การผสมผสานศิลปะการต่อสู้สองแขนง

ดินแดนแว่นแคว้นทางภาคใต้ของสยามประเทศ คือคาบสมุทรมลายูเป็นที่ตั้งของแคว้นโบราณ 4 แห่ง ได้แก่ แคว้นปัตตานี (ลังกาสุกะ) แคว้นสะทิงพระ (พัทลุง-สงขลา) แคว้นนครศรีธรรมราช (ลิกอร์) และแคว้นไชยา (สุราษฎร์ธานี) ทั้ง 4 แคว้นมีความเป็นเครือข่ายของอาณาจักรศรีวิชัยเดิม ความสัมพันธ์ระหว่างแคว้นทั้ง 4 มีคติความเชื่อและวัฒนธรรมแบบพราหมณ์-พุทธเป็นสิ่งหล่อหลอมผู้คนในภูมิภาคส่วนนี้อย่างกลมกลืนก่อนที่ศาสนาอิสลามจะแผ่เข้ามา

 

เมื่ออาณาจักรศรีวิชัยล่มสลายศาสนาอิสลามก็ปรับเปลี่ยนวิถีความเชื่อและปรัชญาทางความคิดของพลเมืองในคาบสมุทรมลายู อาณาจักรมลายูอิสลามในมะละกาก็ปรากฏขึ้นในหน้าประวัติศาสต์ภายหลังการเข้ารับอิสลามของกษัตริย์ปรเมศวรสู่ความเป็นสุลต่านแห่งรัฐมะละกา แคว้นปัตตานีก็แปรเปลี่ยนเป็นรัฐสุลต่านแห่งปัตตานีดารุสสลามด้วยการเข้ารับอิสลามของพญาตู นักปา อินทิรา เดวาวังสา แห่งราชวงศ์ศรีวังสา เฉลิมพระนามใหม่ว่า สุลต่าน อิสมาอีล ชาห์ (พ.ศ. 2043-2073)

 

เมืองนครศรีธรรมราชซึ่งต่อมาถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรที่เกิดขึ้นใหม่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในชื่อที่เรียกกันต่อมาว่า กรุงศรีอยุธยา เมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 ก็มีหลักฐานยืนยันว่าศาสนาอิสลามได้แผ่มาถึงที่นั่นแล้วนับแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีของชาวสยามในสุวรรณภูมิ ในแคว้นสะทิงพระ (พัทลุง-สงขลา) ก็มีหลักฐานยืนยันว่าพวกชาวอาหรับและมลายูเดินทางเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณเกาะสทิงพระ-ระโนด และแถบหัวเขาแดงริมทะเลสาบสงขลามาแต่ครั้งโบราณก่อนที่พวกยุโรปจะเข้ามายังภูมิภาคนี้ (ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม , ใน “สายสกุลสุลต่านสุลัยมาน” หน้า 11-13)

 

ส่วนแคว้นไชยา “ท่านพุทธทาสภิกขุ” ได้กล่าวไว้ในหนังสือโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอนว่า “ส่วนชาวอาหรับนั้น เรามีหลักฐานแน่นอนจากจดหมายเหตุของพวกอาหรับเอง ซึ่งแสดงให้เราทราบว่า เขาได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับดินแดนส่วนนี้ตั้งแต่สมัย 1,100 ปีมาแล้วเหมือนกัน” (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ : , “มุสลิมไทยในประเทศไทย” (2539) หน้า 4)

 

การเข้ารับอิสลามของพลเมืองเดิมในแคว้นทั้ง 4 บนคาบสมุทรมลายูหรือแม้กระทั่งอาณาจักรจัมปาในอินโดนจีนตลอดจนรัฐมลายู-ชะวาในสุมาตราและชวาในช่วงแรกนั้นมิได้ทำให้พลเมืองเดิมในภูมิภาคนี้ละทิ้งคติความเชื่อวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีตลอดจนปรัชญาทางความคิดที่มีรากเหง้าจากพราหมณ์-พุทธไปโดยสิ้นเชิง หากแต่ชาวมุสลิมใหม่ในภูมิภาคนี้ยังคงมีความเชื่อและคติเดิมผสมผสานอยู่ในความเป็นมุสลิมของพวกเขา

 

วัฒนธรรมที่มีคติความเชื่อแบบพราหมณ์-พุทธยังคงมีปรากฏอยู่ในหลายแง่มุมของวิถีชีวิตซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติของการเปลี่ยนถ่ายวัฒนธรรมของสังคมมนุษย์จากวัฒนธรรมเดิมที่ฝังรากหยั่งลึกตลอดระยะเวลานานนับพันปี สู่วัฒนธรรมและความเชื่อในศาสนาใหม่ที่เพิ่งเข้ามา ดังนั้นการเข้ารับอิสลามของพลเมืองในแว่นแคว้นโบราณที่ถูกกล่าวถึงจึงมิใช่เหตุที่ทำให้พลเมืองเหล่านั้นต้องละทิ้งภูมิปัญญาและอารยธรรมเดิมของบรรพบุรุษไปจนหมดสิ้น โดยเฉพาะในส่วนของภูมิปัญญาที่มิได้ขัดกับหลักความเชื่อของศาสนาอิสลามโดยชัดเจน อาทิ ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร วรรณกรรม และศาสตร์แขนงต่างๆ เป็นต้น

 

เมื่อชาวจามและมลายู-ชะวาเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามนั้นก็มิได้หมายความว่าพลเมืองดังกล่าวจำต้องปฏิเสธตำรับพิชัยสงครามแบบของอินเดียที่เคยใช้และถ่ายทอดกันอยู่ หากแต่ปรากฏกาณณ์ที่เกิดขึ้นก็คือการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมเดิมกับวัฒนธรรมแบบอิสลาม เป็นการประยุกต์ศิลปะศาสตร์ 2 แขนงเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสมกับผู้คนและวิถีชีวิตในยุคนั้น

 

เมื่อภูมิความรู้ในด้านศาสนาและคติความเชื่อของศาสนาอิสลามมีการพัฒนาไปในระดับหนึ่งแล้ว วัฒนธรรมเดิมก็จะถูกหล่อหลอมด้วยหลักคำสอนของอิสลาม มีการสังเคราะห์และการปฏิรูปเกิดขึ้นตามมาในที่สุด วัฒนธรรมที่มีต้นเค้าจากลัทธิความเชื่อและวิถีแห่งปรัชญาเดิมก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมแบบอิสลามในฝ่ายของพลเมืองที่เข้ารับอิสลาม ส่วนผู้ที่มิได้ยอมรับอิสลามก็ยังคงยึดมั่นอยู่ในวัฒนธรรมเดิม

 

ณ จุดนี้จึงเกิดอัตลักษณ์ 2 แบบสำหรับพลเมืองท้องถิ่นในภูมิภาคที่อิสลามแผ่เข้ามาถึงและผ่านช่วงเวลาของการปฏิรูปดังกล่าว คือ แบบมลายู-ชะวามุสลิม กับแบบฮินดู-พราหมณ์และพุทธเป็นแบบเดิม ซึ่งอัตลักษณ์ทั้ง 2 แบบนั้นมีการสืบสานและการถ่ายทอดจากกลุ่มชน 2 ฝ่ายที่อยู่ร่วมดินแดนเดียวกัน

 

ปรากฏการณ์ว่าด้วยอัตลักษณ์  2 แบบของพลเมืองในคาบสมุทรมลายูได้แสดงภาพลักษณ์ที่ชัดเจนออกมาในส่วนของศาสตร์แห่งการรบและศิลปะป้องกันตัวนั่นคือ มวยไทยโบราณและการใช้ศัตราวุธที่เรียกว่า กระบี่กระบองของฝ่ายพลเมืองเดิมที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมตามแบบแผนของพราหมณ์-พุทธ อีกฝ่ายหนึ่งคือ ปัญจสีลัต (สิละ) และศาสตร์แห่งการใช้ศัตราวุธโดยเฉพาะ “กริช” ของฝ่ายพลเมืองเดิมที่เข้ารับอิสลามและกลายเป็นมุสลิม-ชะวามุสลิม

 

การบรรจบของศิลปะป้องกันตัวและยุทธสิลป์ทั้ง 2 แขนงซึ่งจริงๆ แล้วมีรากเหง้าอันเดียวได้นำไปสู่การผสมผสานระหว่างกันจนเกิดรูปแบบการต่อสู้แขนงใหม่โดยรวมเอาจุดแข็งและข้อได้เปรียบของแต่ละฝ่ายมาปรับและประยุกต์อย่างเหมาะสม กล่าวคือ ลีลาและท่วงท่าการร่ายรำที่อ่อนช้อยสวยงามของปัญจสิลัตตลอดจนการต่อสู้ในระยะประชิดที่เน้นการเข้าทำฝ่ายคู่ต่อสู้ด้วยมือและเท้าถูกนำเข้ามาผสมผสานกับความเข้มแข็งและหนักหน่วงในการเข้าโจมตีคู่ต่อสู้โดยใช้ศีรษะ หมัด เท้า เข่า และศอก ของมวยไทยโบราณ มีการประยุกต์ใช้กระบวนท่าที่เรียกว่า ทุ่ม ทับ จับ หัก ซึ่งเป็นจุดเด่นของปัญจสิลัตเข้ามาเพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่ในมวยไทยโบราณให้รัดกุม สวยงาม แต่มีความรุนแรงและศักยภาพในการเล่นงานคู่ต่อสู้เพิ่มมากขึ้น

 

ศิลปะการต่อสู้แขนงใหม่จึงครบครันด้วยกระบวนท่าการเคลื่อนที่สวยงาม อ่อนนอกแข็งใน มีการรับและรุกในคราเดียวกัน และมีความร้ายกาจทั้งในระยะห่างและระยะประชิด ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการผสมผสานศาสตร์การต่อสู้ทั้ง 2 แขนงเข้าด้วยกันอย่างชาญฉลาดของผู้คิดค้นซึ่งเป็นต้นตำรับมวยไชยาอย่างแท้จริง