มุฮำมัด อิบนุ อิบรอฮีม อัลฟิซารี่ย์ (محمدبن ابراهيم الفزاري)

อบู อับดิลลาฮฺ มุฮำมัด อิบนุ อิบรอฮีม อัลฟิซารี่ย์ ไม่ทราบปีที่เขาเกิด แต่เขาเสียชีวิตในมหานครแบกแดด เมื่อปี ฮ.ศ.189 โดยประมาณ เขาสืบสกุลจากตระกูลเก่าแก่ที่มีนิวาสถานอยู่ในนครอัลกูฟะฮฺ อิรัก นักบูรพาคดี เดวิด เบนเคอรี่ กล่าวว่า : อบู อับดิลลาฮฺ อัลฟิซารี่ย์ เริ่มเกี่ยวข้องเป็นครั้งแรกกับมหานครแบกแดด เมื่อปี ฮ.ศ.144 และค่อลีฟะฮฺ อบู ญะอฺฟัร อัลมันซูร แห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺได้ยกย่องและอุปถัมภ์เขาเป็นอย่างดี

 

อบู อับดิ้ลลาฮฺ อัลฟิซารี่ย์ ได้เติบโตในครอบครัวแห่งวิชาการ เขาศึกษากับบิดาของเขาคือ อบูอิสหาก อิบรอฮีม อิบนุ ฮะบีบ  อัลฟิซารี่ย์ ซึ่งเสียชีวิตในปี  ฮ.ศ.160 บิดาของเขาเป็นนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ในภาควิชาดาราศาสตร์ (astronomy) โดยมีความโด่งดังเป็นอันมากในวิชาโหราศาสตร์ (astrology) และการทำปฏิทินประจำเดือน

 

ในปี ฮ.ศ. 155 มีคณะทูตจากอินเดียมาถึงนครแบกแดดพร้อมกับตำรา สิทธันตะ (siddhanta) ซึ่งเป็นตำราสำคัญที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิชาดาราศาสตร์ ค่อลีฟะห์ อบู ญะอฺฟัร อัลมันซูร จึงทรงมีบัญชาให้ มุฮัมมัด อิบนุ อิบรอฮีม อัลฟิซารี่ย์ แปลตำราเล่มนี้ออกเป็นภาษาอาหรับ และแต่งตำราในทำนองเดียวกันโดยให้ชื่อว่าตำรา “อัซซินดิฮินดฺ อัลกะบีร” ตำราเล่มนี้เป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลที่สำคัญสำหรับผู้ค้นคว้าในวิชาดาราศาสตร์จนถึงรัชสมัย ค่อลีฟะห์ อัลมะอฺมูน แห่งราชวงศ์อับบาซียะห์                     

 

มุฮำมัด อิบนุ มูซา อัลคุวาริซมี่ย์ (ฮ.ศ.164-235) ได้ศึกษาเจาะลึกตำรา “อัซซินดินฮินดฺฯ” ของอัลฟิซารี่ย์ และอัลคุวาริซมี่ย์ก็เห็นว่าน่าที่จะสรุปคัดย่อและตรวจทานตำราเล่มนี้พร้อมคัดตารางดวงดาวออกมาอย่างสรุปและแล้วตำราคัดย่อของอัลคุวาริซมี่ย์ก็เข้ามาแทนที่ตำรา“อัซซินดิฮินดฺฯ” ในเวลาต่อมา

 

นักประวัติศาสตร์ในแวดวงวิทยาศาสตร์ทดลองทราบกันดีว่า เครื่องมือดาราศาสตร์ (Astrolabe) ชิ้นแรกในอิสลามเป็นผลงานของ มุฮำมัด อิบนุ อิบรอฮีม อัลฟิซารี่ย์ และเขายังได้แต่งตำราคู่มือเพื่อบอกถึงวิธีการใช้งานเครื่องมือดาราศาสตร์ โดยให้ชื่อว่า “กิตาบุล อะมัล บิลอุสตุรลาบ อัลมุ่ซัตเตาะฮฺ” อีกด้วย แต่มีบางคนสับสนระหว่างมุฮำมัด กับ อิบรอฮีมผู้เป็นบิดาในเรื่องการประดิษฐ์ เครื่องมือดาราศาตร์ astrolabe ชิ้นแรกในอิสลาม แต่ที่มีข้อมูลยืนยันแน่นอนคือ มุฮำมัด อัลฟิซารี่ย์ เป็นผู้ประดิษฐ์

 

มุฮำมัด อิบนุ อิบรอฮีม อัลฟิซารีย์ เป็นผู้ที่หลงใหลในวิชาดาราศาสตร์และแต่งโคลง (ก้อซีดะฮฺ) ในเรื่องดวงดาวซึ่งเป็นที่กล่าวขานในหมู่นักวิชาการเสมอในวิชาดาราศาสตร์ ส่วนหนึ่งจากตำราที่มุฮำมัดได้แต่งขึ้นในวิชาดาราศาสตร์ ได้แก่ โคลงกลอนในวิชาเกี่ยวกับดวงดาว, ตำราการคำนวณสำหรับการคล้อยของดวงอาทิตย์, ตำราปฏิทินดวงดาว, ตำราคู่มือการใช้เครื่องมือดาราศาสตร์แบบกลมและตำราคู่มือการใช้เครื่องมือดาราศาสตร์แบบเรียบแบน

 

กล่าวโดยสรุป มุฮำมัด อิบนุ อิบรอฮีม อัลฟิซารี่ย์ คือผู้ริเริ่มเคลื่อนไหวการถ่ายทอดข้อมูลในวิชาดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์จากแหล่งอ้างอิงต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอินเดียเป็นภาษาอาหรับ เป็นที่ทราบกันว่า มุฮำมัด อัลฟิซารี่ย์ มีความชำนาญในภาษาต่างด้าว โดยเฉพาะภาษาสันสกฤต และเขายังทุ่มเทความพยายามอย่างยิ่งยวดในแวดวงดาราศาสตร์ประยุกต์ โดยอาศัยการบันทึกสถิติ การสังเกตด้วยประสาทสัมผัสสำหรับการดูดาว ซึ่งให้เหตุผลถึงการโคจรของดวงดาวและเทหวัตถุแห่งฟากฟ้า การอธิบายอย่างเป็นระบบถึงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์มีผลอย่างใหญ่หลวงในแวดวงของนักวิชาการอาหรับ-มุสลิม ในเรื่องนี้

 

จริงอยู่ที่ว่า ค่อลีฟะฮฺอัลมันซูร แห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺได้สนับสนุนอัลฟิซารี่ย์ และเหล่าสหายของเขาด้วยการประทานรางวัลอันมากมาย พวกเขาจึงได้แปลตำราต่างๆ ซึ่งประชาชาติทั้งหลายได้ทิ้งไว้เป็นมรดกทางวิชาการ นั่นมิใช่เพียงอินเดียเท่านั้น แต่รวมถึงภาษากรีกและเปอร์เซียอีกด้วย พวกเขายังได้ปรับปรุง แก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในตำราเหล่านั้นและเพิ่มเติมสาระสำคัญอันเป็นแก่นในวิชาดาราศาสตร์อีกเช่นกัน