เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นระหว่างท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) กับท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) และคำสั่งเสียของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวุสัลลัม) รวมถึงเหตุการณ์วันสมรภูมิอูฐ

รายงานจากท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ว่า : ท่านรสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า

(( سَيَكُوْنُ بَيْنَكَ وبَيْنَ عَائِشَةَأَمْرٌ ))

“ในกาลเบื้องหน้าจะเกิดเรื่องราวหนึ่งระหว่างท่าน และระหว่างอาอิชะฮฺ” ท่านอะลี (ร.ฎ.) จึงกล่าวว่า

(( فَأَنَاأَشْقَاهُمْ يَارَسُوْلَ اللهِ ))

“ดังนั้นฉันก็คือผู้ที่แย่ที่สุดของพวกเขาโอ้ท่านรสูลลุลลอฮฺ!”

ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า

((لَا , ولكِنْ إذاكانَ ذلكَ فَارْدُدْهَاإلى مَأْمَنِهَا))

 “ไม่หรอก แต่เมื่อสิ่งดังกล่าวเกิดขึ้น ท่านก็จงนำเอานางกลับคืนไปยังที่ปลอดภัยของนางเถิด”

(อะหฺมัด : 6/393 , อัล-หาฟิซฺ อิบนุหะญัร ในฟัตหุลบารียฺ 13/60 ระบุว่า สายรายงานหะสัน)

 

เรื่องราวที่จะเกิดขึ้นระหว่างอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ตามที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวุสัลลัม) บอกล่วงหน้าแก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) นั้นคือ ทัศนะที่เกิดจากการวิเคราะห์ (อิจญ์ติฮาด) ต่างกันในเรื่องการดำเนินการเพื่อนำเอาเหล่าผู้ก่อการจลาจลและรุมสังหารท่านเคาะลีฟะฮฺ อุษมาน (ร.ฎ.) มาลงโทษ ฝ่ายเคาะลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.) และผู้ที่เห็นด้วยเช่น ท่านอัมมารฺ อิบนุ ยาสิรฺ (ร.ฎ.) และอัล-เกาะอฺกออฺ อิบนุ อัมรฺ เป็นต้น มีความเห็นว่าให้ชะลอเรื่องนี้เอาไว้ก่อนจนกว่าท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) จะมีเสถียรภาพในการปกครองและควบคุมสถานการณ์ได้อย่างเบ็ดเสร็จเสียก่อนแล้วจึงค่อยดำเนินการลงโทษผู้ก่ออาชญากรรมในการลอบสังหารเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) เพราะอาชญากรที่ร่วมในเหตุการณ์นั้นมีเป็นจำนวนมาก การรีบด่วนในการนำตัวพวกเขามาลงโทษในขณะที่ท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ยังไม่พร้อมจึงเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดการจลาจลจนมิอาจควบคุมสถานการณ์ได้

 

กอปรกับพวกที่ก่ออาชญากรรมดังกล่าวมีชนเผ่ามุฏอรฺและเราะบีอะฮฺที่มีพรรคพวกมากและพร้อมที่จะลุกฮือต่อท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ได้ทุกเมื่อ จึงไม่เป็นผลดีแต่อย่างใด กระนั้นท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ก็สัญญาว่าจะดำเนินการเมื่อสภาพการณ์เอื้ออำนวยและทุกอย่างอยู่ในการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จแล้ว ทัศนะของเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) เป็นทัศนะที่ถูกต้องในสถานการณ์เช่นนั้น และนักปราชญ์ของประชาคมมุสลิมก็เห็นตรงกันว่า อนุญาตให้อิมาม (ผู้นำสูงสุด) ชะลอการลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการกิศอศออกไป เมื่อการกิศอศผู้กระทำผิดจะนำไปสู่การกระพือความวุ่นวายและแตกสามัคคี (อะหฺกามอัล-กุรอาน ; อิบนุ อัล-อะเราะบียฺ 2/1778)

 

 

ฝ่ายของฏอลหะฮฺ อิบนุ อุบัยดิลลาฮฺ (ร.ฎ.) , อัซ-ซุบัยรฺ อิบนุ อัล-เอาวาม (ร.ฎ.) และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ตลอดจนมุอาวียะฮฺ อิบนุ อบีสุฟยาน (ร.ฎ.) มีความเห็นว่าจะต้องรีบดำเนินในการลงโทษบรรดาอาชญากรที่ร่วมกันสังหารเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) และการที่ ฏอลหะฮฺ (ร.ฎ.) อัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.) และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ได้นำผู้คนมุ่งหน้าสู่นครอัล-บัศเราะฮฺก็มีเป้าหมายดังกล่าว

 

 

ความเห็นต่างระหว่างเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ในเรื่องนี้คือสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวุสัลลัม)  ได้บอกล่วงหน้ากับท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) เมื่อครั้งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวุสัลลัม)  ยังมีชีวิตอยู่ และเรื่องที่มีความเห็นต่างกันนี้ได้นำไปสู่วันสมรภูมิอูฐ ในปี ฮ.ศ. ที่ 36 กล่าวคือสัจจะพยากรณ์นี้เกิดขึ้นจริงหลังการเสียชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวุสัลลัม)  ล่วงไปแล้ว 25 ปีเศษ

 

 

เรื่องมีอยู่ว่า พวกก่อการจลาจลในนครมะดีนะฮฺได้ปิดล้อมเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) และจู่โจมบ้านของเคาะลีฟะฮฺแล้วลงมือสังหารท่าน ในช่วงเวลานั้นบรรดาภรรยาของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวุสัลลัม)  อยู่ที่นครมักกะฮฺเพื่อประกอบพิธีหัจญ์ เมื่อมีการให้สัตยาบันแก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) ในการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺที่นครมะดีนะฮฺแล้ว

 

 

ท่านฏอลหะฮฺ (ร.ฎ.) และท่านอัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.) จึงขออนุญาตเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) เพื่อออกจากนครมะดีนะฮฺสู่นครมักกะฮฺ เคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ก็อนุญาตแก่บุคคลทั้งสองซึ่งพบปะกับท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ที่นครมักกะฮฺ ผู้คนเป็นจำนวนมากได้รวมตัวกันที่นครมักกะฮฺเพื่อเรียกร้องให้จัดการเอาผิดกับบรรดาผู้ที่ร่วมสังหารเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) ก็ออกจากนครมะดีนะฮฺไปยังนครมักกะฮฺ คนในตระกูลอุมัยยะฮฺส่วนหนึ่งก็ออกจากนครมะดีนะฮฺและมุ่งหน้าสู่นครมักกะฮฺ ยะอฺลา อิบนุ อุมัยยะฮฺข้าหลวงของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) จากเมืองยะมันพร้อมกองคาราวานอูฐ 600 ตัว และเงินอีกจำนวน 600,000 ดิรฮัมก็มุ่งหน้ามาสมทบที่นครมักกะฮฺ ฝ่าย อับดุลลอฮฺ อิบนุ อามิรฺ ข้าหลวงของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ก็มุ่งหน้าจากนครอัล-บัศเราะฮฺมายังนครมักกะฮฺ

 

 

บรรดาเศาะหาบะฮฺและเหล่าภรรยาของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้รวมตัวกันที่นครมักกะฮฺ ท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) จึงลุกขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เพื่อปลุกเร้าให้ผู้คนที่รวมตัวกันเรียกร้องให้จัดการกับพวกอาชญากรรมที่ร่วมกันสังหารเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) ผู้คนก็ตอบรับและร่วมประชุมกันว่าจะดำเนินการอย่างไร? ฝ่ายหนึ่งก็เสนอว่าให้ไปยังแคว้นชาม (ซีเรีย) เพื่อสมทบกับท่านอุมาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ฝ่ายหนึ่งก็มีความเห็นว่าควรมุ่งหน้าสู่นครมะดีนะฮฺเพื่อเรียกร้องให้เคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) นำเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพราะพวกที่ร่วมสังหารท่านเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) ได้หลบหนีไปร่วมอยู่ในกองทัพของเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) อีกฝ่ายหนึ่งก็เสนอว่า ให้มุ่งหน้าสู่นครอัล-บัศเราะฮฺเพื่อหาฝูงม้าและกำลังคนที่นั่น และเริ่มจัดการกับพวกจลาจลซึ่งซ่องสุมกันอยู่ที่นครอัล-บัศเราะฮฺ ผู้คนก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของฝ่ายหลังนี้

 

 

บรรดาภรรยาของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เห็นตรงกับท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งมีข้อเสนอให้มุ่งหน้าสู่นครมะดีนะฮฺ แต่เมื่อผู้คนเห็นพ้องกันว่าให้มุ่งหน้าสู่นครอัล-บัศเราะฮฺเหล่าภรรยาของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงไม่ร่วมด้วย และบอกว่าจะมุ่งหน้ากลับสู่นครมะดีนะฮฺเท่านั้น ส่วนท่านหญิงหัฟเศาะฮฺ บินตุ อุมัร (ร.ฎ.) ก็เห็นตรงกับท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่าจะเดินทางไปพร้อมกันยังนครอัล-บัศเราะฮฺ แต่ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) ห้ามท่านหญิงหัฟเศาะฮฺ (ร.ฎ.) เอาไว้ และยืนกรานว่าจะกลับสู่นครมะดีนะฮฺ ผู้คนจึงร่วมเดินทางไปพร้อมกับท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นทหารม้าจำนวน 1,000 คน บ้างก็ว่า 900 คน ซึ่งมีทั้งชาวมะดีนะฮฺและมักกะฮฺ ตลอดจนมีผู้คนอื่นๆ เข้าร่วมสมทบจนมีจำนวนถึง 3,000 คน โดยท่านหญิงนั่งอยู่ในกระโจมบนหลังอุฐที่ชื่อ “อัสกัรฺ” บรรดาภรรยาของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ร่วมเดินทางไปพร้อมกับท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) จนถึงซาตุ อิรก์ แล้วก็แยกทางกันที่นั่น พระนางเหล่านั้นร่ำลากันและร้องไห้ ผู้คนก็พากันร้องไห้ จึงเรียกวันนั้นว่า วันอัน-นะญีบ

 

 

ผู้คนที่ร่วมกับท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่นครอัล-บัศเราะฮท่านหญิงได้ใช้ให้อับดุลลอฮฺ อิบนุ ซุบัยรฺ บุตรชายน้องสาวของท่านหญิงเป็นอิมามนำผู้คนละหมาด และมัรวาน อิบนุ อัล-หะกัมเป็นผู้อะซานบอกเวลาละหมาด 5 เวลา ในเวลาค่ำคืนพวกเขาได้เดินทางผ่านสถานที่แห่งหนึ่งเรียกกันว่า อัล-เหาอับ (الحَوْأَبُ ) ฝูงสุนัขก็เห่าหอน ณ ที่แห่งนั้น เมื่อท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ได้ยิ่นสิ่งนั้นพระนางจึงกล่าวว่า “สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่าอะไร?” พวกเขาจึงกล่าวว่า “อัล-เหาอับ! พระนางจึงตีมือข้างหนึ่งลงบนอีกข้างหนึ่ง และกล่าวว่า “แท้จริงเราเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ และแท้จริงเราย่อมคืนกลับไปยังพระองค์ ฉันไม่คิดว่าตัวฉันจะกระทำสิ่งใดนอกจากการหวนกลับ!” พวกเขาจึงกล่าวว่า “เพราะอะไร” ท่านหญิงกล่าวว่า “ฉันเคยได้ยินท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวกับบรรดาภรรยาของท่านว่า

 

(( لَيْتَ شِعْرِىْ أَيَّتُكُنَّ التى تَنْبَحُهَا كْلَابُ الْحَوْأَبِ ))

“ฉันรู้นะว่าคนไหนของพวกเธอที่ฝูงสุนัขของอัล-เหาอับจะเห่าหอนใส่เธอผู้นั้น”

 

 

อัล-หะดีษบทนี้เป็นสัจจะพยากรณ์ที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้บอกล่วงหน้าเอาไว้ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเราจะได้กล่าวถึงรายละเอียดต่อไป อย่างไรก็ตามท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ก็ยังคงร่วมเดินทางต่อไปกับผู้คนที่เข้าร่วมสมทบสู่นครอัล-บัศเราะฮฺ เมื่อใกล้ถึงนครอัล-บัศเราะฮฺ ท่านหญิงจึงมีหนังสือแจ้งไปถึงอัล-อะหฺนัฟ อิบนุ กอยส์และคนสำคัญในเมืองว่าท่านหญิงได้มาถึงอัล-บัศเราะฮฺแล้ว ฝ่ายอุษมาน อิบนุ หุนัยฟ์เจ้าเมืองอัล-บัศเราะฮฺซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) จึงส่งท่านอิมรอน อิบนุ หุศอยนฺและอบุลอัสวัด อัดดุอะลียฺไปสอบถามท่านหญิงว่ามุ่งหน้ามาอัล-บัศเราะฮฺเพื่อจุดประสงค์ใด ท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) จึงแจ้งกับบุคคลทั้งสองว่าพระนางมาเพื่อเรียกร้องโลหิตของท่านเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) เพราะท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ถูกสังหารโดยอธรรมในเดือนต้องห้ามและแผ่นดินต้องห้าม (นครมะดีนะฮฺ) ทั้งสองจึงกลับไปบอกอุษมาน อิบนุ หุนัยฟ์ ฝ่ายอุษมานก็ไม่ยอมให้ท่านหญิงกับผู้คนที่ร่วมเดินทางมาด้วยเข้าสู่ตัวเมือง ท่านหญิงพร้อมผู้คนจึงลงพักที่อัล-มิรฺบัดค่อนไปทางเหนืออัล-บัศเราะฮฺ คนที่อยู่ในเมืองก็ออกมาสมทบกับท่านหญิง ฝ่ายอุษมาน อิบนุ หุนัยฟ์ก็นำทหารออกมาตั้งรับที่อัล-มิรบัดและมีการปะทะกัน กองทหารส่วนหนึ่งของอุษมานก็แปรพักตร์เข้าร่วมสมทบกับกองทหารของท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.)

 

 

ต่อมาหะกีม อิบนุ ญะบะละฮฺ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมสังหารเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) ก็นำทหารม้าของอุษมาน อิบนุ หุนัยฟ์ออกมาเพื่อสู้รบกับกองทหารของท่านหญิง ฝ่ายหะกีม อิบนุญะบะละฮฺมีทหาร 700 คน แต่ทหารของฝ่ายท่านหญิงก็ไม่สู้รบด้วยแต่ล่าถอยจนถึงที่ฝังศพของพวกบะนูมาซิน แล้วก็เข้าสู่เวลาค่ำคืน ครั้นถึงวันที่สองจึงเกิดการรบพุ่งระหว่างกันอย่างดุเดือด ทหารม้าของหะกีม อิบนุ ญะบะละฮฺถูกสังหารเป็นจำนวนมาก ผู้บาดเจ็บของทั้งสองฝ่ายมีจำนวนมิใช่น้อย ต่อมากองทัพของฝ่ายท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ก็เข้าสู่นครอัล-บัศเราะฮฺ อุษมาน อิบนุ หะนัยฟ์ก็ถูกชาวเมืองจับตัวมามอบให้แก่ท่านหญิง แต่ท่านหญิงก็สั่งให้ปล่อยอุษมานไป ส่วนหะกีม อิบนุ ญะบะละฮฺกับพวกอีกราว 70 คนก็ถูกสำเร็จโทษทั้งหมด เป็นพวกที่มีส่วนในการร่วมสังหารเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) เมื่อครั้งเกิดการจลาจลที่นครมะดีนะฮฺ

 

 

ฝ่ายเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ที่นครมะดีนะฮฺกำลังจัดเตรียมทัพเพื่อมุ่งหน้าสู่แคว้นชาม ต่อมาข่าวการมุ่งหน้าของท่านฏอลหะฮฺ (ร.ฎ.) และอัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.) พร้อมด้วยท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) สู่นครอัล-บัศเราะฮฺได้มาถึงท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ท่านจึงกล่าวสุนทรพจน์และปลุกเร้าผู้คนในนครมะดีนะฮฺให้ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่นครอัล-บัศเราะฮฺ แต่พลเมืองมะดีนะฮฺก็ตอบรับคำเรียกร้องของเคาะลีฟะฮฺเพียงบางส่วน และมีเศาะหาบะฮฺชาวบัดรฺจำนวนไม่เกิน 7 คน ได้เข้าร่วมกับเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) และผู้เข้าร่วมรบอีกราว 900 คน กองทัพของเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) จึงออกจากนครมะดีนะฮฺสู่นครอัลกูฟะฮฺ ในระหว่างทางมีเผ่าอะสัดและฏอยย์เข้าร่วมสมทบ เมื่อถึงนครอัล-กูฟะฮฺข่าวการสู้รบระหว่างกองทัพของอุษมาน อิบนุหุนัยฟ์ เจ้าเมืองอัล-บัศเราะฮฺกับกองทัพของท่านฏอลหะฮฺ (ร.ฎ.) อัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.) และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ก็มาถึงท่านเคาะลีฟะฮฺ ท่านจึงเตรียมกองทัพในนครอัล-กูฟะฮฺจำนวน 10,000 คนเพื่อสู้รบกับฝ่ายของฏอลหะฮฺ (ร.ฎ.) และอัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.)

 

 

จะเห็นได้ว่า เคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) คือฝ่ายที่ยกทัพมุ่งหน้าไปยังฝ่ายของท่านหญิง (ร.ฎ.) และเศาะหาบะฮฺทั้งสอง ทั้งๆ ที่ฝ่ายของท่านหญิง (ร.ฎ.) มิได้ก่อการกบฏต่อเคาะลีฟะฮฺ เพราะถ้าหากฝ่ายของท่านหญิง (ร.ฎ.) ต้องการก่อการกบฏต่อเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) พวกเขาก็ยกทัพมุ่งหน้าสู่นครมะดีนะฮฺ มิใช่มุ่งหน้าสู่นครอัล-บัศเราะฮฺ การกล่าวหาว่าฝ่ายของท่านหญิง (ร.ฎ.) และเศาะหาบะฮฺทั้งสองมีเจตนาสู้รบกับเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง บุคคลทั้งสามและผู้สนับสนุนไม่เคยพูดว่าพวกเขาไม่ยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) ไม่เคยวิจารณ์หรือกล่าวหาท่านเคาะลีฟะฮฺและไม่ได้นำทัพไปยังนครอัล-บัศเราะฮฺเพื่อสู้รบกับเคาะลีฟะฮฺ เพราะว่าเวลานั้นเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ไม่ได้อยู่ที่นครอัล-บัศเราะฮฺ แต่อยู่ที่นครมะดีนะฮฺ สิ่งที่ยืนยันในเรื่องนี้คือ อัล-อะหฺนัฟ อิบนุ กอยส์ ได้กล่าวว่า : ฉันได้พบฏอลหะฮฺและอัซ-ซุบัยรฺหลังการปิดล้อมท่านอุษมาน ฉันได้กล่าวว่า : สิ่งใดที่ท่านทั้งสองจะสั่งใช้ฉัน เพราะฉันเห็นว่าอุษมานคงถูกสังหารเป็นแน่แล้ว ทั้งสองกล่าวว่า : ท่านจงยึดอะลีไว้! แล้วฉันก็ได้พบอาอิชะฮฺหลังอุษมานถูกสังหารที่นครมักกะฮฺ ฉันกล่าวว่า : ท่านหญิงจะสั่งใช้ฉันให้ทำอะไร? ท่านหญิงตอบว่า : ท่านจงยึดอะลีไว้เถิด! (ฟัตหุลบารียฺ 13/38 อัฏ-เฏาะบะรอนียฺระบุว่า เป็นสายรายงานที่เศาะฮีหฺ)

 

 

เมื่อเคาะลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.) นำทัพออกจากนครอัล-กูฟะฮฺและมาถึงเขตซูกอรฺ (ตั้งอยู่ระหว่างอัล-กูฟะฮฺและวาสิฏ) ท่านได้สั่งอัล-มิกดาด อิบนุ อัล-อัสวัด และอัล-เกาะอฺกออฺ อิบนุ อัมร์ไปเจรจากับท่านฏอลหะฮฺและอัซ-ซุบัยรฺ ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะไม่มีการสู้รบและแต่ละฝ่ายก็แจ้งให้ทราบถึงจุดยืนของฝ่ายตน

 

 

ฝ่ายฏอลหะฮฺและอัซ-ซุบัยรฺเห็นว่าการปล่อยพวกที่ลอบสังหารเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) เอาไว้เป็นสิ่งที่ไม่อนุญาต แต่ฝ่ายของเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) เห็นว่าไม่เป็นผลดีในการไล่ติดตามพวกที่ร่วมสังหารเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) ในเวลานี้ แต่ให้รอจนกระทั่งถึงเวลาที่เหมาะสมเสียก่อน การเอาผิดกับพวกที่ร่วมสังหารเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) เป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกัน แต่มีความเห็นต่างกันว่าเมื่อใดที่จะดำเนินการเรื่องดังกล่าว หลังการเจรจาและมีข้อตกลงกันแล้ว ในค่ำคืนนั้นกองทัพของทั้งสองฝ่ายก็ค้างแรมกันเป็นปกติ แต่พวกที่ร่วมกันสังหารเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) ซึ่งเป็นพวกของอับดุลลอฮฺ อิบนุ สะบะอฺที่เข้าร่วมอยู่ในกองทัพของท่านอะลี (ร.ฎ.) อยู่กันอย่างไม่เป็นสุขเพราะมีข้อตกลงกันแล้วว่าจะจัดการพวกเหล่านี้ (ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 3/517 , อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ 7/509 , อัล-กามิล ฟิตตารีค 3/120)

 

 

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ พวกของอับดุลลอฮฺ อิบนุ สะบะอฺ (อัส-สะบะอียูน) จึงวางแผนเพื่อทำลายข้อตกลงดังกล่าว ในยามดึกสงัดขณะที่กองทัพของสองฝ่ายกำลังหลับใหล พวกสะบะอียูนกลุ่มหนึ่งก็พากำลังเข้าโจมตีกองทัพของฏอลหะฮฺ และอัซ-ซุบัยรฺ และสังหารทหารบางคน ต่อมาพวกนี้ก็หลบหนีไป ฝ่ายกองทัพของฏอลหะฮฺก็เข้าใจผิดคิดว่ากองทัพของท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ผิดคำสัญญาและข้อตกลงที่ให้กันไว้ ครั้นรุ่งสางกองทัพของ      ฏอลหะฮฺก็บุกโจมตีกองทัพของท่านอะลี (ร.ฎ.) ฝ่ายกองทัพของท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็เข้าใจว่ากองทัพของฏอลหะฮฺบิดพลิ้ว การรบพุ่งระหว่าง 2 ฝ่ายจึงเกิดขึ้นถึงเวลาเที่ยงวัน บรรดาบุคคลสำคัญของสองฝ่ายได้พยายามห้ามทัพและเรียกร้องให้ยุติการสู้รบแต่ไม่เป็นผล

 

 

เคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ได้ห้ามมิให้กองทัพของท่านสู้รบแต่พวกเขาก็ไม่สนใจ ยังคงรบพุ่งต่อไป ท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ก็ส่งกะอฺบ์ อิบนุ เสาวฺร์ให้นำมุศหัฟ (คัมภีร์อัล-กุรอาน) ออกไปเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายหยุดสู้รบ แต่พวกสะบะอียูนก็ระดมยิงธนูใส่จนกะอฺบ์เสียชีวิต การสู้รบจึงดำเนินไปอย่างหนักหน่วงในช่วงเวลาหลังซุฮฺริ และจบลงก่อนตะวันตกดินของวันนั้น

 

 

สมรภูมิอูฐเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. ที่ 36 เหตุที่เรียกว่าสมรภูมิอูฐเป็นเพราะท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) นั่งอยู่ในกระโจมบนหลังอูฐที่ชื่ออัสกัรฺ บุคคลที่คอยจับเชือกผูกอูฐและคอยคุ้มครองท่านหญิงถูกตัดมือไปเป็นจำนวน 70 คนและมีผู้เสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมากรอบๆ อูฐของท่านหญิง

 

 

กองทัพของเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) มีจำนวน 10,000 คน ฝ่ายกองทัพของท่านหญิง (ร.ฎ.) มีจำนวนระหว่าง 5,000 – 6,000 คน ธงรบของเคาะลีฟะฮฺอยู่กับมุฮัมมัด อิบนุ อะลี (มุฮัมมัด อิบนุ อัล-หะนะฟียะฮฺ) ส่วนธงรบของชาวอูฐอยู่กับท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัซ-ซุบัยรฺ เมื่ออูฐของท่านหญิง (ร.ฎ.) ถูกฆ่าการสู้รบก็จบลง ในสมรภูมิอูฐมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก สมรภูมิอูฐเกิดขึ้นในวันศุกร์นอกเมืองอัล-บัศเราะฮฺ ณ ปราสาทของอุบัยดุลลอฮฺ อิบนุ ซิยาด (ตารีคเคาะลีฟะฮฺ อิบนุ คอยยาฏ หน้า 184)

 

 

ว่ากันว่าบรรดาชาวอูฐ (ฝ่ายท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ที่ร่วมรบในสมรภูมิอูฐ) เสียชีวิต 8,000 คน บ้างก็ว่า 17,000 คน ส่วนทหารฝ่ายเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) เสียชีวิตราว 1,000 คน (หะยาตุลหะยะวาน อัล-กุบรอ 1/251)

 

 

ในสมรภูมิอูฐ ท่านฏอลหะฮฺ อิบนุ อุบัยดิลลาฮฺ (ร.ฎ.) และอัซ-ซุบัยรฺ อิบนุ อัล-เอาวาม (ร.ฎ.) ได้ถูกสังหาร ทั้งสองท่านไม่ได้ร่วมสู้รบด้วย เพราะมีรายงานระบุว่า เมื่อท่านอัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.) ได้มายังสนามรบและกองทัพของทั้งสองฝ่ายก็เผชิญหน้ากัน เคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) จึงขี่ล่อของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลั) ออกมา และร้องเรียกท่านอัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.) ท่านอัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.) จึงออกมาพบเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) โดยที่สัตว์พาหนะของทั้งสองอยู่ใกล้กัน ท่านอะลี (ร.ฎ.) กล่าวว่า : โอ้ ซุบัยรฺ ขอให้อัลลอฮฺทรงเป็นพยาน ท่านยังจำวันที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ผ่านมาพบท่านและเราอยู่ในสถานที่นั้นๆ

 

 

แล้วท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็กล่าวว่า : โอ้ ซุบัยรฺ ท่านไม่รักอะลีดอกหรือ? และท่านก็พูดว่า : ฉันจะไม่รักบุตรน้าชายของฉัน บุตรลุงของฉัน และพี่น้องร่วมศาสนาของฉันกระนั้นหรือ? ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวว่า “โอ้ ซุบัยรฺ พึงทราบเถิด ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ แน่นอนท่านจะสู้รบกับอะลี โดยที่ท่านอธรรมต่ออะลี” อัซ-ซุบัยรฺจึงกล่าวกับเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ว่า “หามิได้ ขอสาบานต่ออัลลอฮฺฉันหลงลืมมันไปเสียแล้วนับตั้งแต่ฉันได้ยินคำพูดนั้นจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แล้วฉันก็จำมันได้ ณ บัดนี้ ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันจะไม่สู้รบกับท่าน” แล้วท่านอัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.) ก็ขี่ม้าของท่านฝ่าแถวทหารของท่านออกไปโดยมิได้เข้าร่วมรบด้วย ต่อมาท่านอัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.) ก็ถูกชายที่ชื่อ อิบนุ ญุรฺมูซ ลอบสังหาร ส่วนท่านฏอลหะฮฺ (ร.ฎ.) นั้นได้พยายามห้ามมิให้ผู้คนรบพุ่งกันแล้วก็มีลูกธนูพุ่งเข้าใส่ท่านจนเสียชีวิต ที่รู้กันในประวัติศาสตร์ มัรวาน อิบนุ อัล-หะกัมคือผู้ยิงธนูใส่ท่านฏอลหะฮฺ (ร.ฎ.) บ้างก็ว่าเป็นคนอื่นซึ่งอิบนุกะษีรระบุว่าใกล้เคียงมากกว่า ถึงแม้คำกล่าวแรกจะเป็นที่รู้กัน (อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ 7/283)

 

 

ชัยดฺ อิบนุ อบีอุนัยสะฮฺ เล่าจากชายคนหนึ่งว่า ท่านอะลี (ร.ฎ.) กล่าวว่า “พวกท่านจงแจ้งข่าวดีแก่ผูที่สังหารฏอลหะฮฺด้วยไฟนรก” (อัฏ-เฏาะบะกอต ; อิบนุสะอฺด์ 3/225)

 

 

ฝ่ายท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) เมื่ออูฐของพระนางถูกเชือด กระโจม (เฮาวฺดัจญ์) บนหลังอูฐของพระนางก็มีสภาพเหมือนกับเม่นเนื่องจากมีลูกธนูปักอยู่รายรอบเป็นจำนวนมาก ท่าน อะลี (ร.ฎ.) ได้ใช้ให้คนของท่านแบกกระโจมนั้นออกมาท่ามกลางศพของผู้เสียชีวิตในสมรภูมิ และใช้ให้มุฮัมมัด อิบนุ อบีบักรฺและอัมมารฺ อิบนุ ยาสิรฺ ปลูกกระโจมให้พระนาง ท่านอะลี (ร.ฎ.) จึงเข้ามายังท่านหญิงโดยให้สล่ามและกล่าวว่า : โอ้ มารดาท่านเป็นอย่างไรบ้าง? ท่านหญิงตอบว่า : ดี! แล้วท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็กล่าวว่า “ขออัลลอฮฺทรงอภัยแก่ท่าน” ผู้คนทั้งหลายก็พากันมาให้สล่ามกับท่านหญิง (ร.ฎ.) ครั้นเมื่อค่ำลงท่านหญิงก็เข้าสู่นครอัล-บัศเราะฮฺพร้อมกับมุฮัมมัด อิบนุ อบีบักรฺ พี่น้องของพระนาง และลงพักอยู่ในบ้านของอับดุลลอฮฺ อิบนุ เคาะลัฟ อัล-คุซาอียฺ ซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่ที่สุดในนครอัล-บัศเราะฮฺ ฝ่ายท่านอะลี (ร.ฎ.) ยังคงตั้งอยู่นอกเมืองเป็นเวลา 3 วัน โดยตระเวณตรวจผู้เสียชีวิตทุกคนที่ท่านรู้จัก ท่านก็ขอให้อัลลอฮฺทรงเมตตาต่อผู้นั้น ต่อมาท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็นำละหมาดให้แก่ผู้เสียชีวิตจากทั้งสองฝ่าย และให้ชาวกุรอยชฺละหมาดให้แก่พวกเขากันเองโดยเฉพาะ

 

 

ในวันจันทร์หลังสมรภูมิอูฐสิ้นสุดลงท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ก็เข้าสู่นครอัล-บัศเราะฮฺ ผู้คนก็พากันมาสล่ามและให้สัตยาบันแก่ท่าน ต่อมาท่านก็มุ่งมายังบ้านที่ท่านหญิงพำนักอยู่ ท่านขออนุญาตเข้าภายในบ้านและให้สล่ามกับท่านหญิง ท่านหญิงก็ยินดีต้อนรับท่าน         เคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) บรรดาสตรีที่เป็นลูกหลานของเคาะลัฟก็ร่ำไห้ เพราะอับดุลลอฮฺและอุษมานบุตรชายของเคาะลัฟถูกสังหารในสมรภูมิ เศาะฟียะฮฺภรรยาของอับดุลลอฮฺก็ต่อว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) แต่ท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็นิ่งเงียบไม่ตอบโต้นาง มีคนหนึ่งกล่าวขึ้นว่า : โอ้ท่านประมุขแห่งศรัทธาชนมีชาย 2 คนอยู่ที่ประตูบ้านกำลังกล่าวจาบจ้วงท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ท่านอะลี (ร.ฎ.) จึงให้อัล-เกาะอฺกออฺ อิบนุ อัมรฺเฆี่ยนชายทั้งสองคนนั้นคนละ 100 ที (อัล-บิดายะฮฺ ; อิบนุ กะษีรฺ 7/281)

 

 

ต่อมาท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ต้องการออกจากนครอัล-บัศเราะฮฺ ท่านอะลี (ร.ฎ.) จึงส่งสัตว์พาหนะ สและข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นให้แก่ท่านหญิง (ร.ฎ.) และอนุญาตให้ผู้ที่ร่วมมากับท่านหญิงซึ่งรอดชีวิตให้กลับไปพร้อมกับท่านหญิง หรือจะอยู่ต่อในนครอัล-บัศเราะฮฺก็ได้ และเลือกสตรีชาวเมืองอัล-บัศเราะฮฺให้ร่วมไปกับท่านหญิงอีก 40 คน พร้อมกับให้มุฮัมมัด อิบนุ อบีบักรฺพี่น้องของพระนางร่วมเดินทางไปด้วย

 

 

พอถึงวันที่ท่านหญิงจะออกเดินทาง ท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็มาพร้อมกับผู้คนที่ประตูบ้าน ท่านหญิงนั่งอยู่ในแคร่กระโจมที่มีคนหามออกจากบ้านแล้วก็ร่ำลาผู้คนพร้อมกับขอดุอาอฺให้แก่พวกเขา ท่านหญิงกล่าวกับท่านอะลี (ร.ฎ.) ว่า “ลูกเอ๋ย เราอย่าได้ตำหนิกันเองเลย แท้จริงขอสาบานต่ออัลลออฺว่าสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างฉันกับอะลีในเวลาก่อนหน้านี้มิใช่อื่นใดนอกจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างผู้หญิงกับบรรดาลูกเขยของพวกนาง ถ้าจะตำหนิก็ตำหนิฉันเถิด” ท่าน          อะลี (ร.ฎ.) จึงกล่าวว่า “นางพูดถูกแล้ว ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ไม่มีอะไรระหว่างฉันกับพระนางนอกจากเรื่องนั้น แท้จริง พระนางเป็นภรรยานบีของพวกท่านในโลกนี้และโลกหน้า” ท่านอะลี (ร.ฎ.) เดินไปส่งท่านหญิงโดยอำลาระหว่างกันเป็นระยะทางหลายไมล์ วันนั้นเป็นวันเสาร์ต้นเดือนเราะญับ ปี ฮ.ศ. ที่ 36 ท่านหญิงมุ่งหน้าสู่นครมักกะฮฺและพำนักอยู่ที่นั่นจนกระทั่งประกอบพิธีฮัจญ์ในปีนั้น ต่อมาก็กลับสู่นครมะดีนะฮฺ

 

 

ท่านอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺเล่าจากกอยสฺ อิบนุ อับบาดฺว่า : ท่านอะลี (ร.ฎ.) ได้กล่าวในวันสมรภูมิอูฐว่า : “โอ้ หะสัน อนิจจา พ่อของเจ้าน่าจะเสียชีวิตตั้งแต่เมื่อ 20 ปี ที่แล้ว” ท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) จึงกล่าวกับบิดาของท่านว่า : “พ่อจ๋า ลูกเคยห้ามพ่อจากสิ่งนี้มาก่อนแล้ว” ท่านอะลี (ร.ฎ.ป จึงกล่าวว่า : โอ้ ลูกเอ๋ย พ่อไม่เคยนึกว่าเรื่องจะมาถึงขั้นนี้” (สิยัรฺ อัล-อะอฺลาม ; 2/641) ท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ได้ปฏิบัติเป็นอย่างดีกับท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งเสียของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในสัจจะพยากรณ์ที่ท่านเคยบอกไว้กับท่านอะลี (ร.ฎ.) ทุกประการ สัจจะพยากรณ์ในเรื่องนี้ยังรวมถึงกรณีที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยบอกกับท่านอัซ-ซุบัยรฺ (ร.ฎ.) ว่าจะสู้รบกับท่านอะลี (ร.ฎ.)อีกด้วย

 

 

สำหรับอัล-หะดีษที่ระบุถึงเรื่องอัล-เหาอับว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยกล่าวกับบรรดาภรรยาของท่านว่า

(( أَيَّتَكُنَّ صَاحِبَةُ الجمَلِ الأَدْبَب (الأَدَبِّ) التى تَنْبَحُهَا كلابُ الحَوْأَبِ ))

“คนไหนในหมู่พวกเธอที่เป็นเจ้าของอูฐขนเยอะซึ่งฝูงสุนัขแห่งอัล-เหาอับจะเห่าหอนนาง”

 

 

อัล-หะดีษบทนี้เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยอะหฺมัด (6/52 , 97) จากอิสมาอีล อิบนุ อบีคอลิด จากกอยสฺ อิบนุ อบีหาซิมจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นสายรายงานที่เศาะฮีหฺ บรรดาผู้รายงานเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้ และอิบนุหิบบานระบุว่าเศาะฮิหฺตลอดจนอัล-หากิม , อัล-หาฟิซฺ อิบนุ หะญัรฺ , อัซ-ซะฮะบียฺ และอิบนุกะษีรฺต่างก็ระบุว่าเป็นหะดีษเศาะฮิหฺ และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ก็ยืนยันว่าท่านหญิงคือบุคคลที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ระบุถึง (อัล-บิดายะฮฺ 7/270) และมีรายงานจากวะกีอฺ จากอิศอม อิบนุ กุดามะฮฺ (ซึ่งเชื่อถือได้) จากอิกริมะฮฺ จากอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ว่า : ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า

(أَيَّتُكُنَّ صَاحِبَةُ الجَمَلِ الأَدْبَبِ , يُقْتَلُ حَوَالَيْهَاقَتْلى كثيرونَ وتَنْجُوبعدماكَادَتْ))

“คนไหนของพวกเธอที่เป็นเจ้าของอูฐขนดก รอบๆ นางจะมีผู้คนถูกสังหารเป็นอันมาก และนางก็รอดปลอดภัยหลังจากการที่นางเกือบไปแล้ว” (อัล-อัลบานียฺรายงานไว้ในอัส-สิลสิละฮฺ อัศ-เศาะฮีหะฮฺ : 474)

 

 

สำนวนของอัล-หะดีษทั้ง 2 รายงานบ่งชี้ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน บทแรกระบุถึงสถานที่ซึ่งเรียกว่า อัล-เหาอับ เป็นชื่อบ่อน้ำที่อยู่ใกล้กับนครอัล-บัศเราะฮฺบนเส้นทางของนครมักกะฮฺสู่นครอัล-บัศเราะฮฺ บ่อน้ำนี้ถูกเรียกตามชื่อของหญิงที่มีนามว่า อัล-เหาอับ บินตุ กัลบ์ อิบนิ วับเราะฮฺ อัล-กุฎออียะฮฺ เมื่อท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) เดินทางพร้อมกับผู้คนในเวลากลางคืนผ่านมายังสถานที่นี้ ฝูงสุนัขก็ได้เห่าหอนทำให้ท่านหญิงต้องถามถึงสถานที่นั้นว่าชื่ออะร? แล้วท่านหญิงก็นึกถึงสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยบอกไว้ ส่วนสำนวนอัล-หะดีษบทที่สองที่อิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) เป็นผู้รายงานระบุชัดว่านั่นคือเหตุการณ์ในวันสมรภูมิอูฐซึ่งกล่าวถึงมาแล้วโดยละเอียด สัจจะพยากรณ์ที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยกล่าวเอาไว้เกิดขึ้นจริงตามนั้นทุกประการ ทั้งฝ่ายท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) และท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ต่างก็เสียใจในเหตุการณ์วันสมรภูมิอูฐ

วัลลอฮุอะอฺลัม