สงครามประเพณีระหว่างสยาม-ปัตตานี

        นับแต่ชั้นกรุงศรีอยุธยา สยามกับปัตตานีดารุสสลามได้มีสงครามติดพันระหว่างกัน หลายครั้ง อาทิเช่น ในปีค.ศ.1603, (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช – ราชินีฮิเญา) ค.ศ.1634 (รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง – ราชินีอูงู) ค.ศ.1638 (รัชสมัยราชินีกูนิง) ค.ศ.1691 (ตรงกับรัชสมัยพระเพทราชา-ราชีนีมัส กลันตัน) เป็นต้น แต่ก็ใช่ว่าอาณาจักรทั้งสองจะทำสงครามกันโดยตลอด ในบางรัชสมัยก็มีการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างกันในขั้นปกติ มีการเสด็จเยือนราชสำนักของอยุธยาโดยราชินีของปัตตานีดารุสสลาม ตลอดจนมีการส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทอง (บุหงามัส) ให้กับทางอยุธยา และการศึกระหว่างสองอาณาจักรก็มิใช่เป็นการรุกรานของฝ่ายสยามก่อนเสมอไป เพราะฝ่ายปัตตานีเป็นผู้เริ่มทำสงครามกับหัวเมืองสงขลา-นครศรีธรรมราชของสยามก่อนก็มีปรากฏเช่นกัน

 

        อย่างไรก็ตาม ปัตตานีดารุสสลามก็ยังคงสามารถดำรงอยู่ได้มาโดยตลอดรัชสมัยอยุธยาและกรุงธนบุรี ครั้นลุสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สงครามขั้นแตกหักก็เกิดขึ้น ปัตตานีดารุสสลามแตกในปี พ.ศ.2329 และเกิดสงครามต่อเนื่องมาอีกหลายครั้งในปี พ.ศ.2334, 2351 และ พ.ศ.2375 ตามลำดับ  อิบรอฮีม สุกรี กล่าวใน “ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปาตานี ว่า – “การสูญเสียเอกราชของอาณาจักรปาตานีครั้งนี้นั้น มีความหมายอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ปาตานี จากความพยายามและการเสียสละของบรรดาราชาปาตานีเป็นเวลาร้อย ๆ ปีนั้น ได้รับผลตอบแทนอย่างน่าเศร้าสลด อธิปไตยของอาณาจักรปาตานีและเสรีภาพของชาวปาตานีก็ ตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวสยาม จนตราบเท่าทุกวันนี้” (อิบรอฮีม สุกรี (2541) อ้างจากปัตตานีดารุสสลาม หน้า 44)

 

        เมื่อสยามชนะสงคราม ทหารสยามได้เผาพระราชวังอิสตาน่านีลัม มัสยิดปินตูกืรบัง (มัสยิดกรือเซะ) และบ้านเรือนของราษฎร พร้อมกับได้ยึดเอาปืนใหญ่ 2 กระบอก ที่ชื่อว่า ศรีนากือรีกับศรีปาตานี ลงแพไม้ไผ่เพื่อจะนำไปกรุงเทพฯ แต่ปืนใหญ่ศรีนากือรีนั้นแพแตกตกลงทะเลเสียก่อนและยังได้กวาดต้อนลูกหลานสุลต่านพร้อมด้วยวงศานุวงศ์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่และประชาชนที่ตกเป็นเชลยศึกราว 4,000 คนลงเรือมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯและเพื่อป้องกันมิให้เชลยศึกชาวปาตานีกระโดดทะเลหนี ทหารสยามได้ใช้วิธีร้อยหวายที่เอ็นเหนือส้นเท้าของเชลยและ ผูกพ่วงต่อกันหลาย ๆ คน เชลยที่เป็นหญิงก็ถูกร้อยใบหูผูกพ่วงไว้เช่นเดียวกัน และให้นั่งอยู่ในเรือเดินทางไปจนถึงบางกอก บางคนเจ็บป่วยล้มตายในเรือระหว่างเดินทาง ที่ไม่ตายก็เกิดแผลเป็นฝีเป็นหนอง เจ็บป่วยทุกข์เวทนาเป็นอย่างยิ่ง (อ้างแล้ว น.46)

 

        รัตติยา สาและ ระบุว่า : ชาวบ้านรุ่นคุณตาคุณยายเล่าต่อ ๆ กันมาว่าโหดร้ายมาก เรื่องนี้คงไม่มีใครในสมัยนี้สามารถยืนยันได้ว่าเท็จหรือจริง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ มีเล่าไว้ในบันทึกของ Light ถึง G.G, 12 September, 1786, SSR (FWCP 13 December 1786) บันทึกว่า “ทั้งชาย หญิง คนแก่ และเด็กที่ไม่ได้ทำบาปกรรม ถูกจับมัดแล้วโยนลงบนพื้นดิน แล้วขบวนช้างก็เดินเหยียบจนตาย (รัฐปัตตานีในศรีวิชัย น.249/ปัตตานีดารุสสลาม อารีฟีน บินจิ หน้า 47)

 

        บรรดามุสลิมชาวปัตตานีที่ตกเป็นเชลยและถูกกวาดต้อนไปยังบางกอกได้ถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณจากชาวสยาม พวกเขายังคงอยู่ที่นั่น (บางกอก) และพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงรู้ดีถึงสภาพของพวกเขาตลอดจนสภาพลูกหลานของพวกเขาในรุ่นต่อมาว่าเป็นเช่นไร? (ดร.ร่ออูฟ ชะละบีย์, อัดเดาละฮฺ อัลอิสลามียะฮฺ ฟี ฟะฎอนีย์ ว่า ญุซุร อัลฟิลิบัน ; ดารุ้ลก่อลัม, คูเวต (1982) น.48) เรื่องราวความโหดร้ายของสงครามและความสูญเสียในชีวิต ทรัพย์สิน ตลอดจนการสิ้นสูญอาณาจักรปาตานีดารุสสลามในอดีตเมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมายังคงถูกเล่าขานและถ่ายทอดต่อมาจวบจนทุกวันนี้ ทุกครั้งที่มีการตอกย้ำถึงเหตุการณ์ในอดีต ความชิงชังต่อ ชาวสยามก็ถูกตราตรึงเอาไว้จนยากที่จะเสื่อมคลายและลบเลือนไปจากจิตใจของชาวมุสลิมมลายู ซึ่งนั่นอาจเป็นผลมาจากการมองประวัติศาสตร์ในเชิงลบและพูดถึงเหตุการณ์เลวร้ายแต่เพียงถ่ายเดียว โดยไม่พิจารณาถึงแง่บวกของสงครามในอดีตแต่อย่างใด อีกทั้งข้อมูลของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สงครามระหว่างสยาม-ปัตตานีที่ถูกถ่ายทอดสู่ผู้คนในรุ่นต่อมาก็กลายเป็นข้อเท็จจริงที่มิอาจปฏิเสธหรือวิพากษ์ได้ จนบางครั้งคนมลายูมุสลิมคนใดบังอาจวิพากษ์หรือพูดเป็นอื่นก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนที่ไร้สำนึกในชาติพันธุ์และหลงลืมรากเหง้าของตนเองไปในที่สุด

 

        เราไม่ปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่า มีสงครามระหว่างสยาม-ปัตตานีในอดีตและความทารุณโหดร้ายจากภาวะสงครามที่เกิดขึ้นกับผู้คนทุกระดับชั้นนับแต่ผู้ปกครอง ขุนนาง ทหารและชาวบ้านที่เปรียบดังหญ้าแพรกซึ่งแหลกลาญอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก สงครามในทุกยุคทุกสมัยย่อมมีการสูญเสียเป็นธรรมดาทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าเรามีมุมมองและทัศนคติอย่างไร? ในการมองประวัติศาสตร์ของสงครามเหล่านั้นต่างหาก สำหรับชาวมุสลิมแล้ว การอธิบายประวัติศาสตร์จำต้องคำนึงถึงหลักการของศาสนาเป็นที่ตั้ง ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปนั้นต่างก็ดำเนินไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ.) นักวิชาการศาสนาเรียกพระประสงค์ประเภทนี้ว่า إرادة كونية ซึ่งสอดคล้องกับประโยคที่ชนรุ่นสะลัฟ ซอลิฮฺมักนำมากล่าวว่า (ماشاءالله كان ومالم يشألم يكن) “สิ่งใดที่พระองค์อัลลอฮฺทรงประสงค์แล้วไซร้ สิ่งนั้นย่อมเป็นไป และสิ่งใดที่พระองค์อัลลอฮฺไม่ทรงมีพระประสงค์แล้วไซร้ สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นไป, ย่อมไม่เกิดขึ้น” ชาวสยามที่กระทำทารุณกรรมอย่างโหดร้ายต่อชาวมุสลิมปัตตานีในอดีตต่างก็สิ้นชีวิตไปหมดสิ้นแล้ว พวกเขาได้พบกับผลกรรมที่พวกเขาได้กระทำเอาไว้แล้ว

تلك أمة قدخلت لهاماكسبت ولكم ماكسبتم ولاﺘﺴﺌﻠﻮﻦ عما كانوايعملون  البقرة ١٤١    

“ดังกล่าวนั้นคือประชาชาติที่ผ่านพ้นมาแล้ว สำหรับประชาชาตินั้นคือสิ่งที่พวกเขาขวนขวายเอาไว้ และสำหรับพวกท่านคือสิ่งที่พวกท่านขวนขวายเอาไว้ และพวกท่านจะไม่ถูกสอบถามถึงสิ่งที่พวกเขาได้กระทำเอาไว้”
(อัลบะกอเราะฮฺ : 141)

        ชาวสยามในยุคปัจจุบันนั้นเล่าพวกเขาต้องแบกรับความผิดหรือบาปกรรมทีรุ่นก่อนกระทำเอาไว้ด้วยหรือ? ทั้งๆ ที่มีพระดำรัสระบุเอาไว้ว่า (ولاتزروازرة وزرأخرى) الأنعام ٤٦١ ซึ่งมีความหมายว่า : “ชีวิตหนึ่งย่อมจะไม่แบกรับความผิด (บาป) ของอีกชีวิตหนึ่งและมนุษย์คนหนึ่งจะไม่ถูกเอาโทษเนื่องด้วยเหตุการประพฤติบาปของผู้อื่น” (มุฮำหมัด อะลี อัซซอบูนีย์ ; ซอฟวะฮฺ อัตตะฟาซีร ; ดารุซซอบูนีย์ กรุงไคโร 1/432)

 

        หากเราพิจารณาถึงผลของสงครามในอดีตระหว่างสยาม-ปัตตานีในเชิงบวก เราจะพบว่า สงครามในอดีตมิใช่ความปราชัยอย่างสิ้นเชิงของชาวมุสลิมมลายู เพราะศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมยังคงดำรงอยู่ในดินแดนของปัตตานีดารุสสลามเดิม มิได้ถูกกวาดล้างจนสูญสิ้นไป ทุกวันนี้ชาวมุสลิมมลายูยังคงเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ในพื้นที่ การญิฮาดเพื่อเทิดทูนพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺและเชิดชูศาสนาอิสลามให้สูงส่งยังคงดำเนินต่อไปตามวิถีทางของการญิฮาดที่หลากหลาย ซึ่งมิได้มุ่งหมายเจาะจงว่าจะต้องเป็นการจับอาวุธขึ้นต่อสู้และทำสงครามประหัตประหารกัน เสมอไป และพลเมืองมุสลิมมลายูในนิวาสถานเดิมของปัตตานีดารุสสลามก็กลายเป็นพลเมือง ที่มีสิทธิและหน้าที่ตลอดจนมีศักดิ์และเกียรติภูมิเสมอด้วยพลเมืองกลุ่มอื่น ถึงแม้ว่าจะไม่บริบูรณ์ในบางกรณีก็ตาม แต่ชาวมุสลิมมลายูก็ได้ชื่อว่าเป็นเสรีชนมิใช่เชลยศึกที่ถูกสยามปกครอง อีกต่อไป

 

        สถานการณ์ของบ้านเมืองนี้เปลี่ยนแปลงไปมากกว่าแต่ก่อน การลิดรอนสิทธิและการทำลายวัฒนธรรม มลายู-อิสลาม เฉกเช่นในสมัยรัฐนิยมขอ งจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็พ่ายแพ้ปราชัยต่ออัตลักษณ์อันเข้มแข็งของชาวมุสลิมมลายูอย่างไม่มีวันหวนกลับ ชาวมุสลิมมลายู ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า นโยบายของรัฐที่คลั่งไคล้ชาตินิยมหรือคลั่งชาติมิอาจสลายหรือกลืน อัตลักษณ์ของพวกเขาได้เลย ต่อให้มีบุคคลเช่นจอมพลป.พิบูลสงครามอีก 10 คนก็ไม่สามารถทำลายอัตลักษณ์นั้นลงได้ อินชาอัลลอฮฺ ทุกวันนี้เรามิได้ถูกสยามปกครองแต่ฝ่ายเดียวแต่เรา ได้กลายเป็นเจ้าของประเทศผู้มีส่วนร่วมในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ที่เอื้ออำนวยต่อการคงอยู่ของศาสนาอิสลามและวัฒนธรรมของชาวมุสลิมในประเทศไทย ปัญหาอยู่ที่ว่า เราชาวมุสลิมมลายูยอมรับในการมีส่วนร่วมนั้นหรือไม่?

 

        การกวาดต้อนเทครัวเชลยศึกจากหัวเมืองมลายูไปสู่หัวเมืองรายทางและกรุงเทพฯตลอดจนเขตปริมณฑลนั้น หากมองว่าโหดร้ายทารุณเต็มไปด้วยทุกขเวทนาแสนสาหัส ก็มองได้แต่ก็ต้องคำนึงด้วยว่านั่นเป็นข้อเท็จจริงของจารีตสงครามในอดีตที่มักจะลงเอยเช่นนั้นอยู่เสมอ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายการกวาดต้อนครอบครัวราษฎร เมื่อฝ่ายชนะสงครามกระทำกับฝ่ายแพ้สงครามในพระราชานุกิจของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามจดหมายหลวงอุดมสมบัติ มีความละเอียดดังต่อไปนี้

 

        มีความอีกข้อ ๑ ซึ่งข้าพเจ้าอยากจะกล่าวไว้ในท้ายหนังสือเรื่องนี้คือ ด้วยเรื่องวิธี กวาดครัว ผู้อ่านจดหมายหลวงอุดมสมบัติ คงจะสังเกตเห็นว่าวิธีราชการในครั้งนั้น ถือเอาธุระในเรื่องกวาดครัวราษฎรพลเมืองที่เข้าด้วยกับพวกประทุษร้ายเอาเข้ามากรุงเทพฯ เป็นการสำคัญอย่าง ๑ บางทีจะมีผู้อ่านในสมัยนี้มีความคิดเห็นว่าวิธีราชการของไทยในครั้งนั้น เป็นการกดขี่ ไพร่บ้านพลเมืองให้ได้รับความเดือดร้อนเหลือก่อน ข้อที่ผู้ต้องถูกกวาดเข้ามาได้รับความเดือดร้อนนั้น ข้าพเจ้าไม่คัดค้าน ถ้าจะดูถึงอกเราอกเขาการที่ต้องถูกบังคับ แม้เพียงให้ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเมือง ก็ต้องรู้สึกเดือดร้อนอยู่เป็นธรรมดา

 

        ข้าพเจ้าประสงค์จะอธิบายข้อนี้ว่า ประเพณีกวาดผู้คนพลเมืองที่ตีได้ไปเป็นเชลยของฝ่ายชนะเป็นประเพณีมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ จะเห็นได้ในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อคราวตีเมืองกลึงคราฐได้กว่า 2000 ปีมาแล้ว พระเจ้าอโศกฯกวาดครอบครัวชาวกลึงคราฐไปเป็นเชลยในครั้งเดียวกว่า 100,000 คน การกวาดครัวที่ถือว่าเป็นประเพณีที่ฝ่ายชนะควรทำนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ด้วยเหตุ 3 ประการคือ

        ประการที่ ๑ การที่กะเกณฑ์ผู้คนยกกองทัพลงไปรบพุ่งถึงจะมีชัยชนะ ผู้คนพลเมืองมีต้องกะเกณฑ์ไปนั้นต้องมีจำนวนล้มตายหายจากมิมากก็น้อย การทำสงครามถึงชนะก็เหมือนกับขาดทุดในส่วนจำนวนผู้คนพลเมืองทุกคราว เมื่อชนะจึงหาผู้คนมาเพิ่มเติมทดแทนเพื่อมิให้ กำลังเมืองลดน้อยถอยลง

        ประการที่ ๒ ผู้ที่ไปทำสงครามแต่ปางก่อน ตั้งแต่ตัวแม่ทัพลงไปไม่ได้รับเงินเดือน อย่างทหารทุกวันนี้ เมื่อทำศึกชนะได้ครอบครัวผู้คนขึ้นมา พวกแม่ทัพนายกองได้รับส่วนแบ่งแจกไปเป็นกำลัง

        ประการที่ ๓ ลักษณะทำการสงครามกันในระหว่างประเทศ หรือ ระหว่างต่างชาติ ต่างภาษา ถึงแต่ก่อนก็เหมือนกับปัจจุบันนี้ ในลักษณะอันหนึ่งคือ ถ้าถึงต้องรบพุ่งขับเคี่ยว หรือถ้าเมืองน้อยเป็นขบถประทุษร้ายต่อเมืองใหญ่ซึ่งเคยเป็นเจ้านาย ข้างฝ่ายชนะย่อมถือว่า ต้องระวังอย่าให้ต้องรบพุ่งหรือเกิดเหตุประทุษร้ายได้ดังเป็นมาแล้วต่อไป การที่กวาดครัวตามประเพณีโบราณถือว่าเป็นการทอนกำลังเมืองแพ้ไม่ให้ต่อสู้คิดร้ายได้ จึงถือกันว่าควรทำ ประเพณีกวาดครัวทำกันมาแต่ดึกดำบรรพ์เห็นจะแทบทุกประเทศ ด้วยเหตุดังแสดงมานี้ มาแก้ไขเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ต่อเมื่อภายหลังด้วยกันทั้งนั้น

 

        เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓ ไทยเรายังนิยมตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณจึงถือว่าการกวาดครอบครัวเป็นการสำคัญอัน ๑ ซึ่งจำต้องทำ แต่ผู้อ่านจะและเห็นได้ในกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่ามิได้ทำโดยปราศจากความเมตตากรุณาแก่ผู้ที่ต้องกวาดมานั้นเลย (เรืองศักดิ์ ดำริห์เลิศ ; ประวัติศาสตร์บ้านครัวฯ กรุงเทพฯ ; อรุณการพิมพ์, 2545 หน้า 18-19) พระกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับเรื่องเชลยศึกที่กวาดต้อนมาจากหัวเมืองมลายูนั้น

 

        มีปรากฏในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ 9 ว่า : “ทรงตรัสถามว่า ครัวซึ่งเอาเข้าไปนั้นเป็นคนที่ไหน เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เป็นคนเมืองจะนะบ้าง เมืองเทพาบ้าง เมืองตานีบ้าง ว่าเป็นคนเมืองไทรบ้างก็มี … ทรงตรัสว่า จนป่านนี้แล้วมันจะมาเมื่อไรอีกเล่า แล้วรับสั่ง สั่งพระยาราชสุภาวดีว่า ดูรับเอาจำนวนครอบครัวที่ส่งเข้าไปมอบให้พระยาราชวังสรรค์” (คือ พระยาราชวังสรรค์เสนีย์ (ฉิม) เป็นขุนนางมุสลิมและเป็นแม่ทัพเรือในสมัยรัชกาลที่ 2 – รัชกาลที่ 3 นั่นเอง – ผู้เขียน) รับเอาไปพักไว้ที่ไหน แต่พอให้มันสบายก่อนเกิดจะเอาไปให้กับใครได้ จะมีเข้าไปมากน้อยอย่างไร ก็มอบให้เป็นบ่าวพระยาราช วังสรรค์หมดนั่นแหล่ะ แล้วรับสั่ง สั่งพระยาราชวังสรรค์ว่า ที่สุเหร่ามีกว้างขวางอยู่ พอจะผ่อนพักไว้ได้ก็รับเอาพักไว้พอให้มันสบายก่อนเถิด พระยาราชวังสรรค์ กราบทูลว่า ที่สุเหร่าคลองนางหงส์ ก็กว้างขวางอยู่พอจะพักอยู่ได้ รับสั่งว่า เออ เอาพักไว้ที่ในนี้ก่อนเถิด ที่มันเจ็บไข้อยู่ ก็ดูขอหมอไปรักษาพยาบาลมันด้วย พระยาเทพกับพระยาราชวังสรรค์อุตส่าห์เอาใจใส่ดูแลเบิกข้าวปลาอาหารให้มันกิน อย่าให้มันอดอยากซวดโซได้ ถ้าข้างหน้ามีครอบครัวส่งข้าวไปอีกมากมายแล้ว จึงค่อยจัดแจงเอาไปตั้งที่แสนแสบข้างนอกทีเดียว ฯ” (อ้างแล้ว หน้า 15-16)

 

        จะเห็นได้ว่า เรื่องราวไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด อย่างน้อยเรื่องของเชลยศึกจากหัวเมืองมลายูก็เป็นสิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงถือเอาเป็นธุระ ผู้รับผิดชอบดูแลก็คือ พระยาราช วังสรรค์ (ฉิม) ซึ่งเป็นขุนนางมุสลิมที่เป็นถึงแม่ทัพเรือและเจ้ากรมอาสาจามที่มีกำลังพลประกอบจากมุสลิมมลายูและมุสลิมจาม (จากเขมร) สถานที่พักของเชลยศึกก็หาใช่คุกตารางไม่ แต่เป็นหมู่บ้านกองอาสาจาม (บ้านครัว) ที่มีมัสยิดเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้เอาไปไว้ที่วัดแต่อย่างใด

 

        เชลยศึกที่เจ็บไข้ก็มีหมอคอยดูแลรักษาพยาบาล ข้าวปลาอาหารก็มีกิน มิได้อดอยาก เพราะพระยาราชวังสรรค์ถือเอาเป็นธุระตามคำรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 นั่นเอง ส่วนการกวาดต้อนเชลยศึกจากปัตตานีดารุสสลามในสมัยรัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 2 นั้นลูกหลานและเชื้อพระวงศ์ ได้ถูกเอาไปไว้หลังวัดอนงคาราม วัดพิชัยญาติฝั่งธนบุรี (บริเวณสี่แยกบ้านแขก) ซึ่งก็อยู่ไม่ห่างจากชุมชนชาวมุสลิมที่มัสยิดต้นสน คลองบางกอกใหญ่มากนัก

 

        ส่วนที่เป็นราษฎรมลายูได้ถูกนำไปไว้ในบริเวณหน้าวัดชนะสงคราม ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหา สุรสิงหนาท กวาดต้อนเข้ามานับแต่ปีพ.ศ.2329 เป็นเชลยของวังหน้า และที่ริมคลองมหานาค ก็มีนิคมชาวมลายูเป็นเชลยของวังหลวง ส่วนที่เป็นขุนศึกนั้นถูกนำไปไว้บริเวณปากคลองเคล็ด ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า เมืองนครเขื่อนขันธุ์ ซึ่งกินอาณาบริเวณถึงฝั่งพระประแดง ต่อมาชาวมลายูปัตตานีส่วนใหญ่ได้ถูกโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่คลองแสนแสบเหนือโดยการนำของพระยาราช วังสรรค์ (ฉิม) ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงมีรับสั่ง

 

        ฉะนั้นตามแนวคลองมหานาค คลองแสนแสบตลอดสาย นับแต่บ้านมหานาค บ้านครัว บ้านดอน คลองตัน บางกะปิ บึงกุ่ม หลอแหล มีนบุรี แสนแสบ คู้ เจียรดับ หนองจอก กระทุ่มราย ถึงบางน้ำเปรี้ยวปลายทางที่บางขนาก จนออกสู่แม่น้ำบางปะกง จึงมีชุมชนมุสลิม มัสยิด สุสาน และโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามก่อตั้งเรียงรายเป็นระยะ ๆ จำนวนมาก และตามคลองซอยที่แยกจากคลองแสนแสบ ก็ยังมีชุมชนมุสลิมและมัสยิดก่อตั้งกระจัดกระจายตามพื้นที่นาดอนทั่วไป ซึ่งราษฎรเหล่านี้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวนมากอีกด้วย (อ้างแล้ว หน้า 31) คลองแสนแสบ ที่ถูกขุดขึ้นจึงถือเป็นผลงานและการทุ่มเทของเชลยศึกชาวเขมร (จาม) และชาวมลายูปัตตานีทั้งสิ้น

 

        ผลจากสงครามสยาม-ปัตตานีเมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมาได้ทำให้ชาวมลายูปัตตานี และหัวเมืองมลายูที่ถูกกวาดต้อนเข้ามายังกรุงเทพมหานครตั้งชุมชนและสร้างมัสยิดขึ้น เป็นจำนวนมาก เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ-ธนบุรี มีมัสยิดที่จดทะเบียนไม่น้อยกว่า 175 มัสยิด ลูกหลานชาวมลายูมุสลิมเหล่านี้ยังได้แผ่ขยายชุมชนของตนออกไปยังเขตจังหวัดใกล้เคียงอีก เป็นจำนวนมาก อาทิเช่น นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา อ่างทอง ฉะเชิงเทรา นครนายก ฯลฯ พวกเขาได้มีกรรมสิทธิครอบครองที่ดินอันกว้างใหญ่ไพศาลของเขตจังหวัดในภาคกลางและกลายเป็นกลุ่มชนขนาดใหญ่ที่ยังคงมีอัตลักษณ์แห่งความเป็นมลายูชนอย่างชัดเจน

 

        ในส่วนของภาษามลายูนั้นถึงแม้ว่าผู้คนในรุ่นหลังจะไม่ได้ใช้ภาษามลายู (ยาวี) ในการสื่อสารในชีวิต ประจำวัน แต่ก็ยังมีการอนุรักษ์ภาษามลายูกิตาบในการเรียนการสอนอยู่โดยทั่วไป อาจกล่าว ได้ว่า การกวาดต้อนเชลยศึกชาวมลายูในครั้งอดีตเอามาไว้ในกรุงเทพฯและเขตปริมณฑลตลอดจนจังหวัดใกล้เคียงมีผลทำให้ศาสนาอิสลามได้หยั่งรากฝังลึกลงเหนือดินแดนใจกลาง ของสยามประเทศและเติบใหญ่อย่างมั่นคงจวบจนทุกวันนี้ ชาวมลายูมุสลิมเหล่านี้มิได้ลืม และแปรเปลี่ยนศรัทธาและอัตลักษณ์ของพวกเขาไปเป็นอื่นแต่อย่างใด

 

        ลองคิดดูสิว่าหากไม่มีเหตุการณ์ในอดีตเกิดขึ้น ชาวมุสลิมจะได้แผ่ซ่านและสร้างชุมชนของพวกเขาได้มากขนาดนี้หรือไม่ ศาสนาอิสลามที่พวกเขาได้นำพามาด้วยนั้นจะแพร่สะพัดได้อย่างกว้างไกลอย่างที่ปรากฏในปัจจุบันหรือไม่? นี่คือวิทยญาณของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่พระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้ศาสนาอิสลามแพร่สะพัดออกไปในดินแดนส่วนใหญ่ของสยามโดยผ่านน้ำมือของชาวสยามเอง เมื่อกาลเวลาและสภาพสังคมการเมืองเปลี่ยนแปลงไป เชลยศึกมุสลิมจากหัวเมืองมลายู ได้กลายเป็นพลเมืองกลุ่มใหญ่ที่มีศักยภาพในการสืบสานศาสนาของพระองค์ มีศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิในการมีส่วนร่วมต่อความเจริญของประเทศอย่างมิอาจจะดูแคลนได้อีกต่อไป

 

        ความสูญเสียและความเจ็บปวดที่บรรพชนมุสลิมมลายูได้รับในครั้งอดีตได้ถูกทดแทนและตอบแทน ด้วยความงดงามของศาสนาอิสลามที่เบ่งบานอยู่ในราชธานีของสยาม ลูกหลานและอนุชนรุ่นหลังยังคงมั่นคงในศรัทธาอย่างมิเสื่อมคลาย ทั้งหลายทั้งปวงคือผลของความอดทน (ซอบัร) ที่เหล่าบรรพชนได้กัดฟันสู้ฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการจนบรรลุสู่ชัยชนะที่แท้จริง คือชัยชนะของศาสนาอิสลามที่สามารถยึดพื้นที่ในราชธานีของสยาม และสถาปนา “ดารุสสลาม” ขึ้นในใจกลางประเทศได้สำเร็จ หน้าที่และภารกิจของลูกหลานมุสลิมมลายูทั้งในส่วนของนิวาสถานเดิมและดินแดนพลัดถิ่นก็คือ การแผ่ขยายอาณาเขตของดารุสสลามให้ครอบคลุมแผ่นดินสยามทั้งหมดด้วยการเผยแผ่ศาสนา (ดะอฺวะฮฺ) แก่ผู้คนรอบข้างจวบจนกระทั่งสามารถสถาปนา “สยาม ดารุสสลาม” หรือ “ไทยแลนด์ ดารุสสลาม” ในอนาคตอันใกล้ อินชาอัลลอฮฺ