สัจพยากรณ์ระบุถึงการทำยุทธนาวีของชาวมุสลิม (การทำสงครามทางทะเลครั้งแรก)

ในสมัยท่านค่อลีฟะหฺ อุสมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) ท่านอุมาวียะหฺ (ร.ฎ.) ผู้เป็นข้าหลวงแห่งแคว้นชาม อันมีนครดามัสกัสเป็นเมืองเอกได้ขอนุญาตค่อลีฟะหฺในการเปิดแนวรบทางทะเลเพื่อเข้าตีเกาะไซปรัส (กุบรุส) ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ในยุทธศาสตร์ทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนห่างจากตุรกี ซึ่งขณะนั้นคืออาณาจักรโรมันไบเซนไทน์ 65 กิโลเมตร และห่างจากฝั่งซีเรีย (ชาม) 85 กิโลเมตร ท่านค่อลีฟะหฺได้อนุญาติแก่ท่านมุอาวียะหฺตามคำขอ

 

ก่อนหน้านั้นในสมัยของท่านค่อลีฟะหฺอุมัร (ร.ฎ.) ท่านอุมาวียะหฺ (ร.ฎ.) ได้เคยเสนอการเปิดแนวรบทางทะเลเพื่อเข้าตีเกาะแห่งนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ท่านค่อลีฟะหฺอุมัร (ร.ฎ.) ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าการนำกำลังทหารลงเรือและล่องทะเลทีละมากๆ นั้น อาจจะทำให้เรือพลิกคว่ำได้ อันจักเกิดความสูญเสียแก่ชีวิตของเหล่าทหารหาญ

 

นอกเหนือจากเหตุผลที่กองทัพเรืออันเข้มแข็งยังมิได้มีการสถาปนาขึ้นในสมัยของท่านค่อลีฟะหฺ (ร.ฎ.) อีกประการหนึ่งจึงมีอันต้องล้มเลิกแผนการณ์ดังกล่าวไป แต่เมื่อล่วงเข้าสู่สมัยของท่านค่อลีฟะหฺอุสมาน (ร.ฎ.) ท่านอุมาวียะหฺ (ร.ฎ.) ได้ร่วมกับท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ สะอ์ดฺ อบี ซัรหฺ สร้างกองทัพเรือที่เข้มแข็งขึ้น แผนการพิชิตเกาะไซปรัสก็ได้ถูกนำขึ้นมาดำเนินการอย่างจริงจัง กองทัพเรือของมุสลิมจึงมุ่งสู่เกาะอันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรณีและผลหมากรากไม้เป็นอันมากแห่งนี้ และสามารถพิชิตได้ในปี ฮ.ศ. ที่ 28

 

หลังการพิชิตเกาะแห่งนี้ได้ท่านอุมาวียะหฺ (ร.ฎ.) ได้ทำสัญญาข้อตกลงกับชนพื้นเมืองให้จ่ายบรรณาการแก่รัฐอิสลามในทุกๆ ปี เป็นจำนวน 70,000 ดีน๊าร ครั้นเมื่อกองทัพมุสลิมมีความประสงค์ในการถอนกำลังออกจากเกาะแห่งนี้ ท่านหญิงอุมมุ   ฮารอม บินตุ มิลฮาน วัล-อันศอรียะห์ (ร.ฎ.) ซึ่งเป็นภรรยาของท่านอุบาดะหฺ อิบนุ อัศศอมิด (ร.ฎ.) ที่ร่วมไปในสงครามครั้งนี้ก็เตรียมขึ้นขี่ล่อตัวเมียที่ถูกนำมาให้นางขี่ ก็ปรากฏว่าล่อเกิดพยศขึ้นมาในทันควัน ท่านหญิงก็ตกจากหลังของมันผลก็คือท่านหญิงอุมมุ ฮารอม คอหักและถึงแก่ชีวิต

 

สมดังที่ท่านศาสนฑูตได้เคยมีสัจจพยากรณ์กับนางเอาไว้เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่โดยมีอยู่วันหนึ่งท่านศานทูตได้นอนพักช่วงเวลากลางวันในบ้านของนาง ต่อมาท่านก็ทรงตื่นขึ้นมาในสภาพที่หัวเราะ ท่านหญิงอุมมุ ฮารอม (ร.ฎ.) จึงกล่าวขึ้นว่า “โอ้ท่านศาสนทูต อันใดได้ทำให้ท่านหัวเราะ” ท่านกล่าวว่า “ได้มีกลุ่มชนหนึ่งจากประชาชาติของฉันถูกนำเสนอแก่ฉัน พวกเขาจะขี่ (เรือ) ไปบนหลังท้องทะเลนี้ ประหนึ่งดังเหล่ากษัตริย์ที่ยืนบนราชอาส์น” ท่านหญิงจึงกล่าวว่า “โอ้ท่านศาสนทูต ขอท่านได้โปรดขอต่อพระผู้เป็นเจ้าให้ฉันเป็นผู้หนึ่งจากพวกเขาด้วย” ท่านกล่าวว่า “เธอเป็นส่วนหนึ่งจากชนกลุ่มแรก”

 

และกาลต่อมาภายหลังก็ปรากฏว่าท่านหญิงได้ร่วมไปในการศึกทางทะเลครั้งนั้น (คือการศึกเข้าพิชิตเกาะไซปรัส) และได้เสียชีวิต ณ ที่นั่น สุสานของนางยังคงอยู่ ณ เกาะไซปรัส โดยรู้จักกันในนามว่า สุสานของสตรีผู้ประเสริฐ นั่นเป็นศึกครั้งแรกโดยกองทัพเรือ ส่วนครั้งที่สองนั่นคือการศึกทางทะเลเพื่อเข้าตีนครคอนสแตนติโนเปิ้ล ในปี ฮ.ศ. ที่ 52 ตรงกับสมัยการเป็นค่อลีฟะหฺของท่านมุอาวียะหฺ (ร.ฎ.)

 

ในการศึกครั้งที่สองนี้ มีบรรดาอัครสาวกหลายท่านได้ร่วมไปสงครามด้วย เช่น ท่านอบู อัยยูบ อัลอันศอรีย์ (ร.ฎ.) ท่านคอลิด อิบนุ ยะซีด (ร.ฎ.) ซึ่งท่านอบู อัยยูบ (ร.ฎ.) ได้พลีชีพในการศึกครั้งนี้ ศพของท่านถูกฝังอยู่นอกกำแพงเมือง แต่อย่างไรเสียการศึกเข้าตีกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลก็ไม่ประสบความสำเร็จ

 

ท่านอิหม่ามอัลบุคอรียฺได้รายงานจากสายรายงานของเซาร์ อิบนุ ยะซีด อิบนิ คอลิด อิบนิ มิอฺดาน จากท่านอุมัร อิบนุ อัลอัสวัด อัลอันซีย์ จากท่านหญิงอุมมุ ฮารอม (รฎ.) ว่า นางได้ยินท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

أَوَّلُ جَيْشٍ مِنْ أُمَّتِىْ يَغْزُوْنَ الْبَحْرَ قَدْأَوْجَبُوْا

“กองทัพแรกจากประชาชาติของฉันที่จะทำสงครามทางทะเลนั้น แน่นอนสวรรค์เป็นสิทธิของพวกเขา” ท่านหญิงอุมมุ ฮารอม กล่าวว่า “โอ้ ท่านศาสนทูต ฉันอยู่ในหมู่พวกเขาด้วยหรือไม่” ท่านตอบว่า “เธออยู่ในหมู่พวกเขา” ต่อมาท่านได้ทรงกล่าวอีกว่า “กองทัพแรกจากประชาชาติของฉันที่จะทำศึกกับนครของกอยศ็อร (ซีซาร์แห่งโรมันไบแซนไทน์) นั้นย่อมได้รับการอภัยโทษแก่พวกเขา” ท่านหญิงอุมมุ ฮารอน (รฎ.) กล่าวว่า : ฉันเป็นส่วนหนึ่งจากพวกเขาหรือไม่ โอ้ ท่านศาสนทูต? ท่านกล่าวว่า  “ไม่”  (อันนิฮายะห์ ฟิล ฟิตัน 1/18)

 

เหตุการณ์การทำศึกทางทะเลทั้งสองครั้งของกองทัพเรือมุสลิม ตลอดจนการพลีชีพของท่านอุมมุ ฮารอม (รฎ.) ผู้เล่าเรื่องราวจากท่านศาสนทูต ได้เกิดขึ้นสมดังคำสัจจพยากรณ์นั้นทุกประการ