ฟัรฎูของการละหมาดวันศุกร์ และเงื่อนไขของคุตบะฮฺวันศุกร์

 

ฟัรฎูของการละหมาดวันศุกร์
การทำละหมาดวันศุกร์จะมีองค์ประกอบหลัก (ฟัรฎู) ที่ขาดไม่ได้ 2 ประการ คือ
1) การแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) 2 คุฏบะฮฺก่อนการละหมาดวันศุกร์
2) การละหมาดวันศุกร์ 2 รอกอะฮฺ

 

เงื่อนไขของการแสดงธรรมวันศุกร์ (คุฏบะฮฺ อัล-ญุมอะฮฺ)

บรรดาตัวบท (นุศูศฺ) ของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ที่กำหนดไว้ในบรรดาตำราของท่านตลอดจนบรรดาแนวทาง (ฏุรุ๊ก) ของเหล่านักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺเห็นพ้องตรงกันว่า แท้จริงการละหมาดวันศุกร์จะใช้ไม่ได้จนกว่าจะมีการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) 2 คุฏบะฮฺก่อนหน้าการละหมาดวันศุกร์นั้นเสียก่อน ทั้งนี้นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺได้แยกกรณีของการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) วันศุกร์กับการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ในวันอีดทั้งสองโดยการแสดงธรรมวันศุกร์จะทำก่อนหน้าการละหมาดวันศุกร์ และการแสดงธรรมวันอีดจะกระทำหลังการละหมาดอีดทั้งสองว่ามีเหตุผลดังนี้

– เพราะการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) วันศุกร์ถือเป็นเงื่อนไข (ชัรฺฏ์) สำหรับการเศาะห์ละหมาด และเรื่องใดที่เป็นเงื่อนไข (ชัรฺฏ์) จะต้องมีมาก่อนการกระทำเรื่องนั้นๆ

– เพราะการละหมาดวันศุกร์เป็นสิ่งจำเป็น (ฟัรฎู) ดังนั้นจึงมีการละหมาดวันศุกร์ภายหลังการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) เพื่อให้ผู้ที่ล่าช้าสามารถมาทันการละหมาดวันศุกร์

– เพื่อจำแนกแยกแยะระหว่างการละหมาดที่เป็นฟัรฎู (คือการละหมาดวันศุกร์) กับการละหมาดที่เป็นสุนนะฮฺ (คือการละหมาดอีดทั้งสอง)

(อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 382-283) 

 

สำหรับบรรดาเงื่อนไขของการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ในวันศุกร์โดยละเอียดมีดังต่อไปนี้

1) การแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) วันศุกร์ต้องมี 2 คุฏบะฮฺ และการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) วันศุกร์นั้นต้องถูกกระทำก่อนหน้าการละหมาดวันศุกร์ การละหมาดวันศุกร์จึงจะใช้ได้ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และตามนี้อิมามมาลิก, อิมามอะหฺมัด และปวงปราชญ์กล่าวเอาไว้โดยสรุป ส่วนอิมาม อบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : การแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) นั้นเป็นเงื่อนไข แต่การแสดงธรรมเพียงหนึ่งคุฏบะฮฺย่อมถือว่าใช้ได้ และอิบนุ อัล-มุนซิร เล่าจากอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ ว่าการละหมาดวันศุกร์ใช้ได้โดยไม่มีการคุฏบะฮฺ ซึ่งตามนี้ ดาวูดและอับดุลมะลิกสานุศิษย์คนหนึ่งของอิมามมาลิกกล่าวเอาไว้ และ อัล-กอฎียฺ อิยาฎกล่าวว่า : มีรายงานจากอิมามมาลิก (ร.ฮ.) เช่นกัน (อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 383)

 

หลักฐานสำหรับเงื่อนไขข้อนี้คือ อัล-หะดีษที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า : صَلُّوْا كَمَا رَأَيْتُمُوْنِيْ أُصَلِّيْ “พวกท่านจงละหมาดเหมือนอย่างที่พวกท่านได้เห็นฉันปฏิบัติละหมาด”  ซึ่งท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่เคยละหมาดวันศุกร์นอกเสียจากด้วยการแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺ และมีรายงานระบุอย่างถูกต้องว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ทำการละหมาดวันศุกร์ภายหลังการแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺแล้ว (อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 383 ) 

 

2) ผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ/คอเต็บ) จะต้องยืนในการแสดงธรรมวันศุกร์ทั้ง 2 คุฏบะฮฺ หากผู้แสดงธรรมมีความสามารถและจะต้องคั่นระหว่างการแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺนั้นด้วยการลงนั่ง เนื่องจากอิมามมุสลิมบันทึกไว้ในเศาะหิหฺของท่านจากท่าน ญาบิร อิบนุ สะมุเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : أَنَّهُ صلى الله عليه وسلم كَانَ يَخْطُبُ خُطْبَتَيْنِ يَجْلِسُ بَيْنَهُمَا وَكَانَ يَخْطُبُ قَائِمًا “แท้จริงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺโดยท่านจะนั่งลงระหว่าง 2 คุฏบะฮฺนั้น และท่านจะแสดงธรรมในสภาพที่ยืน” 

 

และอิมาม อัล-บุคอรียฺ ตลอดจนอิมามมุสลิมได้บันทึกรายงานจาก อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ว่า : كَانَ النَّبِيُّ صلى الله عليه وسلم يَخْطُبُ قَائِمًا ، ثُمَّ يَقْعُدُ ، ثُمَّ يَقُوْمُ كَمَا تَفْعَلُوْنَ الآنَ “ปรากฏว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะแสดงธรรมในสภาพที่ยืน ต่อมาท่านก็จะนั่งลง ต่อมาท่านก็จะลุกขึ้นยืนเหมือนอย่างที่พวกท่านกระทำในขณะนี้” (อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ เล่มที่ 1 หน้า 205)

 

อิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และบรรดาสานุศิษย์ของท่านกล่าวว่า : ถูกถือเป็นเงื่อนไขสำหรับการใช้ได้ (เศาะหฺ) ของการแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺ ว่าต้องยืนใน 2 คุฏบะฮฺนั้นพร้อมกับการมีความสามารถ (ที่จะยืนได้) และการนั่งลงระหว่าง 2 คุฏบะฮฺนั้นพร้อมกับการมีความสามารถ (ที่จะนั่งลงได้) หากผู้แสดงธรรมไม่สามารถยืนได้ ก็ส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้ผู้แสดงธรรมนั้นตั้งผู้ทำหน้าที่แสดงธรรมแทน (อิสติคลาฟ)

 

ดังนั้นหากผู้แสดงธรรมทำการแสดงธรรมในสภาพที่นั่งหรือนอนตะแคงอันเนื่องจากไร้ความสามารถ (ที่จะยืนแสดงธรรมได้) ก็ถือว่าการแสดงธรรมนั้นใช้ได้โดยไม่มีข้อขัดแย้งเช่นเดียวกับการละหมาด (ในสภาพที่นั่งหรือนอนตะแคง) และถือว่าการปฏิบัติตาม (อิกติดาอฺ) ผู้แสดงธรรมในขณะนั้นใช้ได้ ไม่ว่าผู้แสดงธรรมจะบอกอย่างชัดเจนว่าตนไม่สามารถยืนได้หรือว่านิ่งเงียบ (ไม่บอก) ก็ตาม เพราะสิ่งที่ประจักษ์ชัดคือการนั่งของผู้แสดงธรรมบ่งบอกว่าเป็นเพราะไร้ความสามารถ

 

แต่ถ้าหากเป็นที่ปรากฏชัดว่าผู้แสดงธรรมเป็นผู้ที่สามารถยืนได้ ก็เหมือนกับกรณีที่ปรากฏชัดว่าผู้แสดงธรรมมีหะดัษ ซึ่งตามมัซฮับ อัช-ชาฟีอียฺ ถือว่าการละหมาดวันศุกร์ของผู้ที่มาร่วมละหมาดวันศุกร์นั้นใช้ได้ หากว่าจำนวนของผู้มาร่วมละหมาดครบจำนวน (40 คนขึ้นไป) โดยไม่นับรวมผู้แสดงธรรมนั้น แต่ถ้าจำนวนนั้นบกพร่องก็ถือว่าการละหมาดวันศุกร์นั้นใช้ไม่ได้โดยไม่มีการขัดแย้งในมัซฮับ และการละหมาดวันศุกร์ของผู้แสดงธรรมเองนั้นก็ใช้ไม่ได้ตามข้อสมมุติทั้งสองกรณีนั้น

 

ฉะนั้นหากปรากฏว่าบรรดาผู้มาร่วมละหมาดวันศุกร์รู้ว่าผู้แสดงธรรมมีความสามารถที่จะยืนแสดงธรรมได้ (แต่ไม่ยืน) การละหมาดวันศุกร์ของพวกเขาก็ถือว่าใช้ไม่ได้ และถ้าหากเป็นที่ปรากฏแก่บรรดาผู้มาร่วมละหมาดถึงความสามารถของผู้แสดงธรรม (ในการยืน) และผู้แสดงธรรมก็บอกแก่พวกเขาว่าตนไม่สามารถยืนได้ ก็ให้พวกเขาช่วยพยุงผู้แสดงธรรมให้ยืนขึ้นในการแสดงธรรมก็ถือว่าการละหมาดของพวกเขาใช้ได้

 

แต่ถ้าหากว่าผู้มาร่วมละหมาดวันศุกร์บางส่วนรู้ถึงสิ่งนั้นในขณะที่บางส่วนไม่รู้ถึงความสามารถในการยืนของผู้แสดงธรรม การละหมาดวันศุกร์ของผู้ที่รู้ถึงสิ่งนั้นย่อมใช้ไม่ได้ ส่วนคนที่เหลือ (ซึ่งไม่รู้) ถือว่าการละหมาดของพวกเขาใช้ได้ ถ้าหากว่าจำนวนของอะฮฺลุลญุมอะฮฺครบถ้วนสมบูรณ์ด้วยจำนวนของพวกเขา (คือจำนวนของผู้ที่ไม่รู้มีจำนวน 40 คนขึ้นไป) แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็ถือว่าใช้ไม่ได้เช่นกัน

 

อิมามอัร-รอฟิอียฺ (ร.ฮ.) ได้เล่าประเด็นหนึ่งไว้ว่า แท้จริงการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) นั้นใช้ได้ในสภาพที่ผู้แสดงธรรมนั่งทั้งๆ ที่เขาสามารถยืนได้ ประเด็นนี้ถือว่าแหวกแนว (ชาซฺ) อ่อน (เฎาะอีฟ) หรือเป็นโมฆะ (บาฏิล) (อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 383-384)

 

ส่วนการนั่งระหว่างการแสดงธรรม 2 คุฎบะฮฺ นั้นถือเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) โดยการเห็นพ้อง (อิตติฟาก) และจำเป็นต้องมีการสงบนิ่งชั่วครู่ (ฏุมะอฺนีนะฮฺ) ในการนั่งลงนั้น ตามที่อิมาม อัล-หะเราะมัยนฺและนักวิชาการท่านอื่นๆ ระบุเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งการนั่งลงนี้เป็นการนั่งลงที่เบา (สั้น-ไม่นาน) มากๆ ขนาดเท่ากับการอ่านสูเราะฮฺ อัล-อิคลาศโดยประมาณ แต่ที่จำเป็น (วาญิบ) จากการนั่งนั้นคือขนาดของการมีความสงบนิ่งชั่วครู่ (ฏุมะอฺนีนะฮฺ) นี่คือสิ่งที่ถูกต้องและรู้กันซึ่งอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุเป็นตัวบท (นัศ) และชี้ขาดเอาไว้

 

แต่มีอยู่ประเด็นหนึ่ง (วัจญ์ฮุน) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺว่า การนั่งลง (ระหว่างการแสดงธรรม 2 คุฏบะฮฺ) มีเงื่อนไขว่าจะต้องมีขนาดของสูเราะฮฺ อัล-อิคลาศ ซึ่งอิมาม อัร-รอฟิอียฺ (ร.ฮ.) เล่าประเด็นนี้เอาไว้และกล่าวว่า : มีบางคนเล่าจากตัวบทของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺเอาไว้ซึ่งเป็นสิ่งที่อ่อน (เฎาะอีฟ) (อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 4/384)

 

ในกรณีที่ผู้แสดงธรรมทำการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ในสภาพที่นั่งอันเนื่องมาจากไร้ความสามารถ (ที่จะยืนได้) ก็ให้ผู้แสดงธรรมคั่นระหว่างสองคุฏบะฮฺนั้นด้วยการนิ่งเงียบ (สักตะฮฺ) ครู่หนึ่ง และไม่อนุญาตให้คั่นด้วยการนอนตะแคง ซึ่งสิ่งที่ปวงปราชญ์ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชี้ขาดเอาไว้ถือว่าการนิ่งเงียบชั่วครู่เป็นสิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) เพื่อให้มีการคั่นเกิดขึ้น ส่วนอัล-กอฎียฺ อบูอัฏ-ฏอยยิบกล่าวว่า การนิ่งเงียบนี้เป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริม (อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 4/384)

 

อนึ่งตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ถือว่าการยืนในการแสดงธรรมทั้งสองคุฏบะฮฺและการนั่งลงระหว่างสองคุฏบะฮฺเป็นสิ่งที่จำเป็น และการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) วันศุกร์จะใช้ไม่ได้นอกจากจะต้องมีเงื่อนไขทั้งสองประการนั้น ส่วนอิมามมาลิก, อิมามอบูหะนีฟะฮฺ และอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) กล่าวว่า การแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ในสภาพที่นั่งพร้อมกับมีความสามารถ (ที่จะยืนได้) ถือว่าใช้ได้ โดยถือว่าการยืนและการนั่งระหว่างสองคุฏบะฮฺเป็นสุนนะฮฺในทัศนะของอิมามทั้ง 3 ท่าน และตามนี้ปวงปราชญ์ (ญุมฮูร อัล-อุละมาอฺ) กล่าวเอาไว้

 

แม้กระทั่งอิมาม อัฏ-เฏาะหาวียฺ (ร.ฮ.) ก็กล่าวว่า : ไม่มีผู้ใดนอกจากอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ที่กล่าวว่าการนั่งระหว่าง 2 คุฏบะฮฺเป็นเงื่อนไข และอัล-กอฎียฺอิยาฏ กล่าวว่า : มีรายงานจากอิมามมาลิก (ร.ฮ.) ในริวายะฮฺหนึ่งว่าการนั่งระหว่างสองคุฏบะฮฺนั้นถือเป็นเงื่อนไขและการยืนก็เช่นกัน ส่วนหลักฐานของฝ่ายมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺนั้นคืออัล-หะดีษที่กล่าวถึงมาแล้วข้างต้น (อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 4/384)

 

3) ผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ/คอเต็บ) จะต้องมีความสะอาดจากหะดัษเล็กและหะดัษใหญ่ ตลอดจนมีความสะอาดจากนะญิสที่ไม่เป็นที่อนุโลมให้ทั้งในเสื้อผ้า ร่างกาย และสถานที่การแสดงธรรมของผู้แสดงธรรมและการที่ผู้แสดงธรรมจะต้องปกปิดอวัยวะพึงสงวน (เอาวฺเราะฮฺ) (อัล-ฟิกฮุล มันฮะญียฺ เล่มที่ 1 หน้า 205)

 

อนึ่ง เกี่ยวกับเงื่อนไขข้อนี้ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺมี 2 คำกล่าว (เกาวฺลานี่) คำกล่าวที่ถูกต้องในอัล-ญะดีดถือว่าสิ่งที่กล่าวมา (คือเรื่องความสะอาดและการปกปิดเอาวฺเราะฮฺ) เป็นเงื่อนไขทั้งหมด ส่วนคำกล่าวที่สองเป็นคำกล่าวใน อัล-เกาะดีม ถือว่าสิ่งดังกล่าวไม่เป็นเงื่อนไขแต่เป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) เท่านั้น

 

อย่างไรก็ตามปวงปราชญ์ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺรายงานสองคำกล่าวข้างต้นในกรณีการเป็นเงื่อนไขของความสะอาดจากการมีหะดัษ ส่วนอิมามอัล-บะเฆาะวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ทั้ง 2 คำกล่าวเป็นกรณีของความสะอาดจากการมีหะดัษเล็ก ดังนั้นหากผู้แสดงธรรมทำการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ในสภาพที่มีญุนุบ (หะดัษใหญ่) ก็ถือว่าการแสดงธรรมนั้นใช้ไม่ได้เป็นคำกล่าวเดียว เพราะการอ่าน (อายะฮฺอัล-กุรอาน) ในการแสดงธรรมเป็นสิ่งจำเป็น และการอ่านของผู้มีญุนุบนั้นไม่ถูกคิด แต่อิมามอัล-มุตะวัลลียฺ (ร.ฮ.) และอิมาม อัร-รอฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุไว้อย่างชัดเจนในตำรา อัล-มุหัรฺร็อรฺ ว่า คำกล่าวทั้งสองข้างต้นใช้ทั้งในกรณีของผู้ที่มีหะดัษเล็กและผู้มีญุนุบ (หะดัษใหญ่) ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามที่อิมาม อัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุเอาไว้ (อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 385) 

 

ชัยคฺ อบูหามิดในตำรา อัต-ตะอฺลีก และเจ้าของตำรา อัล-หาวียฺตลอดจนนักวิชาการท่านอื่นๆ จากนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺได้ชี้ขาดว่า หากปรากฏว่าอิมามนำละหมาดวันศุกร์มีญุนุบและบรรดามะอฺมูมก็ไม่รู้ว่าอิมามมีญุนุบ ต่อมาเพิ่งจะรู้ภายหลังการละหมาดวันศุกร์เสร็จสิ้นแล้ว ก็ถือว่าการละหมาดวันศุกร์ของบรรดามะอฺมูมนั้นใช้ได้ ทั้งนี้ ชัยคฺ อบูหามิดและบรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺได้ถ่ายทอดคำชี้ขาดจากตัวบทของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ในตำรา อัล-อุมม์ (อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 385)

 

ส่วนกรณีของการปกปิดเอาวฺเราะฮฺของผู้แสดงธรรมนั้นมี 2 คำกล่าวในมัซฮับที่รู้กัน คำกล่าวที่ถูกต้องใน อัล-ญะดีดถือเป็นเงื่อนไขในการเศาะหฺการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) อนึ่งท่านอบูยูสุฟ (ร.ฮ.) ถือว่าการมีความสะอาด (เฏาะฮาเราะฮฺ) ของผู้แสดงธรรมเป็นเงื่อนไข ส่วนอิมามมาลิก, อิมามอบูหะนีฟะฮฺ, อิมามอะหฺมัด และดาวูด (ร.ฮ.) กล่าวว่า การมีความสะอาดไม่ถือเป็นเงื่อนไขแต่อย่างใด (อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 385)

 

4) การแสดงธรรมทั้ง 2 คุฏบะฮฺในวันศุกร์นั้นต้องอยู่ในช่วงเวลาของละหมาดซุฮฺริ ดังนั้นหากผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ) ทำการแสดงธรรมทั้ง 2 คุฏบะฮฺ หรือบางส่วนจากคุฏบะฮฺทั้งสองก่อนเวลาตะวันคล้อย ต่อมาก็มีการละหมาดวันศุกร์ภายหลัง 2 คุฏบะฮฺนั้นการละหมาดวันศุกร์นั้นก็ย่อมใช้ไม่ได้โดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ซึ่งมีตัวบทของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุและบรรดานักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺก็เห็นพ้องตรงกันในเงื่อนไขข้อนี้ ส่วนอิมามมาลิก (ร.ฮ.) และอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) ถือว่าเป็นสิ่งที่อนุญาตให้ทำได้ (อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 383)

 

5) บุคคลจำนวน 40 คนที่เป็นอะฮฺลุลญุมอะฮฺต้องได้ยินบรรดาองค์ประกอบหลัก (อัรฺกาน) ของการแสดงธรรมทั้ง 2 คุฏบะฮฺนั้น (อัล-ฟิกฮุล มันฮะญียฺ เล่มที่ 1 หน้า 206) ดังนั้นหากจำนวนของบุคคลที่เป็นอะฮฺลุลญุมอะฮฺ (มีจำนวน 40 คนขึ้นไป) มากันพร้อมในขณะนั้น ต่อมาพวกเขาก็แยกย้ายกันออกไปจากมัสญิดก่อนการเริ่มการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ก็ไม่อนุญาตให้ผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ) เริ่มต้นการแสดงธรรมในขณะนั้นจนกว่าพวกเขาจะมารวมตัวกันครบตามจำนวน 40 คนโดยสมบูรณ์

 

และถ้าหากพวกเขาแยกย้ายกันออกไปในระหว่างที่มีการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) องค์ประกอบหลัก (รุกฺน์) ที่ถูกกระทำไปของการแสดงธรรมขณะที่พวกเขาไม่อยู่ ณ สถานที่ของการทำละหมาดวันศุกร์ก็ไม่ถูกนับโดยไม่มีข้อขัดแย้ง ต่อมาหากพวกเขา (อะฮฺลุลญุมอะฮฺ) ย้อนกลับมาก่อนที่จะมีการคั่นที่นานก็ให้ผู้ที่แสดงธรรมทำการแสดงธรรมนั้นต่อไป แต่ถ้าหากพวกเขาย้อนกลับมาภายหลังการคั่นที่นาน กรณีนี้มี 2 คำกล่าวที่รู้กันในบรรดาตำราของบรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชาวเมืองคุรอสานซึ่งเป็นประเด็นของความต่อเนื่อง (มุวาลาตฺ) ในการแสดงธรรมว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) หรือไม่?

 

คำกล่าวที่ถูกต้องที่สุด คือ ความต่อเนื่อง (มุวาลาตฺ) เป็นสิ่งจำเป็น กรณีนี้มีการคั่น (ขาดตอน-ไม่ต่อเนื่อง) เกิดขึ้นนานจึงถือว่าจำเป็นที่ผู้แสดงธรรมต้องเริ่มต้นทำการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ใหม่

 

ส่วนคำกล่าวที่สอง ถือว่าความต่อเนื่อง (มุวาลาตฺ) ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นหากถือตามคำกล่าวนี้ก็ให้ผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ) ทำการแสดงธรรมนั้นต่อไป ทั้งนี้ไม่มีข้อแบ่งแยกระหว่างการผ่านพ้นไปของความต่อเนื่องในการแสดงธรรมว่ามีเหตุเนื่องจากอุปสรรคหรือไม่ และถ้าหากคนกลุ่มแรกไม่ย้อนกลับมาและมีคนกลุ่มอื่นมาร่วมละหมาดวันศุกร์ก็จำเป็นที่ผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ) ต้องเริ่มการแสดงธรรมใหม่ทั้งสองคุฏบะฮฺนั้น ไม่ว่าการคั่นนั้นจะยาวหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺ (อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 375)

 

ส่วนกรณีที่จำนวนบุคคลที่เป็นอะฮฺลุลญุมอะฮฺแยกย้ายกันออกไปภายหลังเสร็จสิ้นจากการแสดงธรรมแล้วก็ให้พิจารณาว่า หากพวกเขาย้อนกลับมายังสถานที่ทำละหมาดวันศุกร์ก่อนที่จะมีการคั่น (ขาดตอน) ที่นาน ก็ให้อิมามนำละหมาดวันศุกร์ด้วยการแสดงธรรมดังกล่าว (ซึ่งเสร็จสิ้นแล้ว) โดยไม่มีข้อขัดแย้ง แต่ถ้าหากพวกเขาย้อนกลับมาภายหลังการคั่น (ขาดตอนระหว่างการเสร็จสิ้นคุฏบะฮฺกับการเริ่มตักบีเราะตุลอิหฺรอมของอิมาม) ที่นาน กรณีนี้มีความเห็นต่างกัน (คิลาฟ) ซึ่งตั้งอยู่บนประเด็นที่ว่า การมีความต่อเนื่อง (มุวาลาตฺ) ระหว่างการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) กับการละหมาดวันศุกร์นั้นเป็นเงื่อนไขหรือไม่ ? ซึ่งประเด็นนี้มี 2 คำกล่าวที่รู้กัน

 

คำกล่าวที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-เกาวฺลัยนฺ) เป็นคำกล่าวอัล-ญะดีดถือว่าเป็นเงื่อนไข หากถือตามคำกล่าวนี้ก็ไม่อนุญาตให้ทำการละหมาดวันศุกร์ด้วยการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ดังกล่าว คำกล่าวที่สอง ถือว่าไม่เป็นเงื่อนไข หากถือตามคำกล่าวที่สองก็ให้อิมาทำละหมาดวันศุกร์ด้วยการแสดงธรรมดังกล่าวได้ (อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 376) มีคำถามเกิดขึ้นในกรณีนี้ว่า จำเป็นที่จะต้องย้อนกลับไป (อิอาดะฮฺ) ทำการแสดงธรรม และการละหมาดวันศุกร์หลังจากนั้นอีกหรือไม่?

 

เรื่องนี้อิมาม อัล-มุซะนียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในอัล-มุคตะศ็อรฺว่า : อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : أَحْبَيْتُ أَنْ يَبْتَدِئَ الْخُطْبَةَ ثُمَّ يُصَلِّيَ الْجُمُعَةَ فَإِنْ لَمْ يَفْعَلْ صَلّى بِهِمُ الظُّهْرَ “ฉันชอบการที่ (อิมาม) จะเริ่มต้นคุฏบะฮฺ (ใหม่) ต่อจากนั้นเขาก็ละหมาดวันศุกร์ ฉะนั้นหากว่าเขาไม่กระทำ (อย่างที่ฉันชอบ) ก็ให้เขานำละหมาดซุฮฺริกับพวกเขา” นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺมีความเห็นต่างกันถึงความหมายของตัวบทที่อิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุนี้แบ่งออกเป็น 3 ประเด็น (เอาญุฮฺ) กล่าวคือ

 

ประเด็นที่หนึ่ง เป็นประเด็นที่ถูกต้องที่สุด ซึ่งอิบนุ สุร็อยญ์, อัล-กอฟฟ๊าล และนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺส่วนมากกล่าวเอาไว้ คือ จำเป็นที่จะต้องย้อนกลับไปแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ใหม่ ต่อจากนั้นอิมามก็นำพวกเขาละหมาดวันศุกร์ เนื่องจากอิมามสามารถกระทำสิ่งดังกล่าวนั้นได้ และคำกล่าวของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ในตัวบท (นัศฺ) นี้คือ (أوْجَبْتُ) “ฉันถือว่าจำเป็น” หรือตีความว่า “ฉันชอบ” หมายถึง “ฉันถือว่าจำเป็น” ส่วนคำที่กล่าวว่าให้อิมามนำละหมาดซุฮฺริพร้อมกับพวกเขานั้นตีความว่า เมื่อปรากฏว่าเวลานั้นคับขัน (เหลือน้อย)

 

ประเด็นที่สอง ประเด็นนี้อิมาม อบูอิสหาก อัล-มัรฺวะซียฺ (ร.ฮ.) กล่าวเอาไว้ คือ การย้อนกลับไปแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ใหม่นั้นไม่จำเป็นแต่ว่าถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) และจำเป็นที่จะต้องละหมาดวันศุกร์เพราะอิมามสามารถนำละหมาดวันศุกร์ได้ ส่วนการแสดงธรรมที่ว่าไม่จำเป็นนั้นเพราะไม่อาจวางใจได้ว่าพวกเขาจะแยกย้ายกันออกไปอีกเป็นครั้งที่สอง สิ่งดังกล่าวจึงกลายเป็นอุปสรรคในการทำให้การแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) นั้นตกไป

 

ประเด็นที่สาม อิมามอบูอะลี อัฏ-เฏาะบะรียฺ กล่าวไว้ในตำรา “อัล-อิฟศอหฺ” ว่า การย้อนกลับไปแสดงธรรมนั้นไม่จำเป็น และการละหมาดวันศุกร์นั้นก็ไม่จำเป็นเช่นกันแต่ทั้งสองนั้นถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้กระทำเพื่อเป็นการปฏิบัติตามนัยที่ปรากฏของตัวบทที่อิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุเอาไว้ (อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 375, 376)

 

สำหรับประเด็นที่สามนี้ อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) เห็นด้วยกับความเห็นของนักวิชาการที่ระบุว่า อ่อน (เฎาะอีฟ) ส่วนการให้เหตุผลในประเด็นที่สองนั้นก็ถือว่าอ่อน (เฎาะอีฟ) และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก (นาดิร) (อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 376)

 

ฉะนั้นหากว่ามีการย้อนกลับไปแสดงธรรมใหม่อีกครั้งและทำการละหมาดวันศุกร์ (หลังจากนั้น) ก็ไม่มีบาปเหนือผู้หนึ่งผู้ใด แต่ถ้าไม่กลับไปแสดงธรรมใหม่และเราถือว่าจำเป็นต้องกลับไปแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ใหม่ทุกคนก็มีบาปในกรณีนี้ แต่ถ้าหากเราไม่ถือว่าจำเป็นต้องย้อนกลับไปแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ใหม่ บรรดาผู้ที่แยกย้ายกันออกไปก็ย่อมมีบาปโดยอิมามและคนที่เหลือไม่มีบาปแต่อย่างใด (อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 376)

 

อนึ่ง ในการคั่นนาน (ขาดตอน) ที่เกิดขึ้นในประเด็นดังกล่าวให้พิจารณาตามจารีตประเพณี (อัล-อุรฺฟ์) สิ่งใดที่จารีตประเพณีนับว่านานก็ถือว่านาน หากไม่เป็นเช่นนั้นก็ถือว่าสั้น และไม่ว่าการคั่น (ขาดตอน) นั้นนานหรือสั้นและไม่ว่าผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ) นิ่งเงียบหรือยังคงอยู่ในการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ก็ให้ผู้แสดงธรรมนั้นย้อนกลับไปยังบรรดาองค์ประกอบหลัก (อัรกาน) ของการแสดงธรรมในช่วงที่พวกเขาไม่อยู่เมื่อพวกเขากลับมา

 

ส่วนกรณีเมื่ออิมามกล่าวตักบีเราะตุลอิหฺรอมละหมาดวันศุกร์พร้อมกับจำนวนคนที่เป็นเงื่อนไข (คือจำนวน 40 คนที่เป็นอะฮฺลุลญุมอะฮฺ) และพวกเขาก็กล่าวตักบีเราะตุลอิหฺรอม ต่อมาก็มีจำนวนคนอีก 40 คนได้มาและพวกเขากล่าวตักบีเราะตุลอิหฺรอมละหมาดวันศุกร์และคนกลุ่มแรกก็แยกย้ายกันออกไป ในกรณีนี้ไม่ส่งผลอันใดแต่ให้อิมามทำละหมาดวันศุกร์จนครบสมบูรณ์โดยมีเงื่อนไขว่ากลุ่มคนที่มาทีหลังนี้จะต้องได้ยินการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ด้วย ตามที่อิมาม อัล-เฆาะซาลียฺ (ร.ฮ.) และอิมาม อัล-หะเราะมัยน์ (ร.ฮ.) ระบุเอาไว้ (อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 376)

 

6) ต้องมีความต่อเนื่อง (มุวาลาตฺ) ระหว่างบรรดาองค์ประกอบหลัก (อัรฺกานฺ) ของการแสดงธรรม (คุฎบะฮฺ) และระหว่างคุฎบะฮฺแรกและคุฎบะฮฺที่สองและระหว่างคุฎบะฮฺที่สองกับการละหมาดวันศุกร์ (อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ เล่มที่ 1 หน้า 206)  ทั้งนี้ได้กล่าวถึงรายละเอียดถึงเงื่อนไขข้อนี้มาแล้ว และการคั่น (ขาดตอน) ที่ทำให้ขาดความต่อเนื่อง (มุวาลาตฺ) นั้นคือการคั่น (ขาดตอน) ที่นานตามการพิจารณาของจารีตประเพณี (อัล-อุรฺฟ์) เป็นเกณฑ์

 

7) บรรดาองค์ประกอบหลัก (อัรกานฺ) ของการแสดงธรรม (คุฎบะฮฺ) จะต้องถูกอ่านด้วยภาษาอาหรับ กล่าวคือ จำเป็นที่ผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ) จะต้องทำการแสดงธรรม (คุฎบะฮฺ) ด้วยภาษาอาหรับถึงแม้ว่าบรรดาผู้ที่มาร่วมละหมาดวันศุกร์จะไม่เข้าใจการแสดงธรรมทั้ง 2 คุฏบะฮฺนั้นก็ตาม (อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ เล่มที่ 1 หน้า 206) ดังนั้นหากไม่มีผู้ใด ณ สถานที่ละหมาดวันศุกร์รู้ภาษาอาหรับเลยและช่วงเวลาที่เป็นไปได้ในการเรียนรู้ภาษาอาหรับระหว่างช่วงเวลานั้นได้ผ่านพ้นมาแล้ว พวกเขาทั้งหมดก็ย่อมมีบาปและย่อมไม่มีการละหมาดวันศุกร์สำหรับพวกเขา ทว่าให้พวกเขาทำการละหมาดนั้นเป็นละหมาดซุฮฺริ 

 

ส่วนกรณีเมื่อช่วงเวลาที่เป็นไปได้ในการเรียนรู้ภาษาอาหรับระหว่างช่วงเวลานั้นยังไม่ผ่านพ้น ก็ให้ผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ) แปลความหมายบรรดาองค์ประกอบหลัก (อัรกาน) ของการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ด้วยภาษาที่ผู้แสดงธรรมมีความประสงค์ และการละหมาดวันศุกร์ก็ถือว่าใช้ได้ด้วยสิ่งดังกล่าว (อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ เล่มที่ 1 หน้า 206) กรณีของการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ด้วยภาษาอาหรับว่าเป็นเงื่อนไข (ชัรฏ์) หรือไม่? ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺมี 2 แนวทาง (เฏาะรีกอนี่)

 

แนวทางที่ถูกต้องที่สุด ซึ่งปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ ถือว่าเป็นเงื่อนไข เพราะเป็นการกล่าวสิ่งที่ถูกกำหนดเป็นฟัรฎู (ซิกร์ มัฟรูฎ) การใช้ภาษาอาหรับในการกล่าวสิ่งที่ถูกกำหนดเป็นฟัรฎูจึงถือเป็นเงื่อนไข เช่นเดียวกับการอ่าน อัต-ตะชะฮฺฮุด และการกล่าวตักบีเราะตุลอิหฺรอมในการละหมาด กอปรกับมีอัล-หะดีษที่ระบุว่า “พวกท่านจงละหมาดเหมือนอย่างที่พวกท่านเห็นฉันปฏิบัติละหมาด” และท่าน นบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็แสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ด้วยภาษาอาหรับ

 

ส่วนแนวทางที่สอง ในมัซฮับนั้นมี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) หนึ่งในสองประเด็น ถือเป็นเงื่อนไขเช่นเดียวกับแนวทางแรก ประเด็นที่สอง ถือเป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) และการใช้ภาษาอาหรับในการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ไม่ถือเป็นเงื่อนไขเพราะเป้าหมายของการแสดงธรรมคือการตักเตือนว่ากล่าว (อัล-วะอฺซ์) ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยทุกๆ ภาษา ดังนั้นหากเรากล่าวว่า การใช้ภาษาอาหรับในการแสดงธรรมเป็นเงื่อนไข แล้วปรากฏว่าไม่มีผู้ใดในหมู่ผู้ทำละหมาดวันศุกร์รู้ภาษาอาหรับเป็นอย่างดี ก็อนุญาตให้ผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ/คอเต็บ) ทำการแสดงธรรมด้วยภาษาของเขาตลอดช่วงเวลาของการเรียนรู้ภาษาอาหรับ ฉะนั้นหากช่วงเวลาของการเรียนรู้ผ่านพ้นไปและไม่มีคนหนึ่งคนใดของพวกเขาทำการเรียนรู้ภาษาอาหรับเลยพวกเขาก็เป็นผู้ฝ่าฝืนด้วยสิ่งดังกล่าว และพวกเขาก็ต้องละหมาดซุฮฺริ 4 รอกอะฮฺ และการทำวันศุกร์ของพวกเขาก็ใช้ไม่ได้สำหรับพวกเขา (อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 391)

 

คำฟัตวาของท่านชัยคฺ อะฏียะฮฺ ศ็อกร์ (ร.ฮ.) อดีตประธานคณะอัล-ฟัตวาของ อัล-อัซฮัร อัช-ชะรีฟ คำถาม : อะไรคือข้อชี้ขาดของชาวมุสลิมส่วนน้อยในประเทศที่พลเมืองไม่ได้พูด
ภาษาอาหรับ ถูกต้องหรือไม่ในการที่ชาวมุสลิมคนหนึ่งของพวกเขาทำการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ละหมาดวันศุกร์ด้วยภาษาท้องถิ่นซึ่งพวกเขาเข้าใจภาษานั้น หรือว่าจำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาอาหรับถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่เข้าใจการแสดงธรรมด้วยภาษาอาหรับก็ตาม?

 

คำตอบ : เงื่อนไขการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) วันศุกร์ด้วยภาษาอาหรับนั้น อิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า : อนุญาตด้วยภาษาอื่นที่นอกเหนือจากภาษาอาหรับ แม้กระทั่งว่าผู้ที่แสดงธรรมจะเป็นผู้ที่สามารถใช้ภาษาอาหรับได้ก็ตาม ไม่ว่าบรรดาผู้ฟังนั้นจะเป็นชาวอาหรับหรือมิใช่ชาวอาหรับก็ตาม

 

ส่วนอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) นั้นท่านถือว่า ภาษาอาหรับเป็นเงื่อนไข หากปรากฏว่าผู้แสดงธรรมมีความสามารถในการใช้ภาษาอาหรับ ดังนั้นหากผู้แสดงธรรมไม่สามารถนำภาษาอาหรับมาใช้ในการแสดงธรรม ก็ให้ผู้แสดงธรรมนำเอาภาษาอื่นมาใช้จากภาษาที่ผู้แสดงธรรมมีความสันทัดเป็นอย่างดี ไม่ว่ากลุ่มชนนั้นเป็นชาวอาหรับหรือมิใช่ชาวอาหรับก็ตาม แต่ทว่าอายะฮฺอัล-กุรอานซึ่งเป็นองค์ประกอบหลัก (รุกน์) หนึ่งจากบรรดาองค์ประกอบหลักของการแสดงธรรมทั้ง 2 คุฏบะฮฺนั้นไม่อนุญาตให้ผู้แสดงธรรมกล่าวอายะฮฺนั้นออกมาเป็นถ้อยคำด้วยภาษาอื่นที่มิใช่ภาษาอาหรับ ดังนั้นก็ให้ผู้แสดงธรรมนำเอาการกล่าวซิกร์มาแทนอายะฮฺนั้นตามต้องการด้วยภาษาอาหรับ หากผู้แสดงธรรมไร้ความสามารถก็ให้หยุดนิ่งเท่ากับการอ่านอายะฮฺอัล-กุรอานนั้น

 

และอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขว่าบรรดาองค์ประกอบหลัก (อัรกาน) ของการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ทั้ง 2 คุฏบะฮฺนั้นต้องเป็นภาษาอาหรับ หากว่า ผู้แสดงธรรมสามารถเรียนรู้มันได้แต่ถ้าไม่สามารถก็ให้แสดงธรรมด้วยภาษาอื่นที่มิใช่ภาษาอาหรับ ทั้งนี้เมื่อปรากฏว่าผู้ฟังเป็นชาวอาหรับ ส่วนถ้าหากปรากฏว่าพวกเขามิใช่ชาวอาหรับการปฏิบัติบรรดาองค์ประกอบหลัก (อัรกาน) ของการแสดงธรรมด้วยภาษาอาหรับก็ไม่ถือเป็นเงื่อนไขแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าผู้แสดงธรรมจะสามารถเรียนรู้มันได้ก็ตาม ยกเว้นอายะฮฺอัล-กุรอานที่จำเป็นต้องกล่าวออกมาเป็นภาษาอาหรับ เว้นเสียแต่ว่าเมื่อผู้แสดงธรรมไร้ความสามารถก็ให้เขานำสิ่งทดแทนอายะฮฺนั้นด้วยการซิกร์หรือดุอาอฺที่เป็นภาษาอาหรับมากล่าวแทน แต่ถ้าหากเขาไร้ความสามารถจากสิ่งนี้อีกเช่นกันก็ให้เขาหยุดนิ่งตามขนาดของการอ่านอายะฮฺโดยไม่ต้องแปลเป็นภาษาอื่น ส่วนสิ่งที่ไม่ใช่บรรดาองค์ประกอบหลัก (อัรกาน) ของการแสดงธรรมนั้นก็ไม่มีเงื่อนไขสำหรับมันในการใช้ภาษาอาหรับ ต่างจากกรณีของบรรดาองค์ประกอบหลักของการแสดงธรรมที่ต้องใช้ภาษาอาหรับถึงแม้ว่าบรรดาผู้ฟังจะไม่รู้ความหมายก็ตาม

 

ดังนั้นหากไม่มีผู้แสดงธรรมที่จะแสดงธรรมด้วยภาษาอาหรับการละหมาดวันศุกร์ก็ตกไปจากพวกเขา นี่คือสิ่งที่บรรดาอิมามกล่าวเอาไว้ และเมื่อปรากฏว่าบรรดาอิมามส่วนมากต่างให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการกำหนดการใช้ภาษาอาหรับเป็นเงื่อนไขเพราะในสิ่งนั้นเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้เรียนรู้ภาษาอาหรับ เผยแผ่ และสร้างความสะดวกสำหรับการเข้าใจอัล-กุรอาน และอัล-หะดีษ 

 

อิมามบางท่าน คือ อิมามมาลิก (ร.ฮ.) ก็ให้ความสำคัญอย่างเป็นที่สุดถึงขั้นที่ว่าท่านถือว่า การละหมาดวันศุกร์ตกไปจากกลุ่มชนที่ไม่มีการแสดงธรรมด้วยภาษาอาหรับในกลุ่มชนนั้นเลยทีเดียว และข้าพเจ้าเลือกสิ่งที่เป็นกลางในบรรดาทัศนะที่เป็นการวิเคราะห์เหล่านี้ ดังนั้นข้าพเจ้ามีความเห็นค่อนไปทางมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺในการยึดถือเรื่องการใช้ภาษาอาหรับเฉพาะในบรรดาองค์ประกอบหลัก (อัรกาน) ของการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) เท่านั้น ส่วนการแสดงธรรมที่เหลือก็ให้ใช้ภาษาใดๆ ก็ได้ และถ้าหากการใช้ภาษาอาหรับในบรรดาองค์ประกอบหลักเป็นอุปสรรคก็ให้แสดงธรรมในภาษาอื่นสำหรับชาวอาหรับ

 

ส่วนผู้ที่มิใช่ชาวอาหรับนั้นก็ให้ผู้แสดงธรรมใช้ภาษาของพวกเขาแม้กระทั่งว่าเขาจะสามารถแสดงธรรมด้วยภาษาอาหรับก็ตาม และอย่างที่ข้าพเจ้ายืนยันอยู่บ่อยครั้งว่าการยึดติดแบบฝังหัว (อัต-ตะอัศศุบ) ต่อทัศนะที่เป็นการวิเคราะห์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาต และให้เลือกเอาทัศนะที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ (มาปฏิบัติ)” (อะหฺสะนุลฺกะลาม ฟิลฟะตะวา วัล-อะหฺกาม,  ญุซฺที่ 29 เล่มที่ 6 หน้าที่ 536, สำนักพิมพ์ ดารุลฆ็อดฺ อัล-อะเราะบียฺ (ไคโร) 1994)

 

จากคำฟัตวาของซัยคฺ อะฏียะฮฺ ศอกร์ (ร.ฮ.) และสำนวนที่ถูกใช้ในหนังสือ อัล-ฟิกฮุลมันฮฺญียฺ ข้างต้นจะเห็นได้ว่าในการแสดงธรรม (คุฎบะฮฺ) วันศุกร์เฉพาะในส่วนของบรรดาองค์ประกอบหลัก (อัรฺกาน) ของการแสดงธรรมทั้ง 2 คุฎบะฮฺ (ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดต่อไป) ผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ/คอเต็บ) จะต้องกล่าวเป็นภาษาอาหรับเพราะถือเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การแสดงธรรมวันศุกร์ใช้ได้ และเป็นเรื่องที่ผู้แสดงธรรมสามารถกล่าวเป็นภาษาอาหรับได้จะโดยการกล่าวสดเพราะท่องจำขึ้นใจหรือจะโดยการอ่านจากข้อความที่เขียนเป็นภาษาอาหรับหรือจากหนังสือคู่มือการแสดงธรรมหรือไม่ก็ตาม

 

ทั้งนี้บุคคลที่ทำหน้าที่แสดงธรรม (คุฎบะฮฺ) ซึ่งเรียกว่า “คอเต็บ” (เคาะฏีบ) ตลอดจนอิหม่าม (อิมาม) และบิหลั่น (มุอัซซิน) ประจำมัสญิด ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ต้องมีคุณสมบัติ (2) อ่านพระคัมภีร์อัล-กุรอานได้ถูกต้อง (3) สามารถนำในการปฏิบัติศาสนกิจได้ถูกต้องตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม และ (4) มีความสามารถแสดงธรรมได้ ผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 31 ซึ่งได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่จากปวงสัปปุรุษของมัสญิดนั้นๆ ย่อมต้องมีความสามารถในการกล่าวหรืออ่านบรรดาองค์ประกอบหลัก (อัรกาน) ของการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) วันศุกร์เป็นภาษาอาหรับได้โดยปริยาย

 

ส่วนการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ในส่วนอื่นที่เป็นเนื้อหาหรือเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ทางศาสนาและการดำเนินชีวิตตามบัญญัติของศาสนาแก่ปวงสัปปุรุษที่มาร่วมละหมาดวันศุกร์นั้นย่อมมีข้ออนุโลมในการใช้ภาษามลายู หรือภาษาอื่นๆ ที่มิใช่ภาษาอาหรับได้เพื่อให้การแสดงธรรมเป็นที่รับรู้และเข้าใจโดยทั่วกันตลอดจนเป็นการรักษาเป้าหมายของการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ในวันศุกร์ให้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดและมีความเหมาะสมกับสภาพของสังคมที่การแสดงธรรมในวันศุกร์จะเป็นสื่อและวิธีการในการพัฒนา ชี้นำและตักเตือนซึ่งกันและกันในหมู่ปวงสัปปุรุษ

 

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าการที่ผู้แสดงธรรม (เคาะฏีบ/คอเต็บ) ในบางมัสญิดจะเคร่งครัดด้วยการใช้ภาษาอาหรับล้วนๆ ตลอดการแสดงธรรมทั้ง 2 คุฏบะฮฺ โดยไม่ยอมใช้ภาษาไทยหรือภาษาอื่นๆ ที่มิใช่ภาษาอาหรับเข้าไปสอดแทรกเลยจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการเคร่งครัดตามเงื่อนไขข้อนี้ก็ตาม เพราะการเคร่งครัดในเงื่อนไขที่เป็นผลมาจากการวิเคราะห์หรือทัศนะของนักวิชาการซึ่งไม่มีตัวบทที่เป็นหลักฐานเด็ดขาด (ดะลีล กอฏอียฺ) มาชี้ชัดอาจจะดีที่สุดในแง่ของการหลีกเลี่ยงปัญหาที่นักวิชาการมีความเห็นต่าง แต่ก็อาจจะไม่เป็นผลดีในแง่ของการบรรลุเป้าหมายของการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ในวันศุกร์

 

ซึ่งเป้าหมายของการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์สูงสุดได้ก็ต่อเมื่อบรรดาสัปปุรุษของมัสญิดที่มาร่วมละหมาดวันศุกร์มีความเข้าใจในภาษาที่ผู้แสดงธรรมใช้ในการแสดงธรรม เมื่อผู้แสดงธรรมได้แต่เพียงอ่านถ้อยคำภาษาอาหรับซึ่งมีการเขียนและเรียบเรียงเอาไว้เป็นเหมือนแบบฟอร์มที่ตายตัวโดยที่บรรดาผู้ฟังจดจำสำนวนเดิมๆ นั้นได้แต่ไม่เข้าใจและไม่มีความรู้ที่เป็นประโยชน์ซึ่งจับต้องและนำไปปฏิบัติได้ การแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ก็กลายเป็นเพียงพิธีกรรมหรือศาสนพิธีที่มุ่งกระทำให้ครบถ้วนตามบัญญัติของศาสนาเท่านั้น

 

ส่วนเป้าหมาย (มักศูด) ของการแสดงธรรมในวันศุกร์ซึ่งศาสนากำหนดเอาไว้เช่นกันนั้นกลับไม่บรรลุผลใดๆ เลยในการเปลี่ยนแปลงหรือให้ปัญญาแก่ปวงสัปปุรุษ จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่า เมื่อสัปปุรุษได้มาร่วมละหมาดวันศุกร์แล้วพวกเขาไม่ได้รับข้อมูลทางศาสนาที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติมในการดำเนินชีวิตจากการแสดงธรรมของผู้แสดงธรรมนั้นแต่อย่างใด อนึ่ง การแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) นั้นมิได้มีเงื่อนไขกำหนดว่าต้องเป็นการอ่านจากตัวหนังสือซึ่งเรียกกันติดปากว่า “อ่านคุฏบะฮฺ” เท่านั้นแต่การแสดงธรรมโดยการพูดในทำนองของสุนทรพจน์ซึ่งเป็นการแสดงธรรมที่เรียกว่า “คุฏบะฮฺ” นั้นก็ถือว่าใช้ได้เช่นกัน