ในวันกิยามะฮฺเชื่อว่าทุกชีวิตต้องตายหมด แต่ในอัลกุรอานบอกว่าไม่หมด (39:68)

สัญญาณวันกียามัต หรือสัญญาณเป็นเครื่องหมายก่อนถึงวันกียามัตกันแน่?

และทำไมยังต้องมีตามตอฆูตอีกในวันกียามัต (หน้า 3 บรรทัดที่ 1 จากข้างบนลงมา)


*อัลกุรอานระบุว่า :

وَنُفِخَ فِى الصُّوْرِفَصَعِقَ مَنْ فِى السَّمواتِ وَمَنْ فِى الأَرْضِ إِلاَّ مَنْ شَاءَاللهُ

ความว่า : “และได้ถูกเป่าในสังข์นั้น แล้วผู้ที่อยู่ในชั้นฟ้าและผู้ที่อยู่ในแผ่นดินก็ตายสิ้น ยกเว้นผู้ที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประสงค์”

(อัซ-ซุมัร : 68)

แน่นอน มีผู้ที่ได้รับการยกเว้นจากความตายอันเนื่องมาจากการเป่าสังข์นั้น ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประสงค์ แต่อัล-กุรอานมิได้ระบุไว้อย่างแน่ชัดว่าคือผู้ใด! แล้วเหตุไฉนพวกคุณจึงอาจหาญระบุว่า วันนี้คือวันกิยามะฮฺแล้ว และขณะนี้พวกเรากำลังอยู่ในทุ่งมะฮฺชัร เพราะการระบุเช่นนี้ก็เท่ากับว่าพวกเรารวมถึงพวกคุณคือผู้ที่ได้รับการยกเว้นจากความตาย อันเนื่องจากการเป่าสังข์นั้น และนั่นก็แสดงว่า อิสรอฟีล (อ.ล.) ได้เป่าสังข์นั้นแล้ว เพราะวันนี้เป็นวันกิยามะฮฺแล้ว

แล้วเหตุไฉนพวกคุณจึงยังสามารถเขียนบทความนี้ลงเว็ปไซด์เพื่อสั่งเสียให้ผู้คนยอมรับความจริงจากพระเจ้า และพวกคุณก็ยังสามารถกลับไปหาครอบครัวของพวกคุณได้เป็นปกติอยู่อีกเล่า

เพราะอัล-กุรอานระบุว่า

مَايَنْظُرُوْنَ إِلاَّ صَيْحَةً وَاحِدَةً تَأْخُذُهُمْ وَهُمْ يَخِصِّمُوْنَ

فَلاَ يَسْتَطِيْعُوْنَ تَوْصِيَةً وَلاَ إِلى أَهْلِهِمْ يَرْجِعُوْنَ

ความว่า “พวกเขามิได้รอคอยนอกเสียจากเสียงกำปนาทเดียว (คือการเป่าสังข์ของอิสรอฟีล) ที่มันจะทำลายพวกเขาในสภาพที่พวกเขายังโต้เถียงกัน (ในเรื่องชีวิตประจำวัน) แล้วพวกเขาก็ไม่สามารถสั่งเสียอันใดและพวกเขาก็ไม่ได้หวนกลับไปยังครอบครัวของพวกเขา (เพราะพวกเขาสิ้นชีวิตลงในทันทีที่สังข์ได้ถูกเป่า ณ สถานที่ที่พวกเขาปรากฏอยู่)”

(ยาสีน : 48)

หากสังข์ถูกเป่าขึ้นแล้วเพราะพวกคุณอ้างว่า วันนี้เป็นวันกิยามะฮฺแล้ว เหตุไฉนพวกคุณยังใช้ชีวิตเป็นปกติอยู่เล่า พวกคุณก็ยังซื้อสินค้าและต่อรองราคา และพวกเราก็ยังคงเขียนบทความเพื่อหักล้างสิ่งที่พวกคุณกล่าวอ้างอยู่ในขณะนี้ พวกคุณก็ยังคงสามารถสั่งเสียคนในญะมาอะฮฺของพวกคุณ ยังไปมาหาสู่กับคนพวกนั้นและให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อเอาไว้เสียด้วย หากวันนี้เป็นวันกิยามะฮฺแล้ว และสังข์ได้ถูกเป่าแล้ว ทำไมจึงยังกลับไปหาลูกเมียของพวกคุณได้อีกเล่า!

*สัญญาณวันกิยามะฮฺ (أَشْرَاطُ السَّاعَةِ) หมายถึง บรรดาสัญญาณหรือเครื่องหมายซึ่งวันกิยามะฮฺ (อัสสาอะฮฺ) จะเกิดขึ้นตามหลังสัญญาณหรือเครื่องหมายเหล่านั้น โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

หนึ่ง บรรดาสัญญาณหรือเครื่องหมายเล็ก (عَلاَمَاتٌ صُغْرى) สอง บรรดาสัญญาณหรือเครื่องหมายใหญ่ (عَلاَمَاتٌ كُبْرى) ทั้งสองประเภทล้วนแต่บ่งถึงความใกล้ของวันกิยามะฮฺในการเกิดขึ้น และสัญญาณหรือเครื่องหมายประเภทที่สองนั้น เมื่อเกิดขึ้นก็จะติดตามมาด้วยวันกิยามะฮฺในทันที

นั่นหมายความว่า ในความใกล้ของวันกิยามะฮฺเมื่อพิจารณาถึงประเภทของสัญญาณนั้น  สัญญาณหรือเครื่องหมายเล็กที่เกิดขึ้นจะบ่งชี้ว่าวันกิยามะฮฺใกล้เข้ามาแล้ว ส่วนสัญญาณหรือเครื่องหมายใหญ่นั้นจะเกิดขึ้นในระยะเวลาที่ใกล้ที่สุดกับการเกิดขึ้นของวันกิยามะฮฺ เพราะเมื่อเกิดสัญญาณหรือเครื่องหมายใหญ่แล้วก็เกิดวันกิยามะฮฺทันที นั่นหมายความว่าวันกิยามะฮฺจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าบรรดาสัญญาณหรือเครื่องหมายใหญ่จะเกิดขึ้นก่อน ดังที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า :

إِنَّهَالَنْ تَقُوْمَ حَتّى تَرَوْا قَبْلَهَا عَشْرَ آيَاتٍ

ความว่า : “แท้จริงวันนั้น โมงนั้น (อัส-สาอะฮฺ) จะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าพวกท่านจะได้เห็นก่อนหน้ามันถึงสัญญาณ 10 ประการ” (บันทึกโดยมุสลิม)

ซึ่งส่วนหนึ่งจาก 10 ประการนั้นคือ ควัน (อัด-ดุคอน) ดัจญาลฺ, สัตว์ประหลาด (อัด-ด๊าบฺบะฮฺ) และดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก เป็นต้น บรรดาสัญญาณใหญ่นี้จะเกิดขึ้นโดยติดต่อกันจนกระทั่งเกือบจะไม่มีห้วงเวลามาแบ่งคั่น มีลักษณะคล้ายกับเส้นลูกปัดที่มีลูกปัดร้อยเรียง เมื่อสายขาดลูกปัดเม็ดแรกหลุดร่วง ลูกปัดเม็ดที่เหลือก็หลุดตามกันโดยมิรอช้า ดังปรากฏในอัล-หะดีษที่รายงานจากอนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) บันทึกโดย อัล-หากิม

ดังนั้น เราจึงสามารถเรียกบรรดาสัญญาณหรือเครื่องหมายทั้งสองประเภทโดยรวมว่า สัญญาณวันกิยามะฮฺ ซึ่งเป็นสัญญาณหรือเครื่องหมายที่จะเกิดขึ้นก่อนวันกิยามะฮฺคือ วันนั้น โมงนั้น จึงไม่ใช่สาระสำคัญในการที่จะต้องคำถามให้เกิดความสับสนว่ามันคืออะไรกันแน่! เพราะอัล-กุรอานเองก็ใช้สำนวนเช่นนั้น ดังปรากฏในอายะฮฺที่ว่า

فَقَدْ جَاءَ أَشْرَاطُهَا

ความว่า : “ดังนั้น แน่แท้บรรดาสัญญาณของมัน (วันกิยามะฮฺ) นั้นมาแล้ว”

(มุฮำมัด : 18)

และมีปรากฏในอัล-หะดีษจำนวนมากที่ใช้สำนวนเช่นนี้คือ “ส่วนหนึ่งจากบรรดาสัญญาณของวันนั้น โมงนั้น…( …مِنْ أَشْرَاطِ السَّاعَةِ) เมื่ออัล-กุรอานและอัล-หะดีษใช้สำนวนว่า “สัญญาณวันกิยามะฮฺ” เราก็ย่อมสามารถใช้สำนวนดังกล่าวได้เช่นกัน เพราะเป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่า “สัญญาณวันกิยามะฮฺ” ก็คือ บรรดาสัญญาณหรือเครื่องหมายที่มีมาก่อนการเกิดขึ้นของวันกิยามะฮฺ แล้วพวกคุณจะตั้งคำถามให้สับสนทำไม?

*การตามตอฆูต (ฏอฆูต) ในวันกิยามะฮฺอย่างที่พวกคุณกล่าวอ้างนั้น มีระบุในอายะฮฺใดจากอัล-กุรอานเล่า? ถ้าการตามฏอฆูตเข้าสู่นรกในวันกิยามะฮฺคือสิ่งที่พวกคุณมุ่งหมาย อย่างนี้เราเห็นด้วยเพราะมิใช่ปัญหา แต่การที่พวกคุณยกอายะฮฺอัล-กุรอานจากสูเราะฮฺ อัล-มุดดัษษิรฺ อายะฮฺที่ 8-17 แล้วระบุว่า นี่เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า วันกิยามะฮฺเกิดขึ้นแล้วแต่พระเจ้ายังอยู่กับกาฟิร ให้พวกเขาอยู่อย่างสุขสบาย (หน้า 3 บรรทัดที่ 4 จากข้างบน)

นั่นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของพวกคุณเอง เพราะอายะฮฺที่ 8-10 นั้นระบุถึงสภาพความลำบากและความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสที่เกิดกับพวกปฏิเสธในวันกิยามะฮฺภายหลังการเป่าสังข์แห่งการฟื้นคืนชีพ และอายะฮฺที่ 11 เป็นต้นไปเป็นการระบุถึง คนชั่วที่ปฏิเสธอัล-กุรอานว่า เป็นพระดำรัสของพระเจ้าและกล่าวหาว่า อัล-กุรอานเป็นไสยศาสตร์ที่นบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ถ่ายทอดมาจากบรรดานักไสยศาสตร์

คนชั่วนี้ก็คือ อัล-วะลีด อิบนุ อัล-มุฆีเราะฮฺ ผู้นำของพวกกุรอยชฺ ซึ่งอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงประทานทรัพย์สินและลูกหลานมากมายที่มาร่วมในงานรื่นเริงและอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตากับอัล-วะลีด ซึ่งเฉพาะลูกชายของเขามีถึง 10 คน โดยจะอยู่ร่วมกับอัล-วะลีด ผู้พ่อตลอดเวลา กระนั้นด้วยทรัพย์สิน ลูกหลาน อำนาจและบารมี อัล-วะลีดก็ไม่รู้จักพอและมิหนำซ้ำยังเนรคุณต่ออัลลอฮฺด้วยการปฏิเสธพระองค์และกล่าวหาว่าอัล-กุรอานเป็นคำพูดของมนุษย์ พระองค์จึงคาดโทษว่า พระองค์จะนำเขาผู้นี้สู่นรกอเวจี

ท้องเรื่องที่อัล-กุรอานเล่าถึงอัล-วะลีดผู้นี้ เริ่มตั้งแต่อายะฮฺที่ 11 ซึ่งมีความหมายว่า โอ้มุฮัมมัด จงปล่อยเรากับผู้ที่เราได้สร้างเขามาในท้องแม่ของเขาเพียงลำพัง ซึ่งตอนที่อยู่ในท้องแม่ของเขาไม่มีอะไรสำหรับเขาเลยแม้แต่สิ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินหรือลูกหลาน แล้วพระองค์ก็ทรงประทานสิ่งเหล่านั้นให้แก่เขาจนกลายเป็นผู้มีบารมีที่สุดในหมู่ของพวกกุรอยชฺ ท้องเรื่องจึงเป็นการเล่าย้อนถึงปูมหลังของอัลวะลีด อิบนุ อัลมุฆีเราะฮฺ ขณะมีชีวิตอยู่ในโลกดุนยา ไม่ใช่เล่าถึงสิ่งที่อัลลอฮจะได้ประทานให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสุขสบายในวันกิยามะฮฺ

เพราะในอายะฮฺที่กล่าวถัดมาเป็นการระบุถึงสิ่งที่เขาได้จาบจ้วงต่อคัมภีร์อัล-กุรอานเอาไว้ และอัลลอฮฺก็สัญญาว่า จะนำบุคคลผู้นี้เข้าสู่นรกญะฮันนัมซึ่งมีการลงทัณฑ์อันเจ็บแสบและน่าสะพรึงกลัว ท้องเรื่องของอัล-กุรอานเป็นเช่นนี้ ซึ่งเนื้อความไม่ได้ขัดแย้งกันเลย แต่ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นทันทีหากเป็นไปตามความสับสนที่พวกคุณกล่าวอ้าง เพราะถ้าหากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะประทานทรัพย์สินและลูกหลานอันมากมายให้แก่อัล-วะลีดในวันกิยามะฮฺและให้เขามีชีวิตอย่างสุขสบายแล้ว เหตุไฉนพระองค์จึงนำเขาเข้าสู่นรกภูมิเล่า!

สิ่งที่พวกคุณเข้าใจไม่ใช่ความจริงจากพระเจ้า แต่เป็นการล่อลวงของชัยฏอนให้พวกคุณเข้าใจเนื้อหาของอัล-กุรอานผิดพลาดต่างหาก! และความผิดพลาดนั้นทำให้พวกคุณสับสนในการตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า “หรือสังข์คนละอันกัน”? เพราะจะเรียกว่า อัน-นากูร (النَّاقُور) หรืออัศ-ศูร (الصُّور) นั่นก็หมายถึงสังข์ที่อิสรอฟีล (อ.ล.) ได้เป่านั่นเอง จะเป็นสังข์คนละอันกันหรืออันเดียวกันก็ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ตรงการเป่าสังข์ในอายะฮฺดังกล่าว คือ การเป่าสังข์ให้ทุกสรรพสิ่งที่ตายลงอันเนื่องจากการเป่าสังข์ครั้งแรกฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เพื่อรับการพิพากษาในวันกิยามะฮฺ สาระสำคัญอยู่ตรงนี้ต่างหากเล่า!