อบู อุบัยดิลลาฮฺ อัลบักรี่ย์ (أبوعبيدالله البكري)

อบู อุบัยดิลลาฮฺ อับดุลลอฮฺ อิบนุ อับดิลอะซีซ อัลบักรี่ย์ เป็นนักวิชาการชั้นนำในภาควิชาธรณีวิทยาของแคว้น อันดะลุส (เอ็นดะลูเซีย) รู้จักกันในนาม อัลกุรฏุบี่ย์ และยังได้รับฉายานามว่า อัลอันดะลูซี่ย์ เขาสืบเชื้อสายถึงเผ่า บักร์ อิบนุ วาอิล ที่เป็นที่รู้จักกันดี เขามีชีวิตอยู่ระหว่างปี ฮ.ศ.432-487 อัลบักรี่ย์ถือกำเนิดที่เมืองชาละฏีช แคว้นอันดะลุส และเสียชีวิต ณ นครกุรฏุบะฮฺ

อบู อุบัยดิลลาฮฺ อัลบักรี่ย์ ได้รับการศึกษาในนครกุรฏุบะฮฺ (คอร์โดบาฮฺ) และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในการเรียน การสอน การค้นคว้า การแต่งตำรา ณ นครแห่งนี้

นักประวัติศาสตร์และนักธรณีวิทยาต่างก็เห็นพ้องกันว่า ข้อมูลต่างๆ ที่อบู อุบัยดิลลาฮฺ อัลบักรี่ย์ ในตำราทั้งสองเล่มคือ “มุอฺญัม มัซตุอฺญี่ม่า” และ “อัลม่าซาลิกวัลม่ามาลิก” เป็นข้อมูลที่มีความชัดเจนและเชื่อถือได้ ซึ่งนั่นมิได้บ่งว่าเขามีความชำนาญเฉพาะในวิชาภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ทว่าเขายังมีความชำนาญในวิชาธรณีวิทยาอีกด้วย

อบู อุบัยดิลลาฮฺ อัลบักรี่ย์ ได้กล่าวไว้ในคำนำตำรา “มุอฺญัมฯ” ของเขาว่า : นี่คือตำรา “มุอฺญัม มัซตุอฺญี่ม่า” ซึ่งข้าพเจ้าได้ระบุส่วนหนึ่งที่มีรายงานมาในอัลฮะดีษ , เรื่องเล่า , ประวัติศาสตร์ และที่เลื่องลือจากสถานที่ , เมือง , ตำบล , หัวเมืองใหญ่ , ภูเขา , โบราณสถาน , บ่อน้ำ , บ้านเรือน , ชุมชน โดยอ้างอย่างชัดเจนและแบ่งเป็นบทตามอักษรของศัพทานุกรมที่มีประโยชน์”

ไม่มีข้อสงสัยและข้อโต้เถียงอันใดว่า อบู อุบัยดิลลาฮฺ อัลบักรี่ย์ เป็นปราชญ์มุสลิม-อาหรับ ผู้หนึ่งที่ศึกษาค้นคว้าในวิชาธรณีวิทยาและวิชาภูมิศาสตร์ ทฤษฎีและความคิดเห็นของเขาในภาควิชาธรณีวิทยานั้น มีผลอันใหญ่หลวงต่อการพัฒนาสาขาวิชานี้ ในขณะที่นักศึกษาได้อ่านตำราของอบู อุบัยดิลลาฮฺ อัลบักรี่ย์ ก็อาจจะเข้าใจว่าตนกำลังอ่านตำราภูมิศาสตร์ แต่ทว่าตำราของเขายังได้รวบรวมข้อมูลสำคัญในภาควิชาคำนวณว่าด้วยรูปร่างและเนื้อที่ของโลก (Geodesy) ซึ่งถือเป็นเนื้อหาหลักของวิชาธรณีวิทยา (geology) เอาไว้

ส่วนหนึ่งจากตำรับตำราที่อบูอุบัยดิลลาฮฺ อัลบักรี่ย์ได้แต่งไว้ ได้แก่ “ตำรา อัลมะซาลิก วัลม่ามาลิก” , ตำรา มุอฺญัม มัซตุอฺญี่ม่า (4 เล่ม) , ตำรา อะอฺลามุนนุบูวะฮฺ , ตำรา ชัรฮุ้อะมาลี อัลกอลี , ตำรา ฟัสลุ้ลม่าก้อล ฟีชัรฮิลอัมซ้าล ลิ อิบนิ ซะลาม และ ตำรา อัลอิฮฺซออฺ ลิ ฏ่อบะกอต อัชชุอะรออฺ เป็นต้น ปัจจัยที่ทำให้ อัลบักรี่ย์ ให้ความสนใจในวิชาภูมิศาสตร์และธรณีวิทยานั้นเกิดจาก

1) มีการพิชิตดินแดนเป็นอันมากของรัฐอิสลาม ทำให้มีนักวิชาการเป็นจำนวนมากมุ่งเน้นในการให้รายละเอียดเกี่ยวกับดินแดนต่างๆ ตลอดจนแหล่งกำเนิดของแร่ธาตุที่มีในดินแดนเหล่านั้น

2) การมีผู้แสวงบุญในการประกอบพิธีฮัจญ์เป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นในการต้องรู้จักเส้นทางทั้งทางบกและทางทะเลที่เชื่อมถึงนครมักกะฮฺ ม่าดีนะฮฺ และแหล่งของแร่ธาตุตามเส้นทางตลอดจนแหล่งของอัญมณีต่างๆ

จากปัจจัยดังกล่าว ย่อมเป็นที่ประจักษ์ถึงความสำคัญของวิชาธรณีวิทยา จึงมิใช่เรื่องแปลกที่ อัลบักรี่ย์ได้ศึกษาเจาะลึกในภาควิชานี้ เพราะมีความเกี่ยวพันอย่างยิ่งยวดต่อพลเมืองในดินแดนต่างๆ ตำราที่อัลบักรี่ย์ได้ประมวลข้อมูลและเนื้อหาที่สำคัญเอาไว้อย่างมากและกลายเป็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญสำหรับผู้ค้นคว้าในภาควิชาธรณีวิทยา เหตุนี้ตำรับตำราของเขาจึงได้รับการเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในอันดะลุสและโลกโดยรวม