อัต-ตีญานียฺกล่าวหาท่านอุษมาน (ร.ฎ.) และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่าเป็นบุคคลแรกที่เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺ

debateattiyaniassamawi34

ดูเหมือนว่าอัต-ตีญานียฺจะฉุกคิดขึ้นได้หลังจากอ้างหะดีษของท่านอนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) และหะดีษที่อิมามอัซ-ซุฮฺรียฺ (ร.ฮ.) รายงานจากท่านอนัส (ร.ฎ.) ว่าผู้ที่เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) คือชนรุ่นอัต-ตาบิอีน มิใช่ชนรุ่นเศาะหาบะฮฺ และชนรุ่นอัต-ตาบิอีนที่ว่าก็คือ มัรวาน อิบนุ อัล-หะกัมกับอัล-หัจญาจ อิบนุ ยูสุฟ มิใช่ชนรุ่นอัต-ตาบิอีนทั้งหมด อัต-ตีญานียฺจึงเขียนเปิดประเด็นใหม่เพื่อกลบเกลื่อนความผิดพลาดของตนว่า :

 

 

และเพื่อที่ผู้หนึ่งจะได้ไม่เข้าใจคลุมเครือว่า แท้จริง บรรดาอัต-ตาบิอีนคือผู้ที่เปลี่ยนแปลงสิ่งที่พวกเขาได้เปลี่ยนแปลงหลังเหตุการณ์ความวุ่นวายและการสู้รบดังกล่าว ข้าพเจ้าใคร่ที่จะกล่าวเตือนให้นึกขึ้นได้ว่า แท้จริงบุคคลแรกที่เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในการละหมาดก็คือเคาะลีฟะฮฺของชาวมุสลิมเอง อุษมาน อิบนุ อัฟฟาน และมารดาของศรัทธาชน อาอิชะฮฺก็เช่นกัน แน่แท้อัล-บุคอรียฺและมุสลิมได้บันทึกไว้ในเศาะฮีหฺของทั้งสองว่า : แท้จริงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ละหมาดที่มินา 2 รอกอะฮฺ และอบูบักร์หลังท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และอุมัรฺ หลังจากอบูบักร์ ตลอดจนอุษมานในช่วงต้นการเป็นเคาะลีฟะฮฺของเขา ต่อมาภายหลังอุษมานได้ละหมาด 4 รอกอะฮฺ (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ 2/145 , เศาะฮีหฺมุสลิม 1/260) มุสลิมได้บันทึกในเศาะฮีหฺของเขาอีกเช่นกันว่า : อัซ-ซุฮฺรียฺกล่าวว่า “ฉันได้กล่าวแก่อุรวะฮฺว่า อะไรคือเรื่องราวของอาอิชะฮฺที่นางทำละหมาดเต็มในการเดินทาง? อุรวะฮฺกล่าวว่า : “แท้จริงนางได้ตีความเหมือนอย่างที่อุษมานได้เคยตีความ” (เศาะฮีหฺมุสลิม 2/143 กิตาบการละหมาดของบรรดาผู้เดินทาง)

 

 

มหาบริสุทธิ์แด่อัลลอฮฺ! ยังมีการตีความที่ทำลายสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อื่นจากนี้ และการตีความที่คล้ายๆ กันนี้ด้วยอีกหรือ? หลังจากนี้ยังจะมีผู้ใดอีกเล่าที่จะกล่าวตำหนิอบูหะนีฟะฮฺหรือคนหนึ่งจากบรรดาอิมามเจ้าของมัซฮับต่างๆ ที่พวกเขาได้ตีความ แล้วพวกเขาก็ถือว่าเป็นที่อนุมัติ และเป็นที่ต้องห้ามตามการตีความของพวกเขาและการวิเคราะห์ของพวกเขาโดยถือตามสุนนะฮฺของบรรดาเศาะหาบะฮฺเหล่านั้นในเรื่องดังกล่าวได้อีกเล่า?” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ ฉบับภาษาอาหรับ หน้า 131)

 

 

วิภาษ

1) ละหมาดที่ถูกระบุในเรื่องของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) คือละหมาดของผู้เดินทาง ไม่ใช่การละหมาดในยามปกติ อัล-หะดีษระบุชัดว่าเป็นการละหมาดที่ทุ่งมินาในกรณีของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ซึ่งอิมามมุสลิมบันทึกไว้ในกิตาบการละหมาดของบรรดาผู้เดินทาง

 

2) เรื่องการละหมาด 4 รอกอะฮฺหรือละหมาดย่อ (กอศร์) 2 รอกอะฮฺของผู้เดินทางเป็นประเด็นข้อปลีกย่อยทางนิติศาสตร์ว่าด้วยเรื่องข้อผ่อนผัน (รุคเศาะฮฺ) มิใช่ประเด็นหลักมูลฐาน (อุศูล) ทางศาสนา และมิใช่ประเด็นเรื่องอัล-หะลาลและอัล-หะรอมอย่างที่อัต-ตีญานียฺพยายามเขียนให้เข้าใจว่าเศาะหาบะฮฺเปลี่ยนแปลงหลักการของศาสนาในเรื่องที่มีตัวบทเด็ดขาด ซึ่งมิอาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ หากอัต-ตีญานียฺมีความรู้ในด้านนิติศาสตร์ตามมัซฮับของชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ อัต-ตีญานียฺก็ไม่น่าที่จะหยิบยกประเด็นนี้มากล่าวหาเศาะหาบะฮฺ แต่ที่นำเรื่องนี้มาเขียนก็เพราะไม่สามารถจะค้นหาหลักฐานที่ชัดเจนมาสนับสนุนข้อเขียนของตนว่าเศาะหาบะฮฺเปลี่ยนแปลงและบิดเบือนสุนนะฮฺในเรื่องการละหมาดจริงๆ นั่นเอง

 

 

กล่าวคือ ถ้ามีรายงานระบุว่า ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) เปลี่ยนการละหมาดมัฆริบเป็น 4 รอกอะฮฺ หรือเพิ่มจำนวนละหมาดศุบหิอีก 2 รอกอะฮฺเป็น 4 รอกอะฮฺ กรณีนี้ถ้ามีรายงานระบุอย่างนั้นก็น่าจะชัดเจนว่าท่านอุษมาน (ร.ฎ.) เปลี่ยนแปลงเรื่องการละหมาดฟัรฎู แต่นี่เป็นกรณีของการละหมาดย่อหรือละหมาดเต็มที่ทุ่งมินาหรือในระหว่างการเดินทาง ซึ่งการละหมาดเต็มคือหลักเดิม และการละหมาดย่อเป็นข้อผ่อนผัน (รุคเศาะฮฺ) ในการเดินทาง

 

 

และการละหมาดเต็มหรือละหมาดย่อในระหว่างการเดินทางเป็นเรื่องที่อนุญาตให้เลือกกระทำได้เพราะมีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : “ฉันได้ออกไปพร้อมกับท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แล้วท่านก็จะละศีลอด และฉันถือศีลอด และท่านละหมาดย่อ และฉันละหมาดเต็ม ฉันจึงกล่าวว่า : โอ้ ท่านรสูลลุลลอฮฺ ท่านละศีลอดและฉันถือศีลอด และท่านละหมาดย่อ และฉันละหมาดเต็ม? ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวว่า เธอทำดีแล้ว โอ้  อาอิชะฮฺ” (บันทึกโดย อัน-นะสาอียฺ , อัด-ดาเราะกุฏนียฺ และอัล-บัยฮะกียฺด้วยสายรายงานที่หะสันหรือเศาะฮีหฺ และอัล-บัยฮะกียฺกล่าวไว้ในสุนัน อัล-กะบีรฺ ว่า อัด-ดาเราะกุฏนียฺกล่าวว่า สายรายงานของหะดีษนี้หะสัน และกล่าวไว้ในมะอฺริฟะฮฺ อัส-สุนัน วัล-อาษารฺว่า เป็นสายรายงานที่เศาะฮีหฺ –กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ 4/218-)

 

 

หะดีษนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่า อนุญาตให้ถือศีลอดและละหมาดเต็มได้ในการเดินทาง และอีกรายงานหนึ่งท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) กล่าวว่า “แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยละหมาดย่อและละหมาดเต็มในการเดินทาง และเคยละศีลอดและถือศีลอด” (บันทึกโดย อัด-ดาเราะกุฏนียฺ , อัล-บัยฮะกียฺ และท่านอื่นๆ อัล-บัยฮะกียฺระบุว่า อัด-ดาเราะกุฏนียฺกล่าวว่า สายรายงานเศาะฮีหฺ –กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ 4/222-)

 

 

หะดีษนี้ระบุชัดเจนว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยละหมาดย่อและละหมาดเต็มในการเดินทาง ทั้งการละหมาดย่อและละหมาดเต็มเป็นสุนนะฮฺที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยกระทำไว้ แล้วเหตุไฉนอัต-ตีญานียฺจึงกล่าวหาท่านอุษมาน (ร.ฎ.) และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่าทั้งสองเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไปเสียได้ ทั้งๆ ที่การละหมาดเต็มในระหว่างการเดินทางก็เป็นสุนนะฮฺที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยกระทำไว้ และรับรองการรกระทำของท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) เอาไว้ด้วยซ้ำ

 

 

 

3) การละหมาดย่อและการละหมาดเต็มเป็นสิ่งที่อนุญาตให้ผู้เดินทางสามารถเลือกกระทำได้ ถึงแม้ว่าการละหมาดย่อจะเป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่าการละหมาดเต็ม เพราะส่วนมากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะละหมาดย่อในการเดินทาง และนี่เป็นสิ่งที่บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีความเข้าใจ โดยมีรายงาน ระบุว่าเป็นทัศนะของท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) ท่านสะอฺด์ อิบนุ อบีวักกอศ (ร.ฎ.) ท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ท่านอิบนุ มัสอูด (ร.ฎ.) ท่านอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) ท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) และมีรายงานจากอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ , อิมามมาลิก , อะหฺมัด , อัช-ชาฟิอียฺ , อบูเษาริน และ มัซฮับของนักปราชญ์อะฮฺลิสสุนนะฮฺส่วนใหญ่ อิมามอัล-บัยฮะกียฺได้รายงานจากท่านสัลมาน อัล-ฟาริสียฺ (ร.ฎ.) ในหมู่เศาะหาบะฮฺจำนวน 12 ท่าน และจากท่านอนัส (ร.ฎ.) ตลอดจน         เศาะหาบะฮฺท่านอื่นๆ (ดู กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ 4/220)

 

 

 

4) หะดีษที่อัต-ตีญานียฺนำมากล่าวอ้างระบุว่าท่านอุษมาน (ร.ฎ.) เองก็ละหมาดย่อ 2 รอกอะฮฺที่มินาในช่วงต้นการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านเช่นเดียวกับที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และเคาะลีฟะฮฺทั้งสองก่อนหน่าท่านได้ปฏิบัติโดยท่านอุษมาน (ร.ฎ.) เคยนำละหมาดย่อ 2 รอกอะฮฺเป็นเวลา 6 ปี (ในบางรายงานระบุว่า 7 ปี) ต่อมาก็ละหมาดเต็มที่มินา ตามที่มีรายงานจากท่านอิมรอน อิบนุ อัล-หุศอยนฺ (ร.ฎ.) ระบุไว้ บันทึกโดยอัต-ติรฺมิซียฺ ซึ่งกล่าวว่าเป็นหะดีษหะสันเศาะฮีหฺ และอัล-บุคอรียฺ-มุสลิมรายงานจากอิบนุ มัสอูด (ร.ฎ.) และอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) ในความหมายเดียวกัน (ดู กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ 4/218)

 

 

เหตุที่ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ได้นำละหมาดเต็ม 4 รอกอะฮฺ ณ ทุ่งมินานั้นมีรายงานจากอัซ-ซุฮฺรียฺ (ร.ฮ.) ว่า : “แท้จริง อุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) ได้ละหมาดเต็มที่มินาก็อันเนื่องมาจากพวกอะอฺร็อบ (อาหรับชนบท) เพราะในปีนั้นพวกอะอฺร็อบมีเป็นจำนวนมาก ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) จึงนำผู้คนละหมาด 4 รอกอะฮฺเพื่อสอนให้พวกนั้นรู้ว่าละหมาดนั้นมี 4 รอกอะฮฺ” (สุนัน อบีดาวูด หะดีษเลขที่ 1964 , ฟัตหุลบารียฺ 2/665) และอิบนุหะญัรฺกล่าวว่า : แท้จริงอุษมาน (ร.ฎ.) ละหมาดเต็มเป็นเพราะท่านเห็นว่าการละหมาดย่อเป็นเรื่องเฉพาะของผู้ที่อยู่ในสภาพของผู้เดินทาง ส่วนผู้ที่ลงพำนักในระหว่างการเดินทางของตน ณ สถานที่แห่งหนึ่งแล้ว ผู้นั้นก็มีข้อชี้ขาดของผู้ที่ไม่ได้เดินทาง จึงทำละหมาดเต็ม (ฟัตหุลบารียฺ 2/665)

 

 

ส่วนกรณีของท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) นั้น ท่านหญิงได้ตีความเหมือนกับท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ในประเด็นการทำละหมาดเต็ม และมีสาเหตุระบุว่า ท่านหญิงจะละหมาด 4 รอกอะฮฺในการเดินทาง จึงมีผู้กล่าวกับท่านหญิงว่า หากท่านหญิงละหมาด 2 รอกอะฮฺก็คงจะดี ท่านหญิงจึงกล่าวว่า “โอ้ บุตรชายพี่น้องหญิงของฉัน แท้จริง มัน (การละหมาดเต็ม) ไม่ได้ทำให้ฉันลำบากแต่อย่างใด” (อัล-บัยฮะกียฺบันทึกจากสายรายงานของฮิชาม อิบนุ อุรฺวะฮฺ จากบิดาของเขาเป็นสายรายงานที่เศาะฮีหฺ) และนี่บ่งชี้ว่า ท่านหญิงได้ตีความว่า การละหมาดย่อนั้นเป็นข้อผ่อนผัน (รุคเศาะฮฺ) และการละหมาดเต็มสำหรับผู้ที่ไม่มีความลำบากเหนือเขาเป็นสิ่งที่ดีกว่า (อ้างแล้ว 2/665)

 

 

การตีความของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ต่างก็อยู่ในกรอบที่ว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยละหมาดย่อและละหมาดเต็มในการเดินทาง และการละหมาดย่อหรือละหมาดเต็มเป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้ ตลอดจนการละหมาดย่อเป็นข้อผ่อนผันสำหรับผู้เดินทาง ไม่ใช่สิ่งที่วาญิบตามทัศนะของปวงปราชญ์เศาะหาบะฮฺและชนรุ่นอัต-ตาบิอีน และไม่มีรายงานระบุว่าท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ถือว่าการละหมาดเต็มเป็นสิ่งจำเป็นโดยไม่อนุญาตให้ละหมาดย่อ เพราะถ้าท่านหญิงถือเช่นนั้นก็เท่ากับขัดกับสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่ท่านละหมาดย่อในการเดินทางโดยส่วนใหญ่

 

 

อีกทั้งการละหมาดเต็มของท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นการละหมาดเฉพาะของท่านหญิงที่ท่านหญิงระบุว่าไม่ใช่เรื่องที่ลำบากสำหรับท่านหญิงในการละหมาดเต็ม และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็รับรองการกระทำของท่านหญิงตามที่มีรายงานระบุไว้ เหตุที่ว่าการละหมาดเต็มเป็นเรื่องเฉพาะของท่านหญิงก็เพราะท่านหญิงมิได้เป็นอิมามนำละหมาดผู้ใด ต่างจากกรณีของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ซึ่งเป็นอิมามนำผู้คนละหมาด ซึ่งท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ก็เคยนำผู้คนละหมาดย่อที่มินาในช่วง 6-7 ปี ตามที่ท่านอิมรอน อิบนุ อัล-หุศอยน์ (ร.ฎ.) รายงาน ต่อมาท่านก็นำผู้คนละหมาดเต็มที่มินา เพราะท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ถือว่าการละหมาดเต็มหรือการละหมาดย่อในการเดินทางเป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้ เนื่องจากมีสุนนะฮฺระบุว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยละหมาดเต็มในการเดินทางเช่นกัน

 

 

การละหมาดเต็มของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) จึงไม่ใช่การกระทำที่ขัดกับสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวหา กอปรกับมีสาเหตุที่ทำให้ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ต้องละหมาดเต็มที่มินาหลังปีที่ 6 หรือ 7 ในช่วงต้นการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่าน ซึ่งท่านเคยนำผู้คนละหมาดย่อมาก่อน โดยมีพวกอะอฺร็อบบางคนที่เคยร่วมละหมาดย่อกับท่านในช่วง 6 หรือ  7 ปีแรกเข้าใจว่าการละหมาดที่มินาคือ 2 รอกอะฮฺเท่านั้น เมื่อพวกอะอฺร็อบกลับไปยังกลุ่มชนของพวกเขาก็กล่าวกับกลุ่มชนของตนว่า การละหมาดนั้นมี 2 รอกอะฮฺ (คือละหมาดซุฮฺริ , อัศริ และอิชาอฺ) เหมือนอย่างที่พวกเราได้ละหมาดที่มินาพร้อมกับเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) ซึ่งความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหมู่ชาวอะอฺร็อบที่รับฟังเกิดขึ้นด้วยการละหมาดฟัรฎูทั้ง 3 เวลานั้นเพียง 2 รอกอะฮฺในแต่ละเวลาภายในบ้านของพวกเขา

 

 

เมื่อถึงปีที่พวกอะอฺร็อบมาร่วมประกอบพิธีหัจญ์กับท่านอุษมาน (ร.ฎ.) เป็นจำนวนมากในปีนั้น และท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ได้รู้ถึงคำพูดของพวกอะอฺร็อบที่บอกกล่าวกับกลุ่มชนของตนว่า การละหมาดใน 3 เวลานั้นมี 2 รอกอะฮฺ เหตุนั้นท่านอุษมาน (ร.ฎ.) จึงนำผู้คนละหมาดเต็ม 4 รอกอะฮฺเพื่อสอนให้ผู้คนโดยเฉพาะพวกอะอฺร็อบ (อาหรับชนบท) ให้รู้ว่า การละหมาดฟัรฎู 3 เวลา (ซุฮริ – อัศริ และอิชาอฺ) นั้นมี  4 รอกอะฮฺ และแสดงให้รู้ว่าการละหมาดย่อในระหว่างการเดินทางหรือการละหมาดที่มินาในช่วงหลังเสร็จขั้นตอนของพิธีกรรมหัจญ์นั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่สามารถละหมาดเต็มได้ ตามที่อบูนุอัยบฺได้ระบุไว้ในตำราอัล-อิมามะฮฺ วัรฺรอดดุอะ อัรรอฟิเฎาะฮฺ (หน้า 312)

 

 

และการละหมาดของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) นั้นเมื่อท่านได้มาถึงนครมักกะฮฺ ท่านละหมาดซุฮฺริ อัศริ และอิชาอฺในแต่ละเวลาจำนวน 4 รอกอะฮฺที่นครมักกะฮฺ ต่อมาเมื่อท่านออกไปยังทุ่งมินาในวันอัต-ตัรฺวียะฮฺและทุ่งอะเราะฟะฮฺในวันวุกุฟ ท่านก็นำผู้คนละหมาดย่อ ครั้นเมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนของการประกอบพิธีหัจญ์ที่เป็นรุก่นแล้ว ท่านก็อยู่ที่มินาโดยทำละหมาดเต็ม ตามที่อิมามอะหฺมัดบันทึกไว้ในมุสนัดของท่าน ด้วยสายรายงานที่ดีจากอับบาด อิบนุ อับดิลลาฮฺ อิบนิ อัซ-ซุบัยรฺ (มุสนัด 4/94 , ฟัตหุลบารียฺ 2/571)

 

 

จะเห็นได้ว่าท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ได้ทำละหมาดย่อที่ทุ่งมินาในวันอัต-ตัรวียะฮฺและที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺในวันวุกุฟเช่นกัน ส่วนการละหมาดเต็มนั้นเกิดขึ้นที่ทุ่งมินาในช่วงของวันที่มีการมะบีตที่ทุ่งมินาหลังการประกอบพิธีหัจญ์ ทั้งนี้ในตารีคอัฏ-เฏาะบะรียฺระบุว่า ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ได้ละหมาดเต็มที่มินาและอะเราะฟะฮฺด้วย (ตะรีคอัฏ-เฏาะบะรียฺ 2/606) แต่ที่มีรายงานตรงกันนั้นคือที่ มินา

 

 

5) การละหมาดเต็มในระหว่างการเดินทาง มิใช่เป็นสิ่งที่ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) เพียง 2 ท่านมีความเห็นว่าสามารถกระทำได้เท่านั้น หากแต่เศาะหาบะฮฺจำนวนหนึ่งก็มีความเห็นเช่นเดียวกับทั้ง 2 ท่าน อบูนุอัยมฺกล่าวว่า : แน่แท้ กลุ่มหนึ่งจากบรรดาเศาะหาบะฮฺได้มีทัศนะในการละหมาดเต็มในการเดินทาง ส่วนหนึ่งคือท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) และบิดาของพระนาง , อุษมาน (ร.ฎ.) และท่านสัลมาน อัล-ฟาริสียฺ (ร.ฎ.) ตลอดจนเศาะหาบะฮฺ 14 ท่าน ของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) (อัล-อิมามะฮฺ หน้า 312)

 

 

ดังนั้น เมื่อท่านสัลมาน อัล-ฟาริสียฺ (ร.ฎ.) ซึ่งอัต-ตีญานียฺระบุว่าท่านสัลมาน (ร.ฎ.) คือเศาะหาบะฮฺผู้รู้คุณซึ่งไม่เคยบิดพลิ้วต่อพันธสัญญาของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) –ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 158 – ก็มีทัศนะเช่นเดียวกับท่านอุษมาน (ร.ฎ.) และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ในเรื่องนี้หากการละหมาดเต็มในการเดินทางของท่านอุษมาน (ร.ฎ.ป และท่านหญิง  อาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นการเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวหา แล้วกรณีของท่านสัลมาน อัล-ฟาริสียฺ (ร.ฎ.) เล่า อัต-ตีญานียฺจะว่าอย่างไร?

 

 

บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทั้งผู้ที่กล่าวว่าให้ละหมาดเต็มในการเดินทางได้ และผู้ที่กล่าวว่าให้ละหมาดย่อในการเดินทางโดยถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่ก็ตาม พวกท่านเหล่านั้นไม่ได้ตำหนิกันเองในเรื่องนี้ ดังที่อิบนุ อบีชัยบะฮฺได้บันทึกไว้จากอับดุรเราะหฺมาน อิบนุ หุศอยนฺ จากอบีนุญัยหฺ อัล-มักกียฺ ว่า : บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ร่วมกันในการเดินทาง ก็ปรากฏว่าบางคนของพวกเขาละหมาดเต็ม บางคนละหมาดย่อ บางคนถือศีลอด และบางคนก็ไม่ถือศีลอด พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ตำหนิต่อพวกเขาเหล่านี้ และพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้ตำหนิต่อพวกเขาเหล่านั้น” (อัล-มุศอนนัฟ ; อิบนุ อบีชัยบะฮฺ 2/208)

 

 

กล่าวคือ บรรดาเศาะหาบะฮฺมิได้ตำหนิระหว่างกันกรณีปฏิบัติต่างกันในเรื่องดังกล่าว ช่วงเวลา 6 ปีที่ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) เดินทางมาประกอบพิธีหัจญ์และละหมาดเต็มที่มินาคือปี ฮ.ศ. ที่ 29 (อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ ; อิบนุ กะษีรฺ 7/206) และหลังจากนั้นท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ก็ยังได้เดินทางมาประกอบพิธีหัจญ์อีกในปี ฮ.ศ. ที่ 30 ซึ่งอัฏเฏาะบะรียฺระบุว่า ท่านละหมาดเต็มที่มินา (ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 2/617) ส่วนในปี ฮ.ศ. ที่31 ,  33 และ ฮ.ศ. 34  (อัล-บิดายะฮฺ 7/210 , 216 , 218) นั้นไม่มีระบุว่าท่านอุษมาน (ร..ฎ.) ได้ทำการละหมาดเต็มในช่วงปีดังกล่าว ณ ทุ่งมินาหรือไม่? จึงเป็นไปได้ว่า การทำละหมาดเต็ม ณ ทุ่งมินาของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) เกิดขึ้นใน ปี   ฮ.ศ. ที่ 29 และปี ฮ.ศ. ที่ 30 เท่านั้น และในปีหลังจากนั้นก็เป็นไปได้ว่าท่านอุษมาน (ร.ฎ.) อาจจะละหมาดย่อเหมือนเมื่อครั้งช่วงต้นการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านราว 6-7 ปีตามที่มีรายงานระบุมา

 

 

อย่างไรก็ตามหากยอมรับข้อกล่าวหาของอัต-ตีญานียฺที่มีต่อท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ว่า เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งเราได้อธิบายมาแล้วว่าหาเป็นเช่นนั้นไม่ เราก็กล่าวได้ว่านั่นเป็นการกระทำของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ตามที่ท่านมีทัศนะและวิเคราะห์ตามความเข้าใจของท่าน และนั่นก็ไม่ได้หมายความว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งหมดเห็นด้วยกับการกระทำของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ในกรณีการละหมาดเต็มทีมินาในปี ฮ.ศ. 29 เพราะท่านอะลี (ร.ฎ.) อับดุรเราะหฺมาน อิบนุ เอาวฺฟ์ (ร.ฎ.) และอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอูด (ร.ฎ.) ได้แสดงการคัดค้านและถกเถียงกับท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ในเรื่องนี้ (อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ 7/206)

 

 

การเขียนในทำนองเหมารวมของอัต-ตีญานียฺว่าเศาะหาบะฮฺเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงค้านกับกรณีของเศาะหาบะฮฺทั้ง 3 ท่าน ที่ไม่เห็นด้วยกับท่านอุษมาน (ร.ฎ.) กระนั้นการ ค้านของเศาะหาบะฮฺทั้ง 3 ท่านที่มีต่อท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ก็เป็นการอ้างถึงสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และเคาะลีฟะฮฺทั้งสองรวมถึงการกระทำของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ในช่วงแรกนับจากการเป็นเคาะลีฟะฮฺโดยมิได้กล่าวหาว่าท่านอุษมาน (ร.ฎ.) เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวหาเพราะอัฏ-เฏาะบะรียฺได้บันทึกในตารีคของท่านว่า : แท้จริงอับดุรเราะหฺมาน อิบนุ เอาวฺฟ์ (ร.ฎ.) ได้พูดกับอุษมานในกรณีการละหมาดเต็มของอุษมาน (ร.ฎ.) แล้วอุษมาน (ร.ฎ.) ก็อ้างเหตุผลแก่อับดุรเราะหฺมาน (ร.ฎ.) (คือพวกอะอฺร็อบหรือพวกยะมันอาจจะเข้าใจผิดว่าการละหมาดฟัรฎูประจำเวลานั้นมี 2 รอกอะฮฺเพราะท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ได้เคยทำละหมาดย่อเอาไว้ก่อนหน้าปีนั้น)

 

 

แล้วอับดุรเราะหฺมาน (ร.ฎ.) ก็ออกไปแล้วพบกับอิบนุมัสอูด (ร.ฎ.) และกล่าวกับอิบนุมัสอูด (ร.ฎ.) ว่า : โอ้ อบามุฮัมมัด เป็นสิ่งอื่นที่รู้กัน? (หมายถึงการละหมาดเต็มของอุษมาน (ร.ฎ.) เป็นสิ่งอื่นที่เคยรู้กันว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และเคาะลีฟะฮฺทั้งสองรวมถึงอุษมานเองได้กระทำมาก่อนหน้านี้) อิบนุ มัสอูด (ร.ฎ.) กล่าวว่า : ไม่หรอก! อับดุรเราะหฺมานกล่าว : เช่นนั้นอะไรเล่าที่ฉันจะทำ? อิบนุมัสอูดกล่าวว่า : ท่านจงปฏิบัติตามสิ่งที่ท่านรู้ และการขัดแย้งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี แน่แท้ฉันรู้มาว่า “เขา (อุษมาน) ละหมาด 4 รอกอะฮฺ ฉันจึงนำพรรคพวกของฉันละหมาด 4 รอกอะฮฺ” อับดุรฺเราะหฺมานจึงกล่าวว่า : แน่แท้ ฉันก็รู้มาว่าเขาละหมาด 4 รอกอะฮฺ แล้วฉันก็นำพรรคพวกของฉัน 2 รอกอะฮฺ มาบัดนี้สิ่งที่ท่านกล่าวจะเกิดขึ้น หมายถึง พวกเราจะละหมาดพร้อมกับเขา (อุษมาน) 4 รอกอะฮฺ” (ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 4/268)

 

 

จะเห็นได้ว่า ท่านอิบนุมัสอูด (ร.ฎ.) ไม่ได้กล่าวหาท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ว่าเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทั้งๆ ที่เป็นผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ในการละหมาดเต็ม แต่ที่ท่านละหมาดเต็มตามท่านอุษมาน (ร.ฎ.) เพราะท่านอิบนุมัสอูด (ร.ฎ.) เห็นว่าการละหมาดเต็มเป็นสิ่งที่กระทำได้ ถึงแม้ว่าการละหมาดย่อจะเป็นสิ่งที่ท่านเห็นว่าดีกว่าเพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้เคยกระทำไว้ แต่การขัดแย้งในเรื่องที่อนุญาตให้กระทำได้คือการละหมาดเต็ม (เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็เคยกระทำไว้เช่นกัน) กับการละหมาดย่อซึ่งดีกว่าย่อมไม่เป็นผลดี และถ้าหากการละหมาดเต็มเป็นสิ่งที่ผิดพลาดและค้านกับสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยเด็ดขาดแล้วท่านอิบนุมัสอูด (ร.ฎ.) ก็คงไม่ละหมาดเต็มและพูดกับท่านอับดุรเราะหฺมานจนยอมรับและเห็นด้วยในเรื่องนี้อย่างแน่นอน

 

 

6) การละหมาดย่อ 2 รอกอะฮฺที่มินาในช่วงก่อนปี ฮ.ศ. ที่ 29 เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ได้รักษาสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และเคาะลีฟะฮฺทั้งสองท่านก่อนหน้าท่านในเรื่องการละหมาดย่อซึ่งเป็นข้อผ่อนผัน (รุคเศาะฮฺ) ส่วนการละหมาดเต็มของท่านที่มินาในปี ฮ.ศ. ที่ 29 ขณะที่พำนักอยู่ที่มินาหลังเสร็จสิ้นการประกอบพิธีหัจญ์แล้วนั้นมีเหตุผลที่ทำให้ท่านละหมาดเต็มดังที่กล่าวมาแล้ว ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ได้นำผู้คนมาประกอบพิธีหัจญ์ในปี ฮ.ศ. ที่ 30 และยังคงทำละหมาดเต็มที่มินา (ตารีค อัฏ-เฏาะบารียฺ 2/617) ในปีถัดมาท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ได้ประกอบพิธีหัจญ์พร้อมกับผู้คน ได้แก่ ปี ฮ.ศ. 31 (ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 2/626 , อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ 7/210)

 

 

ปี ฮ.ศ. ที่ 32 ในตำราทั้งสองไม่ได้ระบุชัดเจนว่าท่านอุษมาน (ร.ฎ.) มาประกอบพิธีหัจญ์ในปีนี้หรือไม่? แต่ในตารีคอัฏ-เฏาะบะรียกล่าวถึงการเสียชีวิตของอบูซัรริน (ร.ฎ.) ที่อัร-เราะบะซะฮฺและระบุว่าคณะของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอูด (ร.ฎ.) ได้นำข่าวการเสียชีวิตของท่านอบูซัรริน (ร.ฎ.) มาบอกท่านเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) ที่นครมักกะฮฺ (ตารีค อัฏ-เกาะบะรียฺ 2/629 , 630) ซึ่งอิบนุกะษีรระบุว่าท่านอบูซัรริน (ร.ฎ.) เสียชีวิตในเดือนซุลหิจญะฮฺ ปี ฮ.ศ. 32 (อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ 7/215) แสดงว่าท่านอุษมาน (ร.ฎ.) น่าจะมาประกอบพิธีหัจญ์ในปี ฮ.ศ. 32 เช่นกัน ต่อมาในปี ฮ.ศ. ที่ 33 และ 34 ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ก็ประกอบพิธีหัจญ์เช่นกัน (อัล-บิดายะฮฺ วัน-ฮายะฮฺ 7/216 , 218 , ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 2/640 , 646)

 

 

และในปี ฮ.ศ. ที่ 35 ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ได้ถูกลอบสังหารเป็นที่น่าสังเกตว่า หลังปี ฮ.ศ. ที่ 30 อัฏ-เฏาะบารียฺไม่ได้ระบุว่าท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ยังคงละหมาดเต็มที่มินาอีกหรือไม่? ต่างจากปี ฮ.ศ. ที่ 29 และ 30 อัฏ-เฏาะบะรียฺระบุชัดเจนว่าท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ละหมาดเต็มที่มินาใน 2 ปีนั้น อิบนุกะษีรระบุว่า การละหมาดเต็มของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ที่นครมักกะฮฺนั่นเป็นเพราะว่าท่านอุษมาน (ร.ฎ.) แต่งงานมีครอบครัวที่มักกะฮฺและตั้งใจลงพักที่มักกะฮฺจึงทำการละหมาดเต็ม (อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ 7/219) นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ได้พูดคุยกับท่านอับดุรเราะหฺมาน อิบนุ เอาวฺฟ์ (ร.ฎ.) นอกเหนือจากเหตุผลของพวกอะอฺร็อบและชาวยะมันที่เข้าใจว่าละหมาดฟัรฎูของผู้ที่ไม่ได้เดินทางมี 2 รอกอะฮฺซึ่งกล่าวถึงมาแล้ว (ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 2/606) และการสิ้นสุดการเดินทางซึ่งข้อผ่อนผัน (รุคเศาะฮฺ) ให้ทำละหมาดย่อสิ้นสุดลงนั้นเกิดขึ้นด้วยเจตนาลงพำนัก (อิกอมะฮฺ) ในสถานที่แห่งนั้น (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ 4/230)

 

 

ดังนั้น หากท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ตั้งเจตนาพำนัก (อิกอมะฮฺ) ที่นครมักกะฮฺเป็นเวลา 10 วัน ก็ย่อมละหมาดเต็มได้ตามทัศนะในมัซฮับอิมามมาลิก , อัช-ชาฟิอียฺ , อะหฺมัดในริวายะฮฺหนึ่งจากท่าน และเป็นทัศนะของอิมามมุฮัมมัด อิบนุ อะลี (ร.ฎ.) (อ้างแล้ว 4/244) และกรณีทีท่านอุษมาน (ร.ฎ.) เจตนาพำนักที่นครมักกะฮฺเป็นเวลา 10 วันนี้เป็นไปได้สูงเพราะท่านได้สมรสกับภรรยาอีกท่านหนึ่งที่นครมักกะฮฺ ตามที่ท่านได้อ้างเหตุผลกับท่านอับดุรฺเราะมาน อิบนุ เอาวฺฟ์ (ร.ฎ.) และการที่บุคคลมีเจตนาพำนักในสถานที่หนึ่ง 10 วันนั้นก็เป็นที่อนุญาตให้ทำละหมาดเต็มได้ตามทัศนะของปวงปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺ ดังที่ อิบนุ บาบาวัยฮฺ อัล-กุมมียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 381) ระบุว่า

 

– 5/1270 และมุอาวียะฮฺ อิบนุ วะฮฺบ์รายงานจากอบี อับดิลลาฮฺ (อ.ล.) ว่า : เมื่อท่านได้เข้ายังเมืองหนึ่งโดยที่ท่านต้องพำนักเป็นเวลา 10 วัน ท่านก็จงทำละหมาดเต็มขณะที่ท่านมุ่งหน้ามาถึง และถ้าหากท่านต้องการพำนักน้อยกว่า 10 วัน ท่านก็จงละหมาดย่อ…(มันลายะหฺฎุรุฮู อัล-ฟะกีฮฺ 1/382 , อัต-ตะฮฺซีบ 3/196-197)

 

 

– 19/1227 และอัศ-ศอดิก (อ.ล.) กล่าวว่า : “ส่วนหนึ่งจากเรื่องที่ถูกสั่งสมไว้ คือการละหมาดเต็มใน 4 แห่ง คือ ที่มักกะฮฺ , มะดีนะฮฺ , มัสญิดอัล-กูฟะฮฺ และหาอิรฺของอัล-หุสัยนฺ (อ.ล.)” (อ้างแล้ว 1/385) ผู้แต่งตำรานี้ (อิบนุบาบาวัยฮฺ อัล-กุมมียฺ) กล่าวว่า : อิมามอัศ-ศอดิก (อ.ล.) หมายความถึงสิ่งดังกล่าวว่า การที่ผู้นั้นจะต้องตั้งใจพำนักเป็นเวลา 10 วันในสถานที่ทั้ง 4 แห่งนี้เพื่อที่ทำละหมาดเต็มได้ (อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน)

 

 

– 20/1285 และสิ่งที่มุฮัมมัด อิบนุ อิสมาอีล อิบนุ บุซัยอฺ รายงานจากอบิลหะสัน อัรฺริฎอ (อ.ล.) ได้ยืนยันสิ่งดังกล่าวว่า : ฉันได้ถามเขา (อบุลหะสัน) ถึงการละหมาดที่มักกะฮฺ และมะดีนะฮฺว่า จะละหมาดย่อหรือละหมาดเต็ม เขากล่าวว่า : “ให้ละหมาดย่อตราบใดที่เขาผู้นั้นไม่ได้ตั้งใจพำนักอยู่เป็นเวลา 10 วัน” (อ้างแล้ว 1/385)

 

 

อบุลกอสิม อัล-คูอียฺ ปราชญ์ชองชีอะฮฺระบุในมินฮาญุศศอลิฮีน ปัญหาข้อที่ 952 ว่า : ผู้เดินทางจะเลือกเอาระหว่างการละหมาดย่อและละหมาดเต็มในสถานที่อันประเสริฐ 4 แห่งคือ มัสญิดหะรอม , มัสญิดนะบียฺ , มัศญิดอัล-กูฟะฮฺ และหะรอมของอัล-หาสัยนฺ (อ.ล.) และการละหมาดเต็มนั้นดีกว่า (อัฟฎอล) และการละหมาดย่อนั้นเป็นการเผื่อเอาไว้ (อะหฺวัฏ) (ดู มินฮาญุศ-ศอลิฮีน 1/255 , ตะหฺรีรฺ อัล-วะสีละฮฺ ; อัล-โคมัยนียฺ 1/264 ปัญหาข้อที่ 8)

 

 

ดังนั้นตามทัศนะของปราชญ์ชีอะฮฺเองได้ระบุว่าในกรณีผู้เดินทางสามารถละหมาดเต็มได้ที่นครมักกะฮฺเมื่อมีเจตนาลงพำนักที่นั่นเป็นเวลา 10 วัน ฉะนั้นหากท่านอุษมาน (ร.ฎ.) มีเจตนาพำนักที่มักกะฮฺและทำละหมาดเต็มก็ย่อมเป็นสิ่งที่ท่านสามารถกระทำได้ เหตุไฉนอัต-ตีญานียฺจึงนับเอาเรื่องการละหมาดเต็มของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) มาเป็นข้อกล่าวหาและโจมตีท่านว่าเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺด้วยเล่า! หากจะค้านว่าการอ้างทัศนะของปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺไม่ตรงกับกรณีการปฏิบัติของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) เราก็ซักค้านได้ว่า กรณีการเจตนาพำนัก 10 วัน ในดินแดนหรือสถานที่ที่ผู้เดินทางเข้ามาถึงและลงพักเป็นสิ่งที่นักปราชญ์ส่วนใหญ่ของทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าผู้นั้นสามารถละหมาดเต็มได้

 

 

เรื่องนี้เป็นประเด็นทางนิติศาสตร์ซึ่งสามารถวิเคราะห์จากตัวบทได้และการวิเคราะห์จากตัวบทก็เป็นสิ่งที่แตกต่างกันได้ และแต่ละกรณีของผู้เดินทางก็มีความแตกต่างกัน บางกรณีก็ให้ละหมาดย่อ บางกรณีก็ให้ละหมาดเต็ม ในส่วนของการละหมาดย่อนั้นก็มีความเห็นต่างกันอีก บ้างก็ว่าจะเป็นต้องละหมาดย่อเมื่อระยะทางหรือกำหนดเวลาเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น กรณีของมัซฮับอัล-หะนะฟียฺที่ระบุเรื่องนี้ไว้และสอดคล้องกับทัศนะของปราชญ์ชีอะฮฺ บ้างก็ว่าผู้เดินทางสามารถเลือกเอาได้ระหว่างการละหมาดย่อและการละหมาดเต็มโดยถือว่าละหมาดย่อดีกว่าอย่างนี้ก็มี ดังกรณีของมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺเป็นต้น

 

 

ดังนั้น เมื่อมีตัวบทที่รายงานจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และบรรดาเศาะหาบะฮฺระบุว่าสามารถละหมาดย่อหรือละหมาดเต็มได้ในการเดินทางนั่นก็ย่อมหมายความว่า ทั้งสองกรณีมีสุนนะฮฺรองรับแล้วว่าสามารถกระทำได้ ถึงแม้ว่าการละหมาดย่อจะดีกว่าในบางกรณีก็ตาม การจะกล่าวหาว่าการทำละหมาดเต็มเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และถือว่าการละหมาดเต็มเป็นสิ่งที่ผิดพลาดโดยสิ้นเชิง จะกระทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อไม่มีหลักฐานที่ถูกต้องใดๆ ระบุมาว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่เคยละหมาดเต็มหรือไม่เคยรับรองว่าสามารถละหมาดเต็มได้ในการเดินทาง แต่ความจริงก็คือมีหลักฐานระบุในกรณีดังกล่าวคือการทำละหมาดเต็มได้ แล้วเหตุไฉนอัต-ตีญานียฺจึงนำเรื่องการทำละหมาดเต็มมากล่าวหาท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ว่าท่านเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไปเสียได้!