ศาสนาอิสลามในซูดานตอนกลาง

1. อัลกานิมและบุรโน่

ดินแดนซูดานตอนกลางนั้นหมายถึง  อาณาบริเวณแถบเส้นเขตร้อนที่มีพื้นที่กว้างใหญ่แผ่ยื่นตั้งแต่ชายฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำไนเจอร์ตอนกลางจรดเขตทะเลซาบช๊าด  และเลยมาถึงอาณาบริเวณที่ถัดมาทางตะวันออกจรดพรมแดนของเมืองดาฟู๊ร  และวาดาย  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซูดานแห่งแม่น้ำไนล์ทางตะวันออก

 

ณ จุดนี้เราจะพูดถึงอาณาบริเวณทั้ง 3 เขตที่มีอาณาจักรอิสลามอันยิ่งใหญ่ได้ก่อกำเนิดขึ้นอันได้แก่  แคว้นอัลกานิมและบุรโน่  แคว้นอัลฮูซ่าที่เรียกกันว่าอัลฮาวซ่า และแคว้นดาฟู๊รตามลำดับ

 

 

แคว้นอัลกานิมและบุรโน่  ตั้งอยู่รอบๆ  ทะเลสาบช๊าด  ซึ่งเป็นทะเลสาบที่มีพื้นที่กว้างใหญ่และมีน้ำอุดมสมบูรณ์ในอดีต  แต่ก็แห้งขอดลดลงทีละน้อย  จนกระทั่งกลายเป็นเพียงหนองน้ำที่มีเกาะแก่งมากมายในปัจจุบัน  เมื่อไม่นานมานี้ ทะเลสาบแห่งนี้เกือบขอดแห้งทั้งหมดและพื้นที่ของทะเลสาบที่ขอดแห้งก็ได้กลายเป็นเขตเพาะปลูกทางเกษตรกรรมไปในที่สุด

 

 

ศาสนาอิสลามได้มาถึงภูมิภาคนี้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ  ของอิสลามจากแคว้นฟัซซาน  ซึ่งชาวมุสลิมพิชิตในสมัยของท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.)  ด้วยน้ำมือของท่านนาฟิอ์ อิบนุ อับดิลกอยซ์ อัลฟิฮฺรีย์  ซึ่งเป็นลูกเขยของท่านอัมร์ อิบนุ อัลอ๊าศ  และเป็นบิดาของท่านอุกบะห์  ผู้เลื่องชื่อ  และในช่วงรัชสมัยแห่งการเป็นคอลีฟะห์ของยะซีด อิบนุ มุอาวียะห์  ในปีฮ.ศ. 50 / คศ. 670 ท่านอุกบะห์ อิบนุ นาฟิอ์ อิบนิ อัลดิลกอยซ์ อัลฟิฮรีย์ก็ได้หวนกลับมาพิชิตดินแดนแห่งนี้อีกคราหนึ่ง

 

 

รอยเท้าแห่งอิสลามก็ประทับลงอย่างมั่นคงในดินแดนแห่งนี้  ครั้นต่อมาท่านอุบบะห์ก็บ่ายหน้าลงสู่ภาคใต้ และสามารถนำเอาแคว้นกุว๊าร  ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอิสลาม  แคว้นกุว๊ารเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยโอเอซิส  ตามรายทางแผ่ยื่นจากเหนือจรดใต้และเลยเข้าไปถึงพรมแดนของช๊าด  ด้วยเหตุที่มีโอเอซิสมากมายตามรายทางนี้เอง  ชาวฝรั่งเศสจึงได้ให้ลักษณะภูมิประเทศของแคว้นกุว๊ารว่าเป็นประตูโค้งแห่งโอเอซิส

 

 

แคว้นฟัซซาน  และแคว้นกุว๊ารมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประวัติศาสตร์แห่งแอฟริกา  ทั้งสองแคว้นเป็นเส้นทางตอนกลางซึ่งผู้คนใช้สัญจรผ่านข้ามทะเลทรายซะฮาร่าซึ่งเป็นท้องทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุด  ส่วนเส้นทางด้านตะวันออก  ก็คือเส้นทางแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์  ซึ่งผู้คนใช้เส้นทางนี้ในการสัญจรจะล่องมาจนกระทั่งถึงเมืองอิสน่า  ต่อจากเมืองอิสน่าก็จะเป็นจุดเริ่มของเส้นทาง 40 วัน  เรื่อยไปจนกระทั่งเมืองดาฟู๊ร  และเมืองวาดาย  จากที่นั่นก็มุ่งสู่แคว้นช๊าดและซูดานตอนกลาง

 

 

ส่วนเส้นทางทางด้านตะวันตกนั้น  จะผ่านดินแดนตะวันตกสุดของทวีปขนานไป  ตามชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก  จุดเริ่มต้นของเส้นทางนี้จากทางเหนือ  เริ่มจากเมืองซิญิลมาซะห์  หลังจากนั้นผู้คนก็สัญจรผ่านท้องทะเลทรายเป็นระยะเวลาสองเดือนโดยประมาณจากชายฝั่งโดยอาศัยล่อน้ำที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งตามเส้นทางซึ่งยาวไกลจนกระทั่งถึงนครอูดาฆิชต์ซึ่งเป็นประตูทางเหนือสู่ซูดานตะวันตก

 

 

ดังนั้นศาสนาอิสลามจึงมิได้เข้าสู่ดินแดนซูดานตอนกลางจากเส้นทางของเมืองฟัซซานและกุว๊าร  ที่นั่นมีประชาคมอิสลามตั้งอยู่แล้วตั้งแต่ช่วงแรกๆ ในช่วงการปกครองของพวกอัลอะฆอลิบะฮฺซึ่งมีอายุอยู่ราวศตวรรษกว่า  (คศ. 500 – 609)  ในดินแดนแอฟริเกีย  (คือ ตูนีเซียในปัจจุบันรวมถึงเขตทริโปลี่ในลิเบียและกุสตอนตินะห์ในแอลจีเรียในขณะนั้นเรียกกันว่า  แคว้นอัซซาบ)  เส้นทางสายนี้มีความตื่นตัวและเริ่มมีความสำคัญทางการค้า, การเมือง และทางศาสนาโดยเฉพาะกองคาราวานต่างๆ จะเริ่มล่องสินค้าจากนครกอยเราะวาน  สู่ทริโปลีและจากทริโปลีมุ่งสู่นครมัรซัก  ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของฟัซซานถัดจากนั้นก็เมืองบ้าลัมม่า  ซึ่งเป็นโอเอซิสที่ใหญ่ที่สุดของกุว๊าร

 

 

ชาวอาหรับเรียก กาว๊าร  ณ ที่นั่นมีเหมืองเกลือใหญ่ที่สุดของเขต จากที่นั่นก็มุ่งสู่กูก้า  อันเป็นนครหลวงของแคว้น อัลกานิม และ บุรโน่  ในดินแดนช๊าดและ ณ ที่นั่น เช่นกันเป็นจุดสิ้นสุดของเส้นทางตะวันตกที่ล่องลงมาจากเมืองอิสนา  สู่นครดาฟู๊ร  และวาดาย  และแคว้นช๊าดตามลำดับ

 

 

ในความเป็นจริงแล้วแคว้นแห่งทะเลทรายช๊าดและแคว้นดาฟู๊รและวาดายทั้งหมดเคยเป็นแคว้นเดียวกันในสมัยดึกดำบรรพ์  คาดกันว่าในดินแดนแห่งนี้เคยมี่อารยธรรมที่สำคัญเมื่อครั้งอดีต  โดยมีการค้นพบซากของเมืองที่มีกำแพงและปราสาทขนาดใหญ่ในบริเวณภูเขาอูรี  ในนครดาฟู๊ร  ซึ่งอาจจะเป็นปราสาทของกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งหรือไม่ก็เป็นศูนย์กลางสถานีการค้าของกองคารวาน  และเราไม่ทราบข้อมูลมากนักเกี่ยวกับนครโบราณแห่งนี้แต่ร่องรอยทางวัตถุโบราณซึ่งถูกค้นพบในนครแห่งนี้มีที่มาจากแถบของดารฟูร  วาดายและช๊าด

 

 

นักประวัติศาสตร์บางคนได้แสดงข้อคิดเห็นไว้ว่า  ในดินแดนแห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยมีชนชาติดึกดำบรรพ์ที่เรียกกันว่าชนชาติซาวหรือซอวีอาศัยอยู่  และเชื่อกันว่าสายเลือดของชนชาติซอวีนี้ยังคงอยู่ในชนชาติอัลกานิมในปัจจุบันหรือชาติอัลกานูญ  หรือไม่ก็ชนชาติอัตตูโญ่

 

 

ในทุกวันนี้ซึ่งชาวอาหรับเรียกว่าก้านูรีย์ แต่พวกเขาเรียกตัวเองว่า ลีด้า และคำว่า กานูรีย์นั้นหมายถึง  กลุ่มคนในที่คุ้มครองซึ่งเป็นผู้เลี้ยงสัตว์ที่มาจากเทือกเขาดิบิสตีย์  รูปพรรณสันฐานของพวกเขาไม่เหมือนชนชาตินิโกรถึงแม้จะมีผิวดำก็ตามและพวกอัตตูโญ่เหล่านี้ไม่ได้อ้าง  เชื้อสายของพวกเขาไปยังชาวอาหรับ, ซูดาน, เบอร์เบอร์, ชาวอียิปต์  หรือพวกเฏาะวาริกแต่ที่น่าเป็นไปได้มากก็คือพวกอัตตูโญ่  นั่นเป็นพลเมืองดึกดำบรรพ์แห่งท้องทะเลทรายที่เหลือเผ่าพันธุ์อยู่

 

 

แต่ทว่าข้อสมมติฐานที่ใกล้เคียงกับความถูกต้องมากที่สุดก็คือพวกอัตตูโญ่  เป็นก๊กหนึ่งจากชนชาติเบอร์เบอร์  และในช่วงต้นศตวรรษที่ 11  มีชนชาติที่เลี้ยงสัตว์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเบอร์เบอร์  แห่งท้องทะเลทรายจากเมืองกุว๊ารได้มาถึงแคว้นอัลกานิม  พวกเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ได้พ่ายแพ้ในการสู้รบกับศัตรูของพวกเขา  ต่อมาพวกนี้ก็มุ่งลงใต้  และปักหลักอยู่ทางเหนือของทะเลสาบช๊าดและผสมพงษ์กับชนพื้นเมืองที่นั่น

 

 

ชนชาติเร่ร่อนเหล่านี้เป็นชาวมุสลิมและสามารถตั้งอาณาจักรของตนเองที่มีชื่อเรียกในช่วงแรกๆว่า “ อัลกานิม”  ต่อมาก็ใช้ชื่ออัลบุรโน่  นักเดินทางชาวอาหรับได้กล่าวถึงลักษณะของพวกนี้ว่า เป็นชนชาติแห่งดาบ  อันหมายถึงชนชาติแห่งสงครามและการรบพุ่งพวกนี้ได้มีอำนาจปกครองบริเวณของช๊าดตลอดระยะเวลา 8 ศตวรรษในเวลาต่อมา  และสิ้นอำนาจลงด้วยน้ำมือของชาวฝรั่งเศสในปี คศ. 1843

 

 

เมื่อพูดถึงการแพร่หลายของอิสลามในแคว้นช๊าด, วาดาย และดาฟู๊รก็จำเป็นที่จะต้องพูดถึงเผ่าเบอร์เบอร์เผ่าหนึ่งที่มีชื่อว่า “ซ่าฆอวะห์”  บางครั้งเขียนว่าซ้าวาวะห์   และซ้าวาเราะห์พวกนี้ได้อพยพจากแหล่งเดิมของตน  ในพรมแดนของเผ่าต่างๆ  ทางตะวันออกของแอลจีเรียในปัจจุบัน  และได้โยกย้ายถิ่นฐานสู่แคว้นฟัซซานและจากที่นั่นพวกซ่าฆอวะห์  ก็ได้แยกก๊กแยกเหล่า  บางก๊กมีดินแดนอยู่ในทะเลทรายทางตะวันออกและตะวันตกของฟัซซาน  และก๊กใหญ่จากซ่าฆอวะห์ได้อพยพจากฟัซซานสู่แคว้นวาดายและดาฟู๊รตามลำดับ

 

 

ที่นั่นพวกนี้ได้ตั้งหลักแหล่งของเผ่าตนขึ้นใหม่  สิ่งที่แปลกสำหรับชนเผ่านี้ก็คือ  มีความตื่นตัวอย่างมากในการเผยแผ่ศาสนาอิสลามไม่ว่า ณ ที่ใดที่ชนเผ่านี้ได้ตั้งถิ่นฐานพวกเขาก็จะเปลี่ยนชนพื้นเมืองในที่นั่นเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม  จากความมุ่งมั่นดังกล่าวได้ทำให้ศาสนาอิสลามมีความแพร่หลายในเขตต่างๆ ของท้องทะเลทรายและแคว้นของทะเลสาบช๊าด  และเลยมาถึงวาดายและดาฟู๊ร  ทางตะวันออกของซูดานในลุ่มแม่น้ำไนล์โดยรวม

 

 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชนขนาดใหญ่จากเบอร์เบอร์อพยพได้มีส่วนร่วมในการเผยแผ่อิสลามในแถบนี้อีกเช่นกัน  ตลอดจนชาวซูดาน, พวกต่างด้าวชาวอาหรับ เผ่าชู (เพี้ยนมาจาก  ชาวียะห์)  และลูกหลานของสุลัยมานซึ่งละทิ้งมาตุภูมิเดิมของพวกเขาในฟัซซานล้วนแล้วแต่มีส่วนร่วมในการเผยแผ่อิสลามด้วยกันทั้งสิ้น  และส่วนหนึ่งจากลูกหลานของอาหรับต่างด้าวเผ่าชู  ในซูดานตะวันออกก็คือเผ่าอัซซ่าลามาต, คุซาม, ญะอาซินะห์  อัลมะฮามีดและอัดดากากิร

 

 

กษัตริย์องค์แรกของชนชาติเหล่านี้ที่เราเคยได้รับฟังถึงเรื่องราวของเขาก็คือ  กษัตริย์โฮมี่  ซึ่งปกครองระหว่งปี คศ. 1085- 1097  กษัตริย์องค์นี้เป็นชาวมุสลิม  มีพระนามว่า “ซุลต่าน”  พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ขณะเดินทางกลับจากการประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮฺ  พระโอรสของพระองค์นามว่า  ดูนามะห์  ได้สืบอำนาจต่อมา

 

 

กษัตริย์ดูนามะมีความผูกพันอย่างมากต่อศาสนาอิสลาม พระองค์ได้ทรงประกอบพิธีฮัจญ์ถึง 3 ครั้งด้วยกันและสิ้นพระชนม์เมื่อคราวบำเพ็ญฮัจญ์ ครั้งที่ 3  อาณาจักรแห่งนี้ได้รุ่งเรืองสุดขีดในรัชสมัยของซุลต่านดูนามะห์ที่ 2  (ชื่อเหมือนกับกษัตรย์องค์แรก)  พระองค์ทรงมีฉายานามว่า วีบาลามีย์ ปกครองจากปี คศ.1210 ถึง ค.ศ.1224 ตามทัศนะของนักประวัติศาสตร์บางกลุ่ม  หรือจากปี ค.ศ.1221-1259 ตามทัศนที่ 2

 

 

พระบิดาของพระองค์คือ  ซุลต่านยัลมา ซึ่งเป็นซุลต่านองค์แรกของอัลกานิมที่มีเชื้อสายซูดานแท้ๆ  ซุลต่านดูนามะห์  วีบาลามีย์ได้ตั้งกองทัพม้าอันแข็งแกร่งมีจำนวนถึง 30,000 นาย  กองทัพม้าอันเกรียงไกรนี้แผ่ขยายอาณาเขตของพระองค์จนถึงเส้นพรมแดนของฟัซซานทางตอนเหนือ  และจากเมืองวาดายทางตะวันออกจรดลุ่มแม่น้ำไนเจอร์ ทางตะวันตก และยังได้แผ่อิทธิพลของพระองค์เหนือชนชาติซอนฆอ  ซึ่งชนชาติซอนฆอนี้ไม่ได้ฟื้นตัวอีกเลยหลังจากช่วงเวลาที่เราได้กล่าวมาแล้ว

 

 

ในรัชสมัยของซุลต่านองค์นี้การค้าขายกับอียิปต์และมอรอคโคได้ตื่นตัวขนานใหญ่  และซุลต่านแห่งอัลกานิมได้ตั้งทูตของพระองค์ทำการค้ากับอียิปต์และมอรอคโคโดยมีภาระหน้าที่ดูแลการจัดการระเบียบกองคาราวานสินค้าและคาราวานฮัจญ์ ตลอดจนเจริญไมตรีกับซุลต่านแห่งอิยิปต์เพื่ออนุเคราะห์ดูแลบรรดาพ่อค้าแห่งกานิม

 

 

และในปี คศ.1242 ได้มีการจัดตั้งระเบียงเรียนเฉพาะสำหรับบรรดานักศึกษาชาวอัลกานิมในมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร และซุลต่านเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของนักศึกษาในระเบียงเรียนแห่งนี้จากทรัพย์สินส่วนพระองค์ สำหรับพระนามของพระองค์อย่างเป็นทางการในอียิปต์ก็คือ  กษัตริย์แห่งอัลกานิม (ม่าลิก อัลกานิม) และซุลต่านแห่งอัลบุรโน่ (ซุลต่าน  อัลบุรนู) ท่านอัลกอลกอลเกาะชินดียฺก็ได้ระบุนามนี้ไว้ในหนังสือ  ศุบหุล อะอ์ชา ของท่าน นอกจากนี้ซุลต่านดูนามะห์ วีบาลามีย์ ยังได้สร้างความสัมพันธ์กับซุลต่านอัลฮัฟศียฺแห่งตูนีเซีย ซึ่งอัลกอลเกาะซันดียฺได้กล่าวถึงไว้อย่างยืดยาวในซุบฮุ้ลอะอ์ซาถึงเรื่องของซุลต่านองค์นี้

 

 

ในรัชสมัยของซุลต่าน  อิดรีส  หลานชายของดูนามะห์  วีบาลามีย์ (1353-1376 )  อิบนุบัฏ-ฏูเฏาะฮฺ  ได้เยือนเมืองอัลกานิมและเล่าถึงความมั่งคั่งและความสงบสุขร่มเย็นของดินแดนแห่งนี้ไว้  แต่ทว่านักเดินทางชาวเยอรมันนามว่า บาร์ธ  ซึ่งเยือนซูดานในตอนต้นศตวรรษที่ 19 ได้เล่าว่าอำนาจของซุลต่านแห่งกานิมได้อ่อนแอลงหลังรัชสมัยของอิดรีสผู้นี้ และมีชนเผ่าซูดานบางเผ่าได้ก่อการลุกฮือเป็นกบถต่ออัลกานิม ชนเผ่าซูดานเหล่านี้ได้ยอมสวามิภักดิ์ต่ออัลกานิมมาก่อน  เช่น  ชนเผ่าซอวว์  ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเดิม  พวกตูบู  ชนเผ่าแห่งเทือกเขาติบิสตีย์ และเผ่าบูลาล่าที่มีถิ่นฐานอยู่รอบๆ ทะเลสาบฟัตลีย์  อันเป็นทะเลสาบเล็กๆ  ที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของทะเลสาบช๊าด

 

 

ซุลต่านแห่งอัลกานิม  ไม่สามารถเอาชนะพวกชนเผ่าบูลล่าได้  และซุลต่านอุมัรซึ่งเป็นโอรสของซุลต่านอิดรีส  ก็ประสบความล้มเหลวเช่นกัน  กล่าวกันว่าซุลต่านองค์นี้ปกครองในราวปี คศ.1394-1389  ผลของความล้มเหลวในการปราบปรามพวกที่แข็งเมืองดังกล่าวได้ทำให้ซุลต่านแห่งกานิม  จำต้องย้ายราชธานีจากแคว้นอัลกานิมสู่ดินแดนอัลบุรโน่  ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของทะเลสาบช๊าด  ซึ่งมีเมืองโกกาเป็นเมืองเอก

 

 

นับแต่บัดนั้น  บรรดาซุลต่านเหล่านี้จึงได้รับการขนานนามว่าซุลต่านแห่งอัลบุรโน่  การรบพุ่งกับชนเผ่าบูลาล่ายังคงดำเนินเรื่อยมาประมาณ 1 ศตวรรษ  จวบจนกระทั่งซุลต่านอิดรีส  กาตาการอนเบ้  สามารถเอาชนะเผ่านี้ได้สำเร็จและสามารถตีดินแดนแห่งอัลกานิมกลับคืนมาได้อีกครั้ง  แต่พระองค์ก็ยังมิสามารถยึดครองเมืองหลวงเก่าคืนมาได้  ซุลต่านองค์นี้ทรงครองอำนาจในระหว่างปีคศ.1501-1526

 

 

รัฐซุลต่านแห่งอัลบุรโน่  ได้มีแสนยานุภาพทางทหารในรัชสมัยซุลต่านอิดรีส  อะลาวะม่า  ซึ่งมีอำนาจในราวช่วงหลังของศตวรรษที่ 16  อาจจะเป็นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1571-1603  ก็เป็นได้ ซุลต่าน  อิดรีส  อะลาวะม่าผู้นี้ได้ติดต่อกับข้าหลวงมณฑลตูนีเซียของตุรกี และได้รับอาวุธปืนตลอดจนครูฝึกทหารจากข้าหลวงผู้นี้  ซุลต่านอิดรีส ก็ได้อาศัยอาวุธที่ทันสมัยเหล่านี้ในการสร้างความมั่นคงในพระราชอำนาจ  และแผ่อำนาจสู่ตอนเหนืออันเป็นดินแดนของคาเมรูนในปัจจุบัน

 

 

ส่วนทางตะวันออกพระองค์ได้แผ่อิทธิพลจนถึงทะเลสาบฟิตารีย์  และยังสามารถปราบปรามชนเผ่าตูบู  ในเทือกเขาติบิสตีย์  พร้อมทั้งแผ่อำนาจครอบคลุมเหนือแคว้นกุว๊ารและยังยึดครองเมืองหลวงของแคว้นนี้ได้ก็คือ  เมืองบาลัมม่า  อีกทั้งยังได้ครอบครองเหมืองเกลืออันเลื่องชื่อที่อยู่ใกล้ๆ กับเมืองดังกล่าว  ซุลต่านอิดรีส  อะลาวะม่า  ได้สิ้นพระชนม์ในการรบของพระองค์

 

 

รัฐซุลต่านแห่งอัลบุรโน่เจริญรุ่งเรืองต่อมาอีกราว 2 ศตวรรษแต่ทว่าการรบพุ่งอย่างยาวนานกับชนเผ่า เบอร์เบอร์และเฏาะวาริก  ได้บั่นทอนกำลังและแสนยานุภาพของอัลบุรโน่ลงเป็นอันมาก  และปิดฉากลงด้วยการที่ชนเผ่าอัลเฮาซ่าได้รุกรานและยึดครองรัฐซุลต่านแห่งนี้ในช่วงศตวรรษที่ 19  อัลบุรโน่ต้องผจญกับการรุกรานครั้งแล้วครั้งเล่าของพวกอัลฟูล่า  จึงทำให้ซุลต่านอะห์หมัด  อิบนุ  อะลี  ซุลต่านแห่งอัลบุรโน่จำต้องขอความช่วยเหลือจาก แม่ทัพมุฮำหมัด  อัลกานิมีย์ให้ช่วยปราบปรามเผ่าอัลฟูล่า

 

 

แม่ทัพผู้นี้ได้อาศัยอยู่ในกรุงไคโร  แม่ทัพมุฮำหมัด  ตอบรับและดำเนินการทันที  และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  อำนาจจริงๆ ในอาณาจักรอัลบุรโน่จึงตกอยู่ในกำมือของแม่ทัพผู้นี้  แม่ทัพอัลกานิมีย์  ไม่ได้ประกาศตนเป็นซุลต่านแต่พอใจกับตำแหน่งเชคอัลกานิมีย์  ท่านได้บริหารราชการแผ่นดิน แต่งตั้งและถอดถอนบรรดาซุลตอนตามอำเภอใจจากศูนย์กลางการบริหารราชการของท่าน  ซึ่งตั้งอยู่ในนครโกกา  บนชายฝั่งทางตะวันตกของทะเลสาบช๊าด  และฉายานาม  ซุลต่านที่นั่นก็ลดระดับความสำคัญลงเป็นเพียงชื่อที่ใช้เรียกหัวหน้าเผ่าหรือผู้นำแคว้นเท่านั้น

 

 

ในขณะที่ท่านเชค  อัลกานิมีย์  ได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1835  บุตรชายของท่านนามว่า  อุมัรก็สืบอำนาจต่อมาและคุมอำนาจทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว  เฉกเช่นบิดาของท่าน  ในระหว่างที่บรรดาซุลต่านเป็นเพียงแค่สัญลักษ์ที่ไร้อำนาจหรือพลังใดๆ  ต่อมา  ท่านอุมัรก็ได้กล่าวหาซุลต่านอิบรอฮีมในขณะนั้น ( เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  อิบรอม )  คิดก่อการกบถต่อท่าน  จึงได้สำเร็จโทษ ซุลต่านผู้นี้และสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นซุลต่านในปี ค.ศ.1846

 

 

เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการสิ้นสุดประวัติศาสตร์แห่งราชวงศ์ซัยฟ์หรือซัยฟียะห์ซึ่งได้ปกครองดินแดนดังกล่าวตลอดระยะเวลา 9 ศตวรรษ ในรัชสมัยของซุลต่านอุมัรผู้นี้ พวกนักเดินทางชาวเยอรมันซึ่งได้เข้ามาสอดแนมดินแดนแอฟริกาในเขตร้อนเพื่อล่าอาณานิคมก็ได้หลั่งไหลเข้าสู่ดินแดนอัลบุรโน่ ตลอดจนมีการแทรกแซงของชนต่างชาติ ส่วนหนึ่งจากนักเดินทางเหล่านี้ได้แก่ บาร์ธ , โฟเกล , รูลฟิส และตาคติเกล เป็นต้น และในการแบ่งสรรดินแดนของแอฟริกาในฐานะอาณานิคมนั้น ดินแดนเหล่านี้ก็ตกเป็นของฝรั่งเศส

 

 

2. ดินแดนอัลฮาวซ่า (อัลฮูซ่า)

อัลเฮาซ่า เป็นสำนวนในภาษาอาหรับที่ใช้เรียกชื่อกลุ่มดินแดนต่างๆ ที่ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาอัลอัยร์ ซึ่งมีแนวเขาลาดชันสู่ตะวันตกจากแคว้นกุว๊าร มีเมืองเอกคือบาลัมมา และแผ่ยื่นอาณาเขตจรดฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนเจอร์ พลเมืองในอาณาบริเวณนี้ขนานนามตัวเองว่าอัลฮาวซ่า อันมีความหมายในภาษาท้องถิ่นของพวกเขาว่า “ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนเจอร์” แคว้นอัลเฮาซ่ากินอาณาเขตจรดเส้นพรมแดนทางตะวันตกของดินแดนอัลบุรโน่

 

เทือกเขาอัลอัยร์ตั้งอยู่บนเส้นพรมแดนทางตอนใต้ของทะเลทรายด้านเหนือของแม่น้ำไนเจอร์ อาณาบริเวณระหว่างเทือกเขากับแม่น้ำเป็นดินแดนแห่งท้องทะเลทรายอันกว้างใหญ่ มีพวกเฏาะวาริกแห่งท้องทะเลทรายเป็นใหญ่ และมีที่ราบสูงทางตอนเหนือของเทือกเขากอฮิละห์ ส่วนทางทิศใต้มีหุบเขา 2 แห่งแบ่งแยกอาณาเขต หุบเขาทั้งสองแห่งเป็นแหล่งรวมของน้ำฝนที่ไหลบ่ามาจากภูเขาจนเป็นสายน้ำเล็กๆ หลายสายที่ไหลสู่ตอนใต้ บางช่วงก็จะซึมหายไปในผืนทราย หรือไหลไปเชื่อมกับแม่น้ำไนเจอร์จนกลายเป็นสาขาไป ด้วยเหตุนี้ดินแดนทางใต้ของเทือกเขาแห่งนี้จึงมีความอุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยต้นไม้ ผู้คน ปศุสัตว์ และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

 

 

เรื่องเล่าปรัมปราอันเป็นประวัติที่ชาวอัลเฮาซ่าได้เล่าถึงที่มาของตนมีอยู่ว่า มีชนเผ่าแห่งท้องทะเลทรายบางเผ่าได้รุกรานเทือกเขาอัลอัยร์ในศตวรรษที่ 11 ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในแถบเทือกเขาและหุบเขาได้หนีแตกกระเจิงเอาตัวรอดและหลบมาตั้งหลักแหล่งในแถบญูบีรซึ่งเป็นเขตหนึ่งจากทะเลทรายซะฮาร่าทางเหนือและตะวันออกของแม่น้ำไนเจอร์

 

 

บางทีการรุกรานในครั้งนั้นตามท้องเรื่องอาจจะเป็นผลพวงหนึ่งของการที่ชาวอาหรับอัลฮิลาลียะห์ (จันทร์เสี้ยว) ได้เข้าสู่ดินแดนมอรอคโคโดยเริ่มจากปี ค.ศ.1046 ทั้งนี้เพราะชาวอาหรับตระกูลอัลฮิล้าล บุตรของอามิร บุตรของเศาะอฺเศาะ และบุคคลที่ร่วมกับชาวอาหรับตระกูลนี้จากชาวอาหรับ เผ่าอื่นๆ ได้รุกล้ำสู่ดินแดนแถบมอรอคโคโดยมุ่งหน้ามาจากอียิปต์สู่ทางใต้ของบัรเกาะห์และทริโปลี พวกเขารุกคืบสู่ตะวันตกจนเป็นผลให้เผ่าเบอร์แห่งท้องทะเลทรายต้องถอยหนีสู่ตะวันตกและทิศใต้

 

การรุกคืบและผลักดันเช่นนี้ได้เป็นไปอย่างต่อเนื่องจวบจนกระทั่งทำให้ชาวซูดานอพยพต้องถอยร่นสู่ป่าดงดิบในเขตศูนย์สูตร และไม่เป็นการถูกต้องในการกล่าวว่าชนเผ่าเบอร์เบอร์ซึ่งถูกผลักดันถอยร่นสู่ทางใต้และไปผลักดันเผ่าอื่นๆ อีกทอดหนึ่งคือชาวเฏาะวาริก ทั้งนี้เพราะชนชาติเฏาะวาริกนั้นมีพื้นเพเดิมเป็นชนชาติแอฟริกาโบราณที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายซะฮาร่ามานานนมแล้ว พวกเฏาะวาริกยังคงอยู่ในหลักแหล่งเดิมของพวกตนจนกระทั่งพวกซอนฮาญะห์แห่งท้องทะเลทรายที่เหลือได้เข้ามาสู่ดินแดนแห่งท้องทะเลทรายซะฮาร่าในราวศตวรรษที่ 12 ซึ่งพวกซอนฮาญะห์ได้สถาปนาอาณาจักรอัลมุรอบิฎูน ต่อมาก็ปราชัยให้แก่พวกอัลมุวะฮฺฮิดูน พวกอัลมุรอบิฏูนที่เหลือซึ่งไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อพวกอัลมุวฮิดูนก็หลบหนีสู่ท้องทะเลทราย

 

 

เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการรบพุ่งระหว่างพวกอัลมุวะฮ์ฮิดูนกับพวกอัลมุรอบิฎูนที่เหลือเป็นไปอย่างรุนแรง ได้มีลูกหลานของตระกูลอัลมุเซาวะฟะห์แห่งกาน่าเป็นผู้นำ ปรากฏว่าเผ่าซอนฮาญะห์แห่งท้องทะเลทรายที่ชื่อว่าตารญาหรือตารกาได้อพยพสู่แถบของนครติลมิซาน ในยุคของอัลมุรอบิฎูน ส่วนพวกที่เหลือส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ในหลักแหล่งของพวกเขาในท้องทะเลทรายอันกว้างใหญ่ที่อยู่ระหว่างหุบเขาดัรอะห์ทางใต้ของตะวันตกสุดกับลุ่มแม่น้ำเซเนกัล ก๊กต่างๆ อันเป็นลูกหลานของพวกนี้ได้แผ่อาณาบริเวณสู่ทางตะวันออก และกระจัดกระจายอยู่ในส่วนต่างๆ ของทะเลทรายซะฮาร่า เหตุนั้นชนเผ่าอัตตาราญ่าจึงได้แพร่หลายอย่างกว้างไกลในท้องทะเลทราย

 

 

เผ่าอัตเฏาะวาริก (ตูอาเร็ก)

เมื่อพวกที่หลบหนีจากการรุกรานของพวกอัลมุวะฮฺฮิดูน (ซึ่งเดิมทีก็คือเครือญาติของพวกอัลมุรอบิฎูน) จากเผ่าซอนฮาญะห์แห่งท้องทะเลทรายได้เข้าร่วมสมทบกับพวกแรกที่หลบหนีมาก่อน จำนวนของพวกเขาก็เพิ่มมากขึ้นและมีกำลังแข็งกล้าขึ้นเป็นอันมาก กลุ่มชนเหล่านี้ได้มีอำนาจปกครองดินแดนต่างๆ ในท้องทะเลทรายที่แห้งแล้งในใจกลางทะทรายซะฮาร่า ชนทะเลทรายทั้งหมดนี้ถูกขนานนามว่า ตารญ่าหรือตารกา ชาวอาหรับแปลงสำนวนออกเป็นฏอริกีย์ เรียกพวกนี้ว่า ฏอริกีย์ มีพหูพจน์ว่า เฏาะวาริก และนี้คือความเป็นมาดั้งเดิมของชนชาติอันมีเชื้อสายเก่าแก่พวกนี้ซึ่งอาศัยอยู่ในทะเลทรายซะฮาร่า และรู้ถึงเส้นทางของอาณาบริเวณนี้อย่างละเอียดชนิดคืบต่อคืบ

 

 

พวกเขาเป็นที่รู้จักด้วยสัญลักษณ์ของอิลลิษาม อันหมายถึงผ้าซึ่งพวกเขาโพกปิดใบหน้าของพวกเขาและสวมใส่อาภรณ์สีฟ้าซึ่งเป็นเสื้อผ้าที่พวกเขาถักทอด้วยมือและย้อมผ้าเหล่านี้ด้วยพืชชนิดหนึ่งที่เรียกว่า นีลัจฺ (ต้นคราม) ซึ่งมีอยู่มากมายในโอเอซิสแห่งท้องทะเลทรายทางตะวันตกของอียิปต์ ชาวเฏาะวาริกได้สู้รบอย่างยาวนานกับชาวฝรั่งเศสซึ่งไม่สามารถที่จะปกครองชาวเฏาะวาริกได้ ดังนั้นพวกฝรั่งเศสจึงทำสัญญาสงบศึกกับพวกเฏาะวาริกและมีความครั่นคร้ามต่อพวกนี้และขนานนามเฏาะวาริกว่าเป็น “เจ้าชายในชุดสีฟ้าแห่งท้องทะเลทราย”

 

 

ชนชาติเฏาะวาริกเป็นชาวมุสลิมที่เคร่งครัดและแข็งขัน พวกเขาจะไม่รุกรานและละเมิดต่อผู้ใด การรักษาทะเลทรายซะฮาร่าให้คงเป็นดินแดนแห่งอิสลามเป็นความดีความชอบของชาวเฏาะวาริก ทั้งนี้พวกฝรั่งเศสเคยมีความต้องการที่จะเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในดินแดนบางส่วนของซะฮาร่าโดยเฉพาะแถบอัลฮิกอร์ ซึ่งเรียกว่าอะห์ญ๊าร พวกฝรั่งเศสได้ส่งคณะบาทหลวงมิชชันนารีที่รู้จักกันในนามว่า “คุณพ่อผิวขาว” ยังเมืองเอกของแคว้นนี้คือ โอเอซิส “ตามันร่อซัต” คณะมิชชันนารีได้กระจายกันไปในท้องทะเลทรายเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ พวกเฏาะวาริกก็ได้ทำการรบพุ่งกับคณะมิชชันนารีดังกล่าว จนกระทั่งพวกนี้ได้ล้มตายลงจนหมดสิ้น

 

 

เราขอหวนกลับมาพูดถึงพวกอัลเฮาซ่าอีกครั้งหนึ่ง ชื่อของชนชาติอัลเฮาซ่านี้มิได้หมายถึงชื่อของชนชาติที่ถูกเจาะจงเฉพาะ แต่เป็นชื่อของภาษาที่มีกลุ่มชนเผ่าด้วยกันร่วมใช้ภาษานี้ในการพูด ต่อมาก็เรียกชนเผ่าต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมดอย่างครอบคลุมว่า อัลเฮาซ่า ประชากรอัลเฮาซ่าในทุกวันนี้มีประมาณ 5 ล้านคน พวกเขาจะอาศัยอยู่ตามหลักแหล่งของพวกเขาที่เราได้กล่าวถึงมาแล้วนับจากอาณาบริเวณทางตะวันออกของลุ่มน้ำไนเจอร์จรดพรมแดนของอัลบุรโน่ทางตะวันออก

 

 

พวกอัลเฮาซ่ามีภาษาที่ถูกเขียนด้วยตัวอักษรเป็นการเฉพาะ พวกเขาได้เขียนตำราแต่งหนังสือด้วยภาษาของพวกเขามากมาย และในขณะที่เผ่าอัลฟูล่าได้รุกรานดินแดนของอัลเฮาซ่าในศตวรรษที่ 19 พวกอัลฟูล่าได้ทำลายตำรับตำราของอัลเฮาซ่าทั้งหมดที่พวกตนได้พบ ด้วยเหตุการณ์ครั้งนั้นรายละเอียดจำนวนมากได้สูญหายไป ซึ่งสิ่งที่เราสามารถจะเพิ่มเติมข้อมูลถึงชนชาตินี้ได้มากทีเดียว หากไม่มีการทำลายตำราของพวกอัลเฮาซ่า

 

 

มีเรื่องราวอันเป็นนิยายปรัมปราที่ถูกเล่าขานในหมู่ชนชาติอัลเฮาซ่าระบุถึงที่มาของอาณาจักรทั้ง 7 ซึ่งรวมตัวกันขึ้นเป็นอาณาจักรใหญ่ของพวกเขาอันได้แก่ กานู, การู, กาตาซีน่า, บัยรอม, ซัจซัจ (ซารียะห์) ดาวัรและซังกอเราะห์ อาณาจักรของอัลเฮาซ่าที่สำคัญที่สุดก็เห็นจะเป็นอาณาจักรกานู ซึ่งทุกวันนี้ตั้งอยู่ที่ทางตอนเหนือของสาธารณรัฐไนจีเรีย อาณาจักรกานูมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ส่วนใหญ่จะได้รับการถูกจดบันทึกในศตวรรษที่ 19

 

 

ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารนี้ได้เล่าว่า กษัตริย์องค์แรกของกานูคือ กษัตริย์บาญดา ซึ่งเป็นหลานของวีรบุรุษแห่งตำนานที่ชื่อ อะบูยะซีด เล่าขานกันว่า อะบูยะซีดผู้นี้ได้สังหารสัตว์ประหลาดร่างยักษ์ซึ่งได้สร้างความวิบัติและมหันตภัยอย่างใหญ่หลวงในดินแดนแห่งนี้ ขณะที่สัตว์ประหลาดที่มีชื่อว่า เดาดะร่ามีอำนาจครอบครองดินแดนแห่งนี้

 

 

ดินแดนแห่งอัลเฮาซ่าได้เข้ารับอิสลามในช่วงศตวรรษที่ 14 ระหว่างกษัตริย์ยาญี่ย์ มีอำนาจ (1349-1385) บรรดานักปราชญ์และเหล่านักเผยแผ่อิสลามที่มาจากอาณาจักรมาลี , บุรโน่ และซูดานแห่งไนล์ ได้นำเอาศาสนาอิสลามเข้าสู่ดินแดนแห่งนี้ ศาสนาอิสลามที่นั่นได้ผสมผสานปนเปกับความเชื่อของลัทธิบูชาธรรมชาติและผีสางนางไม้ อันเป็นเรื่องที่เกิดอยู่บ่อยครั้งในดินแดนแอฟริกาทั้งนี้เนื่องมาจากมีผู้รู้ในหลักการของศาสนาเป็นจำนวนน้อยหรือไม่ก็มีพื้นฐานของความรู้ที่น้อยเกี่ยวกับเรื่องของศาสนา

 

 

อาณาจักรกานูเป็นดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งทางการค้าและเต็มไปด้วยพ่อค้าวาณิชย์ ในบางครั้งพวกพ่อค้าทาสก็อาจจะนำตัวทาสชาวอัลเฮาซ่าซึ่งมีความเฉลียวฉลาด มีไหวพริบและมีพละกำลังในการทำงานหนักไปค้าขายในตลาดค้าทาส

 

 

ในระหว่างปี ค.ศ. 1513-1516 กานูตกเป็นเมืองขึ้นของกษัตริย์อัสกิย่า มุฮำหมัด แห่งซอนฆอ และการรุกรานต่อดินแดนของอัลเฮาซ่าก็มีอย่างต่อเนื่อง มีอยู่ช่วงหนึ่งในศตวรรษที่ 17 พวกอัลฟูล่าได้ทำลายอาณาจักรของอัลเฮาซ่า และด้วยน้ำมือของอัลฟูล่า การปกครองในราชวงศ์บาญดาก็สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1807 หลังจากที่มีอำนาจถึง 8 ศตวรรษ

 

 

อาณาจักรกาตซีนาเป็นอีกอาณาจักรหนึ่งที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวอัลเฮาซ่า การสร้างอาณาจักรแห่งนี้กล่าวกันว่า ลูกชายคนหนึ่งของวีรบุรุษแห่งตำนานอบูยะซีด ที่ชื่อกูมาโย่ เป็นผู้สร้างซึ่งก่อนหน้านั้นเคยมีราชวงศ์อื่นปกครองกาตซีน่าอยู่ก่อนแล้ว กูมาโย่ได้สมรสกับเจ้าหญิงองค์หนึ่งในราชวงศ์นั้น และแยกตัวปกครองเป็นเอกเทศในราว ค.ศ. 1100 แต่ราชวงศ์ของกูมาโย่ก็อยู่ไม่ยืดยาวนัก เพราะหลังจากนั้นก็มีราชวงศ์อื่นเข้ามามีอำนาจในศตวรรษที่ 13 และมีอำนาจเรื่อยมา จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 14

 

 

กาตซีน่า เป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ เนื่องด้วยมีชัยภูมิที่ตั้งอยู่บนเส้นทางของกองคาราวานสินค้าที่ล่องระหว่างอียิปต์กับมาลี เส้นทางสายนี้ออกจากบาฮันซ่าทางตอนเหนือและซ่ออีดในอียิปต์ และมุ่งหน้าสู่โอเอซิส อัลฟ่ารอฟิเราะห์ (ฟัรฟูน) และโอเอซิส อัลบะหฺรียะห์ หลังจากนั้นก็มุ่งสู่ซีวะห์ (เซนตาเรีย) สู่ญัฆบู๊บ และมัรซัก หลังจากนั้นก็สู่เมืองฆ๊อต และสู่อาณาจักรมาลีในที่สุด

 

 

ด้วยเหตุนี้อาณาจักรกาตซีน่าแห่งนี้จึงเป็นคู่แข่งของกานูในด้านความมั่งคั่งและความตื่นตัวทางการค้า ดินแดนแห่งอัลเฮาซ่าซึ่งเราได้กล่าวถึงเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย หรือไม่ก็เป็นรัฐใหญ่ แต่ละรัฐจะมีเมืองเอกที่มีสภาผู้อาวุโสทำหน้าที่ปกครอง โดยมีกษัตริย์ของท้องถิ่นเป็นประธานสภา ศาสนาอิสลามได้เข้าสู่ดินแดนเหล่านี้ทั้งหมดจากมาลี โดยชาวอัลมาดันญีย์ในศตวรรษที่ 14

 

 

จากจุดนี้เราจึงเข้าใจได้ว่าอาณาจักรเหล่านี้สามารถสถาปนาความช่วยเหลือระหว่างกันได้อย่างไรในการดำรงรักษาแผ่นดินและศาสนาของพวกเขา ซึ่งก็คือศาสนาอิสลามเอาไว้ สิ่งที่สมควรกล่าวถึงก็คือ อาณาจักรหรือรัฐต่างๆ ของอัลเฮาซ่าได้วางระบบการปกครองที่คล้ายคลึงกับระบบของบรรดาผู้ปกครองซึ่งชาวอาหรับเผ่าต่างๆ รู้จักกันดีในยุคญาฮีลียะห์

 

 

ฉะนั้นเมื่อมีการรบพุ่งระหว่างรัฐต่อรัฐของพวกเขาที่พัวพันยืดยาว ทั้งสองฝ่ายก็จะลงมติให้ชาวอัลเฮาซ่าคนหนึ่งเป็นตุลาการ ซึ่งบุคคลที่ถูกแต่งตั้งก็มักจะเป็นบุคคลที่มีความลุ่มลึก มีสติปัญญาดีและรู้ถึงขนบธรรมเนียมประเพณีที่แพร่หลายระหว่างพวกเขาเป็นอย่างดี ตุลาการผู้นี้จะตัดสินความ และทั้งสองฝ่ายก็จะยอมรับและพอใจต่อการตัดสินความของเขา และในขณะที่ชนชาติอัลเฮาซ่าได้เข้ารับอิสลาม หลักนิติศาสตร์ก็เข้าสู่ดินแดนของพวกเขา บรรดาผู้ปกครองก็จะมาจากเหล่าผู้อาวุโสที่มีความรู้ ความลุ่มลึก และความเข้าใจอย่างถ่องแท้

 

 

และเมื่อพวกอังกฤษได้เข้าสู่ไนจีเรียและถือเอาไนจีเรียเป็นดินแดนในอาณานิคมของพวกตน พวกเขาก็ไม่พบว่ามีชนชาติใดที่จะมีความสูงส่ง หรือมีอารยธรรมมากไปกว่าชนชาติอัลเฮาซ่า ทั้งนี้ก็เนื่องจากความประเสริฐของศาสนาอิสลาม กานูได้กลายเป็นนครหลวงแห่งหนึ่งของไนจีเรียในช่วงอาณานิคม ถึงแม้ว่าพวกล่าอาณานิคมจะมุ่งมั่นที่จะสร้างนครหลวงอีกแห่งก็ตาม

 

 

นครหลวงของไนจีเรียแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับทะเลเรียกว่า กรุงลากอส ซึ่งเดิมพวกโปรตุเกสเคยสร้างเอาไว้ พวกโปรตุเกสในช่วงศตวรรษที่ 15 ได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ตามชายฝั่งต่างๆ ของแอฟริกาโดยสร้างป้อมปราการขึ้น เพื่อใช้เป็นคลังหรือโกดังเก็บสินค้า และเป็นศูนย์กลางของการจับทาสผิวดำและการค้าทาส ป้อมปราการต่างๆ เหล่านี้เรียกกันว่า ป้อมปราการแห่งเส้นพรมแดน Fronteiras (ฟอนเทียร์ส) ส่วนหนึ่งจากป้อมปราการเหล่านี้ก็คือ ป้อมลากอส Lagos อันหมายถึง ทะเลสาบหลายๆ แห่ง มีเอกพจน์ว่า ลาโก Lago

 

 

ความดีความชอบในการดำรงรักษาศาสนาอิสลามเหนืออาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ไพศาลของแอฟริกาในเขตร้อนเป็นของชนชาติอัลเฮาซ่าและชนเฏาะวาริก พวกเฏาะวาริกได้คุ้มครองทะเลทราย ส่วนพวกเฮาซ่าได้รักษาอิสลามในภูมิภาคต่างๆ ของไนเจอร์ตอนเหนือ และจรดทางตะวันตกของดินแดนอัลเฮาซ่า คืออาณาบริเวณของอัลฟูล่าหรือฟูลาเนี่ยน พวกเขาเหล่านี้เป็นชาวมุสลิม ทางตะวันออกของอัลฟูล่าก็คืออัลกานูรีย์ ผู้เป็นใหญ่ในอาณาจักรอัลกานิมและอัลบุรโน่ ชนชาติทั้ง 4 เหล่าอันมีความสูงส่งนี้ได้เข้ารับอิสลามด้วยวิทยปัญญาและอนุสติที่งดงามต่างก็ได้สถาปนาอาณาจักรและอารยธรรมต่างๆ ขึ้น และธำรงรักษาอิสลามในดินแดนของพวกตน อีกทั้งยังได้เผยแผ่อิสลามในทุกแว่นแคว้นของแอฟริกาเขตร้อนและศูนย์สูตร

 

 

3. ซูดานตะวันออกหรือซูดานแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์

ลุ่มแม่น้ำไนล์ส่วนใหญ่ขณะที่ชาวอาหรับได้พิชิตอียิปต์ประกอบขึ้นจากอาณาจักรของชาวคริสเตียนที่มีอาณาบริเวณแผ่ยื่นจนจรดภูมิภาคอัลญะซีเราะห์ อันเป็นที่รู้จักกันในทุกวันนี้ในพรมแดนของสาธารณรัฐซูดาน หรือลุ่มแม่น้ำฮัลฟา ซึ่งเป็นอาณาจักรแห่งนูบะห์หรือนูบาเตีย ตามที่ถูกเรียกในตัวบทของภาษาลาติน อาณาจักรอันนูบะห์มีพรมแดนแผ่ยื่นจากตอนใต้ของเมืองอัสวาน ณ เมืองตาฟะห์ จนกระทั่งถืงเมืองมามา ที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนล์ และทางฝั่งตรงกันข้ามด้านตะวันตกมีเมืองที่ชาวอาหรับเรียกว่า อัลมะก๊อซ อัลอะอ์ลา

 

 

ถัดจากอาณาจักรนูบะห์ ทางใต้ก็คืออาณาจักรมะกูรเราะห์ มีพรมแดนแผ่ยื่นทางใต้จรดดินแดนแห่งทวารหรือกูบูซียะห์ ทางด้านใต้ของจุดบรรจบของแม่น้ำไนล์กับแม่น้ำน้อยอัฏบะเราะห์หรืออัตบะเราะห์ ถัดลงมาทางใต้ก็มีอาณาจักรคริสเตียนแห่งที่สามที่ตั้งอยู่เรียกว่า อัลวะห์ มีพรมแดนทางทิศใต้จรดทิศใต้ของนครคาร์ทูม และลงไปทางใต้ก็เป็นอาณาจักรของพวกบูชาธรรมชาติและผีสางนางไม้ ซึ่งชนพื้นเมืองที่นั่นใช้ชีวิตแบบดึกดำบรรพ์

 

 

ศาสนาคริสต์ในอาณาบริเวณนี้มิได้ปรากฏรูปลักษณ์ที่ชัดเจนหรือฝังรากลึกสักเท่าใดนัก ทั้งนี้เป็นเพราะว่าศาสนาคริสต์จะจำกัดเฉพาะอยู่ในครอบครัวหรือตระกูลของผู้มีอำนาจเสียส่วนใหญ่ บรรดาบาทหลวงของอียิปต์ได้นำศาสนาคริสต์มาเผยแผ่แก่พวกเขาในช่วงอาณาจักรไบเซนไทน์มีอำนาจ อันเป็นช่วงเวลาซึ่งที่พระจักรพรรดิของโรมันได้ทำการกดขี่ทารุณต่อชาวคอปติก (ชาวอียิปต์พื้นเมืองที่ถือศาสนาคริสต์ออธอร์ดอกซ์) โดยบังคับให้ชาวคอปติกละทิ้งความเชื่อของพวกเขาในนิกายยากูเบี้ยน และให้เปลี่ยนมาเชื่อในลัทธิมิลกาเนี่ยนแทน อันเป็นลัทธิหรือนิกายที่เหล่าจักรพรรดิโรมันให้การยอมรับและมีความประสงค์ให้ประชาชนในดินแดนของโรมันยอมรับโดยถ้วนหน้า ดังนั้นพวกคอปติกที่ยึดมั่นในนิกายยากูเบี้ยนจึงหลบหนีเอาชีวิตรอดจากการถูกกดขี่และการสังหารหมู่

 

 

การเข้าสู่อียิปต์ของศาสนาอิสลามจึงเป็นความเมตตาแก่ประชาชนชาวอียิปต์และปลดปล่อยพวกเขาให้พ้นจากการอธรรมของโรมัน ผู้นำของชาวอียิปต์คือ อัลมุเกากอซ อันเป็นผู้ที่ท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้โต้ตอบในสาส์นของพระองค์ด้วยนามชื่อ อะซีม อัลกิบฏียฺ ซึ่งหมายถึงผู้นำแห่งอียิปต์ อัลมุเกากอซเป็นชาวอียิปต์ดั้งเดิม และเป็นคนละคนกับกีรูซ ซึ่งเป็นตัวแทนของอาณาจักรโรมันอย่างที่นักประวัติศาสตร์บัตเลอร์เข้าใจ อัลมุเกากอซมีน้องชายคนหนึ่งชื่อ เบนยามีน ซึ่งเป็นสังฆราชของชนชาติคอปติกที่ถูกโรมันกดขี่ เขาจึงหลบหนีเอาตัวรอดจากพวกโรมัน

 

 

ครั้นเมื่อชาวอาหรับมุสลิมเข้าสู่ดินแดนอียิปต์ ชาวอาหรับก็ได้ประกาศให้ความปลอดภัยแก่พลเมืองอียิปต์และนำเอาเบนยามีนผู้นำกลับสู่ตำแหน่งสังฆราชอีกครั้งหนึ่ง ชาวอาหรับเรียกบุคคลผู้นีว่า อะบู มะยามีน ส่วนชื่อของอัลมุเกากอซนั้นเป็นชื่อเรียกอย่างอาหรับสำหรับบุคคลทีเป็นผู้นำเมืองอียิปต์ ชาวอาหรับรู้จักบุคคลในตำแหน่งนี้ตั้งแต่ยุคก่อนอิสลาม เช่น ท่านอัมร์ อิบนุ อัลอ๊าศ ท่านฮาฏิบ อิบนุ อบี บัลตะอะห์ ทั้งสองเคยเข้าสู่ดินแดนแห่งนี้เพื่อทำการค้าในยุคก่อนอิสลาม คำว่า อัลมุเกากิซ หรือ อัลมุเกากอซมีรากศัพท์มาจากคำว่า ก๊อซซ์ (อันหมายถึง บาทหลวงในคริสต์ศาสนา)

 

 

ดินแดนนูบะห์หรือนูบาเตีย ถือได้ว่าเป็นดินแดนหนึ่งที่สืบสานอารยธรรมอียิปต์ทางตอนใต้ตลอดจนทางด้านการเมืองการปกครอง และเป็นอาณาบริเวณที่แบ่งขั้นระหว่างอียิปต์กับดินแดนแห่งลุ่มน้ำไนล์ทางตอนใต้อื่นๆ

 

 

เมื่อคราที่อับดุลเลาะห์ อิบนุ อบี ซัรฺฮิน ได้ทำการศึกกับนูบะห์ในปี ฮ.ศ. 31/652 และทำสนธิสัญญาสงบศึกอัลบักตุ้ (เป็นสำเนียงในภาษาอาหรับที่เพี้ยนมาจาก Pactum ในภาษาละตินที่มีความหมายว่า “สนธิสัญญาสงบศึก”)  กับเจ้าครองนครนูบะห์ นูบะห์จึงได้กลายเป็นพันธมิตรตลอดกาลกับอียิปต์และเป็นคู่การค้าที่รุ่งเรือง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เคยมีเส้นพรมแดนแบ่งขั้นระหว่างอียิปต์และนูบะห์ เหล่าพ่อค้าของ 2 ดินแดนตลอดจนเหล่าทูตานุทูตระหว่าง 2 ฝ่ายต่างก็ข้ามไปมาหาสู่กันอย่างสะดวก

 

 

และในดินแดนนูบะห์ก็ได้มีประชาคมมุสลิมต่างด้าวเกิดขึ้นรอบๆ อาคารมัสยิดซึ่งท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อบี ซัรฺฮิน ได้สร้างขึ้นในนครดังเกาะละห์ โดยในสนธิสัญญาอัลบักตุ้นั้นได้มีข้อตกลงกันกับกษัตริย์แห่งนูบะห์ให้ดูแลอุปถัมภ์อาคารมัสยิดดังกล่าว และก่อนหน้าที่ชาวอาหรับเผ่าอัลกันซ์ได้รุกรานดินแดนนูบะห์และทำลายคริสต์ศาสนาในนูบะห์ลงเพียงเล็กน้อยนั้น ศาสนาอิสลามได้ครอบคลุมพลเมืองนูบะห์อย่างทั่วถึงแล้ว จนอาจกล่าวได้ว่าอียิปต์ได้แผ่อิทธิพลลงสู่ทางใต้จรดเขต “อัลมะกอซ อัลอะอ์ลา” และจากข้อตกลงในสนธิสัญญาอัลบักตุ้ ซึ่งท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อบี ซัรฺฮิน ได้กระทำกับกษัตริย์แห่งนูบะห์นั้น เข้าใจว่าได้ครอบคลุมถึงอาณาจักรมะกอรเราะห์ด้วยเช่นกัน

 

 

โดยสนธิสัญญาได้ระบุว่า “และสำหรับผู้ยิ่งใหญ่แห่งนูบะห์และพลเมืองในอาณาจักรของตนก็คืออาณาบริเวณจากเส้นพรมแดนซูดานจรดพรมแดนของอิลวะห์” อันเชื่อได้ว่าข้อความดังกล่าวบ่งถึงการรวมอาณาจักรมะกอรเราะห์เข้าไปด้วย ทั้งนี้เนื่องจากถือว่าอาณาจักร คริสเตียนทั้ง 2 แห่งนี้เป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกัน ซึ่งทั้ง 2 อาณาจักรสามารถทำข้อตกลงผูกมิตรกับชาวมุสลิมไปพร้อมๆ กันทั้ง 2 อาณาจักร ด้วยเหตุนี้นักเขียนชาวมุสลิมส่วนใหญ่จึงเรียกคำว่านูบะห์ถึงนูบาเตียนและมะกอรเราะห์ทั้งคู่

 

 

ความสัมพันธ์ของชาวอาหรับกับอาณาจักรนูบะห์และพรมแดนทางตอนใต้มีมาช้านาน ย้อนกลับไปยุคก่อนหน้าอิสลามค่อนข้างนานทีเดียว บรรดาพ่อค้าจากเยเมนจะข้ามฟากของทะเลแดงอยู่เสมอ และกลุ่มพ่อค้าจำนวนมากจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในส่วนต่างๆ ของลุ่มแม่น้ำไนล์ การรายงานทางประวัติศาสตร์บางกระแสได้ระบุถึงการรุกรานทางการทหารที่พวกฮิมยะรียฺ (อาหรับเยเมนโบราณ) ได้ทำการรุกรานเหนือดินแดนของลุ่มแม่น้ำไนล์ตอนกลาง การรุกรานหลายระลอกที่ฮิมยะรียฺได้กระทำต่างก็ทิ้งชาวเยเมนไว้หลังสงครามหลายต่อหลายกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนบุจญะห์หรือบุญาฮ์ และอาณาบริเวณของนูบะห์

 

 

บางกระแสได้มีทัศนะว่า การรุกรานในครั้งกระโน้นได้รุกไปจนถึงดินแดนตะวันตกภายใต้การนำทัพของอัฟรีกิสบุตรของอับร่อฮะห์ (ผู้มีฉายาว่า เจ้าแห่งคบไฟที่จุดคบไฟไว้ตามรายทางยามทำศึกเพื่อเป็นสัญลักษณ์ยามเดินทัพกลับ) ผู้เป็นกษัตริย์แห่งฮิมยัร เหล่าผู้รายงานกลุ่มนี้อ้างว่า คำว่า อัฟรีกียะห์ (แอฟริเกีย) อันหมายถึงตูนิเซียในปัจจุบันถูกเรียกด้วยชื่อของแม่ทัพผู้นี้ คือ อัฟริกิส เรื่องนี้คงเป็นเพียงเรื่องปรัมปราเท่านั้น ทั้งนี้เพราะคำว่า อัฟรีกียะห์ (Africa) เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากชื่อเผ่าของผู้คนที่มีถิ่นฐานอยู่ทางตะวันตกของตูนิเซียในปัจจุบัน จรดตะวันตกของพวกกุรฺฏอญินะห์ (คาร์เธจ) ซึ่งผู้คนเหล่านี้ถูกเรียกว่า อัฟรีย์ (Afri)  และดินแดนที่อยู่นอกอาณาเขตของกุรฺฏอญินะห์ (คาร์เธจ) ต่างก็ถูกเรียกว่า อัฟริกา (Africa) อันเป็นชื่อที่อ้างถึงพลเมืองกลุ่มนี้ ต่อมาก็ใช้เป็นชื่อเรียกขานทวีปแอฟริกาทั้งหมดในภายหลัง

 

 

พลเมืองกลุ่มหนึ่งจากฮัฎเราะเมาต์ก็เช่นกัน ได้เคยอพยพโยกย้ายถิ่นฐานสู่ดินแดนบุจญะห์บนชายฝั่งทะเลแดงในราวศตวรรษที่ 6 และเข้าผสมผสานกับพลเมืองเดิมในบุจญะห์ จนกระทั่งเกิดกลุ่มชนพวกหนึ่งที่สามารถก้าวสู่การมีอำนาจ เป็นที่รู้จักกันในนามของพวกซ่านาฟิจญ์ พวกซ่านาฟิจญ์เหล่านี้ในภายหลังได้โยกย้ายถิ่นฐานสู่ดินแดนตอนใต้ และสถาปนาอาณาจักรบัลลู่ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม อาณาจักรแห่งบานู อามิร ในแคว้นตูกุ๊ร

 

 

กระแสแห่งการอพยพของชาวอาหรับสู่อียิปต์จากเส้นทางของซีนายก็เช่นกันได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงยุคสมัยโบราณ ในบางครั้งการอพยพของชนชาติอาหรับก็เป็นไปในลักษณะการรุกรานของปัจจามิตร ดังเช่นการรุกรานของพวกฮิกซูส หรือชนเผ่าร่อนเร่เลี้ยงสัตว์ และบรรดาฟาโรห์แห่งอียิปต์ก็ได้พยายามหยุดยั้งการอพยพระลอกแล้วระลอกเล่าอยู่ตลอด และปกป้องความป่าเถื่อนในการรุกรานของชนเผ่าแห่งท้องทะเลทรายที่ถาโถมเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำไนล์ แต่ว่าการแทรกซึมเช่นนี้ก็มีอยู่เรื่อยมาโดยตลอด

 

 

ท่านอิบนุ คอลดูนได้ระบุว่า ผู้คนเป็นจำนวนมากจากก๊กกุฎออะห์ได้อพยพสู่แหลมซีนายและทะเลทรายอียิปต์ทางตะวันตก และปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั่น อิบนุ คอลดูน ได้กล่าวเป็นกรณีพิเศษถึงชนเผ่าเฎาะญาฆิบและอัลกอลเกาะซันดีย์ได้กล่าวว่าส่วนหนึ่งจากชาวอาหรับในซีนายนั้นก็คือ ก๊กต่างๆ จากเผ่าฮัยนะห์ เผ่าบิลา ชนชาติอาหรับเหล่านี้มีถิ่นฐานอยู่ทางตะวันออกของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ ต่อมาพวกนี้ก็ล่องลงทางใต้และเข้าผสมผสานกับชาวอียิปต์พื้นเมือง และพวกนี้ยังได้ล่องไปถึงดินแดนของนูบาเตียและเข้าผสมผสานกับผู้คนที่นั่น

 

 

การอพยพของชาวอาหรับสู่อียิปต์ตลอดจนการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนบางกลุ่มจากพวกนี้สู่นูบาเตียได้เพิ่มมากขึ้นหลังยุคอิสลามดังจะกล่าวถึงต่อไป สิ่งดังกล่าวได้นำไปสู่การแผ่ขยายของศาสนาอิสลามสู่ดินแดนนูบะห์และมะกอรเราะห์ นั่นก็หมายถึง รุกเข้าไปจนถึงซูบาเหนือแม่น้ำไนล์สีน้ำเงินทางตอนใต้ของคาร์ทูมในปัจจุบัน ในความเป็นจริงแล้วการกล่าวว่า อาณาจักรนูบะห์ยังคงเป็นอาณาจักรคริสเตียนจนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 14 นั่นเป็นการกล่าวที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทั้งนี้ก็เพราะว่าบรรดาผู้คนที่ยังคงถือในศาสนาคริสต์ ณ ที่นั่นเป็นเพียงบุคคลในราชวงศ์ของกษัตริย์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนเท่านั้น ส่วนชาวนูเบียนที่เหลือล้วนแล้วแต่ได้เข้ารับอิสลามกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าดังที่เราได้กล่าวมาแล้ว

 

 

ซึ่งสิ่งที่มีส่วนให้เป็นเช่นนี้ก็คือท่าทีการวางตัวที่ยืดหยุ่นกับชนพื้นเมืองนูเบียน โดยมิได้ถือว่าพวกชนพื้นเมืองเหล่านี้เป็นศัตรูที่จำต้องทำสงครามด้วย ซึ่งการทำสงครามกับชนพื้นเมืองจะเป็นเหตุทำให้พวกเขายึดมั่นในศาสนาคริสต์มากขึ้นไปอีก อันที่จริงชาวมุสลิมเพียงแต่ได้ทำสนธิสัญญากับชาวนูเบียนที่คล้ายคลึงกับการเป็นพันธมิตร แม้ว่าจะไม่มีการให้ความสำคัญต่ออำนาจของมุสลิมมากนักก็ตาม

 

 

อัลบาลาซฺรีย์ได้กล่าวไว้อย่างดีมากในเรื่องนี้ว่าไม่มีข้อสัญญาหรือการเขียนปฏิญญาใดๆ ระหว่างเรากับชนผิวดำ ที่มีก็เห็นจะเป็นเพียงการสงบศึกระหว่างกันเท่านั้น (อัลบาลาซฺรีย์ในหนังสือฟุตูหุลบุลดาน พิมพ์ในยุโรป ตรวจทานโดย เดอคูย่า ลายเด้น ปี 1866 อัลบาลาซฺรีย์อ้างคำพูดนี้จากยะซีด อิบนุ อบีหุบัยยิบ ซึ่งเป็นเชลยแห่งนูเบียนและพำนักอยู่ในอียิปต์)

 

ที่มาของรูปภาพ : mgafrica.com, en.wikipedia.org