐานยืนยันอีกว่า “…พวกแขกทำนาเกลือ ทำสวน ทำนาข้าว…(กองประสานราชการ เรื่องของจังหวัดปัตตานี หน้า 8)

 

เมื่อความเป็นเกษตรกร (เปอรฺตานียัน) เป็นวิถีในการประกอบอาชีพของคนมลายูตานีนับแต่อดีต เมื่อครั้งรัฐปัตตานีดารุสสลามมีความเจริญรุ่งเรือง ชาวมลายูบางกอกก็รับเอาวิถีในด้านการเกษตรและการเพาะปลูกมาจากบรรพบุรุษของพวกเขา เนื่องจากที่เมืองบางกอกมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ของที่อยู่อาศัยเหมาะที่จะเพาะปลูกเพราะเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง เช่น เขตอำเภอพระโขนง มีนบุรี และ  หนองจอก หรือบริเวณริมลำคลองในจังหวัดฉะเชิงเทราและนครนายก

 

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ลักษณะภูมิประเทศที่ชาวมุสลิมมลายูอาศัยอยู่เป็นเพียงทุ่งราบ โดยเฉพาะเขต พระนครมีทุ่งกว้างหลายแห่ง เช่น ทุ่งพญาไท ทุ่งสามเสน ทุ่งคลองตัน ทุ่งพระโขนง ทุ่งบางกะปิ  ทุ่งมีนบุรี และทุ่งหนอกจอก เป็นต้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ขุดคลองแสนแสบขึ้น (ไพโรจน์ โพธิ์ไทน , สารานุกรมประวัติศาสตร์ (พระนคร : สหมิตรศึกษา 2417) หน้า 340) คลองแสนแสบช่วงนี้คือคลองแสนแสบเหนือ ซึ่งเริ่มขุดจากหัวหมาก ผ่านคลองสามเสนช่วงปลาย (คลองตัน) ผ่านบางขนากไปออกแม่น้ำบางปะกง

 

ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ว่า  :

“ครั้นมาถึงเดือน 2 ขึ้น 4 ค่ำ (ตรงกับวันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2380) จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดีเป็นแม่กองจ้างจีนขุดคลอง ตั้งแต่หัวหมากไปถึงบางขนาก เป็นทาง 1,337 เส้น 19 วา 2 ศอก ลึก 4 ศอก กว้าง 6 ศอก ราคาเส้นละ 70 บาท”

 

คลองแสนแสบเหนือ มีระยะทางตามแผนที่กรมแผนที่ทหาร ตั้งแต่คลองตัน คลองสามเสน ช่วงปลายมีนบุรี หนองจอก ถึงคลองบางขนากออกที่แม่น้ำบางปะกงประมาณ 63.4 กม. และที่จ้างชาวจีนขุดคลองเป็นทาง 1,337 เส้น 19 วา 2 ศอก นั้นมีระยะทาง 53.52 กม. ยังขาดระยะทางอีก 247 เส้น หรือ 9.88 กม. ซึ่งระยะทางที่ขาดนี้งบประมาณไม่พอจึงต้องเกณฑ์ไพร่และเชลยศึกชาวมลายูให้ขุดต่อไปออกที่แม่น้ำบางปะกง

 

ซึ่งต่อมาพื้นที่ตลอดริมฝั่งคลองแสนแสบเหนือเรื่อยไปจนถึงบางน้ำเปรี้ยวปลายทางที่บางขนากออกสู่แม่น้ำบางปะกง พระราชวังสรรค์ (ฉิม) เจ้ากรมอาสาจามและแม่ทัพเรือในรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นขุนนางมุสลิมได้นำชาวมุสลิมมลายูจากหัวเมืองมลายูเข้าไปตั้งถิ่นฐานตามรายทางตลอดริมฝั่งคลองแสนแสบ ตามที่รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระกระแสรับสั่งว่า “…ถ้าข้างหน้ามีครอบครัวส่งข้าวไปอีกมากมายแล้ว จึงค่อยจัดแจงเอาไปตั้งที่แสนแสบข้างนอกทีเดียวฯ”

 

“…อุตส่าห์ดูแลรักษามันไว้ให้ดี ถ้ามีเข้าไปอีกมากมายแล้ว จึงจัดแจงให้ออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่นอกทีเดียวฯ” (จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ 9) ชาวมุสลิมมลายูที่ถูกย้ายครัวออกจากเขตพระนครซึ่งลงพักเอาไว้ที่บ้านครัว ทุ่งพญาไทเอาไปไว้ที่แสนแสบนอกเขตพระนคร ในครั้งนั้นมีทั้งชาวมลายูตานี จะนะ เทพา และเมืองไทร (เคดะห์) และสตูล (จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ 9 , 15)

 

ดังนั้นคลองแสนแสบเหนือจึงถือเป็นคลองที่ขุดผ่านทุ่งราบหลายแห่ง เช่น ทุ่งบางกะปิ ทุ่งมีนบุรี และทุ่งหนองจอก เมื่อขุดคลองผ่านพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงเหล่านี้ก็ย่อมเหมาะในการใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่เพาะปลูกข้าวได้เป็นอย่างดี เมื่อชาวมุสลิมมลายูถูกย้ายไปตั้งชุมชนตามเส้นทางของคลองแสนแสบซึ่งมีระยะทางถึง 73.8 กม. (นับตั้งแต่คลองมหานาคถึงคลองบางขนาก) ชาวมลายูมุสลิมก็หักร้างถางป่ารกให้เป็นท้องทุ่งไร่นาปลูกข้าวและทำสวนตามวิถีนักเกษตรกรรมโดยสายเลือดของพวกตน

 

เมื่อกาลเวลาผ่านไป กำปงของชาวมลายูตามเส้นทางลำคลองสายแสนแสบก็กลายเป็นพื้นที่ทางการเกษตรที่กว้างใหญ่ไพศาล กลายเป็นท้องทุ่งที่เต็มไปด้วยนาข้าวสุดลูกหูลูกตา มีคลองซอยและเรือกสวนคั่นเป็นช่วงๆ บ้านเรือนของชาวมลายูจะปลูกอยู่ริมน้ำและหันหน้าออกสู่คลอง หลังบ้านคือเรือกสวนและนาข้าว ตามเรือกสวนจะปลูกพันธุ์ไม้ยืนต้นโดยเฉพาะมะพร้าวและต้นกล้วยแซมด้วยผลไม้พื้นบ้านจำพวกมะม่วงและพันธุ์ไม้อื่นๆ

 

ชาวมลายูนิยมเลี้ยงสัตว์พื้นบ้านเอาไว้ใต้ถุนหรือบริเวณรอบบ้าน ไม่ว่าจะเป็นไก่บ้าน เป็ด หรือแม้กระทั่งไก่งวง ส่วนวัวและควายนั้นเป็นสัตว์ใหญ่ที่ทุกบ้านทุกเรือนต้องเลี้ยงเอาไว้ใช้งานในด้านการเกษตร เพราะสมัยก่อนนิยมใช้ควายไถนาเป็นหลัก บางบ้านนิยมปลูกต้นตาลและต้นหมากเอาไว้เพื่อใช้สอย คนมลายูเป็นชาวประมงน้ำจืดที่ท่าน้ำหน้าบ้านเกือบทุกหลังจะมียอใหญ่เอาไว้ยกปลา มีการทำเครื่องมือที่ใช้ในการจับปลาจำพวกเครื่องสาน เช่น ลอบ ไซ เป็นต้น เหตุที่ชาวมลายูชอบจับปลาก็เพราะปลาน้ำจืดเป็นวัตถุดิบในการทำบูดูและหมักน้ำปลา

 

ดังนั้นจึงพบว่าบริเวณชายคลองที่มีบ้านเรือนชาวมลายูตั้งอยู่จะมีกอไผ่ขึ้นอยู่รวมถึงต้นจาก เพราะวัสดุที่จะนำมาทำเครื่องสานก็หาได้จากต้นไผ่ คนมลายูนิยมดูดยาเส้นกับใบจากหรือใบตองแห้งจึงต้องปลูกต้นจากเอาไว้ริมคลองหน้าบ้าน การคมนาคมในอดีตจากชาวมลายูก็คือการพายเรือในเส้นทางของลำคลอง สมัยก่อนไม่มีถนน ไม่มีรถยนต์จึงใช้เรือในการสัญจรเป็นหลัก

 

อาชีพอีกอย่างหนึ่งของคนมลายูก็คือการขายสินค้าพื้นบ้านจำพวกพืชผักและอาหารแห้ง ตามตลาดหัวเมือง เช่น ตลาดเมืองมีน ตลาดหนองจอก หรือตลาดคลอง 16 หรือแถบคลองหลวงแพ่ง หรือตลาดคลองสวนจะมีคนมลายูเอาสินค้าพื้นบ้านใส่ท้องเรือมาพายขายที่ท่าน้ำริมตลาด ส่วนพวกที่ตั้งร้านรวงอยู่ที่ตลาดนั้นจะเป็นคนจีนเสียมาก คนมลายูกับคนจีนจะทำมาค้าขายระหว่างกันและคุ้นเคยกันมากกว่าชาวไทยพุทธ  กระนั้นคนไทยพุทธในย่านที่ชาวมลายูตั้งบ้านเรือนอยู่ก็มีการซื้อขายไปมาระหว่างกัน

 

เมื่อมีการประกาศเลิกทาสในรัชกาลที่ 5 คนมลายูเหล่านี้ก็พ้นความเป็นทาสเชลยศึกและกลายเป็นไพร่พลเมืองของสยามประเทศ ที่ดินทำกินซึ่งชาวมลายูเคยจับจองอยู่ตั้งครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ตกเป็นกรรมสิทธิของชาวมลายู และนี่คือสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงทดแทนให้แก่ชาวมลายู สำหรับการทดสอบที่พวกเขาได้รับมานับแต่อดีตด้วยความอดทนและมั่นคงในศรัทธา พวกเขาก็สามารถฟันฝ่าความทุกข์ยากในอดีตของบรรพบุรุษรุ่นแรกที่ต้องเป็นเชลยศึกมาอย่างน้อยก็หนึ่งชั่วคน

 

ทีดินผืนใหญ่ริมฝั่งคลองแสนแสบได้กลายเป็นมรดกตกทอดแก่อนุชนรุ่นหลัง คนมลายูบางกอกจึงกลายเป็นประชาคมที่มีกรรมสิทธิครอบครองที่ดินทำกินมากที่สุดในเมืองบางกอก ทุกวันนี้ทำเลที่ตั้งของชาวมลายูบางกอกมีความเจริญและกลายเป็นสังคมเมืองที่แผ่ขยายออกไปเป็นอันมาก ถนนบางสายที่ถูกตัดผ่านที่ดินของชาวมลายูบางกอกกลายเป็นถนนสายหลักในการคมนาคมและการอยู่อาศัย เช่น ถนนพัฒนาการที่เชื่อมต่อจากถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า ถนนประแจจีน , ถนนอ่อนนุชที่ตัดกับถนนศรีนครินทร์ ถนนคลองตัน-พระโขนง ถนนรามคำแหงที่ตัดกับถนนพระรามเก้า และถนนสุวินทวงศ์ที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อเขตหนองจอกกับจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น

 

ถึงแม้ว่าชาวมลายูบางกอกที่อยู่ในเขตชั้นในและชั้นนอกของกรุงเทพมหานครจะเลิกอาชีพทำนาและหันไปประกอบอาชีพค้าขายและเป็นเจ้าของที่ดินปลูกอาคารที่พักอาศัย แต่ชาวมุสลิมมลายูบางกอกในเขตมีนบุรี คลองสามวา และเขตหนองจอกเรื่อยไปจนถึงจังหวัดฉะเชิงเทราและนครนายกยังคงมีผู้ประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าวอยู่อีกมาก คนมลายูในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและเพชรบุรีก็ยังคงประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าวอยู่ดังเช่นบรรพบุรุษ ชาวมลายูที่ตำบลท่าอิฐ จังหวัดนนทบุรี ก็เพิ่งจะเลิกเป็นชาวสวนเมื่อไม่นานนี้เอง

 

เนื่องจากปัญหาน้ำท่วม ทำให้สวนทุเรียน กระท้อน และมะปรางค์เสียหาย ในขณะที่ส่วนหนึ่งก็ประกอบอาชีพค้าวัว ค้าควาย และเชือดสัตว์กันเป็นล่ำเป็นสันเช่นเดียวกับชาวมลายูที่คลองหนึ่ง คลองหลวง สวนพริกไทย ลาดด้วน ก็ยังคงประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าวและค้าวัวค้าขายเชือดสัตว์จนกลายเป็นแหล่งเชือดเนื้อที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคกลาง อาชีพการทำนาปลูกข้าวสำหรับชาวมลายูในเขตจังหวัดอยุธยาโดยเฉพาะแถบคลองพระยาบันลือก็ยังเป็นอาชีพหลักของชาวมุสลิมมลายูที่นั่น

 

ส่วนชาวมลายูมุสลิมที่แผ่ขยายออกไปตั้งรกรากทำมาหากินแถวจังหวัดภาคตะวันออกตั้งแต่ชลบุรีถึงจังหวัดตราดก็ยังคงเป็นชาวสวนชาวไร่ ปลูกพืชผลไม้และทำสวนยาง พวกที่นิยมประกอบธุรกิจค้าขายและรับราชการก็คงเป็นชาวมลายูบางกอกที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยในเขตชั้นในของพระนครเท่านั้น เพราะที่นั่นไม่มีที่ดินสำหรับการเพาะปลูกและทำนาอีกแล้ว คนมลายูอีกกลุ่มหนึ่งในแถบทุ่งครุและบางมดก็เคยเป็นชาวสวนปลูกส้มบางมดที่เลืองชื่อเพิ่งจะมาเลิกกันเมื่อไม่นานมานี้ เพราะมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมและน้ำเค็ม

 

จึงสรุปได้ว่า ชาวมลายูบางกอกยังคงรักษาความเป็นมลายูในด้านการประกอบอาชีพทางการเกษตรและการค้าขายเอาไว้ดังเช่นชาวมลายูตานีในอดีต และอัตลักษณ์ข้อนี้มิได้แปรเปลี่ยนไปแต่อย่างใด