ประเด็นว่าด้วยคุณสมบัติของผู้เป็นอิมามนำละหมาดญะมาอะฮฺ

 1. เด็กผู้ชายที่รู้เดียงสา (มุมัยยิซ) ที่การละหมาดของเขาใช้ได้ การเป็นอิมามนำละหมาดของเขาย่อมใช้ได้ โดยไม่มีข้อขัดแย้งในกรณีที่การละหมาดนั้นมิใช่การละหมาดวันศุกร์  ส่วนในกรณีที่เป็นการละหมาดวันศุกร์มี 2 คำกล่าวในมัซฮับ คำกล่าวที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะฮฺอัล-เกาวฺลัยนี่) ถือว่าการเป็นอิมามนำละหมาดวันศุกร์ของเด็กผู้ชายที่รู้เดียงสานั้นใช้ได้ ทั้งนี้เมื่อจำนวนผู้เป็นอะฮฺลุลญุมอะฮฺมีจำนวนครบตามเงื่อนไขโดยไม่นับรวมเด็กผู้ชายที่รู้เดียงสานั้น (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อิมามอัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 4 หน้า 145)

 

อย่างไรก็ตามท่านอะฏออฺ , อัช-ชะอฺบียฺ , มุญาฮิด , มาลิก , อัษ-เษารียฺ และอัศหาบุรฺเราะอฺย์ ถือว่าเป็นการมักรูฮฺในการที่เด็กผู้ชายที่รู้เดียงสาจะนำละหมาดบรรดามะอฺมูมที่บรรลุศาสนภาวะ (บาลิฆฺ) แล้ว (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ 4/146)

 

2. การละหมาดตามหลังชนต่างศาสนิก (กาฟิร) ใช้ไม่ได้เช่นเดียวกับการละหมาดตามหลังผู้กระทำอุตริกรรม (มุบตะดิอฺ) ที่ตกศาสนาด้วยเหตุแห่งการกระทำอุตริกรรมนั้น (คือ อุตริกรรมประเภทที่ทำให้ตกศาสนา เช่น ผู้ที่มีความเชื่อว่าพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงมีเรือนร่างเหมือนสิ่งที่ถูกสร้างซึ่งเรียกว่า พวกมุญัสสิมะฮฺ เป็นต้น) ก็ถือว่าการละหมาดตามหลังบุคคลดังกล่าวใช้ไม่ได้

 

ดังนั้นหากบุคคลหนึ่งละหมาดตามหลังชนกาฟิรโดยไม่รู้ถึงการเป็นชนกาฟิรของผู้นั้น หากชนกาฟิรผู้นั้นแสดงความเป็นชนกาฟิรของเขาอย่างชัดเจน เช่น ยะฮูดียฺ นัศรอนียฺ มะญูสียฺ และวะษะนียฺ (ผู้บูชารูปเจว็ด) เป็นต้น ก็จำเป็นที่ผู้ละหมาดตามในสภาพที่ไม่รู้ต้องกลับไปละหมาดใหม่ (อิอาดะฮฺ) โดยไม่มีความเห็นขัดแย้งในหมู่นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ

 

แต่ถ้าปรากฏว่าชนกาฟิรนั้นปิดบังอำพรางความเป็นชนกาฟิรเอาไว้โดยไม่แสดงให้ปรากฏชัดภายนอก เช่น มุรตัด (ผู้ที่ตกศาสนา) ดะฮฺรียฺ (ผู้ปฏิเสธความเชื่อในเรื่องพระผู้ทรงสร้างและกล่าวอ้างว่าทุกสรรพสิ่งเป็นไปเช่นนั้นตามกาลเวลา) ซินดีก (พวกนอกรีต) และผู้ที่กระทำอุตริกรรมประเภทที่ทำให้ตกศาสนาโดยซ่อนอำพรางสิ่งนั้น กรณีนี้มี 2 ประเด็นที่รู้กันในมัซฮับ

 

ประเด็นที่ถูกต้อง (วัจญ์ฮุน เศาะหิหฺ) ถือว่าจำเป็นที่ผู้ละหมาดตามหลังกลุ่มบุคคลดังกล่าวต้องกลับไปละหมาดใหม่ (อิอาดะฮฺ) และหากปรากฏว่าชนกาฟิรฺแต่เดิม (กาฟิรฺ อัศลียฺ) เป็นอิมามนำละหมาดหรือเป็นมะอฺมูมหรือละหมาดคนเดียวหรือละหมาดอยู่ภายในมัสญิดหรือสถานที่อื่น ผู้นั้นก็ย่อมไม่กลายเป็นมุสลิมด้วยสิ่งดังกล่าวไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในดารุล หัรบฺ (ดินแดนที่ทำสงครามศาสนากับชาวมุสลิมหรือกับรัฐอิสลาม) ก็ตาม โดยถือตามตัวบทของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ ที่ระบุไว้ในตำราอัล-อุมมฺ และอัล-มุคตะศ็อรฺ ตลอดจนปวงปราชญ์ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺระบุไว้อย่างชัดเจน (อ้างแล้ว 4/148)

 

ทั้งนี้ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดได้ยินการกล่าวคำปฏิญาณทั้ง 2 ประโยคจากชนกาฟิรฺผู้นั้น แต่ถ้าหากการกล่าวคำปฏิญาณทั้ง 2 ประโยคถูกได้ยินจากชนกาฟิรฺผู้นั้นในการอ่านตะชะฮฺฮุดหรืออื่นๆ ก็มี 2 ประเด็นที่รู้กัน ประเด็นที่ถูกต้องและนักวิชาการส่วนมากชี้ขาดคือ บุคคลผู้นั้นถูกชี้ขาดถึงความเป็นอิสลามของเขา (อ้างแล้ว 4/148)

 

อนึ่ง ชนกาฟิรฺที่เพียงแค่ปฏิบัติละหมาดเฉยๆ จะไม่ถูกชี้ขาดถึงความเป็นอิสลามของเขาตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และเป็นคำกล่าวอ้างของอัล-เอาวฺซาอียฺ , มาลิก , อบูเษาริน และดาวูด ส่วน อิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : หากชนกาฟิรฺละหมาดในมัสญิดในการละหมาดญะมาอะฮฺหรือละหมาดคนเดียว หรือละหมาดด้านนอกมัสญิดในการละหมาดญะมาอะฮฺ หรือทำฮัจญ์และเฏาะว๊าฟ หรือเปลื้องเสื้อผ้าตามปกติเพื่อครองอิหฺร็อม กล่าวตัลบียะฮฺ และวุก๊ฟที่อะเราะฟะฮฺ เขาผู้นั้นก็กลายเป็นมุสลิมแล้ว อิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) กล่าวว่า : หากชนกาฟิรฺผู้นั้นละหมาดคนเดียวหรือละหมาดอยู่ด้านนอกมัสยิด ก็ถูกตัดสินถึงความเป็นอิสลามของเขาแล้ว (อ้างแล้ว 4/149)

 

3. อนุญาตให้ละหมาดตามหลังคนฟาสิก (ผู้ประพฤติชั่ว) และการละหมาดตามหลังคน ฟาสิกนั้นใช้ได้ไม่เป็นที่ต้องห้าม แต่เป็นสิ่งที่มักรูฮฺ เนื่องจากมีหลักฐานปรากฏในเศาะหิหฺอัล-บุคอรียฺว่า ท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) เคยละหมาดตามหลังอัล-หัจญาจฺ อิบนุ ยูสุฟ ข้าหลวงในราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺ ซึ่งบุคคลผู้นี้เป็นคนฟาสิกและซอลิม (ผู้อธรรม) และท่านอะนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฮ.) ก็เคยละหมาดตามหลังอัล-หัจญาจฺ อิบนุ ยูสุฟ เช่นกัน

 

และมีอัล-หะดีษระบุว่า

“يُصَلُّوْنَ لَكُمْ, فإنْ أَصَابُوْافَلَكُمْ وَلَهُمْ , وإِنْ أَخْطَأُوْافَلَكُمْ وَعَلَيْهِمْ”

ความว่า “พวกเขา (อิมามที่ประพฤติชั่ว) จะปฏิบัติละหมาดนำแก่พวกท่าน ฉะนั้น หากพวกเขากระทำถูกต้องนั่นก็สำหรับพวกท่านและสำหรับพวกเขา และหากพวกเขากระทำผิด นั่นก็สำหรับพวกท่านและความผิดนั้นก็ตกหนักเหนือพวกเขา” (รายงานโดย อัล-บุคอรียฺ และอะหฺมัด เป็นหะดีษเศาะหิหฺ)

 

ดังนั้นจึงเป็นที่อนุญาตสำหรับบุคคลที่จะละหมาดตามหลังผู้ที่บุคคลผู้นั้นไม่รู้ว่ามีการกระทำอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) และการกระทำความชั่ว (ฟิสฺก์) ของผู้นั้นโดยการเห็นพ้องของบรรดาอิมาม และการที่มะอฺมูมต้องรู้แน่ชัดถึงการอิอฺติก็อด (ความเชื่อ) ของผู้เป็นอิมามนั้นไม่ถือเป็นเงื่อนไขในการละหมาดตาม และไม่มีเงื่อนไขว่ามะอฺมูมต้องทดสอบอิมามในเรื่องนี้โดยถามว่า “ท่านมีความเชื่ออย่างใด” แต่อนุญาตให้มะอฺมูมละหมาดตามหลังผู้ที่ถูกปกปิดสถานะ (มัสตูรฺ อัล-หาล)

 

และถ้าหากมะอฺมูมละหมาดตามหลังผู้กระทำอุตริกรรม (มุบตะดิอฺ) ทีเรียกร้องสู่การกระทำอุตริกรรมนั้นหรือคนฟาสิกที่มีการกระทำชั่วปรากฏชัด โดยอิมามนั้นเป็นอิมามโดยตำแหน่ง (อิมามรอติบ) ซึ่งมะอฺมูมไม่อาจทำละหมาดนั้นได้นอกจากต้องละหมาดตามหลังอิมามผู้นั้น เช่น อิมามนำละหมาดวันศุกร์และการละหมาดอีดทั้งสอง เป็นต้น ก็ให้มะอฺมูมละหมาดตามหลังอิมามผู้นั้นได้ตามทัศนะของชาวสะลัฟและเคาะลัฟทั่วไป

 

และบุคคลใดละทิ้งการละหมาดวันศุกร์และการละหมาดญะมาอะฮฺข้างหลังอิมามที่ประพฤติไม่ดี (อิมามฟาญิรฺ) ผู้ที่ละทิ้งการละหมาดนั้นเข้าข่ายเป็นผู้กระทำอุตริกรรมเสียเองในทัศนะของปราชญ์ส่วนมาก ทั้งนี้เพราะบรรดาเศาะหาบะฮฺเคยละหมาดวันศุกร์และละหมาดญะมาอะฮฺตามหลังบรรดาอิมามที่ประพฤติชั่ว และพวกเขาก็มิได้กลับไปละหมาดใหม่ (อิอาดะฮฺ)

 

ดังกรณีที่ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) และท่านอะนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) เคยละหมาดตามหลังอัล-หัจญาจฺ อิบนุ ยูสุฟ อัษ-ษะเกาะฟียฺ และท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอูด (ร.ฎ.) และท่านอื่นๆ เคยละหมาดตามหลังอัล-วะลีด อิบนุ อุกบะฮฺ อิบนิ อบีมุอีฏ ซึ่งมักดื่มสุราและเคยนำละหมาดศุบหิถึง 4 รอกอะฮฺ

 

และมีรายงานที่ถูกต้องว่าท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) เมื่อท่านถูกปิดล้อมภายในบ้านของท่านก็มีคนๆ หนึ่งนำละหมาดผู้คนที่มัสญิดนะบะวียฺ มีผู้หนึ่งถามท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ว่า : แท้จริงท่านนั้นเป็นอิมามสาธารณชน และผู้ที่นำละหมาดผู้คนนี้นั้นเป็นอิมามแห่งความวุ่นวาย (ฟิตนะฮฺ) ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) กล่าวตอบว่า : โอ้ลูกของพี่น้องของฉัน แท้จริงการละหมาดนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้คนกระทำกัน ดังนั้น หากพวกเขาทำสิ่งที่ดี ท่านก็จงกระทำสิ่งที่ดีพร้อมกับพวกเขา และเมื่อพวกเขากระทำสิ่งที่เลว ท่านก็จงหลีกห่างการกระทำสิ่งที่เลวของพวกเขา (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ)

 

และการละหมาดของคนฟาสิกและคนที่กระทำอุตริกรรม (ที่มิใช่อุตริกรรมประเภทที่ทำให้ตกศาสนา) นั้นถือว่าใช้ได้ในตัวของการละหมาดนั้น ฉะนั้น เมื่อมะอฺมูมละหมาดตามหลังบุคคลดังกล่าว การละหมาดของมะอฺมูมก็ไม่เป็นโมฆะ แต่ที่เป็นมักรูฮฺนั้นเพราะการใช้ให้ประพฤติความดีและการห้ามปรามจากความชั่วนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น (ชัรหุลอะกีดะฮฺ อัฏ-เฏาะหาวียะฮฺ ; อัล-ลามะฮฺ อิบนุ อบิลอิซฺ อัล-หะนะฟียฺ หน้า 375)

 

อนึ่ง ในกรณีที่มะอฺมูมละหมาดตามหลังอิมามที่รู้กันว่าเป็นคนฟาสิกนั้น อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า การละหมาดของมะอฺมูมนั้นใช้ได้พร้อมกับเป็นการ มักรูฮฺ ส่วนอิมามมาลิก (ร.ฮ.) กล่าวว่า การละหมาดของมะอฺมูมนั้นใช้ไม่ได้ อิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) กล่าวว่า : การละหมาดวันศุกร์และการละหมาดอีดตามหลังอิมามฟาสิกนั้นใช้ได้ เมื่อมะอฺมูมมีอุปสรรคในการทำละหมาดทั้งสองนั้นตามหลังอิมามคนอื่นที่มิใช่คนฟาสิก ส่วนการละหมาดอื่นนอกจากทั้งสองตามหลังอิมามที่เป็นคนฟาสิกนั้นถือว่าใช้ไม่ได้ตามมัซฮับของอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) (ปะริสัย บะฆี สะกะลียันมุกัลลัฟ ; ชัยคฺ อับดุลกอดิร อัล-มันดีลียฺ หน้า 113)

 

4. ไม่อนุญาตให้ผู้ชายที่บรรลุศาสนภาวะ (บาลิฆฺ) และเด็กผู้ชายที่รู้เดียงสา (มุมัยยิซ) ละหมาดตามหลัง (เป็นมะอฺมูม) ผู้หญิง และไม่อนุญาตให้กระเทย (คน 2 เพศ) ละหมาดตามหลังผู้หญิงและกระเทยด้วยกัน แต่การละหมาดของผู้หญิงตามหลังกระเทยนั้นใช้ได้ นี่เป็นมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และมัซฮับของปวงปราชญ์จากชนรุ่นสะลัฟและเคาะลัฟ แต่อัล-กอฎียฺ อบู อัฏฏ็อยยิบ และอัล-อับดะรียฺ เล่าจากอบูเษาริน , อัล-มุซะนียฺ และอิบนุ ญะรีร ว่า : การละหมาดของผู้ชายข้างหลังผู้หญิงนั้ถือว่าใช้ได้ ชัยคฺ อบูหามิด กล่าวว่า : มัซฮับของนักวิชาการฟิกฮฺทั้งหมดคือการละหมาดของบรรดาผู้ชายข้างหลังผู้หญิงนั้นใช้ไม่ได้ ยกเว้น อบูเษารินเท่านั้นที่ว่าใช้ได้

 

ดังนั้น หากผู้ชายละหมาดตามหลังผู้หญิงโดยที่ผู้ชายนั้นไม่รู้ว่านางเป็นผู้หญิง ต่อมาก็รู้ว่านางเป็นผู้หญิง ก็จำเป็นที่ชายผู้นั้นต้องกลับมาละหมาดใหม่ (อิอาดะฮฺ) โดยไม่มีความเห็นขัดแย้งในกรณีนี้ และถ้าหากผู้ชายละหมาดตามหลังกระเทย (คุนษา) หรือกระเทยละหมาดตามหลังกระเทยด้วยกันโดยไม่รู้ว่าอิมามนั้นเป็นกระเทย ต่อมาก็รู้ ก็จำเป็นที่ชายผู้นั้นต้องกลับมาละหมาดใหม่ (อิอาดะฮฺ)

 

แต่ถ้ายังไม่หวนกลับมาละหมาดใหม่จนกระทั่งเป็นที่ปรากฏชัดว่ากระเทยผู้นั้นเป็นผู้ชาย การหวนกลับมาละหมาดใหม่ก็ไม่ตกไปจากผู้นั้นตามคำกล่าวที่ถูกต้องที่สุดใน 2 คำกล่าว (อะเศาะหฺ อัล-เกาวฺลัยนี่) (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ , อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 4 หน้า 152)

 

5. ไม่อนุญาตให้ละหมาดตามหลังผู้ที่มีหะดัษและถือว่าเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) โดย อิจญ์มาอฺสำหรับมะอฺมูมที่รู้ว่าอิมามเป็นผู้ที่มีหะดัษ ดังนั้นหากมะอฺมูมละหมาดตามหลังผู้มีหะดัษด้วยการมีญะนาบะฮฺหรือการปัสสาวะ และอื่นๆ โดยมะอฺมูมผู้นั้นรู้ถึงการมีหะดัษของอิมาม มะอฺมูมก็มีบาปด้วยการดังกล่าว และการละหมาดของมะอฺมูมนั้นถือเป็นโมฆะโดยอิจญ์มาอฺ

 

แต่ถ้ามะอฺมูมไม่รู้ถึงการมีหะดัษของอิมาม ถ้าหากเป็นการละหมาดอื่นที่มิใช่ละหมาดวันศุกร์ ก็ถือว่าการละหมาดมะอฺมูมนั้นใช้ได้ และหากมะอฺมูมรู้ถึงการมีหะดัษของอิมามในระหว่างการละหมาดตาม ก็จำเป็นที่มะอฺมูมต้องมีเจตนาแยกตนออกจากการตามอิมาม (มุฟาเราะเกาะฮฺ) ในขณะนั้นและมะอฺมูมก็ทำละหมาดของตนให้ครบสมบูรณ์เพียงลำพังต่อจากสิ่งที่ได้ทำละหมาดนั้นพร้อมกับอิมาม

 

แต่ถ้าหากมะอฺมูมยังคงปฏิบัติละหมาดตามต่อไปอีกครู่หนึ่งหรือมะอฺมูมไม่ตั้งเจตนาแยกออกจากการตามอิมาม การละหมาดของมะอฺมูมก็ถือเป็นโมฆะโดยการเห็นพ้อง (อิตติฟาก) เพราะมะอฺมูมได้ละหมาดบางส่วนของการละหมาดของตนตามหลังผู้ที่มีหะดัษทั้งๆ ที่มะอฺมูมก็รู้ถึงการมีหะดัษของผู้นั้น แต่ถ้าหากมะอฺมูมไม่รู้ถึงการมีหะดัษของอิมามจนกระทั่งให้สล่ามจากการละหมาดก็ถือว่าการละหมาดของมะอฺมูมนั้นใช้ได้ (อ้างแล้ว 4/153) และถือว่ามะอฺมูมได้ภาคผลความประเสริฐของการละหมาดญะมาอะฮฺนั้นตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุดในมัซฮับ (อ้างแล้ว 4/155)

 

และหากปรากฏแน่ชัดว่าอิมามนำละหมาดวันศุกร์เป็นผู้มีหะดัษ และจำนวนของอะฮฺลุลญุมอะฮฺก็ครบสมบูรณ์โดยไม่นับรวมอิมาม การละหมาดวันศุกร์ของบรรดามะอฺมูมนั้นถือว่าใช้ได้ตามทัศนะที่ถูกต้อง ทั้งนี้หากถือตามทัศนะที่ถูกต้องนี้ อิมามก็ไม่มีสิทธิในการกลับมาละหมาดวันศุกร์ใหม่ (อิอาดะฮฺ) เพราะการละหมาดวันศุกร์นั้นใช้ได้แล้ว จึงถือว่าการละหมาดอีกครั้งหลังจากการละหมาดวันศุกร์ที่ใช้ได้แล้วนั้นเป็นโมฆะ (อ้างแล้ว 4/155)

 

กรณีเมื่ออิมามนึกขึ้นได้ในขณะนำละหมาดว่าคนมีญุนุบหรือมีหะดัษก็จำเป็นที่อิมามต้องออกจากการละหมาดนั้น หากปรากฏว่าสถานที่ทำความสะอาด (เฏาะฮาเราะฮฺ) ของอิมามอยู่ใกล้ ให้อิมามส่งสัญญาณ (อิชาเราะฮฺ) ให้มะอฺมูมหยุดอยู่ชั่วครู่ และอิมามก็ไปทำความสะอาดและกลับมาโดยกล่าวตักบีเราะตุลอิหฺร็อมทำการละหมาดต่อ และมะอฺมูมก็ปฏิบัติตามอิมามในสิ่งที่เหลืออยู่จากการละหมาดของพวกเขาโดยที่มะอฺมูมไม่ต้องเริ่มละหมาดใหม่

 

แต่ถ้าหากสถานที่ทำความสะอาดของอิมามอยู่ไกล ให้มะอฺมูมละหมาดต่อไปจนครบสมบูรณ์โดยไม่ต้องรออิมาม ทั้งนี้ให้มะอฺมูมเลือกเอาว่าจะละหมาดให้สร็จสมบูรณ์เพียงลำพังหรือว่าจะให้คนหนึ่งของพวกเขาขึ้นไปนำโดยผู้ที่นำนั้นทำละหมาดจนเสร็จสมบูรณ์พร้อมกับพวกเขา แต่การเลือกทำข้อแรกนั้นดีกว่า (คือละหมาดเพียงลำพัง) ทั้งนี้เพื่อเป็นการออกจากข้อขัดแย้งในประเด็นการ “อิสติคฺลาฟ” (การมอบให้ผู้อื่นทำหน้าที่อิมามแทน) (อ้างแล้ว 4/159)

 

6. การละหมาดของผู้ที่ล้างเท้าในการอาบน้ำละหมาดตามหลังผู้ที่เช็ดรองเท้าหุ้มข้อเท้า (คุ๊ฟ) และการละหมาดของผู้ที่อาบน้ำละหมาดตามหลังผู้ที่ทำตะยำมุมซึ่งไม่จำเป็นต้องเกาะฎออฺ (ชดใช้) การละหมาดนั้น (เช่น ผู้นั้นทำตะยำมุมในการเดินทางไกลหรือในขณะที่ไม่ได้เดินทางเนื่องจากมีความเจ็บป่วยหรือมีบาดแผล เป็นต้น) ถือว่าใช้ได้โดยการเห็นพ้อง (อิตติฟาก) และเป็นคำกล่าวของปวงปราชญ์

 

ตลอดจนเป็นรายงานจากอิบนุ อับบาส , อัมมารฺ อิบนุ ยาสิรฺ และกลุ่มหนึ่งจากเหล่าเศาะหาบะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม) และจากสะอีด อิบนุ อัล-มุสัยยิบ , อะฎออฺ , อัล-หะสัน , อัซ-ซุฮรียฺ , มาลิก , อัษ-เษารียฺ , อบูหะนีฟะฮฺ และอะหฺมัด (เราะหิมะฮุมุลลอฮฺ) ส่วนท่านอะลี (ร.ฎ.) , เราะบีอะฮฺ , ยะห์ยา อัล-อันศอรียฺ , อัน-นะเคาะอียฺ และมุฮัมมัด อิบนุ อัล-หะสัน ถือว่าเป็นการมักรูฮฺ และทั้งหมดมีมติเห็นพ้อง (อิจญ์มาอฺ) ว่า ผู้อาบน้ำละหมาดเป็นอิมามนำละหมาดผู้ที่ทำตะยำมุมได้ (อ้างแล้ว 4/160-161)

 

7. อนุญาตสำหรับผู้ที่สามารถยืนละหมาดทำการละหมาดตามหลังผู้ที่นั่งละหมาดซึ่งไม่สามารถยืนได้ และอนุญาตสำหรับผู้ที่นั่งละหมาดทำการละหมาดตามหลังผู้ที่นอนตะแคงละหมาดได้ ตลอดจนอนุญาตสำหรับผู้ที่สามารถก้มรุ่กัวอฺและสุหญูดละหมาดตามหลังผู้ที่ทำสัญญาณ (อีมาอฺ) ในการละหมาดของเขาด้วยการก้มรุ่กัวอฺและสุหญูดได้ แต่ไม่อนุญาตให้ผู้ที่สามารถกระทำทุกสิ่งจากกรณีดังกล่าวกระทำพ้องกับผู้ไร้ความสามารถ (อาญิซฺ) ในการละทิ้งการยืน หรือการนั่ง หรือการก้มรุ่กัวอฺ หรือการสุหญูด (อ้างแล้ว 4/161)

 

ส่งเสริม (มุสตะหับ) สำหรับผู้เป็นอิมามเมื่อไม่สามารถยืนละหมาดได้ในการมอบหรือตั้งบุคคลคนหนึ่งให้นำละหมาดญะมาอะฮฺในสภาพที่ผู้นั้นยืนนำละหมาด เพราะในการทำเช่นนั้นเป็นการออกจากข้อขัดแย้งของนักวิชาการที่มีทัศนะห้ามละหมาดตามคนที่นั่งละหมาด และเพราะผู้ยืนนำละหมาดมีความสมบูรณ์และใกล้เคียงยิ่งกว่าในการทำให้บรรดารูปลักษณ์ (ฮัยอาตฺ) ของการละหมาดนั้นสมบูรณ์ (อ้างแล้ว 4/161)

 

ดังนั้น ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าอนุญาตในการละหมาดของผู้ที่ยืนตามหลังผู้ที่นั่งละหมาดซึ่งไม่สามารถยืนได้ และไม่อนุญาตให้พวกเขาละหมาดตามหลังผู้ที่นั่งในสภาพที่พวกเขา (มะอฺมุม) นั่งละหมาด และตามนี้ อัษ-เษารียฺ , อบูหะนีฟะฮฺ , อบูเษาริน , อัล-หุมัยดียฺ และนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัล-มาลิกียฺบางส่วนกล่าวเอาไว้

 

ส่วนอัล-เอาวซาอียฺ , อะหฺมัด , อบูอิสหาก และอิบนุ อัล-มุนซิรฺกล่าวว่า : การละหมาดของมะอฺมูมตามหลังอิมามที่นั่งละหมาดในสภาพที่มะอฺมูมนั่งละหมาดนั้นเป็นที่อนุญาตและไม่อนุญาตให้มะอฺมูมละหมาดตามหลังผู้ที่นั่งละหมาดในสภาพที่มะอฺมูมยืน

 

อิมามมาลิก (ร.ฮ.) กล่าวไว้ใน ริวายะฮฺหนึ่ง ตลอดจนสานุศิษย์บางส่วนของท่านว่า : การละหมาดตามหลังอิมามที่นั่งละหมาดโดยมะอฺมูมนั่งละหมาดนั้นใช้ไม่ได้โดยสิ้นเชิง (มุฏลัก) ทั้งนี้อาศัยหลักฐานจากอัล-หะดีษที่รายงานโดยอัด-ดาเราะกุฏนียฺ , อัล-บัยฮะกียฺและคนอื่นๆ จากญาบิรฺ อัล-ญุอฺฟียฺ จาก อัช-ชะอฺบียฺ จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)

“لَايَؤُمَّنَّ أحَدٌبَعْدِىْ جَالِسًا”

ความว่า “คนหนึ่งหลังจากฉันอย่าได้นำละหมาดในสภาพที่นั่ง” แต่อัล-หะดีษบทนี้เป็น หะดีษมุรฺสัล เฏาะอีฟ เพราะญาบิรฺ อัล-ญุอฺฟียฺเป็นบุคคลที่เห็นพ้องว่ารายงานหะดีษเฏาะอีฟ (อ่อน) และไม่มีผู้ใดรายงานหะดีษนี้นอกจากอัล-ญุอฺฟียฺจากอัช-ชะอฺบียฺ

 

ส่วนอัล-เอาวฺซาอียฺและอะหฺมัด อาศัยหลักฐานจากอัล-หะดีษที่รายงานโดยท่านอะนัส (ร.ฎ.) ว่า : แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

“إِنَّمَا جُعِلَ الإمَامُ لِيُؤْتَمَّ بِه , فإذاكَبَّرَفَكَبِّرُوْا , وإذارَكَعَ فَارْكَعُوا , وَإذاصَلّى جَالِسًافَصَلُّوْاجُلُوسًااَجْمَعُوْنَ”

ความว่า : “อันที่จริงอิมามนั้นถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่ถูกตาม (เป็นผู้นำ) ฉะนั้นเมื่ออิมามกล่าวตักบีรฺพวกท่านก็จงกล่าวตักบีร และเมื่ออิมามก้มรุ่กัวอฺพวกท่านก็จงก้มลงรุ่วกัวอฺ และเมื่ออิมาม ละหมาดในสภาพที่นั่ง พวกท่านก็จงละหมาดในสภาพที่นั่งทั้งหมด” (รายงานโดย อัล-บุคอรียฺ และมุสลิม และในเศาะหิหฺทั้งสองมีรายงานจากอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) เหมือนกัน)

 

แต่อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และบรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ อาศัยหลักฐานจากหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า

“أَمَرَفى مَرَضِه الذى تُوُفّى فيْه أَبَابَكْرٍرضى الله عنه أَنْ يُصَلِّىَ بِالناسِ فَلَمَّا دخَل فى الصلاة , وجَدَرسول الله صلى الله عليه وسلم منْ نفسِه خِفّةً فقام يُهَا دى بين رَجُلَيْن , ورْجْلَاه يَخُطان فى الأرض , فجَلَس عن يَسَارْأبى بكر , فكان رسول الله صلى الله عليه وسلم يُصَلِّى باالناس جالسًا وأبوبكر قائمايقتدى أبوبكربصلاة النبى صلى الله عليه وسلم , ويقتدى الناسُ بصلاةأبى بكر”

ความว่า : ในการป่วยของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งท่านเสียชีวิตในการป่วยนั้นท่านได้ใช้ให้อบูบักร์ (ร.ฎ.) ทำการละหมาดนำผู้คน ครั้นเมื่ออบูบักร์เข้าสู่ในการละหมาดแล้ว ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็พบว่ามีความเบาจากตัวของท่าน (คือมีอาการดีขึ้นพอที่จะลุกขึ้นได้) ท่านจึงลุกขึ้นโดยท่านถูกนำทาง (ประคอง) ระหว่างชาย 2 คน และเท้าทั้งสองของท่านก็ลากเป็นทางที่พื้น ท่านก็มาถึงแล้วก็นั่งลงจากทางด้านซ้ายของอบูบักรฺ แล้วปรากฏว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้นำละหมาดผู้คนในสภาพที่ท่านนั่งและอบูบักรฺยืนตรง อบูบักรฺละหมาดตามการละหมาดของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และผู้คนก็ละหมาดตามการละหมาดของอบูบักร” (รายงานโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

 

นี่เป็นถ้อยคำของหนึ่งในบรรดาการรายงานของอิมามมุสลิม และรายงานเหล่านั้นระบุชัดว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เป็นอิมาม เพราะท่านนั่งลงจากทางด้านซ้ายของอบูบักรฺ (ร.ฎ.) และเพราะประโยคที่ระบุว่า (يصلى بالناس) “ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นำละหมาดผู้คน” และประโยคที่ว่า (يقتدى به أبوبكر) “อบูบักรฺละหมาดตามท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ”

 

ในอีกรายงานหนึ่งของอิมามุสลิมระบุว่า

(وكان النبى صلى الله عليه وسلم يُصَلِّىْ بالناسِ وأبوبكريُسْمِعُهُمْ التكبيرَ)

ความว่า “และปรากฏว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นำละหมาดผู้คน โดย อบูบักรทำให้พวกเขาได้ยินการตักบีร” (หมายถึง ท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ส่งเสียงดังด้วยการตักบีรเมื่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวตักบีร เหตุที่อบูบักรฺ (ร.ฎ.) กระทำเช่นนั้น เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีเสียงค่อยในขณะนั้นเนื่องจากอาการป่วย)

 

และในรายงานของอัล-บุคอรียฺและมุสลิมระบุว่า “แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั่งลงข้างๆ อบูบักรฺ แล้วอบูบักรฺก็เริ่มละหมาดในสภาพที่ยืนตามการละหมาดของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และผู้คนก็ละหมาดตามการละหมาดของอบูบักรฺ โดยที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั่งละหมาด อัล-บุคอรียฺและมุสลิมรายงานหะดีษนี้จากหลายสายรายงาน ทั้งหมดต่างก็บ่งชี้ว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เป็นอิมาม และอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ละหมาดตามท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยกล่าวตักบีรเสียงดังให้ผู้คนได้ยิน และนักรายงานส่วนใหญ่ก็รายงานเช่นนี้

 

ท่านอิมามอัช-ชาฟิอียฺและบรรดาสานุศิษย์ของท่านตลอดจนบรรดานักปราชญ์ฝ่ายอัล- หะดีษและฟิกฮฺกล่าวว่า “บรรดารายงานเหล่านี้มีนัยชัดเจนในการยกเลิก (นัสคฺ) อัล-หะดีษที่ว่า “เมื่ออิมามละหมาดโดยนั่ง พวกท่านก็จงละหมาดโดยนั่งลงทั้งหมด” (อ้างแล้ว 4/162-163) ส่วนอัล-หะดีษที่ระบุว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นำละหมาดในสภาพที่ท่านนั่งและผู้คนที่ละหมาดข้างหลังท่านอยู่ในสภาพที่ยืนนั้นคือการละหมาดซุฮฺริในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ และท่าน นบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็วะฟาต (สิ้นชีวิต) ในวันจันทร์ตามที่อัล-บัยฮะกียฺได้รายงาน (อ้างแล้ว 4/161)

 

8. ในกรณีที่อิมามเป็น “อุมมียฺ” (หมายถึงบุคคลที่อ่านสุเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺทั้งบทได้ไม่ดี ไม่ว่าเขาผู้นั้นมิได้ท่องจำอัล-ฟาติหะฮฺหรือท่องจำได้ทั้งหมดยกเว้นอักษรเดียวหรืออ่านคำที่มีชิดดะฮฺเบาเนื่องจากลิ้นอ่อน และไม่ว่าสิ่งดังกล่าวนั้นเป็นเพราะเหตุอาการใบ้หรือไม่ก็ตาม) หรือเป็น “อะร็อต” (หมายถึงบุคคลที่อ่านควบกล้ำ (อิดฆ็อม) อักษรตัวหนึ่งเข้าไปในอักษรอีกตัวหนึ่งซึ่งมิใช่ตำแหน่งของการอ่านควบกล้ำ) หรือเป็น “อัลษัฆฺ” (หมายถึงบุคคลที่ออกเสียงเปลี่ยนอักษรตัวหนึ่งด้วยอักษรอีกตัวหนึ่ง เช่น รออฺ เป็น ฆัยนฺ , สีน เป็น ษาอฺ)

 

ถ้าหากผู้มีลักษณะทั้ง 3 ประการนี้สามารถเรียนการออกเสียงหรืออ่านได้ถูกต้องตามอักขระวิธีแต่ไม่เรียน การละหมาดของผู้นั้นในส่วนตัวย่อมเป็นโมฆะ และไม่อนุญาตให้ละหมาดตามผู้นั้นโดยไม่มีข้อขัดแย้ง แต่ถ้าผู้นั้นไม่สามารถจากการเรียนและฝึกฝนตามอักขระวิธีเนื่องด้วยเหตุที่ลิ้นของเขาไม่เป็นไปตามนั้น หรือเวลาของการละหมาดเหลือน้อยเต็มทีและเขาก็ยังไม่สามารถที่จะเรียนหรือฝึกการออกเสียงมาก่อนหน้านี้ การละหมาดของเขาโดยส่วนตัวของเขาถือว่าใช้ได้

 

และหากว่ามีบุคคลที่มีลักษณะเช่นเดียวกันกับเขามาละหมาดตามเขาผู้นั้น การละหมาดตามของผู้นั้นย่อมใช้ได้โดยการเห็นพ้องของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ เพราะผู้ตามเหมือนกับผู้ที่ถูกตาม การละหมาดของผู้ตามจึงใช้ได้ (อ้างแล้ว 4/164)

 

ส่วนกรณีเมื่อผู้เป็น “กอรีอฺ” (หมายถึงผู้ที่อ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮได้อย่างถูกต้องและครบสมบูรณ์) มาละหมาดตามหลังผู้เป็นอุมมียฺ การละหมาดของมะอฺมูมที่เป็นกอรีอฺนั้นถือเป็นโมฆะ ส่วนการละหมาดของอิมามที่เป็นที่เป็นอุมมียฺนั้นใช้ได้ ตลอดจนการละหมาดของมะอฺมูมที่เป็นอุมมียฺก็ใช้ได้ ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และมัซฮับของอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) ส่วนอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) และอิมามมาลิก (ร.ฮ.) กล่าวว่า : การละหมาดของอิมามและมะอฺมูมตลอดจนกอรีอฺและอุมมียฺถือเป็นโมฆะ (อ้างแล้ว 4/165)

 

เมื่อบุคคลผิดพลาดในการอ่าน (ตามหลักการอ่าน (กิรออะฮฺ) หรือหลักไวยากรณ์ (เกาะวาอิด อัล-ลุเฆาะฮฺ) การเป็นอิมามนำละหมาดของผู้นั้นถือเป็นสิ่งที่มักรูฮฺโดยไม่มีเงื่อนไข (มุฏลัก) ดังนั้นหากความผิดพลาดในการอ่านไม่ได้เปลี่ยนความหมายของถ้อยคำ เช่น อ่านอักษรฮาอฺในตำแหน่งร็อฟฺอ์จากประโยค (الحمْدُللهِ) ด้วยการใส่สระฎ็อมมะฮฺที่อักษรฮาอฺ (الحمدلِلهُ) เป็นต้น ก็ถือว่าการเป็นอิมามนำละหมาดของผู้นั่นเป็นมักรูฮฺ ตันซีฮฺ (كراهة تنزيْه) และการละหมาดของเขานั้นใช้ได้ตลอดจนการละหมาดของผู้ที่ละหมาดตามเขาผู้นั้นใช้ได้

 

แต่ถ้าหากเป็นความผิดพลาดในการอ่านที่เปลี่ยนความหมาย เช่น อ่านใส่สระฎ็อมมะฮฺที่อักษร ตาอฺ จากคำว่า (أَنْعَمْتَ) หรือใส่สระกัสเราะฮฺที่อักษร ตาอฺ หรือทำให้ความหมายของคำเป็นโมฆะด้วยการอ่าน (الصِّرَاطَ المستقيمَ) เป็น (الصراطَ المستقينَ) กรณีนี้หากว่าลิ้นของเขาเป็นไปตามการบังคับออกเสียงและเขาก็สามารถเรียนวิธีการอ่านที่ถูกต้องได้ ก็ถือว่าผู้นั้นกระทำสิ่งต้องห้าม และจำเป็นที่เขาผู้นั้นต้องรีบเรียน

 

ฉะนั้น หากเวลาของการละหมาดนั้นสั้นและจวนเจียน ก็จำเป็นที่ผู้นั้นต้องละหมาดและชดใช้การละหมาดนั้นในภายหลัง และการละหมาดตามบุคคลผู้นั้นถือว่าใช้ไม่ได้ แต่ถ้าหากลิ้นของเขาไม่เป็นไปตามนั้นหรือช่วงเวลาที่เขาสามารถเรียนได้ในเวลานั้นยังไม่ผ่านพ้นไป การละหมาดของคนที่เหมือนกับเขาผู้นั้นตามหลังย่อมใช้ได้ ส่วนการละหมาดของผู้ที่มีลิ้นเป็นปกติตามหลังผู้นั้นก็เช่นเดียวกับการละหมาดของกอรีอฺตามหลังผู้ที่เป็นอุมมียฺ

 

และหากปรากฏว่าความผิดพลาดในการอ่านนั้นเกิดขึ้นในสูเราะฮฺอื่นนอกจากอัล-ฟาติหะฮฺ การละหมาดของผู้นั้นและการละหมาดของคนทุกคนที่ละหมาดตามหลังเขาผู้นั้นถือว่าใช้ได้ เพราะการละทิ้งสูเราะฮฺ (ที่มิใช่อัล-ฟาติหะฮฺ) ไม่ทำให้การละหมาดเป็นโมฆะและไม่ห้ามในการละหมาดตามแต่อย่างใด (อ้างแล้ว 4/166)

 

อนึ่ง หากผู้ที่เป็นกอรีอฺละหมาดตามหลังบุคคลที่เขาเข้าใจว่าเป็นกอรีอฺ แล้วปรากฏว่าเป็น อุมมียฺ และเราถือตามคำกล่าวที่ว่า การละหมาดของผู้ที่เป็นกอรีอฺตามหลังคนที่อุมมียฺใช้ไม่ได้ ก็จำเป็นที่ผู้ละหมาดตามหลังนั้นต้องกลับมาละหมาดใหม่ (อิอาดะฮฺ) ตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนฺ) ไม่ว่าการละหมาดนั้นจะเป็นละหมาดที่มีสุนนะฮฺให้อ่านค่อยหรืออ่านเสียงดังก็ตาม

 

และหากบุคคลคนหนึ่งที่เป็นกอรีอฺละหมาดตามหลังคนที่ไม่รู้ถึงสภาพของเขา (ว่าเป็นกอรีอฺหรืออุมมียฺ) ในการละหมาดที่ให้อ่านเสียงดัง แล้วคนที่นำละหมาดซึ่งไม่รู้ถึงสภาพของเขาไม่อ่านเสียงดัง ก็จำเป็นที่ผู้เป็นกอรีอฺซึ่งละหมาดตามหลังต้องกลับมาละหมาดใหม่ (อิอาดะฮฺ) โดยการเห็นพ้องของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ เมื่อเราถือตามคำกล่าวที่ว่าไม่อนุญาตให้กอรีอฺละหมาดตามหลังอุมมียฺ เพราะสิ่งที่ปรากฏก็คือ หากว่าผู้นำละหมาดนั้นเป็นกอรีอฺ เขาก็ย่อมอ่านเสียงดัง

 

แต่ถ้าหากผู้นั้นให้สล่ามแล้วกล่าวกับมะอฺมูมข้างหลังว่า “ฉันอ่านค่อยและลืมการอ่านเสียงดัง” กรณีนี้ก็ไม่จำเป็นที่มะอฺมูมต้องกลับมาละหมาดใหม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) เท่านั้น และหากว่าเป็นที่ปรากฏชัดว่าอิมามนำละหมาดนั้นเป็นอุมมียฺในระหว่างการปฏิบัติละหมาด และเราก็ถือตามคำกล่าวที่ว่า จำเป็นต้องกลับมาละหมาดใหม่ในกรณีของมะอฺมูม การละหมาดของมะอฺมูมก็ถือเป็นโมฆะ หากไม่ถือตามนั้นก็เหมือนกับกรณีที่อิมามมีหะดัษ ก็ให้มะอฺมูมตั้งเจตนาแยกตนออกจากการตามอิมาม และทำละหมาดต่อไปเพียงลำพังจนจบ

 

อนึ่ง ในกรณีที่บุคคลละหมาดประเภทที่อ่านค่อยตามหลังบุคคลที่ไม่รู้ถึงสภาพของผู้นั้นในการอ่าน ถือว่าการละหมาดของมะอฺมูมนั้นใช้ได้โดยการเห็นพ้อง และมีตัวบทระบุไว้ในตำรา อัล-อุมมฺ (อ้างแล้ว 4/166-167)

 

9. การละหมาดสุนนะฮฺตามหลังผู้ปฏิบัติละหมาดฟัรฎูและการละหมาดฟัรฎูตามหลังผู้ปฏิบัติละหมาดสุนนะฮฺนั้นเป็นที่อนุมัติและใช้ได้ ในทำนองเดียวกัน การละหมาดฟัรฎูหนึ่งตามหลังผู้ปฏิบัติละหมาดฟัรฎูอื่นๆ ที่พ้องกันหลังผู้ปฏิบัติละหมาดฟัรฎูอัศริ เป็นต้น ก็ถือว่าใช้ได้ ตลอดจนการละหมาดฟัรฎูหนึ่งตามหลังผู้ปฏิบัติละหมาดอีกฟัรฎูหนึ่งที่สั้นกว่า (คือมีจำนวนรอกอะฮฺน้อยกว่า) ก็ถือว่าใช้ได้เช่นกัน

 

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นที่อนุญาตในทัศนะของมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺโดยไม่มีข้อขัดแย้ง ดังนั้น เมื่อมะอฺมูมทำละหมาดซุฮริตามหลังอิมามที่ละหมาดศุบหิ เมื่อ อิมามให้สล่ามแล้วก็ให้มะอฺมูมลุกขึ้นทำละหมาดซุฮริของเขาจนจบสมบูรณ์ ข้อชี้ขาดของมะอฺมูมก็เหมือนกับข้อชี้ขาดของผู้ที่เป็นมัสบู๊ก และให้มะอฺมูมปฏิบัติตามอิมามในการกุหนูต แต่ถ้ามะอฺมูมประสงค์ที่จะแยกตนออกจากการตามอิมาม (มุฟาเราะเกาะ) ขณะที่อิมามทำการกุหนูตก็เป็นสิ่งที่อนุญาต (อ้างแล้ว 4/168)

 

และหากบุคคลละหมาดฟัรฎูซุฮฺริตามหลังผู้ละหมาดฟัรฎูมัฆริบ ก็เป็นที่อนุญาตโดยการเห็นพ้อง (อิต-ติฟ๊าก) ทั้งนี้ให้มะอฺมูมเลือกเอา เมื่ออิมามนั่งตะชะฮฺฮุดครั้งสุดท้ายว่าจะแยกตนออกจากการตามอิมามเพื่อทำละหมาดของตนให้จบสมบูรณ์ หรือว่าจะละหมาดต่อไปพร้อมกับอิมามจนกระทั่งให้สล่าม แล้วมะอฺมูมก็ลุกขึ้นไปทำร็อกอะฮฺของตนที่เหลืออยู่จนจบสมบูรณ์ ซึ่งกรณีนี้ถือว่าประเสริฐ (อัฟฎ็อล) กว่า

 

แต่ถ้าหากว่าจำนวนร็อกอะฮฺในการละหมาดของมะอฺมูมน้อยกว่า ดังกรณีของผู้ที่ละหมาดศุบหิตามหลังผู้ปฏิบัติตามละหมาดประเภท 4 ร็อกอะฮฺ หรือตามหลังผู้ปฏิบัติละหมาดมัฆริบ หรือละหมาดมัฆริบตามหลังผู้ปฏิบัติละหมาดประเภท 4 ร็อกอะฮฺ ในเรื่องนี้มี 2 แนวทาง (เฏาะรีก็อนฺ) ในมัซอับอัช-ชาฟิอียฺ

 

แนวทางที่ถูกต้องที่สุดคือ อนุญาตให้ละหมาดตามได้และการตามนั้นก็ใช้ได้ ซึ่งข้อปฏิบัติตามแนวทางนี้คือ เมื่อมะอฺมูม (ซึ่งละหมาดศุบหิ) ละหมาดพร้อมกับอิมามครบจำนวน 2 ร็อกอะฮฺแล้ว และอิมามก็ลุกขึ้นไปทำร็อกอะฮฺที่เหลือ ก็ให้มะอฺมูมเลือกเอาว่า จะตั้งเจตนาแยกตนออกจากการตามอิมาม (มุฟาเราะเกาะฮฺ) ขณะนั้นและให้สล่ามเลยก็ได้ หรือจะนั่งรออิมามเพื่อให้สล่ามพร้อมกับอิมามก็ได้ ซึ่งกรณีหลังนี้ถือว่าดีกว่า (อัฟฎ็อล)

 

และถ้าหากเป็นไปได้ในการที่มะอฺมูมจะกุหนูตพร้อมกับอิมามในร็อกอะฮฺที่ 2 โดยอิมามหยุดอยู่ครู่หนึ่ง และมะอฺมูมก็กุหนูต แต่ถ้าไม่สามารถก็ไม่ต้องกุหนูต และมะอฺมูมก็มีสิทธิในการออกจากการตาม อิมามเพื่อกุหนูตในขณะนั้น ในกรณีที่มะอฺมูมละหมาดมัฆริบตามหลังอิมามที่ละหมาดซุฮฺริ และอิมามก็ลุกขึ้นไปทำร็อกอะฮฺที่ 4 กรณีนี้ไม่อนุญาตให้มะอฺมูมลุกขึ้นทำตามอิมาม แต่ให้มะอฺมูมแยกตนออกจากการตามอิมามและอ่านตะชะฮฺฮุด ถามว่ามะอฺมูมมีสิทธิอ่านตะชะฮฺฮุดนานและรออิมามในกรณีนี้หรือไม่?

 

ประเด็นนี้อิมามอัล-หะเราะมัยนฺและท่านอื่นๆ เล่าไว้ 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่)

(หนึ่ง) มะอฺมูมมีสิทธิกระทำสิ่งดังกล่าวได้เหมือนกรณีที่เรากล่าวมาแล้วสำหรับบุคคลที่ละหมาดศุบหิตามหลังผู้ปฏิบัติละหมาดซุฮฺริ

(สอง) อิมามอัล-หะเราะมัยนฺกล่าวว่าเป็นมัซฮับ คือ ไม่อนุญาต เพราะมะอฺมูมทำให้เกิด การตะชะฮฺฮุดและการนั่งซึ่งอิมามมิได้กระทำสิ่งนั้น (อ้างแล้ว 4/168)

 

อนึ่ง ประเด็นว่าด้วยเจตนา (นียะฮฺ) ของอิมามที่แตกต่างจากมะอฺมูมนั้น ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าอนุญาตในการละหมาดของผู้มีเจตนาละหมาดสุนนะฮฺตามหลังผู้มีเจตนาละหมาดฟัรฎูหรือกลับกัน และอิบนุ อัล-มุนซิรฺ เล่าจากฏอวู๊ส , อะฏออฺ , อัล-เอาวฺซาอียฺ , อิมามอะหฺมัด , อบูเษาริน และสุลัยมาน อิบนุ หัรฺบ์ ตลอดจนเป็นมัซฮับของดาวูด

 

ในขณะที่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งกล่าวว่า : ไม่อนุญาตให้ละหมาดสุนนะฮฺตามหลังผู้ละหมาดฟัรฎูและกลับกันตลอดจนไม่อนุญาตให้ละหมาดฟัรฎูหลังผู้ละหมาดฟัรฎูอื่น ซึ่งเป็นคำกล่าวของอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ , อัซ-ซุฮฺรียฺ , ยะหฺยา อิบนุ สะอีด อัล-อันศอรียฺ , เราะบีอะฮฺ และอบูกิลาบะฮฺ ตลอดจนเป็นรายงานหนึ่งจากอิมามมาลิก  ส่วนอิมามอัษ-เษารียฺและอิมามอบูหะนีฟะฮฺกล่าวว่า : ไม่อนุญาตให้ละหมาดฟัรฎูตามหลังละหมาดสุนนะฮฺอื่นและละหมาดฟัรฎูอื่น แต่อนุญาตละหมาดสุนนะฮฺตามหลังฟัรฎูได้ (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 4 หน้า 169)

 

หลักฐานของนักวิชาการที่มีทัศนะว่าไม่อนุญาตคือ อัล-หะดีษที่ระบุว่า

“إنماجُعِلَ الإمَامُ لِيُؤْتَمَّ به”

ความว่า : “อันที่จริงอิมามนั่นได้ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่ถูฏตาม (เป็นผู้นำ)” (รายงานโดย อัล-บุคอรียฺ และมุสลิม)

 

แต่นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺและฝ่ายที่เห็นด้วยว่าอนุญาตได้ซักค้านว่า เป้าหมายของอัล-หะดีษบทนี้คือ อิมามจะถูกตามในเรื่องการกระทำ (อัล-อัฟอาล) มิใช่ในเรื่องเจตนา (นียะฮฺ) เหตุนี้ที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวต่อมาว่า “เมื่ออิมามกล่าวตักบีรฺ พวกท่านก็จงกล่าวตักบีร เมื่ออิมามก้มรุกัวอฺ พวกท่านก็จงก้มลงรุกัวอฺ” จนจบอัล-หะดีษ

 

ส่วนหลักฐานที่สนับสนุนทัศนะของฝ่ายอัช-ชาฟิอียฺและมัซฮับที่เห็นด้วยคือ อัล-หะดีษที่รายงานโดยท่านญาบิรฺ (ร.ฎ.) ว่า : แท้จริงมุอาซฺ (ร.ฎ.) เคยละหมาดพร้อมกับท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในการละหมาดอิชาอฺครั้งสุดท้าย ต่อมามุอาซฺ (ร.ฎ.) ก็กลับไปยังกลุ่มชนของเขา (บะนูสะลิมะฮฺ) แล้วก็นำละหมาดการละหมาดดังกล่าวกับพวกเขา” (รายงานโดย อัล-บุคอรียฺ และมุสลิม) (อ้างแล้ว 4/170)

 

10. ถือเป็นการมักรูฮฺที่บุคคลจะนำละหมาดกลุ่มชนหนึ่งโดยที่คนส่วนมากของชนกลุ่มนั้นรังเกียจบุคคลผู้นั้น เนื่องจากมีอัล-หะดีษที่รายงานโดยอิบนุอับบาส (ร.ฎ.) ว่า แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า

“ثلاثةٌلاتُرْفَعُ صلاتُهم فَوْقَ رُؤُوْسِهِمْ شِبْرًا , رَجُلٌ أَمَّ قَوْمًا وَهُمْ لَه كَارِهُوْنَ …الحديث”

ความว่า : มีบุคคล 3 ประเภทที่การละหมาดของพวกเขาจะไม่ถูกยกขึ้นเหนือศีรษะของเขาแม้เพียงคืบเดียว : ชายคนหนึ่งที่นำละหมาดกลุ่มชนหนึ่งในสภาพที่พวกเขารังเกียจชายผู้นั้น….(อัล-หะดีษ” (รายงานโดย อิบนุมาญะฮฺด้วยสายรายงานที่หะสัน)

 

แต่ถ้าคนที่รังเกียจนั้นเป็นคนส่วนน้อยก็ถือว่าไม่มักรูฮฺ เนื่องจากไม่มีผู้ใดเลยที่ปลอดจากคนที่รังเกียจเขาผู้นั้น ในทำนองเดียวกันหากผู้ที่รังเกียจเขาผู้นั้นมีจำนวนกึ่งหนึ่งของกลุ่มชนนั้น ก็ไม่มักรูฮฺเช่นกัน เพราะนักวิชาการจำกัดความเป็นมักรูฮฺเอาไว้เฉพาะในกรณีของคนส่วนมากที่ตั้งข้อรังเกียจ และการเป็นอิมามของบุคคลที่ว่านี้จะเป็นการมักรูฮฺก็ต่อเมื่อกล่มุชนส่วนมากนั้นตั้งข้อรังเกียจในประเด็นที่ถูกตำหนิ (มัซมูม) ตามหลักการของศาสนา

 

เช่น ผู้ปกครองที่อธรรม , บุคคลที่ดำรงตำแหน่งอิมาม ทั้งๆ ที่ไม่มีคุณสมบัติ หรือบุคคลที่ไม่ระมัดระวังสิ่งที่เป็นนะญิสหรือไม่รักษาระเบียบที่เป็นสุนนะฮฺฮัยอะฮฺของการละหมาดหรือประกอบอาชีพที่ถูกตำหนิตามหลักการของศาสนา หรือคลุกคลีอยู่กับบรรดาคนฟาสิกหรือที่คล้ายๆ กันนั้น แต่ถ้าหากไม่เป็นไปตามนั้นก็ไม่เป็นมักรูฮฺ และถือเป็นเรื่องที่น่าตำหนิ

 

สำหรับผู้ที่ตั้งข้อรังเกียจกับอิมามผู้นั้น และกรณีที่เป็นการมักรูฮฺนี้เป็นเรื่องเฉพาะสำหรับอิมาม ส่วนบรรดามะอฺมูมที่รังเกียจอิมามนั้น ไม่ถือเป็นการมักรูฮฺสำหรับพวกเขาที่จะละหมาดตามหลังอิมามผู้นั้น ส่วนผู้ที่เป็นมะอฺมูมนั้น เมื่อผู้ที่มาร่วมละหมาดที่มีมัสญิดรังเกียจการมาร่วมละหมาดของมะอฺมูมผู้นั้น ก็ถือว่าไม่มักรูฮฺสำหรับมะอฺมูมผู้นั้นที่จะมาร่วมละหมาด เพราะพวกเขามิได้มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับมะอฺมูมผู้นั้นในการละหมาด (อ้างแล้ว 4/172-173)

 

11. บรรดาสาเหตุที่ให้น้ำหนักในการทำหน้าที่อิมามนำละหมาดญะมาอะฮฺนั้นมี 6 ประการคือ

1. ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติศาสนกิจ (อัล-ฟิกฮฺ)

2. การอ่านที่ถูกต้องตามหลักวิชาตัจญ์วีด

3. ความเป็นผู้ทรงศีลและห่างไกลจากสิ่งคลุมเครือ (อัล-วะเราะอฺ)

4. วัยวุฒิ คือความเป็นมุสลิมที่ผ่านระยะเวลาอันยาวนาน ซึ่งวัยวุฒินี้มิได้หมายถึงการเป็นผู้สูงอายุ หากแต่มุ่งหมายถึงอายุของการนับถือศาสนอิสลาม ดังนั้นผู้สูงอายุ (คนแก่) ที่เพิ่งเข้ารับอิสลามจะไม่ถูกนำมาพิจารณาในเรื่องการเป็นอิมามนำละหมาดก่อนคนหนุ่มที่เติบโตในศาสนาอิสลามหรือเข้ารับอิสลามมาก่อน

5. เชื้อสาย เช่นบุคคลที่เป็นลูกหลานในตระกูลกุร็อยชฺ หรือผู้ทีมีเชื้อสายสืบถึงผู้มีความรู้หรือคนศอลิหฺ เป็นต้น

6. การอพยพ (อัล-ฮิจญ์เราะฮฺ)

 

ในกรณีที่บรรดาสาเหตุข้างต้นขัดแย้งกัน ตามทัศนะที่ถูกต้องที่สุดในมัซฮับ ให้ถือว่าผู้มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติศาสนกิจมีสิทธิในการเป็นอิมามก่อนคนที่อ่านได้ถูกต้องและอื่นๆ ตามลำดับ แต่ถ้าเสมอกันทั้ง 6 ประการนั้น ให้พิจารณาการรักษาความสะอาดของเสื้อผ้าและร่างกายของผู้นั้น ตลอดจนความเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในทางดี มีน้ำเสียงที่ดีและรูปร่างหน้าตา (บุคลิกภาพ) ที่ดีตามลำดับ (อ้างแล้ว 4/177-178)

 

ในกรณีที่มีผู้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายปกครององค์กรบริหารกิจการศาสนาอิสลามมาร่วมละหมาดในมัสญิดซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของผู้ดำรงตำแหน่งนั้น ก็ให้ถือว่าผู้นั้นมีสิทธิในการเป็นอิมามนำละหมาดผู้ที่มาร่วมละหมาดทั้งหมดไม่ว่าในกลุ่มผู้มาร่วมละหมาดนั้นจะมีผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติศาสนกิจมากกว่าคนอื่น หรือเป็นผู้ที่อ่านได้ถูกต้องมากกว่าคนอื่น หรือเป็นอิมามของมัสญิดนั้นก็ตาม

 

หากผู้ดำรงตำแหน่งไม่ขึ้นนำละหมาด ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นก็มีสิทธิใช้ให้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการเป็นอิมามนำละหมาดขึ้นไปเป็นอิมาม ถึงแม่ว่าจะมีคนอื่นที่ดีกว่าอยู่ด้วยก็ตาม เพราะผู้ดำรงตำแหน่งมีสิทธิในเรื่องนี้ ทั้งนี้ให้พิจารณาลำดับชั้นของผู้ดำรงตำแหน่งเป็นสำคัญ เช่น ผู้นำสูงสุด (จุฬาราชมนตรี) หากมาร่วมละหมาดอยู่ ณ ที่นั้นก็สมควรมากกว่าบุคคลอื่น ถัดมาก็เป็นประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอย่างนี้เป็นต้น

 

อนึ่ง ในกรณีของผู้ที่มองเห็นและผู้ที่ตาบอดนั้นตามทัศนะที่ถูกต้องถือว่าเสมอกัน และนักวิชาการสังกัดมัซฮับมีความเห็นพ้องกันว่า ไม่ถือเป็นมักรูฮฺสำหรับการเป็นอิมามของผู้ที่ตาบอดนำละหมาดผู้ที่มองเห็น (อ้างแล้ว 4/181)

 

และบุคคลที่มีความประพฤติเคร่งครัดจะถูกพิจารณาก่อนคนฟาสิกที่มีความรู้ความเข้าใจและอ่านได้ถูกต้องในการเป็นอิมาม คนที่บรรลุศาสนภาวะแล้วย่อมดีกว่าเด็กที่รู้เดียงสาในการเป็นอิมาม ถึงแม้ว่าเด็กที่รู้เดียงสานั้นจะมีความรู้ความเข้าใจและอ่านได้ดีกว่าผู้ที่บรรลุศาสนภาวะแล้วก็ตาม

 

และหากผู้ที่เดินทางไกล (มุสาฟิร) และผู้ที่มิได้เดินทาง (มุกีม) มาร่วมละหมาดพร้อมกัน ผู้ที่มิได้เดินทางสมควรเป็นอิมามนำละหมาดมากกว่า ยกเว้นในกรณีของผู้ที่เดินทางไกลนั้นเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง ก็สมควรกว่าในการเป็นอิมาม และการเป็นอิมามของบุคคลที่ไม่รู้ว่าบิดาของผู้นั้นเป็นใคร เช่น ลูกซินาก็ถือว่าค้านกับสิ่งที่ดีกว่า (คิลาฟุลเอาลา) หรือเป็นสิ่งที่มักรูฮฺตามคำกล่าวของอัล-บันดะนัยญียฺ (อ้างแล้ว 4/181)

 

12. กรณีการละหมาดตามตามหลังอิมามที่ต่างมัซฮับกับมะอฺมูม เช่น มะอฺมูมชาฟิอียฺละหมาดตามอิมามที่เป็นหะนะฟียฺ หรืออิมามที่เป็นมาลิกียฺซึ่งไม่อ่านบิสมิลลาฮฺในการอ่านอัล-ฟาติหะฮฺ เป็นต้น ในกรณีนี้มี 4 ประเด็นในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ คือ

 

1. ถือว่าใช้ได้โดยไม่มีเงื่อนไข เป็นคำกล่าวของอัล-ก็อฟฟาลซึ่งพิจารณาความเชื่อ (อิอฺติก็อด) ของอิมามนำละหมาดเป็นสำคัญ

2. ถือว่าการตามนั้นใช้ไม่ได้โดยไม่มีเงื่อนไขเป็นคำกล่าวของอบูอิสหาก อัล-อัสฟะรอยินียฺ

3. หากอิมามต่างมัซฮับนั้นปฏิบัติสิ่งที่เรา (มะอฺมูมที่เป็นชาฟิอียฺ) ถือเป็นเรื่องสำคัญในการเศาะหฺละหมาด ก็ถือว่าการตามนั้นใช้ได้ แต่ถ้าอิมามผู้นั้นละทิ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปจากเรื่องสำคัญดังกล่าวหรือเราสงสัยในการทิ้งของอิมามก็ถือว่าใช้ไม่ได้

4. เป็นประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-เอาญุฮฺ) กล่าวคือ หากเรารู้แน่ชัดจริงๆ ว่าอิมามผู้นั้นละทิ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เราถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในการเศาะหฺละหมาด การตามอิมามผู้นั้นก็ย่อมใช้ไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้แน่ชัดจริงๆ ว่าอิมามผู้นั้นปฏิบัติสิ่งดังกล่าวทั้งหมดหรือสงสัย ก็ถือว่าการตามนั้นใช้ได้ โดยเอาถือความเชื่อ (อิอฺติก็อด) ของมะอฺมูมเป็นใหญ่ (อ้างแล้ว 4/182)

 

อนึ่ง ประเด็นการละหมาดตามหลังอิมามที่ต่างมัซฮับนั้น ฝ่ายหะนะฟียฺและชาฟิอียฺกำหนดเงื่อนไขว่าการละหมาดของอิมามต้องใช้ได้ตามมัซฮับของมะอฺมูม ส่วนฝ่ายมาลิกียฺและหัมบะลียฺ กล่าวว่า สิ่งใดที่ปรากฏว่าเป็นเงื่อนไขในการเศาะหฺละหมาด ก็ให้พิจารณาสิ่งนั้นตามมัซฮับของอิมามเท่านั้น ส่วนสิ่งใดที่เป็นเงื่อนไขในการเศาะหฺการตาม ก็ให้พิจารณาสิ่งนั้นตามมัซฮับของมะอฺมูม

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุหัยลียฺ มีความเห็นว่า : จำเป็นที่จะต้องยึดตามมัซฮับ มาลิกียฺและหัมบะลียฺในส่วนแรก (คือ สิ่งใดที่เป็นเงื่อนไขในการเศาะหฺละหมาดก็ให้พิจารณาสิ่งนั้นตามมัซฮับของอิมามเท่านั้น) เพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดในเรื่องความสมเหตุสมผล

 

และการละหมาดตามหลังผู้ที่ต่างมัซฮับในประเด็นข้อปลีกย่อยของแต่ละมัซฮับย่อมถือว่าใช้ได้โดยไม่มักรูฮฺ กล่าวคือ การพิจารณานั้นถือตามมัซฮับของอิมามเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพราะเหล่าเศาะหาบะฮฺและอัต-ตาบิอีนตลอดจนชนในรุ่นถัดมาต่างก็ละหมาดตามหลังซึ่งกันและกัน ทั้งๆ ที่พวกเขามีความเห็นขัดแย้งกันในประเด็นข้อปลีกย่อย และสิ่งดังกล่าวก็ถือเป็นอิจญ์มาอฺและด้วยสิ่งดังกล่าวผลของความนิยมคลั่งไคล้ในเรื่องมัซฮับก็จะยุติลง (อัล-ฟิกฮุลอิสลามียฺ ว่า อะดิลละตุฮู ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุหัยลียฺ เล่มที่ 2 หน้า 180/181 โดยสรุป)

 

ดังนั้นหากอิมามเป็นคนต่างมัซฮับกับมะอฺมูมก็ให้ยึดเอาความเชื่อ (อิอฺติก็อด) ของอิมามเป็นหลักในเรื่องนี้ เมื่ออิมามผู้นั้นเชื่อว่าการละหมาดของตนใช้ได้ตามมัซฮับของอิมามผู้นั้น การละหมาดตามหลังอิมามผู้นั้นของมะอฺมูมที่ต่างมัซฮับก็ย่อมใช้ได้

 

โปรดอย่าลืมว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นข้อปลีกย่อยทางศาสนาและเป็นเรื่องของทัศนะ มิใช่ตัวบทที่เด็ดขาดทางศาสนา หากเรายึดเอาทัศนะมาเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกจนกระทั่งไม่สามารถละหมาดตามกันในระหว่างพี่น้องมุสลิมได้แล้วก็จะเกิดปัญหาที่เสียหายอย่างใหญ่หลวง ยิ่งในยุคปัจจุบันประชาคมมุสลิมไทยถึงแม้จะเป็นผู้สังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺโดยส่วนใหญ่แต่ก็มีพี่น้องมุสลิมที่เป็นผู้สังกัดมัซอับอัล-หะนะฟียฺและอัล-มาลิกียฺจำนวนมิใช่น้อย

 

บางมัสญิดก็มีอิมามโดยตำแหน่งที่เป็นหะนะฟียฺในขณะที่สัปปุรุษเป็นผู้สังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺหากสัปปุรุษที่เป็นชาฟิอียฺยึดมั่นถือมั่นว่าละหมาดตามอิมามที่เป็นหะนะฟียฺไม่ได้ ก็ย่อมเป็นการแตกสามัคคีและเป็นความวุ่นวายในสังคม

 

ทัศนะของนักวิชาการที่หลากหลายถือเป็นคุณอนันต์ หากว่าเราเข้าใจและรู้จักในการนำประยุกต์ใช้ในการบริหารความแตกต่าง การเรียนรู้ทัศนะและยอมรับในความต่างระหว่างกันย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าการยึดมั่นถือมั่น (ตะอัศศุบ) ในทัศนะหนึ่งทัศนะใดแล้วกลายเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกและสร้างมัสญิดใหม่ขึ้นเพียงเพราะเหตุของความเห็นที่เป็นข้อปลีกย่อยโดยหลงลืมไปว่าความสามัคคีและเอกภาพของประชาคมเป็นฟัรฎูที่ศาสนาบัญชาใช้

 

และการละหมาดญะมาอะฮฺก็เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ทางศาสนาที่เด่นชัดในการบ่งบอกถึงความมีสามัคคีและเอกภาพของประชาคมมุสลิม หากเราทำลายเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ทางศาสนาข้อนี้ด้วยการอ้างทัศนะที่เห็นต่างจนแยกญะมาอะฮฺออกไปหรือไม่ละหมาดตามกันหรือสร้างมัสญิดใหม่ด้วยเหตุเพียงเพราะข้อปลีกย่อย  ก็เท่ากับว่าเราทำลายหลักคำสอนใหญ่อันเป็นฟัรฎูทางศาสนาลงเสียสิ้นแล้ว จึงขอนะศีหะฮฺแก่พี่น้องผู้ศรัทธาให้ตระหนักและเข้าใจแนวทางที่ถูกต้องเอาไว้ ณ ที่นี้

 

วัลลอฮุอะลียุตเตาฟิก