“สะพานซีร้อต คืออะไรกันแน่? มนุษย์จะเดินได้อย่างไรกัน เล็กเท่าเส้นผมผ่าซีก และความหมายของศิร็อตอลมุสตากีมคืออะไร สะพานเดียวกันหรือไม่?

ถ้ามนุษย์ทุกคนลุกออกมาจากหลุมฝังศพในวันนั้น แล้วคนที่จมน้ำหายไปวันนั้น พระเจ้าจะสร้างหลุมให้ใหม่หรือในทุกมะชัรจะต้องมีกุโบรของแต่ละคนแล้วลุกขึ้นมาพร้อมๆ กัน” (หน้า 3 บรรทัดที่ 13 ลงมาจากข้างบน)

 


*สะพาน (อัศ-ศิร็อฏ) คือสะพานที่ถูกทอดผ่านนรกญะฮันนัม ในอัล-หะดีษใช้สำนวนว่า อัศ-ศิรอฏ (الصِّرَاطُ) และอัล-ญิสร์ (الجِسْرُ) ซึ่งแปลว่า สะพานหรือเส้นทางที่ใช้ข้าม ส่วนคำ อัศ-ศิรอฏ อัล-มุสตะกีม (اَلصِّرَاطُ المُسْتَقِيْمُ) นั้นหมายถึง หนทาง แนวทาง เส้นทาง วิถี หรือมรรคาอันเที่ยงตรง คือแนวทางของบรรดาผู้ซึ่งอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานความโปรดปรานให้แก่พวกเขาจากบรรดานบี บรรดาผู้มีความสัจจริง บรรดาผู้พลีชีพ และบรรดาผู้ประพฤติชอบมิใช่แนวทางของบรรดาผู้ที่ถูกโกรธกริ้วหรือหลงผิด

ดังนั้นสะพาน (อัศ-ศิรอฏ) ที่ถูกทอดผ่านขุมนรกญะฮันนัม นั่นคือสะพาน ส่วนศิรอฏ มุสตะกีม นั่นไม่ใช่สะพานแต่เป็นแนวทางของการศรัทธาและการปฏิบัติที่ถูกต้องเที่ยงตรง  การเรียกสะพาน (ศิรอฏ) ที่ถูกทอดผ่านขุมนรกญะฮันนัมในวันกิยามะฮฺว่า ศิรอฏ มุสตะกีม จึงเป็นการเรียกที่คลาดเคลื่อนเพราะไปคุ้นเคยกับคำว่า ศิรอฏ มุสตะกีม นั่นเอง

สะพาน (อัศ-ศิรอฏ) มีระบุถึงลักษณะของมันเอาไว้ในอัล-หะดีษที่เศาะฮีหฺและหะดีษที่ใช้เป็นหลักฐานได้ เมื่ออัล-หะดีษระบุเอาไว้พวกเราก็ศรัทธาว่า สะพาน (อัศ-ศิรอฏ) มีจริงและมีลักษณะเช่นที่ว่านั้นจริง คือ เป็นเหมือนคมของดาบ หรือเป็นเหมือนขนาดของเส้นผมโดยไม่มีการตีความหรือปฏิเสธถ้อยคำของอัล-หะดีษ พวกเราจะไม่ตั้งคำถามโดยใช้ปัญญาที่มีขีดจำกัดของเราในเรื่องที่เราไม่รู้และคิดเอาเองว่าเป็นไปไม่ได้อย่างที่พวกคุณตั้งคำถาม “มนุษย์จะเดินได้อย่างไร” เพราะนั่นเป็นภารกิจของพระเจ้า

เมื่อพระองค์ทรงมหิทธานุภาพบันดาลให้ผู้ปฏิเสธเดินบนใบหน้าของเขาในวันกิยามะฮฺได้ การบันดาลให้มนุษย์สามารถข้ามสะพานที่มีลักษณะเช่นนั้นได้ก็ย่อมไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (มุสตะหีล) สำหรับพระองค์ เมื่อนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) บอกเราก็ศรัทธา เพราะสิ่งที่นบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) บอกคือ ความจริงจากพระเจ้า ถึงแม้ว่ามนุษย์อย่างพวกคุณจะตั้งคำถามว่าจะเป็นจริงเช่นนั้นได้อย่างไรก็ตาม!

ส่วนเรื่องหลุมฝังศพหรือสุสานนั่นเป็นการใช้สำนวนโดยส่วนใหญ่ (عَلى سَبِيْلِ التَّغْلِيْبِ) เพราะโลกแห่งสุสานก็คือ โลกที่คั่นอยู่ระหว่างดุนยากับอาคิเราะฮฺ ซึ่งเรียกว่าโลกบัรซัค พวกคุณก็เชื่อในโลกบัรซัคมิใช่หรือ? แล้วพวกคุณจะตั้งคำถามที่ชวนให้สับสนทำไม! เพราะโลกบัรซัคเป็นโลกหลังความตายตราบจนถึงวันฟื้นคืนชีพ ซึ่งคนที่ตายลงจะถูกฝังในสุสานหรือถูกเผาจนเป็นเถ้ากระดูก หรือถูกสัตว์ร้ายกินจนไม่เหลือซาก ซึ่งคนที่ว่านี้ไม่มีสุสานที่ฝังร่างของพวกเขา แต่พวกเขาก็อยู่ในโลกบัรซัคนั้นแล้ว เมื่อถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพ คนตายทั้งหมดจะถูกให้ฟื้นคืนชีพไม่ว่าจะถูกฝังหรือไม่ก็ตาม