การอะซานและการอิกอมะฮฺ

ความหมาย
คำว่า อะซาน (اَلْاَﺬَانُ) ตามรากศัพท์ หมายถึง การแจ้งให้ทราบ, การบอกให้รู้ และการประกาศ ส่วนความหมายตามนิยาม หมายถึง การประกาศให้รู้ถึงการเข้าสู่เวลาของการละหมาดด้วยบรรดาถ้อยคำเฉพาะ

คำว่า อิกอมะฮฺ (اَلْاِقَامَةُ) ตามรากศัพท์ หมายถึง การให้ลุกขึ้นยืน ส่วนความหมายตามนิยาม หมายถึง การประกาศให้ผู้ที่มาร่วมละหมาดรู้ว่าอิมามพร้อมที่จะเริ่มทำการละหมาดแล้วด้วยบรรดาถ้อยคำเฉพาะ

เรียกผู้ทำการอะซานว่า มุอัซซิน (اَلْمُؤَﺬِّنُ) และเรียกผู้ทำการอิกอมะฮฺว่า มุกีม (اَلْمُقِيْمُ)

 

 

อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 มาตรา (4) เรียก “มุอัซซิน” ว่า “บิหลั่น” ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกาศเชิญชวนให้มุสลิมปฏิบัติศาสนกิจตามเวลา เหตุที่เรียกเช่นนั้น เพราะคำว่า “บิหลั่น” มาจากคำว่า “บิล้าล” ซึ่งเป็นนามชื่อของท่านบิล้าล อิบนุ เราะบาหฺ (ร.ฎ.) สาวกท่านหนึ่งของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่ทำหน้าที่ในการอะซาน การเรียกผู้ประกาศเชิญชวนให้มุสิมปฏิบัติศาสนกิจตามเวลาว่า “บิหลั่น” จึงเป็นอนุสรณ์แห่งเกียรติคุณของสาวกท่านนี้ซึ่งได้รับฉายาว่า มุอัซซิน (ผู้ประกาศ) ของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

ที่มาแห่งบัญญัติการอะซาน

มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ว่า:

’’كان المسلمون حين قدموالمدينة يجتمعون فيتحينون الصلوات ليس ينادى بهافتكلموا يوما في ﺬلك فقال بعضهم: اﺘﺨﺬواناقوسا مثل ناقوس النصارى ، وقال بعضهم: بل بوقامثل قرن اليهود ، فقال عمر: اولا تبعثون رجلا ينادي بالصلاة ، فقال رسول الله صلى الله عليه وسلم: ’’يابلال قم فناد بالصلاة‘‘ رواه البخاري ومسلم

ความว่า : “บรรดามุสลิมขณะที่พวกเขามาถึงนครมะดีนะฮฺนั้น พวกเขาจะร่วมชุมนุมแล้วเผ้ารอคอยการละหมาดโดยจะไม่ถูกส่งเสียงเรียกด้วยการละหมาดนั้น อยู่มาวันหนึ่งพวกเขาก็ปรารภในเรื่องนั้น บางคนกล่าวว่า:พวกท่านจงเอาระฆังมาใบหนึ่งเหมือนอย่างระฆังของพวกนะศอรอ บ้างก็กล่าวว่า:พวกท่านจงเอาแตรอย่างเขา (สัตว์) ของพวกยะฮูดจะดีกว่า แล้วอุมัร (ร.ฎ.) ก็กล่าวว่า:ไฉนพวกท่านจึงไม่ส่งคนๆหนึ่งให้เขาส่งเสียงเรียกด้วยการละหมาดเล่า!ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวว่า:“โอ้ บิล้าล จงลุกขึ้น แล้วจงส่งเสียงเรียกด้วยการละหมาด” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์และมุสลิม)

 

การส่งเสียงเรียกนี้ คือการเชิญชวนสู่การละหมาดที่มิใช่การอะซาน และเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในอัล-หะดีษข้างต้นเกิดขึ้นก่อนหน้าการบัญญัติเรื่องการอะซาน (ดู กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ;อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3/82)

 

ส่วน อัล-หะดีษที่ระบุถึงบัญญัติการอะซานนั้น คืออัล-หะดีษที่รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ ซัยดฺ อิบนิ อับดิร็อบบิฮฺ อัล-อันศอรียฺ (ร.ฎ.) ว่า:

 

’’لما امر رسول الله صلى الله عليه وسلم بالناقوس يعمل ليضرب به للناس لجمع الصلاة طاف بي وانانائم رجل يحمل ناقوسا في يده فقلت: ياعبدالله اتبيع الناقوس؟ فقال: وماتصنع به؟ فقلت: ندعوبه الى الصلاة قال: افلا ادلك على ماهوخيرمنﺬلك؟ فقلت: بلى ، فقال: تقول: الله اكبر الله اكبر ، الله اكبر الله اكبر ، اشهدان لااله الاالله ، اشهدان لااله الاالله ، اشهدان محمدارسول الله ، اشهدان محمدارسول الله ، حي على الصلاة ، حي على الصلاة ، حي على الفلاح ، حي على الفلاح ، الله اكبر الله اكبر ، لا اله الا الله. ثم استأخرعني غيربعيد ، ثم قال: ثم تقول اﺬا اقمت الصلاة: الله اكبر الله اكبر ، اشهد ان لااله الا الله ، اشهد ان محمدارسول الله ، حي على الصلاة ، حي على الفلاح ، قدقامت الصلاة ، قدقامت الصلاة ، الله اكبر الله اكبر ، لا اله الا الله ، فلما اصبحت اتيت رسول الله صلى الله عليه وسلم فأخبرته بما رايت فقال: انها رؤياحق ان شاءالله ، فقم مع بلال فألق عليه مارأيت فليؤﺬن به ، فانه اندى صوتامنك ، فقمت مع بلال فجعلت القيه عليه فيؤﺬن به ، فسمع ﺬلك عمر بن الخطاب وهو في بيته فخرج يجر رداءه يقول: واﻟﺬي بعثك بالحق يارسول الله لقدرايت مثل مارأى. فقال رسول الله صلى الله عليه وسلم: فلله الحمد‘‘ رواه ابوداودباسناد صحيح.

 

ความว่า : “เมื่อท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีบัญชาให้นำระฆังมาใช้ตีเพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้คนมาร่วมละหมาด มีชายผู้หนึ่งมาในความฝันขณะที่ฉันนอนหลับ เขาถือระฆังใบหนึ่งอยู่ในมือ ฉันจึงกล่าว (ในความฝันนั้น) ว่า:โอ้ บ่าวของอัลลอฮฺ ท่านจะขายระฆังใบนั้นหรือไม่? ชายผู้นั้นกล่าวว่า: ท่านจะทำอะไรกับระฆังนั้น? ฉันก็กล่าวว่า:เราจะเรียก (ผู้คน) มาสู่การละหมาดด้วยระฆังนั้น ชายผู้นั้นกล่าวว่า:ฉันจะไม่ชี้แนะท่านถึงสิ่งที่ดีกว่าสิ่งดังกล่าวกระนั้นหรือ? ฉันจึงกล่าวว่า:หามิได้!ชายผู้นั้นกล่าวว่า:ท่านกล่าวว่า “อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร (ตามสำนวนของการอะซานจนถึงประโยคที่ว่า) ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ”

 

ต่อมาชายผู้นั้นก็ถอยห่างจากฉันไม่ไกลนัก แล้วเขาก็กล่าวว่า:ต่อมาท่านก็กล่าวเมื่อท่านลุกขึ้นละหมาด (อิกอมะฮฺ) ว่า:“อัลลอฮุอักบัร (ตามสำนวนของการอิกอมะฮฺจนถึงประโยคที่ว่า) ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ” ครั้นเมื่อฉันอยู่ในเวลาเช้าตรู่ ฉันจึงมาหาท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แล้วฉันก็บอกให้ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตามสิ่งที่ฉันฝันเห็น ท่านก็กล่าวว่า:“แท้จริงมันคือความฝันที่เป็นจริง หากพระองค์อัลลอฮฺทรงประสงค์ ดังนั้นท่านจงลุกขึ้นยืนพร้อมกับบิล้าล แล้วท่านจงบอกแก่บิล้าลถึงสิ่งที่ท่านฝันเห็น แล้วบิล้าลก็จงอะซานตามสิ่งนั้น เพราะบิล้าลมีเสียงที่กังวานไกลมากกว่าท่าน” ฉันจึงลุกขึ้นพร้อมกับบิล้าลแล้วฉันก็เริ่มบอก (ถ้อยคำ) ให้แก่บิล้าล แล้วบิล้าลก็อะซานตามนั้น

 

ฝ่ายอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบก็ได้ยินสิ่งดังกล่าวขณะที่อุมัรอยู่ภายในบ้านของเขา อุมัรก็ออกจากบ้านโดยลากผ้าคลุมของเขาพลางกล่าวว่า: ขอสาบานต่อพระผู้ซึ่งส่งท่านมาด้วยสัจธรรม โอ้ท่านรสูลุลลอฮฺ แน่แท้ฉันฝันเห็นเหมือนอย่างที่เขาฝันเห็น แล้วท่านรสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็กล่าวว่า:“การสรรเสริญเป็นสิทธิแด่อัลลอฮฺ” (บันทึกโดย อบูดาวูด ด้วยสายรายงานที่เศาะฮีหฺ)

 

อัล-หะดีษบทนี้เป็นหลักฐานในการบัญญัติเรื่องการอะซานและอิกอมะฮฺ ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นความฝันของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ ซัยดฺ (ร.ฎ.) และท่านอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.) แต่ก็ได้รับการรับรอง (อิกร็อรฺ) จากท่านรสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ด้วยคำกล่าวของท่าน ตลอดจนการสั่งใช้ให้ท่านบิล้าล อิบนุ เราะบาหฺ (ร.ฎ.) ทำการอะซานด้วยถ้อยคำอะซานตามที่ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ ซัยดฺ (ร.ฎ.) เป็นผู้บอก กอปรกับมีรายงานที่ระบุว่าท่านรสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้สอนสำนวนการอะซานแก่ท่านอบู มะหฺซูเราะฮฺ (ร.ฎ.) ตามสำนวนการอะซานที่ทราบกันอีกด้วย การอะซานจึงเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติตามหลักการของศาสนาอย่างชัดเจน และถือเป็นส่วนหนึ่งจากศาสนกิจที่เป็นสัญลักษณ์อันเด่นชัดและทราบกันสำหรับชาวมุสลิมโดยทั่วไป

 

ข้อชี้ขาด (หุกฺม์) ของการอะซานและอิกอมะฮฺ

นักวิชาการมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับข้อชี้ขาด (หุกฺม์) ของการอะซานและอิกอมะฮฺ 3 ทัศนะด้วยกัน ดังนี้

1) การอะซานและอิกอมะฮฺ เป็นสุนนะฮฺสำหรับการละหมาดฟัรฎูทั้ง 5เวลา ไม่ว่าในขณะที่ไม่มีการเดินทางหรือในขณะที่มีการเดินทางก็ตาม เป็นสุนนะฮฺสำหรับการละหมาดญะมาอะฮฺและการละหมาดคนเดียว การอะซานและอิกอมะฮฺไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) แต่อย่างใด หากผู้ทำการละหมาดละทิ้งการอะซานและอิกอมะฮฺ การละหมาดของผู้ทำละหมาดคนเดียวหรือทำละหมาดญะมาอะฮฺย่อมใช้ได้ ทัศนะนี้เป็นสิ่งที่รู้กันดี (มัชฮู๊ร)

 

ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺและอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) เหล่าสานุศิษย์ของท่านและท่านอิสหาก อิบนุ รอฮะวัยฮฺ ก็กล่าวตามนี้และอัส-สัรเคาะสียฺได้ถ่ายทอดทัศนะนี้จากปวงปราชญ์ (ญุมฮูร อัล-อุละมาอฺ) (ดู กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ;อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3/90)

 

2) การอะซานและอิกอมะฮฺเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺ สำหรับพลเมืองมุสลิมที่อยู่ในเมืองใหญ่หรือชุมชน (ดู มินฮาญุลมุสลิม; อบูบักรฺ ญาบิรฺ อัล-ญะซาอิรียฺ หน้า186) อิบนุ อัล-มุนซิรฺ กล่าวว่า:การอะซานและอิกอมฮฺเป็นฟัรฎูในสิทธิของหมู่คณะ (อัล-ญะมาอะฮฺ) ทั้งในกรณีไม่ได้เดินทางและกรณีที่มีการเดินทาง และอิบนุ อัล-มุนซิรฺกล่าวว่า: มาลิกกล่าวว่า:จำเป็นในมัสญิดที่มีการละหมาดญะมาอะฮฺ และดาวูด อัซ-ซอฮิรียฺกล่าวว่า:การอะซานและอิกอมะฮฺเป็นฟัรฎูสำหรับการละหมาดญะมาอะฮฺ แต่มิใช่เงื่อนไขในการเศาะหฺละหมาด (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ อ้างแล้ว 3/90)

 

ทัศนะที่สองนี้ ซึ่งชี้ขาดว่าการอะซานและอิกอมะฮฺเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) คือทัศนะของอะฮฺลุลบัยตฺส่วนใหญ่ ท่านอะฏออฺ, อิมาม อะหฺมัด อิบนุ หัมบัล, ท่านมุญาฮิดและอิมาม อัล-เอาซาอียฺ (ดู บิดะอฺ ว่า อัคฏออฺ อัล-มุศ็อลลีน;อิมาด ซะกียฺ อัล-บารูดียฺ หน้า 62) ในกรณีของท่านอะฏออฺ และอิมามอัล-เอาซาอียฺนั้น ทั้งสองท่านกล่าวว่า การอิกอมะฮฺเป็นสิ่งที่จำเป็น ส่วนการอะซานนั้นเป็นสุนนะฮฺ และมีรายงานจากท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ว่า การอะซานเป็นสิ่งที่จำเป็น ส่วนการอิกอมะฮฺนั้นเป็นสุนนะฮฺ (อ้างแล้ว หน้า62)

 

3) การอะซานและอิกอมะฮฺเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺในการละหมาดวันศุกร์ เป็นสุนนะฮฺในการละหมาดอื่นๆ ทัศนะนี้เป็นคำกล่าวของ อิบนุ คอยฺร็อน และอัล-อัศเฏาะคิรียฺ ตลอดจน อัส-สัรเคาะสียฺเล่าจาก อะหฺมัด อัส-สัยยารียฺ นักวิชาการในมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ;อ้างแล้ว 3/88)

 

อนึ่ง ตามมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺถือว่าทัศนะที่ 1เป็นประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหุ้ล เอาญุฮฺ) กล่าวคือ ถือว่าการอะซานและอิกอมะฮฺเป็นสุนนะฮฺ มุอักกะดะฮฺ มิใช่สิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) และมิใช่เงื่อนไขในการเศาะหฺละหมาด ทั้งนี้อาศัยหลักฐานจากอัล-หะดีษที่ระบุถึงการสอนของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เกี่ยวกับวิธีการละหมาดให้แก่ชาวอาหรับชนบท (อะอฺรอบียฺ) ที่ปฏิบัติละหมาดไม่ถูกต้อง

 

โดยท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า “ท่านจงปฏิบัติละหมาดอย่างนี้ อย่างนั้น” แต่ท่านก็ไม่กล่าวถึงการอะซานและอิกอมะฮฺ ทั้งๆที่ท่านกล่าวถึงการอาบน้ำละหมาด การหันหน้าสู่ทิศกิบละฮฺและบรรดาองค์ประกอบหลัก (อัรกาน) ของการละหมาด (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ;อ้างแล้ว 3/88-89) การที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มิได้กล่าวถึงเรื่องการอะซานและอิกอมะฮฺในการสอนของท่านย่อมแสดงว่าการอะซานและอิกอมะฮฺมิใช่สิ่งที่จำเป็นนั่นเอง

 

ในกรณีที่ชี้ขาดว่า การอะซานเป็นฟัรฎู กิฟายะฮฺนั้น นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺระบุว่า อย่างน้อยที่สุดซึ่งฟัรฎูนั้นจะตกไปก็คือ การอะซานนั้นกระจายออกไปในหมู่ชนที่อยู่ในสถานที่นั้นทั้งหมด หากเป็นชุมชนเล็กๆที่มีผู้อะซานเพียงคนเดียว โดยผู้คนในชุมชนนั้นทั้งหมดได้ยินเสียงอะซาน การเป็นฟัรฎูก็ตกไปด้วยผู้อะซานคนเดียวนั้น แต่ถ้าหากเป็นเมืองขนาดใหญ่ ก็จำเป็นต้องมีผู้อะซานหนึ่งคนในแต่ละสถานที่ โดยเสียงอะซานนั้นกระจายไปในหมู่ผู้คนของเมืองนั้นทั้งหมด หากมีผู้อะซานเพียงคนเดียวเท่านั้น ฟัรฎูก็ตกไปเฉพาะผู้คนในแถบที่ได้ยินเสียงอะซานเท่านั้น ส่วนผู้ที่อยู่คนละย่านของเมืองนั้นซึ่งไม่ได้ยินเสียงอะซาน ก็ถือว่าไม่พ้นฟัรฎูแต่อย่างใด (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ;อ้างแล้ว 3/89)

 

และในกรณีที่กล่าวว่า การอะซานเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺแล้วปรากฏว่าผู้คนในเมืองนั้นหรือชุมชนนั้นเห็นพ้องกันในการทิ้งการอะซาน และพวกเขาก็ถูกร้องขอให้ทำการอะซานแต่พวกเขาก็ปฏิเสธ กรณีเช่นนี้จำเป็นต้องสู้รบกับผู้คนเหล่านั้น (ทั้งนี้หากว่าพวกเขาอยู่ในดินแดนภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม) ส่วนกรณีที่กล่าวว่า การอะซานเป็นสุนนะฮฺ ทัศนะที่ถูกต้อง (อัศ-เศาะฮีหฺ) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺก็คือ พวกเขาจะไม่ถูกทำการสู้รบเมื่อมีการละทิ้งการอะซานแต่อย่างใด (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ;อ้างแล้ว 3/89)

 

การละหมาดที่มีบัญญัติให้ทำการอะซานและอิกอมะฮฺ

การอะซานและอิกอมะฮฺ ทั้งสองถูกบัญญัติสำหรับการละหมาดฟัรฎู 5 เวลาด้วยบรรดาตัวบทที่ถูกต้องและการอิจญ์มาอฺ การอะซานและอิกอมะฮฺมิได้ถูกบัญญัติสำหรับการละหมาดอื่นๆนอกเหนือจากการละหมาดฟัรฎู 5เวลา โดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ไม่ว่าการละหมาดอื่นๆนั้นจะเป็นการละหมาดที่ถูกนะซัรฺเอาไว้หรือเป็นการละหมาดญะนาซะฮฺหรือเป็นการละหมาดสุนนะฮฺ และไม่ว่าการละหมาดสุนนะฮฺนั้นจะมีสุนนะฮฺให้กระทำแบบญะมาอะฮฺ เช่น การละหมาดอีดทั้งสอง การละหมาดสุริยคราส-จันทรคราส และการละหมาดขอฝน หรือไม่มีสุนนะฮฺให้กระทำแบบญะมาอะฮฺ เช่น การละหมาดฎุหาอฺ ก็ตาม แต่ให้ประกาศเรียกเพื่อทำการละหมาดอีด ละหมาดสุริยฺคราส-จันทรคราส และละหมาดขอฝนว่า “อัศ-เศาะลาต้า ญามิอะตัน” (الصلاة جامعة)

 

และเช่นกัน ให้ประกาศเรียกเพื่อทำการละหมาดตะรอวีหฺนั้นถูกละหมาดแบบญะมาอะฮฺ และไม่ส่งเสริมให้กล่าวว่า  “อัศ-เศาะลาต้า ญามิอะตัน” ในการละหมาดญะนาซะฮฺตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุดในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยน์) ซึ่งตามนี้ ชัยคฺ อบูหามิด, อัล-บันดะนัยญียฺ, อัล-มุหามิลียฺและอัล-บะเฆาะวียฺชี้ขาดเอาไว้ ส่วนอิมาม อัล-เฆาะซาลียฺชี้ขาดว่าสิ่งดังกล่าวถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) ในการละหมาดญะนาซะฮฺ

 

แต่ตามมัซฮับและตามตัวบทของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (อัล-มันศูศ) คือประเด็นแรกที่ระบุว่าไม่ส่งเสริมให้กล่าวประโยค “อัศ-เศาะลาต้า ญามิอะตัน” ในการละหมาดญะนาซะฮฺ เนื่องจากท่านอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในตอนต้นของบทที่ว่าด้วยการอะซานจากตำรา อัล-อุมม์ว่า:ไม่มีการอะซานและไม่มีการอิกอมะฮฺสำหรับการละหมาดอื่นจากละหมาดฟัรฎู ส่วนบรรดาอีด การละหมาดสุริยคราส-จันทรคราส และการละหมาดกิยามของเดือนเราะมะฎอนนั้น ฉันชอบที่จะถูกกล่าวในการละหมาดนั้นว่า:“อัศ-เศาะลาต้า ญามิอะตัน”… และการละหมาดให้แก่ญะนาซะฮฺ และทุกๆการละหมาดสุนนะฮฺนอกเหนือจากละหมาดอีดและละหมาดสุริยคราส-จันทรคราสนั้น ไม่มีการอะซานในละหมาดสุนนะฮฺนั้น และไม่มีการกล่าวว่า “อัศ-เศาะลาต้า ญามิอะตัน” แต่อย่างใด นี่คือตัวบทของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ที่ระบุเอาไว้” (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ;อ้างแล้ว 3/83)

 

และคำกล่าวที่ว่าการอะซานและอิกอมะฮฺ ไม่ได้ถูกบัญญัตสำหรับการละหมาดอื่นๆนอกจากการละหมาดฟัรฎู 5เวลานั้นเป็นคำกล่าวของปวงปราชญ์จากชนรุ่นสะลัฟและเคาะลัฟ ส่วนที่มีการถ่ายทอดจากท่านมุอาวิยะฮฺ อิบนุ อบีสุฟยานและท่านอุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ ว่าบุคคลทั้งสองกล่าวว่า: “การอะซานและอิกอมะฮฺเป็นสุนนะฮฺในการละหมาดอีดทั้งสอง” หากเป็นการรายงานที่ถูกต้องจากบุคคลทั้งสอง ก็ตีความได้ว่าสุนนะฮฺในเรื่องนี้ไม่ถึงบุคคลทั้งสอง

 

กล่าวคือ อัล-หะดีษที่ระบุว่าไม่มีการอะซานและอิกอมะฮฺในการละหมาดอีดไม่ได้ถูกรายงานสู่การรับรู้ของบุคคลทั้งสอง จึงเป็นเหตุให้บุคคลทั้งสองกล่าวเช่นนั้น เพราะมีรายงานในเศาะฮีหฺมุสลิมจากท่านญาบิรฺ อิบนุ สะมุเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า:

’’صليت مع النبي صلى الله عليه وسلم العيدين غير مرة ولا مرتين بغير اﺬان ولااقامة‘‘

ความว่า:“ฉันเคยละหมาดอีดทั้งสองพร้อมกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มิใช่ครั้งเดียวและมิใช่สองครั้งโดยไม่มีการอะซานและไม่มีการอิกอมะฮฺ” และในประเด็นที่ระบุว่าไม่มีการอะซานและอิกอมะฮฺในการละหมาดอีดทั้งสองนั้นมีอัล-หะดีษที่ถูกต้องเป็นจำนวนมากรายงานเอาไว้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ;อ้างแล้ว 3/84)

 

ความประเสริฐของการอะซาน

ส่วนหนึ่งจากบรรดาอัล-หะดีษที่ระบุถึงความประเสริฐของการอะซานและผลานิสงค์ของผู้อะซาน ได้แก่

1) (عن ابي هريرة رضي الله عنه ، ان رسول الله صلى الله عليه وسلم قال: ’’لو يعلم الناس ما في النداء والصف الاول ، ثم لم يجدواالا ان يستهموا عليه لاستهموا عليه‘‘ الحديث (متفق عليه

ความว่า : รายงานจากท่านอบู ฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า:“หากว่าผู้คนรู้ถึงสิ่งที่มีอยู่ในการประกาศเรียกร้อง (อะซาน) และแถวแรก (ในการละหมาดจากผลานิสงค์อันยิ่งใหญ่) ต่อมาพวกเขาก็ไม่พบนอกเสียจากการที่พวกเขาต้องจับฉลากบนมัน (คือการได้สิทธิในการอะซานและสิทธิในการละหมาดแถวแรก) พวกเขาย่อมจับฉลากบนมัน…” (รายงานพ้องกันโดย อัล-บุคอรีย์และมุสลิม)

 

สาระจากอัล-หะดีษ

1) ส่งเสริมและเชิญชวนให้มุสลิมรู้ถึงคุณค่าของการอะซาน เพราะการอะซานเป็นส่วนหนึ่งจากศาสนกิจอันเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลามและเป็นสุนนะฮฺหนึ่งจากบรรดาสุนนะฮฺของศาสนา ตลอดจนผลานิสงค์ของผู้อะซานนั้นมีความยิ่งใหญ่ ณ พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)

2) ส่งเสริมและเชิญชวนให้มุสลิมรู้ถึงคุณค่าของการละหมาดญะมาอะฮฺในแถวแรก เพราะผู้ที่ละหมาดอยู่ในแถวแรกคือผู้ที่รีบเร่งสู่การละหมาดในช่วงต้นเวลา และบรรดามะลาอิกะฮฺแห่งพระเมตตาจะขอดุอาอฺให้แก่อิมามและผู้ที่ละหมาดอยู่ในแถวแรกเป็นอันดับแรก ถัดมาก็ขอดุอาอฺให้แก่ผู้ที่ละหมาดอยู่ในแถวที่สองและแถวถัดไป

(เก็บความจาก นุซฺฮะตุลมุตตะกีน ชัรหุ ริยาฎิศศอลิหีน หน้า 406)

 

2) عن معاوية رضي الله عنه قال: سمعت رسول الله صلى الله عليه وسلم يقول: ’’المؤﺬنون اطول الناس اعناقايوم القيامة‘‘رواه مسلم (٣٨٧

ความว่า : รายงานจากท่าน มุอาวิยะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า:ฉันเคยได้ยินท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า:”บรรดาผู้อะซานนั้น คือผู้ที่มีต้นคอยาวที่สุดของมนุษย์ในวันกิยามะฮฺ” (รายงานโดย มุสลิม หะดีษเลขที่ 387)

 

สาระจากอัล-หะดีษ

1) ประโยคที่ว่า “คือผู้ที่มีต้นคอยาวที่สุดของมนุษย์” หมายถึง บรรดาผู้อะซานคือที่ใกล้ชิดมากที่สุดยังพระเมตตาของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) หรือหมายถึง ต้นคอของบรรดาผู้อะซานจะยืดสูงพ้นจากเหงื่อที่ไหลท่ามกลางผู้คนในวันกิยามะฮฺ หรือหมายถึง สถานะอันสูงส่งของพวกเขาในวันกิยามะฮฺ

 

2) อัล-หะดีษบทนี้แจ้งให้ทราบว่า บรรดาผู้อะซานจะมีเกียรติและสถานะอันสูงส่งในวันกิยามะฮฺ เพราะผู้อะซานประกาศเชิญชวนผู้คนมาสู่การละหมาดและชี้แนะให้พวกเขาประกอบคุณงามความดี บุคคลนั้นย่อมได้รับผลานิสงค์เช่นเดียวกับผลานิสงค์ของผู้ประกอบคุณงามความดีนั้น

(เก็บความจาก นุซฮะตุลมุตตะกีน ชัรหุ ริยาฎิศศอลิหีน หน้า 406)

 

3) عن عبدالله بن عبدالرحمن بن ابي صعصعة ، ان اباسعيد الخدري رضي الله عنه قال له: ’’اني اراك تحب الغنم والبادية ، فإﺬاكنت في غنمك-اوباديتك-فأﺬنت للصلاة ، فارفع صوتك بالنداء ، فإنه لايسمع مدى صوت المؤﺬن جن ، ولا انس ، ولاشيء ، الاشهدله يوم القيامة‘‘قال ابوسعيد: سمعت من رسول الله صلى الله عليه وسلم. رواه البخاري (٦٠٩

ความว่า:รายงานจาก อับดุลลอฮฺ อิบนุ อับดิรฺเราะหฺมาน อิบนิ อบีเศาะอฺเศาะอะฮฺ แท้จริงอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) กล่าวแก่เขาว่า:“แท้จริงฉันเห็นว่าท่านนั้นชอบ (เลี้ยง) แพะแกะและ (ชอบอยู่) ถิ่นชนบท

ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าท่านอยู่ใน (ท่ามกลาง) ฝูงแพะแกะของท่าน-หรืออยู่ในถิ่นชนบทของท่าน-แล้วท่านก็อะซานเพื่อทำละหมาด ท่านก็จงส่งเสียงของท่านให้ดังด้วยการประกาศ (อะซาน) นั้น เพราะแท้จริงไม่ว่าญิน มนุษย์ และสิ่งใดๆได้ยินสุดระยะเสียงของมุอัซซิน นอกเสียจาก (สิ่งที่ได้ยินเสียงอะซาน) เป็นสักขีพยานให้แก่มุอัซซินในวันกิยามะฮฺ” ท่านอบูสะอีด (ร.ฎ.) กล่าวว่า : ฉันได้ยินเรื่องนี้จากท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) (รายงานโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 609)

 

สาระจากอัล-หะดีษ

1) ความประเสริฐของมุอัซซินผู้ซึ่งประกาศความเกรียงไกรและเอกานุภาพของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และแท้จริงทุกสรรพสิ่งที่ได้ยินเสียงอะซานของมุอัซซินจะเป็นสักขีพยานให้แก่มุอัซซินในวันกิยามะฮฺ และคุณค่าแห่งการเป็นสักขีพยานนี้คือการประกาศถึงเกียรติคุณและสถานภาพอันสูงส่งของมุอัซซินในวันนั้น

2) ส่งเสริมให้มีการอะซานและเรียกร้องให้มีการส่งเสียงดังด้วยการอะซานนั้น

(เก็บความจาก นุซฮะตุลมุตตะกีน ชัรหุ ริยาฎิศศอลีหีน หน้า 407)

 

ความประเสริฐของการอะซานและการเป็นอิมามนำละหมาด

ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ มี 4 ประเด็น (เอาญุฮฺ) ในเรื่องนี้ คือ

1) ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ) ณ กลุ่มนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺที่เป็นชาวอิรัก, อัส-สัรฺเคาะสียฺ และอัล-บะเฆาะวียฺ ถือว่าการอะซานประเสริฐกว่าการเป็นอิมามนำละหมาด (อิมามะฮฺ) ประเด็นที่ 1 นี้เป็นตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ในตำราอัล-อุมม์ และอัศหาบส่วนมากกล่าวเอาไว้

อัล-มุหามิลียฺ และชัยคฺ อบูหามิดกล่าวว่าประเด็นนี้คือมัซฮับของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และบรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺโดยทั่วไปกล่าวเอาไว้

 

2) การเป็นอิมามนำละหมาด (อิมามะฮฺ) ประเสริฐกว่า ประเด็นที่ 2นี้ถือว่าถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ) ณ บรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชาวคุรอสานฺ ซึ่งพวกเขาถ่ายทอดจากตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ  (ร.ฮ.) และอัล-กอฎียฺ อบู อัฏ-ฏอยยิบ ถือว่าเป็นประเด็นที่ถูกต้อง ตลอดจนอัด-ดาริมียฺชี้ขาดเอาไว้

 

3) การอะซานและการเป็นอิมามนำละหมาดมีความประเสริฐเท่ากัน ประเด็นที่ 3 นี้ เจ้าของตำราอัล-บะยาน และอัร-รอฟิอียฺเล่าเอาไว้

 

4) หากบุคคลรู้ตัวเองว่าสามารถดำรงหน้าที่การเป็นอิมามนำละหมาดและรู้ถึงประการต่างๆของการทำหน้าที่อิมามได้อย่างครบถ้วน การเป็นอิมามนำละหมาดของบุคคลผู้นั้นก็ย่อมประเสริฐกว่าการทำหน้าที่อะซาน แต่ถ้าหากไม่เป็นเช่นนั้น การทำหน้าที่อะซานก็ย่อมประเสริฐกว่า ประเด็นที่ 4 นี้ ชัยคฺ อบู หามิด และเจ้าของตำราอัล-บะยานเล่าเอาไว้ตลอดจนอัร-รอฟิอียฺถ่ายทอดประเด็นนี้จากอบู อะลี อัฏ-เฏาะบะรียฺ, อัล-กอฎียฺ อบุลกอสิม อิบนุ กัจญ์, อัล-มัสอูดีย์ และอัล-กอฎียฺ หุสัยนฺ

 

แต่ถ้าถือตามมัซฮับแล้ว มีการให้น้ำหนักแก่การอะซานว่าประเสริฐกว่า เพราะอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุเป็นตัวบทเอาไว้ในตำราอัล-อุมม์ว่าท่านไม่ชอบการเป็นอิมามนำละหมาด แต่ท่านชอบการอะซานเพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า:(اللهم اغفرللمؤﺬنين) “โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงอภัยโทษแก่บรรดาผู้อะซานด้วยเทอญ” (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ;อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3/85)

 

การเป็นอิมามนำละหมาดของมุอัซซิน

นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺจำนวนมากกล่าวว่า:“มักรูฮฺ ในการที่ปรากฏว่าอิมามผู้นำละหมาดคือมุอัซซิน” ส่วนหนึ่งจากผู้ที่ระบุถึงประเด็นนี้คือ ชัยคฺ อบู มุฮัมมัด อัล-ญุวัยนียฺ, อัล-บะเฆาะวียฺ และอื่นจากบุคคลทั้งสอง โดยอ้างหลักฐานจากอัล-หะดีษที่รายงานจากท่านญาบิรฺ (ร.ฎ.) ว่า “แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ห้ามจากการที่จะปรากฏว่าอิมามนำละหมาดคือมุอัซซิน” รายงานโดย อัล-บัยฮะกียฺ และอัล-บัยฮะกียฺกล่าวว่า เป็นหะดีษเฎาะอีฟ (อ่อน)

 

อัล-กอฎียฺ อบู อัฏ-ฏอยยิบกล่าวว่า:อบู อะลี อัฏเฏาะบะรียฺกล่าวว่า:ที่ประเสริฐที่สุด (อัฟฎ็อล) คือการที่บุคคลรวมเอาระหว่างการอะซานและการเป็นอิมามนำละหมาดเพื่อให้ผู้นั้นได้รับความประเสริฐทั้ง 2 ประการเข้าไว้ด้วยกัน และตามนี้เจ้าของตำราอัล-หาวียฺชี้ขาดเอาไว้ ซึ่งเป็นทัศนะที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ) และอิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า:เมื่อไม่ปรากฏชัดว่ามีข้อห้ามในการรวมระหว่างการอะซานและการเป็นอิมามนำละหมาด (เนื่องจากหลักฐานที่ระบุห้ามนั้นเป็นหะดีษเฎาะอีฟ) การถือว่าเป็นเรื่องมักรูฮฺก็ย่อมผิดพลาด จึงสรุปได้ว่ามี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮาน) ในเรื่องนี้ และประเด็นที่ถูกต้อง (เศาะฮีหฺ) ก็คือเป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้รวมระหว่างการอะซานและการเป็นอิมามนำละหมาด (ดู กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ 3/87)

 

คุณสมบัติของผู้อะซาน

1) เป็นมุสลิม การอะซานของคนกาฟิรฺไม่ว่าคนกาฟิรฺผู้นั้นจะถือในศาสนาใดก็ตามถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะคนกาฟิรฺมิใช่ “อะฮฺลุลอิบาดะฮฺ”

(ประเด็น) หากคนกาฟิรฺทำการอะซาน การอะซานของคนกาฟิรฺถือเป็นการเข้ารับอิสลามหรือไม่?

(คำตอบ) ให้พิจารณาว่า หากกาฟิรฺผู้นั้นเป็นพวกอีซาวียฺ ซึ่งเป็นชาวยะฮูดกลุ่มหนึ่งที่อ้างถึง อบู อีซา อัล-ยะฮูดียฺ อัล-อัศบะฮานียฺ ที่มีความเชื่อว่านบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เป็นศาสนทูตที่ถูกส่งมายังชาวอาหรับเป็นการเฉพาะ คนกาฟิรฺที่เป็นพวกอีซาวียฺนี้จะไม่กลายเป็นมุสลิมด้วยการอะซานของเขา เพราะเมื่อเขากล่าวประโยคอะซานที่ว่า (اشهد ان محمدارسول الله) เขามีความเชื่อว่าการเป็นศาสนทูตของนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เป็นเรื่องเฉพาะของชาวอาหรับ มิใช่ศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่ถูกส่งมายังมนุษยชาติ ซึ่งหมายรวมเอาพวกยะฮูดทั้งหมดเอาไว้ด้วย แต่ถ้าหากคนกาฟิรฺที่อะซานนั้นมิใช่พวกอีซาวียฺ

 

การณีนี้มี 3 สภาพในการกล่าวประโยคอัช-ชะฮาดะฮฺทั้งสองคือ

สภาพที่ 1 เขากล่าวประโยคทั้งสองในเชิงของการบอกเล่า (หิกายะฮฺ) เช่น เขากล่าวว่า:ฉันได้ยินผู้หนึ่งกล่าวว่า (لا اله الا الله محمد رسول الله) กรณีนี้เขาจะไม่กลายเป็นมุสลิมแต่อย่างใด โดยไม่มีข้อขัดแย้งในหมู่นักวิชาการ เพราะเขาเป็นผู้บอกเล่าเท่านั้น เหมือนอย่างกรณีที่มุสลิมจะไม่กลายเป็นกาฟิรฺเพียงแค่การบอกเล่าถึงสิ่งที่เป็นการปฏิเสธ (กุฟฺร์)

 

สภาพที่ 2 เขากล่าวประโยคทั้งสองภายหลังมีการร้องขอเกิดขึ้น เช่น มีผู้หนึ่งกล่าวขึ้นกับคนกาฟิรฺผู้นี้ว่า “ท่านจงกล่าว (لا اله الاالله محمد رسول الله)” แล้วคนกาฟิรฺผู้นี้ก็กล่าวประโยคทั้งสองโดยมีเจตนามุ่งหมาย (ก็อศด์) คนกาฟิรฺผู้นี้ก็กลายเป็นมุสลิมโดยไม่มีข้อขัดแย้งในหมู่นักวิชาการ

 

สภาพที่ 3 เขากล่าวประโยคทั้งสองโดยแรกเริ่มไม่ใช่เป็นการบอกเล่าและไม่มีการร้องขอให้กล่าว กรณีนี้มี 2 ประเด็นที่รู้กัน (มัชฮู๊ร) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ประเด็นที่ถูกต้อง (เศาะฮีหฺ) และนักวิชาการส่วนมากชี้ขาดเอาไว้ คือ เขากลายเป็นมุสลิมด้วยการกล่าวประโยคทั้งสองโดยสมัครใจ (อิคฺติย๊าร) ประเด็นที่สอง คือ เขาจะไม่กลายเป็นมุสลิมเพราะตีความได้ว่าเป็นการบอกเล่า (หิกายะฮฺ)

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะถือว่าคนกาฟิรฺที่อะซานเป็นมุสลิมหรือไม่ แต่การอะซานของคนกาฟิรฺก็ย่อมใช้ไม่ได้ เพราะถึงแม้ว่าเขาจะถูกถือว่าเป็นมุสลิม การเป็นมุสลิมของเขาก็เกิดขึ้นภายหลังการกกล่าวประโยคอัช-ชะฮาดะฮฺทั้งสองเท่านั้น จึงเท่ากับว่าถ้อยคำในการอะซานบางส่วนเกิดขึ้นในขณะที่เขายังเป็นกาฟิรฺอยู่ดี

 

และหากมุสลิมเป็นผู้อะซาน แล้วต่อมามุสลิมผู้นั้นก็มุรตัดฺ (วัล-อิยาซุบิลลาฮฺ) ภายหลังการเสร็จสิ้นจากการอะซานแล้ว การอะซานของเขาก็ถือว่าใช้ได้ แต่ที่ดีแล้วไม่ควรถือเช่นนั้น เพราะเนื่องจากเป็นไปได้ว่าการริดดะฮฺ (ตกศาสนา) อาจเกิดขึ้นกับผู้นั้นก่อนการอะซานจบ ส่วนหนึ่งจากผู้ที่ระบุว่าที่ดีคือไม่ควรถือว่าการอะซานของเขาใช้ได้ก็คือ อิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) นั่นเอง (ดู กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ 3/106-107)

 

2) มีสติสัมปชัญญะ การอะซานของคนบ้าและคนที่เป็นลมสิ้นสติถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะคำพูดของบุคคลทั้งสองเป็นสิ่งไร้สาระและบุคคลทั้งสองไม่ได้อยู่ในสภาพของอะฮฺลุลอิบาดะฮฺ และคนที่มึนเมานั้น การอะซานของเขาย่อมใช้ไม่ได้ตามทัศนะที่ถูกต้อง (เศาะฮีหฺ) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ส่วนคนที่อยู่ในอาการเริ่มมึน (เอาวะลุน นัชวะฮฺ) ถือว่าการอะซานของเขาใช้ได้โดยไม่มีข้อขัดแย้ง (อ้างแล้ว 3/107)

ประเด็นเกี่ยวเนื่อง

ประเด็นที่ 1) การอะซานของเด็กที่รู้เดียงสาแล้ว (มุมัยยิซ) ถือว่าใช้ได้ เช่นเดียวกับการเป็นอิมามนำละหมาดของเขาก็ถือว่าใช้ได้ ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และตามนี้ปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ตลอดจนมีตัวบทระบุไว้ในตำราอัล-อุมม์

 

และมีประเด็น (วัจญ์ฮุน) หนึ่งในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺระบุว่า การอะซานของเด็กที่รู้เดียงสา (มุมัยยิซ) ใช้ไม่ได้ ตามที่เจ้าของตำราอัต-ตะติมมะฮฺเล่าเอาไว้ ซึ่งประเด็นนี้เป็นมัซฮับของอิมาม อบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) และดาวูด อัซ-ซอฮีรียฺ ส่วนอิมามมาลิก (ร.ฮ.) และอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) ถือว่าใช้ได้

 

อย่างไรก็ตาม หากเราถือตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺที่ว่า การอะซานของเด็กที่รู้เดียงสา (มุมัยยิซ) ใช้ได้ อัล-มาวัรฺดียฺ, อัล-บันดะนัยญียฺ และเจ้าของตำราอัช-ชามิล ก็กล่าวว่า มักรูฮฺ โดยอัล-มุหามิลียฺถ่ายทอดจากตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ว่าเป็นมักรูฮฺซึ่งตีความได้ว่า การอะซานของเด็กที่รู้เดียงสา (มุมัยยิซ) นั้นใช้ได้แต่มักรูฮฺในการตั้งให้เด็กนั้นมีหน้าที่ในการอะซาน (ดู กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ 3/108)

 

ประเด็นที่ 2) การอะซานของผู้หญิงให้แก่บรรดาผู้ชายนั้นใช้ไม่ได้ ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และเป็นคำชี้ขาดของปวงปราชญ์ในมัซฮับ มีตัวบทกำหนดเอาไว้ในตำราอัล-อุมม์ และอิมามอัล-หะเราะมัยนฺถ่ายทอดความเห็นที่สอดคล้อง (อิตติฟาก) ในเรื่องนี้เอาไว้ (อ้างแล้ว 3/108)

 

ส่วนในกรณีที่บรรดาผู้หญิงประสงค์จะละหมาดญะมาอะฮฺในระหว่างพวกนางกันเอง กรณีนี้มี 3คำกล่าว (เกาวฺล์) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ คำกล่าวที่รู้กัน (มัชฮู๊รฺ) และมีตัวบทกำหนดเอาไว้ (อัล-มันศูศ) ในอัล-ญะดีด และอัล-เกาะดีม ตลอดจนปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ คือ ส่งเสริมสำหรับพวกนางให้ทำการอิกอมะฮฺเท่านั้นโดยไม่ต้องอะซาน แต่ถ้าผู้หญิงทำการอะซานสำหรับญะมาอะฮฺของพวกนางโดยไม่ส่งเสียงดังก็ถือว่าไม่มักรูฮฺแต่อย่างใด เพราะเป็นการซิกรุลลอฮฺ

 

ตามนี้อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กำหนดเป้นตัวบทเอาไว้ในตำราอัล-อุมม์ และอัล-บุวัยฏียฺ ตลอดจนชัยคฺ อบู หามิด, อัล-กอฎียฺ อบู อัฏ-ฏ็อยยิบ, อัล-มุหามิลียฺ และเจ้าของตำราอัช-ชามิล กล่าวเอาไว้อย่างชัดเจน โดยกรณีที่ผู้หญิงอะซานนี้นางจะต้องไม่ส่งเสียงดังเกินกว่าที่เพื่อนๆของนางได้ยิน หากนางส่งเสียงดังเกินกว่านั้นก็ถือว่าหะรอม ตามที่อิมามอัล-หะเราะมัยนฺ, อัล-เฆาะซาลียฺ และอัร-รอฟิอียฺระบุเอาไว้ (อ้างแล้ว 3/108)

 

สำหรับอิมามมาลิก (ร.ฮ.) อิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) และดาวูด อัซ-ซอฮิรียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า:ส่งเสริมสำหรับผู้หญิงคนเดียวและบรรดาผู้หญิงให้ทำการอิกอมะฮฺโดยไม่ต้องอะซาน ส่วนอิมาม อบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า:ไม่มีสุนนะฮฺสำหรับพวกนางในการอิกอมะฮฺแต่อย่างใด (อ้างแล้ว 3/109)

 

3) เป็นเสรีชนและบรรลุศาสนภาวะ คุณสมบัติข้อนี้เป็นสิ่งที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) เพราะการอะซานของทาสนั้นใช้ได้เช่นเดียวกับการอะซานของเสรีชน แต่การอะซานของเสรีชนดีกว่า และการอะซานของเด็กที่รู้เดียงสา (มุมัยยิซ) นั้นก็ถือว่าใช้ได้ แต่การอะซานของผู้ที่บรรลุศาสนภาวะย่อมดีกว่า (อ้างแล้ว 3/110,111)

 

4) เป็นผู้ประพฤติดี (อัดฺล์) และเคร่งครัดในการถือศาสนา หากผู้อะซานเป็นคนไม่ดี (ฟาสิก) การอะซานของเขาถือว่าใช้ได้แต่มักรูฮฺ ตามทัศนะที่เห็นพ้องของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ทั้งนี้การอะซานของคนไม่ดี (ฟาสิก) นั้นถือว่าใช้ได้ในการทำหน้าที่อะซานเท่านั้น แต่ไม่อนุญาตให้ถือตาม (ตักลีด) และไม่อนุญาตให้รับข่าวของเขาในการเข้าสู่เวลาละหมาด เพราะการบอกข่าวของคนไม่ดี (ฟาสิก) เป็นสิ่งที่ไม่ถูกยอมรับ (อ้างแล้ว 3/110)

 

5) เป็นผู้ที่รู้ดีถึงกำหนดเวลาของการละหมาด คุณสมบัติข้อนี้ถือเป็นเงื่อนไขสำหรับผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นมุอัซซินหรือบิหลั่นโดยตำแหน่งส่วนบุคคลที่อะซานเพื่อจะละหมาดเองหรืออะซานให้แก่กลุ่มคน (อัล-ญะมาอะฮฺ) เพียงครั้งเดียว (มิใช่ประจำ) ก็ไม่มีเงื่อนไขกำหนดว่าต้องรู้ถึงกำหนดเวลาของการละหมาด แต่เมื่อเขารู้แน่ชัดว่าเข้าเวลาของการอะซานสำหรับการละหมาดนั้นๆก็ถือว่าการอะซานของเขาใช้ได้แล้วเช่นเดียวกับกรณีการอะซานของคนตาบอดที่ถือว่าใช้ได้ (อ้างแล้ว 3/110,111)

 

6) เป็นผู้ที่น้ำเสียงก้องกังวาน เสียงดัง และมีน้ำเสียงดี คุณสมบัติข้อนี้เป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) ทั้งนี้อาศัยใจความจากอัล-หะดีษที่ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ใช้ให้ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ ซัยดฺ (ร.ฎ.) บอกคำอะซานแก่ท่านบิล้าล อิบนุ เราะบาหฺ (ร.ฎ.) ซึ่งท่านรสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า แท้จริงบิล้าลมีเสียงที่ดังกว่าท่านอับดุลลอฮฺ (ร.ฎ.) และอาศัยอัล-หะดีษที่ระบุว่าท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เลือกท่านอบู มะหฺซูเราะฮฺ (ร.ฎ.) ให้ทำหน้าที่อะซานเนื่องจากท่านอบู มะหฺซูเราะฮฺ (ร.ฎ.) มีเสียงที่ก้องกังวาน (อ้างแล้ว 3/111)

 

7) เป็นผู้ที่มีความสะอาดจากหะดัษเล็กและหะดัษใหญ่ คุณสมบัติข้อนี้เป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) ดังนั้นหากผู้ทำการอะซานมีหะดัษหรือมีญุนุบหรือทำการอิกอมะฮฺในสภาพที่มีหะดัษหรือมีญุนุบ การอะซานและการอิกอมะฮฺของเขาย่อมใช้ได้พร้อมกับเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และเป็นทัศนะของอิมามอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ, เกาะตาดะฮฺ, หัมม๊าด อิบนุ อบีสุลัยมาน, อบูหะนีฟะฮฺ, อัษ-เษารียฺ, อิมามอะหฺมัด, อบูเษาริน เป็นต้น

 

ส่วนท่านอะฏออฺ, มุญาฮิด และอัล-เอาซาอียฺ กล่าวว่า:การอะซานและอิกอมะฮฺของผู้มีหะดัษใช้ไม่ได้ และอิมามมาลิก (ร.ฮ.) กล่าวว่า:การอะซานนั้นใช้ได้ และจะไม่ทำการอิกอมะฮฺนอกจากผู้มีน้ำละหมาด (อ้างแล้ว 3/114) สำหรับอัล-หะดีษที่รายงานจากอัซซุฮฺรียฺ จากอบีฮุรอยเราะฮฺ จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่า (لا يؤﺬن الا متوضئ) “จะไม่ทำการอะซานนอกจากผู้ที่มีน้ำละหมาด” บันทึกโดย อัต-ติรมิซียฺ ซึ่งที่ถูกต้องแล้วอัล-หะดีษนี้รายงานจากอัซซุฮฺรียฺ จากอบีฮุรอยเราะฮฺ (ร..ฎ.) เป็นหะดีษเมากู๊ฟ และเป็นหะดีษมุงเกาะฏิอฺ (สายรายงานขาดตอน) เพราะอัซซุฮฺรียฺไม่ทันท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) (ดู กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ;อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3/114)

 

(ประเด็น) หากมุอัซซินเริ่มต้นในการอะซานโดยมีสภาพสะอาดจากหะดัษ ต่อมาเกิดมีหะดัษในระหว่างการอะซาน ให้มุอัซซินอะซานต่อไปจนจบโดยไม่ต้องขาดตอน ไม่ว่าการมีหะดัษนั้นจะเป็นญะนาบะฮฺหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้ามุอัซซินหยุดอะซานแล้วไปทำเฏาะฮาเราะฮฺแล้วกลับมาโดยช่วงเวลาของการหยุดอะซานไม่นานจนน่าเกลียดก็ให้กลับมาอะซานต่อไปจนจบ แต่ถ้าหากเริ่มอะซานใหม่ตั้งแต่ต้นย่อมถือว่าดีกว่า เช่นนี้อิมามอัช-ชาฟิอียฺกำหนดเป็นตัวบทเอาไว้ในตำราอัล-อุมม์ (อ้างแล้ว 3/113)

 

ในกรณีที่มุอัซซินทำการอะซานหรืออิกอมะฮฺโดยมุอัซซินมีญุนุบภายในมัสญิด ก็ถือว่ามุอัซซินผู้นั้นมีบาปด้วยเหตุอยู่ในมัสญิด แต่การอะซานและอิกอมะฮฺของเขาใช้ได้ เพราะเป้าหมายคือการบอกให้รู้ถึงการเข้าเวลาละหมาดซึ่งเกิดขึ้นแล้วด้วยการอะซานนั้น ส่วนที่ว่าหะรอมนั้นเป็นกรณีของการพำนักอยู่ในมัสญิดซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน อนึ่งหากผู้มีญุนุบทำการอะซานที่ระเบียงของมัสญิดก็มีข้อชี้ขาดเหมือนอย่างที่กล่าวมา คือการอะซานนั้นใช้ได้แต่มีบาปเพราะระเบียงของมัสญิดก็เหมือนกับมัสญิดในการห้ามผู้มีญุนุบพำนักอยู่เช่นกัน (อ้างแล้ว 3/113)

 

ข้อควรปฏิบัติของผู้ทำการอะซาน

1) ส่งเสริมให้มุอัซซินทำการอะซานบนที่สูง เช่น หออะซาน เป็นต้น อนึ่งในปัจจุบันทุกมัสญิดต่างก็มีอุปกรณ์เครื่องขยายเสียงและไมโครโฟนโดยมีการติดตั้งลำโพงที่หออะซาน ตามข้อเท็จจริงจึงไม่มีมุอัซซินคนใดขึ้นไปทำการอะซานบนหออะซาน แต่จะทำการอะซานในสถานที่เฉพาะเช่น ห้องอะซาน เป็นต้น การใช้อุปกรณ์เครื่องขยายเสียงในการอะซานเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีปรากฏในสมัยของท่านรสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และชนในยุคสะลัฟศอลิหฺ แต่เป็นเครื่องมือหรือสื่อที่ถูกใช้ในการกระจายเสียง ซึ่งถูกประดิษฐ์คิดค้นตามพัฒนาการความเจริญของสังคมมนุษย์ จึงไม่ถือว่าการอะซานหรืออิกอมะฮฺ ตลอดจนการแสดงคุฏบะฮฺวันศุกร์หรือการอ่านของอิมามในการละหมาดผ่านไมโครโฟนเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ทางศาสนาแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตามการกระจายเสียงผ่านเครื่องขยายเสียงในขณะทำการอะซานก็ควรคำนึงถึงระดับเสียงที่ไม่ดังจนเกินความเหมาะสมเพื่อมิให้เกิดเรื่องร้องเรียนตามมาในภายหลัง โดยเฉพาะมัสญิดที่ตั้งอยู่ในชุมชนที่มีความหลากหลายของผู้คน ทั้งนี้เพราะระดับเสียงของการอะซานโดยผ่านอุปกรณ์เครื่องขยายเสียงนั้นดังกว่าการอะซานปากเปล่าบนหออะซานอยู่แล้ว คณะกรรมการอิสลามประจำมัสญิดแต่ละแห่งควรคำนึงถึงความเหมาะสมในเรื่องนี้เอาไว้ด้วย

 

2) มีสุนนะฮฺให้มุอัซซินทำการอะซานโดยยืนหันหน้าไปทางทิศกิบละฮฺหากมุอัซซินทำการอะซานโดยนั่งหรือนอนตะแคงหรือหันหน้าไปยังทิศอื่นจากทิศกิบละฮฺก็ถือว่ามักรูฮฺ แต่การอะซานนั้นใช้ได้เพราะเป้าหมายของการอะซานคือการประกาศให้รู้ถึงการเข้าเวลาของการละหมาดซึ่งเกิดขึ้นแล้วด้วยการอะซานนั้น ตามนี้ปวงปราชญ์ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวเอาไว้อย่างชัดเจน ตลอดจนนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชาวอิรักและชาวคุรอสานส่วนมากชี้ขาด อีกทั้งยังเป็นตัวบทที่อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กำหนดเอาไว้ (อ้างแล้ว 3/114)

 

ทั้งนี้มีหลักฐานจากอัล-หะดีษที่รายงานโดยท่านยะอฺลา อิบนุ มุรฺเราะฮฺ (ร.ฮ) ว่า “เหล่าสาวกเคยอยู่พร้อมกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในการเดินทาง แล้วพวกเขาก็มาสุดที่ทางแคบ และการละหมาดก็มาถึง ฝนก็ตกลงมาจากเบื้องบนพวกเขา และความเฉอะแฉะก็อยู่ที่เบื้องล่างจากพวกเขา แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ทำการอะซานโดยที่ท่านอยู่บนหลังสัตว์พาหนะของท่าน และท่านก็อิกอมะฮฺ แล้วท่านก็อยู่ข้างหน้าบนหลังสัตว์พาหนะของท่าน ท่านนำละหมาดพวกเขาโดยการทำท่าทาง (อีมาอฺ) ทำให้การสุหญูดนั้นต่ำกว่าการรุกัวอฺ” บันทึกโดย อัต-ติรฺมิซียฺ ด้วยสายรายงานที่ดี (อ้างแล้ว 3/115)

 

ใจความของอัล-หะดีษบทนี้บ่งชี้ว่า อนุญาตให้ทำการอะซานและอิกอมะฮฺโดยไม่ต้องยืน เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทำการอะซานและอิกอมะฮฺในสภาพที่ท่านขี่อยู่บนหลังสัตว์พาหนะของท่าน และอัล-หะดีษบทนี้ยังเป็นหลักฐานที่อนุญาตให้ผู้ทำการอะซานและอิกอมะฮฺทำหน้าที่เป็นอิมามนำละหมาดในคราเดียวกันได้อีกด้วย

 

3) มีสุนนะฮฺให้มุอัซซินหันไปทางขวาและทางซ้ายโดยไม่ต้องหมุนในขณะกล่าวประโยค “อัล-หัยอะละตัยฺน์” (คือประโยค (حي على الصلاة) และ (حي على الفلاح) ในการอะซาน)

(ประเด็น) สำหรับวิธีการหันที่ส่งเสริมให้มุอัซซินกระทำมี 3ประเด็นในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ

ประเด็นที่ 1) ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-เอาญุฮฺ) โดยนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชาวอิรักและกลุ่มหนึ่งจากชาวคุรอสานชี้ขาดเอาไว้ คือ มุอัซซินหันไปทางขวาแล้วกล่าวว่า (حي على الصلاة ، حي على الصلاة) ต่อมาก็หันไปทางซ้ายแล้วกล่าวว่า (حي على الفلاح ، حي على الفلاح)

 

ประเด็นที่ 2) มุอัซซินหันไปทางขวา แล้วกล่าวว่า (حي على الصلاة) ต่อมาก็กลับไปยังทิศกิบละฮฺ ต่อมาก็หันไปทางขวาแล้วกล่าวว่า (حي على الصلاة) หลังจากนั้นก็หันไปทางซ้ายแล้วกล่าวว่า (حي على الفلاح) ต่อมาก็กลับไปยังทิศกิบละฮฺ ต่อมาก็หันไปทางซ้ายแล้วกล่าวว่า (حي على الفلاح)

 

ประเด็นที่ 3) ประเด็นนี้เป็นคำกล่าวของท่านอัล-ก็อฟฟ๊าล (ร.ฮ.) คือ มุอัซซินกล่าวว่า (حي على الصلاة) 1ครั้งทางด้านขวา และอีกหนึ่งครั้งทางด้านซ้าย ต่อมาก็กล่าว (حي على الفلاح) 1ครั้งทางด้านขวา และอีกหนึ่งครั้งทางด้านซ้าย (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3/115)

อนึ่ง การหันของมุอัซซิน หมายถึงการหันศีรษะและต้นคอโดยที่หน้าอกไม่ผินออกจากทิศกิบละฮฺ และเท้าของมุอัซซินไม่ย้ายจากที่ของมัน

 

ในกรณีของการอิกอมะฮฺนั้น ส่งเสริมให้ผู้ทำการอิกอมะฮฺหันศีรษะและต้นคอเหมือนในการอะซานหรือไม่? กรณีนี้มี 3 ประเด็นในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ

ประเด็นที่ 1) ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัลเอาญุฮฺ) ถือว่าส่งเสริมให้กระทำเช่นนั้น ทั้งนี้อิมาม อัล-หะเราะมัยฺน์ (ร.ฮ.) ถ่ายทอดการเห็นพ้องของอัศหาบอัช-ชาฟิอียฺเอาไว้

ประเด็นที่ 2) ไม่ส่งเสริม ประเด็นนี้ อัล-บะเฆาะวียฺ (ร.ฮ.) ให้น้ำหนักโดยอธิบายเหตุผลว่า เป็นเพราะการอิกอมะฮฺนั้นจะถูกกระทำสำหรับบรรดาผู้ที่มาร่วมอยู่ในขณะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นในการหันแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 3) ผู้ทำการอิกอมะฮฺไม่ต้องหัน ยกเว้นกรณีที่มัสญิดนั้นเป็นมัสญิดขนาดใหญ่ ประเด็นนี้ อัล-มุตะวัลลียฺ (ร.ฮ.) ชี้ขาดเอาไว้ (อ้างแล้ว 3/116)

 

อนึ่ง การส่งเสริมให้มุอัซซินหันไปทางขวาและซ้ายในการกล่าวประโยค อัล-หัยอะละตัยฺน์นั้นเป็นมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และอัน-นะเคาะอียฺ, อัษ-เษารียฺ, อัล-เอาซาอียฺ, อบูเษาริน ตลอดจนริวายะฮฺหนึ่งจากอิมาม อะหฺมัด (ร.ฮ.) กล่าวเอาไว้ส่วนท่านอิบนุ สีรีน กล่าวว่า:การหันนั้นเป็นมักรูฮฺ และอิมามมาลิก (ร.ฮ.) กล่าวว่า:“ผู้อะซานจะไม่หมุนและจะไม่หันยกเว้นเมื่อผู้อะซานต้องการให้ผู้คนได้ยินเท่านั้น” สำหรับอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) , อิสหาก (ร.ฮ.) และในริวายะฮฺหนึ่งของอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) กล่าวว่า: ผู้อะซานหันได้แต่ไม่ต้องหมุนยกเว้นการอะซานบนหออะซานก็ให้หมุนได้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ 3/116)

 

4) มีสุนนะฮฺให้ผู้อะซานนำเอานิ้วมือสอดในรูหูทั้งสองข้าง เพราะมีรายงานจากอัล-หะดีษของท่านอบูญุหัยฟะฮฺ (ร.ฎ.) เล่าว่าท่านบิล้าล อิบนุ เราะบาหฺ (ร.ฎ.) กระทำเช่นนั้น โดยอัล-บุคอรียฺ, มุสลิม และอัต-ติรมิซียฺบันทึกเอาไว้ เหตุผลที่มีสุนนะฮฺให้ผู้อะซานนำเอานิ้วมือสอดในรูหูทั้งสองข้างนั้นเพื่อทำให้การออกเสียงของผู้อะซานมีพลัง และเพื่อให้ผู้ที่อาจจะไม่ได้ยินเสียงของผู้อะซานเนื่องจากหูหนวกหรืออยู่ไกลจะได้สังเกตเห็นอากัปกริยาดังกล่าวว่ามุอัซซินกำลังทำการอะซานอยู่

อนึ่ง ไม่ส่งเสริมให้สอดนิ้วมือในรูหูในกรณีของการอิกอมะฮฺ ตามที่อัร-รูยานียฺ (ร.ฮ.) ระบุเอาไว้ (อ้างแล้ว 3/112,117)

 

5) ส่งเสริมให้มุอัซซินทำการอะซานแบบอัต-ตะร็อสสุล (الترسل) คือการใช้น้ำเสียงอย่างนุ่มนวล ไม่รีบ โดยกล่าวประโยคของการอะซานอย่างชัดเจนด้วยทำนองแบบเสนาะหู (อัต-ตัรฺตีล) ทั้งนี้ผู้ทำการอะซานไม่ควรลากเสียงและเล่นทำนองจนคล้ายกับการร้องเพลง เนื่องจากอิมามมาลิก (ร.ฮ.) และนักปราชญ์บางท่านถือว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) (ดู ตัลบีส อิบลีส;อิบนุ อัล-เญาวซียฺ หน้า 194) ส่วนในกรณีของการอิกอมะฮฺนั้นให้กล่าวประโยคของการอิกอมะฮฺแบบ “อิดร็อจญ์” คือกล่าวแบบติดต่อกันโดยไม่มีการลากเสียงหรือเล่นทำนอง (อ้างแล้ว 3/117,118)

อนึ่ง เจ้าของตำรา “อัล-หาวียฺ” กล่าวว่า:และการเล่นทำนอง (ตัลหีน) ในการอะซานนั้นเป็นมักรูฮฺ เพราะทำให้การอะซานออกจากความเข้าใจของผู้คน และเป็นเพราะชาวสะลัฟหลีกห่างจากการกระทำเช่นนั้น อันที่จริงการเล่นทำนองในการอะซานเป็นอุตริกรรมที่เกิดขึ้นภายหลังชนรุ่นสะลัฟ (อ้างแล้ว 3/118)

 

จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า การเล่นทำนอง (ตัลหีน) ในการอะซานที่ถือเป็นมักรูฮฺนั้นคือการใช้น้ำเสียงและทำนองที่ฟังแล้วไม่เข้าใจหรือฟังไม่ได้ศัพท์ ตลอดจนไม่มีการระวังในการออกอักขรวิธีที่ชัดถ้อยชัดคำ ส่วนการอะซานที่มีทำนองเสนาะ (อัต-ตัรตีล) ซึ่งฟังแล้วชัดถ้อยชัดคำ เสนาะหู ไม่เอื้อนเสียงแบบทำนองเพลงหรือไม่ลากเสียงยาวจนเกินขอบเขต ย่อมเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้

(ประเด็น)

*หากมุอัซซินทำการอะซานให้แก่หมู่คณะ (อัล-ญะมาอะฮฺ) ก็ส่งเสริมให้มุอัซซินยกเสียงสูง (ใช้เสียงดัง) เท่าที่สามารถทำได้โดยไม่มีอันตรายเกิดตามมา (เช่น เจ็บคอ เสียงแตก) ฉะนั้นถ้าหากมุอัซซินใช้เสียงค่อยจนไม่ได้ยินก็ถือว่าการอะซานนั้นใช้ไม่ได้ตามทัศนะที่ถูกต้องและปวงปราชญ์ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชี้ขาดเอาไว้ ซึ่งการได้ยินของคนบางคนในหมู่คณะก็ถือว่าใช้ได้แล้ว

 

ส่วนในการอิกอมะฮฺนั้นถ้าหากผู้อิกอมะฮฺจำกัดอยู่เฉพาะให้ตัวเองได้ยินเท่านั้น ก็ถือว่าการอิกอมะฮฺนั้นใช้ไม่ได้ตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุดใน 2 ประเด็น (อะเศาะห์ อัล-วัจญ์ฮัยฺน์) ทั้งนี้ในกรณีการอะซานและอิกอมะฮฺให้แก่หมู่คณะ (อัล-ญะมาอะฮฺ) ส่วนผู้ที่อะซานให้แก่ตัวเองในการละหมาดคนเดียวนั้น ปวงปราชญ์ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชี้ขาดว่าเพียงพอแล้วในการที่ตัวเองได้ยินทั้งการอะซานและอิกอมะฮฺ (อ้างแล้ว 3/120)

 

*นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺเห็นพ้องตรงกันว่า การเรียงลำดับประโยค (อัต-ตัรฺตีบ) ในการอะซานนั้นเป็นเงื่อนไขในการเศาะหฺอะซาน ดังนั้นหากผู้ทำการอะซานหรืออิกอมะฮฺกล่าวประโยคสลับกัน เช่น กล่าวครึ่งที่สองก่อนแล้วต่อมาก็กล่าวครึ่งแรก การกล่าวครึ่งที่สองถือเป็นโมฆะ (คือถูกยกเลิกไป)

 

ส่วนการกล่าวครึ่งแรกนั้นถือว่าถูกต้องก็ให้ผู้อะซานกล่าวครึ่งที่สองตามลำดับต่อไปจนจบคำอะซาน แต่ถ้าเริ่มอะซานใหม่ย่อมถือว่าดีกว่าเพื่อให้เรียงลำดับต่อกัน หากผู้ทำการอะซานละทิ้งถ้อยคำบางคำไปในการอะซานก็ให้กล่าวสิ่งที่ถูกทิ้งไปและกล่าวสิ่งที่อยู่หลังจากนั้นตามลำดับ แต่ถ้าหากเริ่มใหม่ก็ถือว่าเป็นการดี

 

*ความต่อเนื่อง (อัล-มุวาลาตฺ) ระหว่างถ้อยคำของการอะซานนั้นเป็นสิ่งที่ถูกใช้ให้กระทำ ดังนั้นหากผู้ทำการอะซานหยุดนิ่งเพียงเล็กน้อย การอะซานก็ไม่เสียหายโดยไม่มีข้อขัดแย้งแต่ให้อะซานต่อไป หากผู้ทำการอะซานพูดคุยในระหว่างการอะซานก็ถือว่ามักรูฮฺโดยไม่มีข้อขัดแย้ง

 

และหากมีผู้ใดให้สล่ามหรือมีผู้ใดจาม ผู้ทำการอะซานไม่ต้องตอบสล่ามและไม่ต้องกล่าวคำ “ตัชมีตฺ” จนกว่าจะเสร็จจากการอะซานจึงค่อยตอบสล่ามหรือกล่าวคำ “ตัชมีตฺ”แต่ถ้าหากผู้ทำการอะซานตอบสล่ามหรือกล่าวคำ “ตัชมีตฺ” หรือพูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ (มัศละหะฮฺ) ก็ถือว่าไม่มักรูฮฺ แต่เป็นการทิ้งสิ่งที่ดีเท่านั้น (อ้างแล้ว 3/121)

 

กำหนดเวลาของการอะซานและอิกอมะฮฺ

เป้าหมายของการอะซานคือการประกาศให้รู้ถึงการเข้าเวลาละหมาดฟัรฎูทั้ง 5เวลา ดังนั้นมุอัซซินหรือบิหลั่นโดยตำแหน่งจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับกำหนดเวลา (มะวากีต) ของการละหมาดในแต่ละเวลาและจำต้องตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อนว่าเข้าเวลาละหมาดนั้นๆแล้ว ซึ่งในปัจจุบันทุกมัสญิดมีปฏิทินที่คำนวณเวลาการละหมาดและมีนาฬิกาบอกเวลา มุอัซซินหรือบิหลั่นทำหน้าที่อะซานเป็นประจำหรือโดยตำแหน่งจำต้องทำการตรวจสอบการเข้าเวลาละหมาดโดยอาศัยปฏิทินคำนวณเวลาละหมาดและนาฬิกาประจำมัสญิดที่ตั้งเวลาตามมาตรฐานเวลาของกรมอุทกศาสตร์อย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนทำการอะซาน

 

นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺระบุว่า:ไม่อนุญาติให้ทำการอะซานสำหรับเวลาละหมาดฟัรฎูอื่นนอกจากเวลาศุบหิก่อนการเข้าเวลาละหมาด เพราะการอะซานมีเป้าหมายเพื่อบอกให้ทราบถึงการเข้าเวลาละหมาด จึงไม่อนุญาตให้อะซานก่อนเวลาละหมาดโดยไม่มีข้อขัดแย้ง ท่านอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และอัศหาบฺอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า:หากผู้อะซานทำให้บางถ้อยคำของการอะซานสำหรับเวลาการละหมาดอื่นนอกจากเวลาศุบหิอยู่ก่อนเวลาและบางส่วนอยู่ในเวลา การอะซานนั้นถือว่าใช้ไม่ได้ และจำเป็นที่มุอัซซินต้องเริ่มอะซานใหม่ทั้งหมด (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ;อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3/96)

 

สำหรับเวลาละหมาดศุบหินั้น อนุญาตให้อะซานก่อนเข้าเวลาของการละหมาดศุบหิได้โดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับ แต่มีความเห็นต่างกันถึงช่วงเวลาจากค่ำคืนที่อนุญาตให้อะซานก่อนเข้าเวลาการละหมาดศุบหิ ซึ่งมีอยู่ 5 ประเด็น (เอาญุฮฺ) ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-เอาญุฮฺ) ซึ่งเป็นคำกล่าวของอัศหาบฺอัช-ชาฟิอียฺส่วนมาก และนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชาวอิรักส่วนใหญ่ชี้ขาดเอาไว้คือ เข้าเวลาของการปฏิบัติ (วักตุล อะดาอฺ) นับตั้งแต่ช่วงเวลาของเที่ยงคืน (อ้างแล้ว 3/96)

 

ทั้งนี้มีสุนนะฮฺให้อะซานสำหรับเวลาศุบหิ 2 ครั้ง หนึ่งใน 2ครั้งคือก่อนแสงอรุณจริงขึ้น และอีกครั้งภายหลังแสงอรุณจริงขึ้น ที่ดีที่สุด (อัล-อัฟฎ็อล) ให้มีมุอัซซิน 2 คน คนหนึ่งอะซานก่อนแสงอรุณจริงขึ้น และอีกคนหนึ่งอะซานหลังจากเวลาแสงอรุณจริงขึ้นแล้ว แต่ถ้าหากจำกัดเพียงแค่การอะซานครั้งเดียว ที่ดีที่สุด (อัล-อัฟฎ็อล) ก็ให้อะซานภายหลังแสงอรุณจริงขึ้นแล้ว ตามสิ่งที่รู้กันในการละหมาดทั่วไป (อ้างแล้ว 3/98)

 

ซึ่งกรณีของการอะซานสำหรับเวลาศุบหิเพียงครั้งเดียวภายหลังแสงอรุณจริงขึ้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้คนในบ้านเมืองของเราเพราะเป็นสิ่งที่คุ้นเคยและรู้กัน อีกทั้งเป็นการหลีกเลี่ยงจากความเห็นที่ขัดแย้งของนักวิชาการที่มีความเห็นว่าไม่อนุญาติให้อะซานศุบหิก่อนเวลาฟัจฺญร์ (แสงอรุณจริงขึ้น) ซึ่งเป็นทัศนะของอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) และอัษ-เษารียฺ (ร.ฮ.) ตลอดจนเพื่อป้องกันความสับสนที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา เพราะการอะซานครั้งแรกนั้นเป็นการอะซานก่อนเข้าเวลาการละหมาดศุบหิซึ่งมีเป้าหมายในการปลุกผู้คนที่นอนหลับให้ลุกขึ้นเพื่อเตรียมตัวก่อนการละหมาดศุบหิซึ่งยังไม่เข้าเวลาในการละหมาดศุบหิแต่อย่างใด

 

ทั้งนี้มีอิจญ์มาอฺระบุชัดเจนว่า ช่วงแรกของเวลาศุบหิก็คือการขึ้นของแสงอรุณจริง (ฟัจฺญร์ ศอดิก) และบรรดาอะหฺกามทั้งหมดผูกพันอยู่กับการขึ้นของแสงอรุณจริง กล่าวคือ การเข้าเวลาละหมาดศุบหิ การออกจากเวลาของการละหมาดอิชาอฺ การเข้าสู่การถือศีลอดซึ่งด้วยการขึ้นของแสงอรุณจริง การกินและการดื่มก็เป็นที่ต้องห้ามสำหรับผู้ถือศีลอด (อ้างแล้ว 3/46)

 

ดังนั้น หากมุอัซซินทำการอะซานครั้งแรกก่อนการเข้าเวลาศุบหิ ก็อาจจะทำให้ผู้ที่ได้ยินเสียงอะซานนั้นเกิดความสับสนในการปฏิบิติศาสนกิจได้ ส่วนกรณีการอะซานก่อนการเข้าเวลาศุบหิซึ่งเป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺนั้นเป็นเรื่องของข้อมูลทางวิชาการที่มุ่งรวบรวมประเด็นในการนำเสนออย่างละเอียดครบถ้วนเท่านั้น

 

*สำหรับการอิกอมะฮฺนั้น ถือว่าใช้ไม่ได้ หากทำการอิกอมะฮฺก่อนเข้าเวลาละหมาดประจำเวลา และก่อนมีเจตนาจะเข้าสู่การปฏิบัติละหมาด ดังนั้นหากทำการอิกอมะฮฺก่อนหน้าเข้าเวลาละหมาดเพียงเล็กน้อย โดยที่หลังการอิกอมะฮฺก็เข้าเวลาละหมาด ต่อมาก็เริ่มปฏิบัติละหมาดหลังจากนั้น การอิกอมะฮฺนั้นย่อมใช้ไม่ได้ (คือไม่ได้สุนนะฮฺของการอิกอมะฮฺแต่อย่างใด)

 

ทั้งนี้ถึงแม้ว่าจะไม่มีการคั่นระหว่างการอิกอมะฮฺกับการละหมาดก็ตาม เนื่องจากการอิกอมะฮฺเกิดขึ้นก่อนเวลาละหมาดนั่นเอง และหากทำการอิกอมะฮฺในเวลาของการละหมาด แล้วล่าช้าในการเข้าสู่การปฏิบัติละหมาด การอิกอมะฮฺก็ย่อมเป็นโมฆะ หากการคั่นระหว่างการอิกอมะฮฺกับการเข้าสู่ละหมาดนานตามจารีตที่ถือว่านาน

 

ทั้งนี้เพราะการอิกอมะฮฺถูกมุ่งหมายเพื่อการเข้าสู่ในการปฏิบัติละหมาด จึงไม่อนุญาติให้คั่นระหว่างนั้น ฉะนั้นหากมีการคั่นระหว่างการอิกอมะฮฺกับการเข้าสู่ละหมาดนานเกินไปตามจารีต ก็ให้ทำการอิกอมะฮฺใหม่เพื่อให้ได้สุนนะฮฺในการอิกอมะฮฺ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมัซซับ เล่มที่ 3 หน้า 97)          

 

สำนวนในการอะซาน

สำนวนในการอะซานตามที่ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) สอนสำนวนนั้นให้แก่ท่านอบู มะหฺซูเราะฮฺ (ร.ฎ.) คือ

الله اكبر الله اكبر    الله اكبر الله اكبر

اشهدان لا اله الا الله ، اشهدان لا اله الا الله

اشهد ان محمدارسول الله ، اشهدان محمدارسول الله

حي على الصلاة ، حي على الصلاة

حي على الفلاح ، حي على الفلاح

الله اكبر الله اكبر ، لا اله الا الله.

(ประเด็น)

1) หลังจากมุอัซซินกล่าวประโยคอัช-ชะฮาดะฮฺทั้ง 2 ประโยคแล้ว มีสุนนะฮฺให้มุอัซซินกล่าวทวนประโยคอัช-ชะฮาดะฮฺทั้งสองด้วยเสียงดังพอควรว่า

اشهد ان لا اله الا الله ، اشهد ان لا اله الا الله

اشهد ان محمدارسول الله ، اشهد ان محمدارسول الله

 

หลังจากนั้นจึงค่อยกล่าวประโยค “อัล-หัยอะละฮฺ” ทั้งสอง หรือจะกล่าวทวนประโยคอัช-ชะฮาดะฮฺที่หนึ่งค่อยๆ 2ครั้งแล้วจึงกล่าวซ้ำด้วยเสียงดัง ต่อมาก็กล่าวทวนประโยคอัช-ชะฮาดะฮฺที่สองค่อยๆ 2ครั้งแล้วจึงกล่าวซ้ำด้วยเสียงดังก็ได้ เรียกการกล่าวทวนนี้ว่า อัต-ตัรฺญีอฺ (الترجيع) ซึ่งตามทัศนะที่ถูกต้อง (เศาะฮีหฺ) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือเป็นสุนนะฮฺ และนักวิชาการส่วนใหญ่กล่าวเอาไว้

 

ฉะนั้นหากมุอัซซินละทิ้งการกล่าวทวน (อัต-ตัรฺญีอฺ) โดยหลงลืมหรือโดยเจตนา การอะซานก็ย่อมถือว่าใช้ได้ แต่เสียภาคผล (ฟะฎีละฮฺ) ไปเท่านั้น และหิกมะฮฺในการกล่าวทวนนี้ก็คือให้มุอัซซินกล่าวค่อยๆโดยใคร่ครวญและมีความบริสุทธิ์ใจในการกล่าวประโยคอัช-ชะฮาดะฮฺทั้งสอง (อ้างแล้ว 3/100)

 

2) หากเป็นการอะซานละหมาดศุบหิ ก็มีสุนนะฮฺให้มุอัซซินกล่าวประโยค الصلاة خير من النوم  สองครั้งหลังจากการกล่าวประโยค “อัล-หัยอะละฮฺ” ทั้งสองแล้ว เรียกประโยคที่เติมในการอะซานละหมาดศุบหินี้ว่า อัต-ตัษวีบ (التثويب) ทั้งนี้เนื่องจากมีอัล-หะดีษของอบูมะหฺซูเราะฮฺ (ร.ฎ.) รายงานมา บันทึกโดยอบูดาวูดและท่านอื่นๆด้วยสายรายงานที่ดี

 

และมีรายงานจากท่านอะนัส (ร.ฎ) ว่า:“ส่วนหนึ่งจากสุนนะฮฺนั้น เมื่อมุอัซซินกล่าวในการอะซานอัล-ฟัจฺญร์ (ละหมาดศุบหิ) ว่า (حي على الفلاح) แล้วมุอัซซินกล่าวว่า (الصلاة خير من النوم) (الله اكبر الله اكبر ، لا اله الا الله)” บันทึกโดย อิบนุ คุซัยมะฮฺ, อัด-ดาเราะกุฏนียฺและอัล-บัยฮะกียฺ ซึ่งกล่าวว่า:สายรายงานของอัล-หะดีษเศาะฮีหฺ (อ้างแล้ว 3/99)

 

อนึ่ง คำว่า “อัต-ตัษวีบ” (التثويب) หมายถึง การกลับหรือหวนกลับหลังจากไป เหตุที่เรียกการกล่าวประโยค (الصلاة خير من النوم) ของมุอัซซินว่า อัต-ตัษวีบ เพราะคล้ายกับว่ามุอัซซินได้หวนกลับมาสู่การเรียกร้องเชิญชวนสู่การละหมาดอีดครั้ง โดยก่อนหน้านี้มุอัซซินได้กล่าวประโยค (حي على الصلاة) ไปแล้ว ต่อมามุอัซซินก็หวนกลับมากล่าวประโยคที่เรียกร้องเชิญชวนสู่การละหมาดอีกครั้งว่า (الصلاة خير من النوم) (อ้างแล้ว 3/100)

 

การกล่าว “อัต-ตัษวีบ” ในการอะซานศุบหินั้นถือเป็นสุนนะฮฺตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และเป็นคำกล่าวของท่านอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.), ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.), ท่านอะนัส (ร.ฎ.), อัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ, อิบนุ สีรีน, อัซ-ซุฮฺรียฺ, อิมาม มาลิก, อัษ-เษาะรียฺ, อิมาม อะห์มัด, อิสหาก, อบูเษาริน และดาวูด (เราะหิมะฮุมุลลอฮฺ) (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3/102)

 

อนึ่งคำว่า อัล-หัยอะละฮฺ (الحيعلة) เป็นคำย่อจากคำกริยาว่า (حي على) เช่นเดียวกับคำว่า อัล-บัสมะละฮฺ (البسملة) เป็นคำย่อจากประโยค (بسم الله) คำว่า “อัล-เหาเกาะละฮฺ” (الحوقلة) เป็นคำย่อจากประโยค (لا حول ولاقوة الا با لله) คำว่า “อัล-หัมดะละฮฺ” (الحمدلة) เป็นคำย่อจากประโยค (الحمد لله) เป็นต้น

 

(ประเด็น) *การกล่าวประโยค อัต-ตัษวีบในการอะซานเวลาละหมาดอื่นจากเวลาละหมาดศุบหิถือเป็นมักรูฮฺตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺและปวงปราชญ์ (อ้างแล้ว 3/105)

*มักรูฮฺในการกล่าวประโยค (حي على خير العمل) ในการอะซาน เพราะไม่มีรายงานยืนยันจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทั้งนี้ อิมามอัล-บัยฮะกียฺได้รายงานหะดีษเมากู๊ฟจากท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) และท่านอะลี อิบนุ อัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) แล้วอิมามอัล-บัยฮะกียฺก็กล่าวว่า:ถ้อยคำนี้ไม่มีรายงานยืนยันจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ฉะนั้นพวกเราจึงถือว่าการเพิ่มเติมในการอะซานเป็นสิ่งที่มักรูฮฺ (อ้างแล้ว 3/106)

 

ในตำรา “อัส-สุนัน อัล-กุบรอ” อิมามอัล-บัยฮะกียฺกล่าวว่า:ถ้อยคำนี้ (คือการกล่าวประโยค حي على خير العمل) ไม่มีรายงานยืนยันมาจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในสิ่งที่ท่านได้สอนท่านบิล้าล (ร.ฎ.) และท่านอบู มะหฺซูเราะฮฺ (ร.ฎ.) และเราถือว่าการเพิ่มเติมในการอะซานเป็นมักรูฮฺ (อัส-สุนัน อัลกุบรอ 1/425)

 

หากถือตามคำกล่าวของอิมามอัล-บัยฮะกียฺ (ร.ฮ.) ที่ว่านี้ก็ย่อมถือว่า การเพิ่มเติมคำว่า (سيدنا) ในการกล่าวประโยค (اشهد ان محمدارسول الله) ในการอะซานและอิกอมะฮฺเป็นสิ่งที่มักรูฮฺ เพราะนักวิชาการกล่าวว่า:แท้จริงการเพิ่มเติมคำๆหนึ่งหรือบางส่วนของถ้อยคำหลายคำก็เหมือนกับการตัดทอนหรือทิ้งคำ (อัล-หัซฺฟ์) ซึ่งทั้งสองกรณีไม่เป็นที่อนุญาต (บิดะอฺ ว่า อัคฏออฺ อัล-มุศอลลีน;อิมาด ซะกียฺ อัล-บารูดียฺ หน้า 67 / อัส-สุนัน วัล มุบตะดะอาตฺ;อัช-ชุก็อยรียฺ หน้า 40)

 

สำนวนของการอิกอมะฮฺ

สำนวนของการอิกอมะฮฺตามที่มีรายงานมาในหะดีษของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ ซัยดฺ (ร.ฎ.) คือ

الله اكبر ، الله اكبر

أشهد ان لا اله الا الله

أشهد ان محمد الرسول الله

حي على الصلاة ، حي على الفلاح

قدقامت الصلاة ، قدقامت الصلاة

الله اكبر ، الله اكبر

لا اله الا الله

(ประเด็น) *ประโยคในการอิกอมะฮฺตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺที่รู้กัน (มัชฮู๊ร) มี 11 ประโยคโดยกล่าวเพียงครั้งเดียว (เป็นจำนวนคี่) ตามหะดีษที่ท่านอะนัส (ร.ฎ.) รายงานว่า “บิล้าลได้ถูกใช้ให้อะซานเป็นคู่และอิกอมะฮฺเป็นจำนวนคี่” (บันทึกโดย มุสลิม) ประโยคในการอะซานจึงมีทั้งหมด 19 ประโยคโดยนับรวมการกล่าวทวน (อัต-ตัรญีอฺ) ในประโยคอัช-ชะฮาะดะฮฺทั้งสอง ทั้งนี้ประโยค (الله اكبر) ในตอนต้นของการอะซานมี 4ประโยค โดยสุนนะฮฺให้มุอะซซินกล่าวประโยค (الله اكبر ، الله اكبر) ในการหายใจ (นะฟัส) 1ครั้ง เมื่อกล่าว 4 ประโยคจึงมีการหายใจ (นะฟัส) 2 ครั้ง ส่วนในการอิกอมะฮฺนั้นผู้ทำการอิกอมะฮฺจะกล่าว (الله اكبرالله اكبر) ในการหายใจ (นะฟัส) เพียงหนึ่งครั้งซึ่งถือเป็นจำนวนคี่ (วิตร์) ตามการนับครั้งของการหายใจ (อ้างแล้ว 3/102)

 

*การนับประโยคในการอิกอมะฮฺ 11ประโยคเป็นการนับจำนวนตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และเป็นคำกล่าวของท่านอุมัร (ร.ฎ.), ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.), ท่านอะนัส (ร.ฎ), อัล-หะสัน อัลบะเศาะรียฺ, มักหู้ล, อัซ-ซุฮฺรียฺ, อัล-เอาซาอียฺ, อิมามอะหฺมัด, อิสหาก, อบูเษาริน, ยะหฺยา อิบนุ ยะหฺยา, ดาวูด และอิบนุ อัล-มุนซิร (เราะหิมะฮุมุลลอฮฺ)

 

อิมามอัล-บัยฮะกียฺ กล่าวว่า:ส่วนหนึ่งจากผู้ที่กล่าวว่าให้อิกอมะฮฺเป็นประโยคเดี่ยว คือ สะอีด อิบนุ อัล-มุสัยยิบ, อุรฺวะฮฺ อิบนุ อัซซุบัยฺร์, อัล-หะสัน, อิบนุสีรีน, มักหู้ล, อัซซุฮฺรียฺ, อุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ และบรรดาคณาจารย์ในรุ่นตาบิอีนจำนวนมาก อัล-บะเฆาะวียฺกล่าวว่าเป็นคำกล่าวของนักปราชญ์ส่วนมาก

 

อิมามมาลิก (ร.ฎ.) กล่าวว่า การอิกอมะฮฺมี 10 ประโยคโดยกล่าว (قدقامت الصلاة) เพียงครั้งเดียว ส่วนอิมามอบูหะนีฟะฮฺ, อัษ-เษารียฺ และอิบนุ อัล-มุบาร็อก (เราะฮิมะฮุมุลลอฮฺ) กล่าวว่า มีจำนวนประโยคเหมือนการอะซานพร้อมกับเพิ่มประโยค قدقامت الصلاة  สองครั้ง (อ้างแล้ว 3/103)

 

*อนึ่ง อิมามที่จะนำละหมาดมีสิทธิในการใช้ให้ทำการอิกอมะฮฺ ดังนั้นผู้อะซานจะไม่ทำการอิกอมะฮฺเพื่อเข้าสู่การละหมาดนอกจากในขณะที่อิมามนั้นมาปรากฏตัวอยู่แล้วและได้รับอนุญาตจากอิมามให้ทำการอิกอมะฮฺ ส่วนการอะซานนั้น ผู้ทำการอะซาน (มุอัซซิน-บิหลั่น) มีสิทธิทำการอะซานมากกว่าคนอื่น ดังนั้นเมื่อเข้าเวลาการละหมาด มุอัซซินก็จะทำการอะซานโดยไม่ต้องรอคอยและขออนุญาตผู้ใดก่อนไม่ว่าจะเป็นอิมามหรือผู้ใดก็ตาม (มินฮาญุลมุสลิม, อบูบักรฺ ญาบิรฺ อัล-ญะซาอีรียฺ หน้า 188)

 

การกล่าวตาม (มุตาบะอะฮฺ) คำอะซาน

*ส่งเสริม (มุสตะหับ) สำหรับผู้ที่ได้ยินการอะซานของมุอัซซินให้กล่าวตาม (มุตาบะฮฺ) คำอะซานเหมือนอย่างที่มุอัซซินกล่าว ยกเว้นในการกล่าวประโยคอัล-หัยอะละฮฺทั้งสอง ให้ผู้ที่ได้ยินกล่าวว่า:“لا حول ولا قوة الا با الله” เนื่องจากมีหะดีษของท่านอุมัร (ร.ฎ.) รายงานมาโดยอิมามมุสลิมบันทึกเอาไว้ในเรื่องนี้ ทั้งนี้การกล่าวประโยคอัล-เหาเกาละฮฺ (لا حول ولا قوة الا با الله) สำหรับผู้ที่ได้ยินจะกล่าว 4ครั้งด้วยกันในการอะซาน และกล่าว 2 ครั้งในการอิกอมะฮฺ (อ้างแล้ว หน้า 3/125)

 

*สำหรับการกล่าวอัต-ตัษวีบ (الصلاة خير من النوم) ในการอะซานละหมาดศุบหิของมุอัซซิน ให้ผู้ที่ได้ยินเสียงอะซานกล่าวรับว่า “صدقت و بررت” จำนวน 2 ครั้งและในการอิกอมะฮฺนั้น เมื่อผู้ทำการอิกอมะฮฺกล่าวประโยค (قدقامت الصلاة) ให้ผู้ที่ได้ยินกล่าวรับว่า (أقامها الله وأدامها) จำนวน 2 ครั้งตามที่บรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชี้ขาดเอาไว้ (อ้างแล้ว 3/125)

 

(ประเด็น) นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า:และส่งเสริมให้กล่าวตาม (มุตาบะอะฮฺ) มุอัซซินในทุกถ้อยคำภายหลังมุอัซซินกล่าวถ้อยนั้นเสร็จสิ้น โดยไม่กล่าวควบคู่ไปกับการกล่าวของมุอัซซิน และโดยไม่ล่าช้าภายหลังมุอัซซินกล่าวถ้อยคำเสร็จสิ้น

 

และส่งเสริมให้กล่าวตาม (มุตาบะอะฮฺ) สำหรับทุกคนที่ได้ยิน ไม่ว่าผู้นั้นเป็นผู้มีหะดัษเล็กหรือหะดัษใหญ่หรือไม่มีหะดัษก็ตาม เพราะการกล่าวตามเป็นการรำลึก (ซิกรุลลอฮฺ) จึงไม่เป็นการห้ามสำหรับบุคคลดังกล่าวในการกล่าวตามแต่อย่างใด

 

*บุคคลที่ได้รับการยกเว้นในเรื่องส่งเสริมให้กล่าวตาม (มุตาบะอะฮฺ) คือ ผู้ที่กำลังปฏิบัติละหมาด ผู้ที่กำลังปลดทุกข์ และผู้ที่อยู่ในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ (ญิมาอฺ) ดังนั้นเมื่อบุคคลปลดทุกข์เสร็จแล้วหรือเสร็จจากการมีเพศสัมพันธ์แล้วก็ให้กล่าวตาม (มุตาบะอะฮฺ) ในภายหลัง

 

ส่วนผู้ที่กำลังปฏิบัติละหมาดไม่ว่าจะเป็นละหมาดฟัรฎูหรือสุนนะฮฺ อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และบรรดาอัล-อัศหาบกล่าวว่า : ผู้ที่กำลังปฏิบัติละหมาดและได้ยินเสียงอะซานไม่ต้องกล่าวตามในขณะละหมาด เมื่อละหมาดเสร็จแล้วจึงค่อยกล่าวตามในภายหลัง แต่ถ้าผู้ที่กำลังปฏิบัติละหมาดกล่าวตามในขณะละหมาด กรณีนี้คำกล่าวที่ถูกต้องที่สุดใน 2 คำกล่าว (อะเศาะหฺ อัล-เกาลัยนฺ) ถือว่าเป็นการมักรูฮฺ ส่วนคำกล่าวที่สอง ถือว่าค้านกับสิ่งที่ดีกว่า (คิลาฟุลเอาลา)

 

ดังนั้น เมื่อผู้ปฏิบัติละหมาดกล่าวตามคำอะซานของมุอัซซินในบรรดาประโยคที่เป็นการซิกรุลลอฮฺ และกล่าวรับประโยคอัล-หัยอะละฮฺว่า (لا حول لا قوة إلا بالله) การละหมาดของเขาก็ไม่เสียแต่อย่างใด (เพียงแต่เป็นมักรูฮฺหรือคิลาฟุลเอาลาเท่านั้น) เพราะประโยคที่กล่าวรับเป็นการซิกรุลลอฮฺ และการละหมาดนั้น การกล่าวคำซิกรุลลอฮฺไม่ทำให้เสียละหมาด แต่ถ้าหากผู้ปฏิบัติละหมาดกล่าวรับในประโยคอัล-หัยอะละฮฺว่า (حي على الصلاة ، حي على الفلاح) การกล่าวประโยคดังกล่าวเป็นคำพูดของมนุษย์ หากผู้ปฏิบัติละหมาดกล่าวในสภาพที่รู้ว่าตนกำลังอยู่ในการละหมาด และรู้ว่าประโยคดังกล่าวเป็นคำพูดของมนุษย์ ก็ถือว่าเสียละหมาด แต่ถ้าหากลืมตัวไปว่าตนกำลังอยู่ในการละหมาดก็ถือว่าไม่เสียการละหมาด

 

แต่ถ้าหากรู้ว่าตนกำลังอยู่ในการละหมาดแต่ไม่รู้ว่าประโยคดังกล่าวเป็นคำพูดของมนุษย์และไม่รู้ว่าเป็นที่ต้องห้ามที่จะกล่าวเช่นนั้นในขณะละหมาด ประเด็นที่ถูกต้องที่สุดใน 2 ประเด็น (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยฺน์) ตามมัซฮับที่อัล-กอฎียฺ หุสัยน์ กล่าวเอาไว้ในตำราอัต-ตะอฺลีกของท่านถือว่าไม่เสียละหมาด ซึ่งตามนี้นักวิชาการส่วนใหญ่ชี้ขาดเอาไว้ และในกรณีเดียวกันนี้ หากผู้ปฏิบัติละหมาดกล่าวรับประโยคอัต-ตัษวีบว่า (صدقتوبررت) หรือกล่าวรับว่า (الصلاة خير من النوم) ก็ให้พิจารณาตามประเด็นข้อชี้ขาดที่กล่าวมาข้างต้น (กิตาบอัล-มัจญมูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ, อิมามอัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3/125, 126)

 

อิมามอบูอิสหาก (ร.ฮ.) กล่าวว่า:และในการกล่าวตาม (มุตาบะอะฮฺ) คำอะซานของมุอัซซินสำหรับผู้ที่ปฏิบัติละหมาดภายหลังเสร็จสิ้นจากการละหมาดนั้นไม่เป็นสิ่งที่เน้นหนัก (มุอักกัด) ต่างจากการกล่าวตามของบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในการปฏิบัติละหมาด ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่เน้นหนัก (มุอักกัด) ให้กล่าวตาม (อ้างแล้ว 3/126)

(ประเด็น)

1) เมื่อได้ยินมุอัซซินทำการอะซานหลังจากมุอัซซินอีกคนหนึ่งทำการอะซาน ถามว่าการส่งเสริมให้กล่าวตามคำอะซานจำกัดอยู่เฉพาะการอะซานของมุอัซซินคนแรก หรือว่าส่งเสริมให้กล่าวตามมุอัซซินทุกคนไป? ในประเด็นนี้ชาวสะลัฟมีความเห็นต่างกัน แต่ทัศนะที่ได้รับการคัดเลือก (อัล-มุคต๊ารฺ) คือ การกล่าวตาม (มุตาบะอะฮฺ) เป็นสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺ การละทิ้งการกล่าวตามถือเป็นมักรูฮฺ เนื่องจากมีบรรดาอัล-หะดีษที่ถูกต้องสั่งใช้ให้กล่าวตามเอาไว้อย่างชัดเจน

 

ซึ่งกรณีการสั่งใช้นี้จำกัดอยู่เฉพาะการอะซานของมุอัซซินคนแรกเท่านั้น เพราะคำสั่งใช้จะไม่ถูกปฏิบัติซ้ำ ส่วนหลักเดิมในเรื่องของความประเสริฐและผลบุญในการกล่าวตามคำอะซานนั้นไม่ได้จำกัดเอาไว้เป็นการเฉพาะ กล่าวคือหากประสงค์ในการได้รับความประเสริฐและผลบุญก็สามารถกล่าวตามการอะซานที่เกิดขึ้นตามมาในภายหลังได้อีก (อ้างแล้ว 3/126)

 

2) เมื่อผู้ที่ได้ยินเสียงอะซานกำลังอยู่ในระหว่างการอ่านอัล-กุรอ่านหรือซิกรุลลอฮฺหรือกำลังเรียนวิชาหรือสอนก็ให้ผู้ที่ได้ยินเสียงอะซานยุติสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นและกล่าวตามคำอะซานของมุอัซซิน ต่อมาก็กลับไปยังสิ่งที่เขากำลังกระทำอยู่ก่อนนั้นหากมีความประสงค์ (อ้างแล้ว 3/125) ทั้งนี้การกล่าวตาม (มุตาบะอะฮฺ) คำอะซานของมุอัซซินเป็นสุนนะฮฺ มิใช่วาญิบตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺและปวงปราชญ์ และให้ผู้ที่ได้ยินเสียงอะซานกล่าวตามและกล่าวคำรับในทุกประโยคของการอะซาน ส่วนอิมามมาลิก (ร.ฮ.) ในริวายะฮฺหนึ่งจากสองริวายะฮฺมีทัศนะว่าให้กล่าวตามเพียงแค่จบประโยคชะฮาดะฮฺทั้งสองเท่านั้น (อ้างแล้ว 3/127)

 

3) ผู้ใดเห็นมุอัซซินและรู้ว่ามุอัซซินกำลังทำการอะซานแต่ไม่ได้ยินเสียงของมุอัซซินอันเนื่องมาจากอยู่ไกลหรือหูหนวกก็ไม่มีบัญญัติให้ผู้นั้นกล่าวตาม เพราะการกล่าวตามผูกพันอยู่กับการได้ยิน และอัล-หะดีษระบุชัดเจนถึงเงื่อนไขในการได้ยิน ตลอดจนเป็นการเทียบกับการกล่าวคำ “ตัชมีต” ยกเว้นสำหรับผู้ที่ได้ยินการกล่าว “อัล-หัมดุลิลลาฮฺ” ของผู้ที่จามเท่านั้น (อ้างแล้ว 3/127)

 

การกล่าวดุอาอฺรับการอะซาน

อิมามมุสลิมบันทึกไว้ในตำราเศาะฮีหฺของท่านจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมรฺ อิบนิ อัล-อาศ (ร.ฎ.) ว่าท่านอับดุลลอฮฺได้ยินท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า:

’’إﺬا سمعتم المؤﺬن فقولوامثل مايقول ، ثم صلوا علي ، فانه من صلى علي صلاة صلى الله عليه بها عشرا ، ثم سلوا الله لي الوسيلة فانها منزلة في الجنة ، لا تنبغي الا لعبد من عبادالله ، وارجو ان اكون انا هو فمن سأل لي الوسيلة حلت له الشفاعة‘‘

ความว่า : “เมื่อพวกท่านได้ยินมุอัซซิน พวกท่านก็จงกล่าวเหมือนสิ่งที่มุอัซซินกล่าว ต่อมาพวกท่านก็จงกล่าวคำเศาะละหวาตให้แก่ฉัน 1 เศาะละหวาตเพราะแท้จริงพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงเศาะละหวาตให้แก่ผู้นั้น 10 เศาะละหวาตด้วยการเศาะละหวาตนั้น ต่อมาพวกท่านจงทูลขออัล-วะสีละฮฺ คือฐานันดรในสวนสวรรค์ซึ่งไม่บังควรนอกเสียจากแก่บ่าวผู้หนึ่งจากบรรดาบ่าวของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และฉันก็หวังว่าฉันจะเป็นบ่าวผู้นั้น ฉะนั้นผู้ใดทูลขออัล-วะสีละฮฺให้แก่ฉัน การอนุเคราะห์ (ชะฟาอะฮฺ) ก็เป็นที่อนุมัติแก่ผู้นั้นแล้ว”

 

ดังนั้น เมื่อรวมตัวบทอัล-หะดีษที่ระบุสำนวนการกล่าวดุอาอฺรับอะซานซึ่งอิมามอัล-บุคอรียฺและมุสลิมรายงานเอาไว้ ก็จะมีสำนวนของบทดุอาอฺดังนี้

’’اللهم صل على محمد وعلى آل محمد وسلم تسليما كثيرا

اللهم رب ﮪﺬه الدعوة التامة ، والصلاة القائمة ، آت محمدا الوسيلة والفضيلة ، وابعثه مقاما محمودا اﻟﺬي وعدته

اشهد ان لا اله الا الله وحده لاشريك له ، وان محمدا عبده ورسوله ، رضيت بالله ربا ، وبمحمد رسولا ، وبا لإسلام دينا.‘‘

ความหมาย

            “โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงประสาทพรแด่นบีมุฮัมมัดและวงศ์วานของนบีมุฮัมมัด และทรงประทานความศานติอันมากมาย

            โอ้ อัลลอฮฺ พระผู้ทรงอภิบาลแห่งถ้อยคำเชิญชวนอันสมบูรณ์ยิ่งนี้ และการละหมาดที่จะดำรงขึ้น (หลังจากถ้อยคำเชิญชวนนี้ตราบจนวันโลกาวินาศ) ขอพระองค์ทรงประทานอัล-วะสีละฮฺและความประเสริฐเลิศแด่นบีมุฮัมมัด และของทรงส่งเสริมให้นบีมุฮัมมัดบรรลุสู่ฐานันดรอันได้รับการสรรเสริญซึ่งพระองค์ทรงสัญญากับนบีมุฮัมมัดไว้แล้ว

            ข้าพเจ้า ขอตั้งสัตย์ปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ถูกเคารพสักการะโดยเที่ยงแท้นอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ไม่มีภาคีใดสำหรับพระองค์ และแท้จริงนบีมุฮัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

ข้าพเจ้ายินดีว่าอัลลอฮฺคือพระผู้ทรงอภิบาล นบีมุฮัมมัดคือศาสนทูต และอิสลามคือศาสนา”

            อนึ่ง เมื่อกล่าวดุอาอฺตามสำนวนข้างต้นเพื่อรับการอะซานแล้ว หากมีความประสงค์ที่จะขอดุอาอฺอื่นๆก็สมควรขอดุอาอฺนั้นๆในช่วงเวลาที่มีการอะซานและอิกอมะฮฺ เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีความประเสริฐสำหรับการตอบรับดุอาอฺ ดังมีรายงานจากท่านอะนัส (ร.ฎ.) ว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า  ((الدعاء لا يردبين الأﺬان والإقامة))

            ความว่า:“การขอดุอาอฺระหว่างการอะซานและการอิกอมะฮฺนั้นจะไม่ถูกปฏิเสธ” (บันทึกโดย อบูดาวูด, อัต-ติรมิซียฺ ซึ่งระบุว่าเป็นหะดีษ หะสัน)

 

(ประเด็น)

*ส่งเสริม (มุสตะหับ) สำหรับบุคคลที่ได้ยินการอิกอมะฮฺให้กล่าวถ้อยคำการอิกอมะฮฺเหมือนอย่างที่ผู้ทำการอิกอมะฮฺกล่าว ยกเว้นประโยคอัล-หัยอะละฮฺ ให้ผู้ที่ได้ยินกล่าวรับว่า (لا حول ولا قوة الا باالله) และประโยคอิกอมะฮฺ (قدقامت الصلاة) ให้ผู้ที่ได้ยินกล่าวรับว่า (أقامها الله وأدامها) ซึ่งประโยคกล่าวรับการอิกอมะฮฺนี้มีอัล-หะดีษรายงานมาแต่สายรายงานอ่อน (เฎาะอีฟ) กระนั้นก็สามารถนำมากล่าวได้เพราะเป็นเรื่องของฟะฎออิล อัล-อะอฺมาล (ดู กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3 หน้า 130)

 

*อาจมีผู้เข้าใจว่า การกล่าวรับ (มุตาบะอะฮฺ) และการกล่าวดุอาอฺที่มีรายงานมาจำกัดอยู่เฉพาะการอะซานเท่านั้น ส่วนการกล่าวตามหรือการกล่าวรับคำอิกอมะฮฺ ตลอดจนการกล่าวดุอาอฺภายหลังการอิกอมะฮฺเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ความเข้าใจเช่นนี้เป็นสิ่งที่คลาดเคลื่อน เพราะสิ่งที่ถูกต้องคือ กรณีของการอิกอมะฮฺนั้นเข้าอยู่ในเรื่องของการกล่าวตาม (มุตาบะอะฮฺ) และการกล่าวดุอาอฺเมื่อเสร็จสิ้นการอิกอมะฮฺเช่นเดียวกับการอะซาน เนื่องจากมีอัล-หะดีษที่ระบุ (بين كل أﺬانين صلاة لمن شاء)  ความว่า:“ระหว่างทุกๆสองการอะซานนั้นมีการละหมาดสำหรับผู้ที่ประสงค์” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

 

คำว่า “สองการอะซาน” นั้นหมายถึง การอะซานและการอิกอมะฮฺตามทัศนะที่เห็นพ้องของบรรดานักปราชญ์ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3 หน้า 503) ซึ่งคำว่า “อะซาน” ถูกนำมาเรียกการอิกอมะฮฺด้วยในตัวบทของอัล-หะดีษ ดังนั้นเมื่อมีการส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้กล่าวตาม (มุตาบะอะฮฺ) และกล่าวดุอาอฺรับการอะซาน ก็ย่อมมีการส่งเสริมให้กล่าวตาม (มุตาบะอะฮฺ) และกล่าวดุอาอฺรับการอิกอมะฮฺเช่นกัน

 

*ส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้ผู้ทำการอะซานนั่งลงภายหลังเสร็จสิ้นจากการอะซานเพื่อรอคอยผู้มาร่วมละหมาดญะมาอะฮฺ และส่งเสริมให้เปลี่ยนที่สำหรับการอิกอมะฮฺไปยังสถานที่อื่นจากสถานที่ของการอะซาน (อ้างแล้ว 3/128)

 

*มักรูฮฺในการออกจากมัสญิดภายหลังการอะซานจนกว่าจะได้ทำการละหมาดเสียก่อน ยกเว้นกรณีมีเหตุอันควร เนื่องจากมีอัล-หะดีษที่รายงานโดย อบู อัช-ชะอฺษาอฺว่า:พวกเราเคยนั่งอยู่พร้อมกับอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ในมัสญิด แล้วมุอัซซินก็ทำการอะซาน ต่อมามีชายผู้หนึ่งลุกขึ้นเดินออกจากมัสญิด อบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) จึงมองตามชายผู้นั้นจนกระทั่งเขาออกไปจากมัสญิด อบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) จึงกล่าวขึ้นว่า:“กรณีของชายผู้นี้นั้น แน่แท้เขาได้ฝ่าฝืนต่ออบุลกอสิม (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แล้ว” (บันทึกโดยมุสลิม) (ดู กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ 2/207, 3/136)

 

*อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า:เมื่อปรากฏว่าในเวลากลางคืนมีฝนตกหรือมีลมแรงและมืดก็ส่งเสริมให้มุอัซซินกล่าวว่า:(ألا صلوا في رحالكم) “พึงทราบเถิด พวกท่านจงละหมาดในที่พักของพวกท่าน” เมื่อเสร็จสิ้นจากการอะซานแล้ว แต่ถ้าหากมุอัซซินกล่าวประโยคนั้นในระหว่างการอะซานภายหลังการกล่าวประโยคอัล-หัยอะละฮฺก็ไม่เป็นอะไร (อ้างแล้ว 3/138)

 

*นักวิชาการเห็นพ้องในการที่บุคคลหนึ่งทำการอะซานและอีกคนหนึ่งทำการอิกอมะฮฺว่าสิ่งดังกล่าวเป็นเรื่องที่อนุญาต แต่นักวิชาการส่วนมากกล่าวว่า: ไม่มีการจำแนกอันใดและเรื่องนี้เปิดกว้าง ส่วนหนึ่งจากผู้ที่มีทัศนะดังกล่าวคือ อิมามมาลิก (ร.ฮ.), นักวิชาการชาวอัล-หิญาซส่วนมาก, อิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.), ชาวเมืองอัล-กูฟะฮฺส่วนมาก และอิมามอบู เษาริน (ร.ฮ.) นักปราชญ์บางท่านกล่าวว่า ที่สมควรที่สุด (อัล-เอาวฺลา) คือ ผู้ที่ทำการอะซานคือผู้ที่ทำการอิกอมะฮฺ (อ้างแล้ว 3/129)

 

อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า:เมื่อบุคคลทำการอะซาน ฉันก็ชอบให้บุคคลนั้นทำหน้าที่การอิกอมะฮฺ เนื่องจากมีสิ่งหนึ่งถูกรายงานมาว่า แท้จริงผู้ใดทำการอะซาน ผู้นั้นก็จะทำการอิกอมะฮฺ หลักฐานจากอัล-หะดีษที่ระบุในเรื่องนี้คือกรณีของท่านซิยาด อิบนุ อัล-หาริษ อัศ-ศุดาอียฺ ซึ่งบันทึกโดยอบูดาวูด อัต-ติรมีซียฺและอัต-ติรมิซียฺ ตลอดจนอัล-บะเฆาะวียฺกล่าวว่า ในสายรายงานของอัล-หะดีษนั้นมีความอ่อน (เฎาะอฺฟ์) (อ้างแล้ว 3/128)

วัลลอฮุอะอฺลัม