การฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮฺ

ประเด็นที่คุณจำเป็นต้องประจักษ์และยอมตนกับสิ่งคลุมเครือ (หากเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า) 1.ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานหรือคัมภีร์ใดๆ ในโลก (รวมทั้งอัล-กุรอานและวจนะของท่านนบีว่าจะมีโลกใหม่ แต่มีชาติหน้า แผ่นดินหน้า) (1/12)

นี่คือความจริง

โลกนี้ ชาติหน้า (ดุนยา วันอาคิเราะฮฺ และวันกียามัต) ที่แท้จริง

“ดุนยา” ความหมายที่แท้จริง “สภาพ เหตุการณ์ การกระทำ (อามาล) หรือสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า , ต่ำต้อย , ชั่วคราว , ลวง , มายา ฯ”

“กิยามะฮฺ” ความหมายที่แท้จริง “การลุก (ขึ้นมาจากสุสานหรือโลกแห่งบัคซัรของมนุษย์ทุกคน)

“อาคีเราะฮฺ” ความหมายที่แท้จริง “สุดท้าย” , สภาพ , ยุคสุดท้าย , จุดจบ , (ผล) บั้นปลายหรือผลที่ได้รับปรากฏจากสภาพดุนยา (เป็นการตอบแทนหรือการลงโทษ)

“ซาอะฮฺ” ความหมายที่แท้จริง “ชั่วโมง (เวลา)” อันนั้น

“บะฮฺซา” ความหมายที่แท้จริง “การฟื้น (คืนชีพ)” กลับมาเกิดอีกครั้งเหมือนกับการเกิดครั้งแรก

หมายเหตุ คำว่า “โลกหน้า” ภาษาอาหรับ ใช้คำว่า “อาละมุลกอดิม”  “โลกนี้” ภาษาอาหรับ ใช้คำว่า “ฮารัน อาลัม” (3/12, 4/12)


*ที่เขียนมาเช่นนั้น แสดงว่าผู้เขียนติดอยู่กับรูปคำทางภาษา เพราะคำว่า “โลก” เป็นคำนาม มีความหมายว่า “แผ่นดิน” (อัล-อัรฎ์) ดังนั้นจะใช้คำว่า โลกหน้าหรือแผ่นดินหน้า ก็ไม่ต่างกันในด้านความหมาย คำว่า “อาลัม” (عَالَمٌ) ในภาษาอาหรับ มีความหมายว่า สิ่งถูกสร้างทั้งปวง (الخَلْقُ كُلُّه) ดังนั้นจะใช้คำว่า “แผ่นดิน” หรือ “โลก” (อาลัม) ย่อมมิใช่สาระสำคัญ เพราะไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินนี้ โลกนี้ แผ่นดินหน้า โลกหน้า ก็ล้วนเป็นสิ่งถูกสร้างด้วยกันทั้งสิ้น

ในคัมภีร์อัล-กุรอานใช้คำทั้ง 2 คำ เหมือนกัน คือใช้ทั้งคำว่า อัล-อัรฺฎ์ (الأَرْضُ) และคำว่า อัล-อาลัม (العَالَمُ) เช่น

الْحَمْدُ للهِ رَبِّ العَالَمِيْنَ

“มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่อัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก”

(อัล-ฟาติหะฮฺ : 2)

คำว่า “สากลโลก” (العَالَمِيْن) ก็คือ บรรดาสิ่งถูกสร้างทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นโลกมนุษย์ โลกของเหล่ามะลาอิกะฮฺ โลกของหมู่ญิน โลกของสรรพสัตว์ โลกของวัตถุธาตุ ทั้งแผ่นดิน ฟากฟ้า จักรวาล ฯลฯ ซึ่งคำว่าโลกนี้เป็นเครื่องหมายที่บ่งถึงมหิทธานุภาพของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)

การสรรเสริญทั้งมวลไม่ว่าจะเป็นในโลกนี้และโลกหน้า ไม่ว่าจะเป็นสิ่งถูกสร้างในโลกใดๆ ก็ตาม ล้วนเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทั้งสิ้น เพราะพระองค์คือ พระผู้อภิบาล ผู้ทรงสร้างโลกทั้งปวง (ร็อบบุลอาละมีน) พระองค์มิใช่เป็นพระผู้ทรงสร้างโลกของสรรพสิ่ง ณ เวลานี้เท่านั้น แต่พระองค์คือพระผู้ทรงสร้างโลกหน้าอีกด้วย ซึ่งก็ไม่แปลกถ้าจะเรียกโลกหน้าหรือแผ่นดินหน้าว่า โลกใหม่ เพราะโลกใหม่ ไม่ใช่โลกเดิมเช่นทุกวันนี้

فَلِلّهِ الحَمْدُ رَبِّ السموات ورب الأرض وربِّ العالمين

ความว่า “ดังนั้นเป็นสิทธิแด่อัลลอฮฺซึ่งการสรรเสริญทั้งมวล พระผู้ทรงอภิบาลชั้นฟ้า และพระผู้ทรงอภิบาลผืนแผ่นดิน และพระผู้อภิบาลแห่งโลกทั้งผอง”

(อัล-ญาซิยะฮฺ : 36)

ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นชั้นฟ้า ผืนแผ่นดิน และโลกทั้งหลาย ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต คือโลกหน้าหรือโลกใหม่สุดแท้แล้วแต่จะเรียก พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงสร้างทั้งสิ้น ไม่ว่าพวกคุณจะเรียกว่า แผ่นดินไหนๆ หรือโลกไหนๆ ก็ตาม มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทั้งสิ้น

*ในคัมภีร์อัล-กุรอาน ใช้คำว่า “แผ่นดิน” (อัล-อัรฺฎ์) ทั้งสองความหมาย คือ โลกและแผ่นดิน

وَالأرضَ وضَعَهَا لِلْأَ نَامِ

ความว่า “และแผ่นดินนั้นพระองค์ทรงวางมัน (ให้ต่ำลาดแผ่ยื่น) แก่สรรพสิ่งที่ถูกสร้าง (มนุษย์, ญินและอื่นๆ)”

(อัร-เราะหฺมาน : 10)

هوالذي جعلكم خلائف في الأرض

ความว่า “พระองค์คือพระผู้ทรงกำหนดให้สูเจ้าทั้งหลายเป็นผู้สืบทอด (จากคนรุ่นก่อน) ในแผ่นดิน”

(ฟาฏิร : 39)

ทั้ง 2 อายะฮฺ กล่าวถึงแผ่นดินและโลก เพราะโลกก็คือแผ่นดินตามความหมายของภาษา แผ่นดินเป็นส่วนหนึ่งของโลก โลกก็คือสิ่งถูกสร้างที่มีแผ่นดินและเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่มีมนุษย์อาศัยอยู่

يَومَ تُبَدَّ لُ الأرضُ غيرالأرضِ والسمواتُ

ความว่า “วันซึ่งแผ่นดินและชั้นฟ้าได้ถูกเปลี่ยนเป็นอื่นจากแผ่นดินนั้น”

(อิบรอฮีม : 48)

วันที่ถูกกล่าวในอายะฮฺนี้คือวันกิยามะฮฺ ซึ่งวันนั้นแผ่นดินและท้องฟ้าถูกเปลี่ยนเป็นแผ่นดินและท้องฟ้าอื่นที่มิใช่แผ่นดิน หรือท้องฟ้าที่เห็นอยู่ขณะนี้ แผ่นดินก็คือโลก โลกก็คือแผ่นดิน จึงไม่แปลกที่เราจะกล่าวว่า โลกที่เห็นอยู่ขณะนี้จะเปลี่ยนเป็นโลกอื่นที่มีลักษณะและสภาพต่างออกไป

และคำว่าโลกก็ครอบคลุมทั้งผืนแผ่นดินและท้องฟ้า เมื่อโลกเปลี่ยน แผ่นดินและท้องฟ้าก็เปลี่ยน คำว่า “แผ่นดินหน้า” ก็คือแผ่นดินอื่นที่มิใช่แผ่นดินนี้ คำว่า “โลกใหม่” ก็คือโลกที่ไม่เหมือนเดิมทั้งแผ่นดินและท้องฟ้า ดังนั้น การที่คัมภีร์อัล-กุรอานใช้คำว่า “แผ่นดิน” ก็ไม่ได้หมายความว่า นั่นเป็นการปฏิเสธโลกใหม่ เพราะแผ่นดินใหม่หรือแผ่นดินหน้า ก็คือโลกใหม่หรือโลกหน้านั่นเอง

*คำว่า “ชาติ” เป็นคำนาม แปลว่า การเกิด เช่น ชาตินี้ ชาติหน้า แปลว่า กำเนิด เช่น มีชาติมีสกุล แปลว่าเหล่ากอเทือกเถา เผ่าพันธุ์ เช่น ชาติเสือ ชาติขี้ข้า แปลว่า ชนิด , จำพวก , ชั้น , หมู่ ก็ได้ ดังนั้นเมื่อคำว่า ชาติ แปลว่า การเกิด แล้วนำมาสมาสกับคำว่า “หน้า” ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า ถัดไป ชาติหน้า ก็แปลว่า การเกิดถัดไป หรือการเกิดในครั้งถัดไป

ถ้าอธิบายอย่างพวกที่เชื่อว่ามีการเวียนว่ายตายเกิด (สังสารวัฏ) บนโลกใบนี้ หรือเกิดบนแผ่นดินนี้และตายลงต่อมาก็เกิดใหม่บนแผ่นดินเดียวกันนี้ วนเวียนอยู่เช่นนั้น คำว่าชาติหน้า ตามความหมายนี้มิใช่ความเชื่อของศาสนาอิสลาม เพราะแผ่นดินนี้หรือโลกนี้ต้องถึงวันสิ้นโลก คือพินาศและถูกเปลี่ยนสภาพไปดังที่กล่าวมาแล้ว

และถ้าพวกคุณอธิบายการเกิดในลักษณะเวียนว่ายตายเกิดเช่นนี้ แล้วพวกคุณจะไปพูดถึงแผ่นดินหน้าทำไม ทั้งๆ ที่พวกคุณก็ยกหลักฐานจากอัล-กุรอานที่ระบุถึงวันที่แผ่นดินจะถูกเปลี่ยนเป็นแผ่นดินอื่นและท้องฟ้าก็ถูกเปลี่ยน (หน้า 6 บรรทัดที่ 17 จากข้างบน) แต่ถ้าอธิบายความหมายของคำว่า ชาติหน้า โดยปริยายว่าหมายถึง การเกิดในครั้งหน้าถัดจากความตายในโลกนี้ คือ การเกิดหรือฟื้นคืนชีพอีกครั้งในวันกิยามะฮฺเพื่อการการพิพากษาและการตอบแทน

ซึ่งก่อนที่จะเกิดวันกิยามะฮฺนั้น คนที่ตายไปแล้วและอยู่ในโลกบัรซัค (ซึ่งพิมพ์ผิดว่า “บัคซัร” และนั่นก็แสดงว่าคุณเชื่อว่ามีโลกบัรซัค) จะไม่สามารถกลับมามีชีวิตหรือเกิดใหม่อีกบนแผ่นดินหรือโลกนี้ ถ้าอธิบายอย่างนี้ก็ย่อมไม่มีปัญหา เพราะสอดคล้องกับหลักความเชื่ออันเป็นความจริงที่มาจากพระเจ้า แต่ดูเหมือนว่าพวกคุณจะอธิบายคำว่า ชาติหน้าตามลักษณะเวียนว่ายตายเกิดเสียมากกว่า

เพราะพวกคุณบอกว่า “วันนี้คือ “วันกิยามะฮฺแล้ว” และพวกเรากำลังอยู่ใน (ทุ่ง) มะซัร” (หน้า 5 บรรทัดที่ 4 จากข้างล่าง)  หากวันนี้คือวันกิยามะฮฺแล้วและพวกเรากำลังอยู่ใน (ทุ่ง) มะชัร (มะหฺชัร) อย่างที่พวกคุณว่า พวกคุณก็สับสนและตกอยู่ในความขัดแย้งทางความเชื่อของพวกคุณเองแล้ว เพราะพวกคุณบอกว่า “ไม่มีหลักฐานว่าจะมีโลกใหม่ แต่มีชาติหน้า แผ่นดินหน้า” (หน้า 1 ข้อที่ 1) วันนี้ก็ยังเป็นวันของโลกนี้ แผ่นดินก็ยังคงเป็นแผ่นดินเดิม ท้องฟ้าก็ยังไม่ถูกเปลี่ยนเป็นอื่น แผ่นดินหน้าก็ต้องถูกเปลี่ยนจากแผ่นดินเดิมหรือแผ่นดินก่อนนั้น ถึงจะเป็นวันกิยามะฮฺที่เรียกว่า กิยามะฮฺใหญ่ (القيامة الكبرى) หากเป็นความจริงจากพระเจ้าอย่างที่พวกคุณอ้างแล้ว ความจริงย่อมไม่ขัดแย้ง ไม่สับสนและคลุมเครือ เพราะอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า

ولوكان من عندغيراللهِ لوجد وافيه اختلا فاكثيرًا

ความว่า “และมาตรแม้นปรากฏว่า (อัล-กุรอาน) มาจากอื่นนอกจากอัลลอฮฺแล้วไซร้ พวกเขาย่อมพบว่าในนั้น (อัล-กุรอาน) มีการขัดแย้งเป็นอันมาก”

(อัน-นิสาอฺ : 82)

อัล-กุรอานคือความจริงจากพระเจ้าจึงไม่พบว่ามีความขัดแย้งกันเอง ในถ้อยความหรือนัยของอัล-กุรอาน ฉะนั้น สิ่งที่พบว่ามีความขัดแย้งกันนั่นย่อมมิใช่ความจริงจากพระเจ้า!

*การให้ความหมายของ ดุนยา, กิยามะฮฺ, อาคีเราะฮฺ, ซาอะฮฺ และบะฮฺซา (อัล-บะอฺษุ) ตามความหมายที่แท้จริงอย่างที่กล่าวมานั้น โดยมากเป็นการให้ลักษณะ (الوَصْفُ) หรือไขความ (اَلْخَبَرُ) ไม่ใช่ความหมายตามหลักภาษา ซึ่งหากจะให้ความหมายในเชิงบอกลักษณะหรือไขความ ก็ไม่ได้ผิดอะไร

ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า การให้ความหมายแบบนั้น มีเป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องกับการตีความของพวกคุณถึงสภาพของมนุษย์ในยุคสุดท้ายและสภาวะทางจิตวิญญาณที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในวันกิยามะฮฺ ซึ่งพวกคุณเชื่อว่าเกิดขึ้นแล้วและคือวันนี้ซึ่งพวกคุณอ้างว่า เรากำลังอยู่ในทุ่งมะหฺชัรใช่หรือไม่? ถ้าตอบว่าใช่! นั่นก็คือความสับสนของพวกคุณเอง เพราะทุกมะหฺชัรซึ่งปวงบ่าวของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะถูกไล่ต้อนให้มารวมกันอยู่ที่นั่นในวันกิยามะฮฺ เป็นคนละแผ่นดินที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้

ดังอายะฮฺที่ 48 สูเราะฮฺอิบรอฮีม ระบุเอาไว้ และท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้บอกให้เราทราบถึงลักษณะของแผ่นดินใหม่หรือแผ่นดินหน้าซึ่งจะเป็นสถานที่รวมปวงบ่าวของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)  คือ ทุ่งมะหฺชัรนั้น  ในอัล-หะดีษที่บันทึกไว้ในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ และมุสลิม จากท่านสะฮฺล์ อิบนุ สะอฺด์ ว่า ฉันได้ยินท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า :

يُحْشَرُالنَّاسُ يَوْمَ القيامةِ على أَرْضٍ بَيْضَاءَ عَفْرَاءَ كَقُرْصَةِ النَّقِيِّ

“มนุษย์จะถูกไล่ต้อนให้มารวมกันในวันกิยามะฮฺบนแผ่นดินสีขาวบริสุทธิ์ (หรือขาวแกมสีแดงเล็กน้อย) คล้ายกับแผ่นกลมแบนของแป้งละเอียดที่ถูกร่อน”

สะฮฺล์ หรือผู้รายงานหะดีษบทนี้กล่าวว่า

لَيْسَ فِيْهَا مَعْلَمٌ لأَحَدٍ

“ไม่มีเครื่องหมาย (หรือสัญลักษณ์) ใดสำหรับผู้ใดในแผ่นดินนั้น” (ฟัตหุลบารียฺ 11/372, มุสลิม หะดีษเลขที่ 2790)

คำว่า มะอฺลัมฺ (مَعْلَمٌ) หมายถึงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่ใช้นำทาง เช่น ภูเขาและก้อนหิน หรือหลักเขตที่มนุษย์วางเอาไว้เพื่อชี้เส้นทางหรือแบ่งเขต แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนี้หรือวันนี้ในปี พ.ศ.2554/ ค.ศ.2011 แผ่นดินยังคงมีหลักเขต มีเครื่องหมายที่ใช้ในการกำหนดเส้นทางการคมนาคม มีอาคารตึกรามบ้านช่อง มีภูเขา ต้นไม้ เนินเขา มีสิ่งกีดขวางสายตามากมายไม่ได้โล่งเตียนสุดสายตาแต่อย่างใด

อีกทั้งแผ่นดินในวันนี้ก็ยังไม่ได้กลายสภาพเป็นแผ่นดินสีขาวเหมือนแผ่นแป้งกลมอย่างที่ระบุใน อัล-หะดีษ ฟ้าก็ยังคงเป็นฟ้าเหมือนเดิม ดวงอาทิตย์ก็ยังไม่ได้กลับไปขึ้นทางทิศตะวันตก น้ำทะเลก็ยังไม่เดือดและลุกเป็นไฟ ดวงดาวก็ยังไม่ได้ร่วงหล่นลงมาใส่แผ่นดินของมนุษย์โลก ภูเขาก็ยังอยู่ในที่เดิม ยังไม่ได้มีสภาพปลิวว่อนเหมือนปุยนุ่นที่ถูกเป่า ฯลฯ การอธิบายว่าวันนี้เป็นวันกิยามะฮฺใหญ่แล้ว และเรากำลังอยู่ในทุ่งมะหฺชัรโดยใช้คำว่า “โลกยุคไร้พรมแดน” (หน้า 6 บรรทัดที่ 16 จากข้างบน) จึงเป็นการตีความเอาเอง

เพราะถึงแม้มนุษย์ในปัจจุบันจะเรียกยุคนี้ว่า “ยุคโลกไร้พรมแดน” นั่นก็เป็นเพียงเรื่องของข้อมูลข่าวสารที่สามารถรับรู้ได้โดยทั่วถึง แต่นั้นก็เป็นสภาพที่เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่ของโลกที่มีความเจริญทางด้านโกเบิ้ลเนทเวิร์ค ชนเผ่าอินเดียนในอเมริกาใต้ หรือชนเผ่าที่อยู่ในป่าดงดิบอเมซอน ก็ยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่งอยู่ดี พรมแดนทางภูมิศาสตร์กายภาพก็ยังคงมี มีการกระทบกระทั่งกันในเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ ทั้งหมดเป็นคนละเรื่องกับแผ่นดินหน้าที่กล่าวมาโดยสิ้นเชิง

แต่ถ้าพวกคุณบอกว่า “ไม่ใช่” เพราะว่า วันนี้คือวันกิยามะฮฺแล้ว หมายถึง วันนี้เป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาที่กำลังดำเนินสู่วันกิยามะฮฺใหญ่ซึ่งเริ่มนับถอยหลังอายุของโลกและจักรวาลนี้สู่วันสุดท้ายตั้งแต่การแต่งตั้งท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) มาประกาศศาสนาและสัญญาณของวันกิยามะฮฺก็เริ่มปรากฏต่อจากนั้นเรื่อยมา เชื่อและอธิบายอย่างนี้ไม่ผิด แต่ก็ไม่พ้นตรงกรณีที่ว่า “ขณะนี้เรากำลังอยู่ในทุ่งมะหฺชัรอยู่ดี” เพราะทุ่งมะหฺชัรเป็นสภาพของแผ่นดินในวันนั้น คือวันกิยามะฮฺใหญ่ ความจริงที่อ้างว่ามาจากพระเจ้าก็ยังคงสับสนและขัดแย้งกันอยู่ดี!

*การให้ความหมาย คำว่า โลกหน้า ในภาษาอาหรับว่า “อาละมุลกอดิม” (العَالمُ القَادِمُ) และคำว่า โลกนี้ ในภาษาอาหรับว่า “ฮารัน อาลัม” (น่าจะเป็นฮาซา อัล-อาลัม (هَذاالعَالَمُ) มากกว่า) นั่นเป็นการกำหนดคำขึ้นมาเอง (อยู่ในหมายเหตุ หน้า 4 บรรทัดที่ 3 จากข้างบน) ไม่ใช่เป็นการอิงกับถ้อยคำที่มีระบุไว้ในอัล-กุรอาน เพราะอัล-กุรอานเรียกโลกหน้า ในวันกิยามะฮฺว่า อัล-อาคิเราะฮฺ (الآخِرَة) เรียกโลกนี้ว่า อัล-อูลา (الأُوْلى) ก็มี เช่น

وللآخرة خيرلك مِنَ الأولى

ความว่า “และแน่นอนสถานสุดท้าย (คือโลกหน้าอันเป็นโลกสุดท้ายหรือแผ่นดินสุดท้าย) ย่อมดีกว่าสถานแรก (คือโลกนี้) สำหรับท่าน”

(อัฎ-ฎุฮา : 4)

وَلَدَارُالآخرةِ خَيْرٌ للذ ين اتَّقَوْا أفلا تعقلون

ความว่า “และแน่นอนสถานสุดท้ายย่อมดีกว่าสำหรับบรรดาผู้มีความยำเกรง ไฉนเลยพวกท่านจึงไม่ใช้ปัญญาใคร่ครวญ”

(ยูสุฟ : 109)

ในคัมภีร์อัล-กุรอาน ไม่มีการใช้คำว่า “อัล-อาลัม อัล-กอดิม” อย่างที่พวกคุณกำหนดขึ้นมาว่าหมายถึงโลกหน้าก็ถูกต้องแล้ว แต่การไม่ได้ใช้คำนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีโลกหน้า มีแต่แผ่นดินหน้าอย่างที่พวกคุณกล่าวอ้าง เพราะโลกก็คือแผ่นดิน แผ่นดินก็คือโลก มีความหมายเดียวกัน เมื่อไม่ใช้คำว่าโลกหน้าก็ไม่เสียหาย เพราะโลกหน้ากับแผ่นดินหน้ามีความหมายเดียวกันอยู่แล้ว แต่การใช้คำว่า “อาละมุล-กอดิม” ของคุณนั้นเป็นการใช้ตามภาษาซึ่งอัล-กุรอานไม่ได้ใช้คำนี้ และการไม่ได้ใช้คำนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีหลักฐานยืนยันว่า มีโลกหน้า แต่อย่างใด