ก็อยซ๊อรฺ ตะอาซีฟ อัลอัสฟูนีย์ (قيصرتعاسيف الأسفوني)

ก็อยซ๊อรฺ อิบนุ อบี อัลกอซิม อิบนิ อับดิลฆ่อนีย์ อิบนิ มูซาฟิรฺ อัลอัสฟูนีย์ เขาถูกรู้จักในนามชื่อมากมายเช่น อิลมุดดีน , อัลฮะน่าฟีย์ , อัลมุ่ฮันดิซ เป็นต้น และมีฉายาว่า “ตะอาซีฟ” ถือกำเนิด ณ เมืองอัสฟูน ทางตอนใต้ของประเทศอิยิปต์  ก็อยซ๊อรฺ ได้ศึกษาเล่าเรียนกับบรรดานักปราชญ์ของกรุงไคโรเสียเป็นส่วนใหญ่ และได้เยือนเมืองโมซุล เพื่อฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับกะมาลุดดีน อิบนุ ยูนุส ในการศึกษาวิชาดาราศาสตร์และดนตรี ในช่วงเวลาที่เหลือของชีวิต ก็อยซ๊อรฺได้ศึกษาเพิ่มเติมและสั่งสอนวิทยาการที่ตนสันทัดในแคว้นชาม และเสียชีวิตในปี ฮ..649 และศพของเขาถูกฝังที่นครดามัสกัส

 

ก็อยซ๊อรฺ ตะอาซิฟ ได้ให้ความสนใจต่อกฎข้อที่ 5 ของอิกลิดุส ซึ่งอิกลิดุสไม่ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกฎที่ 5 นี้เอาไว้ เขาได้ทุ่มเทการศึกษาค้นคว้ากฎข้อนี้ และเขียนตำราอรรถาธิบายเอาไว้อย่างครบถ้วน

 

ความชำนาญทางด้านเรขาคณิตและวิศวกรรมศาสตร์ของก็อยซ๊อรฺ ได้ทำให้เขากลายเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นกังหันวิดน้ำ ซึ่งต่อมาได้แพร่หลายสู่ยุโรปในระหว่างช่วงสงครามครูเสด กังหันวิดน้ำที่ว่านี้ ก็อยซ๊อรฺ ได้สร้างถวายอัลมุ่ซ็อฟฟัร ตะกียุดดีน มะฮฺมูด เจ้าผู้ครองนครฮามาต (ฮ.ศ.626-641) ซึ่งกษัตริย์ผู้เดียวกันนี้ยังได้ขอให้ ก็อยซ๊อรฺ ได้ทำการสร้างหอดูดาวในเมืองฮามาตฺ เพื่อใช้เป็นแหล่งค้นคว้าสำหรับนักศึกษาในการเฝ้าดูการโคจรของดวงดาวและเทหวัตถุแห่งฟากฟ้า หอดูดาวแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของป้อมปราการของเมือง ฮะมาตฺ ซึ่งก็อยซ๊อรฺ เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการสร้างอีกเช่นกัน

 

ในปี ฮ.ศ.622 ก็อยซ๊อรฺได้ทำรูปโลกทรงกลมแสดงจักราศีและเทหวัตถุแห่งฟากฟ้า (Celestail Glob) จากแผ่นไม้เนื้อดีและถวายแก่เจ้าผู้ครองนคร ฮะมาตฺ สิ่งประดิษฐ์นี้ยังคงเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วจวบจนลุถึงปี ฮ.ศ.1224


มีการตั้งข้อสังเกตและการวิพากษ์วิจารณ์ต่อระบบราชการที่มีกรมกองในประเทศอิยิปต์ ทำให้ก็อยซ๊อรฺ ตะอาซีฟ จำต้องทำการศึกษาถึงระบบราชการและจัดวางระเบียบการบริหารกรมกองเสียใหม่ ความคิดของก็อยซ๊อรฺและหลักการบริหารราชการแผ่นดินของเขาได้ถูกนำมาปฏิบัติและดำเนินการตลอดช่วงระยะเวลาอันยาวนานในกรุงไคโร นครหลวงของอิยิปต์

 

กล่าวโดยสรุป ก็อยซ๊อรฺ ตะอาซีฟ เป็นนักวิชาการมุสลิมรุ่นแรกๆ ที่คิดประดิษฐ์กังหันหรือจักร อีกทั้งยังมีความชำนาญและผลงานทางวิชาการในด้านวิชาเรขาคณิต, วิศวกรรมศาสตร์, ดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่า ผลงานโดยส่วนใหญ่ของก็อยซ๊อรฺได้สูญหายเนื่องจากเหตุความวุ่นวายและสงครามครูเสด อย่างไรก็ตามคุณูปการของก็อยซ๊อรฺในด้านวิทยาการนั้นก็ได้รับการศึกษาและวิจัยจากบรรดานักบูรพาคดีชาวตะวันตกบางคนจนกลายเป็นข้อเท็จจริงที่มิอาจปฏิเสธได้ถึงคุณูปการของนักปราชญ์ผู้นี้