เหตุการณ์สำคัญในเดือนมุฮัรรอม

                ปลายเดือนมุฮัรรอมปีที่ 7 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านศาสดาได้ทรงนำทัพเคลื่อนสู่เมืองคอยบัร (ท่านอิหม่ามมาลิก  อิบนุ  อนัส  มีทัศนะว่าการพิชิต  เมืองคอยบัร  เกิดในปีที่  6)  และทรงให้ท่านนุมัยละฮฺ  อิบนุ  อับดิลลาฮฺ  อัลลัยซีย์  เป็นผู้รักษาการณ์นครม่าดีนะฮฺ  การเคลื่อนพลของมุสลิมสู่เมืองคอยบัร  เกิดขึ้นหลังจากที่ท่านศาสดาได้ทรงกลับจาก  อัลฮุดัยบียะฮฺ  และอยู่ในนครม่าดีนะฮฺได้ประมาณ  20  วัน  หลังจากนั้นท่านจึงทรงนำทัพสู่เมืองคอยบัร  ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺทรงสัญญาแก่ท่านศาสดาว่าจะพิชิตได้  ครั้นเมื่อพระองค์ทรงเดินทัพถึงคอยบัร  ก็ได้ทรงปิดล้อมและเข้าตีทีละป้อม 

                พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงให้ท่านศาสดาสามารถพิชิตคอยบัรได้ทั้งหมดและได้ทรัพย์สงครามมากมาย  พระองค์ได้ทรงรวบรวมและแบ่งออกเป็น  5  ส่วน  ทรงแบ่งครึ่งหนึ่งระหว่างมุสลิมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยเข้าร่วมในสมรภูมิอัลฮุดัยบียะฮฺ  อีกส่วนหนึ่งพระองค์ได้ทรงแบ่งเก็บไว้เพื่อใช้ส่วนพระองค์และกิจการของอิสลามิกชนทั่วไป  และท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงยอมให้พวกยิวที่เคยอยู่ในคอยบัร  เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์กึ่งหนึ่งหลังจากที่พวกนี้ได้ขอสิ่งที่ดังกล่าวเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนแทนจากการโยกย้ายออกไปจากเมืองนี้ถ้าหากว่าท่านศาสดายอมประนีประนอมด้วย 

                ท่านศาสดาได้สิทธิครึ่งหนึ่งจากผลผลิตทั้งผลไม้สวนและไร่นาของเมืองนี้  และท่านศาสดาได้เลือกพระนางซ่อฟียะห์  บินติ  ฮุยัยย์  อิบนิ  อัคตอบซึ่งเป็นหนึ่งจากเชลยที่อยู่ในส่วนของท่านศาสดาให้กับตัวของพระองค์เอง  ซึ่งเมื่อท่านศาสดาได้ทรงตีป้อม  บ้านีอบิลฮะกีก  อันเป็นป้อมหนึ่งของคอยบัร  พระนางซ่อฟียะฮฺ  กับหญิงอีกนางหนึ่งถูกท่านบิล้าลนำตัวมาโดยผ่านศพของพวกยะฮูดที่ถูกฆ่าตายในการรบ  เมื่อหญิงอีกนางหนึ่งที่มากับพระนางเห็นศพเข้าก็หวีดร้องพร้อมตบหน้าและโรยฝุ่นดินลงบนศีรษะของนาง 

                เมื่อท่านศาสดาได้เห็นนาง  พระองค์ทรงกล่าวว่า “พวกท่านจงนำชัยตอนหญิงคนนี้ออกไปให้พ้นฉัน”  และพระองค์ทรงมีรับสั่งกับพระนางซ่อฟียะฮฺ  พระนางจึงมาอยู่ทางด้านหลังของท่านศาสดา  และพระองค์ก็ทรงโยนเสื้อคลุมของพระองค์ลงเหนือนาง  บรรดามุสลิมจึงทราบได้ทันทีว่าท่านศาสดาทรงเลือกนาง  นางจึงเข้ารับอิสลาม  ท่านศาสดาจึงได้ปล่อยให้พระนางเป็นไท  และได้สมรสและเข้าสู่ห้องหอกับพระนางระหว่างทางสู่นครม่าดีนะฮฺ  มีหญิงชาวยิวแห่งเมืองคอยบัรได้ถวายแกะย่างอาบยาพิษแก่ท่านศาสดา 

                ครั้นเมื่อพระองค์ทรงกัดช่วงขาแกะ  ขาแกะก็ได้บอกท่านให้ทราบว่า  มันถูกอาบยาพิษ  ท่านจึงเลิกทาน  และเรียกหญิงชาวยิวมาและถามนางว่า  เธอได้ใส่ยาพิษในเนื้อแกะหรือ  นางตอบว่า  ใช่  ท่านถามต่อว่า  เธอต้องการอะไรถึงได้ทำเช่นนั้น  นางตอบว่า  ฉันต้องการรู้ว่าถ้าหากท่านเป็นศาสดาจริง  ๆ  แล้วมันย่อมไม่มีอันตรายใด  ๆ  ต่อท่าน  ถ้าหากว่าท่านไม่ใช่ศาสดาแล้วละก้อเราก็จะได้สบายใจที่ได้จัดการท่าน  ท่านศาสดาทรงให้อภัยแก่นาง  มีบางรายงานกล่าวว่า  ท่านบิชร์  อิบนิ  อัลบ้ารออฺ  อิบนิ  มะอฺรูร  เป็นผู้หนึ่งที่ได้กินเนื้อแกะตัวนั้นและได้เสียชีวิต  ท่านศาสดาจึงได้สั่งประหารชีวิตนางให้ตายตกตามกัน

                เดือนมุฮัรรอม  ปีที่  12  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                มุสลิมภายใต้การบัญชาการรบของท่านค่อลีด    อิบนุ  อัลว่าลีดได้รับชัยชนะต่อกองทัพเปอร์เซียซึ่งมีฮุรมุซฺเป็นแม่ทัพในสมรภูมิ  ซาตุซซ่าลาซิล  ในตอนเริ่มประจันบาน  ฮุรมุซฺได้ออกมาท้าทายท่านค่อลีดให้ประลอง  ท่านค่อลีดตอบรับ  โดยฮุรมุซฺสั่งให้ทหารของตนเข้ารุมและสังหารท่าน  แต่ท่านค่อลีดก็สามารถสังหาร  ฮุรมุซฺได้ในที่สุด  ทหารของเปอร์เซียก็ไม่ประสบความสำเร็จในการสังหารท่านระหว่างการประดาบถึงแม้จะเข้ารุมท่านจากทุกด้าน  ท่านกออฺกออฺ  อิบนุ  อัมร์  อัตตะมีมีย์นายกองปีกขวาของท่านคอลิดก็ได้นำทัพเข้าตีทัพเปอร์เซียซึ่งเสียขวัญ  ด้วยเหตุที่แม่ทัพฝ่ายตนได้ถูกสังหาร  สมรภูมิครั้งนี้ถูกเรียกว่า  ซาตุซซ่าลาซิ้ล  เพราะฮุรมุซฺได้พันธนาการทหารของตนด้วยโซ่เพื่อมิให้หนีทัพ

                วันที่  12  เดือนมุฮัรรอม  ปีที่  13  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
 ท่านค่อลีฟะห์อบูบักร  อัซซิดดิ๊ก  (รฎ.)  ได้มีสาส์นถึงท่านคอลิด  อิบนุ  อัลว่าลีด  (รฎ.)  โดยมีใจความว่า  “อนึ่งเมื่อสาส์นนี้ได้ถึงท่านแล้ว  ท่านจงทิ้งอิรัก  และให้ท่านทิ้งกำลังพลส่วนหนึ่งไว้ในอิรัก  และจงนำทัพซึ่งท่านนำมาจาก  อัลย่ามามะฮฺและทัพที่สมทบมาจากอัลฮิญาซฺสู่อิรัก  มุ่งหน้าจนกระทั่งถึงแคว้นชามและได้พบกับอบู  อุบัยดะหฺ  อิบนุ  อัลญัรรอฮฺพร้อมด้วยไพร่พลจากมวลมุสลิม  เมื่อท่านได้สมทบกับพวกเขาแล้วให้ท่านเป็นผู้นำทัพ  และศานติจงประสบแด่ท่าน”  ท่านอับดุรเราะหฺมาน  อิบนุ  ฮัมบั้ล  อัลญัมฮีย์เป็นผู้นำสาส์นนี้ถึงท่านคอลิด

                เดือนมุฮัรรอม  ปีที่  14  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
 ท่านค่อลีฟะฮฺ  อุมัร  อิบนุ  อัลคอตตอบ  อมีรุ้ลมุอฺมีนีน  (รฎ.)  ได้ระดมกำลังมุสลิมอาสาสมัครเพื่อทำการศึกกับเปอร์เซีย  ใกล้กับนครม่าดีนะฮฺ  ณ  บ่อน้ำแห่งหนึ่งที่เรียกกันว่า  ซี่ร๊อร  มุสลิมได้เคยประสบความปราชัยอันขมขื่นมาก่อนแล้วในสมรภูมิอัลญิซร์  (สมรภูมิสะพาน)  เมื่อวันที่  23  เดือนชะอฺบาน  ปีฮ.ศ.ที่  13  ท่านอบูอุบัยด์  อิบนุ  มัสอูด  อัซซ่ากอฟีย์  ผู้เป็นแม่ทัพของกองทัพมุสลิมได้เสียชีวิตในสมรภูมิครั้งนี้ 

                ท่านอมีรุ้ลมุอ์มีนีน  อุมัรเมื่อท่านได้ทราบข่าวท่านกล่าวว่า  “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ  แน่แท้ฉันจะจัดการบรรดากษัตริย์แห่งเปอร์เซียด้วยบรรดากษัตริย์แห่งอาหรับ”  สิ่งแรกที่ท่านได้กระทำคือ  การเขียนสาส์นหลายฉบับถึงบรรดาข้าหลวงของท่านตามหัวเมืองและเผ่าต่าง ๆ การณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปีที่  13  เดือนซุลฮิจญะฮฺโดยส่งสาส์นไปกับบรรดาผู้นำเหล่าฮุจญาจที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์  บรรดาอาหรับเผ่าต่าง ๆ 

                ชุดแรกที่มีภูมิลำเนาในเส้นทางระหว่างนครมักกะฮฺและนครม่าดีนะฮฺและเผ่าที่อยู่ในเส้นทางของอิรักใกล้กับนครม่าดีนะฮฺได้มาหาพร้อมหน้ากันยังนครม่าดีนะฮฺพร้อมกับบรรดาผู้ที่กลับจากการประกอบพิธีฮัจญ์  พวกเหล่านี้ได้เรียนให้ท่านทราบว่า  พวกที่อยู่ชุดหลัง ๆ  ได้พบร่องรอยของพวกเปอร์เซีย  ท่านค่อลีฟะฮฺ  อุมัรจึงได้เลือกท่านซะอฺด์  อิบนุ  อบีวักกอซ  (รฎ.)ให้เป็นแม่ทัพของกองกำลังทหารในครั้งนี้  ซึ่งท่านได้นำมุสลิมสู่ชัยชนะที่เด็ดขาดอันทำให้จักรวรรดิเปอร์เซียได้ถึงกาลอวสานในสมรภูมิอัลกอดีซียะฮฺ

                เดือนมุฮัรรอม  ปีที่  16  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                พระนางมารียะฮฺ  อัลกิบฎียะฮฺ  (รฎ.)  ภรรยาท่านหนึ่งของท่านศาสดา  (ซ.ล.)  และมารดาบุตรชายของท่านศาสดาคือ  ท่านอิบรอฮีม-ได้เสียชีวิต  ท่านอุมัร  อิบนุ  อัลคอตตอบ  (รฎ.)  ได้เกณฑ์ผู้คนมาร่วมละหมาดศพนางด้วยตัวท่านเอง  และท่านได้เป็นอิหม่ามนำละหมาดและฝังศพนางในสุสาน  อัลบะเกี้ยะอฺ  (ขออัลลอฮฺทรงพอพระทัยพระนางด้วยเทอญ)

                เดือนมุฮัรรอม  ปีที่  24  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านอุสมาน  อิบนุ  อัฟฟาน  (รฎ.)  ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งค่อลีฟะฮฺ  หลังการถูกลอบสังหารของท่านคอลีฟะฮฺอุมัร  อิบนุ  อัลคอตตอบ  (รฎ.)  ในวันที่  23  เดือนซุลฮิจญะฮฺ  ปีที่  23  แห่งฮิจเราะห์ศักราชด้วยน้ำมือของฟัยรูซ  อัลมะญูซีย์  ที่มีฉายาว่า  อบูลุอฺลุอะฮฺ

                ปลายเดือนมุฮัรรอม  ปีที่  37  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                การประนีประนอมที่ได้กระทำข้อตกลงกันไว้ระหว่างอมีรุ้ลมุอ์มีนีน  อาลี  อิบนุ  อบีตอเล็บ  (รฎ.)  และท่านมุอาวียะฮฺ  อิบนุ  อบีซุฟยานได้สิ้นสุดลง  (อันเป็นช่วงเวลาของการขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสองฝ่ายในกรณีนำตัวบรรดามือสังหารท่านค่อลีฟะฮฺ  อุสมาน  อิบนุ  อัฟฟาน  (รฎ.)  มาดำเนินการลงโทษตามกระบวนยุติธรรมในการกิซ๊อซ)  กองทัพของทั้งสองฝ่ายได้เผชิญหน้ากันในสมรภูมิซิฟฟีน  ในเดือนชะอฺบาน  ปีฮ.ศ.ที่  36  มาก่อนหน้านั้นแล้ว  โดยมีการแลกเปลี่ยนจดหมายโต้ตอบหลายฉบับด้วยกันระหว่างสองฝ่ายโดยมีเป้าหมายในการสร้างเอกภาพและการประนีประนอม  การส่งจดหมายโต้ตอบดังกล่าวได้ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายได้ลงความเห็นให้มีการประนีประนอมและพักการสู้รบไว้จนกระทั่งถึงปลายเดือนมุฮัรรอม  ปีฮ.ศ.ที่  37  ซึ่งต่อมาในภายหลังก็ได้เกิดการรบพุ่งระหว่างสองฝ่ายขึ้นอีก

                ในเดือนมุฮัรรอม  ปีที่  65  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ค่อลีฟะฮฺมัรวาน  อิบนุ  อัลฮ่ากัม  แห่งราชวงศ์อุมาวียะห์ได้รับชัยชนะเหนืออัฎฎ่อฮาก  อิบนุ  กอยซฺ  อัลฟิฮฺรีย์  ผู้นำเผ่าอาหรับกอยซฺซึ่งอยู่ในสายอัลมุฎ็อร  ณ  สมรภูมิมัรญฺ  รอฮิต  (เป็นสถานที่แห่งหนึ่งในซีเรีย  ทางตอนเหนือของดามัสกัส)  อัฎฎ่อฮาก  อิบนุ  ก็อยซฺ  ได้ปฏิเสธไม่ยอมให้สัตยาบันแก่มัรวาน  อิบนุ  อัลฮ่ากัม  ในการเป็นค่อลีฟะฮฺ  แต่กลับไปให้สัตยาบันกับอับดุลลอฮฺ  อิบนุ  ซุบัยร์  เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการสิ้นพระชนม์ของค่อลีฟะฮฺ  มุอาวียะฮฺ  ที่  2  แห่งราชวงศ์อุม่าวียะฮฺ  ปีที่  63  แห่งฮิจเราะห์ศักราช 

                ขณะนั้นแคว้นชาม  กำลังประสบกับการแตกแยกอย่างรุนแรงด้วยเหตุการแก่งแย่งกันของบุคคลในราชวงศ์อุม่าวียะฮฺ  โดยต่างก็ละโมบในอำนาจและเห็นว่าตนมีความเหมาะสมกว่าคนอื่น  เรื่องราวได้ยุติลงด้วยการให้สัตยาบันของบรรดาผู้ให้การสนับสนุน  ตระกูล  อุมัยยะฮฺ  โดยมีชาวอาหรับแห่งยะมันเป็นผู้นำต่อมัรวาน  อิบนุ  อัลฮะกัม  ในขณะเดียวกันพวกเผ่าอัลมุฎ่อรียะฮฺ  ภายใต้การนำของก็อยซฺได้หันไปสวามิภักดิ์ต่อท่านอับดุลลอฮฺ  อิบนุ  อัซซุบัยร์  ซึ่งเรียกร้องการเป็นค่อลีฟะฮฺให้กับตัวเอง

                เดือนมุฮัรรอม  ปีฮ.ศ.ที่  127
                บรรดาชีอะฮฺ  (ผู้ให้การสนับสนุน)  ของอับดุลลอฮฺ  อิบนุ  มุอาวียะฮฺ  อิบนิ  อับดิลลาฮฺ  อิบนิ  ญะอฺฟัร  อิบนิ  อบีตอเล็บ  ซึ่งเรียกร้องการเป็นค่อลีฟะฮฺให้แก่ตัวเองในนครอัลกูฟะฮฺ  ได้ประสบกับความพ่ายแพ้  หลังจากที่พรรคพวกของตนได้ยุยงให้รับการให้สัตยาบันแก่ตัวเอง  แต่ทว่าพวกนี้ได้หลบหนีระหว่างการสู้รบ  เหลือเพียงแต่พวกร่อบีอะฮฺ  และพวกซัยดียะฮฺ  ที่ทำการสู้รบอย่างเหนียวแน่น  จนกระทั่งค่อลีฟะฮฺอิบรอฮีม  อิบนุ  อัลว่าลีด  อิบนิ  อัลดิลมาลิกได้ยอมรับรองความปลอดภัยแก่พวกนี้และอับดิลลอฮฺ  อิบนุ  มุอาวียะฮฺ  โดยที่พวกเหล่านี้สามารถที่จะเดินทางไป  ณ  ที่ใดก็ได้ตามความต้องการ

                เดือนมุฮัรรอม  ปีฮ.ศ.ที่  187
                ท่านค่อลีฟะฮฺฮารูน  อัรร่อชีด  แห่งราชวงศ์  อับบาซียะฮฺทรงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตญะอฺฟัร  อิบนุ  ยะฮฺยา  อัลบัรม่ากีย์และจับกุมยะฮฺยา  ผู้เป็นบิดาของญะอฺฟัรตลอดจนลูกหลานในตระกูลอัลบัรม่ากีย์  และทรงมีพระบรมราชโองการถึงหัวเมืองและมณฑลต่าง ๆ  ให้ทำการอายัดทรัพย์สินและที่ดินของตระกูลนี้ ญะอฺฟัร  อิบนุ  ยะฮฺยา  อัลบัรมะกีย์ได้ปล่อยตัวยะฮฺยา  อิบนิ  อับดิลลาฮฺ  อิบนิ  อัลฮะซัน  อิบนิ  อัลฮะซัน  อิบนิ  อาลี  อิบนิ  อบีตอเล็บ  ซึ่งได้แข็งข้อไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อค่อลีฟะฮฺ  ฮารูน  อัรร่อชีด  และรับการให้สัตยาบันแก่ตัวเองในแคว้นอัดดัยลัม  (เป็นเขตเทือกเขาในแถบญีลาน  ทางตอนเหนือของกอซฺวัยน์) 

                แต่ทว่าค่อลีฟะห์ฮารูนได้ประสบความสำเร็จในการจับกุมญะอฺฟัรและนำตัวคุมขังได้ในที่สุด (อัลบ้ารอมีกะฮฺเป็นตระกูลเปอร์เซียที่มีรกรากมาจากเมืองบ้าลัค  หรือบัคเตรียซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน  ลูกหลานในตระกูลนี้มีหลายคนที่ดำรงตำแหน่งมหาอำมาตย์เอกและบรรดาเสนาบดีในรัชสมัยแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺ  พวกนี้มีอำนาจมากและเริ่มอุปถัมภ์ส่งเสริมบรรดานักกวีต่อมา  ในรัชสมัยแห่งค่อลีฟะฮฺฮารูน  อัรร่อชีดตระกูล  อัลบ้ารอมีกะฮฺก็ถูกปราบปราม  ส่วนหนึ่งจากบรรดาบุคคลในตระกูลนี้ที่มีความเลื่องลือได้แก่  คอลิด  อิบนุ  บัรมัก  (เสียชีวิต  782)  คนสนิทของอัซซัฟฟาฮฺ  ปฐมราชวงศ์อับบาซียะฮฺและยะฮฺยา  อิบนุ  คอลิด  (เสียชีวิต  805) ซึ่งเป็นพระครูและพระพี่เลี้ยงของค่อลีฟะฮฺฮารูน  อัรร่อชีดและเป็นมหาอำนาตย์เอกของพระองค์และอัลฟัดล์  อิบนุ  ยะฮฺยา  ซึ่งเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งตรงกับปีคศ.803

                เดือนมุฮัรรอม  ปีที่  200  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ฮัรซ่ามะฮฺ  อิบนุ  อะอฺยุน  แม่ทัพแห่งค่อลีฟะฮฺ  อัลมะอฺมูน  ในราชวงศ์อับบาซียะฮฺได้ประสบความสำเร็จในการสร้างความปราชัยแก่พลทหารของมุฮัมมัด  อิบนุ  อิบรอฮีม  อัลอะล่าวีย์  ซึ่งกบถแข็งข้อต่อค่อลีฟะฮฺอัลมะอฺมูนในนครอัลกูฟะฮฺเมื่อเดือนญุมาดิ้ล  อาคิเราะฮฺ  ปีที่  199  แห่งฮิจเราะห์ศักราช  และเรียกร้องให้สวามิภักดิ์ต่ออาลี  อัรริฎอ  อิบนุ  มูซา  อัลกาซิม  (ฮ.ศ.153-203/คศ.770-818)  ซึ่งเป็นผู้หนึ่งจากวงศ์วานของท่านศาสดา  (ซ.ล.)  และเป็นอิหม่ามท่านที่  8  ของชาวชีอะฮฺ  แม่ทัพของมุฮัมมัด  อิบนิ  อิบรอฮีม  คืออบูซ่ารอยา  อัสซ่ารีย์  อิบนิ  มันซูร  อัชชัยบานีย์สามารถเข้ายึดครอง  นครอัลกูฟะฮฺได้จากเจ้าเมืองฝ่ายอับบาซียะฮฺ  แต่ต่อมาฮัรซ่ามะฮฺ  ก็สามารถตีเมืองอัลกูฟะฮฺคืนกลับมาได้  จึงทำให้อบุซซะรอยา  และไพร่พลของตนจำต้องถอนกำลังออกจากเมืองอัลกูฟะฮฺ  อนึ่งไพร่พลของอบุซซะรอยาเกือบทั้งหมดเป็นพวกในตระกูลบ้านีตอลิบที่สนับสนุนลูกหลานของท่านอาลี  อิบนุ  อบีตอลิบ  (รฎ.)

                เดือนมุฮัรรอม  ปีที่  202  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                บรรดาผู้นำในสายราชวงศ์อับบาซียะห์ที่มีความอาวุโสได้ทำการถอดค่อลีฟะฮ์  อัลมะอฺมูน  ออกจากพระราชอำนาจ  และให้การสัตยาบันแก่ผู้เป็นลุงคือ  อิบรอฮีม  อิบนุ  อัลมะฮฺดีย์  ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์และถวายพระราชสมัญนามว่า  “อัลมุบาร็อก”  ภายหลังการยอมผลัดเปลี่ยนอำนาจของอัลมะอฺมูนในสายราชวงศ์  อับบาซียะห์ไปสู่สายตระกูล  อะลาวี่ยีน  (วงศ์วานของท่านอาลี  อิบนุ  อบีตอลิบ)  ด้วยการแต่งตั้งอาลี  อิบนุ  มูซาอัลกาซิม  อิบนิ  ญะอฺฟัร  อัซซอดิกให้ขึ้นดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์สืบต่อจากพระองค์  (รัชทายาท) 

                และให้มีการให้สัตยาบันในการแต่งตั้งดังกล่าวและอัลมะอฺมูน  ได้พระราชทานพระนามว่า  “อัรริฎอ  มิน  อาลิ  มุฮำมัด  แก่อาลี  อิบนุ  มูซา  (ผู้ได้รับความพึงพอใจจากวงศ์วานของท่านศาสดา  (ซ.ล.)  และยังได้จัดการอภิเษกสมรสกับพระราชธิดาของพระองค์  ตลอดจนจัดให้มีการอภิเษกพระราชธิดาอีกคนหนึ่งกับมุฮัมมัด  อัลญ่าว๊าด  อิบนุ  อาลี  อัรริฎอ  (ฮ.ศ.195-220/คศ.811-835)  ผู้เป็นอิหม่ามท่านที่  9  สำหรับชีอะห์  ยิ่งไปกว่านั้นค่อลีฟะห์อัลมะอฺมูนยังได้มีคำสั่งให้บรรดาราษฏรถอดเครื่องหมายสีดำซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์อับบาซียะห์และให้เปลี่ยนเป็นสีเขียวอันเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่นิยมและให้การสนับสนุนต่อวงศ์วานของท่านอาลี  อิบนุ  อบีตอลิบ  (รฎ.)

                วันที่  10  เดือนมุฮัรรอม  ปีที่  656  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กองทัพของพวกตาตาร์  (มองโกล)  ภายใต้การนำของบาญู  หนึ่งในแม่ทัพของฮูลาโก  ได้ยกพลข้ามมาสู่แม่น้ำไทกริส  และเข้ายึดครองทางด้านตะวันตกของมหานครแบกแดดภายหลังที่กองทัพของตาตาร์ได้สร้างความปราชัยแก่กองทัพของอับบาซียะห์  ส่วนทางด้านตะวันออกของนครแบกแดดนั้น  กองทัพของอับบาซียะห์ยังคงสู้รบอย่างหนักจนกระทั่งถึงวันที่  19  เดือนมุฮัรรอม  ปีฮ.ศ.656 

                ซึ่งในเวลาไม่นานนัก  กองทัพของตาตาร์  ภายใต้การนำของฮูลาโก  เองก็สามารถรุกตีด้านนี้เข้ามาได้  อิบนุตอบาตอบาได้กล่าวว่า “ได้มีการสังหารหมู่ครั้งใหญ่และการปล้นสะดมภ์ครั้งมโหฬาร และคำเปรียบเปรยอันเป็นโวหารก็มิอาจสาธยายเพียงกระพีก สัมหาอะไรกับรายละเอียดของมัน”

                -ฮูลาโก  (คศ.1217-1265)  เป็นนักรบผู้พิชิตชาวมองโกลและเป็นผู้สถาปนาอาณาจักรมองโกล  อัลอีลอคอนียะฮฺในอิหร่าน  (1251)  หลานของเจ็งกิสข่านเป็นผู้นำทัพข้ามแม่น้ำอมูดิรียา  และสามารถปราบปรามบรรดาเจ้าครองนครแห่งเปอร์เซียและพวกอิสมาอิลียะฮฺในป้อม  อลาโมตได้ในปีคศ.1256  และสามารถทำลายการปกครองของค่อลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อับบาซียะห์ในมหานครแบกแดดเมื่อปีคศ.1258  และเข้ายึดครองซีเรีย,ฮูลาโกเดินทางกลับสู่อิหร่านหลังการเสียชีวิตของพี่ชายของตนคือมิงโก  พวกม่ามาลีกได้บุกโจมตีกองทัพของฮูลาโกในอัยน์-ญาลูต  ซึ่งอยู่ในปาเลสไตน์และทำลายล้างอย่างย่อยยับในปีคศ.1260  อบากอ  (1234-1282-  ผู้เป็นบุตรชายได้สืบอำนาจปกครองอาณาจักรมองโกล  อัลอิลีคอนียะฮฺในอิหร่านสืบมา  (1265))

                วันที่  8  เดือนมุฮัรรอม  ปีที่  1213  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กองเรือรบของราชนาวีอังกฤษจำนวน  10  ลำได้เดินทางถึงท่าเรือเมืองอเล็กซานเดรียและกองเรือซึ่งเป็นกำลังหนุนอีกจำนวน  10  ลำตามมาสมทบทีหลัง  โดยมีเป้าหมายในการค้นหาและติดตามกองเรือของฝรั่งเศสซึ่งเดินทางออกมาจากท่าเรือตูลูนของฝรั่งเศส  อังกฤษไม่ทราบว่ากองเรือรบของฝรั่งเศสมุ่งไปทางใดหลังจากที่พลาดในการติดตามในทะเลเมดิเตอเรเนียน  และอังกฤษพยายามทำการสร้างความเข้าใจกับซัยยิด  มุฮัมมัด  การีม  เจ้าเมืองอเล็กซานเดรีย และให้ข้อเสนอว่าให้อังกฤษสามารถทอดสมอกองเรือรบของตนอยู่กลางทะเลเพื่อเผชิญหน้ากับกองทัพเรือฝรั่งเศสในกรณีที่ว่ากองทัพเรือฝรั่งเศสมาประชิดชายฝั่งของอียิปต์  และขอให้ส่งเสบียงทั้งน้ำและอาหารแก่พวกตนโดยอังกฤษจะจ่ายราคาสิ่งของเหล่านั้นให้ 

                ซัยยิด  มุฮัมมัด การีมได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวของอังกฤษโดยมองเห็นว่านั่นเป็นแผนการณ์ของอังกฤษที่มีเป้าหมายในการยึดครองอียิปต์และให้คำตอบแก่อังฤษว่า”ดินแดนแห่งนี้เป็นเขตขัณฑสีมาแห่งองค์ซุลตอน และย่อมไม่มีหนทางใดไม่ว่าสำหรับชาวฝรั่งเศสและมิใช่ชาวฝรั่งเศสในสิทธิเหนือดินแดนแห่งนี้ฉนั้นจงออกไปให้พ้นพวกเรา” ดังนั้นอังกฤษจึงได้เคลื่อนกองทัพเรือของตนออกจากชายฝั่งของเมืองอเล็กซานเดรียในที่สุด

                วันที่  18  เดือนมุฮัรรอม  แห่งปีที่  1213  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กองทัพเรือของฝรั่งเศสได้ประชิดชายฝั่งของอียิปต์  ณ  เมืองอเล็กซานเดรีย  กองทัพเรือของฝรั่งเศสประกอบด้วยกองเรือรบจำนวน  502  ลำซึ่งบรรทุกทหารจำนวน  36,000  นาย  ช่างและบรรดาผู้มีความรู้ในแขนงต่าง  ๆ  จำนวน  122  คน  และจอมทัพนโปเลียน  โปนาปาร์ตก็สามารถเข้ายึดครองเมืองอเล็กซานเดรียได้ 

                และจากเมืองอเล็กซานเดรียก็เคลื่อนพลสู่กรุงไคโรโดยผ่านเส้นทางทะเลทรายซึ่งแผ่ยื่นทางตะวันตกของแขวงเมืองร่อชีด  มุร๊อด  เบย์ผู้นำกลุ่มอัศวินม่ามาลีกแห่งอียิปต์ได้นำทหารมาทานไว้ที่เมืองชุบรอคีต  จังหวัดอัลบุฮัยเราะห์เมื่อวันที่  29  เดือนมุฮัรรอม  แต่ทว่า  นโปเลียน  โปนาปาร์ตก็สามารถสร้างความปราชัยแก่กองทหารม่ามาลีกของมุร๊อด  เบย์ได้และเดินทัพมุ่งสู่กรุงไคโรต่อไป

                ปลายเดือนมุฮัรรอม  ปีที่  1213  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                นโปเลียน  โปนาปาร์ต  จอมทัพแห่งกองกำลังยึดครองอียิปต์ของฝรั่งเศสได้มีสาส์นถึงประชาชนแห่งอียิปต์เป็นภาษาอาหรับโดยเริ่มต้นข้อความในสาส์นด้วยประโยคที่ว่า  “ด้วยพระนามแห่งพระองค์อัลลอฮ์  (ซ.บ.)  ผู้ทรงเมตตาผู้ทรงกรุณาปราณีเสมอ  ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์อัลลอฮ์  พระองค์ไม่ทรงมีพระบุตรและพระองค์ไม่ทรงมีคู่ภาคีในอำนาจสิทธิของพระองค์” 

                ส่วนหนึ่งจากสำนวนที่ปรากฏในสาส์นนี้  “…  และแท้ที่จริงข้าพเจ้านี้เป็นผู้ที่สักการะพระองค์อัลลอฮ์มากกว่า  พวกม่ามาลีกเสียอีกและข้าพเจ้าก็ให้เกียรติเทิดทูนท่านศาสดาของพระองค์และพระมหาคัมภีร์อัลกรุอ่านอันยิ่งใหญ่  …แท้จริงบรรดามวลมนุษย์ทั้งหมดย่อมมีความเท่าเทียมกัน  ณ  ที่พระองค์อัลลอฮ์  และแท้จริงชาวฝรั่งเศสนั้นพวกเขาก็คือชาวมุสลิมที่มีความบริสุทธิ์ใจเช่นกัน ข้อยืนยันดังกล่าวก็คือพวกฝรั่งเศสได้เคลื่อนทัพเข้าตีมหานครโรมและทำลายพระราชบัลลังก์แห่งองค์พระสันตะปาปาในกรุงโรมซึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้ยุยงชาวคริสเตียนให้ทำสงครามกับอิสลาม  …” 

                และส่วนหนึ่งจากสาส์นนี้คือคือประโยคที่ว่า  “…ทุก  ๆ  เมืองที่ลุกขึ้นต่อสู้กับกองทหารของฝรั่งเศสย่อมตกนรกหมกไม้…”  นโปเลียนได้ลงท้ายข้อความในสาส์นี้ว่า  “…  และมหาชนชาวอียิปต์ทั้งผองสมควรที่จะกระทำการขอบคุณต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าในการล่มสลายของอาณาจักรม่ามาลีกโดยพร้อมใจกันป่าวร้องว่า  ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้ความยิ่งใหญ่แห่งองค์ซุลตอนออตโตมานได้สถิตสถาพรเป็นนิรันดร์  ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้ความยิ่งใหญ่เกรียงไกรแห่งกองทัพฝรั่งเศสจงเป็นนิรันดร์  ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสาปแช่งพวกม่ามาลีกและทรงให้สถานภาพแห่งประชาชาติอียิปต์พัฒนารุ่งเรืองด้วยเทอญ  …”

                วันที่  21  เดือนมุฮัรรอม  ปีที่  1215  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                นายพลกิลเบอร์  (กิลิแบร์)  แม่ทัพแห่งกองกำลังยึดครองฝรั่งเศสในอียิปต์ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยน้ำมือของหนุ่มฉกรรจ์ชาวซีเรียที่มาศึกษาอยู่  ณ  มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรคือ  สุลัยมาน  อัลฮ่าลาบีย์  นายพลกิลิแบร์ได้กระทำการสังหารหมู่อย่างน่าสยดสยองในเหตุการณ์การปราบการจราจลของประชาชนชาวอียิปต์ที่ต่อต้านการยึดครองของฝรั่งเศส  และได้มีการตั้งศาลไต่สวนคดีความ  สุลัยมาน  อัลฮาลาบีย์  ศาลได้ตัดสินให้ทำการเผามือขวาของสุลัยมานเป็นอันดับแรก  ต่อมาก็ให้เผาทั้งเป็นในสภาพที่ถูกเหล็กแหลมเสียบทวารและศาลยังได้ตัดสินให้ทำการประหารชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรจำนวน  4  คนคือ  นายอับดุลกอดิร  อัลฆอซซีย์  ,  มุฮัมมัด  อัลฆอซซีย์  ,อับดุลลอฮฺ  อัลฆอซซีย์  และนายอะฮฺหมัด  อัลฆอซซีย์  (ทั้งหมดเป็นชาวเมืองกาซา)  ด้วยเหตุที่บุคคลทั้งสี่นี้รู้ถึงเจตนาและความตั้งใจของสุลัยมาน  อัลฮาลาบีย์ที่จะลอบสังหารนายพลกิลแบร์แต่ไม่แจ้งให้ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของฝรั่งเศสให้ทราบ

                วันที่  10  เดือนมุฮัรรอม  ปีที่  1222  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                อังกฤษภายใต้การบัญชาการของนายพลเฟร์เซอร์ซึ่งเป็นผู้นำกองทัพที่มีกำลังพลหลักถึง  5000  นายได้เข้ายึดครองเมืองอเล็กซานเดรีย  ต่อมาก็ส่งทหารหนึ่งกองพลเดินทัพสู่เมืองร่อชีด  เพื่อเข้าตีเมืองนี้  แต่ทว่ากองทหารของอังกฤษได้เพลี่ยงพล้ำจึงไม่สามารถเข้ายึดครองเมืองร่อชีดได้  เหตุการณ์ครั้งนี้ตรงกับวันที่  20  มีนาคม  ปีคศ.1807  หลังกองพลชุดแรกเพลี่ยงพล้ำต่อชาวเมืองร่อชีด  อังกฤษได้ส่งกองกำลังไปปิดล้อมเมืองร่อชีด  อีกครั้งหนึ่งในวันที่  8  เดือนซ่อฟัร  (17  เมษายน)  แต่ก็ไม่สามารถหักตีเอาเมืองได้ด้วยเหตุที่มุฮัมมัด  ปาชาส่งกำลังบำรุงไปช่วยได้ทันท่วงที  ในท้ายที่สุดพวกอังกฤษก็ได้ถอนทัพออกจากแผ่นดินอียิปต์  และลงเรือของพวกเขาในวันที่  10  เดือนร่อญับ  ปีฮ.ศ.ที่  1222  (13  กันยายน  คศ.1807)

                วันที่  16  เดือนมุฮัรรอม  ปีที่  1358  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร  ได้ทำการประท้วงต่อการวางกำลังตำรวจของอังกฤษในมัสยิดอัลอักซอ อันประเสริฐและได้เรียกร้องถึงความจำเป็นที่จะต้องนำกองกำลังตำรวจดังกล่าวออกไปจากบริเวณมัสยิดเพื่อเห็นแก่ความรู้สึกของชาวมุสลิมและลดความตึงเครียด

                เดือนมุฮัรรอม  ปีที่  1391  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                การประชุมครั้งที่หกของคณะกรรมาธิการวิจัยอิสลามแห่งมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรได้คัดค้านการแก้ไขปัญหาใด  ๆ ก็ตามที่ไม่นำเอาดินแดนที่ถูกยึดครองทั้งหมดกลับสู่ชาวอาหรับเข้ามาพิจารณา  โดยประเด็นแรกที่ต้องได้รับการพิจารณาคือ  นครอัลกุดส์ต้องอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยและการบริหารของชาวอาหรับ  และที่ประชุมยังไม่เห็นด้วยกับความคิดที่จะกำหนดให้  นครอัลกุดส์เป็นเขตนานาชาติในทุกรูปแบบ  และไม่เห็นด้วยที่อิสราเอลยังคงดำเนินการเปลี่ยนแปลงเอกลักษณ์เฉพาะของนครอัลกุดส์  และคุกคามต่อโบราณสถานทางศาสนา  ประวัติศาสตร์  และอารยธรรม  และได้เรียกร้ององค์การสหประชาชาติให้ดำเนินตามมติต่าง  ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวและปรามอิสราเอลจากการดำเนินการต่าง  ๆ ที่ขัดกับกฎบัตรสหประชาชาติอีกด้วย

                วันที่  10  (อาซูรอ)  เดือนมุฮัรรอม  ปีที่  61  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านฮุซัยน์  อิบนุ  อาลี  (รฎ.)  ได้ถูกสังหาร  ณ  แผ่นดินกัรบ้าลาอ์  ในประเทศอิรักตรงกับวันศุกร์  ท่านฮิชาม  อิบนุ  อัลกัลบีย์กล่าวว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีที่  62  ท่านอาลี  อิบนุ  อัลมะดินีย์ก็ว่าตามนี้  ท่านอิบนุละฮีอะฮฺกล่าวว่า  เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีที่  62  หรือ  63  นักวิชาการบางคนกล่าวว่า  ปีที่  60  ขณะที่ท่านฮุซัยน์  อิบนุ  อาลี  (รฎ.)  เสียชีวิตนั้นท่านมีอายุได้  58  ปีโดยประมาณ

                ส่วนหลุมฝังศพของท่านฮุซัยน์ (รฎ.)  นั้นเป็นที่ทราบกันดีสำหรับนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังจำนวนมากว่าหลุมฝังศพของท่านอยู่  ณ  มัชฮัดอิหม่ามอาลี  (รฎ.)  ซึ่งอยู่ที่ทุ่งโล่ง  กัรบ้าลาอฺ  กล่าวกันว่า  มัชฮัด  (สถานที่ที่ผู้พลีชีพในวิถีทางของศาสนาได้เสียชีวิต)  ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเหนือหลุมฝังศพของท่าน  วัลลอฮุอะอ์ลัม ท่านอิบนุ  ญะรีร  และท่านอื่น ๆ  กล่าวว่า  สถานที่ซึ่งท่านฮุซัยน์  (รฎ.)  เสียชีวิตนั้นไม่มีร่องรอยหลงเหลืออยู่จนกระทั่งไม่มีผู้ใดสามารถระบุจุดที่แน่นอนได้ตามการบอกเล่า  ท่านอบูน่าอีม  ท่านอัลฟัดส์  อิบนุดะกีนต่างก็ไม่เห็นด้วยกับผู้ที่กล่าวอ้างว่าหลุมฝังศพของท่านฮุซัยน์นั้นเป็นที่ทราบกันดี 

                ท่านฮิชาม  อิบนุ  อัลกัลบีย์ได้กล่าวว่า  เมื่อน้ำได้หลากมาถึงหลุมฝังศพของท่านฮุซัยน์  (รฎ.)  นั้นน้ำที่ไหลย่อมทำให้ร่องรอยของหลุมฝังศพหายไปหลังจากผ่านไป  40  วัน  ต่อมาได้มีชายผู้หนึ่งจากเผ่า  อะสัดได้มาที่นี่และก็เริ่มกอบดินขึ้นมาดมทีละกอบจนกระทั่งพบหลุมฝังศพของท่านในที่สุดและก็ร้องไห้พลางกล่าวว่า ท่านย่อมได้รับการถ่ายถอนด้วยพ่อและแม่ของฉัน  ท่านช่างหอมยิ่งนักและดินที่ฝังศพท่านก็ช่างหอมเสียนี่กระไร  และก็เริ่มกล่าวว่า
“พวกนั้นใคร่ปกปิดอำพรางหลุมศพท่านให้พ้นจากเหล่าอริ หากแต่ความหอมแห่งธุลีดินของหลุมศพกลับบ่งถึงหลุมศพนั้น”

                รายงานจากท่านมุฮัมมัด  อิบนุ  บัชชาร  จากท่านงุนดัรจากชุอฺบะฮฺจากมุฮัมมัด  อิบนุ  อบียะกู๊บจากอิบนิอบีนุอฺมินจากท่านอับดิลลาฮฺ  อิบนิ  อุมัร  ว่ามีชายคนหนึ่งถามท่านถึงผู้ที่ครองเอี๊ยะฮฺรอมและได้ไปฆ่าแมลงวัน  ท่านอิบนุ  อุมัรกล่าวว่า  ดูเอาเถิดชาวอิรักได้ถามถึงแมลงวันทั้ง ๆ  ที่พวกเขาได้สังหารหลานชายของท่านศาสดา  (ซ.ล.)  และท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงกล่าวว่า  อัลฮะซันและอัลฮุซัยน์  ทั้งสองคือเครื่องหอม  (จำพวกโหระพา)  ของฉันจากโลกนี้  (ท่านเปรียบเปรยท่านทั้งสองด้วยสิ่งดังกล่าวก็เพราะว่าท่านมักจะหอมและจูบท่านทั้งสอง)  รายงานจากท่านอบีฮาชิมจากท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงกล่าวว่า  บุคคลใดรักทั้งสอง (ท่านฮะซัน (รฎ.) และท่านฮุซัยน์  (รฎ.))แน่แท้เขาผู้นั้นย่อมรักฉัน  และบุคคลใดทำให้ทั้งสองไม่พอใจแน่แท้ผู้นั้นย่อมทำให้ฉันไม่พอใจ

                ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดทรงประทานความพึงพอพระทัยแก่ท่านทั้งสองด้วยเทอญ