ปัจจัยเหตุแห่งความเป็นศัตรูของยุโรปต่อจักรวรรดิอุษมานียะห์

        ชาวยุโรปมักมองอิสลามในฐานะศาสนาหนึ่งเดียวเท่านั้นที่เป็นอันตราย และคุกคามต่อศาสนาคริสต์อย่างที่สุด อีกทั้งอิสลามยังเป็นเหมือนก้างขวางคอและอุปสรรคที่คอยทัดทานการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า ศาสนาอิสลามมีหลักคำสอนง่ายๆ สอดคล้องกับธรรมชาติอันบริสุทธิ์ และรู้ดีถึงวิถีทางแห่งการซึมซาบเข้าสู่หัวใจผู้คนซึ่งคราใดที่อิสลามเข้าเกาะกุมหัวใจอย่างมั่นคง อิทธิพลของอิสลามก็จักแผ่ซ่านและครอบครองหัวใจเหล่านั้น ความสะดวกในการปฏิบัติศาสนกิจและความง่ายดายสำหรับการทำความเข้าใจต่อหลักคำสอนของอิสลาม ได้เป็นเหตุทำให้ผู้คนจำนวนมากยอมรับและเลื่อมใสอิสลามถึงแม้สัญลักษณ์แห่งความอ่อนแอจะปรากฏชัดในส่วนของศาสนิกชนก็ตาม

        นี่คือทัศนคติของชาวยุโรปที่มีต่อศาสนาอิสลาม ส่วนมุมมองของชาวยุโรปที่มีต่อชาวมุสลิมนั้น คือ ความปรารถนาของชาวมุสลิมนั้นไร้ขอบเขต ไม่ยุติอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่ง หากแต่ยังรุกรานศาสนาคริสต์จนกระทั่งถึงก้นครัวเลยทีเดียว (อัลฮะรอกะห์ อัลฟิกรียะห์ / ดร.บ่ารอกาต ดุวัยดาร หน้า 45) ด้วยสิ่งดังกล่าว ยุโรปจึงมองดูการพิชิตของอุษมานียะห์ว่า นั่นคือ การพิชิตของอิสลาม และกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับกันในหมู่ชาวคริสต์เอง ว่าชัยชนะทางการทหารที่อุษมานียะห์ได้กระทำอย่างเป็นรูปธรรมนั้น แท้ที่จริงก็คือ ชัยชนะของอิสลาม และเป็นความปราชัยของคริสต์ศาสนา

        ด้วยนามแห่งอิสลาม จักรวรรดิไบเซนไทน์ก็สูญสิ้น และชาวมุสลิมก็ยาตราเข้าสู่ราชธานีของจักรวรรดิแห่งนี้ด้วยการนำทัพของซุลตอนมูฮำหมัด อัลฟาติฮ์ (เมฮ์เมต ฟาเตฮ์) ในวันที่ 20 ญุมาดาอัลเอาวัล (เดือนลำดับที่ 5 ตามปฏิทินจันทรคติของชาวมุสลิม) ปี ฮ.ศ. 857

        นครคอนสแตนติโนเปิ้ลจึงถูกเฉลิมนามใหม่ว่า “อิสตันบูล” (นครแห่งอิสลาม) นับแต่บัดนั้น และการริเริ่มปฏิบัติการเชิงรุกทางการทหารของซุลตอนมุฮำหมัดเพื่อยึดครองกรุงโรมอันเป็นศูนย์กลางอำนาจพระสันตปาปาก็เป็นสิ่งที่ชาวยุโรปมิอาจลืมเลือนพวกอุษมานียะห์ได้ และบรรดาซุลตอนในแผ่นดินถัดมาก็สามารถผนวกเอาดินแดนยุโรปส่วนอื่นๆ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของขอบขัณฑสีมาแห่งอิสลาม จนกระทั่งอิสลามได้บรรลุถึงเส้นพรมแดนของนครเวียนนา ในกาลต่อมาและในนามแห่งอิสลาม พวกอุษมานียะห์ได้มุ่งหน้าสู่การช่วยเหลือชาวอาหรับในแอฟริกาเหนือเพื่อต่อสู้ขับเคี่ยวกับพวกครูเสดซึ่งผลัดกันทำสงครามระหว่างพวกโปรตุเกสกับสเปน ขณะที่สองชาตินี้ต้องการเปลี่ยนผู้คนในภูมิภาคนี้สู่ศาสนาคริสต์

        ด้วยการดังกล่าวความเป็นศัตรูคู่อาฆาตระหว่างยุโรปกับจักรวรรดิอุษมานียะห์ก็ทวีมากขึ้น จึงมิใช่เรื่องแปลกที่ชนยุโรปในกาลถัดมาซึ่งอยู่ร่วมสมัยกับอุษมานียะห์ตลอดช่วงประวัติศาสตร์อันยาวนานจะนำอิสลามและจักรวรรดิอุษมานียะห์เข้ามาเกี่ยวข้องกันในความนึกคิดของพวกเขา จนพาลให้หวนรำลึกถึงการพิชิตครั้งใหญ่ของอิสลามในยุคต้น

        พวกยุโรปเชื่อว่าจักรวรดิอุษมนียะห์นั้นคือ สัญลักษณ์อันมีชีวิตและเรือนร่างสำหรับศาสนาอิสลาม เมื่อนานวันเข้าการเกี่ยวพันเช่นนี้ก็ยิ่งทวีความลึกและมั่นคงในความนึกคิดของชาวยุโรป จนกระทั่งความเกี่ยวพันของจักรวรรดิอุษมานียะห์กับศาสนาอิสลามแนบแน่นถึงขั้นที่กล่าวได้ว่า เป็นประหนึ่งสายเชือกอันเหนียวแน่นอย่างไม่มีวันหลุดแยกออกจากกันได้ และได้นำไปสู่การทวีความรุนแรงและเกรี้ยวกราดของเกลียวคลื่นแห่งความผูกใจพยาบาทและชิงชังในหมู่ชาติยุโรปส่วนใหญ่ต่อจักรวรรดิอุษมานียะห์ โดยถือว่าเป็นรัฐอิสลามที่มีอำนาจปกครองประชาชนชาวคริสเตียนยุโรปในนามของอัลอิสลาม

ความรู้สึกของชาวยุโรปต่ออุษมานียะห์ได้เลยเถิดถึงขั้นถือว่าอุษมานียะห์คือ แหล่งที่มาของความน่าสะพรึงกลัวแห่งเดียวในโลกใบนี้

 

        แต่ทว่า อะไรคือหนทาง?
        รัฐบาลและพลเมืองของชาติยุโรปซึ่งเคยตกอยู่ใต้อาณัติของจักรวรรดิอุษมานียะห์ก็ตื่นขึ้นเพื่อจักได้พบว่าตนเองอยู่ในฐานะของผู้ที่จำต้องสวามิภักดิ์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แก่ผู้ปกครองชาวมุสลิม หลังจากที่เคยอยู่ในฐานะของผู้รุกรานดินแดนมุสลิมมาก่อนหน้านั้น

 

        กระนั้นก็ตามชาติยุโรปได้ทุ่มเทสรรพกำลังของตนอย่างเต็มที่เพื่อขจัดการมีอยู่ของอิสลามในผืนแผ่นดินยุโรป เหล่าประชาชาติยุโรปน้อยใหญ่จึงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์นี้ด้วยเป้าหมายอันเดียวกัน นั่นคือช่วยเหลือให้ศาสนาคริสต์ได้เป็นฝ่ายมีชัย และทำลายอิสลามให้สิ้นซากพร้อมทั้งสนับสนุนผลประโยชน์ของตนด้วยการล่าเมืองขึ้นดินแดนของจักรวรรดิอุษมานียะห์และนำมาแจกจ่ายแบ่งสรรปันส่วนในระหว่างพวกเดียวกัน (อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ อัลมุฟตะรอ อะลัยฮา หน้า 14-16)

 

        เนื่องจากพื้นเพทางความคิดและทัศนคติเช่นนี้ของชาติยุโรป ชาติพันธมิตรทั้งหลายที่จักรวรรดิอุษมานียะห์ต้องประจันหน้าตลอดประวัติศาสตร์อันเอกอุ ล้วนหาใช่อื่นนอกจากพันธมิตรครูเสดที่ร่วมกันต่อต้านอิสลามไม่ ทั้งในส่วนรากเหง้าและจิตวิญญาณล้วนแต่เป็นครูเสดทั้งสิ้น

 

        ณ จุดนี้ ชาวยุโรปได้รวมตัวเป็นค่ายใหญ่เพื่อทำสงครามจู่โจมจักรวรรดิอุษมานียะห์โดยวางแผนทำลายล้างอิสลามในด้านอัตลักษณ์ของระบอบค่อลีฟะห์แห่งอุษมานียะห์ ส่วนหนึ่งจากแผนการดังกล่าวที่จำต้องกระทำให้สำเร็จลุล่วง คือ แผนการโค่นอำนาจทางการเมืองการปกครองโจมตีระบบเศรษฐกิจ การแสวงหาแนวร่วมจากพลพรรค (พลพรรคที่เป็นแนวร่วมหมายถึงกลุ่มคณะบุคคลที่จะช่วยทำให้การล่าเมืองขึ้นของชาวยุโรปบรรลุตามเป้าหมาย ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นชาวอาหรับหรือเติร์กเองก็ตาม) และการใช้กำลังทางทหารเพื่อเผด็จศึก