صلاة تحية المسجد การละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิด

การละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิด หมายถึง การละหมาดที่ถูกกระทำขึ้นเมื่อเข้าสู่มัสญิดเพื่อเป็นการให้เกียรติ (อิกร็อม) แก่สถานที่คือมัสญิดซึ่งเปรียบได้กับการเฏาะว๊าฟรอบบัยตุ้ลลอฮิลหะรอมซึ่งเป็นสถานที่อันทรงเกียรติบนหน้าผืนพิภพ การให้ความหมายการละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดว่าเป็นการละหมาดเคารพมัสญิดนั้นเป็นการให้ความหมายตามภาษาเท่านั้น  เพราะคำว่า ตะหิยะฮฺ (تحية) แปลโดยอนุโลมว่าการแสดงความเคารพหรือการแสดงความคาราวะซึ่งหมายถึงการแสดงอาการนับถือ เช่น เคารพผู้ใหญ่ เป็นต้น

 

และหมายถึงการไม่ล่วงเกินหรือไม่ล่วงละเมิด เช่น เคารพสิทธิของผู้อื่น เป็นต้น สิทธิของมัสญิดก็คือการเป็นสถานที่ที่ใช้ในการประกอบศาสนกิจ (อิบาดะฮฺ) และมัสญิดก็เป็นสถานที่ที่ได้รับสิทธิตามศาสนบัญญัติในการเป็นที่ต้องห้ามจากการละเมิดหรือล่วงเกิน

 

การรักษาไว้ซึ่งสิทธิของมัสญิดด้วยการประกอบศาสนกิจและด้วยการไม่กระทำสิ่งต้องห้ามหรือน่ารังเกียจในมัสญิดสถานจึงเป็นการแสดงความเคารพและให้เกียรติต่อสถานที่อันประเสริฐนี้ตามที่ศาสนาบัญญัติไว้ ดังนั้นการละหมาดเคารพมัสญิดจึงมิได้มีนัยมากไปกว่าการให้เกียรติมัสญิดสถานด้วยการปฏิบัติละหมาดซึ่งมัสญิดถูกสร้างขึ้นเพื่อการนี้เป็นหลัก

 

การเรียกชื่อละหมาดเมื่อแรกเข้าสู่มัสญิดว่า “ละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิด” เป็นการเรียกตามคำศัพท์ทางวิชาการ (อัล-อิศฏิลาหาตฺ) ที่นักปราชญ์ตั้งชื่อเอาไว้เช่นเดียวกับการเรียกชื่อละหมาดสุนนะฮฺในยามค่ำคืนของเราะมะฎอนว่า การละหมาดตะรอวีหฺ (صلاة التراويح) นั่นเอง

 

หลักฐานจากสุนนะฮฺ

มีสายรายงานจากท่านอบูเกาะตาดะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า: แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า:

(( إﺫا دخل أحدكم المسجد فلا يجلس حتى يصلي ركعتين ))

ความว่า: “เมื่อคนหนึ่งของพวกท่านเข้าสู่มัสญิด ผู้นั้นก็จงอย่านั่งลงจนกว่าเขาจะได้ละหมาด 2 รอกอะฮฺเสียก่อน” (รายงานพ้องกันโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

 

และมีรายงานจากท่านญาบิร (ร.ฎ.) ว่า:

(( أتيت النبي صلى عليه وسلم وهو في المسجد ، فقال : ‘‘صل ركعتين’’ ))

ความว่า: ฉันได้มาหาท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยท่านอยู่ในมัสญิด แล้วท่านก็กล่าวว่า : “ท่านจงละหมาด 2 รอกอะฮฺ” (รายงานพ้องกันโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

 

อัล-หะดีษทั้ง 2 บทนี้บ่งชี้ว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ใช้ให้ละหมาด 2 รอกอะฮฺเพื่อเป็นการตะหิยะตุ้ลมัสญิดและการใช้ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นี้บ่งชี้ถึงการให้ความสำคัญต่อการละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดว่าเป็นเรื่องที่ถูกส่งเสริม (มันดู๊บ) มิใช่เป็นสิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) และถือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) ในการละทิ้งละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดสำหรับบุคคลที่เข้าสู่มัสญิด ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นผู้ผ่านมาที่มัสญิดก็ตาม และบุคคลที่นอนหลับอยู่ในมัสญิดแล้วตื่นนอนก็ถูกผนวกอยู่ในกรณีเดียวกับผู้ที่เข้าสู่มัสญิดเช่นกัน (นุซฺฮะตุ้ลมุตตะกีน ชัรหุ ริยาฎิศศอลิหิน; หน้า 436)

 

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิด

1) นักวิชาการมีมติเห็นพ้อง (อิจญ์มาอฺ) ว่า การละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติ (มัชรูอียะฮฺ) และเป็นสุนนะฮฺที่ศาสนาส่งเสริมให้ผู้เข้าสู่มัสญิดได้ทำการละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดเมื่อแรกเข้าสู่มัสญิด และถือว่าเป็นการน่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) ในการที่ผู้เข้าสู่มัสญิดจะนั่งลงในมัสญิดโดยไม่มีการละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิด

 

ทั้งนี้ในกรณีที่ไม่มีอุปสรรค (อุซฺร์) เนื่องจากมีหะดีษของท่านอบูเกาะตาดะฮฺ (ร.ฎ.) ระบุอย่างชัดเจนว่าห้ามนั่งลงก่อนที่จะทำการละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดเสียก่อน ไม่ว่าผู้นั้นจะเข้าสู่มัสญิดในช่วงเวลาที่ห้ามปฏิบัติละหมาดหรือไม่ก็ตาม (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุ้ลมุฮัซซับ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3 หน้า 544)

 

2) นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า: การละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดนั้นมี 2 รอกอะฮฺตามที่มีอัล-หะดีษระบุเอาไว้ ฉะนั้นหากผู้เข้าสู่มัสญิดทำการละหมาดมากกว่า 2 รอกอะฮฺด้วยการให้สล่ามครั้งเดียวก็ถือว่าใช้ได้ โดยถือว่าการละหมาดมากกว่า 2 รอกอะฮฺทั้งหมดนั้นเป็นการตะหิยะตุ้ลมัสญิดเนื่องจากเป็นการละหมาดที่รวมเอาจำนวน 2 รอกอะฮฺเข้าไว้ด้วยกันแล้ว

 

และถ้าหากว่าผู้เข้าสู่มัสญิดทำการละหมาดญะนาซะฮฺหรือทำการสุหญูดติลาวะฮฺหรือสุหญูดขอบคุณอัลลอฮฺหรือทำการละหมาดเพียง 1 รอกอะฮฺ ก็ไม่ถือเป็นการตะหิยะตุ้ลมัสญิดเนื่องจากอัล-หะดีษที่เศาะฮีหฺระบุชัดเจนว่าการตะหิยะตุ้ลมัสญิดต้องเป็นการละหมาดที่มีจำนวน 2 รอกอะฮฺ ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นมัซฮับ แต่อิมามอัร-รอฟิอียฺ (ร.ฮ.) ได้เล่าประเด็นหนึ่งเอาไว้ว่า การตะหิยะตุ้ลมัสญิดเกิดขึ้นด้วยการกระทำสิ่งดังกล่าวเช่นกันเนื่องจากมีการทำอิบาดะฮฺและมีการให้เกียรติต่อมัสญิดเกิดขึ้นด้วยสิ่งดังกล่าว

 

แต่ประเด็นแรกตามมัซฮับถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นหากบุคคลผู้นั้นนั่งลงในสภาพดังกล่าว (คือมิได้ละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิด 2 รอกอะฮฺแต่ละหมาด 1 รอกอะฮฺเท่านั้นหรือละหมาดญะนาซะฮฺหรือสุหญูดติละวะฮฺเท่านั้น) ก็ย่อมถือว่าบุคคลผู้นั้นได้กระทำสิ่งต้องห้ามตามที่ระบุในอัล-หะดีษ (คือเท่ากับนั่งในมัสญิดโดยไม่มีการตะหิยะตุ้ลมัสญิด) (อ้างแล้ว 3/544)

 

3) นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า: การตั้งเจตนา (นียะฮฺ) ด้วยการละหมาด 2 รอกอะฮฺว่าเป็นการตะหิยะตุ้ลมัสญิดนั้นไม่ถือเป็นเงื่อนไข ทว่าเมื่อบุคคลที่เข้าสู่มัสญิดทำการละหมาด 2 รอกอะฮฺโดยมีเจตนา (นียะฮฺ) การละหมาดเฉยๆ (มุฏลัก) หรือมีเจตนาทำการละหมาด 2 รอกอะฮฺเป็นสุนนะฮฺรอติบะฮฺหรือมิใช่สุนนะฮฺรอติบะฮฺ หรือมีเจตนา (นียะฮฺ) ละหมาดฟัรฎูที่ปฏิบัติในเวลา (อะดาอฺ) หรือละหมาดชดใช้ (เกาะฎออฺ) หรือละหมาดตามที่บน (นะซัร) เอาไว้ สิ่งดังกล่าวถือว่าใช้ได้และเขาผู้นั้นย่อมได้รับตามสิ่งที่เขามีเจตนา และถือว่าการตะหิยะตุ้ลมัสญิดเกิดขึ้นแล้วโดยรวม และไม่มีข้อขัดแย้งในประเด็นนี้ (อ้างแล้ว 3/544)

 

4) หากผู้เขาสู่มัสญิดมีเจตนา (นียะฮฺ) ปฏิบัติละหมาดฟัรฎูและการตะหิยะตุ้ลมัสญิด หรือมีเจตนา (นียะฮฺ) ปฏิบัติละหมาดอัร-รอติบะฮฺและการตะหิยะตุ้ลมัสญิดพร้อมกันไปในคราเดียวกันการละหมาดทั้งสองที่มีเจตนาควบคู่กันก็ถือว่าได้ทั้งสองกรณีในคราเดียวกันโดยไม่มีข้อขัดแย้ง

 

ส่วนกรณีมีคำกล่าวของอิมามอัร-รอฟิอียฺ (ร.ฮ.) ในประเด็นของรูปปัญหาที่หนึ่งว่า อนุญาตในการถือการขัดแย้ง (คิล๊าฟ) เป็นมาตรฐานในกรณีของบุคคลที่มีเจตนาอาบน้ำญะนาบะฮฺว่าผู้นั้นได้สุนนะฮฺการอาบน้ำเพื่อไปร่วมละหมาดวันศุกร์หรือไม่? และกรณีมีคำกล่าวของชัยคฺ อบู อัมร์ อิบนุ อัศ-เศาะลาหฺ (ร.ฮ.) ในประเด็นรูปปัญหาที่สองว่า สมควรต้องถือเอาการขัดแย้ง (คิล๊าฟ) เป็นมาตรฐานในกรณีของผู้ที่มีเจตนาอาบน้ำทั่วร่างกายเพื่อยกหะดัษใหญ่ (อาบน้ำญะนาบะฮฺ) และการอาบน้ำสุนนะฮฺเพื่อไปร่วมละหมาดวันศุกร์พร้อมกันในการตั้งเจตนาว่าได้หรือไม่?

 

อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่า ไม่ใช่อย่างที่บุคคลทั้งสองได้กล่าว และไม่มีผู้ใดจากนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺของเราพูดถึงสิ่งที่บุคคลทั้งสองพูดถึงนี้เลย แต่ทว่าพวกเขาทั้งหมดระบุอย่างชัดเจนว่ามีการละหมาดเกิดขึ้นในประเด็นรูปปัญหาทั้งสอง ตลอดจนไม่มีการขัดแย้ง (คิล๊าฟ) ในกรณีนี้แต่อย่างใด ซึ่งต่างจากกรณีปัญหาเรื่องการอาบน้ำวันศุกร์ เพราะการอาบน้ำวันศุกร์เป็นสุนนะฮฺที่ถูกมุ่งหมาย ส่วนการตะหิยะตุ้ลมัสญิดนั้น มีเป้าหมายว่า มิให้มัสญิดถูกละเมิดสิทธิด้วยการนั่งลงโดยไม่มีการละหมาด วัลลอฮุอะอฺลัม (กิตาบอัลมัจญ์มูอฺ ชัรฺหุ้ลมุฮัซซับ; อัน-นะวาวียฺ 3/544)

 

5) หากการเข้าสู่มัสญิดเกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงเวลาเดียวกัน เจ้าของตำราอัต-ตะติมมะฮฺกล่าวว่า: ส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้ทำการตะหิยะตุ้ลมัสญิดในแต่ละครั้ง (ที่เข้าสู่มัสญิด) และอัล-มุหามิลียฺกล่าวไว้ในอัล-ลุบ๊าบว่า: “ฉันหวังว่าการตะหิยะตุ้ลมัสญิดเพียงครั้งเดียวก็ถือว่าใช้ได้แล้ว” อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่า ทัศนะแรกมีความแข็งแรงและใกล้เคียงมากกว่ายังนัยที่ปรากฏของตัวบทอัล-หะดีษ (อ้างแล้ว 3/544)

 

6)  นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า: การตะหิยะตุ้ลมัสญิดจะเป็นที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) ใน 2 กรณี

(6.1) เมื่อบุคคลเข้าสู่มัสญิดโดยอิมามกำลังนำละหมาดฟัรฎูประจำเวลา หรือเข้าสู่มัสญิดโดยมุอัซซินเริ่มทำการอิกอมะฮฺแล้ว

(6.2) เมื่อบุคคลเข้าสู่มัสญิดอัล-หะรอม เขาผู้นั้นจะต้องไม่พะวงอยู่กับการตะหิยะตุ้ลมัสญิดโดยมิได้เฏาะว๊าฟ

ส่วนกรณีเมื่อบุคคลเข้าสู่มัสญิดโดยอิมามกำลังแสดงคุฏบะฮฺวันศุกร์หรือคนอื่นที่มิใช่อิมาม ผู้นั้นก็อย่าได้นั่งลงจนกว่าจะได้ละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดเสียก่อน และให้ผู้นั้นละหมาดเบาๆ (คือไม่ละหมาดนานเกินควร) (อ้างแล้ว 3/545)

 

7) หากผู้เข้าสู่มัสญิดนั่งลงในมัสญิดก่อนการละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิด และช่วงเวลาคั่นนั้นนาน การละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดนั้นก็ผ่านพ้นไปแล้ว และไม่มีบัญญัติให้ทำการละหมาดชดใช้ (เกาะฎออฺ) ตะหิยะตุ้ลมัสญิดโดยมติเห็นพ้อง แต่ถ้าหากช่วงเวลาคั่นนั้นไม่นาน สิ่งที่บรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอิยฺกล่าวก็คือ แท้จริงการละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดนั้นจะผ่านพ้นไปด้วยการนั่ง ผู้นั้นก็ไม่ต้องทำละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดอีกหลังจากการนั่งลง

 

อย่างไรก็ตามมีหะดีษเศาะฮีหฺรายงานจากท่านญาบิร (ร.ฮ.) ว่า: “สุลัยก์ อัล-เฆาะเฏาะฟานียฺได้มา (ร่วมละหมาด) วันศุกร์ และท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั่งอยู่บนมิมบัร แล้วสุลัยก์ก็นั่งลงก่อนที่เขาจะละหมาด (ตะหิยะตุ้ลมัสญิด) ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอัลยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวแก่เขาว่า: ท่านละหมาด 2 รอกอะฮฺแล้วหรือ? เขากล่าวว่า: ยังครับ! ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวว่า: จงลุกขึ้น แล้วจงละหมาด 2 รอกอะฮฺนั้น!” รายงานโดยมุสลิมด้วยถ้อยคำนี้และอัล-บุคอรียฺรายงานด้วยความหมาย

 

อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า: “สิ่งที่อัล-หะดีษบทนี้ชี้ขาดก็คือ เมื่อผู้เข้ามามัสญิดละทิ้งการตะหิยะตุ้ลมัสญิด อันเนื่องจากไม่รู้หรืออันเนื่องมาจากหลงลืม ก็มีบัญญัติให้ผูนั้นทำการละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิด ตราบใดที่ช่วงเวลาการคั่น (ระหว่างการนั่งลงกับการละหมาด) ไม่นานนัก และนี่เป็นทัศนะที่ได้รับการคัดเลือก (อัล-มุคต๊าร)” (อ้างแล้ว 3/545)

 

8)  ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าเมื่อมีการอิกอมะฮฺละหมาดฟัรฎูประจำเวลาแล้ว ก็เป็นที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) ในการที่บุคคลจะพะวงอยู่กับการปฏิบัติละหมาดสุนนะฮฺ ไม่ว่าจะเป็นการละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดและละหมาดสุนนะฮฺของอัศ-ศุบหิและอื่นๆ

 

อิบนุ อัล-มุนซิรได้ถ่ายทอดเรื่องนี้จากท่านอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.), ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.), ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.), ท่านสะอีด อิบนุ ญุบัยรฺ (ร.ฮ.), ท่านอุรวะฮฺ อิบนุ อัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฮ.), ท่านอิบนุสีรีน (ร.ฮ.), อิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.), ท่านอิสหาก (ร.ฮ.), ท่านอบูเษาริน (ร.ฮ.)  ตลอดจนถ่ายทอดจากท่านอิบนุ มัสอูด (ร.ฎ.), ท่านมัสรู๊ก (ร.ฮ.), ท่านอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ (ร.ฮ.), ท่านมักหู้ล (ร.ฮ.), ท่านมุญาฮิด (ร.ฮ.) และท่านหัมมาด อิบนุ อบีสุลัยมาน (ร.ฮ.) ว่า: ผู้นั้นจะต้องไม่ปฏิบัติละหมาดสุนนะฮฺของอัศ-ศุบหิ ในขณะที่อิมามอยู่ในการนำละหมาดฟัรฎู

 

และอิมามมาลิก (ร.ฮ.) กล่าวว่า: หากผู้นั้นไม่กลัวว่าอิมามจะละหมาดผ่านเลยเขาไปหนึ่งรอกอะฮฺ ก็ให้เขาผู้นั้นละหมาด (สุนนะฮฺ) ด้านนอกมัสญิดก่อนที่เขาจะเข้าข้างใน แต่ถ้าหากเขากลัวว่าจะพลาดละหมาดญะมาอะฮฺหนึ่งรอกอะฮฺ ก็ให้เขาผู้นั้นละหมาด (ญะมาอะฮฺ) พร้อมกับอิมามเลย

 

ส่วนอิมามอัล-เอาซาอียฺ (ร.ฮ.), ท่านสะอีด อิบนุ อับดิลมาลิก (ร.ฮ.) และอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า: “จงละหมาดสองรอกอะฮฺนั้นที่มุมหนึ่งของมัสญิด ตราบใดที่ท่านมั่นใจว่าท่านจะทันการละหมาด (พร้อมกับอิมาม) ในรอกอะฮฺสุดท้าย แต่ถ้าหากท่านกลัวว่าจะพลาดรอกอะฮฺสุดท้าย ท่านก็จงเข้าสู่การละหมาดพร้อมกับอิมามเลย”

 

ส่วนหลักฐานของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺที่ระบุว่าให้ผู้นั้นเข้าสู่การละหมาดพร้อมกับอิมามที่นำละหมาดญะมาอะฮฺเลยโดยไม่ต้องทำละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดก็คือ อัล-หะดีษที่รายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า

‘‘إﺫا أقيمت الصلاة فلا صلاة إلا المكتوبة’’

ความว่า: “เมื่อการละหมาด (ฟัรฎูแบบญะมาอะฮฺ) ได้ถูกดำรงขึ้นแล้ว (คือมีการอิกอมะฮฺเพื่อปฏิบัติละหมาดฟัรฎูประจำเวลา) ก็ไม่มีการละหมาดใดๆยกเว้นการละหมาดฟัรฎูเท่านั้น” (รายงานโดยมุสลิม)

 

อัล-หะดีษบทนี้บ่งชี้ว่าเป็นที่น่ารังเกียจ (กะรอฮะฮฺ) ในการเริ่มละหมาดสุนนะฮฺภายหลังการเริ่มอิกอมะฮฺละหมาดฟัรฎูหรือใกล้เวลาอิกอมะฮฺละหมาดฟัรฎู กรณีนี้เป็นเรื่องที่มุฏลักในการละหมาดอื่นๆ ที่มิใช่การละหมาดฟัรฎูประจำเวลาตามทัศนะของปวงปราชญ์ (ญุมฮูร อัล-อุละมาอฺ)  และเหตุผลในการห้ามจากกการละหมาดอื่นๆนอกจากการละหมาดฟัรฎูประจำเวลาที่ถูกอิกอมะฮฺแล้ว ก็คือเป็นการรักษาความสมบูรณ์ของการละหมาดฟัรฎูเอาไว้

 

และส่วนหนึ่งจากการรักษาความสมบูรณ์ดังกล่าวก็คือ การที่มะอฺมูมเริ่มทำการละหมาดฟัรฎูภายหลังการเริ่มของอิมามโดยไม่พลาดการตักบีเราะตุลอิหฺร็อมพร้อมกับอิมาม (กล่าวคือมะอฺมูมกล่าวตักบีเราะตุลอิหฺร็อมหลังการตักบีเราะตุลอิหฺร็อมของอิมามโดยพลัน) (นุซฮะตุลมุตตะกีน หน้า 638)

 

และอิมามมุสลิมได้รายงานจากท่านอิบนุ บุหัยนะฮฺ (ร.ฎ.) (อับดุลลอฮฺ อิบนุ มาลิก) ว่า

แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ผ่านชายคนหนึ่งโดยที่การละหมาดศุบหิได้ถูกอิกอมะฮฺแล้ว ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงพูดคุยกับชายผู้นั้นด้วยสิ่งหนึ่งซึ่งเราไม่ทราบว่าสิ่งนั้นคืออะไร ครั้นเมื่อเราผินออกแล้ว (หมายถึงเสร็จสิ้นการละหมาด) เราก็ได้รุมล้อมชายผู้นั้น พวกเรากล่าวว่า: ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวอะไรกับท่าน? ชายผู้นั้นกล่าวว่า: “คนหนึ่งในพวกท่านเกือบที่จะละหมาดศุบหิสี่รอกอะฮฺ” รายงานโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม

 

ถ้อยคำของอัล-หะดีษเป็นสำนวนของอิมามมุสลิม และอิมามอัล-บุคอรียฺรายงานด้วยสำนวนที่ว่า: แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัม) ได้เห็นชายคนหนึ่งกำลังละหมาด 2 รอกอะฮฺ ทั้งๆที่มีการอิกอมะฮฺละหมาดแล้ว ครั้นเมื่อท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ละหมาดเสร็จ ท่านก็กล่าวว่า: ละหมาดศุบหิมีสี่รอกอะฮฺกระนั้นหรือ?

 

และมีรายงานจากอับดุลลอฮฺ อิบนุ สัรฺญัส (ร.ฎ.) ว่า: มีชายคนหนึ่งเข้าสู่มัสญิดในขณะที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อยู่ในการนำละหมาดอัล-เฆาะดาอฺ (อัศ-ศุบหิ) แล้วชายผู้นั้นก็ละหมาด 2 รอกอะฮฺที่ด้านข้างของมัสญิด ต่อมาเขาก็เข้าสู่การละหมาดพร้อมกับท่านรสูล (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ครั้นเมื่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ให้สลามแล้วท่านก็กล่าวว่า: โอ้ นายก. ด้วยการละหมาดสองละหมาดอันไหนเล่าที่ท่านนับเนื่อง? ด้วยการละหมาดของท่านเพียงลำพังหรือด้วยการละหมาดของท่านพร้อมกับเรา? (รายงานโดยมุสลิม) (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3 หน้า 550)

 

การที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตั้งคำถามทำนองนี้กับชายผู้นั้นย่อมบ่งชี้ว่าการละหมาดใดๆที่ถูกกระทำขึ้นเมื่อมีการอิกอมะฮฺละหมาดฟัรฎูประจำเวลาแล้ว หรืออิมามได้เข้าสู่การละหมาดญะมาอะฮฺนั้นแล้วเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) ไม่ว่าการละหมาดนั้นจะเป็นการละหมาดสุนนะฮฺของศุบหิหรือไม่ก็ตาม

 

9) นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า: ในช่วงเวลาที่ห้ามปฏิบัติละหมาดที่ไม่มีสาเหตุมาก่อนการทำละหมาด (เช่นช่วงเวลาหลังการละหมาดศุบหิแล้วจนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้น, ช่วงเวลาหลังการละหมาดอัศริแล้วจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตก, ช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์กำลังขึ้น และช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์กำลังมีสีเหลือง (โพล้เพล้) เป็นต้น)

 

หากบุคคลเข้าสู่มัสญิด (ในช่วงเวลาดังกล่าว) เนื่องจากมีเป้าหมาย เช่น การอิอฺติก๊าฟ หรือเพื่อแสวงหาความรู้หรือเพื่อรอคอยการละหมาดหรือที่คล้ายคลึงกับสิ่งดังกล่าวจากบรรดาเป้าหมาย ก็ให้บุคคลผู้นั้นละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดได้ และถ้าหากเขาผู้นั้นเข้าสู่มัสญิดโดยมิได้มีความต้องการอันใดแต่เพื่อละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดเท่านั้น กรณีนี้มี 2 ประเด็นในมัซฮับ 

 

ที่มีน้ำหนักมากที่สุด (อัรฺญะหฺ) ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่บังควร (กะรอฮะฮฺ) เช่นเดียวกับกรณีที่หากว่าบุคคลเจตนาล่าช้าการละหมาดที่ผ่านเลยไปเพื่อทำการชดใช้ (เกาะฎออฺ) ละหมาดนั้นในช่วงเวลาเหล่านี้ก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่บังควร (มักรูฮฺ) เนื่องจากมีอัล-หะดีษระบุว่า: “พวกท่านอย่าได้เจาะจงเลือกการละหมาดของพวกท่านขณะดวงอาทิตย์กำลังจะตก” (รายงานโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิมจากรายงานของอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.))

 

ประเด็นที่สอง ถือว่าไม่มักรูฮฺ ซึ่งอัศ-ศอยดะลานียฺเล่าไว้จากอิมามอัล-หะเราะมัยนฺและอิมามอัล-เฆาะซาลียฺในตำราอัล-บะสีฏ จากอบี อับดิลลาฮฺ อัซ-ซุบัยรียฺ ซึ่งเห็นพ้องกันว่าเขาผิดพลาดในประเด็นนี้ (อ้างแล้ว 4/78)

 

10) หากบุคคลเข้าสู่มัสญิดและผู้นั้นต้องการเริ่มละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดหรือละหมาดอย่างอื่น แล้วมุอัซซินก็เริ่มในการอิกอมะฮฺก่อนหน้าที่บุคคลเข้ามาในมัสญิดจะทำการตักบีเราะตุลอิหฺรอม ก็ให้ผู้นั้นยังคงยืนอยู่โดยไม่ต้องเริ่มในการละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิด เนื่องจากมีอัล-หะดีษระบุว่า:

 

“เมื่อการละหมาด (ฟัรฎูประจำเวลา) ได้ถูกอิกอมะฮฺแล้วก็ไม่มีการละหมาดใดๆนอกจากการละหมาดฟัรฎูเท่านั้น” และผู้นั้นอย่าได้นั่งลงเนื่องจากมีอัล-หะดีษที่เศาะหิหฺระบุในการห้ามนั่งลงก่อนการตะหิยะตุ้ลมัสญิด  (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3 หน้า 235)

 

และในกรณีละหมาดวันศุกร์ เมื่อบุคคลเข้ามาในมัสญิดในขณะที่อิมามนั่งอยู่บนมิมบัรแล้วหรืออิมามกำลังอยู่ในระหว่างการแสดงคุฏบะฮฺ ก็ส่งเสริมให้ผู้ที่เข้ามาในมัสญิดทำการละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิด 2 รอกอะฮฺ และให้ละหมาดแบบเบาๆ (ไม่นานนัก) และถือว่าการทิ้งละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิด 2 รอกอะฮฺนั้นเป็นสิ่งที่ไม่บังควร (มักรูฮฺ) เนื่องจากมีอัล-หะดีษระบุว่า: “เมื่อคนหนึ่งของพวกท่านเข้าสู่มัสญิด ผู้นั้นก็จงอย่านั่งลงจนกว่าเขาจะได้ละหมาด 2 รอกอะฮฺเสียก่อน”

 

และถ้าหากบุคคลเข้าสู่มัสญิดในขณะที่อิมามอยู่ในช่วงท้ายของการแสดงคุฏบะฮฺ และผู้นั้นค่อนข้างมั่นใจว่าหากเขาละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดแล้ว การตักบีเราะตุ้ลอิหฺร็อมพร้อมกับอิมามจะพลาดเขาไป เขาผู้นั้นก็ไม่ต้องละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิด แต่ให้เขายืนอยู่จนกระทั่งการอิกอมะฮฺละหมาดมีขึ้น

 

และเขาอย่าได้นั่งลงเพื่อว่าเขาจะได้ไม่เป็นผู้ที่นั่งลงในมัสญิดก่อนการตะหิยะตุ้ลมัสญิด และหากว่าเขาสามารถปฏิบัติละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดและทันการตักบีเราะตุ้ลอิหฺร็อม ก็ให้เขาละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดได้ และในกรณีนี้เจ้าของตำราอัล-อิดะฮฺ กล่าวว่า: ส่งเสริมให้อิมามเพิ่มเติมในการคุฏบะฮฺขนาดทีว่าบุคคลผู้นั้นสามารถละหมาด 2 รอกอะฮฺได้ทัน ซึ่งสิ่งนี้สอดคล้องกับตัวบท (นัศฺ) ที่อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุไว้ (อ้างแล้ว เล่มที่ 4 หน้า 428)

 

และเมื่อบุคคลเข้าสู่มัสญิดในขณะที่มุอัซซินได้เริ่มอะซานหรือกำลังทำการอะซานอยู่ บุคคลผู้นั้นก็ยังไม่ต้องละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดหรือละหมาดใดๆ แต่ให้ผู้นั้นกล่าวตอบคำอะซานของมุอัซซินในสภาพที่ยืนอยู่ จนกระทั่งมุอัซซินอะซานเสร็จสิ้นก็ให้กล่าวดุอาอฺรับการอะซานแล้วจึงทำการละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิด ทั้งนี้เพื่อที่บุคคลผู้นั้นจะได้รวมระหว่างผลบุญของการกล่าวตอบคำอะซานและการละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดเข้าไว้ด้วยกัน (อัล-ฟิกฮุลอิสลามียฺ ว่า อะดิลละตุฮู; ดร. วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุหัยลียฺ เล่มที่ 1 หน้า 555)

 

อย่างไรก็ตาม หากบุคคลผู้นั้นจะทำการละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดเลยโดยไม่รอที่จะกล่าวตอบรับคำอะซานหรือไม่รอให้มุอัซซินอะซานจบเสียก่อนก็สามารถทำการละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดได้เลยเพราะไม่มีข้อห้ามในการละหมาดสุนนะฮฺขณะที่มีการอะซาน ต่างจากกรณีของการอิกอมะฮฺที่กล่าวมาแล้ว และเมื่อผู้นั้นละหมาดตะหิยะตุ้ลมัสญิดเสร็จแล้วก็ให้กล่าวรับคำอะซาน (มุตาบะอะฮฺ) ในภายหลังหากช่วงเวลาคั่นระหว่างการอะซานจบกับการให้สลามจากการละหมาดไม่ทิ้งช่วงนานตามทัศนะที่ปรากฏชัด (อัซ-ซอฮิร) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และอิมามอบูอิสหาก (ร.ฮ.) กล่าวว่า: และการเน้นหนัก (อัต-ตะอฺกีด) ในการกล่าวตาม (มุตาบะอะฮฺ) มุอัซซินภายหลังการเสร็จละหมาดของผู้ละหมาดนั้นไม่เหมือนกับการเน้นหนักในกรณีการกล่าวตามของผู้ที่มิได้อยู่ในละหมาด (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุ้ลมุฮัซซับ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3 หน้า 126)