วิภาษเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามในหนังสือแปล “ศาสนาทั้งหลายนับถืออะไร” [ตอนที่ ๑]


What The Great Religions Believe
เขียนโดย Joseph Gaer
แปลโดย ฟื้น ดอกบัว พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2554 (สำนักพิมพ์ศยาม)


บทเกริ่นนำของผู้วิภาษ

الحمدلله رب العا لمين والصلاة والسلام عللى المبعوث رحمة للعا لمين وعلى آله الطاهرين وصحا بته أجمعين…….أمابعد :

ผู้วิภาษได้รับไฟล์แนบจากคุณ Binti Umar เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่ปรากฏในหนังสือแปลที่ชื่อ “ศาสนาทั้งหลายนับถืออะไร” เขียนโดย โจเซฟ แกร์ (Joseph Gaer) นักเขียนชาวตะวันตก แปลเป็นไทยโดย คุณฟื้น ดอกบัว อดีตรองศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

คุณ Binti Umar ได้พบเจอหนังสือเล่มนี้ในห้องสุมด คงได้อ่านแล้วจึงได้ขอให้ผู้วิภาษช่วยอ่านและแนะนำแก้ไขเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ที่เขียนเกี่ยวกับศาสนาอิสลามเป็นการเฉพาะ หนังสือเล่มนี้เขียนในเชิงศาสนาเปรียบเทียบ กล่าวคือเขียนถึงความเชื่อของศาสนาต่างๆ ที่มีพลโลกนับถืออยู่ในปัจจุบันและอดีต ศาสนาอิสลามมีเนื้อหาอยู่ในบทที่ 10 แบ่งเป็น 8 หัวข้อ เมื่ออ่านดูคร่าวๆ แล้วก็พบว่ามีเนื้อหาคลาดเคลื่อนอยู่อักโขซึ่งคงปล่อยผ่านไปเสียมิได้ ด้วยเป็นหนังสือที่ถูกวางอยู่ตามแผงและชั้นหนังสือในห้องสมุด เกรงว่าจะมีผู้ที่สนใจในเรื่องศาสนาเปรียบเทียบนำไปอ่านแล้วก็จะได้รับข้อมูลที่ผิดเพี้ยนและเคลื่อนคล้อยออกจากความจริงเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม จึงยินดีรับเป็นกิจธุระเอาไว้เพื่อเขียนบทวิภาษเกี่ยวกับข้อมูลเนื้อหาที่ผู้เขียนชาวตะวันตกนำเสนอเอาไว้

 

ทั้งนี้มิได้มีเจตนาวิภาษผู้แปล คือ คุณฟื้น ดอกบัว แต่อย่างใด ด้วยว่าเป็นเพียงผู้แปลและถ่ายทอดเนื้อหาจากที่ฝรั่งเขียนไว้และผู้แปลก็คงมิได้มีความสันทัดกรณีในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ด้วยเป็นพุทธศาสนิกชน ผู้วิภาษจึงขอทำการเขียนบทความวิภาษเฉพาะเนื้อหาที่แปลมาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามเท่านั้น โดยไม่ก้าวล่วงไปในเรื่องของศาสนาอื่นตลอดจนมีเจตจำนงค์ในการนำเสนอข้อมูลที่ขัดแย้งและต่างจากสิ่งที่ผู้เขียนต้นเรื่องซึ่งมิใช่ชาวมุสลิมรวบรวมเอาไว้และคลาดเคลื่อนจากความจริงเกี่ยวกับศาสนาอิสลามซึ่งเป็นศาสนาของผู้วิภาษเอง และขอขอบคุณ คุณ Binti Umar ไว้ ณ ที่นี้อย่างสูงในฐาะนะผู้สนับสนุนข้อมูลและมีจิตอันพิสุทธิในการรักษาไว้ซึ่งความบริสุทธิ์แห่งศาสนาอิสลาม

 

والله ولي التو فيق

อาลี อะหฺมัด อบูบักร มุฮัมมัด อะมีน

ผู้วิภาษ

 

1. ในสมัยก่อนกาตุม (Katum)

 

วิภาษ ไม่ทราบว่าผู้เขียนได้ข้อมูลเรื่อง “กาตุม” นี้มาจากแหล่งใด สำหรับนักประวัติศาสตร์ที่สันทัดกรณีในเรื่องอิสลามศึกษา ทั้งชาวตะวันตก (นักบูรพาคดี) และชาวมุสลิเอง เท่าที่ทราบไม่มีผู้ใดแบ่งช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ในยุคก่อนอุบัติขึ้นของศาสนาอิสลามในคาบสมุทรอาหรับว่า “เป็นสมัยก่อนกาตุม” แต่ที่ทราบกันดีเรียกช่วงสมัยก่อนศาสนาอิสลามว่า “ยุคแห่งอวิชชา” (ignorance age)

 

หรือในภาษาอาหรับว่า “อัล-อัศรุล ญาฮิลียฺ” (اَلْعَصْرُ الْجَاهِلِىّ) หรือเรียกว่า “ยุคก่อนอิสลาม” (Pre-Islamic epoch) หรือในภาษาอาหรับว่า “มา ก็อบล่า อัล-อิสลาม” (مَاقَبْلَ الإسلام) หรือ “ยุคพหุเทวนิยม” (paganism) เรียกในภาษาอาหรับว่า “อัศรุล วะษะนียะฮฺ” (عَصْرُالْوَثَنِيَّةِ) อันเป็นยุคที่ชาวอาหรับเบี่ยงเบนออกจากวิถีแห่งความเชื่อของศาสนทูตอิบรอฮีม (อ.ล.) และศาสนทูตอิสมาอีล (อ.ล.) ซึ่งยึดมั่นในเอกานุภาพของเอกองค์  อัลลอฮฺ (ซ.บ.) สู่การตั้งภาคีด้วยการบูชารูปเคารพ และการใช้ชีวิตที่เหลวแหลกและมีความเสื่อมทางศีลธรรม

 

ยุคแห่งอวิชชา จึงเป็นยุคที่กลุ่มชาติพันธุ์อาหรับตกอยู่ในความมืดมนและหลงผิดตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษด้วยกัน และยุคแห่งอวิชชาได้สิ้นสุดลงด้วยการประกาศศาสนาอิสลามโดยศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ในราวปี ค.ศ.610 ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของสมัยอิสลาม (Islamic age) หรือเรียกในภาษาอาหรับว่า อัล-อัศรุล อิสลามียฺ (اَلْعَصْرُالْإسْلَامِيُّ)

 

“พวกเขายังเคารพถึงบรรพบุรุษของพวกเขา อับราฮัมและอิสมาอีล อีกทั้งนิยายอาหรับโบราณก็ให้เรื่องราวของบรรพบุรุษของพวกเขา ….(แล้วเขียนถึงอับราฮัม)”

วิภาษ ชาวอาหรับในยุคก่อนอิสลามให้ความเคารพต่อศาสนทูตอิบรอฮีม (อ.ล.) และศาสนทูตอิสมาอีล (อ.ล.) ผู้เป็นบุตรคนหัวปีของศาสนทูตอิบรอฮีม (อ.ล.) ซึ่งเกิดแต่นางฮาญัรหรือเรียกตามสำเนียงไบเบิ้ลเก่าว่า ฮาการ์ กรณีนี้ไม่ผิดเพี้ยน แต่ดูเหมือนว่าฝรั่งผู้เขียนพยายามเขียนเรื่องราวของศาสนทูตทั้งสองในทำนองว่าเป็น “นิยายปรำปราของอาหรับโบราณ” ทั้งๆ ที่เรื่องราวของบุคคลทั้งสองเป็นเรื่องจริงตามประวัติศาสตร์ที่ชาวอาหรับได้ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และสามารถไล่เรียงเชื้อสายตระกูลที่สืบถึงบุคคลทั้งสองได้อย่างชัดเจน

 

อีกทั้งเรื่องราวของบุคคลทั้งสองก็มีระบุไว้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมในบทปฐมกาล เรื่องราวของศาสนทูตอิบรอฮีม (อ.ล.) และอิสมาอีล (อ.ล.) จึงมิใช่เป็นเพียงตำนานหรือนิยายโบราณที่เล่าขานกันในหมู่ชาวอาหรับเท่านั้น หากแต่เป็นความจริงทางประวัติศาสตร์ที่มีความเห็นตรงกันถึงความมีตัวตนอยู่จริงของบุคคลทั้งสองในหมู่ศาสนิกชน 3 ศาสนา คือ ยูดาย คริสต์ และอิสลาม

 

แทนที่ฝรั่งผู้เขียนจะนำเสนอเรื่องราวในยุคก่อนอิสลามในเชิงวิชาการและการอ้างอิงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เป็นแบบแผน ฝรั่งผู้เขียนกลับเริ่มต้นหัวข้อที่ 1 นี้ด้วยการเขียนในทำนองการอ้างตำนานและนิยายปรัมปราทำให้ความเป็นวิชาการของหนังสือเล่มนี้สูญเสียไปอย่างไม่ควรจะเป็น

 

หัวหน้าชาวพื้นเมืองทะเลทราย นามว่า อับราฮัม [1]  อาศัยอยู่ในทะเลทรายกับภรรยา ๒ คน คนหนึ่งชื่อว่า ซาราห์ และอีกคนหนึ่ง ชื่อ กาฮาร์ ซาราห์ภรรยาคนแรกไม่มีบุตรธิดา แต่กาฮาร์ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง และตั้งชื่อให้ว่าอิสมาเอล ๑๐ ปีต่อมา ซาราห์ก็ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่งเช่นกัน เด็กได้รับตั้งชื่อว่า ไอแสค (Isac) ต่อมาซาราห์กลัวอิสมาเอลจะอ้างสิทธิการเป็นทายาท และรับส่วนแห่งมรดกของบิดาในฐานะบุตรหัวปี นางได้ทำให้สามีลุ่มหลง และขับฮาการ์และบุตรของนางออกไป
[1] อับราฮัม ไม่ใช่คนยิว หรือคริสเตียน แต่เขาเป็นคนเที่ยงธรรม เป็นมุสลิมและไม่บูชารูปเคารพ (โกราน)

อับราฮัมต้องเสียใจด้วยคำอ้างของซาราห์ แต่เขาก็ต้องส่งฮาการ์และเด็กชายออกไปยังทะเลทราย แม่และลูกท่องเที่ยวไปเป็นเวลานานท่ามกลางความเร่าร้อนอันทารุณของกลางวัน ฮาการ์นั่งลงบนก้อนหินและร้องไห้ เพราะนางกลัวว่านางและลูกชายของนางจะตายเพราะความหิวกระหาย อิสมาเอลยืนอยู่ใกล้นางได้เตะทรายร้อนใต้เท้า และทันใดนั้นจากจุดที่เท้าของเขาเตะ แหล่งน้ำอันชื่นชุ่มก็ได้พุ่งขึ้น (และตามตำนานน้ำพุนั้นได้พุ่งอยู่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา)

เมื่ออับราฮัมได้ยินถึงความอัศจรรย์ในทะเลทราย เขาได้มาหาฮาการ์ และอิสมาเอล แล้วตั้งชื่อน้ำพุว่า “เซมเซม” หรือน้ำพุของอิสมาเอล เขาได้สร้างวิหารรูป ๔ เหลี่ยมใกล้ๆ กับน้ำพุนั้นเรียกว่ากาบะ (หิน ๔ เหลี่ยม) และที่มุมตะวันออกของวิหาร อับราฮัมได้ตั้งหินดำ ซึ่งรับช่วงลงมาถึงเขาโดยเป็นมรดกจากอาดัม หินสีดำนี้อาดัมได้นำมาจากสวนอีเดน เมื่ออาดัมและภรรยาของเขาถูกขับออกจากสวนนั้น และหินก้อนนี้มีอยู่ในทิศใต้ ผู้มีศรัทธาแท้จริงทุกคนจะหันหน้าไปทางทิศนั้น เพื่อสวดมนต์อ้อนวอน

ใกล้วิหารที่อับราฮัมสร้างไว้ ฮาการ์และบุตรของนางอาศัยอยู่ เมื่ออิสมาเอลเติบโต เขาได้แต่งงานและขยายครอบครัวใหญ่ และบุตรหลานของเขาเพิ่มทวีคูณจนกระทั่ง กลายเป็นชาติใหญ่ รอบๆวิหารก็กลายเป็นเมืองใหญ่ เรียกว่า “เมกกะ” และพวกลูกของอิสมาเอลเข้าครอบครองดินแดนทางทิศตะวันออกไกลออกไปถึงอ่าวเปอร์เซีย ทางทิศเหนือไปถึงทะเลมิเตอเรเนียน และทางทิศใต้ไปถึงอ่าวเอเดน

 

วิภาษ เรื่องราวของศาสนทูตอิบรอฮีม (อ.ล.) และครอบครัวของท่านที่ผู้เขียนนำเสนอขาดเชิงอรรถและแหล่งที่มาในการอ้างอิง ถึงแม้ผู้เขียนจะเกริ่นไว้ในคำนำว่าเป็นการรวบรวมข้อมูลอย่างย่อๆ โดยไม่เจาะลึกเข้าไปถึงรายละเอียดก็ตาม เพราะถ้าหากผู้เขียนเคร่งครัดในแนวการนำเสนอเรื่องราวของศาสนทูตอิบรอฮีม (อ.ล.) และครอบครัวของท่านตลอดจนการกำเนิดขึ้นของนครมักกะฮฺเรื่องตาน้ำซัมซัม และการสร้างอาคาร อัล-กะบะฮฺ จากตำรับตำราที่ศาสนิกชนในศาสนาอิสลามเป็นผู้เขียนไว้ได้โดยสรุปๆ เช่นกัน

 

แต่ผู้เขียนก็ไม่เคร่งครัดในการนำเสนอ และดูเหมือนว่าข้อมูลที่ผู้เขียนนำเสนอในเรื่องนี้เป็นการอ้างจากตำราศาสนาเปรียบเทียบของชาวตะวันตกด้วยกันเอง ซึ่งไม่ถือเป็นแหล่งอ้างอิงในขั้นปฐมภูมิ อีกทั้งแนวการเขียนของนักบูรพาคดีชาวตะวันตกในกรณีนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับศาสนาอิสลามและชาวอาหรับก็มักจะเป็นไปในลักษณะฉาบฉวยและเจือสม ตลอดจนมักสอดใส่ความมีอคติลงไปในการนำเสนออีกด้วย

 

๒. นิมิตหมายแห่งศาสดาพยากรณ์   ในบรรยากาศแห่งโชคลางนี้ การบูชาเทวรูปและถืออาถรรพ์มีอยู่ในใจกลางเมืองเมกกะ และในหน้าเต็มแห่งประวัติศาสตร์ ศรัทธาใหม่ก็ได้เกิดขึ้น ถ้าเรารู้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับสมัยแรกเริ่มของผู้ตั้งศาสนานี้ นอกเหนือจากเรื่องที่สาวกและผู้นับถือของผู้ตั้งศาสนานี้เขียนถึงเขาหลังจากเขาตายแล้ว เพราะว่าไม่มีใครสามารถบอกถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยที่ผู้ตั้งศาสนายังเยาว์วัย เขาถูกกำหนดให้เผชิญกับอิทธิพลที่ครอบงำอยู่ในสมัยนั้น ไม่เพียงครอบงำผู้คนของเขาเท่านั้น แต่ยังแผ่ไปทั่วถึงมนุษยชาติส่วนใหญ่ด้วย ความจริงยังไม่ทันที่เขาจะถึงวัยกลางคน ก็ได้มีนิมิตหมายบ่งว่า เขาจะกลายเป็นคนหนึ่งในบรรดาน้อยคนผู้ที่ชื่อของเขาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์

วิภาษ ผู้เขียนเรียกท่านศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่าเป็น “ผู้ตั้งศาสนา” ซึ่งความจริงศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) มิใช่ “ผู้ตั้งศาสนาอิสลาม” เพราะศาสนาอิสลามในความเชื่อของชาวมุสลิม (ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ผู้เขียนต้องนำเสนอ) เป็นศาสนาแห่งเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่ทรงประทานเป็นทางนำแห่งมนุษยชาติในแต่ละยุคสมัยนับแต่ปฐมบุรุษคือ อาดัม (อ.ล.) ศาสนาอิสลามมีมาก่อนการประกาศของศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นวิถีของบรรดาศาสนทูตหรือศาสดาพยากรณ์ในทุกยุคทุกสมัยทั้งหมดได้รับการดลใจจากเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) หรือ อัล-วะหฺยุ (inspiration revelation) ที่เป็นคนละกรณีกับการวิวรณ์ในบริบทของคริสตศาสนาตามแบบแผนของพระคริสตธรรมคัมภีร์

 

ทั้งนี้วิถีของบรรดาศาสนทูตในอดีตกาลเป็นวิถีเดียวกันกับสิ่งที่ท่านศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้นำมาประกาศเป็นครั้งสุดท้ายแก่มนุษยชาติจวบจนถึงวันอวสานของโลก โดยวิถีดังกล่าวตั้งอยู่บนหลักความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวและการปฏิเสธภาคีทั้งปวง ศาสนาอิสลามจึงมิใช่ศาสนาที่  ศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺ) เป็นผู้ก่อตั้งหรือคิดค้นขึ้น สถานภาพของศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)   จึงเป็นศาสนทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้ประกาศสิ่งที่พระองค์ทรงดลใจมายังท่านเท่านั้น สถานภาพของท่านจึงแตกต่างจากคำจำกัดความของคำว่า “ศาสดา” ในเชิงของผู้ก่อตั้งศาสนา แต่มีสถานภาพเช่นเดียวกับศาสนทูตในยุคอดีต เช่น อิบรอฮีม , อิสมาอีล , นัวหฺ , มูซา , ฮารูน , ยะห์ยา และอีซา เป็นต้น

และกรณีที่ผู้เขียนอ้างว่า เรื่องราวของศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นเรื่องที่ผู้คนในสมัยหลังเขียนถึงภายหลังการจากไปของท่าน โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “เพราะว่าไม่มีใครสามารถบอกถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยที่ผู้ตั้งศาสนายังเยาว์วัย” เป็นการเขียนในทำนองชี้นำให้ผู้อ่านคล้อยตามว่าอัตชีวประวัติของท่านศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นเรื่องที่มีเงื่อนงำกำกวมและอึมครึม ทั้งๆ ที่เนื่องราวของท่านมีความชัดเจนนับตั้งแต่เกิดจนถึงสิ้นชีวิต จริงอยู่ที่ว่าการรวบรวมและจดบันทึกเรื่องราวของท่านเกิดขึ้นในชั้นหลัง

 

แต่นั่นก็มิใช่สิ่งที่คลุมเครือ เพราะเรื่องราวของท่านได้ถูกถ่ายทอดในเชิงมุขปาฐะที่ประจักษ์และได้รับการจดจำจากผู้คนที่อยู่ร่วมสมัยกับท่าน และการจดจำที่เป็นเลิศถือเป็นคุณสมบัติของชาวอาหรับที่มีความพิเศษเป็นอย่างยิ่ง เพราะชาวอาหรับไม่นิยมการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่นิยมในการจดจำและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

 

เหตุนั้นการบันทึกและจดจารเรื่องราวที่ถูกจดจำและถ่ายทอดในชั้นหลังจึงมีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบสถานภาพของผู้ถ่ายทอดในด้านคุณสมบัติความจำ ความแม่นยำ และความน่าเชื่อถือ ซึ่งหลักเกณฑ์เช่นนี้ไม่มีในกลุ่มชนอื่น และถึงแม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของท่านศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ในช่วงเยาว์วัยจะมีรายละเอียดไม่มากนักเมื่อเทียบกับเรื่องราวในช่วงอายุขัยของท่านภายหลังการเป็นศาสนทูตของเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)

 

แต่ข้อมูลที่ได้รับการถ่ายทอดและถูกจดบันทึกอย่างเป็นกิจลักษณะก็เพียงพอสำหรับการศึกษาวิถีชีวิตของท่านในช่วงก่อนการประกาศศาสนา และมีมากพอยิ่งกว่ากรณีของศาสดาในศาสนาอื่นๆ ด้วยซ้ำไป ที่สำคัญเรื่องราวในยามเยาว์วัยของท่านศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)   นั้นส่วนหนึ่งเป็นการถ่ายทอดด้วยตัวท่านเอง ซึ่งชัดเจนและไร้ข้อกังขายิ่งกว่าการบอกเล่าของบุคคลอื่นอย่างแนนอน

 

ในหรือราว ค.ศ.๕๗๐ ในเมืองเมกกะ เด็กชายคนหนึ่งเกิดขึ้นมาในตระกูลขุนนางเผ่าโกเรซ (Koreish) ต่อมา หลังจากการสิ้นชีพของโมฮัมเม็ด (Mohummed) ได้มีตำนานจำนวนมากเกิดขึ้น บอกถึงความอัศจรรย์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อพระโมฮัมเม็ดเกิด ดวงดาวทั้งหลายได้ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า ภูเขาทั้งหลายและหุบเขาก็ทำเช่นเดียวกัน ชื่นชมเด็กเกิดใหม่ วัดทั้งหลายต่างพังลงเป็นผงคลีไปทั่วดินแดน และแม้ในประเทศเปอร์เซียอยู่ห่างไกล ไฟนิรันดร์ที่ลุกไหม้ติดต่อกันมาหลายศตวรรษในวัดโซโรอัสเตอร์ก็พลันดับในทันใด แผ่นดินไหวด้วยความยินดี รูปเคารพทั้งหลายทั่วโลกพังทลายลงจากฐานตั้ง และทุกแห่งมีลางบอกว่า เด็กชายผู้ยิ่งใหญ่และเป็นคนของพระเจ้าจะมาบังเกิดขึ้น เพื่อชำระล้างแผ่นดินที่เต็มไปด้วยรูปเคารพและการคอรัปชั่น

วิภาษ ตระกูล “กุรอยช์” มิใช่ตระกูลขุนนาง เพราะชาวอาหรับในแคว้นอัล-หิญาซฺไม่มีกษัตริย์ปกครอง จะมีก็แต่อาหรับตระกูลอัล-เฆาะสาสินะฮฺ (اَلْغَسَاسِنَةُ) หรือ อาลฺ ญัฟนะฮฺ (آلُ جَفْنَة) ซึ่งเป็นอาหรับเยเมนที่อพยพจากแคว้นเยเมนภายหลังการพังทลายของเขื่อนมะอฺริบ ในคริสตศตวรรษที่ 3 และเข้าไปอาศัยอยู่ในเขตหูรอน , จอร์แดนตะวันออก , แคว้นฟินิเชียของเลบานอน และปาเลสไตน์ พวกอัล-เฆาะสาสินะฮฺ ถือในศาสนาคริสต์นิกายโมโนฟิสท์ (Monophysite) และเข้าร่วมกับพวกโรมันไบเซนไทน์ จึงเป็นขุนนางชาวอาหรับที่สวามิภักดิ์ต่อจักรวรรดิ์โรมันไบเซนไทน์ที่แผ่อิทธิพลเข้ามาในแคว้นชาม หรือ ซีเรีย

 

อาหรับอีกสายตระกูลหนึ่งเป็นพวก “ลัคมียูน” ที่เรียกว่าพวกอัล-มะนาซิเราะฮฺ (اَلْمَنَا ذِرَةُ) เดิมเป็นชาวอาหรับเยเมน ภายหลังได้อพยพเคลื่อนย้ายขึ้นสู่ตอนเหนือของคาบสมุทรอาหรับในแคว้นชามและอีรัก ถือในศาสนาคริสต์ แต่สวามิภักดิ์และเป็นพันธมิตรกับจักรวรรดิเปอร์เซีย ตระกูลอาหรับอัล-เฆาะสาสินะฮฺ และ อัล-มะนาซิเราะฮฺ ซึ่งมักรบพุ่งระหว่างกันถูกจัดว่าเป็นตระกูลของขุนนางชาวอาหรับที่รับใช้ 2 จักรวรรดิ์ทีเรืองอำนาจในเวลานั้น

 

ส่วนตระกูลกุรอยช์นั้นมีหลักแหล่งอยู่ในใจกลางของคาบสมุทรอาหรับ และมิใช่ตระกูลขุนนาง หากแต่เป็นตระกูลที่มีอำนาจและอิทธิพลในนครมักกะฮฺ ซึ่งอำนาจและอิทธิพลดังกล่าวเป็นผลมาจากความเป็นนักการค้าของผู้นำตระกูล เช่น อัน-นัฎร์ อิบนุ กินานะฮฺ ซึ่งต่อมาได้รับฉายาว่า “กุร็อยชฺ” และ กุศ็อยย์ อิบนุ กิล๊าบ ผู้นำตระกูลในรุ่นหลังที่สามารถขับไล่ตระกูลคุซาอะฮฺออกจากอำนาจเหนือนครมักกะฮฺและเข้าควบคุมการจัดระเบียบกองคาราวานสินค้าและการดูแลอัล-กะบะฮฺได้อย่างเบ็ดเสร็จในตอนปลายคริสตศตวรรษที่ 5

 

อย่างไรก็ตาม ตระกูลกุรอยช์ที่ทรงอำนาจในนครมักกะฮฺมิใช่ตระกูลขุนนางอย่างที่ผู้เขียนกล่าวอ้าง และการที่ท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ถือกำเนิดมาในตระกูลกุรอยช์ก็เป็นไปตามพระประสงค์ของเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) โดยเชื้อสายของตระกูลนี้ไปสิ้นสุด ณ ศาสนทูตอิสมาอีล (อ.ล.) ผู้เป็นบุตรคนหัวปีของศาสนทูตอิบรอฮีม (อ.ล.) ซึ่งบุคคลทั้งสองเป็นผู้ยกรากฐานอาคารอัล-กะบะฮฺขึ้นในนครมักกะฮฺตามพระบัญชาของเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)

 

ส่วนการที่ผู้เขียนอ้างว่า ภายหลังการสิ้นชีพของท่านศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้มีตำนานจำนวนมากเกิดขึ้นเพื่อให้เรื่องราวในการถือกำเนิดของท่านเป็นความอัศจรรย์นั้น ความจริงแล้วเป็นการรายงานและบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่ท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ถือกำเนิด เช่น ความฝันของท่านหญิงอามินะฮฺ มารดาของท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ท่านหญิงได้เล่าให้ท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ฟังในขณะที่ท่านหญิงยังมีชีวิตอยู่และท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็มีอายุได้ 6 ปี เมื่อท่านหญิงเสียชีวิตที่ตำบลอัล-อับวาอฺ ,

 

เรื่องแสงสว่างที่ปรากฏออกมาจนกระทั่งเห็นปราสาทของโรมขณะที่ท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) คลอดโดยมารดาของอับดุรเราะหฺมาน อิบนุ เอาวฟ์ ซึ่งนางเป็นผู้ทำคลอดท่าศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) และแสงสว่างที่ส่องไปทั่วบ้านและการปรากฏชัดของดวงดาวตามคำบอกเล่าของมารดาอุษมาน อิบนุ อบี-อัลอาศ ซึ่งอยู่ร่วมในเหตุการณ์ขณะนั้น เรื่องราวที่ท่านหัสสาน อิบนุ ษาบิต เล่าถึงสิ่งที่ชาวยิวในนครยัษริบ (นครมะดีนะฮฺ) พูดถึงดวงดาวของอะหฺมัด ศาสนทูตท่านสุดท้ายได้ปรากฏขึ้นในค่ำคืนที่ท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ถือกำเนิด ซึ่งขณะนั้นท่านหัสสาน มีอายุอยู่ราว 7-8 ปี

 

เรื่องราวของท้องพระโรงที่พังถล่มลงมาในรัชสมัยของจักรพรรดิกิสรอ อะนูชัรวาน แห่งเปอร์เซียซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกับค่ำคืนที่ท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ถือกำเนิด การดับลงของอัคคีนิรันดร์ซึ่งไม่เคยดับลงมาก่อนตลอดระยะเวลา 1,000 ปี น้ำในทะเลสาบสาวะฮฺเหือดแห้งลง ทั้งหมดเป็นคำบอกเล่าของบุคคลที่อยู่ร่วมสมัยคือ ฮานียฺ อัล-มัคซูมียฺ ซึ่งมีอายุยืนยาวถึง 150 ปี ที่เล่าถ่ายทอดแก่ลูกหลานในสายตระกูลมัคซูม ตลอดจนมีบันทึกไว้ในพงศาวดารของจักรวรรดิ์เปอร์เซียถึงเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งสามารถตรวจสอบวันเวลาได้ ทั้งหมดเป็นคำบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หรือผู้ที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยมิใช่ตำนานที่ถูกเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นมาภายหลังการสิ้นชีวิตของท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) แต่อย่างใด

 

“เขา (ปู่) จึงตั้งชื่อเด็กนั้นว่า “กาตุม โมฮัมเม็ด” หมายถึง “กาตุม ผู้ควรสรรเสริญ” นามว่า กาตุม ได้ถูกลืมไป แม้ในหมู่ศาสนิกของพระโมฮัมเม็ดซึ่งเพิ่มทวีคูณ…”

วิภาษ ไม่ทราบว่าผู้เขียนได้ข้อมูลนี้มาจากแหล่งใด เพราะถึงแม้ว่าท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) จะมีนามชื่อว่า “อัล-คอติม” (اَلْخَاتِم) ซึ่งแปลว่า ผู้สุดท้าย หรือ “ผู้ปิดผนึกสาส์น” เพราะท่านเป็น ศาสนทูตสุดท้าย แล้วอาจจะเรียกเพี้ยนเป็น กาตุม (Katum) อย่างที่ผู้เขียนว่าเป็นตุเป็นตะ ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ เลยที่ยืนยันว่าท่านมีชื่อว่า กาตุม

 

หากแต่หลักฐานที่ปรากฏชัดก็คือ เมื่อถึงวันที่ 7 อับดุลมุฏฏอลิบ ปู่ของท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้เชือดแกะและเชื้อเชิญตระกูลกุรอยช์มาร่วมรับประทานอาหาร เมื่อรับประทานอาหารเสร็จพวกเขาถามอับดุลมุฏฏอลิบว่า ตั้งชื่อเด็กน้อยว่าอะไร? อับดุลมุฏกอลิบตอบว่า ฉันตั้งชื่อเขาว่า มุฮัมมัด! ไม่ปรากฏว่ามีคำว่า “กาตุม” แต่อย่างใด (อัล-บิดายะฮฺ ; อิบนุกะษิร เล่มที่ 2 หน้า 247) สิ่งที่ผู้เขียนอ้างเป็นตุเป็นตะว่า ชื่อ กาตุม ได้ถูกหลงลืมไป แม้ในหมู่ศาสนิกชนที่เป็นมุสลิมก็ไม่รู้จักชื่อนี้ รู้จักแต่ชื่อ “มุฮัมมัด” เท่านั้น

 

ความจริงก็คือ ชื่อนี้ (กาตุม) มิได้ถูกหลงลืมไปแต่อย่างใด เพราะเป็นชื่อที่ไม่มีอยู่จริงนั่นเอง อนึ่งเป็นไปได้ว่าคำว่า กาตุม เพี้ยนเสียงจากคำว่า กุษัม อัล-เกาะษูม ซึ่งเป็นหนึ่งจากชื่อของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กระนั้นชื่อนี้ก็มิได้ถูกหลงลืมแต่เป็นชื่อที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างเท่านั้น และไม่มีหลักฐานยืนยันว่าปู่ของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ตั้งชื่อ กุษัม อัล-เกาะษูม (قُثَمُ الْقَثُوْمِ) ให้แก่ท่านเมื่อครั้งอายุได้ 7 วัน หากแต่ความหมายของชื่อนี้หมายถึงผู้ที่ให้อย่างมากมายซึ่งเป็นการเรียกขานในภายหลัง

 

ถึงแม้ว่า พระโมฮัมเม็ดไม่ได้เล่าเรียนอ่านและอ่าน ระหว่างเดินทางไปเยเมน ซีเรีย อบิสสิเนีย เปอร์เซีย และอียิปต์ เขามักได้พบพ่อค้าชาวยิวและชาวคริสเตียน และได้ฟังถึงความเชื่อของศาสนายูดายและศาสนาคริสต์จากคนเหล่านั้น…”

วิภาษ การที่ท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่ได้เล่าเรียนอ่านและเขียนนั้นเป็นคุณสมบัติพิเศษของท่านที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกำหนดเอาไว้ เพราะเมื่อท่านได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ประกาศสาส์นของพระองค์แก่มนุษยชาติ บรรดาผู้ปฏิเสธก็ย่อมมิอาจอ้างได้ว่า ท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้อ่านและบันทึกข้อความที่ประกาศมาจากการเรียนรู้ในคัมภีร์ของกลุ่มอื่น สิ่งที่ท่านประกาศเป็นสัจธรรมที่มาจากแหล่งเดียวเท่านั้นคือการดลใจของพระผู้เป็นเจ้า

 

ถ้อยความในคัมภีร์อัล-กุรอานที่เป็นสัจธรรมและเป็นแหล่งข้อมูลของสรรพศาสตร์ทั้งหลายก็มิใช่สิ่งที่ท่านกล่าวหรือประพันธุ์ร้อยเรียงขึ้น เพราะท่านมิใช่ผู้ที่อ่านออกและเขียนได้ อีกทั้งมิใช่นักกวีอีกด้วย เรื่องราวของบรรดาศาสนทูตในครั้งเก่าก่อน และหลักคำสอนในคัมภีร์ในครั้งอดีต ล้วนเป็นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงมีการดลใจให้ท่านได้นำมาประกาศและเปิดเผย หลายเรื่องไม่มีระบุไว้ในคัมภีร์เก่าก่อน แต่อัล-กุรอานซึ่งเป็นดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าได้ให้รายละเอียดเอาไว้ ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่หายไป แต่ถูกระบุเอาไว้ในอัล-กุรอานอย่างชัดเจน ท่านรู้ได้อย่างไรเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้น

 

สรรพวิชาที่มีอัล-กุรอานเป็นแม่บทได้รับการพิสูจน์ว่า อัล-กุรอานได้ระบุเอาไว้ ท่านรู้ได้อย่างไรถึงความจริงในสรรพวิชาเหล่านั้น ทั้งๆ ที่ไม่เคยเข้าโรงเรียนและอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แน่นอนท่านไม่ได้รู้ถึงสัจธรรมเหล่านั้นด้วยการศึกษาเล่าเรียนและคิดค้น หากแต่สิ่งที่ท่านรู้และประกาศให้มนุษยชาติได้รับรู้คือสัจธรรมอันมาจากพระผู้เป็นเจ้าซึ่งดลใจให้แก่ท่าน การที่ท่านอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าท่านคือศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้า ไม่มีอะไรที่มากไปกว่านั้น

 

ส่วนการที่ผู้เขียนอ้างถึงการเดินทางในช่วงเยาว์วัยของท่านยังดินแดนต่างๆ เพื่อทำการค้าขายกับลุงของท่านนั้น มีเพียงดินแดนเดียวเท่านั้นที่ท่านได้ร่วมทางไปกับลุงของท่านคือ แคว้นชาม หรือ ซีเรีย และที่ซีเรียท่านก็ไปในฐานะผู้ร่วมขบวนกองคาราวาน และอายุของท่านในขณะนั้นก็มีอายุเพียง 12 ปี ท่านมิใช่หัวหน้ากองคาราวานสินค้าและมิใช่พ่อค้าที่จะต้องเจรจาปราศัยกับพ่อค้าต่างเมือง เด็กที่มีอายุ 12 ปีย่อมมิใช่วัยของบุคคลที่แสวงหาสัจธรรมหรือครุ่นคิดในเรื่องปรัชญาและลัทธิความเชื่อของผู้คน การเดินทางของท่านไปกับกองคาราวานสินค้าก็มีเพียงเหตุผลเดียวคือการติดตามลุงของท่านไปในฐานะหลานผู้เป็นสุดที่รัก

 

และที่มีรายงานมาว่า กองคาราวานสินค้าของตระกูลกุรอยช์ได้ลงพักใกล้กับอาศรมของบาทหลวงในศาสนาคริสต์นามว่า บะฮีรอ และมีการสนทนาเกิดขึ้นระหว่างบาทหลวงกับชาวกุรอยช์ นั่นก็เป็นการสนทนากับลุงของท่านโดยตรง บาทหลวงไม่ได้พูดคุยสนทนาปัญหาธรรมหรือแลกเปลี่ยนความคิดหรือสั่งสอนความเชื่อในศาสนาคริสต์ให้แก่ท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ในเหตุการณ์ครั้งนั้นเลยแม้แต่น้อย แล้วจะกล่าวว่าท่านได้ฟังเกี่ยวกับความเชื่อในศาสนายูดายและศาสนาคริสต์จากคนเหล่านั้นได้อย่างไร

 

ที่สำคัญท่านร่วมไปกับขบวนคาราวานสินค้าเพื่อไปทำการค้า ต่อรองราคา เลือกหาซื้อสินค้าในขาล่องกลับสู่นครมักกะฮฺ มิได้ไปในฐานะของนักเดินทางที่เที่ยวหาสัจธรรมหรือนักศึกษาที่จาริกไปเพื่อศึกษาเล่าเรียนกับเจ้าสำนักปรัชญาและความเชื่อทางศาสนา

 

สิ่งที่ผู้เขียนกล่าวอ้างเป็นเหมือนแผ่นเสียงตกร่องเพราะพวกนักบูรพาคดีที่พยายามเชื่อมโยงความเชื่อในศาสนาอิสลามกับความเชื่อในศาสนาอื่นก็มักจับประเด็นเหตุการณ์ในตอนนี้เอามาเขียนและวิจารณ์อยู่เนืองๆ โดยพยายามอธิบายและเขียนตามจินตนาการของตนด้วยสำนวนที่คล้ายกับการพรรณนาความรู้สึกนึกคิดของท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่าหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ท่านได้ซึมซับและเก็บเอาเรื่องราวที่เรียนรู้จากพ่อค้าต่างศาสนาเอามาครุ่นคิดมีหัวใจอันแห้งผากบ้าง เดินข้ามทะเลทรายอันน่าเบื่อเป็นเวลานานบ้าง อะไรทำนองนั้น เรื่องทั้งหมดจึงเป็นความจริงที่พวกเขาจินตนาการและคิดผูกเรื่องไปเอง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงมิได้มีอะไรเลยในเรื่องนี้

 

พระโมฮัมเม็ดได้จากลุงของเขา เมื่อเขาอายุได้ ๒๐ ปี และกลายเป็นคนนำทางและหัวหน้าขบวนค้าของหญิงม่ายผู้ร่ำรวยและมีเสน่ห์ ชื่อว่า ขอดิชาห์ ไม่ช้าพระโมฮัมเม็ดได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นคนที่ไว้ใจได้อย่างสมบูรณ์และเป็นพ่อค้าที่สามารถ แล้วในที่สุดเขาได้แต่งงานกับขอดิชาห์ผู้น่ารัก แม้ว่านางมีอายุ ๔๐ ปี ส่วนพระโมฮัมเม็ดอายุ ๒๕ ปี ทั้งๆที่มีอายุแตกต่างกัน แต่การแต่งงานก็เป็นความสุข โมฮัมเม็ดกลายเป็นพ่อค้าที่ร่ำรวยและน่าเคารพแห่งเมืองเมกกะ ทั้งทุ่มเทตัวเองเป็นเวลา ๑๕ ปีถัดมา ทำธุรกิจให้ภรรยาของเขา

วิภาษ จริงๆ แล้วท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่ได้จากลุงของท่านไปไหนเลย ภายหลังการร่วมเดินทางไปกับกองคาราวานสินค้าสู่ซีเรียในครั้งนั้น ท่านยังคงใช้ชีวิตเป็นปกติอยู่กับอบูฏอลิบลุงของท่าน สิ่งที่ท่านได้ทำก็คือการรับจ้างเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะให้แก่ชาวเมืองมักกะฮฺเพื่อแลกกับค่าจ้าง ท่านไม่ได้เดินทางนำขบวนคาราวานสินค้าออกไปยังต่างแดนอีกเลย

 

จนกระทั่งมีอายุได้ 25 ปี ถ้าหากว่าท่านจะยังเป็นพ่อค้าที่ช่วยแบ่งเบาภาระลุงของท่าน ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ในการนำขบวนคาราวานสินค้าออกไปยังต่างแดน เพราะในเขตปริมณฑลของนครมักกะฮฺก็มีตลาดนัดตามเทศกาลอยู่หลายแห่ง เช่น ตลาดอุกาซฺ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองฏออิฟกับนครมักกะฮฺ ตลาดซุน-มะญินนะฮฺ และตลาดซุล-มะญาซฺ เป็นต้น ตลาดทั้ง 3 แห่งจะมีช่วงเวลานัดขายสินค้านับตั้งแต่เดือนซุล-เกาะอฺดะฮฺ และเคลื่อนย้ายมาสิ้นสุดลงในเทศกาลหัจญ์ของทุกปี

 

ตลาดเหล่านี้อยู่ภายในการควบคุมดูแลของบรรดาผู้อาวุโสในตระกูลกุรอยช์ และลุงของท่านคืออบูฏอลิบก็เป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้อาวุโสเหล่านั้น และแน่นอนถ้าหากอบูฏอลิบลุงของท่านเป็นพ่อค้าในตลาดทั้ง 3 แห่ง ท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็ย่อมติดตามลุงของท่านไปด้วย ไม่ได้หมายความว่า ท่านเป็นพ่อค้าอิสระที่กลายเป็นผู้ทำธุรกิจการค้าที่แยกจากลุงของท่านอย่างที่ผู้เขียนพยายามสื่อให้เป็นอย่างนั้น และสิ่งที่ท่านได้บอกเล่าถึงตัวท่านเองว่าท่านรับจ้างเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะให้แก่ชาวนครมักกะฮฺย่อมเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลยิ่งกว่า

 

เพราะลุงของท่านนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นผู้อาวุโสในตระกูลกุรอยชฺ แต่ก็มิใช่ผู้มั่งคั่งหรือพ่อค้าที่ร่ำรวย เหตุนั้นท่านจึงแบ่งเบาภาระของลุงด้วยการประกอบอาชีพรับจ้างเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะให้แก่ชาวมักกะฮฺ จึงไม่ต้องมีทุนรอนใดๆ อาศัยความซื้อสัตย์และการดูแลเอาใจใส่ฝูงปศุสัตว์ที่เจ้าของจ้างวานให้ก็เพียงพอแล้วในการหาเลี้ยงชีพโดยไม่เป็นภาระของลุงที่ยากจน และจากความซื่อสัตย์นี่เอง ผู้คนในนครมักกะฮฺจึงเรียกขานนามท่านด้วยการยอมรับและยกย่องว่า “อัล-อะมีน” หมายถึง “ผู้ที่ซื้อสัตย์และไว้วางใจได้”

 

เพราะท่านไม่เคยโกหกและไม่เคยทิ้งงานไปเที่ยวเตร่ดูมหรสพการละเล่นอย่างที่เด็กหนุ่มเลี้ยงแกะคนอื่นมักกระทำอยู่เนืองๆ การเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะมิใช่อาชีพที่ต่ำต้อยแต่เป็นอาชีพในวิถีของชาวอาหรับซึ่งนิยมเลี้ยงปศุสัตว์ โดยเฉพาะในนครมักกะฮฺซึ่งไม่ใช่ท้องถิ่นทำเกษตร และการประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ก็เป็นอาชีพที่สุจรติที่ปลูกฝังประสบการณ์ในการรับผิดชอบหน้าที่ การดูแลผู้อยู่ใต้การปกครอง การควบคุมการพิทักษ์รักษา และการเป็นผู้นำ อีกทั้งยังเป็นอาชีพของเหล่าศาสนทูตในยุคอดีต เช่น ศาสนทูตมูซา (อ.ล.) หรือ โมเสส ศาสนทูตอิบรอฮีม (อ.ล.) หรือ อับราฮัม , ศาสนทูตลุฏ (อ.ล.) หรือ โลฏ เป็นต้น


ติดตามตอนต่อไป (อินชาอัลลอฮฺ)