ชนชาติจามในแผ่นดินสยามสมัยอยุธยา

ชาวจามหรือแขกจามจำนวนหนึ่งได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นซึ่งในเวลานั้นชนชาติจามในอาณาจักรจัมปาได้เข้ามารับนับถือศาสนาอิสลามแล้ว ชาวจามในสมัยอยุธยาตอนต้นจึงเป็นมุสลิมจามมิใช่ฮินดูจาม หรือพุทธจามนิกายมหายานอีกต่อไป ประชาคมมุสลิมจามหรือแขกจามในอยุธยาตั้งนิคมของพวกตนอยู่บริเวณปากคลองคูจามที่เอกสารเก่าเรียกว่า “ปทาคูจาม” แปลว่า “ค่ายคูของชาวจาม” ซึ่งอยู่ด้านใต้ของเกาะเมืองใกล้กับวัดพุทไธสวรรย์

 

“ปทาคูจาม” เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติกล่าวว่า

“พ.ศ. 1952 สมเด็จพระรามราชาธิราช (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1938-1952 / ค.ศ. 1395-1409) ทรงให้จับกุมออกญามหาเสนาบดีในข้อหาเป็นกบฏ ออกญาผู้นี้จึงหนีออกจากพระนครโดยข้ามแม่น้ำไปยังฝั่งปทาคูจาม ต่อมาขุนนางผู้นี้ได้ทูลเขิญสมเด็จพระนครินทราธิราช (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1952-1967 /ค.ศ. 1409-1424) ผู้ครองเมืองสุพรรณบุรีให้เสด็จมาเอาพระราชสมบัติ สมเด็จพระนครินทราธิราชได้ทรงเนรเทศสมเด็จพระรามราชาธิราชให้ไปครองเมืองที่ “ปทาคูจาม” แทน

 

บริเวณดังกล่าวยังคงมีศาสนสถานของแขกจาม คือ มัสยิดและกุโบร์ (สุสาน) อยู่ในปัจจุบัน (ดูรายละเอียดใน “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ , ใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ฉบับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิจชิโนรส และพงศาวดารเหนือ เล่ม 1 (พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภาฯ 2504) หน้า 4 ; พลับพลึง คงชนะ : , “พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชุมชนจาม อยุธยา “วารสารประวัติศาสตร์ (2542) : หน้า 71)

 

ชาวจามเดินทางเข้ามาสู่สยามเป็นระยะๆ ส่วนหนึ่งเพื่อประกอบการค้า และอีกส่วนหนึ่งอพยพเข้ามาเพราะปัญหาการเมืองเนื่องจากอาณาจักรจัมปาถูกรุกรานโดยเวียดนาม (อันนัม) ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ทำให้ชาวจามจำนวนหนึ่งต้องอพยพลี้ภัยไปยัง ชวา มลายู กัมพูชา และสยาม (D.G.E. Hall , A History of South-East Asia , p.218 ; Raymond Scupin , “Islam in Thailand before the Bangkok Period,” Journal of The Siam Society 69 , 1 (January 1980) : 68.)

 

นอกจากนี้ชาวจามซึ่งตั้งชุมชนอยู่ในกัมพูชายังถูกกองทัพของสยามซึ่งยกไปตีกัมพูชากวาดต้อนเข้ามาเป็นเชลยดังปรากฏสงครามระหว่างอยุธยากับเขมรญวน ในรัชกาลสมเด็จพระราเมศวร ซึ่งขึ้นครองราชย์เป็นครั้งที่ 2 ในระหว่างปี พ.ศ. 1931-1938 เป็นต้น ทั้งนี้ชาวจามที่อพยพเข้าไปในกัมพูชาได้ตั้งชุมชนอยู่ในเขตกัมปงธม (Kampong Thom) และกำปงจาม (Kampong Cham) ใกล้กับแม่น้ำโขงห่างจากพนมเปญ เมืองหลวงปัจจุบันไปราว 120 กิโลเมตร เมื่อสยามในช่วงอยุธยาตอนต้นยกทัพไปตีกรุงกัมพูชาคงได้กวาดต้อนชาวจามเข้ามาด้วย (ดูรายละเอียดใน พลับพลึง คงชนะ : , พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชุมชนจาม อยุธยา , หน้า 71)

 

เมื่อมีชาวจามอพยพเข้ามามากขึ้น ชุมชนจึงขยับขยายออกไป โดยตั้งบ้านเรือนขนานไปตามแนวสองฟากคลองคูจามซึ่งติดต่อกับคลองตะเคียน (คลองขุนละครไชย) อันเป็นที่ตั้งของชุมชนมุสลิมมลายู และชุมชนแขกมักกะสันซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์และถือในศาสนาอิสลามเหมือนกัน

 

กรุงศรีอยุธยามีตลาดใหญ่รอบพระนครเป็นตลาดน้ำถึง 4 แห่งคือ ตลาดน้ำวนบางกระจะ หน้าวัด พนัญเชิง ตลาดปากคลองคูจามท้ายสุเหร่าแขก ตลาดปากคลองคูไม้ร้อง และตลาดปากคลองวัดเดิม (วัด อโยธยา) ใต้ศาลเจ้าปุนท่ากง (ดูรายละเอียดใน คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี , 2534) หน้า 3)

 

ชุมชนจามซึ่งตั้งถัดจากปากคลองคูจามไปทางด้านหลังหมู่บ้าน (พลับพลึง คงชนะ : , อ้างแล้ว หน้า 77) จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ข้างต้นย่อมเป็นสิ่งชี้ชัดได้ว่า ชนชาติจามมุสลิมหรือแขกจามมีอยู่จริงในกรุงศรีอยุธยานับตั้งแต่ช่วงอยุธยาตอนต้น โดยชาวจามมีทั้งพ่อค้า ผู้อพยพลี้ภัยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์อยุธยาและบางส่วนเป็นเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนมาเมื่อมีสงครามเกิดขึ้นระหว่างกรุงศรีอยุธยากังกรุงกัมพูชา แต่หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดซึ่งยืนยันถึงการมีตัวตนอยู่จริงของชาวมุสลิมจามในสยามประเทศนับตั้งแต่สมัยอยุธยาก็คือ “กองอาสาจาม” นั่นเอง