26. การอ้างอายะฮฺ “อัล-อิงกิลาบ” (อายะฮฺที่ 144 จากสูเราะฮฺอาลิอิมรอน) ของอัต-ตีญานียฺว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺจะตกศาสนาหลังการวะฟาตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) 

อัต-ตีญานียฺเรียกอายะฮฺที่ 144 จากสูเราะฮฺอาลิอิมรอนว่าเป็นอายะฮฺอัล-อิงกิลาบ ( ِآيةُ الْاِنْقِلَاب ) หมายถึงอายะฮฺแห่งการพลิกกลับหรือเปลี่ยนแปลงศรัทธาไปสู่การปฏิเสธการตั้งชื่อนี้เป็นการวิเคราะห์ของอัต-ตีญานียฺเอง

 

อัต-ตีญานียฺเขียนว่า: 

“2- อายะฮฺอัล-อิงกิลาบ 

อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสในคัมภีร์อันทรงเกียรติของพระองค์ว่า 

وَمَا مُحَمَّدٌ إِلَّا رَسُولٌ قَدْ خَلَتْ مِن قَبْلِهِ الرُّسُلُ  أَفَإِن مَّاتَ أَوْ قُتِلَ انقَلَبْتُمْ عَلَىٰ أَعْقَابِكُمْ  وَمَن يَنقَلِبْ عَلَىٰ عَقِبَيْهِ فَلَن يَضُرَّ اللَّهَ شَيْئًا  وَسَيَجْزِي اللَّهُ الشَّاكِرِينَ

“และมุฮัมมัดมิใช่ผู้ใดนอกเสียจากเป็นศาสนทูตคนหนึ่งที่แน่แท้มีบรรดาศาสนทูตผ่านพ้นมาก่อนหน้าเขาแล้วดังนั้นหากว่ามุฮัมมัดเสียชีวิตหรือถูกสังหารพวกเจ้าก็หวนกลับบนส้นเท้าของพวกเจ้า (ตกศาสนา) ก็นั้นหรือและผู้ใดหวนกลับบนส้นเท้าทั้งสองของตน (ตกศาสนา) ผู้นั้นก็ไม่มีวันทำอันตรายใดๆแก่อัลลอฮฺได้เลยและอัลลอฮฺจะทรงตอบแทนแก่บรรดาผู้รู้คุณ”
(อาลิอิมรอน: 144)

 

อายะฮฺอันประเสริฐนี้มีความชัดเจนและปรากฏชัดในกรณีที่ว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺจะหวนกลับบนส้นเท้าของพวกเขา (ตกศาสนา) ภายหลังการเสียชีวิตของท่านเราะสูลโดยตรงและไม่มีผู้ใดจากพวกเขาที่มั่นคงนอกเสียจากส่วนน้อยเท่านั้นดังที่อายะฮฺบ่งชี้ถึงสิ่งดังกล่าวในการใช้สำนวนบ่งชี้ของพระองค์ถึงพวกเขา – คือบรรดาผู้ที่มั่นคงซึ่งไม่แปรเปลี่ยน- ว่าเป็นบรรดาผู้รู้คุณดังนั้นบรรดาผู้รู้คุณนั้นจะไม่ปรากฏนอกเสียจากเป็นส่วนน้อยดังที่ดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) บ่งถึงสิ่งดังกล่าวว่า: 

وَقَلِيلٌ مِّنْ عِبَادِيَ الشَّكُورُ

“และน้อยจากปวงบ่าวของข้าที่เป็นผู้รู้คุณ”
(สะบะฮฺ: 13) 

(ษุมมะฮฺตะดัยตุ้: 113-114)

 

วิภาษ 

อัต-ตีญานียฺอ้างอายะฮฺที่ 144 สูเราะฮฺอาลิ อิมรอน และเขียนอธิบายทำนองเดียวกันใน “จงถามผู้รู้” (ฉบับแปลภาษาไทย โดย อัยยูบ ยอมใหญ่) หน้า 177 ว่า “บรรดาผู้ขอบพระคุณ คือซอฮาบะฮฺเพียงส่วนน้อยนั่นเองที่ไม่ยอมหันกลับ พวกเขายืนหยัดบนพันธสัญญาที่พวกเขาเคยมีไว้ต่อท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และพวกเขาไม่เคยเปลี่ยนแปลงด้วยประการใดๆ ก็ตาม

 

โดยโองการอันทรงเกียรตินี้และเหตุผลตามความหมายของโองการสามารถตัดสินให้ข้ออ้างของอะห์ลิซซุนนะฮฺเป็นอันตกไป นั่นคือ ข้ออ้างที่ว่า ซอฮาบะฮฺไม่มีความเกี่ยวพันใดๆ กับพวกกลับกลอก และถ้าหากเรายอมรับต่อพวกเขาตามข้อโต้แย้งในเรื่องนั้น แท้จริง โองการนี้กล่าวถึงซอฮาบะฮฺผู้บริสุทธิ์ใจ ซึ่งพกวเขาไม่เป็นพวกกลับกลอกในสมัยที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีชีวิตอยู่ หากแต่พวกเขาหันกลับไปสู่สภาพเดิมของพวกเขาภายหลังที่ท่านเสียชีวิตในทันทีทันใด”

 

ข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺในษุมมะฮฺตะดัยตุ้และจงถามผู้รู้ (ฟัสอะลู อะฮฺลัซซิกร์) ตอกย้ำถึงทัศนคติและความเชื่อของอัต-ตีญานียฺว่าโน้มเอียงและเห็นด้วยกับฝ่ายชีอะฮฺโดยสิ้นเชิงหลักการที่ตนกำหนดเอาไว้ว่าจะเคร่งครัดอยู่เฉพาะสิ่งที่ทั้งสองฝ่าย (สุนนะฮฺ – ชีอะฮฺ) เห็นพ้องตรงกัน ซึ่งกรณีนี้ฝ่ายสุนนะฮฺไม่เห็นด้วย และการอธิบายนัยอายะฮฺอัล-กุรอานว่าเป็นสิ่งที่ชัดเจนในการยืนยันว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺจะตกศาสนาภายหลังการเสียชีวิตของท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยตรงก็เป็นการอธิบายตามความเข้าใจเอาเองของอัต-ตีญานียฺซึ่งไม่มีข้อมูลในเชิงวิชาการใดๆ มารองรับ โปรดสังเกตุว่า อัต-ตีญานียฺไม่ได้อ้างอิงตำราตัฟสีรฺใดๆ ทั้งจากฝ่ายสุนนะฮฺและชีอะฮฺมาประกอบเพื่อยืนยันความเชื่อของตนว่า อายะฮฺนี้เป็นหลักฐานที่ระบุถึงสภาพของเหล่าเศาะหาบะฮฺภายหลังการสิ้นชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺหันกลับบนส้นเท้าของพวกเขา

 

ดูเอาเถิด แม้เหล่าเศาะหาบะฮฺที่มีความบริสุทธิ์ใจ และไม่ใช่ผู้กลับกลอกในสมัยที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยังมีชีวิตอยู่ยังไม่รอดพ้นจากข้อกล่าวหาของอัต-ตีญานียฺที่ว่า “พวกเขาตกศาสนาเช่นกันเมื่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) สิ้นชีวิตในทันทีทันใด” ความเป็นผู้รู้คุณของเหล่าเศาะหาบะฮฺส่วนน้อยที่มั่นคงบนพันธสัญญาที่เคยให้ไว้กับท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และไม่เคยเปลี่ยนแปลงด้วยประการใดๆ ตามที่อัต-ตีญานียฺระบุ กับความเป็นผู้บริสุทธิ์ใจและไม่ใช่ผู้กลับกลอกของเหล่าเศาะหาบะฮฺอีกกลุ่มหนึ่งตลอดช่วงชีวิตของท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แตกต่างกันอย่างไร? และมีมาตรฐานใดในการแบ่งแยกระหว่างเศาะหาบะฮฺทั้ง 2 กลุ่ม ว่ากลุ่มหนึ่งรู้คุณและยืนหยัดในความจริง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งมีความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีความกลับกลอกแต่ตกศาสนาเพียงแค่การสิ้นชีวิตของท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เท่านั้น

 

ที่สำคัญใครคือ เศาะหาบะฮฺกลุ่มที่ 2 นี้ ซึ่งแต่เดิมมีความบริสุทธิ์ใจและไม่ใช่พวกกลับกลอก ประชาคมของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะเป็นเช่นใดเล่าในเมื่อเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทีมีความบริสุทธิ์ใจและมิใช่พวกกลับกลอกยังตกศาสนาได้ทันทีที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เสียชีวิตลง อัล-กุรอานและสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะได้รับการพิทักษ์และสืบสานต่อหลังการสิ้นชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้อย่างไร ในเมื่อเหล่าเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ของท่านได้ตกศาสนาและกลับสู่สภาพเดิมคือการปฏิเสธศรัทธา ศาสนาอิสลามจะยิ่งใหญ่เหนือทุกศาสนาได้อย่างไรในเมื่อกระทั่งเหล่าสาวกของศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ยังปฏิเสธศรัทธาต่อหลักคำสอนของศาสนายกเว้นคนเพียง 10 คนกับ

 

อะฮฺลุลบัยตฺที่มีท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) กับบุตรชายทั้ง 2 คนของท่านซึ่งในเวลานั้นยังเป็นเพียงเด็กหนุ่มที่ถือกำเนิดภายหลังการประกาศศาสนาของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เป็นเวลา 10 ปี ล่วงมาแล้วเป็นอย่างน้อย ส่วนท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (ร.ฎ.) ก็ลาจากโลกนี้ไปภายหลังการสิ้นชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพียงไม่กี่เดือน เป็นเรื่องน่าคิดว่า เหล่าเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ส่วนใหญ่ไม่รู้ถึงบั้นปลายของพวกเขาเลยกระนั้นหรือว่าพวกเขาจะตกศาสนาในทันทีที่นบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) สิ้นชีวิตทั้งๆ ที่พวกเขาก็อ่านอายะฮฺนี้ (อัล-อิงกิลาบ) และท่องจำขึ้นใจ

 

และเป็นเรื่องน่าคิดอีกเช่นกันว่า อัล-กุรอานที่ถูกรวบรวมขึ้นภายหลังการสิ้นชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เป็นการรวบรวมของเหล่าเศาะหาบะฮฺที่เป็นพวกกลับกลอกและตกศาสนากระนั้นหรือ และหากพวกเขารู้ว่า อัล-กุรอานอายะฮฺนี้หรืออายะฮฺอื่นๆ ได้ลงมาประณามและเปิดโปงแผนการทำลายล้างศาสนาอิสลามของพวกเขาอย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวหา เหตุใดพวกเขาจึงไม่ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงอายะฮฺนั้นเสีย แต่กลับรวบรวมและบันทึกเป็นมุศหัฟให้ชนรุ่นหลังอย่างอัต-ตีญานียฺและพวกชีอะฮฺนำมาอ้างเป็นหลักฐานปรักปรำพวกเขาด้วยข้อหาฉหาจฉกรรณ์เช่นนั้น

 

สิ่งที่อัต-ตีญานียฺละเลยในการนำเอาอายะฮฺ 144 สูเราะฮฺอาลิ อิมรอนมาอ้างเพื่อสนับสนุนทฤษฎีของตนก็คือ การกล่าวถึงมูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺนี้ลงมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ตำราของทั้งฝ่ายสุนนะฮฺและชีอะฮฺเห็นตรงกัน กล่าวคือ อายะฮฺนี้ประทานลงมา เนื่องด้วยเหตุความปราชัยของชาวมุสลิมในวันสมรภูมิอุหุด ขณะที่ชัยฏอนได้ส่งเสียงตะโกนในสมรภูมิว่า “แน่แท้มุฮัมมัดถูกฆ่าแล้ว” แล้วพวกกลับกลอกบางคนก็กล่าวขึ้นว่า “แน่แท้มุฮัมมัดถูกฆ่าแล้ว พวกท่านก็จงยอมแพ้ต่อพวกเขาเถิด เพราะอันที่จริงพวกเขา (ชาวมักกะฮฺ) คือพี่น้องของพวกท่าน” และเศาะหาบะฮฺบางคนก็กล่าวว่า “หากมุฮัมมัดได้ถูกฆ่าจริงแล้ว พวกท่านจะไม่ดำเนินตามสิ่งที่นบีของพวกท่านเคยดำนเนินอยู่บนสิ่งนั้นจนกระทั่งพวกท่านได้ติดตามนบีของพวกท่านไปกระนั้นหรือ? อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จึงทรงประทานอายะฮฺนี้ลงมา (อัสบาบุนนุซูล ; อัลวาหิดียฺ หน้า 125 , ตัฟสีรอัล-กุรฏุบียฺ 2/1463 , ตัฟสีรฺ อิบนิกะษีรฺ 1/409 , ลุบาบุนนุกูล ฟี อัสบาบินนุซูล ; อัส-สุยูฏียฺ หน้า 74-75) และอัฏ-ฏอบริสียฺ นักปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺก็ระบุไว้ว่านี่คือมูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺนี้ลงมา (มัจญ์มะอ์ อัล-บะยาน ; อัฏ-ฏอบริสียฺ 2/215)

 

นี่เป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องแต่อัต-ตีญานียฺกลับไม่นำมาอ้างเพื่ออธิบายนัยของอายะฮฺนี้ ซึ่งประโยคที่ว่า “หากว่าเขา (มุฮัมมัด) ได้เสียชีวิตหรือถูกฆ่าเสียแล้ว พวกท่านก็หวนกลับบนส้นเท้าของพวกท่านแล้วกระนั้นหรือ” เป็นคำดำรัสที่หักล้างคำพูดของเหล่าพวกกลับกลอกซึ่งกล่าวว่า “มุฮัมมัดถูกฆ่าแล้ว พวกท่านจงกลับไปสมทบกับศาสนาแรกของพวกท่านเถิด” (ตัฟสีร อัฏ-เฏาะบะรียฺ 3/458)

 

คำพูดของพวกกลับกลอกที่ชักชวนให้เหล่าเศาะหาบะฮฺหวนกลับ (อัล-อิงกิลาบ) บนส้นเท้าของพวกเขาคือเป้าหมายที่อายะฮฺนี้ลงมาหักล้าง และบรรดาเศาะหาบะฮฺก็มิได้หลงไปตามคำชักชวนของพวกกลับกลอก หากแต่กล่าวตอบโต้คำพูดของพวกกลับกลอกกลับไปว่า “หากว่ามุฮัมมัดได้ถูกฆ่าจริงแล้ว พวกท่านจะไม่ดำเนินตามสิ่งที่นบีของพวกท่านเคยดำเนินอยู่บนสิ่งนั้น จนกระทั่งพวกท่านได้ติดตามท่านนบีไปกระนั้นหรือ?”

 

ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ บรรดาเศาะหาบะฮฺไม่ได้ตกศาสนาตามคำยุยงปลุกปั่นของพวกกลับกลอกแต่อย่างใด หากเหล่าเศาะหาบะฮฺจะตกศาสนาด้วยการประกาศของอายะฮฺนี้ตามที่อัต-ตีญานีย์กล่าวอ้าง พวกท่านก็ย่อมตกศาสนาไปแล้วนับตั้งแต่อายะฮฺนี้ประทานลงมาในสมรภูมิอุหุดซึ่งเกิดขึ้นในปีฮ.ศ. ที่ 3 / ฮ.ศ. 625 เพราะอย่างน้อยสำนวนในอายะฮฺก็ใช้คำกริยาอดีต ( …انْقَلَبْتُمْ على ) ซึ่งแปลได้ว่า “พวกท่านได้หวนกลับแล้ว” แต่ถ้าเรื่องจะล่วงเลยมาจนกระทั่งถึงการสิ้นชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งเป็นเรื่องอนาคต สำนวนก็น่าจะเป็น ( …تَنْقَلِبُوْاعلى ) “พวกท่านจะหวนกลับ…”

 

ที่สำคัญสำนวนของอายะฮฺเป็นสำนวนในการตั้งคำถามเชิงปฏิเสธ (อิสติฟฮาม อิงการียฺ) มิใช่สำนวนบอกเล่า (เคาะบะรียะฮฺ) หากอายะฮฺนี้เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺจะตกศาสนาเมื่อท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เสียชีวิตโดยตรงอย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้าง รูปประโยคจะต้องเป็นสำนวนบอกเล่าในทำนองว่า “หากเขา (มุฮัมมัด) เสียชีวิตลงเมื่อใด พวกท่านก็ย่อมหันหลังกลับบนส้นเท้าของพวกท่านแล้วอย่างแน่นอน” แต่อายะฮฺนี้ไม่ได้ใช้รูปประโยคที่ว่านี้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในสมรภูมิอุหุด หรือเหตุการณ์ภายหลังการสิ้นชีวิตของท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) บรรดาเศาะหาบะฮฺมิได้หวนกลับบนส้นเท้าของพวกเขาแต่อย่างใดเลย และอายะฮฺนี้ก็ไม่ได้บ่งชี้อย่างที่อัต-ตีญานียฺพยายามกล่าวอ้าง

 

เราไม่ปฏิเสธว่าอายะฮฺนี้รวมถึงอายะฮฺก่อนหน้าและหลังจากอายะฮฺนี้เป็นการตำหนิเศาะหาบะฮฺบางส่วนในสมรภูมิอุหุดเพื่อเป็นการให้บทเรียนอันล้ำค่าแก่พวกเขา ไม่ว่าจะเป็นความพ่ายแพ้ในสมรภูมิ การละทิ้งคำสั่งของท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กรณีของกองแมนธนู และอื่นๆ เพราะนั่นเป็นสมรภูมิการสู้รบที่เป็นช่วงนาทีวิกฤติ และเศาะหาบะฮฺก็เป็นมนุษย์ปุถุชนที่ผิดพลาดได้ อายะฮฺอัล-กุรอานที่ประทานลงมาในกรณีของสมรภูมิอุหุดจึงเป็นทั้งการตำหนิและการปลอบประโลมใจในคราเดียวกัน ที่สำคัญเหตุการณ์และความผิดพลาดทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้รับการอภัยโทษจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ไปแล้ว ดังปรากฏใน อายะฮฺที่ถูกกล่าวมาภายหลังแต่อยู่ในเรื่องเดียวกันว่า

وَلَقَدْ عَفَا عَنكُمْ وَاللَّهُ ذُو فَضْلٍ عَلَى الْمُؤْمِنِينَ

“และแน่แท้พระองค์ทรงอภัยแก่พวกท่านแล้ว และอัลลอฮฺทรงเป็นผู้มีความโปรดปรานต่อบรรดาผู้ศรัทธา”
(อาลิ อิมรอน : 152)

 

ประโยคนี้ถูกกล่าวภายหลังการสาธยายความผิดอันเป็นการตำหนิเศาะหาบะฮฺบางส่วนในสมรภูมิอุหุด และยืนยันว่าความผิดที่เกิดขึ้นได้รับการอภัย เพราะอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงมีความโปรดปรานต่อบรรดาผู้ศรัทธา แน่นอนผู้ศรัทธาย่อมผิดพลาดได้ และความผิดในสถานการณ์การสู้รบเช่นนั้นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาไร้ศรัทธาหรือกลายเป็นพวกปฏิเสธ เพราะอายะฮฺที่ 149-150 จากสูเราะฮฺนี้ระบุว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِن تُطِيعُوا الَّذِينَ كَفَرُوا يَرُدُّوكُمْ عَلَىٰ أَعْقَابِكُمْ فَتَنقَلِبُوا خَاسِرِينَ

بَلِ اللَّهُ مَوْلَاكُمْ وَهُوَ خَيْرُ النَّاصِرِينَ

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธา หากสูเจ้าเชื่อฟังบรรดาผู้ปฏิเสธ พวกเขาก็จะนำสูเจ้าหวนกลับบนส้นเท้าของสูเจ้า แล้วสูเจ้าก็จะกลับกลายเป็นบรรดาผู้ขาดทุน * ทว่าอัลลอฮฺ คือผู้ช่วยเหลือสูเจ้า และพระองค์คือผู้ที่ดีที่สุดของบรรดาผู้ช่วยเหลือทั้งหลาย”

 

ทั้งสองอายะฮฺถูกกล่าวหลังอายะฮฺที่ 144 ซึ่งอัต-ตีญานียฺเรียกว่า “อายะฮฺอัล-อิงกิลาบ” นัยของ 2 อายะฮฺนี้ก็กล่าวถึงการหวนกลับบนส้นเท้า (ตกศาสนา) เช่นกันแต่มีเงื่อนไขผูกพันอยู่กับการเชื่อฟังบรรดาผู้ปฏิเสธ มีท้องเรื่องและเหตุการณ์เดียวกัน ดังที่อิมามอะลี (ร.ฎ.) กล่าวว่า : อายะฮฺ (ที่ 149) นี้ประทานลงมาในเรื่องกรณีคำพูดของพวกกลับกลอกที่กล่าวกับบรรดาผู้ศรัทธาขณะได้รับความปราชัยว่า : พวกท่านจงหวนกลับสู่พี่น้องของพวกท่าน และจงเข้าสู่ศาสนาของพวกเขาเถิด” (อัต-ตัฟสีรฺ อัล-มุนีรฺ ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุหัยลียฺ ภาคที่ 4 หน้า 119)

 

กระนั้นบรรดาเศาะหาบะฮฺก็ไม่ได้เชื่อฟังและทำตามคำกล่าวของพวกกลับกลอก บรรดาเศาะหาบะฮฺยังคงเป็นผู้ศรัทธาดังที่ต้นอายะฮฺเรียกขานว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธา” หากบรรดาเศาะหาบะฮฺถูกตัดสินไปแล้วว่าตกศาสนาและเป็นผู้ปฏิเสธด้วยอายะฮฺที่ 144 อย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้าง อายะฮฺที่ 149 จะโต้ตอบ (คิฏอบ) กับผู้ใดเล่า! หากเศาะหาบะฮฺเป็นผู้ปฏิเสธไปแล้ว อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะเรียกขานพวกเขาว่า “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธา” ได้อย่างไร?

 

ในอายะฮฺที่ 155 สูเราะฮฺอาลิอิมรอน ซึ่งตำหนิเศาะหาบะฮฺที่ร่วมสมรภูมิอุหุดเกือบทั้งหมดยกเว้นเศาะหาบะฮฺจำนวน 12 ท่าน ที่ตั้งมั่นและสู้รบเคียงข้างท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ระบุว่า

وَلَقَدْعَفَا اللهُ عَنْهُمْ , إنَّ اللهَ غَفُوْ رٌحَلِيْمٌ

“และแน่แท้อัลลอฮฺได้ทรงอภัยโทษแก่พวกเขาแล้ว แท้จริง อัลลอฮฺทรงอภัยยิ่งอีกทั้งทรงสุขุมคัมภีรภาพยิ่ง”

 

เมื่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประกาศนิรโทษกรรมแก่เหล่าเศาะหาบะฮฺที่กระทำผิดพลาดในสมรภูมิอุหุดแล้วซึ่งพระองค์ทรงดำรัสถึงการอภัยโทษถึง 2 ครั้ง ในเรื่องนี้ เหตุไฉนอัต-ตีญานียฺจึงติดใจอยู่อีกเล่า! และถ้าหากเหล่าเศาะหาบะฮฺถูกตัดสินว่าตกศาสนาไปแล้วนับแต่ครั้งสมรภูมิอุหุดหรือในอนาคตเบื้องหน้าภายหลังการเสียชีวิตของท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทั้ง 2 อายะฮฺที่ระบุการให้อภัยโทษก็ย่อมเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับข้อตัดสินของอัต-ตีญานียฺอย่างไม่มีทางเลี่ยง

 

และประโยคสุดท้ายของอายะฮฺที่ 144 สูเราะฮฺอาลิ อิมรอน ( وَسَيَجْزِي اللَّهُ الشَّاكِرِينَ ) “และอัลลอฮฺจะทรงตอบแทนแก่บรรดาผู้รู้คุณ” หากบรรดาผู้รู้คุณหมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺที่ต่อสู้เคียงข้างท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ได้ถอยหนีก็หมายถึงท่านอบูบักร (ร.ฎ.) และท่านอุมัร (ร.ฎ.) ด้วยตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺอีกหลายท่านรวมถึงผู้ที่พลีชีพในสมรภูมิอุหุด แต่ถ้าหมายถึงผู้รู้คุณซึ่งมั่นคงในศาสนาภายหลังการสิ้นชีวิตของท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และต่อสู้กับเหล่าผู้ตกศาสนา ก็หมายถึงท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) และเหล่าเศาะหาบะฮฺที่ร่วมทำศึกปราบปรามเหล่าผู้ตกศาสนาอย่างแน่นอน เพราะมีรายงานระบุว่าท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) กล่าวถึงท้ายอายะฮฺที่ 144 นี้ที่มีใจความว่า : และอัลลอฮฺจะทรงตอบแทนแก่บรรดาผู้รู้คุณ” หมายถึง “บรรดาผู้ที่มีความมั่นคงบนศาสนาของพวกเขาคือ อบูบักรฺและพวกของเขา” (ตัฟสีรฺอัฏ-เฏาะบะรียฺ 3/455) และท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) กล่าวว่า “อบูบักรฺเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ (อะมีน) ของเหล่าผู้รู้คุณ และเป็นผู้ซื่อสัตย์ของเหล่าผู้เป็นที่รักของอัลลอฮฺ และเป็นผู้ที่รู้คุณที่สุดของพวกเขาและเป็นที่รักยังอัลลอฮฺมากที่สุดในหมู่พวกเขา” (อ้างแล้ว 3/455 , อัด-ดุรุลมันษูร ฟิตตัฟสีรฺ อัล-มะอฺษูรฺ ; อัส-สุยูฏียฺ เล่มที่ 2 ภาคที่ 4 หน้า 338)

 

อัต-ตีญานียฺอ้างอายะฮฺที่ 13 สูเราะฮฺสะบะอฺที่ว่า وَقَلِيلٌ مِّنْ عِبَادِيَ الشَّكُورُ “และน้อยจากปวงบ่าวของข้าที่เป็นผู้รู้คุณ” เพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺที่รู้คุณซึ่งมั่นคงในศรัทธาและไม่เปลี่ยนแปลงนั้นมีจำนวนน้อย (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 114) โดยอัต-ตีญานียฺมุ่งหมายถึงเศาะหาบะฮฺจำนวนราว 10 คนเท่านนั้น แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ทั้งฝ่ายสุนนะฮฺและชีอะฮฺเห็นตรงกันคือ เมื่อท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้สิ้นชีวิตมีชาวอาหรับในคาบสมุทรอาหรับ (นอกจากพลเมืองมักกะฮฺ , มะดีนะฮฺและอัฏ-ฏออิฟ) ได้ตกศาสนาเป็นจำนวนมาก แม้พวกอัล-อะอฺรอบ (อาหรับเร่ร่อน) ที่อยู่รายรอบนครมะดีนะฮฺก็ตกศาสนาและหมายจะเข้าโจมตีนครมะดีนะฮฺ ท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) จึงมีคำสั่งให้เศาะหาบะฮฺคนสำคัญมีกองทหารประจำการเพื่อรักษานครมะดีนะฮฺ เช่น ท่านอะลี (ร.ฎ.) ท่านอัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.) , ท่านฏอลหะฮฺ (ร.ฎ.) , ท่านสะอฺด์ (ร.ฎ.) , ท่านอับดุรเราะหฺมาน อิบนุ เอาวฺฟ์ (ร.ฎ.) และท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอูด (ร.ฎ.) เป็นต้น (อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ ; อิบนุกะษีรฺ เล่มที่ 4 ภาคที่ 7 หน้า 50)

 

พวกตระกูลบะนูหะนีฟะฮฺและผู้คนเป็นอันมากก็เข้าเป็นพวกกับมุสัยลิมะฮฺ อัล-กัซซาบ ที่แคว้นอัล-ยะมามะฮฺ พวกตระกูลอะสัดและฏอยยิอฺก็เข้าเป็นพวกกับฏุลัยหะฮฺ อัล-อะสะดียฺ รวมถึงพวกตระกูลเฆาะเฏาะฟาน และพวกกินดะฮฺก็ตกศาสนา พวกมัซหิจญ์และดินแดนถัดจากนั้นก็ตกศาสนา พวกเราะบีอะฮฺพร้อมกับอัล-มะอฺรูร อิบนุ อัน-นุอฺมาน อิบนิ อัล-มุนซิรฺ และเผ่าสุลัยมฺตลอดจนบะนูตะมีมก็ตกศาสนา (อ้างแล้ว หน้า 51)

 

ฝ่ายทหารของเคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ (ร.ฎ.) นั้นมีจำนวนน้อยกว่าบรรดาผู้ที่ตกศาสนาตลอดจนพวกที่ปฏิเสธการจ่ายซะกาต ดังนั้น บรรดาเศาะหาบะฮฺผู้รู้คุณซึ่งมั่นคงในศาสนาและทำการสู้รบกับกลุ่มที่ตกศาสนาจึงไม่ใช่เศาะหาบะฮฺจำนวนราว 10 กว่าคนนั้นอย่างแน่นอน หากแต่หมายถึงเหล่าเศาะหาบะฮฺที่มีท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) เป็นผู้นำในการต่อสู้กับพวกที่ตกศาสนาโดยบรรดาเศาะหาบะฮฺที่รู้คุณเหล่านี้มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับบรรดาผู้ที่ตกศาสนา อายะฮฺที่ 13 สูเราะฮฺสะบะฮฺจึงหมายถึงท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) และเหล่าเศาะหาบะฮฺที่มั่นคงในศาสนาซึ่งมีจำนวนน้อย มิใช่อย่างที่อัต-ตีญานียฺพยายามกล่าวอ้างแต่อย่างใด

 

ท่านอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ (ร.ฮ.) ท่านเกาะตาดะฮฺ (ร.ฮ.) และนักวิชาการของ     อะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺกล่าวถึงอายะฮฺที่ว่า :

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا مَن يَرْتَدَّ مِنكُمْ عَن دِينِهِ فَسَوْفَ يَأْتِي اللَّهُ بِقَوْمٍ يُحِبُّهُمْ وَيُحِبُّونَهُ…الآية

“โอ้ บรรดาศรัทธาชน ผู้ใดจากพวกท่านหวนกลับจากศาสนาของตน (ตกศาสนา) พระองค์อัลลอฮฺจะทรงนำชนกลุ่มหนึ่งมา อันเป็กลุ่มชนที่พระองค์ทรงรักพวกเขาและพวกเขาก็รักพระองค์…”
(อัล-มาอิดะฮฺ : 54)

 

กลุ่มชนที่ว่านี้หมายถึงท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) และบรรดาสหายของท่านในกรณีการสู่รบกับบรรดาผู้ตกศาสนาและพวกที่ปฏิเสธการจ่ายซะกาต (อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ เล่มที่ 4 ภาคที่ 7 หน้า 51) และอิมามอัฏ-เฏาะบะรียฺได้อ้างสายรายงานจากท่านอะลี (ร.ฎ.) ว่า อายะฮฺที่ 54 สูเราะฮฺอัล-มาอิดะฮฺ หมายถึงอบูบักรฺและบรรดาสหายของเขา (ตัฟสีรฺอัฏ-เฏาะบะรียฺ 4/623 – 624) บรรดาชนเผ่าอาหรับที่ตกศาสนาเมื่อท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เสียชีวิตนั้นเป็นเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์ และการสู้รบกับพวกตกศาสนาของท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) และเหล่าเศาะหาบะฮฺซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าก็เป็นเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์ที่ตำราของทั้งสองฝ่ายระบุเอาไว้ หากท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) และเหล่าเศาะหาบะฮฺตกศาสนาอย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้างแล้ว ชนกลุ่มใดเล่าที่สู้รบกับพวกตกศาสนาและปฏิเสธการจ่ายซะกาต หรือว่าพวกตกศาสนาสู้รบกับพวกตกศาสนาด้วยกันเองกระนั้นหรือ

 

อัต-ตีญานียฺยืนกรานในทฤษฎีของตนว่า “และเป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายอายะฮฺอันทรงเกียรติ (อายะฮฺอัล-อิงกิลาบ) ด้วยกรณีของฏุลัยหะฮฺ , สะญาหฺ และอัล-อัสวัด อัล-อันสียฺ โดยถือว่านั้นเป็นไปเพื่อรักษาเกียรติของเหล่าเศาะหาบะฮฺ คนเหล่านั้น (หมายถึงฏุลัยหะฮฺและคนอื่นๆ) ได้หวนกลับและตกจากศาสนาอิสลามจริง และพวกเขาได้กล่าวอ้างการเป็นนบีในขณะที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยังมีชีวิตอยู่ และแน่แท้ท่านเราะสูลุลลลอฮฺได้สู้รบกับพวกเหล่านั้นและได้รับชัยชนะต่อพวกนั้น” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 114)

 

วิภาษ

อัต-ตีญานียฺเขียนข้อความดังกล่าวในทำนองปฏิเสธว่าอายะฮฺอัล-อิงกิลาบไม่ได้หมายถึงพวกที่ตกศาสนาในคาบสมุทรอาหรับ เพราะพวกนั้นตกศาสนาและถูกปราบปรามในสมัยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่อายะฮฺอัล-อิงกิลาบมุ่งหมายถึงบรรดา เศาะหาบะฮฺที่ตกศาสนาภายหลังการสิ้นชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยตรง และอัต-ตีญานียฺก็ตอกย้ำความมุ่งหมายของอายะฮฺนี้อีกครั้งในษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 115 ว่า “ที่สำคัญคือ อายะฮฺอัล-อิงกิลาบมุ่งหมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺโดยตรงซึ่งพวกเขาใช้ชีวิตอยู่พร้อมกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในนครมะดีนะฮฺอันไพโรจน์และอายะฮฺนี้มุ่งเป้าไปยังการหวนกลับโดยตรงภายหลังการเสียชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยไม่มีการแบ่งแยก”

 

นี่คือข้อความที่อัต-ตีญานียฺตอกย้ำถึงทฤษฎีของตนและปฏิเสธว่าไม่มีการตกศาสนาของชาวอาหรับในคาบสมุทรหลังการเสียชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพราะชาวอาหรับเหล่านั้นตกศาสนาในสมัยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และถูกท่านปราบปรามไปหมดสิ้นแล้ว

 

ทว่าสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ค้านกับข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ มุสัยละมะฮฺ อัล-กัซซาบ และอัล-อัสวัด อัล-อันสียฺ ปรากฏตัวในช่วงเวลาที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ใกล้จะเสียชีวิต มุสัยลิมะฮฺได้เดินทางมายังนครมะดีนะฮฺพร้อมกับตัวแทนของเผ่าบะนูหะนีฟะฮฺ ต่อมาบุคคลผู้นี้ได้ตกศาสนาและอ้างตนเป็นนบี ต่อมาในช่วงปลายปี ฮ.ศ. ที่ 11 และต้นปี ฮ.ศ. ที่ 12 ก็เกิดสมรภูมิอัล-ยะมามะฮฺซึ่งท่านเคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ได้ส่งท่านคอลิด อิบนุ อัล-วะลีด (ร.ฎ.) เป็นแม่ทัพไปยังแคว้นอัล-ยะมามะฮฺเพื่อปราบปรามเผ่าบะนูหะนีฟะฮฺและมุสัยลิมะฮฺ อัล-กัซซาบซึ่งถูกสังหารที่ตำบลอักริบาอฺ หรือหะดีเกาะตุลเมาวต์โดยวะหฺชียฺ อิบนุ หัรบ์ ได้ซัดหอกถูกมุสัยลิมะฮฺ และอบูดุญานะฮฺก็ใช้ดาบฟันซ้ำจนมุสัยลิมะฮฺถึงแก่ความตาย (อัล-บิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ เล่มที่ 4 ภาคที่ 7 หน้า 60…)

 

นั่นหมายความว่า มุสัยลิมะฮฺและพวกบะนูหะนีฟะฮฺในแคว้นยะมามะฮฺนถูกปราบปรามโดยกองทัพของท่านเคาะลีฟะฮฺ อบูบักรฺ (ร.ฎ.) ไม่ใช่ถูกท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) รบพุ่งและเอาชนะอย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้าง

 

อัล-อัสวัด อัล-อันสียฺจอมโกหกแห่งนครศอนอาอฺในเยเมน บุคคลผู้นั้นปรากฏตัวภายหลังการประกอบพิธีหัจญ์ อัล-วะดาอฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ต่อมาในเดือนเราะบีอุลเอาวัล ปี ฮ.ศ. ที่ 11 กล่าวคือภายหลังการประกาศตนเป็นนบีและปกครองเยเมนของอัล-อัสวัด อัล-อันสียฺได้ราว 3 – 4 เดือน ดาชะวัยฮฺ อัล-ฟาริสียฺ , ฟัยรูซ อัด-ดัยละมียฺ และกอยส์ อิบนุ มักชูห์ อัล-มุรอดียฺได้ร่วมกันสังหารอัล-อัสวัด อัล-อันสียฺ โดยในคืนที่อัล-อัสวัดถูกสังหาร ท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้บอกถึงเหตุการณ์นั้นแก่เหล่าเศาะหาบะฮฺ และบรรดาเศาะหาบะฮฺที่แคว้นเยเมนก็มีหนังสือแจ้งมายังท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในวันที่ท่านได้เสียชีวิต (อ้างแล้ว 7/74)

 

นั่นแสดงว่า อัล-อัสวัด อัล-อันสียฺถูกสังหารด้วยบุคคลทั้งสามที่ออกชื่อไว้ก่อนท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะเสียชีวิตเพียงไม่กี่วัน ซึ่งท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ได้ส่งกองทัพออกไปปราบปรามบุคคลผู้นี้ และชาวเยเมนที่ตกศาสนาแต่อย่างใด

 

ส่วนฏุลัยหะฮฺ อิบนุ คุวัยลิด อัล-อะสะดียฺ บุคคลผู้นี้ปรากฏตัวและกล่าวอ้างการเป็นนบีภายหลังอัล-อัสวัด อัล-อันสียฺ และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้รับแจ้งข่าวของฏุลัยหะฮฺก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต เมื่อท่านเสียชีวิต เผ่าบะนูอะสัด , ฏอยยิอฺ และเฆาะเฏาะฟานก็ตกศาสนา และเข้าร่วมกับฏุลัยหะฮฺ ต่อมาชนกลุ่มนี้ก็ส่งตัวแทนมายังนครมะดีนะฮฺเพื่อแจ้งว่าพวกตนจะไม่จ่ายซะกาตให้แก่เคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ซึ่งท่านได้บัญชาให้ท่านคอลิด อิบนุ อัล-วะลีด (ร.ฎ.) นำทัพเพื่อไปปราบปรามกลุ่มของฏุลัยหะฮฺ (อ้างแล้ว 7/53) ในปี ฮ.ศ. ที่ 11 จนแตกพ่าย ฝ่ายฏุลัยหะฮฺได้หลบหนีไปยังแคว้นชามและอาศัยอยู่กับบะนูกัลบ์ที่นั่น ต่อมาฏุลัยหะฮฺทราบข่าวว่าพวกตระกูลอะสัด . เฆาะเฏาะฟาน และอามิรฺ เข้ารับอิสลามทั้งหมดแล้ว ตนจึงเข้ารับอิสลาม

 

ดังนั้นกรณีการปราบปรามฏุลัยหะฮฺกับพวกที่ตกศาสนาจึงเกิดขึ้นในสมัยเคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ (ร.ฎ.) มิใช่ถูกปราบปรามในสมัยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้างในข้อเขียนของตน

 

กรณีของสะญาหฺ บินตุ อัล-หาริษ จากเผ่าตัฆลิบในแคว้นอัล-ญะซีเราะฮฺก็อ้างว่าตนเป็นนบีภายหลังการเสียชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ต่อมาสะญาหฺได้นำทหารจากเผ่าของนางและพวกบะนูตะมีมมุ่งหน้าสู่แคว้นอัล-ยะมามะฮฺและแต่งงานกับมุสัยลิมะฮฺ อัล-กัซซาบ ฝ่ายสะญาหฺอยู่กับมุสัยลิมะฮฺได้ราว 3 วันก็ทราบว่าทัพของคอลิด อิบนุ อัล-วะลีด (ร.ฎ.) กำลังเข้าใกล้แคว้นอัล-ยะมามะฮฺ นางจึงกลับไปยังชนเผ่าตัฆลิบและอยู่ที่นั่นจนถึงสมัยของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ในปีอัล-ญะมาอะฮฺ ซึ่งสะญาหฺกับชนเผ่าตัฆลิบก็เข้ารับอิสลาม (อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ เล่มที่ 4 ภาคที่ 7 / 57 – 58)

 

กรณีของสะญาหฺและชนเผ่าตัฆลิบไม่ได้ถูกท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ปราบปรามอย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้าง และพวกบะนูตะมีมนั้นไม่ได้ตกศาสนาทั้งหมด และพวกที่ตกศาสนาก็ถูกปราบปรามโดยท่านเคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ส่งกองทัพไปยังพวกนั้น มิใช่ถูกปราบปรามโดยท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพราะพวกบะนูตะมีมตกศาสนาภายหลังการสิ้นชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มิใช่ตกศาสนาก่อนหน้านั้นอย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้าง

 

ความจริงทางประวัติศาสตร์ได้ชี้ชัดว่า เคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ (ร.ฎ.) และเหล่าเศาะหาบะฮฺของท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ได้ตกศาสนา หากแต่พวกท่านคือผู้ที่สู้รบกับชาวอาหรับในคาบสมุทรที่ตกศาสนาและปราบปรามพวกนั้น บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ภายใต้การนำของเคาะลีฟะฮฺอบู้บักรฺ (ร.ฎ.) คือบรรดาผู้รู้คุณที่มั่นคงในศรัทธาซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะทรงตอบแทนผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่แก่พวกเขาตามที่พระองค์สัญญาไว้

 

และความจริงทางประวัติศาสตร์ก็ได้หักล้างข้อเขียนที่บิดเบือนของอัต-ตีญานียฺและคำกล่าวอ้างที่คลาดเคลื่อนของอัต-ตีญานียฺที่ว่า บรรดากลุ่มชนที่ตกศาสนาและกล่าวอ้างการเป็นนบี เช่น ฏุลัยหะฮฺ อัล-อะสะดียฺ , สะญาหฺ และอัล-อัสวัด อัล-อันสียฺ ถูกท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ปราบปรามและได้รับชัยชนะเหนือพวกเขา ตลอดจนข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺที่ว่า อายะฮฺอัล-อิงกิลาบไม่อาจตีความหรืออธิบายว่าเป็นกลุ่มชนที่ตกศาสนาดังกล่าว

 

อัต-ตีญานียฺพลาดในกรณีที่อ้างถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มาสนับสนุนทฤษฎีของตน เพราะอย่างไรเสีย หากบรรดาอาหรับที่ตกศาสนาถูกนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทำสงครามปราบปรามและได้รับชัยชนะเหนือพวกนั้นในช่วงที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ตามที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้างในข้อเขียนของตน กองทัพของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ย่อมหมายถึงเหล่าเศาะหาบะฮฺของท่านอยู่ดี และเมื่อเหล่าเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เป็นผู้ที่สู้รบจนได้รับชัยชนะเหนือพวกตกศาสนา แล้วเหตุใดพวกท่านจะกลายเป็นผู้ตกศาสนาภายหลังการสิ้นชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไปได้ และจะเป็นไปได้อย่างไร หากบรรดาเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ได้ตกศาสนาภายหลังการสิ้นชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยตรง

 

ในขณะเดียวกันก็มีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันว่ามีชาวอาหรับในหลายแว่นแคว้นได้ตกศาสนา ผู้ใดเล่าหรือกลุ่มชนใดเล่าที่สู้รบกับเหล่าผู้ตกศาสนาในคาบสมุทรอาหรับ เศาะหาบะฮฺจำนวน 10 คนนั้นกระนั้นหรือ! เฉพาะพวกตระกูลบะนีหะนีฟะฮฺซึ่งเป็นไพร่พลของมุสัยลิมะฮฺ อัล-กัซซานก็มีจำนวนราว 40,000 คน (อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮิ เล่มที่ 4 ภาค 7 หน้า 60) นี่ยังไม่นับรวมชาวอาหรับเผ่าอื่นๆ ที่ตกศาสนาและมีจำนวนมากมาย ก็ขอถามอัต-ตีญานียฺว่า ใครหรือกลุ่มชนใดที่ปราบปรามและสู้รบกับชนผู้ตกศาสนาเหล่านั้นโดยเฉพาะในสมรภูมิอัล-ยะมามะฮฺ! ซึ่งเกิดขึ้นหลังการเสียชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

 

อัต-ตีญานียฺอาจจะเขียนตบตาผู้อ่านในกรณีของฏุลัยหะฮฺ , สะญาหฺ และอัล-อัสวัด อัล-อันสียฺโดยอ้างว่าชนกลุ่มนั้นถูกปราบปรามโดยท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่อัต-ตีญานียฺจะตอบอย่างไรในกรณีของมุสัยลิมะฮฺ อัล-กัซซาบและสมรภูมิอัล-ยามามะฮฺซึ่งเป็นเรื่องราวการตกศาสนาของพวกบะนูหะนีฟะฮฺทีเกิดขึ้นหลังการเสียชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แน่นอน การที่อัต-ตีญานียฺละไม่กล่าวชื่อของมุสัยลิมะฮฺ อัล-กัซซาบเอาไว้ในข้อเขียนของตนย่อมส่อให้เห็นว่าคำกล่าวอ้างของตนได้หมกเม็ดข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เอาไว้ หากกล่าวถึงมุสัยลิมะฮฺ อัล-กัซซาบด้วยก็จะถูกจับผิดเอาได้ และทำให้ข้อเขียนของตนไร้ความน่าเชื่อถือไปในทันที!

 

เมื่อความจริงได้มา ความเท็จย่อมมลายสูญ แท้จริงความเท็จเป็นสิ่งที่มลายสูญเสมอ

วัลลอฮุอะอฺลัม