อบุลกอซิม อัซซะมัคชะรี่ย์ (أبوالقاسم الزمخشري)

อบุลกอซิม มะฮฺมูด อิบนุ อุมัร อิบนิ มุฮำมัด อัลคุวาริซฺมี่ย์ อัซซะมัคชะรี่ย์ มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ฮ.ศ.467-538  ถือกำเนิดในตำบลเล็กๆ ของแคว้น คุวาริซฺม์ ตำบลนี้รู้จักกันในนาม ซะมัคชัรฺ ตั้งอยู่ใกล้กับทางตอนใต้ของทะเลสาบ อาราลฺ และเสียชีวิตในเมือง กัรกันญ์ ในแคว้น คุวา ริซฺม์

 

อบุลกอซิม อัซซะมัคชะรี่ย์ เป็นที่เลื่องลือในการเดินทางท่องโลกเพื่อแสวงหาความรู้ เขาได้เยือนหัวเมืองที่โด่งดังและคราครั่งไปด้วยบรรดานักปราชญ์ในอาณาจักรอิสลาม ผลจากการเดินทางที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้เขามีอาการเจ็บที่เท้าและกำเริบจนต้องตัดขาทิ้ง

 

อบุลกอซิม อัซซะมัคชะรี่ย์ มิได้มีความรู้กว้างขวางเฉพาะในด้านภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์เท่านั้น แต่ยังมีความชำนาญในภาควิชาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์อีกด้วย เขาถูกเรียกขานว่า “อิหม่าม” ในยุคของเขาซึ่งเป็นยุคทองของอารยธรรมอาหรับ-อิสลาม เขาได้ให้ความสนใจต่อการศึกษาเรื่องของภูเขา แม่น้ำ และบ่อน้ำธรรมชาติ และแต่งตำราที่รวบรวมข้อมูลสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับวิชาธรณีวิทยา โดยให้ชื่อว่า “ตำรา อัลญิบาล วัลอัมกินะฮฺ วัลมิยาอฺ” ตำราเล่มนี้ถือเป็น   “ศัพทานุกรม” ที่สำคัญสำหรับนักค้นคว้าทุกคน

 

เขาเป็นปราชญ์ผู้รวบรวมภาษาศาสตร์ , นิติศาสตร์อิสลาม และภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์เอาไว้ในตัวของเขาอย่างเอกอุ เขาแต่งตำราอรรถาธิบายพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานและวิชาแบ่งมรดก เขามีความดีความชอบในการทำให้ผู้คนรับรู้ถึงเรื่องราวของภูเขา แม่น้ำ และหุบเขาในคาบสมุทรอาหรับ

 

อย่างไรก็ตาม ผู้คนและนักประวัติศาสตร์ไม่ค่อยรับรู้กันมากนักว่า อัซซะมัคชะรี่ย์ มีความชำนาญในภาควิชาธรณีวิทยาและวิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ แต่มักจะรับรู้กันว่า อัซซะมัคชะรี่ย์ คือนักการศาสนาที่ชำนาญในด้านศาสนศาสตร์ ภาษา และการอรรถาธิบายอัลกุรอาน ตลอดจนแนวความคิดในภาควิชาอูซูลุดดีน ตามแบบมัวอฺตะซิละฮฺ เสียมากกว่า