อัลอันดะลุสในสมัยอาณาจักรอัลมุวะฮฺฮิดูน (Almohades)

อิบนุ ตูมัรฺต์ ผู้อ้างตนเป็นอิหม่าม อัล-มะฮฺดียฺ และผู้ให้กำเนิดกลุ่ม  “อัล-มุวะฮฺฮิดูน”ในช่วงเวลาที่พวกอัลมุรอบิฏูน (Almoravides) กำลังยุ่งอยู่กับการญิฮาดในอัลอันดะลุส ตลอดจนสาละวนอยู่กับการบริหารอาณาจักรที่กว้างใหญ่ของพวกเขาในดินแดนตะวันออกไกลของแอฟริกาเหนืออยู่นั้น ได้มีกลุ่มชนหนึ่งจากพวกเบอร์เบอร์รวมตัวกันภายใต้การนำของบุคคลผู้หนึ่งคือ อบู อับดิลลาฮฺ อัลมะฮฺดีย์ มุฮำหมัด อิบนุ ตูมัรฺต์ เชื้อสายเบอร์เบอร์เผ่าฮัรเฆาะฮฺซึ่งเป็นเผ่าหนึ่งจากก๊ก มัซฺมูดะฮฺที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองซูซ ทางใต้ของมอรอคโค อิบนุ คอลกานระบุว่า อิบนุ ตูมัรฺต์ถือกำเนิดในปีฮ.ศ.485 ส่วนอัลฆอรนาฏีย์ระบุว่าเขาถือกำเนิดในปีฮ.ศ.470

 

และในปีฮ.ศ.500 อิบนุ ตูมัรฺต์ได้เดินทางสู่ดินแดนตะวันออกของโลกอิสลามเพื่อแสวงหาความรู้จากบรรดานักปราชญ์ในดินแดนนั้นส่วนหนึ่งของคณาจารย์ที่อิบนุ ตูมัรฺต์ได้ศึกษาเล่าเรียนคือ อบูบักร อัตฺฏ๊อรฺฏูซีย์ (อบูบักร มุฮำหมัด อิบนุ อัลวะลีด) นักปราชญ์ในนครอเล็กซานเดรีย, อบูบักร อัชฺชาชีย์ และอิบนุ อัตตูยูรีย์ เป็นต้น มีรายงานระบุว่า อิบนุ ตูมัรฺต์ เคยศึกษากับอิหม่ามอัลฆอซาลีย์ แต่ท่านอิบนุ อัลอะซีรฺและอิบนุ อัลค่อฏีบ ระบุว่า อิบนุ ตูมัรฺต์ ไม่เคยพบกับอิหม่ามอัลฆ่อซาลีย์ แต่เป็นไปได้ว่าเขาได้รับอิทธิพลทางความคิดของอัลฆ่อซาลีย์ผ่านตำรับตำราที่อัลฆ่อซาลีย์แต่งเอาไว้

 

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว อิบนุ ตูมัรฺต์ได้เดินทางกลับสู่มอรอคโคและเริ่มเชิญชวนเรียกร้องผู้คนสู่หลักคำสอนของศาสนาในเขตเมืองซูซฺ เขาเดินทางรอนแรมไปยังหัวเมืองต่างๆ เพื่อเผยแผ่การเรียกร้องของตนจนกลายเป็นที่รู้จักและถูกกล่าวขานถึง ต่อมาในภายหลัง อิบนุ ตูมัรฺต์ก็ประกาศแก่เหล่าสานุศิษย์ของตนว่า ตนเองคืออิหม่าม อัลมะฮฺดีย์ที่ถูกรอคอย บรรดาผู้ที่ให้การสนับสนุนและเชื่อถือต่ออิบนุ ตูมัรฺต์จึงขนานนามเขาว่า อัลมะฮฺดีย์และอิหม่ามผู้บริสุทธิ์ (อัลมะอฺซูม)

 

ส่วนผู้ที่ดำเนินตามความเชื่อของเขาก็ถูกขนานนามว่า อัลมุวะฮฺฮิดูน (บรรดาผู้ให้เอกภาพต่อพระผู้เป็นเจ้า) อิบนุ ตูมัรฺต์ได้เขียนตำราแก่กลุ่มของตนด้วยภาษาเบอร์เบอร์ เรียกว่า ตำราอัลมุรชิดะฮฺ โดยกล่าวสาธยายถึงหลักการให้เอกภาพ (เตาฮีด) และแนวความคิดบางอย่างที่เบี่ยงเบนจากแนวทางของอะหฺลุสซุนนะฮฺ สานุศิษย์คนสำคัญที่ยอมรับแนวทางและหลักความเชื่อของอิบนุ ตูมัรฺต์คืออัลดุลมุอฺมิน อิบนุ อะลี ซึ่งมีเชื้อสายเบอร์เบอร์จากเผ่ากูมียะฮฺ (ก๊กซะนาตะฮฺ) แต่เขาอ้างว่าตนเองเป็นชาวอาหรับที่สืบเชื้อสายมาจากกอยซ์ อัยลานฺ อับดุลมุอฺมินผู้นี้ถือเป็นผู้สถาปนาอาณาจักร อัลมุวะฮฺฮิดูนในเวลาต่อมา

 

อิบนุ ตูมัรฺต์ได้เดินทางไปยังตำบลตีนัมลัลฺของเมืองซูซฺและได้รับสัตยาบันจากเหล่าสานุศิษย์ของตนในปีฮ.ศ.515 บุคคลแรกที่ให้สัตยาบันแก่เขาคือ อับดุลมุอฺมิน อิบนุ อะลี ตามด้วยบรรดาพรรคพวกของเขา และในปีฮ.ศ.517 บรรดาเผ่าต่างๆ ในมอรอคโคก็มุ่งหน้ามาเพื่อให้สัตยาบันแก่อิบนุ ตูมัรฺต์เป็นครั้งที่ 2 อิบนุ ตูมัรฺต์ให้แบ่งบรรดาพรรคพวกของตนออกเป็นชนชั้นต่างๆ ชนชั้นแรก คือ กลุ่มบุคคลที่ให้สัตยาบันแก่เขาเป็นพวกแรก เรียกว่า อะฮฺลุลอะชะเราะฮฺ (กลุ่มชนทั้งสิบ) เช่น อับดุลมุอฺมิน อิบนุ อะลี และอบูฮัฟซ์ อุมัร อิบนุ อะลี อัซซอนฮาญีย์ เป็นต้น ชนชั้นที่ 2 คือ อะฮฺลุคอมซีน (กลุ่มชนทั้ง 50) ทั้งหมดเป็นตัวแทนจากเผ่าเบอร์เบอร์ต่างๆ เช่น ฮุรเฆาะฮฺ, ฮันตาตะฮฺ, ซอนฮาญะฮฺ และฮัซกูเราะฮฺ เป็นต้น

 

อิบนุ ตูมัรฺต์ได้จัดตั้งกองทัพที่เข้มแข็งจากพวกเบอร์เบอร์ก๊กมัซมูดะฮฺ หลังจากนั้นก็เริ่มรบพุ่งกับเผ่าที่ยังสวามิภักดิ์ต่อพวกอัลมุรอบิฏูน รวม 9 ครั้ง ในปีฮ.ศ.517 มีการรบพุ่งระหว่างพวกอัลมุรอบิฏูนและอัลมุวะฮฺฮิดูน ฝ่ายกองทัพอัลมุวะฮฺฮิดูนได้รับชัยชนะในการเข้ายึดครอง ป้อมตาซฆีมูต ซึ่งเป็นป้อมปราการที่ใหญ่ที่สุดของพวกอัลมุรอบิฏูน ในปีฮ.ศ.518 ก็สามารถพิชิตดินแดนมามูซะฮฺและวาดีย์ นะฟีซและในปีฮ.ศ.521 อิบนุ ตูมัรฺต์ได้ส่งอับดุลมุอฺมินได้นำทัพไปยังญะซูละฮฺ ซึ่งเป็นการสู้รบครั้งแรกกับตาชฟีนฺ อิบนุ อะลี และนับจากปีฮ.ศ.524 กองทัพอัลมุวะฮฺฮิดูนก็เริ่มรบพุ่งอย่างจริงจังกับพวกอัลมุรอบิฏูน

 

ในปีเดียวกันนี้ อัลมะฮฺดีย์ อิบนุ ตูมัรฺต์ได้จัดเตรียมทัพใหญ่มุ่งหน้าสู่นครมัรรอกิช นครหลวงของอัลมุรอบิฏูน อิบนุ ตูมัรฺต์กล่าวแก่ทหารของตนว่า “พวกท่านจงมุ่งหน้าสู่พวกที่ออกนอกแนวทางซึ่งถูกเรียกขานว่า อัลมุรอบิฏูน และจงเรียกร้องพวกเขาสู่การทำลายอบายมุขและการฟื้นฟูความดี ขจัดอุตริกรรม และยืนยันต่ออิหม่ามมะฮฺดีย์ผู้บริสุทธิ์ หากพวกนั้นตอบรับพวกท่าน พวกนั้นก็เป็นพี่น้องของพวกท่าน ย่อมมีสิทธิและหน้าที่เหมือนพวกท่าน และถ้าหากพวกนั้นไม่ทำตาม ก็จงสู้รบกับพวกนั้น แท้จริงซุนนะฮฺได้อนุมัติให้พวกท่านทำการสู้รบกับพวกนั้นแล้ว” หลังจากนั้นก็มีคำสั่งให้อัลดุลมุอฺมินเป็นแม่ทัพ โดยกล่าวว่า “พวกท่านทั้งหลายคือบรรดาผู้ศรัทธา (มุอฺมินูน) และนี่คือผู้นำของพวกท่าน” นับแต่วันนั้นอับดุลมุอฺมินจึงถูกเรียกขานว่า ผู้นำของเหล่าผู้ศรัทธา (อะมีรุ้ลมุอฺมีนีน)

 

กองทัพอัลมุวะฮฺฮิดูน ได้เคลื่อนกำลังพลสู่นครมัรรอกิชฺด้วยกำลังพล 40,000 คนถึงสถานที่แห่งหนึ่งที่เรียกว่า อัลบุฮัยเราะฮฺ อันเป็นเขตชานเมืองของมัรรอกิช ฝ่ายอัลมุรอบิฏูนมีแม่ทัพอัซซุบัยร์ อิบนุ อะลี อิบนิ ยูซุฟ นำทัพออกมาจากประตูเมืองที่ชื่ออีลาน กองทัพทั้งสองฝ่ายลงตั้งค่ายทหารอยู่ใกล้ๆ กัน อับดุลมุอฺมินก็เรียกร้องเชิญชวนสู่แนวทางของอิบนุ ตูมัรฺต์ แต่ฝ่ายอัลมุรอบิฏูนก็เตือนอับดุลมุอฺมินให้ระวังถึงผลร้ายของการเบี่ยงเบนจากหลักคำสอนของศาสนาที่ถูกต้องและยุติจากการสร้างความวุ่นวาย กองทัพทั้ง 2 ฝ่ายก็รบพุ่งระหว่างกันและจบลงด้วยความปราชัยของอัลมุวะฮฺฮิดูน ส่วนหนึ่งของชนชั้นจากกลุ่มชนทั้งสิบได้ถูกสังหารในสมรภูมิครั้งนี้ ส่วนอับดุลมุอฺมินสามารถหลบหนีเอาชีวิตรอดแต่บาดเจ็บสาหัสที่โคนขาด้านขวา ครั้นเมื่อข่าวความปราชัยของอัลมุวะฮฺฮิดูนรู้ถึงอิบนุ ตูมัรฺต์ เขาก็กล่าวว่า : อับดุลมุอฺมินรอดชีวิตและปลอดภัยมิใช่หรือ? พวกนั้นก็ตอบว่า ใช่! อิบนุ ตูมัรฺต์จึงกล่าวว่า เช่นนั้นก็ไม่มีผู้ใดสูญเสียเลย! หลังสมรภูมิอัลบุฮัยเราะฮฺได้สี่เดือน อิบนุตูมัรฺต์ก็ล้มป่วย และเสียชีวิตลง ศพของเขาถูกฝังอย่างลับๆ ที่ตำบลตีนัมลัลฺ ในวันที่ 29 ร่อมาฎอน ปีฮ.ศ.524

 

อับดุลมุอฺมิน อิบนุ อะลี ผู้สืบทอด (ค่อลีฟะฮฺ) ของอิบนุ ตูมัรฺต์ได้ทำหน้าที่ผู้นำกองทัพอัลมุวะฮฺฮิดูนในเวลาต่อมา ปีฮ.ศ.533 และ 535 อัลดุลมุอฺมินทำศึกชนะกองทัพของอัลมุรอบิฏูนถึง 2 ครั้ง หลังจากนั้นเขาสามารถปราบปรามฆุมาเราะฮฺ ทางตอนเหนือของมอรอคโค ในปีฮ.ศ.537 อะมีร อะลี อิบนุ ยูซุฟก็เสียชีวิต ตาชฟีนฺบุตรชายของเขาก็ขึ้นเป็นผู้ปกครองอาณาจักรอัลมุรอบิฏูนซึ่งกำลังอยู่ในช่วงอาทิตย์อัสดง เผ่าลัมตูนะฮฺกับมะซูฟะฮฺ ซึ่งเป็นพวกอัลมุรอบิฏูนก็เกิดขัดแย้งระหว่างกัน เผ่ามะซูฟะฮฺก็เข้าร่วมกับพวกอัลมุวะฮฺฮิดูน

 

หลังจากนั้นอับดุลมุอฺมินก็สามารถปราบปรามเผ่าซานาตะฮฺและมัดยูนะฮฺ และยึดติลมิซานได้ในปีฮ.ศ.539 ฝ่ายตาชฟีนฺก็นำกองทัพอัลมุรอบิฏูนล่าถอยไปยังเมืองวะฮฺรอน พวกอัลมุวะฮฺฮิดูนก็นำทัพเข้าปิดล้อมป้อมปราการของเมืองเอาไว้และจุดไฟเผาประตูของป้อมปราการ ตาชฟีนฺได้พยายามควบม้าศึกของตนออกจากป้อมและพลาดตกลงไปในหุบเขา ตาชฟีนฺเสียชีวิตในวันที่ 27 ร่อมาฎอน ปีฮ.ศ.539 อับดุลมุอฺมินก็ตัดศีรษะของเขาส่งไปยังเมืองตีนัมลัลฺ หลังจากนั้นกองทัพอัลมุวะฮฺฮิดูนก็เข้าปิดล้อมเมืองฟาสและใช้เวลาปิดล้อมถึง 9 เดือน ก็สามารถเข้าสู่เมืองฟาสได้สำเร็จในวันที่ 14 ซุลเกาะอฺดะฮฺ ปีฮ.ศ.540 ต่อมาอับดุลมุอฺมินก็นำทัพอัลมุวะฮฺฮิดูนมุ่งหน้าเข้าปิดล้อมนครมัรรอกิชอีกครั้ง และสามารถพิชิตนครหลวงของพวกอัลมุรอบิฏูนได้สำเร็จในปีฮ.ศ.541/คศ.1147

 

หลังการพิชิตครั้งนี้ อับดุลมุอฺมินก็กลายเป็นผู้ทรงอำนาจเหนือดินแดนมอรอคโคทั้งหมด ในขณะที่ยังคงมีดินแดนบางส่วนในแอฟริกาเหนือ ซูดานและอัลอันดะลุสอยู่ภายใต้อำนาจของพวกอัลมุรอบิฏูน แต่ก็ขาดผู้นำจากตระกูลตาชฟีนฺ และสูญเสียเมืองหลวงของพวกตนให้แก่พวกอัลมุวะฮฺฮิดูนไปเสียแล้ว

 

ส่วนเหตุการณ์ในอัลอันดะลุสนั้น ปีฮ.ศ.542 กองทัพคริสเตียนได้เคลื่อนกำลังพลจากตอนเหนือของอัลอันดะลุส โดยอัลฟองซัวที่ 7 (สุลต่านน้อย) เป็นแม่ทัพบก และมีกองเรือรบของอิตาลีจากเมืองเวนิสและเจนัวเป็นทัพเรือ ยกเข้าปิดล้อมเมืองอัลมะรียะฮฺ (Almeria) ทางตอนใต้ของอัลอันดะลุส การปิดล้อมเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 เดือนและสามารถเข้าจู่โจมสู่ตัวเมืองและจับพลเมืองเป็นเชลยหลายหมื่นคนและมีผู้พลีชีพในการต่อสู้ป้องกันเมืองเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งคือ อัลกอฎีย์ อบู มุฮำหมัด อับดุลลอฮฺ อัรร่อชาฏีย์ นักวิชาการอัลหะดีษและประวัติศาสตร์ในส่วนของเชลยนั้นเป็นสตรีโสดจำนวนถึง 14,000 คน!

 

ในปีฮ.ศ.542/คศ.1148 อัลฟองซัว อันรีกีซฺ (Alfonso Enriquez) กษัตริย์คริสเตียนแห่งโปรตุเกส ได้ขอความช่วยเหลือไปยังกองทัพเรือของอังกฤษและเยอรมันซึ่งกำลังทำสงครามครูเสดกับปาเลสไตน์ให้ส่งกองเรือและกำลังทหารครูเสดมาสนับสนุนตนในการรุกรานอัลอันดะลุส กองทัพเรือครูเสดได้ปิดล้อมเมืองลิชบูนะฮฺ (Lisbon) 1 ปีหลังการล่มสลายของอาณาจักรอัลมุรอบิฏูนและสามารถยึดครองเมืองนี้ได้สำเร็จ อัลอันดะลุสก็ย้อนกลับสู่ยุคของความแตกแยกอีกครั้ง เมืองแล้วเมืองเล่าต้องตกอยู่ในกำมือของพวกคริสเตียน

 

บรรดาตัวแทนของพลเมืองอัลอันดะลุสและเหล่านักปราชญ์ในเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) นำโดยอัลกอฎีย์ อบูบักร อิบนุ อัลอะรอบีย์จึงเดินทางไปยังมอรอคโคเพื่อขอความช่วยเหลือจากอับดุลมุอฺมิน ผู้ปกครองอาณาจักรอัลมุวะฮฺฮิดูน ซึ่งก็ตอบรับและส่งกองทัพที่มีกำลังทหารไม่มากนักมายังอัลอันดะลุส โดยมีภารกิจในการแผ่อิทธิพลของอัลมุวะฮฺฮิดูนเหนือดินแดนที่ยังคงตกอยู่ในกำมือของพวกอัลมุรอบิฏูนในอัลอันดะ  ลุสในระหว่างนั้น พวกคริสเตียนกิชตาละฮฺ (Castile) ก็สามารถยึดครองเมืองฏูรฏูชะฮฺ (Tortosa) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอัลอันดะลุสในปีฮ.ศ.543 และเมืองลาริดะฮฺ (Lerida) ในปีฮ.ศ.544 ด้วยเหตุนี้พวกคริสเตียนก็สามารถตีคืนดินแดนทางตอนเหนือ ตะวันตกและส่วนหนึ่งจากตะวันออกและตอนกลางของอัลอันดะลุส ชาวมุสลิมจึงเหลือเขตแดนในปกครองเฉพาะทางตอนใต้และตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น

 

เมื่อพวกอัลมุวะฮฺฮิดูน สามารถยึดครองเขตแดนที่เหลือสำหรับชาวมุสลิมในอัลอันดะลุสแล้ว พวกเขาก็สามารถหยุดยั้งการรุกคืบหน้าของบรรดากษัตริย์คริสเตียน อัลฟองซัวที่ 7 ได้สิ้นพระชนม์ในปีฮ.ศ.552 และโอรสทั้งสองของพระองค์ก็แบ่งอาณาจักรออกเป็น 2 ส่วนคือ

1) อาณาจักรลิออง (Leon) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอัลอันดะลุส มีเฟอร์นานโด (Fernando I) เป็นกษัตริย์

2) อาณาจักรกิชตาละฮฺ (Castile) ทางตอนเหนือและตอนกลางมีชานญะฮฺ (Sancho) โอรสของอัลฟองซัวที่ 7 แต่สิ้นพระชนม์หลังจากครองราชย์ได้ 1 ปี อัลฟองซัวที่ 8 จึงครองราชย์ต่อมา


สมรภูมิอัลมะรียะฮฺ (Battalla del Almeria)

 ป้อมปราการแห่งหนึ่งในเมือง  อัล-มะรียะฮิ อัล-อันดะลุส (สเปน)เมื่อพวกอัลมุวะฮฺฮิดูน (Almohades) สร้างความมั่นคงให้แก่อาณาจักรของพวกตนในอัลอันดะลุสแล้ว ก็มีความต้องการในการตีเมืองอัลมะรียะฮฺ (Almeria) กลับคืนจากพวกคริสเตียน ในปีฮ.ศ.552/1157 พวกอัลมุวะฮฺฮิดูนก็ส่งกำลังทหารลาดตระเวนเข้าโจมตีกำแพงเมืองอัลมะรียะฮฺ และหาข่าวเพื่อวางแผนทำศึกครั้งใหญ่ เจ้าเมืองฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) จึงนำทัพอัลมุวะฮฺฮิดูนพร้อมกับกองทหรอัลอันดะลุสมุ่งหน้าสู่เมืองอัลมะรียะฮฺ ในขณะเดียวกันก็ส่งกองทัพเรือเข้าปิดล้อมทางทะเล การปิดล้อมทั้งทางบกและทางทะเลเป็นไปอย่างหนักหน่วง

 

กองทัพคริสเตียนภายใต้การนำของอัลฟองซัว อันรีกีซฺซึ่งมีจำนวน 12,000 คนก็ไม่สามารถตีฝ่าวงล้อมของอัลมุวะฮฺฮิดูนได้ อิบนุ มัรดะนิชพร้อมพันธมิตรของอัลฟองซัวจึงได้นำทหาร 6,000 คนเข้าช่วยเหลือพวกคริสเตียนจนสามารถฝ่าการปิดล้อมของอัลมุวะฮฺฮิดูนออกมาได้สำเร็จ ส่วนพวก คริสเตียนที่เป็นพลเมือง อัลมะรียะฮฺยังคงต่อสู้ป้องกันเมืองต่อไปเป็นเวลา 7 เดือนในที่สุดก็ยอมแพ้ต่อกองทัพอัลมุวะฮฺฮิดูนในตอนปลายปีฮ.ศ.552

 

ในปีเดียวกันนี้ อัลดุลมุอฺมินได้มีคำสั่งให้สร้างเมืองอัลญะซีเราะฮฺในญะบัลตอริก (Gibraltar) การสร้างเมืองใหม่แห่งนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่องหลายเดือนและเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว มีการสร้างบ้านเรือน มัสญิดญามิอฺ ปราสาทและบ้านพักสำหรับลูกหลานและวงศ์ญาติของอับดุลมุอฺมิน ตลอดจนสวนพันธุ์ไม้หลายแห่ง ตลอดจนบูรณะซ่อมแซมป้อมปราการและกำแพงเมืองอับดุลมุอฺมินเรียกเมืองใหม่นี้ว่า ญะบัลอัลฟัตฮฺ (ภูผาแห่งการพิชิต) เมื่อการสร้างเมืองใหม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ อับดุลมุอฺมินก็เดินทางจากนครมัรรอกิชสู่เมืองซิบตะฮฺ (คิวต้า) พร้อมกับกำลังพลขนาดใหญ่ หลังจากนั้นก็ข้ามฝั่งสู่อัลอันดะลุสในเดือนซุลเกาะอฺดะฮฺปีฮ.ศ.555 มีบุคคลสำคัญและพลเมืองอัลอันดะลุสเป็นจำนวนมากได้ออกมาต้อนรับกองทัพของอับดุลมุอฺมินในเมืองใหม่แห่งนี้

 

อับดุลมุอฺมิน พำนักอยู่ในเมืองญะบัลอัลฟัตฮฺเป็นเวลา 2 เดือนและมีคำสั่งให้สร้างป้อมปราการในเมืองฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) และตั้งเมืองนี้เป็นฐานที่มั่นทางการทหารของอัลมุวะฮฺฮิดูนทางตอนใต้ของอัลอันดะลุสนอกจากนี้ยังมีคำสั่งให้ย้ายเมืองหลวงจากอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) ไปยังนครโคโดบาฮฺ (Cordoba) นครหลวงเก่าที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีตในภายหลัง อับดุลมุอฺมินก็เดินทางกลับสู่นครมัรรอกิช ราชธานีของตน

 

ในปีฮ.ศ.555/คศ.1160 เมืองอบูดานิส ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของมุสลิมทางตะวันตกก็ตกอยู่ในกำมือของอัลฟองซัว อินรีกีซฺกษัตริย์คริสเตียนแห่งโปรตุเกส

 

อับดุลมุอฺมินได้ใช้เวลาอยู่ในนครมัรรอกิชได้ไม่กี่ปีก็มีความตั้งใจที่ข้ามฝั่งมายังอัลอันดะลุสเพื่อดูแลการบริหารการปกครองด้วยตนเอง เขานำทัพขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยพวกอัลมุวะฮฺฮิดูน เบอร์เบอร์และชาวอาหรับเร่ร่อนออกจากนครมัรรอกิช จนกระทั่งถึงเมืองซะลาซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ปลายสุดของแอฟริกา แต่แล้วอับดุลมุอฺมินก็ล้มป่วยเป็นเวลาหลายวันและเสียชีวิตในปีฮ.ศ.558 หลังจากครองอำนาจเป็นเวลา 33 ปีเศษ ยูซุฟ บุตรชายของอับดุลมุอฺมินซึ่งเดินทางมาจากนครโคโดบาฮฺก็สืบทอดอำนาจต่อมา ศพของอับดุลมุอฺมินได้ถูกนำไปฝังยังเมืองตีนัมลัลฺและถูกฝังอยู่เคียงข้างหลุมศพของอัลมะฮฺดีย์ อิบนุ ตูมัรฺต์ตามคำสั่งเสียของเขา

 

อับดุลมุอฺมินเป็นบุคคลที่มีความเด็ดเดี่ยว เป็นนักการปกครองที่ดีเขามักจะแก้ไขปัญหาทั้งหลายอย่างชาญฉลาด สร้างความเป็นเอกภาพในระหว่างหมู่ชนในเผ่าต่างๆ ที่รบพุ่งกันเอง และเป็นผู้วางรากฐานให้แก่อาณาจักรอัลมุวะฮฺฮิดูน นักประวัติศาสตร์ได้แสดงความชื่นชมต่ออับดุลมุอฺมิน เช่น ท่าน อัลฮาฟิซฺ อัซซะฮฺบีย์ได้ระบุว่า “เขาเป็นผู้มีความยุติธรรม เป็นนักการเมืองที่น่าเกรงขาม มีความมุ่งมั่นอันสูงส่ง มีคุณูปการมากมาย เคร่งครัดในศาสนา หาคนที่เสมอเหมือนได้น้อย เขามักจะถือศีลอดในวันจันทร์และวันพฤหัสฯเอาใจใส่ในการญิฮาดและการดูแลกิจการต่างๆ ประหนึ่งดังว่าเขาถูกบังเกิดมาเพื่อเป็นกษัตริย์”

 

อัลอันดะลุสในรัชสมัยยูซุฟ อิบนุ อับดิลมุอฺมิน

อบูยะอฺกู๊บ ยูซุฟ อิบนุ อับดิลมุอฺมิน ได้รับสัตยาบันขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ปกครองอาณาจักรอัลมุวะฮฺฮิดูนในปีฮ.ศ.560/คศ.1165 ขณะมีอายุได้ 25 ปี และอบูฮัฟซ์ พี่ชายของเขาเป็นสมุหราชองครักษ์ ภารกิจแรกที่ยูซุฟ ได้เร่งรีบกระทำก็คือ การทำสงครามกับอิบนุ มัรดะ  นีชซึ่งส่งกำลังทหารของตนลอบโจมตี บัฏลิยูส (Badajos) และนครโคโดบาฮฺ ยูซุฟได้ส่งกองทัพภายใต้การบัญชาการของอบูฮัฟซ์จากนครมัรรอกิชและข้ามฝั่งจนถึงเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) ในเดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ ปีฮ.ศ.560 หลังจากนั้นการเคลื่อนทัพสู่ดินแดนตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงเส้นพรมแดน รัฐอิสระของอิบนุ มัรดะนีชและยึดที่มั่นบริเวณนั้นได้หลายแห่ง ต่อมาก็เดินทัพจนถึงชานเมือง ลูรฺเกาะฮฺ (Lorca) ซึ่งตั้งอยู่ในเส้นทางสู่เมืองมัรซียะฮฺ (Murcia)

 

อิบนุ มัรดะนีชได้ระดมกำลังทหารของตนซึ่งมีทหารรับจ้างคริสเตียนเป็นจำนวนมากเพื่อต่อสู้กับกองทัพอัลมุวะฮฺฮิดูน ซึ่งเปลี่ยนเส้นทางการเดินทัพที่มุ่งหน้าสู่ลูรฺเกาะฮฺมาเป็นเมือง”ฟะฮฺซุ้ลญุลล๊าบ” ทางใต้ของเมืองมัรซียะฮฺ (Murcia) ราว 12 ก.ม. กองทัพทั้ง 2 ฝ่ายได้เผชิญหน้ากันที่นั่น ฝ่ายอัลมุวะฮฺฮิดูนได้ทำการสู้รบอย่างกล้าหาญและอดทนจนกระทั่งตกเป็นฝ่ายได้เปรียบและสามารถสร้างความปราชัยแก่กองทหารของอิบนุมัรดะนีช ที่แตกพ่ายและถอยร่นเข้าตั้งมั่นในเมืองมัรซียะฮฺ

 

หลังชัยชนะในสมรภูมิฟะฮฺซุลญุลล๊าบ พวกอัลมุวะฮฺฮิดูนก็ได้มุ่งให้ความสำคัญต่อการปกครองอัลอันดะลุสและส่งทหารไปประจำการในสถานที่ซึ่งสามารถยื้อแย่งมาได้จากอิบนุ มัรดะนีช

 

ฝ่ายอิบนุ มัรดะนีชหลังจากปราชัยให้แก่กองทัพอัลมุวะฮฺฮิดูนก็ได้พยายามสร้างสัมพันธไมตรีอันแนบแน่นกับกษัตริย์อัลฟองซัวที่ 8 แห่งกิชตาละฮฺ (Castile) ด้วยเหตุนี้ในเมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia) จึงเต็มไปด้วยทหารคริสเตียนที่สร้างความไม่พอใจต่อชาวมุสลิมเป็นจำนวนมาก มิหนำซ้ำ บรรดาแม่ทัพของอิบนุ มัรดะนีชก็หันไปเข้าร่วมสมทบกับอัลมุวะฮฺฮิดูน ส่วนหนึ่งคือ”อิบนุ ฮัมชุก” พ่อตาของอิบนุมัรดะนีช และยูซุฟ อิบนุ ฮิลาล น้องเขย อิบนุ มัรดะนีชแก้แค้นน้องเขยของตนด้วยการควักลูกตาทั้งสองข้าง และสังหารลูกสาวและน้องสาวของตนเพื่อแก้แค้นมุฮำหมัด อิบนุ มัรดะนีชเจ้าเมืองอัลบะซีฏ (Albacete) อิบนุ มัรดะนีชเสียชีวิตในเดือนร่อญับ ฮ.ศ.567 และฮิลาล บุตรชายของเขาก็ประกาศสวามิภักดิ์ต่ออะมีร อบู ยะอฺกู๊บผู้ปกครองอัลมุวะฮฺฮิดูน รัฐอิสระของอิบนุ มัรดะนีชซึ่งสร้างความลำบากใจแก่ชาวมุสลิมในอัลอันดะลุสตลอดระยะเวลา 20 ปีเศษก็สิ้นสุดลง

 

อะมีร อบู ยะอฺกู๊บได้พำนักอยู่ในอัลอันดะลุสเป็นเวลา 5 ปีในช่วงเวลาดังกล่าวเขาได้ทำศึกหลายครั้ง มีการสร้างสะพานขนาดใหญ่ข้ามแม่น้ำอัลวาดีย์ อัลกะบีร (Guadelquivir) เพื่อเชื่อมเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) กับเมืองฏุรบานะฮฺ และยังมีบัญชาให้สร้างมัสญิดญามิอฺขนาดใหญ่ในเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) ใช้เวลาสร้างประมาณ 5 ปี หลังจากนั้นก็กลับสู่มอรอคโคในปีฮ.ศ.571

 

ภาพภายในโบสถ์ของชาวยิว สร้างตามศิลปะและสถาปัตยกรรมของชาวมุสลิม อัล-อันดะลุส (สเปน)ในปีฮ.ศ.580/คศ.1184 เฟอร์นานโด กษัตริย์คริสเตียนลิออง (Leon) ฉีกสนธิสัญญาพักรบด้วยการรุกรานชาวมุสลิมในอัลอันดะลุสทำให้พวกอัลมุวะฮฺฮิดูนต้องรับศึก 3 ด้านคือด้านพรมแดนลิออง, โปรตุเกสและกิชตาละฮฺ (Castile) อบูยะอฺกู๊บจึงนำกำลังทหารมุ่งหน้าสู่เมืองซันตะรีน (Santever) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของอัลอันดะลุสห่างจากเมืองลิชบูนะฮฺ (Lisbon) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ 50 ก.ม. เมืองซันตะรีนตกอยู่ในกำมือของโปรตุเกสในปีฮ.ศ.542 กองทัพอัลมุวะฮฺฮิดูนได้เข้าปิดล้อมเมืองซันตะรีนและมีการรบพุ่งกันอย่างดุเดือด พวกโปรตุเกสตั้งรับอย่างเข้มแข็ง ทำให้พวกอัลมุวะฮฺฮิดูนไม่สามารถเข้าตีเมืองนี้ได้ อะมีร อบูยะอฺกู๊บ จึงมีคำสั่งให้กำลังทหารของตนล่าถอยแต่ถูกพวกคริสเตียนโจมตี ทำให้อะมีร ยะอฺกู๊บได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเดือนร่อบีอุลอาคิร ปีฮ.ศ.580 หลังจากบรรดาคณะแพทย์หมดหนทางในการรักษาบาดแผลของเขา นักประวัติศาสตร์ระบุว่า อะมีร อบูยะอฺกู๊บ เป็นผู้ปกครองที่ดี รักความยุติธรรมและเป็นผู้สร้างความเจริญให้กับอัลอันดะลุสและที่สำคัญรักในการญิฮาดและพลีชีพในวิถีทางแห่งการญิฮาดนั้น

 

ในช่วงเวลานั้นได้มีนักปรัชญาชาวอาหรับเชื้อสายยิวที่ชื่อว่า อบูอิมรอน มูซา อิบนุ มัยมูน (Maimonides, Moses) ปรากฏเป็นที่เลื่องลือในแวดวงนักวิชาการของอัลอันดะลุส อิบนุ มัยมูนได้รับอิทธิพลทางความคิดในเชิงปรัชญาจาก อิบนุ อัลฟารอบีย์ นักปรัชญาคนสำคัญของโลกอิสลาม อิบนุ มัยมูนยังมีความเชี่ยวชาญในด้านการแพทย์จนเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในโลกอิสลามและตะวันตก อิบนุ มัยนูน ถือกำเนิดในปีฮ.ศ.529 ที่นครโคโดบาฮฺตรงกับปีคศ.1135 เขาใช้ชีวิตในชุมชนของชาวยิวซึ่งได้รับสิทธิและเสรีภาพเฉกเช่นพลเมืองมุสลิมทั่วไป ในภายหลังอิบนุ มัยมูนได้เดินทางไปยังนครฟาส และอียิปต์ตามลำดับ ที่อียิปต์อิบนุ มัยมูนเป็นแพทย์ประจำตัวของจอมทัพซอลาฮุดดีน อัลอัยยูบีย์ (Saladin) และเสียชีวิตที่กรุงไคโรในปีฮ.ศ.600/คศ.1204

 

อิบนุ มัยมูนเป็นนักปรัชญาที่เลื่องลือที่สุดในยุคนั้นซึ่งถือเป็นยุคทองของชาวยิวซึ่งได้รับความเป็นธรรมจากชาวมุสลิม มีคำถามว่าแล้วชาวยิวได้ปฏิบัติอย่างไรกับบรรดาพี่น้องมุสลิมปาเลสไตน์ในทุกวันนี้?

 

ในปีคศ.2004 พิพิธภัณฑ์ชาวยิวในนครแฟรงก์เฟิร์ตได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของอิบนุ มัยมูนเนื่องในโอกาสครบครอบ 800 ปีแห่งการเสียชีวิตของอิบนุ มัยมูนในนิทรรศการนั้นได้แสดงถึงความเป็นยิวของอิบนุ มัยมูนอย่างชัดเจนและหลงลืมคุณงามความดีของอารยธรรมอิสลามที่อิบนุ มัยมูนได้รับอิทธิพลมาอย่างสิ้นเชิง! ซึ่งสิ่งดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดสำหรับท่าทีของชาวยิวและชาวตะวันตกที่มักมองข้ามคุณูปการของชาวมุสลิมในด้านการสร้างความเจริญและอารยธรรมอันสูงส่งในยุคกลางและเป็นผู้ถ่ายทอดวิทยาการแขนงต่างๆ สู่ยุโรปในเวลาต่อมา นักปราชญ์ชาวยิวได้รับการยกย่องและยอมรับในผลงานของเขาในขณะที่นักปราชญ์ชาวมุสลิมกลับถูกหลงลืมและถูกปกปิดคุณงามความดีของพวกเขาเอาไว้ด้วยความอคติ! และความชิงชัง!

 

รัชสมัยยะอฺกู๊บ อัลมันซูร อิบนุ ยูซุฟ

หลังการเสียชีวิตของอบูยะอฺกู๊บ ยูซุฟ อิบนุ อับดิลมุอฺมิน บุตรชายคนโตของเขาคือ อบูยูซุฟ ยะอฺกู๊บ ซึ่งมีฉายานามว่า อัลมันซูร ก็ได้รับสัตยาบันขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ปกครองอาณาจักรอัลมุวะฮฺฮิดูน ทั้งในนครอิชบีลียะฮฺและในมอรอคโค ขณะมีอายุได้ 25 ปี อบูยูซุฟ ยะอฺกู๊บได้เริ่มต้นชีวิตของตนภายหลังดำรงตำแหน่งด้วยการแจกจ่ายทรัพย์สินแก่บรรดาผู้ยากไร้ แผ่ความยุติธรรม ช่วยเหลือผู้ถูกอธรรม และออกว่าราชการรับเรื่องร้องทุกข์ด้วยตนเอง และสร้างที่พำนักให้กับญาติวงศ์ของตนใกล้ๆ กับนครมัรรอกิช ซึ่งเรียกว่า อัซซอลิฮะฮฺ

 

ในช่วงเวลานี้ อัลฟองซัว อินรีกีซฺ กษัตริย์โปรตุเกสได้สิ้นพระชนม์ ในปีฮ.ศ.581 ชานญะฮฺผู้เป็นโอรสก็ขึ้นครองราชย์แทน เฉลิมพระนามว่า (Sancho I) และช่วงเวลาเดียวกันนี้ ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในดินแดนตะวันออกของโลกอิสลาม กล่าวคือ จอมทัพของซ่อลาฮุดดีน อัลอัยยูบีย์ สามารถตีชิงนครอัลกุดส์ (เยรูซาเล็ม) จากพวกคริสเตียนครูเสดได้สำเร็จในปีฮ.ศ.583 หลังจากตกอยู่ในกำมือของพวกครูเสดราว 90 ปี และเราขอวิงวอนต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้พระองค์ได้ทรงประทานปาเลสไตน์ นครอัลกุดส์ และมัสญิดอัลอักศอกลับคืนสู่ชาวมุสลิมอีกครั้งด้วยน้ำมือของเหล่าผู้ญิฮาดและจอมทัพเฉกเช่น ซอลาฮุดดีนในยุคปัจจุบัน

 

ในปีฮ.ศ.585/คศ.1189 เกิดการรบพุ่งในมอรอคโคระหว่างพวกอัลมุวะฮฺฮิดูนกับพวกอัลมุรอบิฏูนที่เหลืออยู่ในหมู่เกาะตะวันออก (อัลบิลยารฺ) -Islas Baleares- และเขตชายฝั่งทางตอนเหนือ ตลอดจนมีกรณีพิพาทระหว่างวงศ์ญาติของยะอฺกู๊บ อัลมันซูรเอง เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ความสนใจต่ออัลอันดะลุสของอะมีร ยะอฺกู๊บ อัลมันซูร ต้องล่าช้าออกไปถึงปีฮ.ศ.585 หลังจากควบคุมสถานการณ์และแผ่อำนาจทั่วอาณาจักรอัลมุวะฮฺฮิดูนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบกับข่าวสถานการณ์คับขันในอัลอันดะลุสได้มาถึงอะมีร อัลมันซูร ทำให้เขาต้องเร่งรุดเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว การคุกคามของโปรตุเกสต่อเขตแดนตะวันตกเฉียงใต้ก็เพิ่มมากขึ้น โดยพวกโปรตุเกสได้รับกำลังสนับสนุนจากกองทัพเรือของพวกครูเสดจำนวน 40 ลำเข้าปิดล้อมเมืองชะลับ (Silves) เป็นเวลา 3 เดือนจนต้องเสียเมืองนี้แก่พวกคริสเตียนในที่สุด

 

พวกคริสเตียนกิชตาละฮฺ (Castile) ก็เคลื่อนกำลังพลประชิดเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) อะมีร ยะอฺกู๊บ อัลมันซูรจึงได้จัดเตรียมกำลังทหารพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ข้ามฝั่งมายังอัลอันดะลุสและถึงนครโคโดบาฮฺ ในปี ฮ.ศ.586 กองทัพอัลมุวะฮฺฮิดูนก็ร่วมสมทบกับเหล่านักรบชาวอัลอันดะลุสและมุ่งหน้าสู่เมืองชะลับ (Silves) ทำการปิดล้อมอย่างหนักหน่วง แต่อะมีร อัลมันซูรก็สั่งให้ยกเลิกการปิดล้อมและกลับสู่นครอิชบีลียะฮฺ เพื่อเตรียมทัพสำหรับการย้อนกลับมาตีอีกครั้ง ในระหว่างที่อยู่ในนครโคโดบาฮฺ มีคณะทูตจากกษัตริย์ กิชตาละฮฺ (Castile) เข้ามาทำสนธิสัญญาสงบศึกและร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายมุสลิมเป็นเวลา 5 ปีและติดตามด้วยการทำสนธิสัญญาสงบศึกกับอาณาจักรลิอองตามที่ลิอองร้องขอการทำสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นผลดีสำหรับฝ่ายมุสลิม

 

เมื่อการจัดเตรียมทัพเสร็จสิ้น อะมีร ยะอฺกู๊บ อัลมันซูรได้นำทัพเคลื่อนกำลังพลออกจากอิชบีลียะฮฺ ปีฮ.ศ.587 มุ่งหน้าสู่ตะวันตกเฉียงเหนือของอัลอันดะลุส และยกทัพเข้าปิดล้อมป้อมอบูดานิส (Alcacer del Sal) ทหารมุสลิมพยายามบุกเข้าตีกำแพงเมืองแต่พวกโปรตุเกสก็ทุ่มหินและยิงธนูเข้าใส่เป็นห่าฝน อัลมันซูรจึงมีคำสั่งให้หยุดพักรบเป็นเวลา 3 วัน กองทัพเรือที่สนับสนุนก็มาถึงจึงมีคำสั่งให้ทุ่มกำลังเข้ายึดเมืองอย่างหนักจนกระทั่งชาวเมืองต้องขอสงบศึก กองทัพของอัลมุวะฮฺฮิดูนจึงเข้าสู่เมืองได้สำเร็จ

 

หลังจากยึดป้อมอบูดานิส (Alcacer de Sel) ได้สำเร็จกองทัพอัลมุวะฮฺฮิดูนก็มุ่งหน้าสู่เมืองชะลับ (Silves) และทำการปิดล้อมเมืองเอาไว้โดยการระดมยิงลูกหินเข้าสู่ตัวเมืองทั้งกลางวันและกลางคืน ครั้นถึงเวลาดึกสงัด ทหารที่เฝ้ายามก็นอนหลับ ทหารมุสลิมบางคนจึงแอบลอบปีนกำแพงเมืองและปักธงบนเชิงเทินพร้อมกับกล่าวตักบีรพอรุ่งเช้าเมืองชะลับก็ยอมแพ้และกลับมาเป็นของชาวมุสลิมอีกครั้งหลังจากสูญเสียแก่พวกคริสเตียนได้ 2 ปี อัลมันซูรลงพักอยู่ในตัวเมืองอยู่หลายวัน หลังจากนั้นก็กลับสู่นครอิชบีลียะฮฺ ใช้เวลาในการจัดระเบียบการปกครองและการทหารที่นั่นเป็นเวลา 2 เดือน ต่อมาก็เดินทางกลับสู่นครหลวงมัรรอกิชในเดือนร่อมาฎอน ปีฮ.ศ.587

 

ในปีฮ.ศ.590/คศ.1194 บรรดาผู้ปกครองอัลอันดะลุสที่เป็นข้าหลวงก็เดินทางมาพบกับอัลมันซูร ในเมืองริบาฏ อัลฟัตฮฺและแจ้งให้ทราบว่าอัลฟองซัวที่ 8 กษัตริย์กิชตาละฮฺ (Castile) ได้ยกเลิกสนธิสัญญาสงบศึก และเริ่มส่งกองทัพเข้ามาโจมตีดินแดนของชาวมุสลิมจนกระทั่งถึงเขตชานเมืองอิชบีลียะฮฺ อัลมันซูรจึงตัดสินใจมุ่งหน้าสู่อัลอันดะลุสอีกครั้งในปีฮ.ศ.591 โดยนำทัพพร้อมกำลังอาสาสมัครซึ่งมีบรรดานักวิชาการศาสนาหลายคนเข้าร่วมข้ามฝั่งจากเมืองฏ่อรีฟ (Terifa) สู่นครอิชบีลียะฮฺ

 

เมื่อข่าวการยาตราทัพอัลมุวะฮฺฮิดูนรู้ถึงอัลฟองซัวที่ 8 กษัตริย์กิชตาละฮฺ (Castile) เขาก็เริ่มระดมพลกำลังทหารของตนและขอกำลังสนับสนุนไปยังลิอองและโปรตุเกส ตลอดจนมีสาส์นถึงพระสันตะปาปาซึ่งพระองค์ได้ประกาศการอภัยโทษและการเข้าสู่สวนสวรรค์แก่ชาวคริสเตียนที่ร่วมอาสาออกศึกกับอัลฟองซัวที่ 8 จึงมีทหารยุโรปคริสเตียนเข้าร่วมในกองทัพเป็นอันมาก อัลฟองซัวมั่นใจว่าตนจะชนะศึก จึงเร่งนำทัพสู่ป้อมปราการที่ตั้งอยู่ในเมืองอัลอะร๊อก (Alarcos) และรอคอยกองทัพอัลมุวะฮฺฮิดูนที่นั่น

 

เมื่อฝ่ายอัลมุวะฮฺฮิดูนเดินทัพถึงเมืองอัลอะร๊อก (Alarcos) ก็เกิดการรบพุ่งกันในส่วนของกองทหารลาดตระเวนของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งกองทหารมุสลิมได้รับชัยชนะ หลังจากนั้น อัลมันซูรก็เรียกบรรดาแม่ทัพและบรรดาผู้นำเผ่าต่างๆ เพื่อร่วมวางแผนในการทำศึก อบู อับดิลลาฮฺ แม่ทัพคนหนึ่งได้เสนอให้เปิดฉากการรบพุ่งด้วยกองทัพของอัลอันดะลุสและ กองทหารอาสาและให้อัลมันซูร เป็นทัพหลังและให้ซุ่มกำลังอยู่ในชัยภูมิที่ดี กองทัพของอัลมันซูรมีกำลังพลทั้งทหารม้าและทหารราบจำนวน 200,000 นาย ส่วนกองทัพของอัลฟองซัว มีทหารราบ 200,000 นาย และทหารม้า 25,000 นาย นักประวัติศาสตร์ระบุว่า พ่อค้าชาวยิวที่ร่วมมากับกองทัพของอัลฟองซัวที่ 8 มั่นใจว่าฝ่ายคริสเตียนจะได้รับชัยชนะ จึงนำทรัพย์สินจำนวนมากติดตัวมาด้วยเพื่อเตรียมซื้อเชลยศึกมุสลิมเลยทีเดียว

 

ก่อนสมรภูมิจะเริ่มขึ้น มีการขอดุอาอฺวิงวอนต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้ทรงอภัยโทษแก่ค่อลีฟะฮฺอัลมุวะฮฺฮิดูน และมีการแสดงสุนทรพจน์ (คุฏบะฮฺ) โดยอัลกอฎีย์ อิบนุ อัลฮัจญาจฺเพื่อปลุกใจเหล่าทหารฝ่ายมุสลิม อัลมันซูรได้มอบหมายให้ยะฮฺยา อิบนุ อบีมุฮำหมัด อิบนิ อบีฮัฟซ์ เป็นแม่ทัพใหญ่กองทัพฝ่ายมุสลิมได้รุกคืบหน้าไปอย่างช้าๆ พวกกองทัพคริสเตียนก็ตั้งรับและโห่ร้องเพื่อทำลายขวัญกำลังใจของฝ่ายมุสลิม กองทัพทั้ง 2 ฝ่ายก็เข้ารบรันพันตูกันเป็นพัลวัน การกดดันอย่างหนักของฝ่ายคริสเตียนก็เริ่มขึ้น และโจมตีกระบวนทัพของมุสลิมอย่างหนักหน่วง ฝ่ายคริสเตียนบุกทะลวงเข้าสู่ใจกลางของกองทัพโดยเข้าใจว่าอัลมันซูรอยู่ที่นั่น ทหารมุสลิมล้มตายเป็นอันมากรวมถึงแม่ทัพใหญ่ก็พลีชีพในสมรภูมิ แต่อัลมันซูรก็ยังคงปลุกขวัญกำลังใจเหล่าทหารในกองทัพของตนให้ต่อสู้อย่างเข้มแข็ง

 

ทัพทั้ง 2 ผลัดกันรุกผลัดกับรับอยู่หลายระลอกจนกระทั่งความปราชัยเริ่มปรากฏขึ้นในฝ่ายกองทัพคริสเตียนและเริ่มล่าถอยสู่เนินอันเป็นที่ตั้งของป้อมปราการ อัลอะร๊อก (Alarcos) อัลฟองซัวที่ 8 นำทหารม้าของตนราว 20 คน หลบหนีจากสมรภูมิสู่นครโทเลโด ทิ้งศพของทหารคริสเตียนเอาไว้เกลื่อนกลาดซึ่งมีผู้เสียชีวิตราว 30,000 คนเศษ หลังจากนั้นทหารมุสลิมก็เข้าปิดล้อมป้อมอะร๊อก และยึดครองได้สำเร็จ สมรภูมิ (อัลอะร๊อก) (Alarcos) นับเป็นวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของกองทัพอัลมุวะฮฺฮิดูนในการปกป้องอัลอันดะลุสจากการรุกรานของพวกคริสเตียน

 

การพัฒนาและการสร้างความเจริญให้แก่อัลอันดะลุส

อัลมันซูร ได้กลับสู่นครอิชบีลียะฮฺ หลังเสร็จศึกอัลอะร๊อก (Alarcos) และจัดระเบียบการบริหารการปกครอง ดูแลเรื่องราวการร้องทุกข์ของประชาชนและจัดแบ่งทรัพย์สงครามที่ทหารของตนยึดมาได้จากสงคราม บรรดาผู้คนก็เริ่มมีสถานการณ์ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อัลมันซูรได้ สร้างมัสญิดญามิอฺแห่งนครอิชบีลียะฮฺ จนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ส่วนหนึ่งจากผลงานอันเลื่องลือทางสถาปัตยกรรมของมัสญิดญามิอฺแห่งนี้คือ หออะซานของมัสญิดญามิอฺที่เรียกกันว่า อัลญีรอลด้า (Giralda) ที่ยังคงตั้งตระหง่านอยู่จวบจนทุกวันนี้ นอกจากนี้อัลมันซูรยังได้ส่งกองทหารไปยังเมืองหน้าด่านของศัตรู และปราบปรามป้อมริบาฮฺกองทัพส่วนหนึ่งได้รุกไปจนถึงเมืองโทเลโดแต่ก็ไม่สามารถพิชิตเมืองนี้ได้

 

ในปีฮ.ศ.594/คศ.1198 อาณาจักรกิชตาละฮฺ (Castile) และอัลมุวะฮฺฮิดูนได้ทำสนธิสัญญาสงบศึกระหว่างกันเป็นเวลา 10 ปี เมื่อสถานการณ์ในอัลอันดะลุสมีเสถียรภาพอย่างมั่นคงแล้ว อัลมันซูรก็กลับสู่นครหลวงมัรรอกิช ในปีฮ.ศ.595 ที่เมืองมัรรอกิช อัลมันซูรได้รับสัตยาบันให้กับบุตรชายของตนคือ มุฮำหมัด อันนาซิร อีกครั้ง หลังจากนั้นอัลมันซูรก็ล้มป่วย และเมื่อใกล้จะเสียชีวิต อัลมันซูรจึงเรียกบรรดาบุคคลสำคัญของอาณาจักรเข้าพบและย้ำถึงสัตยาบันที่พวกเขามอบแก่บุตรชายของตน ตลอดจนสั่งเสียด้วยน้ำตาที่นองหน้าว่า :

 

“ฉันสั่งเสียให้พวกท่านมีความยำเกรงต่อพระองค์อัลลอฮฺ และบรรดาลูกกำพร้าตลอดจนหญิงผู้อาภัพ” ผู้อาวุโสคนหนึ่งจึงถามว่า : ท่านประมุขแห่งปวงชนผู้ศรัทธา ผู้ใดเล่าคือบรรดาลูกกำพร้าและหญิงผู้อาภัพ? อัลมันซูร ตอบว่า : “สตรีผู้อาภัพก็คือ อัลอันดะลุส และบรรดาลูกกำพร้าก็คือบรรดามุสลิมที่เป็นพลเมืองของอัลอันดะลุส และพวกท่านจงระวังการหลงลืมในสิ่งที่จะก่อเกิดประโยชน์แก่อัลอันดะลุสจากการสร้างกำแพงเมืองให้แข็งแรง และพิทักษ์รักษาเส้นพรมแดน!”

 

อัลมันซูรได้สื้นชีวิตในค่ำคืนวันศุกร์ ปีฮ.ศ.595 และถูกฝัง ณ เมืองอัซซอลิฮะฮฺ ชานเมืองมัรรอกิช อัลมันซูรเป็นผู้ปกครองที่ยุติธรรมดูแลสอดส่องบรรดาข้าราชการและไต่สวนผู้ที่บกพร่องในหน้าที่ เอาใจใส่ในการสร้างบ้านแปงเมือง ป้อมปราการ และบรรดามัสญิดญามิอฺ อัลมันซูรเป็นผู้มีความสุขุมคัมภีรภาพ เคร่งครัดในหลักการ และเป็นนักบริหารตลอดจนเป็นนักญิฮาดในวิถีทางแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า

 

รัชสมัยมุฮำหมัด อันนาซิร อิบนุ ยะอฺกู๊บ

มุฮำหมัด อันนาซิรได้รับสัตยาบันขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ปกครองอาณาจักรอัลมุวะฮฺฮิดูน ในเช้าวันถัดมาจากการเสียชีวิตของผู้เป็นบิดา ขณะมีอายุยังไม่ถึง 20 ปี หลังจากนั้นก็รับสัตยาบันจากตัวแทนของมอรอคโคและอัลอันดะลุสเป็นการทั่วไป อันนาซิรพำนักอยู่ในนครหลวง มัรรอกิชและใช้เวลาไปกับการจัดการบริหารการปกครอง และปราบปรามเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในหมู่เกาะตะวันออกและตูนิเซียด้วยการส่งกองทัพอัลมะวะฮฺฮิดูนออกไปปราบปรามพวกกบฏที่ลุกฮือในเขตแดนดังกล่าว

 

ในปีฮ.ศ.606/คศ.1210 ข่าวการรุกรานอัลอันดะลุสของอัลฟองซัวที่ 8 มาถึงอันนาซิร โดยอัลฟองซัวที่ 8 ได้ส่งกำลังทหารคริสเตียนเข้ายึดครองป้อมปราการของชาวมุสลิมได้หลายแห่ง และโจมตีเขตชนบท เผาทำลายบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา และสังหารผู้คนตลอดจนเทครัวเชลยศึกชาวมุสลิมเป็นอันมากไปยังนครโทเลโด กองกำลังของอัลมุวะฮฺฮิดูนที่มีจำนวนไม่มากนักไม่สามารถหยุดยั้งการโจมตีของพวกคริสเตียนได้ บรรดาตัวแทนจากอัลอันดะลุสจึงเดินทางมายังมัรรอกิช เพื่อขอความช่วยเหลือจากอันนาซิรโดยเฉพาะเจ้าเมืองในเขตตะวันออกของอัลอันดะลุสซึ่งต้องเผชิญกับการรุกรานของกษัตริย์อรากอน (Aragon) ที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับอัลฟองซัวที่ 8

 

อันนาซิรตัดสินใจยกกองทัพข้ามฝั่งสู่อัลอันดะลุส โดยไม่ฟังคำทัดทานของเชคมุฮำหมัด อิบนุ อบีฮัฟซ์ เจ้าเมืองตูนิเซีย ซึ่งมีประสบการณ์มากกว่าอันนาซิรในการประเมินกำลังของศัตรูและการเลือกเวลาที่เหมาะสมในการทำศึก เชคมุฮำหมัดเตือนว่าการทำศึกกับพันธมิตรคริสเตียนในเวลานั้นไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง แต่อันนาซิรก็นำทัพข้ามฝั่งอัลอันดะลุสในปีฮ.ศ.607 และพำนักอยู่ในนครอิชบีลียะฮฺเนื่องจากเข้าสู่ฤดูหนาวในระหว่างนั้นก็ส่งทหารออกไปหาเสบียงและระดมกำลังพลจนกระทั่งมีจำนวนทหาร 200,000 คน

 

ส่วนอัลฟองซัวนั้นได้เตรียมการเพื่อรับมือกับอัลมุวะฮฺฮิดูนเอาไว้ก่อนหน้าที่อันนาซิรจะข้ามฝั่งมาเสียอีก พวกคริสเตียนในอัลอันดะลุสและยุโรปได้เข้าร่วมสมทบในกองทัพของอัลฟองซัวโดยได้รับการสนับสนุนจากพระสันตะปาปา อินโนเซนต์ที่ 3 ด้วยการประกาศสงครามครูเสดกับกองทัพของมุสลิม กองทัพครูเสดมีจำนวนตามการประเมินที่น้อยที่สุด 100,000 คน ทั้งหมดประกาศคำปลุกขวัญกำลังใจว่า พวกเราทั้งหมดคือนักรบครูเสด! ในปีฮ.ศ.609/คศ.1213 กองทัพคริสเตียนครูเสดได้เคลื่อนกำลังพลออกจากนครโทเลโด และเข้าปิดล้อมป้อมปราการร่อบาฮฺ

 

กองทหารรักษาการณ์ที่นั่นจำต้องยอมแพ้เพราะมีกำลังทหารเพียงน้อยนิดการพิชิตป้อมร่อบาฮฺได้สำเร็จ ทำให้พวกคริสเตียนกลับแตกสามัคคีในระหว่างกัน พวกครูเสดจากยุโรปต้องการสังหารชาวมุสลิมที่ยอมจำนนทั้งหมด ในขณะที่อัลฟองซัวที่ 8 ไม่ต้องการกระทำเช่นนั้นเพราะจะทำให้ยุทธศาสตร์ในการศึกเสียหาย หากบิดพลิ้วสัญญาที่ให้กับชาวเมืองด้วยการสังหารพวกเขาทั้งหมดก็จะทำให้ทหารรักษาการณ์ในป้อมปราการอื่นๆ ของฝ่ายมุสลิมทำการสู้รบโดยมิยอมจำนน พวกทหารครูเสดส่วนหนึ่งที่ไม่พอใจต่อท่าทีของอัลฟองซัว จึงถอนกำลังกลับสู่ยุโรป

 

กองทัพพันธมิตรคริสเตียนซึ่งประกอบด้วย กิชตาละฮฺ (Castile) อรากอน (Aragon) นาฟ๊าร (Navarre) และอัศวินคริสเตียนพร้อมด้วยอาสาสมัครจากยุโรป ก็มุ่งหน้าสู่ทิศใต้ และตั้งทัพคุมเชิงอยู่ใกล้ๆ กับเนินอัลอิกอบฺ (Las Navas de Tolosa)

 

ฝ่ายกองทัพของอันนาซิรได้นำกำลังเคลื่อนออกจากนครอิชบีลียะฮฺในวันที่ 20 มุฮัรรอม ปีฮ.ศ.609/คศ.1213 โดยมุ่งหน้าสู่เมืองญิยาน (Jean) ทางตอนเหนือและยึดครองเส้นทางเข้าสู่เทือกเขาอัชชารอต (Sierra Morena) เป็นที่มั่น อันนาซิรมั่นใจในจำนวนกำลังทหารของตนว่าจะได้รับชัยชนะในการศึกที่จะมาถึง

สมรภูมิ อัล-อิกอบฺ (ลาส นาวาส ดิ โทโลซา) วาดโดยศิลปินชาวตะวันตก

ก่อนการทำศึกจะเริ่มเปิดฉากได้มีการเจรจาเพื่อประนีประนอมระหว่างอันนาซิร กับอัลฟองซัวที่ 8 การเจรจาประนีประนอมเป็นไปอย่างเรียบร้อยแต่ทว่าพวกครูเสดที่ร่วมมาในกองทัพของอัลฟองซัวกลับบิดพลิ้ว ด้วยการนำทหารเข้าจู่โจมในรุ่งเช้าของวันจันทร์ที่ 15 ซ่อฟัร ฮ.ศ.609 กองทัพอัลมุวะฮฺฮิดูนทั้งปีกขวาและปีกซ้ายถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงโดยมิทันตั้งรับ แต่ก็พยายามต้านทานข้าศึกเอาไว้อย่างเหนียวแน่น พวกทัพหน้าของฝ่ายคริสเตียนก็เริ่มหนีทัพ ทำให้ทหารกิชตาลียะฮฺ (Castile) ภายใต้การนำทัพของอัลฟองซัวที่ 8 ที่คอยคุมเชิงอยู่ทุ่มกำลังเข้าโจมตีอย่างรุนแรง หนักหน่วงในทุกด้าน ปีกขวาและปีกซ้ายของกองทัพอัลมุวะฮฺฮิดูนก็ถูกตีแตก พวกทหารคริสเตียนก็บุกทะลวงเข้าสู่ใจกลางกองทัพซึ่งเป็นที่ตั้งของเต้นท์บัญชาการรบของอันนาซิร

 

การรบพุ่งระหว่าง 2 ฝ่ายถึงขั้นตะลุมบอนกันอย่างดุเดือด ทหารมุสลิมล้มตายหลายพันคนแต่อันนาซิรยังคงต่อสู้อย่างห้าวหาญ แต่ก็จำต้องขึ้นหลังม้าเพื่อหลบหนีจากสมรภูมิสู่เมืองบิยาซะฮฺ (Beaza) และเมืองญิยาน (Jean) ตามลำดับ กองทัพของอัลมุวะฮฺฮิดูนก็ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับและถูกไล่ตามบดขยี้จนถึงพลบค่ำ สมรภูมิอัลกอบฺ (Las Navas de Tolosa) ถือเป็นความปราชัยอย่างย่อยยับครั้งใหญ่ที่สุดที่ชาวมุสลิมในอัลอันดะลุสได้ประสบและทำให้อาณาจักรอัลมุวะฮฺฮิดูน ต้องค่อยๆ เสื่อมลงในเวลาต่อมา

 

ในสมรภูมิอัลอิกอบฺ มีบรรดานักวิชาการได้พลีชีพเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น อิสหาก อิบนุ อิบรอฮีม อิบนิ ยะอฺมัร อัลญาบีรีย์ กอฎีย์ (ผู้พิพากษา) ในนครอิชบีลียะฮฺและญิยาน ตามลำดับ, อบู อุมัร อะฮฺหมัด อิบนุ ฮารูน อันนัฟซีย์ นักวิชาการแห่งเมืองชาฏิบะฮฺ (Jativa) และอบู อับดิลลาฮฺ มุฮำหมัด อิบนุ อิบรอฮีม อัลฮัฎร่อมีย์ เป็นต้น

 

สาเหตุแห่งความปราชัย

อัลฟองซัวที่ 8 สามารถล้างแค้นต่อกองทัพมุสลิมในสมรภูมิอัลอิกอบฺ (Las Navas de Tolosa) และยึดทรัพย์สงครามได้เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งคือ ธงรบของกองทัพอัลมุวะฮฺฮิดูน ซึ่งยังคงถูกเก็บรักษาเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของสเปน ในเมืองบัรฆุชฺ (Burgos) และสาเหตุที่ทำให้กองทัพมุสลิมปราชัยอย่างย่อยยับในสมรภูมิครั้งนี้คือ

* การจัดทัพไม่ดีพอทั้งๆ ที่ฝ่ายมุสลิมมีกำลังพลเป็นจำนวนมาก

*  ขาดแม่ทัพที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการทำศึก

* ทัพหนุนขาดประสิทธิภาพและขาดเสบียง

* มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างพลเมืองอัลอันดะลุสกับพวกอัลมุวะฮฺฮิดูน

* อันนาซิรเห็นว่ากองทัพของตนมีกำลังพลมากกว่าจึงประมาท

* เป็นการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้าเนื่องจากความแตกแยกและการขาดการช่วยเหลืออย่างจริงใจระหว่างมุสลิมด้วยกัน และการใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อและขัดต่อหลักธรรมคำสอนของศาสนาซึ่งครอบงำสังคมในอัลอันดะลุส

 

ผลพวงของความปราชัยในสมรภูมิครั้งนี้ ทำให้พวกอัลมุวะฮฺฮิดูนเริ่มเสื่อมอำนาจและอ่อนแอทั้งในอัลอันดะลุสและมอรอคโค และทำให้อัลฟองซัวที่ 8 เริ่มยึดครองป้อมปราการของชาวมุสลิม ทำลายบ้านเรือนและบรรดามัสญิดในดินแดนที่ถูกยึดครอง ในปีฮ.ศ.609/คศ.1213 อัลฟองซัวได้นำทัพของตนเข้าปิดล้อมเมืองอับดะฮฺ (Ubeda) หลังจากเดินทัพผ่านเมืองบิยาซะฮฺ (Beaza) ซึ่งร้างผู้คน กองทัพคริสเตียนได้เผาทำลายบ้านเรือนและสังหารผู้คนที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นเด็ก ผู้อ่อนแอ และคนที่บาดเจ็บ การปิดล้อมเมืองอับดะฮฺเป็นไปอย่างหนักหน่วงตลอดระยะเวลา 13 วัน ชาวเมืองได้ต่อสู้ป้องกันเมืองอย่างสุดความสามารถแต่ก็ต้องยอมจำนนต่อกองทัพคริสเตียนในที่สุด แต่เมื่อพวกคริสเตียนรุกเข้าสู่ตัวเมืองก็ได้สังหารพลเมืองมุสลิมเป็นจำนวน 60,000 คนและถูกจับเป็นเชลย 60,000 คน ทั้งหมดถูกส่งไปขายในตลาดค้าทาสของยุโรป

 

ในปีฮ.ศ.610/คศ.1214 อันนาซิรได้กลับสู่มอรอคโคและพำนักอยู่ในนครหลวงมัรรอกิช และได้รับสัตยาบันให้แก่ อบูยะอฺกู๊บ บุตรชายของตนซึ่งได้รับฉายานามว่า อัลมุสตันซิรฺ หลังจากนั้น อันนาซิรก็เก็บตัวอยู่ในปราสาทของตนโดยไม่พูดจากับผู้ใด และเสียชีวิตด้วยความทุกข์ระทม ในเดือนชะอฺบานปีฮ.ศ.610

 

ในวันถัดมาหลังจากการสิ้นชีวิตของอันนาซิร บุตรชายของเขาคือ อบูยะอฺกู๊บ ยูซุฟ อัล มุสตันซิร ก็ได้รับสัตยาบันขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ปกครองอาณาจักรอัลมัวะฮฺฮิดูน ขณะมีอายุได้ 16 ปี อบูยะอฺกู๊บ เป็นเด็กที่รักสนุก ชอบการละเล่นบันเทิงใจไม่สนใจในการบริหารราชการแผ่นดินในปีฮ.ศ.612 คณะทูตจากอาณาจักรกิชตาละฮฺซึ่งเกิดความวุ่นวายในราชสำนักเนื่องจากอัลฟองซัวที่ 8 ได้สิ้นพระชนม์ในปี ฮ.ศ.611 ได้เดินทางเข้าพบ อัลมุสตันซิรเพื่อร้องขอให้รื้อฟื้นการทำสนธิสัญญาสงบศึกกับพวกอัลมุวะฮฺฮิดูน อัลมุสตันซิรก็ยอมทำสนธิสัญญากับพวกคริสเตียนทำให้อัลอันดะลุสมีความสงบและปลอดภัยจากการรุกรานของข้าศึกในช่วงเวลาหนึ่ง

 

แต่ทว่าสันติภาพในอัลอันดะลุสไม่เคยยืดยาวสักครั้งสำหรับฝ่ายอาณาจักรคริสเตียน ในปีฮ.ศ.614 กษัตริย์โปรตุเกสได้กรีฑาทัพหมายยึดครองเมือง”กอซร์ อบี ดานิส” (Alcacer de Sal) เมืองหน้าด่านที่พวกอัลมุวะฮฺฮิดูนเคยตีชิงคืนได้ในปีฮ.ศ.587 กองทัพโปรตุเกสได้ปิดล้อมทางบกและมีกองทัพเรือครูเสดจากเยอรมันซึ่งอยู่ในน่านน้ำของเมืองลิชบูนะฮฺ (Lisbon) ที่กำลังมุ่งหน้าสู่ปาเลสไตน์เพื่อทำสงครามครูเสดให้การสนับสนุนในการปิดล้อมทางทะเล ชาวเมือง  ”กอซร์ อบี ดานิส” (Alcacer de Sal) ได้ต่อสู้ป้องกันเมืองเพียงลำพังอย่างกล้าหาญโดยไม่มีผู้ใดส่งกองทัพมาช่วยเหลือ

 

แม้แต่กองทัพอัลมุวะฮฺฮิดูนก็ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวแต่อย่างใดหลังความปราชัยอย่างย่อยยับในสมรภูมิอัลอิกอบฺ การปิดล้อมเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 2 เดือนครึ่ง เมื่อชาวเมืองรู้แน่ชัดแล้วว่าพวกเขาไม่อาจต่อสู้ป้องกันเมืองได้อีกต่อไป จึงติดต่อกับพวกโปรตุเกสเพื่อประนีประนอมแต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพลเมือง พวกโปรตุเกสยอมรับเฉพาะข้อเสนอในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตเท่านั้น แต่เมื่อประตูเมืองถูกเปิดออก กองทัพคริสเตียนก็ยาตราทัพเข้าสู่ตัวเมืองยึดประตูเมืองและเชิงเทินเอาไว้หลังจากนั้นก็บิดพลิ้วสัญญาที่ให้ไว้กับชาวเมืองด้วยการสังหารชาวมุสลิมทุกคนจนหมดสิ้น นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พวกคริสเตียนบิดพลิ้วและตระบัดสัตย์พวกเขาไม่เคยรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับชาวมุสลิมผู้ยอมจำนน

 

ในปีฮ.ศ.614 เช่นกันได้เกิดอาณาจักรใหม่ขึ้นในดินแดนมอรอคโค กล่าวคือ พวกบะนู มะรีน เชื้อสายเบอร์เบอร์ได้สถาปนาอาณาจักรของพวกตน โดยมีอับดุลฮักฺ อัลมะรีนีย์ เป็นผู้นำ จริงๆ แล้วพวกบะนูมะรีนได้เริ่มแผ่อำนาจในมอรอคโคนับตั้งแต่ปีฮ.ศ.591 เมื่ออาณาจักรอัลมุวะฮฺฮิดูน เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยและอ่อนแอ การเกิดขึ้นของรัฐใหม่นี้ทำให้พวอัลมุวะฮฺฮิดูนตกอยู่ในวงล้อม 2 ด้านพร้อมกัน คือ อาณาจักรคริสเตียนทางตอนเหนือของอัลอันดะลุสและอาณาจักรของพวกบะนู มะรีน ทางตอนใต้ (มอรอคโค)

 

ในปีฮ.ศ.620/คศ.1223 อัลมุสตันซิร บิลลาฮฺได้สิ้นชีวิตลงโดยไม่มีรัชทายาทหรือผู้สืบทอดอำนาจ ทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจในระหว่างพวกอัลมุวะฮฺฮิดูนด้วยกัน บางส่วนได้แต่งตั้ง อับดุลวาฮิด อิบนุ ยูซุฟ อิบนิ อับดิลมุอฺมิน ซึ่งมีอายุ 60 ปีเศษ แต่หลังจากอยู่ในอำนาจได้เพียง 2 เดือน อับดุลลอฮฺ อิบนุ ยะอฺกู๊บก็ปลดอับดุลวาฮิดออกจากอำนาจ ด้วยเหตุนี้ อับดุลวาฮิดจึงเป็นผู้ปกครองคนแรกของอัลมุวะฮฺฮิดูนที่ถูกปลดและมีฉายาว่า อัลมัคลูอฺ (ผู้ถูกปลด)

 

ต่อมาเขาก็ถูกสังหาร อับดุลลอฮฺ อิบนุ ยะอฺกู๊บจึงขึ้นเป็นผู้ปกครอง และให้ฉายานามแก่ตัวเองว่า อัลอาดิล (ผู้ทรงธรรม) อัลอาดิลอยู่ในอำนาจได้เพียงไม่กี่เดือนก็เสียชีวิต ยะฮฺยา อัลมุอฺตะซิม ซึ่งยังเยาว์วัยก็ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนอัลอาดิลในปีฮ.ศ.624 อบุลอุลา อิดรีส อิบนุ อัลมันซูรก็นำทหารคริสเตียนกิชตาละฮฺ (Castile) ที่ให้การสนับสนุนตนยกข้ามฝั่งมายังมอรอคโคเพื่อทวงสิทธิในตำแหน่งผู้ปกครองจากยะฮฺยา อัลมุอฺตะซิม และตั้งตนขึ้นเป็นค่อลีฟะฮฺอัลมุวะฮฺฮิดูนในตอนต้นปีฮ.ศ.626

 

ต่อมาพวกบะนู ฮัฟซ์ ก็ประกาศแยกตนเป็นอิสระจากพวกอัลมุวะฮฺฮิดูนในตูนิเซีย ภายใต้การนำของอบู ซะกะรียา ยะฮฺยา อิบนุ มุฮำหมัด อิบนุ อับดิลวาฮิด อัลมัคลูอฺ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่มีความใกล้ชิดกับอิบนุ ตูมัรฺต์ อัลมะฮฺดีย์ และเรียกขานตัวเองว่า อะมีร (เจ้าชายผู้ครองรัฐอิสระ) ในตอนต้นปีฮ.ศ.627 อบุล อุลา อัลมะอฺมูน ซึ่งยึดอำนาจการปกครองอัลมุวะฮฺฮิดูนจึงมีประกาศไปยังทุกหัวเมืองที่สวามิภักดิ์ต่อตนในปีฮ.ศ.627 ให้ลบชื่ออัลมะฮฺดีย์ออกจากการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) และเหรียญกษาปณ์

 

ในปีฮ.ศ.627 เช่นกัน คอยมีย์หรือญัยฺมิชที่ 1 (Jaime I) กษัตริย์คริสเตียนแห่งอรากอนได้ฉวยโอกาสที่อัลอันดะลุสตกอยู่ในความระส่ำระสายนำกองทัพเรือที่มีพวกอิตาลีและฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรจำนวน 155 ลำเข้าปิดล้อมเกาะมะยูรเกาะฮฺ (Mallorca) และตีฝ่ากำแพงเมืองได้สำเร็จ พลเมืองในเกาะถูกสังหารภายในวันเดียว 24,000 คน อบู ยะฮฺยา อิบนุ อบี อิมรอน เจ้าเมืองตกเป็นเชลย กษัตริย์อรากอนได้ลงโทษเจ้าเมืองผู้นี้ตลอดระยะเวลา 45 วันด้วยสารพัดวิธี จนกระทั่งสิ้นชีวิต ต่อมาเกาะยาบิซะฮฺ (Ibiza) ก็ตกอยู่ในกำมือของพวกคริสเตียนหลังจากมีการสู้รบป้องกันเมืองเป็นเวลาหลายปี ส่วนเกาะมะนูรเกาะฮฺ (Menorca) ก็เสียแก่พวกคริสเตียนในปีฮ.ศ.686 เหตุนี้หมู่เกาะตะวันออกหรืออัลบิลยารฺ (Islasa Baleares) ของอัลอันดะลุสทั้ง 3 เกาะจึงตกอยู่ในกำมือของพวกคริสเตียนอรากอนทั้งหมด

 

ในปีฮ.ศ.629/คศ.1232 อบุลอุลา อัลมะอฺมูนได้เสียชีวิตในระหว่างยกทัพมุ่งหน้าสู่นครมัรรอกิชเพื่อปราบปรามการกบฏลุกฮือของยะฮฺยา อัลมุอฺตะซิม บรรดาแม่ทัพและผู้อาวุโสของชนเผ่าต่างๆ ก็พร้อมใจกันยก อบู มุฮำหมัด อิบนุ อับดิลวาฮิด ขึ้นเป็นผู้นำอัลมุวะฮฺฮิดูนในขณะมีอายุได้ 14 ปี โดยได้รับฉายานามว่า อัรร่อชีด

 

อัลมะอฺมูน มีคุณลักษณะหลายประการคล้ายกับยะอฺกู๊บ อัลมันซูร บิดาของตน ถ้าหากเขาพบกับสภาพการณ์ที่เหมาะสม ลางทีเขาก็อาจจะนำพาความยิ่งใหญ่ของอัลมุวะฮฺฮิดูนกลับมาอีกครั้งก็เป็นได้ แต่ทว่าในช่วงเวลาที่เขามีอำนาจอยู่นั้นเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายและการกบฏลุกฮือเพื่อแย่งชิงอำนาจในระหว่างพวกอัลมุวะฮฺฮิดูนด้วยกันเอง ทำให้เขาไม่สามารถเจริญรอยตามอัลมันซูรบิดาของตนได้

 

หลังจากอัลมะอฺมูน เสียชีวิต อัรร่อชีด บุตรชายของเขาก็นำทัพจนถึงกำแพงเมืองมัรรอกิช อัลมุอฺตะซิมซึ่งยึดอำนาจในนครมัรรอกิชก็นำทัพออกมาสู้รบและได้รับความปราชัย พลเมืองมัรรอกิชจึงได้ให้สัตยาบันแก่อัรร่อชีด ในราวต้นเดือนมุฮัรรอม ปีฮ.ศ.630 และนี่เป็นการให้สัตยาบันแก่พวกอัลมุวะฮฺฮิดูนครั้งสุดท้ายในมอรอคโค

 

ในช่วงเวลานั้น พระสันตะปาปาได้ประกาศสงครามครูเสดอันศักดิ์สิทธิ์ กษัตริย์อรากอน (Aragon) และเหล่าอัศวินคริสเตียนจึงเริ่มโจมตีอัลอันดะลุสอีกครั้งในปีฮ.ศ.631 และสามารถรุกคืบหน้าถึงชานเมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia) แต่กษัตริย์อรากอนก็ยุติการทำศึกไว้เพียงแค่นั้นและยกทัพกลับสู่เขตแดนของตน

 

ต่อมาในปีฮ.ศ.633/คศ.1235 พวกบะนู ซัยฺยาน ซึ่งเป็นชนเบอร์เบอร์จากก๊กซะนาตะฮฺ ก็ประกาศแยกตนเป็นอิสระจากอัลมุวะฮฺฮิดูนในแอลจีเรีย พวกบะนู ซัยยานฺมีอำนาจอยู่ในติลมีซาน ระหว่างปีฮ.ศ.633-957/คศ.1236-1550 และมีการสู้รบกับพวกบะนู มะรีนและบะนู ฮัฟซ์ ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว

 

ในปีฮ.ศ.633 เช่นกัน กองทหารอัศวินแห่งอาณาจักรกิชตาละฮฺ (Castile) ซึ่งลาดตระเวนอยู่ใกล้ๆ กับป้อมปราการทางตะวันออกของนครโคโดบาฮฺได้เข้าจู่โจมเขตป้อมปราการดังกล่าว โดยมีพลเมืองโคโดบาฮฺที่เข้ารีตในคริสต์ศาสนา เป็นผู้ชี้จุดอ่อนแก่พวกคริสเตียน หลังจากนั้นก็มีสาส์นถึงกษัตริย์เฟอร์นานโดที่ 3 (Fernando III) แห่งกิชตาละฮฺ (Castile) ให้ส่งกองทัพหนุนมาช่วยและยุยงให้พระองค์ตีนครโคโดบาฮฺ กษัตริย์เฟอร์นานโดที่ 3 จึงนำทัพผสมจากกองกำลังกิชตาละฮฺและอรากอนมุ่งหน้าสู่นครโคโดบาฮฺ และเข้าปิดล้อมเอาไว้ ชาวเมืองโคโดบาฮฺซึ่งขาดแม่ทัพในการทำศึกจึงต้องทำการต่อสู้เพียงลำพังโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือทั้งจากพวกอัลมุวะฮฺฮิดูนและพวกตระกูลฮูดในนครอิชบีลียะฮฺ

 

เฟอร์นานโดได้ปิดล้อมเมืองโคโดบาฮฺอย่างหนักหน่วงและตัดเส้นทางทั้งหมดที่จะเข้าสู่เมือง ไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางทะเล อัลวาดีย์ อัลกะบีร (Guadelquivir) จนกระทั่งไม่มีผู้ใดสามารถเข้าหรือออกจากเมืองนี้ได้การปิดล้อมเป็นไปอย่างหนักตลอดระยะเวลาหลายเดือน จนกระทั่งเสบียงและกำลังพลในเมืองโคโดบาฮฺร่อยหรอลงทุกที พลเมืองโคโดบาฮฺจึงได้ติดต่อกับกษัตริย์แห่งกิชตาละฮฺว่าจะยอมสละเมืองโคโดบาฮฺแก่ฝ่ายคริสเตียนโดยมีเงื่อนไขว่า ให้ชาวเมืองสามารถอพยพออกจากเมืองโดยปลอดภัยพร้อมกับทรัพย์สินของพวกตน กษัตริย์คริสเตียนก็ยอมทำตามข้อตกลงนั้นทั้งๆ ที่บรรดาบาทหลวงไม่เห็นด้วยก็ตาม

 

ในเดือนเชาว๊าลปีฮ.ศ.633/คศ.1235 พลเมืองโคโดบาฮฺก็อพยพออกจากเมืองหมดสิ้นและพากันลี้ภัยไปยังหัวเมืองมุสลิมที่ยังเหลืออยู่ กองทัพคริสเตียนจึงยาตราทัพเข้าสู่นครโคโดบาฮฺ และเปลี่ยนมัสญิดญามิอฺแห่งนครโคโดบาฮฺ เป็นวิหารในคริสต์ศาสนา มีชื่อว่า “มหาวิหาร ซานตา มาริอา อันยิ่งใหญ่” การสูญเสียนครโคโดบาฮฺซึ่งเคยเป็นราชธานีแห่งค่อลีฟะฮฺในอัลอันดะลุสและอยู่ในการปกครองของชาวมุสลิมมากว่า 5 ศตวรรษเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และเป็นการประกาศถึงชะตากรรมของพลเมืองมุสลิมในอัลอันดะลุสที่เหลืออยู่ว่าอีกไม่นานนัก พวกเขาก็คงประสบกับชะตากรรมเดียวกับที่โคโดบาฮฺได้ประสบ!

 

“โคโดบาฮฺ ดินแดนแห่งสรรพวิทยาการนั้นอยู่ที่ไหนเล่า?

กี่มากน้อยมาแล้วที่มีนักปราชญ์ได้เป็นเลิศในนครแห่งนี้”

 

นครโคโดบาฮฺ (กุรฏุบะฮฺ) อดีตราชธานีของอัลอันดะลุส ศูนย์กลางแห่งวิทยาการที่ฉายแสงแห่งความรุ่งโรจน์สู่ดินแดนแห่งโลกอิสลามและทวีปยุโรปในยุคกลาง นครแห่งวิชาการที่เหล่านักปราชญ์และนักศึกษาจากยุโรปได้มุ่งหน้ามาแสวงหาความรู้ทางด้านแพทย์ศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์และปรัชญา!

 

นครที่ยิ่งใหญ่แต่เสียแก่ข้าศึกอย่างง่ายดาย ไม่มีการรบพุ่งที่ดุเดือดไม่มีแม่ทัพผู้เก่งกาจที่สร้างวีรกรรมจนเป็นที่กล่าวขาน และไม่มีการช่วยเหลืออันใด นี่เป็นการบ่งชี้ถึงความอ่อนแออย่างที่สุดซึ่งเกิดขึ้นกับพวกอัลมุวะฮฺฮิดูนและเป็นผลพวงของความแตกแยกที่เกิดขึ้นในอัลอันดะลุส!

หออะซานของมัสยิดแห่งหนึ่ง  ใกล้กับอิชบีลียะฮฺ ในสมัยอัลมุวะฮฺฮิดูน  ภายหลังกลายเป็นส่วนหนึ่ง ของโบสถ์ในคริสตศาสนา

ในปีฮ.ศ.634/คศ.1236 อบูญะมีล ซัยยาน เจ้าเมืองอิชบีลียะฮฺที่ได้รับแต่งตั้งจากพวกอัลมุวะฮฺฮิดูนก็มองเห็นถึงภัยคุกคามที่เข้ามาใกล้นครอิชบีลียะฮฺเต็มที เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ใกล้กับนครโคโดบาฮฺและป้อมที่พวกคริสเตียนใช้เป็นที่มั่นในการควบคุมการเคลื่อนไหวของอิชบีลียะฮฺกับบะลันซียะฮฺก็ตกอยู่ในกำมือของคริสเตียนอรากอน อบูญะมีล ซัยยานจึงตัดสินใจที่จะยึดป้อมแห่งนี้ซึ่งมีชื่อว่า อะนีชะฮฺจากพวกคริสเตียน เขาได้ประกาศญิฮาดและบรรดาพลเมืองอัลอันดะลุสก็เข้าร่วมในกองทัพของเขา

 

การรบพุ่งได้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายมุสลิมและคริสเตียน ณ ป้อมอะนีชะฮฺ มีผู้เสียชีวิตเป็นอันมากและจบลงด้วยความปราชัยของฝ่ายมุสลิม ในสมรภูมิอะนีชะฮฺ นี้มีนักวิชาการคนสำคัญในเมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia) หลายคนได้พลีชีพในสมรภูมิ ส่วนหนึ่งคือ อบู อัรรอบีอฺ สุลัยมาน อิบนุ มูซา อิบนิ ซาลิม อัลกิลาอีย์ ซึ่งเป็นนักวิชาการหะดีษผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีบุคคลอีกจำนวน 70 คนซึ่งพลีชีพพร้อมกับท่านอัลกิลาอีย์

 

สมรภูมิที่ป้อมอะนีชะฮฺ เป็นการดิ้นรนต่อสู้ครั้งสุดท้ายอย่างแท้จริงของชาวมุสลิมพร้อมกับการสิ้นสุดลงของอาณาจักรอัลมุวะฮฺฮิดูน และสถานการณ์ในอันดะลุสก็พัฒนาไปสู่ความเลวร้าย พลเมืองอัลอันดะลุสไม่อาจรอคอยให้ผู้ใดมาปกป้องพวกตนได้อีกต่อไป พวกเขามั่นใจว่าพวกเขาต้องปกป้องตนเองและบ้านเมืองของตนด้วยตัวของพวกเขาเอง ด้วยเหตุนี้ พวกบะนู อัลอะฮฺมัร จึงประกาศแยกตนเป็นอิสระในเมืองฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada)

 

สรุปเหตุการณ์สำคัญในสมัยอัลมุวะฮฺฮิดูน

ฮ.ศ.524     อิบนุ ตูมัรฺต์ สิ้นชีวิตหลังจากสั่งเสียอับดุลมุอฺมิน อิบนุ อะลี สานุศิษย์ของตนให้สืบสานภารกิจ

ฮ.ศ.541     สถาปนาอาณาจักรอัลมุวะฮฺฮิดูนในมอรอคโคภายหลังได้รับชัยชนะต่อพวกอัลมุรอบิฏูน

ฮ.ศ.542     พวกคริสเตียนโจมตีเมืองอัลมะรียะฮฺ (Almeria) และสังหารชาวเมือง

ฮ.ศ.542     พวกอัลมุวะฮฺฮิดูนสืบทอดอำนาจพวกอัลมุรอบิฏูนในอัลอันดะลุส

ฮ.ศ.552     อัลมุวะฮฺฮิดูนตีคืนเมืองอัลมะรียะฮฺหลังจากปิดล้อมอย่างหนัก

ฮ.ศ.552     สร้างเมืองญะบัลตอริก (Gibralta)

ฮ.ศ.558     อับดุลมุอฺมิน อิบนุ อะลี แม่ทัพอัลมุวะฮฺฮิดูนเสียชีวิต

ฮ.ศ.560     ยูซุฟ อิบนุ อับดิลมุอฺมิน ขึ้นครองอำนาจ

ฮ.ศ.560     อัลมุวะฮฺฮิดูนได้รับชัยชนะในสมรภูมิฟะฮฺซุลญุลล๊าบ

ฮ.ศ.580     อัลมุวะฮฺฮิดูนถอนทัพหลังจากปิดล้อมเมืองซันตะรีน

ฮ.ศ.580     ยูซุฟ เสียชีวิตและยะอฺกู๊บ อัลมันซูรบุตรชายขึ้นครองราชย์

ฮ.ศ.586     สนธิสัญญาพักรบกับกษัตริย์กิชตาละฮฺและลิออง

ฮ.ศ.587     พิชิตอบูดานิส (Alcacer de Sal) และชะลับ (Silves)

ฮ.ศ.591     มุสลิมได้รับชัยชนะครั้งใหญ่ในสมรภูมิอัลอะรอก (Alarcos)

ฮ.ศ.595     อัลมันซูรเสียชีวิต และมุฮำหมัดอันนาซิรขึ้นครองอำนาจ

ฮ.ศ.609     ความปราชัยอย่างย่อยยับของชาวมุสลิมในสมรภูมิอัลอิกอบฺ (Las Navas de Tolosa)

ฮ.ศ.609     การสังหารหมู่ครั้งใหญ่ต่อพลเมืองอับดะฮฺ (Ubeda) ด้วยน้ำมือของอัลฟองซัวที่ 8 หลังบิดพลิ้วสัญญา

ฮ.ศ.610     อันนาซิรเสียชีวิตและยูซุฟ อัลมุนตะซิรขึ้นครองอำนาจ

ฮ.ศ.614     สถาปนาอาณาจักรบะนู มะรีนในมอรอคโค

ฮ.ศ.620     อัลมุนตะซิรเสียชีวิต

ฮ.ศ.623     บะนู ฮัฟซ์แยกตนเป็นอิสระในตูนิเซีย

ฮ.ศ.633     นครโคโดบาฮฺ นครหลวงแห่งระบอบคิลาฟะฮฺตกอยู่ในกำมือกองทัพคริสเตียน

ฮ.ศ.635     สิ้นสุดการปกครองของอัลมุวะฮฺฮิดูนในอัลอันดะลุสโดยพฤตินัย