อัลอันดะลุสในสมัยผู้ครองรัฐ (อุม่ารออฺ) อัลอุม่าวียะฮฺ

 เหรียญกาปณ์ประเภทดิรฮัม, รัชสมัย อับดุรเราะหฺมานที่ 1, วงศ์อัล-อุม่าวียะฮฺ,  อัล-อันดะลุสรัชสมัยฮิชาม อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน (ฮ.ศ.172-180/คศ.788-796)

ฮิชาม อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน ดำรงตำแหน่งผู้ครองรัฐ (อะมีรฺ) ในแคว้นอัลอันดะลุส ในปีฮ.ศ.172 ฮิชามได้รับฉายานามว่า “อัรริฎอ” และ “ฮิชามที่ 1” เขาเป็นผู้ครองที่มีความยำเกรงในพระผู้เป็นเจ้ามีความเฉลียวฉลาดและบริหารราชการได้เป็นอย่างดี บรรดาพลเมืองแห่งอัลอันดะ ลุสต่างก็ยินดีในการเป็นผู้ครองรัฐของฮิชาม

 

เมื่อฮิชามขึ้นดำรงตำแหน่งแล้วเขาก็พยายามทำให้สุลัยมาน พี่ชายของตนมีความพึงพอใจแต่สุลัยมานเห็นว่าตนควรได้รับตำแหน่งมากกว่าน้องชายของตน จึงเก็บความไม่พอใจเอาไว้ เมื่อสุลัยมานกลับสู่นครโทเลโดเขาก็ประกาศแข็งเมืองและเรียกร้องให้พวกอัลอุม่าวียะฮฺสนับสนุนตน มีบางส่วนตอบรับและอับดุลลอฮฺน้องชายของสุลัยมานก็ร่วมสนับสนุนด้วย

 

ทั้งสองจึงระดมกำลังผู้คนและมุ่งหน้าสู่นครโคโดบาฮฺ อะมีรฮิชามจึงเร่งรุดนำทัพออกมาต้านทาน เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปีฮ.ศ.173 กองทัพของพี่น้องสองฝ่ายก็เผชิญหน้ากันในเส้นทางระหว่างโทเลโด-โคโดบาฮฺ กองทัพของอะมีรฮิชามได้รับชัยชนะ สุลัยมานจึงหลบหนีสู่เมืองมัรซียะฮฺ (Murcia) หลังจากนั้นก็มีการส่งสาส์นระหว่างสุลัยมานกับอะมีรฮิชาม ผลคือสุลัยมานและอับดุลลอฮฺยอมรอมชอมกับอะมีร ฮิชาม และทั้งสองยินดีที่จะออกจากแคว้นอัลอันดะลุสพร้อมกับทรัพย์สินจำนวนมากเป็นข้อแลกเปลี่ยน ความขัดแย้งระหว่างพี่น้องจึงยุติลง

 

ในปีฮ.ศ.174 เมืองซะระกุสเฏาะฮฺ (ซาราโกซ่า) เกิดการกบฏอีกครั้งภายใต้การนำของมัฏรูฮฺ อิบนุ สุลัยมาน และสะอีด อิบนุ อัลฮุซัยฺน์ อะมีร ฮิชามจึงส่งกองทัพภายใต้การนำของอบู อุสมาน ซึ่งสามารถปราบปรามพวกกบฏได้สำเร็จ หลังจากนั้นอะมีรฮิชามก็มุ่งสร้างความพอใจแก่ราษฎร ผูกมิตรกับบรรดาผู้นำและบุคคลสำคัญ ตลอดจนโน้มน้าวจิตใจของผู้คนด้วยการให้เกียรติและยกย่องพวกเขา ด้วยเหตุนี้อะมีรฮิชามจึงสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นและความสงบสุขแก่ราษฎรในแคว้นอัลอันดะลุสได้ในที่สุด

 

การสั่งสอนพวกวิสิโกธและแฟรงก์

เมื่ออะมีรฮิชามว่างเว้นจากศึกและปัญหาภายในแล้ว ในปีฮ.ศ.175/คศ.791 อะมีรฮิชามก็เริ่มเตรียมจัดทัพเพื่อทำการศึกกับพวกวิสิโกธและพวกแฟรงก์ ตลอดจนนำเอาการญิฮาดกลับมายังเขตแดนที่พวกคริสเตียนทางตอนเหนือซึ่งมักจะฉวยโอกาสในขณะที่ชาวมุสลิมมีความยุ่งเหยิงภายใน การทำศึกเหล่านี้เป็นการสั่งสอนพวกคริสเตียนเสียมากกว่า อะมีรฮิชามได้ส่งกองทัพภายใต้การนำของยูซุฟ อิบนุ บัคฺติน กองทัพของยูซุฟได้เผชิญหน้ากับกองทัพของเบอร์มานโด กษัตริย์วิสิโกธ และสามารถสร้างความปราชัยอย่างย่อยยับแก่พวกวิสิโกธ

 

บางครั้งอะมีรฮิชามก็นำทัพด้วยตัวเองสู่เขตแดนตอนเหนือ และปราบปรามกิชตาละฮฺ (Catile) และเข้าสู่เขตอัลบะฮฺ (Alva) และป้อมปราการที่พวกวิสิโกธได้สร้างเอาไว้ เมื่อเบอร์มานโด (Raimandez) เสียชีวิต อัลฟองซัวที่ 2 (Alfonso) ก็สืบตำแหน่งต่อมา ฮิชามจึงส่งกองทัพภายใต้การนำของอับดุลมาลิก อัรฺรูมีย์ เพื่อสั่งสอนพวกวิสิโกธ กองทัพของอับดุลมาลิก อัรฺรูมีย์ได้รุกเข้าไปในดินแดนซึ่งพวกวิสิโกธเคยยึดครองอยู่และตีพวกวิสิโกธจนแตกพ่าย

 

แต่ในช่วงเคลื่อนทัพกลับอัลฟองซัวที่ 2 ได้นำทัพของตนเข้าซุ่มโจมตีกองทัพของชาวมุสลิม ฮิชามจึงส่งกองทัพเพื่อไปล้างแค้นพวกวิสิโกธอีกทัพหนึ่งซึ่งสร้างความปราชัยให้กับพวกวิสิโกธ และอัลฟองซัวก็เกือบพลาดท่าตกเป็นเชลยถ้าหากเขาไม่หลบหนีไปตั้งมั่นยังป้อมปราการที่ห่างไกลออกไป พวกวิสิโกธถูกสังหารเป็นจำนวนมาก กองทัพที่ฮิชามส่งไปยังเขตของพวกวิสิโกธนี้มีเป้าหมายในการต่อต้านการคุกคามหรือการสั่งสอนพวกทางตอนเหนือ มิได้มีเป้าหมายในการขยายดินแดนแต่อย่างใด

 

ในปีฮ.ศ.177/คศ.793 อะมีรฮิชาม ได้ส่งกองทัพสู่ตอนเหนืออีกครั้งเพื่อข้ามเทือกเขาพีเรนีส ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นการทำศึกเพื่อสั่งสอนพวกคริสเตียนทางตอนเหนือและภาคใต้ของฝรั่งเศส และสร้างความน่าเกรงขามของชาวมุสลิม ตลอดจนทำให้ความปรารถนาในการญิฮาดนั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังสามารถทำให้มีการตีคืนดินแดนทางภาคใต้ของฝรั่งเศสที่ชาวมุสลิมเคยสูญเสียไปในยุคที่เกิดความไม่สงบในช่วงตอนปลายการปกครองของเหล่าข้าหลวง

 

กองทัพที่ฮิชามส่งออกไปในครั้งนี้เกือบจะเข้ายึดครองเมืองหลวงของแคว้นซิบติมานียะฮฺได้ในขณะที่ชาร์ลมาญกำลังติดพันในการรบพุ่งกับพวกแทรกซอน แม่ทัพอับดุลมาลิก ได้รับชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่าจนถึงเมืองกอรฺกอชูนะฮฺ (Carcasona) และยังได้รับชัยชนะต่อดุก เดอ ตูลูซ (Toulosa) ตลอดจนจับเชลยศึกได้หลายพันคนอีกด้วย

 

ต่อมาในปีฮ.ศ.178/คศ.794 พวกเบอร์เบอร์ได้ก่อการลุกฮือทางตอนใต้ของแคว้นอัลอันดะลุส อะมีร ฮิชาม ก็สามารถปราบปรามจนสงบเรียบร้อย การดำรงตำแหน่งผู้ครองรัฐ (อะมีร) ของฮิชามกินระยะเวลาราว 8 ปี (ฮ.ศ.172-180) ซึ่งมีความโดดเด่นด้วยความมีเสถียรภาพและการปราบปรามการกบฏลุกฮือของฝ่ายตรงกันข้าม ตลอดจนการสร้างความมั่นคงให้กับเส้นพรมแดนทางตอนเหนือ และการนำเอาความน่าเกรงขามและจิตวิญญาณของการญิฮาดในจิตใจของชาวมุสลิมกลับคืนมาอีกครั้ง

 

ผลพวงของรัชสมัยฮิชาม อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อัดดาคิล

อะมีรฮิชามมีความรักในวิทยาการและบรรดานักปราชญ์ เขามักจะปรึกษาหารือกับเหล่านักปราชญ์และยอมรับถึงสถานภาพอันสูงส่งของพวกเขา ฮิชามมีความรักต่อภาษาอาหรับและได้กำหนดให้ภาษาอาหรับเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอนในทุกๆ สถาบันทางการศึกษาแม้กระทั่งในสถาบันทางวิชาการของกลุ่มชนที่มิใช่มุสลิม

 

สิ่งดังกล่าวทำให้ชาวสเปน (วิสิโกธ) เริ่มสนใจศึกษาภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นการง่ายสำหรับพวกเขาในการเรียนรู้หลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ชาวสเปนเป็นอันมากได้เข้ารับอิสลามในรัชสมัยของฮิชาม มัซฮับมาลิกีย์ได้กลายเป็นมัซฮับที่แพร่หลายสำหรับพลเมืองมุสลิมในแคว้นอัลอันดะลุส

 

ในด้านความเจริญนั้น อะมีรฮิชามได้บูรณะซ่อมแซมกำแพงเมืองของนครโคโดบาฮฺ และขยายมัสญิดญามิอฺแห่งนครโคโดบาฮฺ ตลอดจนมีบัญชาให้ปูพื้นถนนหลายสายพร้อมกับมีการแขวนตะเกียงส่องแสงสว่างตามถนนหนทางสายต่างๆ โดยเฉพาะในนครโคโดบาฮฺ ฮิชามยังได้ให้ความสนใจในด้านการเกษตรกรรม มีการนำเอาพันธุ์ไม้หลากหลายชนิดเข้ามาปลูกในแคว้นอัลอันดะลุส

 

อะมีร ฮิชาม อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อัดดาคิลได้สิ้นชีวิตหลังจากปกครองแคว้นอัลอันดะลุสตลอดระยะเวลา 7 ปี 9 เดือนโดยประมาณในปีฮ.ศ.180/คศ.796 และอัลหะกัมบุตรชายก็สืบตำแหน่งต่อมา

 


 

รัชสมัยอัลหะกัม อิบนุ ฮิชาม (อัรร่อบะฎีย์) (ฮ.ศ.180-206/คศ.796-822)

อัลหะกัม อิบนุ ฮิชามได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ครองรัฐ (อะมีร) อัลอุม่าวียะฮฺในแคว้นอัลอันดะลุส ภายหลังบิดาสิ้นชีวิตในปีฮ.ศ.180 มีฉายาว่า ”อัลหะกัมที่ 1” และ “อัรร่อบะฎีย์” อัลหะกัมดำรงตำแหน่งขณะมีอายุได้ 26 ปี เขามีนิสัยเป็นคนที่เด็ดขาดและเข้มแข็ง เมื่อข่าวการดำรงตำแหน่งของเขาไปถึงแอฟริกาเหนือ สุลัยมานและอับดุลลอฮฺ ผู้มีศักดิ์เป็นลุงและอาของอัลหะกัมก็ก่อการกบฏ สุลัยมานรวบรวมไพร่พลส่วนใหญ่จากพวกเบอร์เบอร์ข้ามช่องแคบญิบรอลต้าและเคลื่อนกำลังสู่นครโคโดบาฮฺ

 

แต่สุลัยมานก็ล้มเหลวในการเข้าตีนครโคโดบาฮฺ จึงบ่ายหน้าสู่เขตแดนทางตะวันตก อัลหะกัมได้นำทัพของตนไล่ติดตามและสามารถสังหารสุลัยมานได้ใกล้กับเมืองมาริดะฮฺ (Merida) การกบฏของลุงต่อหลานชายก็จบลงในปีฮ.ศ.184 ฝ่ายอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัดดาคิลผู้เป็นอาของอัลหะกัมก็ก่อการกบฏเช่นเดียวกับสุลัยมาน อะมีร อัลหะกัมจึงส่งคนไปยื่นข้อเสนอให้อับดุลลอฮฺเป็นเจ้าเมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia) และเตือนว่าถ้าไม่รับข้อเสนอก็จะมีจุดจบเช่นเดียวกับสุลัยมาน อับดุลลอฮฺ พอใจต่อข้อเสนอดังกล่าว เขาจึงเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมาว่า “อับดุลลอฮฺ อัลบะลันซีย์” การกบฏก็ยุติลงด้วยการใช้เหตุผลและปัญญา

 

ในปีฮ.ศ.181 เช่นกันชาวมุสลิมลูกผสมระหว่างอาหรับ,เบอร์เบอร์-สเปน ที่ถูกเรียกว่า “อัลมุ่วัลละดูน” หรือ “อัลมุสตะอฺรอบูน” ก็ได้ก่อการกบฏภายใต้การนำของอุบัยดะฮฺ อิบนุ ฮะมีดในนครโทเลโดและยึดเมืองนี้เอาไว้ได้ อะมีร อัลหะกัมจึงได้ส่งกองทัพภายใต้การนำของ”อัมรูส” ซึ่งเป็นมุสลิมลูกครึ่งเช่นเดียวกับพวกกบฏไปปราบปรามและสามารถยึดนครโทเลโดคืนได้ แต่อัมรูส กลับก่อการกบฏเสียเองในภายหลังและนำไพร่พลของตนเพื่อเข้ายึดนครโคโดบาฮฺ

 

อะมีรอัลหะกัมจึงส่งกองทัพที่นำโดยอับดุรเราะฮฺมานบุตรชายของตนออกจากนครโคโดบาฮฺโดยแสร้งทำทีว่าจะเคลื่อนพลไปยังเขตชายแดนของอัลอันดะลุสทางตอนเหนือ ทำให้พวกกบฏชะล่าใจ แต่เมื่อเลยเขตของนครโทเลโด อับดุรเราะฮฺมานก็นำทัพย้อนเข้าปิดล้อมนครโทเลโดและสามารถเข้าสู่ตัวเมืองและสังหารบรรดาผู้นำของพวกกบฏราว 700 คน การปราบปรามพวกกบฏก็สิ้นสุดลง


สถานการณ์ของพวกศัตรูทางตอนเหนือ

ในปีฮ.ศ.183 พวกวิสิโกธก็แตกความสามัคคี อัซฺวารฺ (เอดเวิร์ด) ได้แยกตนเป็นอิสระจากอาณาจักรคริสเตียนตอนเหนือ และสถาปนาอาณาจักรนาวารฺ (Navarre) มีเมืองบัมบะลูนะฮฺ เป็นนครหลวงของตน ส่วนอาณาจักรคริสเตียนของพวกวิสิโกธทางปลายสุดของตะวันตกเฉียงเหนือนั้น อัลฟองซัวที่ 2 ยังคงปกครองอยู่ โดยมีเมืองยะลีกียะฮฺ (Galicia) เป็นนครหลวง

 

ในปีฮ.ศ.185/คศ.801 ลูอิส (หลุยส์) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งกษัตริย์ฝรั่งเศสภายหลัง  ชาร์ลมาญ ผู้เป็นบิดาได้สิ้นชีวิต (ชาวมุสลิมเรียกลูอิสผู้นี้ว่า ลาซริก (Rodrigo) บุตรชาร์ลมาญ) ลูอิสได้นำทัพเข้าโจมตีเขตตอนเหนือของแคว้นอัลอันดะลุส และยึดครองเมืองบัรชะลูนะฮฺ (Barcelona) ได้ภายหลังข้ามเทือกเขาพีเรนีส อะมีรอัลหะกัมจึงส่งน้องชายของตนให้นำทัพเพื่อขับไล่กองทัพของลูอิส แต่ก็ได้รับความปราชัยอย่างย่อยยับ ในปีฮ.ศ.187 จึงได้ส่งกองทัพภายใต้การนำของอับดุลมาลิกและอับดุลการีม บุตรชายทั้งสองของมุฆีซฺ แต่ทั้งสองก็ไม่สามารถทำอะไรได้

 

ลูอิสต้องการขยายดินแดน จึงนำทัพเข้าปิดล้อมเมืองฎอรซูนะฮฺ (Tarazona) ในปีฮ.ศ.192 แต่อัลหะกัมได้ส่งอับดุรเราะฮฺมานบุตรชายของตนให้นำทัพเข้าตีฝ่าการปิดล้อมของพวกคริสเตียนจนแตกพ่ายไป ในปีต่อมา ลูอิสก็หวนกลับมายังแคว้นอัลอันดะลุสเพื่อรุกรานแต่ก็ปราชัยกลับไปอีกครั้ง ในปีฮ.ศ.193 อัลฟองซัวที่ 2 ได้นำทัพข้ามแม่น้ำที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างเขตแดนของตนกับดินแดนของชาวมุสลิมและนับเป็นครั้งแรกที่อัลฟองซัวรุกเข้ามาถึงเมืองกอลบีเราะฮฺ และลิชบูนะฮฺ (Lisbon) และยึดครองเมืองทั้งสองพร้อมกับขับชาวมุสลิมออกจากที่นั่น

 

แต่ในปีฮ.ศ.200 อัลหะกัมได้ส่งทัพไปยังแคว้นญะลีกียะฮฺ (Galicia) ขณะที่พวกคริสเตียนกำลังมีความขัดแย้งภายใน ครั้งนี้กองทัพของชาวมุสลิมก็สามารถสร้างความสูญเสียแก่ฝ่ายคริสเตียนและทำให้การรุกคืบหน้าของพวกคริสเตียนหยุดชะงักลง

 

เรื่องราวของอัลหะกัมในการปฏิบัติตัวของเขาทำให้ผู้คนฉงนในขณะที่เขาเป็นผู้ปกครองที่รักการละเล่นและความเพลิดเพลิน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นนักญิฮาดผู้กล้าหาญ บรรดานักวิชาการศาสนามีความเห็นว่าบุคคล เช่น อัลหะกัมไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ปกครองผู้คนหรือเป็นผู้นำของชาวมุสลิม และนี่คือความเห็นของนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ 2 ท่านคือ

 

ท่านยะฮฺยา อิบนุ ยะฮฺยา อัลลัยซีย์ (ถือกำเนิดในปีฮ.ศ.152 และเสียชีวิตในปีฮ.ศ.234 เคยรับฟังอัลมุวัตเตาะอฺจากอิหม่ามมาลิก อิบนิ อะนัส) อิบนุ อับดิลบัรฺริ กล่าวว่า : ยะฮฺยา อิบนุ ยะฮฺยาได้มายังอัลอันดะลุสพร้อมกับความรู้อันเอกอุและการฟัตวา (วินิจฉัยปัญหาศาสนา) แห่งอัลอันดะลุสก็กลับมาอีกครั้งหลังจากการสิ้นชีวิตของอีซา อิบนุ ดีนารฺ อัลฟะกีฮฺ  ทั้งผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปต่างก็ถือว่าความเห็นของยะฮฺยาเป็นที่สิ้นสุด เขาเป็นนักนิติศาสตร์ที่มีความเห็นเป็นเยี่ยม

 

ส่วนหนึ่งจากการฟัตวาของเขาคือ อับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ ฮะกัม เคยมองสาวใช้ของตนในเดือนร่อมาฎอนแล้วมิอาจอดกลั้นได้จึงได้ร่วมหลับนอนกับนาง ภายหลังอับดุรเราะฮฺมานก็เสียใจต่อการกระทำของตน จึงได้สอบถามถึงการสำนึกผิดของตน ยะฮฺยา อิบนุ ยะฮฺยา ก็ตอบว่า : จงถือศีลอด 2 เดือนติดต่อกัน บรรดานักวิชาการก็นิ่งเงียบ

 

ครั้นเมื่อพวกเขาออกมาก็กล่าวกับยะฮฺยาว่า : ทำไมท่านจึงไม่ฟัตวาตามมัซฮับของเราที่มีรายงานจากอิหม่ามมาลิก (ร.ฮ.) ว่าให้มีสิทธิเลือกเอาระหว่างการปล่อยทาส การถือศีลอด และการให้อาหาร? ยะฮฺยากล่าวว่า : “หากว่าเราเปิดทางนี้ให้แก่เขา ก็ย่อมเป็นการง่ายที่เขาจะร่วมหลับนอนทุกวันและปล่อยทาส 1 คน ดังนั้นฉันจึงให้เขากระทำข้อที่ยากที่สุด (คือถือศีลอด 2 เดือน ติดต่อกัน) เพื่อที่เขาจะได้ไม่หวนกลับมากระทำเช่นนั้นอีก”

 

ส่วนนักวิชาการอีกท่านหนึ่งคือ ตอลูต อัลมุอาฟีรีย์ บุคคลทั้งสองได้เรียกร้องให้ปลดอัลหะกัมออกจากตำแหน่งเพราะไม่มีความเหมาะสมในการปกครองทำให้มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งคอยรอโอกาสที่จะก่อการลุกฮือต่ออัลหะกัม

 

ในปีฮ.ศ.202/คศ.817 ช่างตีเหล็กซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาได้รับซ่อมดาบขององครักษ์คนหนึ่งของอะมีรอัลหะกัม แต่ปรากฏว่าองครักษ์ไม่พอใจผลงานของช่างตีดาบ จึงสังหารช่างตีดาบคนนั้นโดยมิชอบเพราะถือว่าตนเป็นองครักษ์ของผู้ครองรัฐ ชาวบ้านที่ไม่พอใจจึงรุมทำร้ายองครักษ์จนเสียชีวิต การลุกฮือของชาวบ้านก็เกิดขึ้น พวกเขาข้ามสะพานและกำแพงเมืองโคโดบาฮฺและเข้าปิดล้อมปราสาทของอัลหะกัมทางด้านทิศตะวันออก อับดุลกะรีม หัวหน้าองครักษ์ก็ไม่สามารถตีฝ่าวงล้อมของพวกกบฏได้

 

อัลหะกัมจึงใช้ให้อับดุลมาลิกและอับดุลกะรีมบุตรชายทั้งสองของมุฆีซ อัรรูมีย์นำกำลังทหารจำนวนหนึ่งตีฝ่าวงล้อมข้ามสะพานออกไปลอบเผาบ้านเรือนของพวกกบฏทำให้พวกกบฏที่ปิดล้อมจำต้องยกเลิกการปิดล้อมและเร่งรุดไปช่วยดับไฟ อัลหะกัมได้มีบัญชาให้ทหารองครักษ์ของตนทำการโจมตีตลบหลังพวกกบฏซึ่งล้มตายเป็นอันมาก หลังจากนั้นก็ให้ทหารเข้าโจมตีชาวตำบลอัรร่อบัฎ ซึ่งเป็นเขตชานเมืองของนครโคโดบาฮฺ ชาวตำบลอัรร่อบัฎได้รวมตัวกันก่อนหน้านั้นเพื่อเรียกร้องให้ปลดอัลหะกัมออกจากตำแหน่งผู้ครองรัฐอัลอันดะลุส

 

ซึ่งนักวิชาการศาสนากล่าวหาว่าอัลหะกัมหมกมุ่นแต่การเสพสุขไม่สนใจงานบริหารราชการแผ่นดิน ทหารของอัลหะกัมจึงสังหารชาวตำบลอัรร่อบัฎเป็นอันมาก และมีคำสั่งให้เนรเทศชาวตำบลอัรร่อบัฎทั้งหมดที่เหลืออยู่ออกจากแคว้นอัลอันดะลุส ด้วยเหตุนี้อัลหะกัมจึงได้รับฉายาว่า”อัรร่อบะฎี” ชาวอัรร่อบัฎถูกบังคับให้เดินทางสู่นครฟาสในมอรอคโค หลังจากนั้นก็เดินทางถึงนครอเล็กซานเดรียในอียิปต์ พวกเขาอาศัยอยู่ในนครอเล็กซานเดรียได้ 10 ปี พวกชาวเมืองก็แสดงความไม่พอใจทำให้อับดุลลอฮฺ อิบนุ ฏอฮิร เจ้าเมืองอเล็กซานเดรียจำต้องขับไล่ชาวอัรร่อบัฎออกจากนครแห่งนี้อีกครั้ง

 

พวกเขาจึงพากันลงเรือมุ่งหน้าออกสู่ท้องทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจนกระทั่งผ่านมายังเกาะครีต (อิกรีฏูส) และพากันเข้าโจมตีกองกำลังของพวกไบแซนไทน์ซึ่งมีจำนวนเพียงเล็กน้อย และสถาปนาอาณาจักรอัรร่อบะฎียะฮฺมุสลิมขึ้นที่เกาะครีตในปีฮ.ศ.212/คศ.827 ผู้นำของพวกอัรร่อบะฎีย์คือ อัมรฺ อิบนุ อีซา อัลบัลลูฏีย์ อาณาจักรของพวกเขาตั้งมั่นอยู่ที่นั่นราว 100 ปี และถูกพวกไบแซนไทน์ตีคืนได้สำเร็จในปีฮ.ศ.350/คศ.961

 

อะมีร อัลหะกัม อัรร่อบะฎีย์ดำรงตำแหน่งผู้ครองนครรัฐแห่งอัลอันดะลุสตลอดระยะเวลาอันยาวนาน นับจากปีฮ.ศ.180 จนถึง ฮ.ศ.206 คือ 26 ปี เมื่อรู้สึกว่าตนเองใกล้จะจบชีวิตและชราภาพมาก เขาก็เสียใจอย่างมากต่อการกระทำของตน และตำหนิตัวเอง เขาประกาศการเตาบะฮฺตัวต่อหน้าผู้คนเมื่อเขากล่าวสุนทรพจน์ในวันศุกร์และวันอีด เขาสำนึกผิดต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) แต่ก็จะดูสายไปคล้ายกับสุภาษิตที่ว่า : “หลังจากนครบัสเราะฮฺพังราบพนาสูร มันก็จบลงด้วยดี” เขาเสียชีวิตในปีฮ.ศ.206

 


 

รัชสมัยอับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ อัลหะกัม (อัลเอาซัฏ)  (ฮ.ศ.206/คศ.822-ฮ.ศ.238/คศ.852)

อับดุรเราะฮฺมานที่ 2 อิบนุ อัลหะกัม ได้รับฉายาว่า”อัลเอาซัฏ” เพื่อแยกแยะระหว่างอับดุรเราะฮฺมาน อัดดาคิลและอับดุรเราะฮฺมานที่ 3 อันนาซิร ซึ่งจะปกครองอัลอันดะลุสในภายหลัง

 

บิดาของอับดุรเราะฮฺมานที่ 2 (คืออัลหะกัม) ได้เลือกเขาจากบรรดาพี่น้องของเขาเพราะเขามีความยำเกรงและมีความรู้ เขาเป็นผู้โดดเด่นจากแวดวงนักวิชาการ , วรรณกรรม และการปกครอง เขามีอายุได้ 30 ปีขณะขึ้นดำรงตำแหน่งและต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคนานัปการ

 

ในปีฮ.ศ.206/คศ.821 อับดุลลอฮฺ อัลบะลันซีย์ ซึ่งมีอายุมากแล้วได้ก่อการกบฏต่ออับดุรเราะฮฺมาน เขาสามารถยึดครองเขต”ตุดมีร” (Theodemir) และรวบรวมผู้ให้การสนับสนุนตนได้เป็นอันมาก แต่อับดุลลอฮฺก็สิ้นชีวิตลงเสียก่อน ผลพวงการกบฏของเขาก็ยังคงดำเนินต่อมาอีก 7 ปี โดยที่ยะฮฺยา อิบนุ อับดิลลาฮฺเจ้าเมืองตุดมีร ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ อับดุรเราะฮฺมาน อัลเอาซัฏ จึงส่งแม่ทัพคนใหม่คือ อุมัยยะฮฺ อิบนุ มุอาวียะฮฺ เพื่อไปปราบการจลาจลของพวกกบฏ และย้ายเมืองเอกของเขตมายังเมืองมัรซียะฮฺ (Murcia) การกบฏลุกฮือก็ยุติลง

 

ต่อมาในปีฮ.ศ.208/คศ.823 ทางตอนเหนือพวกโกธิกได้ฉวยโอกาสก่อการกบฏขึ้นในดินแดนอิสลาม อัลเอาซัฏจึงส่งเสนาบดีอับดุลกะรีม อิบนุ มุฆีซฺไปยังภาคเหนือ และได้รับชัยชนะในสมรภูมิหลายครั้งตลอดจนช่วยเหลือเชลยชาวมุสลิมจากพวกโกธิกได้เป็นอันมาก สถานการณ์ทางตอนเหนือของอัลอันดะลุสก็สงบลง

 

เหตุการณ์ในแคว้นอัลอันดะลุสสงบลงได้ไม่นาน ก็เกิดความตึงเครียดขึ้นมาอีกครั้งในปี ฮ.ศ.213 มะฮฺมูด อิบนุ อับดิลญับบ๊ารฺได้นำพวกเบอร์เบอร์ก่อการจลาจลในเขตมาริดะห์ (Merida) และยังลอบติดต่อกับอัลฟองซัว ผู้ปกครองดินแดนคริสเตียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรไอบีเรีย และลูอิส บุตรชาร์ลมาญ กษัตริย์ของพวกแฟรงก์ โดยกษัตริย์คริสเตียนทั้ง 2 นั้นได้ให้การสนับสนุนพวกเบอร์เบอร์ทั้งกำลังพลและอาวุธ แต่ก่อนที่เขี้ยวเล็บของมะฮฺมูดจะเข้มแข็ง อัลเอาซัฏจึงส่งกองทัพเข้าปราบปรามการจลาจลของพวกเบอร์เบอร์ติดต่อกันหลายระลอก

 

แต่ทั้งหมดก็ล้มเหลวในการดับเปลวเพลิงแห่งความวุ่นวายนี้ หลังจากที่มันได้สร้างความร้อนรุ่มแก่อัลอันดะลุสอยู่ระหว่างปีฮ.ศ.213 จนถึง ฮ.ศ.218 ด้วยเหตุดังกล่าว อับดุรเราะฮฺมาน อัลเอาซัฏจึงได้นำทัพด้วยตัวเองเพื่อทำลายแนวร่วมพันธมิตรของพวกโกธิก-แฟรงก์กับบรรดาผู้ก่อการจลาจล เขาสามารถสร้างความปราชัยอย่างย่อยยับแก่พวกพันธมิตร และตัวแม่ทัพของกลุ่มกองกำลังนี้ก็หลบหนีสู่ป้อมปราการเพื่อเอาตัวรอด สถานการณ์ในแคว้นอัลอันดะลุสจึงค่อยสงบๆ ลงอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

 

แต่แล้วพวกเบอร์เบอร์ภายใต้การนำของสุลัยมาน อิบนุ มุรร่อตัยน์ก็รวบรวมบรรดาพลพรรคของมะฮฺมูดที่แตกพ่าย รวมกำลังเข้ายึดครองหัวเมืองต่างๆ ได้อย่างเป็นลำดับ คือ เมืองบาญะฮฺ (Beja) และบัตฺลิอุส (Badajoz) อับดุรเราะฮฺมาน อัลเอาซัฏจึงเห็นว่าเรื่องนี้ชักจะบานปลายและลุกลามใหญ่โตเสียแล้ว จึงส่งกองทัพไล่ติดตามทำลายไพร่พลของสุลัยมานในทุกที่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสุลัยมานจำต้องหลบหนีไปพึ่งพวกคริสเตียนทางตอนเหนือพวกคริสเตียน (วิสิโกธ) ก็เห็นว่าพวกตนสบโอกาสที่จะเข้ามาแทรกแซงเขตแดนของชาวมุสลิมที่อยู่ติดกัน และเพื่อช่วยเหลือสุลัยมานพันธมิตรของพวกเขา แต่อะมีร อับดุรเราะฮฺมาน อัลเอาซัฏ ก็มิได้นิ่งดูดาย หากแต่ยังคงนำทหารไล่ติดตามบดขยี้พวกกบฏ และก็สามารถสังหารสุลัยมาน หัวหน้าพวกกบฏที่ลุกฮือลงได้ในที่สุด

 

ในปีฮ.ศ.224/คศ.839 ฮาชิม อัฎฎอรฺรอบฺ ซึ่งเป็นพวกชอบสร้างปัญหาและเป็นอันธพาลก็ปลุกระดมผู้คนที่ชอบสร้างความวุ่นวายให้ก่อการจลาจลในเมืองโทเลโดและเขตปริมณฑล อับดุรเราะฮฺมาน อัลเอาซัฏจึงส่งแม่ทัพฝีมือดีของตนยกทัพไปปราบปรามซึ่งกว่าจะสงบราบคาบก็กินเวลาถึง 8 ปี ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ค่อลีฟะฮฺ อัลมะอฺมูน แห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺ ในซีกโลกอิสลามฟากตะวันออกก็สิ้นพระชนม์ลงและอัลมุอฺตะซิม บิลลาฮฺ ก็สืบตำแหน่งต่อมา ความอ่อนแอก็เริ่มคืบคลานเข้าสู่อาณาจักรอับบาซียะฮฺ ในขณะที่การปกครองของรัฐอุม่าวียะฮฺในสเปนก็ยังอ่อนแอ

 

การรุกรานของพวกนอร์แมนด์ (Normands)

พวกนอร์แมนด์ (Normands) เป็นชนชาติที่อาศัยอยู่แถบทะเลเหนือหรือสแกนดิเนเวียที่รู้จักกันในนาม นักรบไวกิ้งค์ พวกนี้ทะลักเข้าสู่ยุโรปนับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 พวกนอร์แมนด์หรือไวกิ้งค์เป็นพวกอนารยชนเยอรมัน นักประวัติศาสตร์มุสลิมเรียกพวกนี้ว่า อัลมะญูซฺมีความชำนาญในการเดินเรือและทำการค้าตลอดจนการจัดตั้งกองเรือโจรสลัดเข้าตีหัวเมืองชายฝั่งที่พวกเขาล่องเรือไปถึง กองเรือโจรสลัดของพวกไวกิ้งค์หรือนอร์แมนด์นี้มักจะมีจำนวนเรือไม่น้อยกว่า 40 ลำ บางครั้งมีมากถึง 100 ลำ และจะพากันล่องกองเรือออกปล้นสะดมเขตชายฝั่งในทุกๆ 6 หรือ 7 ปีต่อครั้ง

 

ในปีฮ.ศ.229/คศ.844 ได้มีหนังสือจากวะฮฺบุลลอฮฺ อิบนุ ฮัซฺมิน เจ้าเมืองลิชบูนะฮฺ (ลิสบอนนครหลวงของโปรตุเกสในปัจจุบัน) ระบุว่ามีกองเรือโจรสลัดไวกิ้งค์โจมตีชายฝั่งจำนวน 54 ลำมีเรือขนาดเล็กที่ใช้ฝีพาย 54 ลำ เจ้าเมืองลิชบูนะฮฺ สามารถต้านทานพวกไวกิ้งค์ไม่ให้เข้าสู่ตัวเมืองได้สำเร็จ พวกไวกิ้งค์จึงบ่ายหน้าสู่ปากแม่น้ำอัลวาดี อัลกะบีร (Guadelguivir) และรุกเข้าสู่เมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) และสามารถยึดครองเมืองนี้เอาไว้ได้

กองเรือหัวมังกรของพวกไวกิ้ง

เมื่ออัลเอาซัฏทราบข่าวจึงได้ส่งแม่ทัพยะฮฺยา อิบนุ ฮะกัม อัลญิยานีย์ และยะฮฺยา อิบนุ ฮะบีบให้นำทัพเข้าโจมตีพวกไวกิ้งค์ใกล้กับเมืองตอลิยาเตาะฮฺ ซึ่งห่างจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 30 ก.ม. จากเมืองอิชบีลียะฮฺ ขณะที่พวกไวกิ้งค์กำลังเคลื่อนกำลังพลเพื่อยึดครองนครโคโดบาฮฺ กองทัพของชาวมุสลิมสามารถหยุดยั้งพวกไวกิ้งค์เอาไว้ที่นั่น

 

พวกไวกิ้งค์ถูกสังหารเป็นจำนวนมาก และสูญเสียเรือไป 35 ลำจากทั้งหมด 54 ลำ ผู้นำของพวกไวกิ้งค์ถูกสังหาร และเชลยที่ถูกจับได้จำนวนหนึ่งถูกแขวนคอกับต้นอินทผลัม การรุกรานของพวกไวกิ้งค์ก็จบลงหลังจากที่พวกเขาได้ยึดครองเมืองอิชบีลียะฮฺและเข่นฆ่าพลเมืองอัลอันดะลุสอย่างมากมาย หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นอับดุรเราะฮฺมาน อัลเอาซัฏจึงมีบัญชาให้สร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการของเมืองอิชบีลียะฮฺเพื่อป้องกันการโจมตีของข้าศึกที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก

 

การทำสงครามกับตอนเหนือของสเปนและภาคใต้ของฝรั่งเศส

อับดุรเราะฮฺมาน อัลเอาซัฏ มีความต้องการที่จะสำแดงให้เป็นที่ประจักษ์ถึงความเข้มแข็งของตน และสร้างความครั้นคร้ามแก่เหล่าศัตรูทางตอนเหนือและเขตตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรคือพวกแฟรงก์ในฝรั่งเศส และพวกโกธิกทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอัลอันดะลุส เขาได้นำทัพสู่พวกโกธิกและทำการสู้รบจนถึงเมืองลิออง เขาสามารถยึดครองป้อมปราการและที่มั่นเป็นอันมากที่อยู่ในกำมือของอาณาจักรลิออง และกดดันให้พวกโกธิกถอยร่นกลับไปยังเขตภูผาบลาโอ

 

ในปีฮ.ศ.231 อับดุรเราะฮฺมานได้ส่งเสนาบดีอับดุลการีม อิบนุ มุฆีซฺ ให้นำทัพข้ามเทือกเขาพีเรนีสเพื่อต่อต้านการคุกคามของศัตรูต่อแคว้นอัลอันดะลุส กองทัพของชาวมุสลิมได้รุกเข้าสู่ภาคใต้ของฝรั่งเศสและปิดล้อมเมืองกรอนดะฮฺ (Gerona) และเข้ายึดครองเมืองนี้ได้พร้อมกับทรัพย์สงครามเป็นอันมาก

 

กรณีพิพาทระหว่างชาวมุสลิมกับคริสเตียนในแคว้นอัลอันดะลุส

เป็นที่ทราบกันว่า ชาวมุสลิมมิได้บังคับผู้ใดให้ละทิ้งศาสนาของตน หากแต่ปล่อยให้ชาวคริสเตียนและชนกลุ่มอื่นมีสิทธิเสรีภาพในการถือศาสนา การประกอบพิธีกรรม โบสถ์วิหาร, สถาบันทางการศึกษา และการแต่งกายของพวกเขา กระนั้นก็ยังมิวายที่ชาวคริสเตียนในนครโคโดบาฮฺได้ก่อการจลาจลโดยอ้างเรื่องของศาสนาเป็นเหตุ

 

กล่าวคือในปีฮ.ศ.235 ชาวคริสเตียนคนหนึ่งชื่อเบอร์เตกโต ได้โต้เถียงกับชาวมุสลิมคนหนึ่งจนเลยเถิดไปสู่การประณามศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมแม้จะห้ามปรามแล้ว เบอร์เตกโตก็หาได้หยุดโต้เถียงและกล่าวหาด่าทอไม่ชาวมุสลิมจึงนำตัวเขาไปพบกอฎีย์ แต่เบอร์เตกโตก็ยังยืนกรานและด่าทอศาสนาอิสลามในที่ประชุมของกอฎีย์ จึงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตเบอร์เตกโต

 

ข่าวก็แพร่สะพัดออกไป ทำให้พรรคพวกของเอลิคิโอ ซึ่งเป็นชาวคริสเตียนก่อการจลาจล ชาวคริสต์หลายคนได้ถูกประหารชีวิตและถูกเรียกขานว่า “นักบุญผู้พลีชีพ” เรื่องราวของพวกเขาเป็นที่กล่าวขานในหมู่ชาวคริสต์ของอัลอันดะลุสและยุโรป

 

การพิพาทระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์ลุกลามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 3 ปี ในปีฮ.ศ.238 มีชาวคริสต์หัวรุนแรงจำนวนหนึ่งลอบเข้าไปในมัสญิดญามิอฺแห่งนครโคโดบาฮฺแล้วเอาปฏิกูลทากำแพงมัสญิด อับดุรเราะฮฺมาน อัลเอาซัฏได้สั่งประหารชีวิตพวกที่ก่อการทั้งหมด

 

ฝ่ายเอลิคิโอจึงฉวยโอกาสประโคมข่าวว่าชาวคริสเตียนที่ถูกประหารชีวิตโดยอธรรมตามความเห็นของตนล้วนเป็นนักบุญผู้พลีชีพในคริสต์ศาสนา อับดุรเราะฮฺมาน อัลเอาซัฏจึงยุติปัญหาพิพาทระหว่าง 2 ศาสนาด้วยการจัดการประชุมของคริสตจักรโดยเชื้อเชิญบรรดาบาทหลวงทั่วแคว้นอัลอันดะลุสให้มายังนครโคโดบาฮฺ อัลเอาซัฏได้เข้าร่วมประชุมและถามพวกเขาอย่างไม่อ้อมค้อมว่า :

พวกท่านให้การรับรองการเคลื่อนไหวของเอลิคิโอ และสิ่งที่ถูกเรียกขานว่านักบุญผู้พลีชีพหรือไม่? พวกท่านประสงค์ให้เกิดความวุ่นวายที่มืดบอดระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสเตียนกระนั้นหรือ?

 

บรรดาบาทหลวงและนักการศาสนาชาวคริสต์ได้ร่วมประชุมหารือในระหว่างกัน แล้วก็ออกประกาศแถลงการณ์ว่า การเคลื่อนไหวของเอลิคิโอและพรรคพวกเป็นการละเมิดเกินเลยและออกนอกคำสอนในคริสต์ศาสนา และไม่มีชาวคริสเตียนคนใดถูกกดขี่และอธรรมในแคว้นอัลอันดะลุส เพราะชาวคริสเตียนต่างก็ใช้ชีวิตอย่างมีเสรีภาพในความเชื่อและการประกอบพิธีกรรมของพวกตน

 

และที่ประชุมดังกล่าวก็ประกาศประณามอย่างชัดเจนต่อการเคลื่อนไหวดังกล่าว เมื่อผู้คนรับทราบถึงการประกาศดังกล่าว การจลาจลระหว่าง 2 ศาสนาก็ยุติลง เป็นที่น่าสังเกตว่าเรื่องการจลาจลของชาวคริสต์นี้มีระบุในเอกสารของชาวยุโรปเพียงแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีการเกินเลยด้วยการแต่งเติมสีสันในเหตุการณ์เนื่องจากความมีอคติและความชิงชังต่อศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

 

อะมีร อับดุรเราะฮฺมาน อัลเอาซัฏได้ให้ความสนใจในการพัฒนากองเรือรบอิสลามจนเจริญก้าวหน้าและเป็นที่ครั่นคร้าม กองเรือรบอิสลามจะทำหน้าที่รักษาและปกป้องเขตชายฝั่งของอัลอันดะลุส และมีความพร้อมเสมอสำหรับป้องกันอัลอันดะลุสจากทางด้านมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อิบนุ ฮิบบาน นักประวัติศาสตร์ชาวอันดะลุสได้ระบุว่า :

 

อะมีร อับดุรเราะฮฺมาน อัลเอาซัฏได้มีบัญชาให้กองเรือรบจำนวน 300 ลำมุ่งหน้าสู่เกาะมิยูรฺเกาะฮฺ (Mallorca) และเกาะมะนูรฺเกาะฮฺ (Menorca) ในปีฮ.ศ.234 เนื่องจากพลเมืองในเกาะทั้งสองได้ทำผิดข้อตกลงด้วยการลอบทำร้ายเรือของชาวมุสลิมที่ผ่านไปมาระหว่างเกาะทั้งสอง กองเรือรบอิสลามได้รับชัยชนะในการศึกและพิชิตเกาะส่วนใหญ่ของพวกเขา”

 

อุตสาหกรรมการต่อเรือได้มีบทบาทสำคัญมากขึ้นทั้งในจำนวน, ความแข็งแรงและความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการรุกรานในเขตชายฝั่งของมุสลิมไม่ให้เกิดขึ้นอีกเหมือนเมื่อครั้งพวกนอร์แมนด์หรือไวกิ้งค์ได้เคยรุกรานมาก่อนแล้ว

 

อับดุรเราะฮฺมาน อัลเอาซัฏปกครองแคว้นอัลอันดะลุสเป็นเวลา 23 ปี และสิ้นชีวิตในปีฮ.ศ.238 มุฮำหมัด อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อิบนิ อัลหะกัมบุตรชายก็ขึ้นดำรงตำแหน่งต่อมา

 


 

รัชสมัยมุฮำหมัดที่ 1 อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน (ฮ.ศ.207-273/คศ.822-886)

ความอ่อนแอได้ปรากฏขึ้นในช่วงแรกของรัชสมัยมุฮำหมัดที่ 1 ซึ่งขึ้นปกครองรัฐอัลอันดะลุสในปีฮ.ศ.238 ยังไม่ทันไรเจ้าเมืองซัรกุสเฏาะฮฺ (ซาราโกซ่า) ทางตอนเหนือก็ได้ประกาศแยกตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับนครโคโดบาฮฺ ทางตอนเหนือของอัลอันดะลุสจึงมีรัฐอิสระเกิดขึ้น ติดตามด้วยการประกาศแยกตนเป็นอิสระของเมืองบัฏลิอุส (Badajoz) โดยเจ้าเมืองคนใหม่ที่ชื่อ “อับดุรเราะฮฺมาน อัลญะลีกีย์” และผนวกเมืองมาริดะฮฺ (Merida) เข้าเป็นส่วนหนึ่งในเขตปกครองของตนนอกจากนี้ยังมีความต้องการเข้ายึดครองเมืองโทเลโด ทางภาคกลางของแคว้นอัลอันดะลุส

 

แต่ทว่าอะมีร มุฮำหมัดที่ 1 สามารถหยุดยั้งความต้องการดังกล่าวเอาไว้ได้ ความอ่อนแอของศูนย์กลางการปกครองในนครโคโดบาฮฺยังคงดำเนินต่อไปจนลุเข้าสู่ปีฮ.ศ.244 อะมีร มุฮำหมัดก็สามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นกลับคืนมาอีกครั้ง โดยส่งอิสมาอีลจากตระกูลซูนนูนฺ ไปเป็นเจ้าเมืองโทเลโด แต่อิสมาอีลกลับประกาศแยกตนเป็นอิสระอีกครั้ง ด้วยการสถาปนารัฐซูนนูนขึ้นในนครโทเลโด

 

การเริ่มต้นของรัฐอิสระในแคว้นอัลอันดะลุสได้เริ่มปรากฏขึ้นในช่วงเวลานี้เป็นครั้งแรก ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ

1-  ช่วงแรก เริ่มปรากฏขึ้นในรัชสมัยของอะมีร มุฮำหมัดที่ 1 แต่ยังมีจำนวนไม่มาก (คือมีเพียง 3 รัฐเท่านั้น

2-  ช่วงที่ 2 ปรากฏขึ้นในตอนปลายยุคอัลอันดะลุส ซึ่งมีจำนวนรัฐอิสระที่ปกครองด้วยกลุ่มอำนาจต่างๆ ถึง 22 รัฐ

 

ในช่วงเวลานี้เอง พวกนอร์แมนด์ก็หวนกลับมาโจมตีด้วยกองเรือจำนวน 80 ลำ โดยอ้อมจากเขตชายฝั่งตะวันตกของอัลอันดะลุสลงทางใต้ ข้ามช่องแคบญิบรอลต้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันออกแล้วเข้าโจมตีเกาะอัลคอฎรออฺ (Algeciras) ในปีฮ.ศ.254 พวกนอร์แมนด์หรือโจรสลัดไวกิ้งค์ได้เผามัสญิดที่มูซา อิบนุ นุซัยฺร์ได้เคยสร้างเอาไว้เมื่อครั้งแรกเริ่มการพิชิตอัลอันดะลุสคือ “มัสญิดอัรรอยาตฺ”

 

หลังจากนั้นก็โอบล้อมขึ้นตอนเหนือของอัลอันดะลุสและยกพลขึ้นบกรุกเข้าสู่เขตนาฟารฺ (Navarre) ของพวกคริสเตียนและจับกษัตริย์กราเซียฮฺของนาฟ๊ารเป็นเชลย กษัตริย์ต้องไถ่ตัวเองเป็นเงินถึง 70,000 ดีนาร แล้วพวกนอร์แมนด์ก็ย้อนกลับมาสร้างความเสียหายตามเส้นทางที่พวกเขาผ่านมา จนกระทั่งอะมีร มุฮำหมัดได้จัดเตรียมทัพเพื่อเข้าปราบปรามพวกไวกิ้งค์ กองทหารมุสลิมสามารถทำลายเรือของพวกนี้ได้ถึง 40 ลำและสังหารพวกไวกิ้งค์ได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากชาวมุสลิมเคยมีบทเรียนจากการรุกรานของพวกไวกิ้งค์ (นอร์แมนด์) มาก่อนแล้ว จึงได้เตรียมการในการต่อเรือรบเอาไว้เพื่อป้องกันเขตชายฝั่งอัลอันดะลุส พวกไวกิ้งค์จึงต้องปราชัยและแตกพ่ายไป

 

แต่หลังจากนั้นอีกราว 2 ปี (ปีฮ.ศ.247) พวกไวกิ้งค์ก็นำกองเรือจำนวน 60 ลำมุ่งหน้าสู่ชายฝั่งอัลอันดะลุสอีกครั้ง อะมีร มุฮำหมัดจึงมีบัญชาให้ทหารรักษาชายฝั่งสกัดกองเรือของพวกไวกิ้งค์เอาไว้และสามารถทำลายกองเรือของพวกไวกิ้งค์ได้ 14 ลำ ส่วนที่เหลือหลบหนีไปได้ การรุกรานแคว้นอัลอันดะลุสได้ทำให้รัฐอัลอันดะลุสอ่อนแอมากขึ้น นอกเหนือจากการขัดแย้งและแย่งชิงอำนาจภายในระหว่างกัน

 

การขัดแย้งระหว่างรัฐอิสระในแคว้นอัลอันดะลุสมิได้จำกัดอยู่เพียงนั้นหากแต่ยังได้ลุกลามไปถึงอาณาจักรคริสเตียนทางตอนเหนืออีกด้วย กล่าวคือ ในปีฮ.ศ.249 ได้เกิดสงครามรบพุ่งระหว่างอาณาจักรนาฟารฺ (Navarre) ซึ่งมีนครบัมบะลูนะฮฺ เป็นราชธานีกับอาณาจักรลิออง (Leon) พวกนาฟารฺได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดต่อกองทัพของอาณาจักรลิออง แต่ก็ไม่สามารถยึดครองนครหลวงของลิอองได้

 

สถานการณ์ทางตอนเหนือของคาบสมุทรไอบีเรียมีความเกี่ยวพันกับอาณาจักรสเปนคริสเตียน 2 อาณาจักรคือ

1-  อาณาจักรนาฟารฺ (Navarre) มีกษัตริย์กราเซียฮฺคอยแผ่ขยายดินแดนเข้าครอบครองอาณาเขตของคริสเตียนอื่นๆ และถือกันว่ากษัตริย์ผู้นี้เป็นผู้สถาปนาอาณาจักรคริสเตียนที่เลื่องลือที่สุดในเขตตะวันตกเฉียงเหนือของอัลอันดะลุส

2-  อาณาจักรลิออง (Leon) ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีอัลฟองซัวที่ 3 (Alfonso 3”) เป็นผู้ปกครองที่เข้มแข็ง เขาสามารถขยายเขตแดนอาณาจักรของตนจนถึงเทือกเขาพีเรนีส

 

ส่วนชาวมุสลิมนั้นยังคงมีแต่การกบฏแข็งเมืองและความแตกแยกที่สั่นคลอนอำนาจและเสถียรภาพของรัฐอัลอันดะลุส ดังเช่นในปีฮ.ศ.264/คศ.878 อิบนุ ฮัฟซูนฺได้เริ่มปรากฏตัวขึ้นในภาคใต้ของอัลอันดะลุส ในเขตรอนดะฮฺ (Ronda) แรกเริ่มอิบนุ ฮัฟซูนฺเป็นหัวหน้าโจรปล้นสะดมตามรายทาง แล้วพวกโจรหัวขโมยตลอดจนพวกที่แสวงหาทรัพย์สินและการสร้างความวุ่นวายก็เข้าร่วมสมทบ อีกทั้งยังมีพวกลูกครึ่งอาหรับสเปน (อัลมุ่วัลละดูน) เข้าเป็นสมุนอีกเป็นอันมาก

 

กองโจรของอิบนุ ฮัฟซูนฺเที่ยวปล้นสะดมตามเส้นทางในภูเขาในตอนแรกมีสมุนเพียง 40 คนเท่านั้นแล้วก็ลงสู่ที่ราบเข้ายึดครองเมืองบัรบัชตัรฺ (Barbasto) และยึดเอาเมืองนี้เป็นที่ตั้งของซ่องโจร เจ้าเมืองริยะฮฺ (Rejeo) และแม่ทัพของเขาไม่สามารถปราบกองโจรของอิบนุ ฮัฟซูนได้มิหนำซ้ำยังเคยปราชัยแก่พวกกองโจรอีกด้วย อะมีร มุฮำหมัดจึงส่งกองทัพเข้าปราบปรามแต่ก็พ่ายแพ้อีกหลายครั้ง จนกระทั่งอะมีร มุฮำหมัดจำต้องส่งอัลมุนซิรฺ บุตรชายของตนยกทัพไปปราบพวกโจรที่เหิมเกริม

 

อัลมุนฺซิรฺสามารถปิดล้อมอิบนุ ฮัมดูนซึ่งเป็นพรรคพวกของอิบนุ ฮัฟซูนฺในป้อมอัลฮามมะฮฺเอาไว้ อิบนุ ฮัฟซูนฺจึงยกพรรคพวกเข้าช่วยเหลืออิบนุ ฮัมดูนในป้อมอัลฮามมะฮฺซึ่งเป็นโอกาสทำให้อัลมุนฺซิรเผชิญหน้ากับพวกกองโจรและสู้รบจนได้รับชัยชนะ อิบนุ ฮัฟซูนได้รับบาดเจ็บสาหัสแต่หลบหนีเข้าสู่ป้อมอัลฮามมะฮฺได้ กองทัพของอัลมุนซิรฺจึงปิดล้อมอย่างหนักและเกือบจะปราบพวกโจรได้สำเร็จข่าวการสิ้นชีวิตของอะมีร มุฮำหมัดผู้เป็นบิดาก็มาถึง อัลมุนซิรฺจำต้องยกเลิกการปิดล้อมและกลับสู่นครโคโดบาฮฺ อิบนุ ฮัฟซูนฺจึงรอดไปได้

 

อะมีร มุฮำหมัด อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อัลเอาซัฏได้สิ้นชีวิตในปีฮ.ศ.273 หลังจากอยู่ในตำแหน่งเจ้านครรัฐอัลอันดะลุสเป็นเวลา 34 ปี (ฮ.ศ.238-273)

 


 

รัชสมัย อัลมุนซิรฺ อิบนุ มุฮำหมัด อิบนิ อับดิรเราะฮฺมาน (ฮ.ศ.273-275/คศ.886-888)

อัลมุนซิรฺได้ยกเลิกการปิดล้อมอิบนุ ฮัฟซูนฺและกลับสู่นครโคโดบาฮฺเพื่อรับตำแหน่งผู้ครองนครรัฐอัลอันดะลุส ในปีฮ.ศ.273 อัลมุนซิรฺเป็นผู้มีบุคลิกเข้มแข็ง มีประสบการณ์ในศาสตร์สงคราม เขาเคยนำทัพตามบัญชาของอะมีร มุฮำหมัดผู้เป็นบิดามาก่อน แต่ทว่าเขารับมรดกนครรัฐที่แตกออกเป็นเสี่ยงๆ จากผู้เป็นบิดา กล่าวคือแตกแยกเป็นรัฐอิสระทางตอนเหนือทั้งทางทิศตะวันตกและทางทิศตะวันออกตลอดจนตอนกลางของแคว้นอัลอันดะลุส หรือแม้แต่ภาคใต้ที่มีการกบฏของอิบนุ ฮัฟซูนฺสถานการณ์ทั่วไปในเวลานี้ไม่ได้เป็นผลดีแก่อัลมุนซิรฺ

 

แม้กระทั่งในราชสำนักโคโดบาฮฺ อำนาจการบริหารก็ตกอยู่ในกำมือของเสนาบดี ฮาชิม อิบนุ อับดิลอะซีซฺ และเมื่ออัลมุนซิรฺได้พยายามยุติอิทธิพลและอำนาจของฮาชิมก็เกิดการขัดแย้งระหว่างบุคคลทั้งสอง อัลมุนซิรฺจึงเริ่มต้นการช่วงชิงอำนาจกลับคืนด้วยการส่งคนไปลอบสังหารเสนาบดีฮาชิม อิบนุ อับดิลอะซีซฺ ต่อมาอัลมุนซิรฺก็ใช้ความพยายามในการสร้างความเป็นปึกแผ่นของแคว้นอัลอันดะลุส แต่บรรดาเจ้าเมืองที่ก่อการกบฏและแยกตนเป็นอิสระต่างก็ปฏิเสธการเจรจาและการประนีประนอม แม้กระทั่งอิบนุ ฮัฟซูน ก็ส่งตัวแทนไปเจรจากับพวกอะฆอลิบะฮฺในแอฟริกาเหนือโดยเสนอให้พวกอะฆอลิบะฮฺเข้าพิชิตอัลอันดะลุสและขอกำลังสนับสนุนตน

 

แต่ผู้ปกครองรัฐอะฆอลิบะฮฺก็มีสติปัญญาและความรอบคอบจึงปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ทำให้อิบนุ ฮัฟซูนต้องหันไปอาศัยพวกอาหรับลูกครึ่งสเปนให้มาร่วมสมทบกับตน พวกนั้นก็ตอบรับและก่อความวุ่นวายในภาคใต้ของอัลอันดะลุส อัลมุนซิรฺจึงนำกองทัพของตนเพื่อปราบปรามพวกก่อความไม่สงบ และสามารถทำลายอำนาจของพวกนี้ได้ในหลายหัวเมือง ตลอดจนจับกุม อัยฺชูนฺหัวหน้าพวกกบฏที่เป็นพันธมิตรกับอิบนุ ฮัฟซูนฺซึ่งยึดครองเมืองอัรชะซูนะฮฺ (Medina sidonia) และสำเร็จโทษอัยฺชูนฺได้ในที่สุด

 

หลังจากนั้น ในปีฮ.ศ.274/คศ.887 อัลมุนซิรฺก็เคลื่อนทัพสู่บัรบัชตัรฺ เพื่อปิดล้อมอิบนุ ฮัฟซูนฺอย่างหนักหน่วงจนกระทั่งอิบนุ ฮัฟซูนฺจำต้องขอให้มีการประนีประนอมและเจรจาซึ่งอัลมุนซิรฺก็ยินยอมแต่อิบนุ ฮัฟซูนฺก็ก่อการกบฏอีก อัลมุนซิรฺจึงปิดล้อมอิบนุ ฮัฟซูนฺอีกครั้งในระหว่างการปิดล้อมนั่นเอง อัลมุนซิรฺก็สิ้นชีวิตลงหลังจากปกครองอัลอันดะลุสได้เพียง 2 ปี นับจากปีฮ.ศ.273-275 ซึ่งดูเหมือนว่า เวลาไม่เคยเข้าข้างอัลมุนซิรฺ เขาไม่สามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับนครรัฐอัลอันดะลุสได้ตามความมุ่งมั่นของตน ไม่สามารถปราบปรามการกบฏให้สิ้นซาก และไม่สามารถยุติการแยกตนเป็นอิสระของรัฐเล็กๆ ในรัชสมัยของตนได้

 


 

รัชสมัยอับดุลลอฮฺ อิบนุ มุฮำหมัด อิบนิ อับดิรเราะฮฺมาน  (ฮ.ศ.275-299/คศ.888-912)

อะมีร อับดุลลอฮฺ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ครองนครรัฐอัลอันดะลุสต่อจากอัลมุนซิรฺผู้เป็นพี่ชาย ในรัชสมัยของเขามีรัฐอิสระแยกตนจากนครโคโดบาฮฺเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ ในปีฮ.ศ.276/คศ.889 เมืองอิชบีลียะฮฺก็ประกาศแข็งเมืองโดยกุรอยดฺ อิบนุ อุสมานเป็นผู้นำ, ปีฮ.ศ.277/คศ.890 คอยฺร์ อิบนุ ชากิรฺ ก็ประกาศยึดครองเมืองญิยาน (Jaen), ในปีฮ.ศ.289/คศ.902 อิบนุ ฮัฟซูนได้ร่วมมือกับอิบรอฮีม อิบนุ อัลฮัจฺญาจฺในนครอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) และพวกโกธิกคริสเตียนทางตอนเหนือก่อการกบฏ อะมีร อับดุลลอฮฺ จึงนำทัพเข้าปราบปรามพวกกบฏจนได้รับชัยชนะแต่ก็ไม่สามารถตีเมืองบัรบัชฺตัรฺ (Barbasto) ได้

 

ในปีฮ.ศ.289/คศ.902 พวกโกธิกและแฟรงก์ได้รุกรานภาคเหนือของอัลอันดะลุสอีกครั้ง อะมีร อับดุลลอฮฺ จึงส่งกองทัพที่นำโดยลุบฺบ์ อิบนุ อีซาไปหยุดยั้งการโจมตีของพวกคริสเตียน และสามารถปิดล้อมเมืองบัมบะลูนะฮฺเอาไว้แต่แม่ทัพผู้นี้ได้พลีชีพในการสู้รบเสียก่อน กองทัพจึงถอยทัพกลับสู่นครโคโดบาฮฺ อะมีร อับดุลลอฮฺยังได้ส่งกองทัพเพื่อปราบปรามอิบนุ ฮัฟซูนในเมืองบัรบัชฺตัรฺ อีกหลายครั้ง (ปีฮ.ศ.295 และปีฮ.ศ.297) แต่ก็ไม่สามารถเผด็จศึกอิบนุ ฮัฟซูนฺได้ (ซึ่งก่อการกบฏนานถึง 47 ปี)

 

อะมีร อับดุลลอฮฺ อิบนุ มุฮำหมัดที่ 1 อยู่ในตำแหน่งผู้ครองนครรัฐอัลอันดะลุส 25 ปี และเสียชีวิตในปีฮ.ศ.300 ณ นครโคโดบาฮฺ เขาเป็นอะมีรคนสุดท้าย นักประวัติศาสตร์ระบุว่า อะมีร อับดุลลอฮฺเป็นผู้มีมารยาทอันงดงาม มีความเคร่งครัด นอบน้อมถ่อมตน และให้ความใส่ใจในด้านการบริหารและการปกครอง ผดุงความยุติธรรมและขจัดการกดขี่ เขามักจะรับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการด้วยตัวเอง และยุคของผู้ครองนครรัฐ (อะมีร) แห่งอัลอันดะลุสก็ปิดฉากลงด้วยการสิ้นชีวิตของเขา เพราะหลังจากนี้รัฐคิลาฟะฮฺซึ่งปกครองโดยบรรดาค่อลีฟะฮฺแห่งวงศ์อุมัยยะฮฺในอัลอันดะลุสจะเริ่มต้นขึ้นด้วยรัชสมัยของอับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

 


 

สรุปเหตุการณ์สำคัญในช่วงการปกครองของเหล่าผู้ครองนครรัฐอัลอันดะลุส

ฮ.ศ.172     ฮิชาม อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน (อัรริฎอ) ขึ้นดำรงตำแหน่ง

ฮ.ศ.173     พี่ชายของฮิชามก่อการกบฏ ฮิชามได้รับชัยชนะและมีการประนีประนอม

ฮ.ศ.180     ฮิชาม (อัรริฎอ) สิ้นชีวิต

ฮ.ศ.180     อัลหะกัม อิบนุ ฮิชาม (อัรรอบะฎีย์) ขึ้นดำรงตำแหน่ง

ฮ.ศ.181     สุลัยมานและอับดุลลอฮฺ ลุงและอาของอัลหะกัมก่อการกบฏ

ฮ.ศ.181     พวกลูกครึ่งอาหรับ-สเปนก่อการกบฏแต่ถูกปราบปรามได้สำเร็จ

ฮ.ศ.206     อัลหะกัม อิบนุ ฮิชาม สิ้นชีวิต

ฮ.ศ.206     อับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ อัลหะกัม (อัลเอาซัฏ) ขึ้นดำรงตำแหน่ง

ฮ.ศ.206-229      มีการกบฏแข็งเมืองต่ออับดุรเราะฮฺมานหลายครั้ง

ฮ.ศ.235     เอลิคิโอ ปลุกระดมชาวคริสต์เหตุการณ์ลุกลามถึง 3 ปี

ฮ.ศ.238     อับดุรเราะฮฺมาน อัลเอาซัฏเสียชีวิต

ฮ.ศ.238     มุฮำหมัดที่ 1 อิบนุ อับดิรเราะฮฺมานขึ้นดำรงตำแหน่ง

ฮ.ศ.245     พวกนอร์แมนด์ (ไวกิ้งค์) รุกรานเขตชายฝั่งอัลอันดะลุส

ฮ.ศ.249     การพิพาทระหว่างอาณาจักรนาฟารฺและอาณาจักรลิออง

ฮ.ศ.264     อุมัร อิบนุ ฮัฟซูนฺเริ่มก่อการกบฏ

ฮ.ศ.273     มุฮำหมัดที่ 1 เสียชีวิต อัลมุนซิรฺบุตรชายดำรงตำแหน่ง

ฮ.ศ.275     อัลมุนซิรฺ เสียชีวิตขณะปิดล้อมอิบนุ ฮัฟซูนฺในเมืองบัรบัชฺตัรฺ

ฮ.ศ.275     อับดุลลอฮฺ อิบนุ มุฮำหมัด อิบนิ อับดิรเราะฮฺมานขึ้นดำรงตำแหน่ง

ฮ.ศ.276     กุรอยดฺ อิบนุ อุสมาน ก่อการกบฏ

ฮ.ศ.297     อัลฟองซัวที่ 3 ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

ฮ.ศ.300     อับดุลลอฮฺ อิบนุ มุฮำหมัดเสียชีวิต

 


 

ชาวมุสลิมในอัล-อันดะลุสมีความตื่นตัว ในการทำการค้าและตีดาบ

พัฒนาการต่างๆ ในยุคของบรรดาผู้ครองนครรัฐอัลอันดะลุส

1.  ในยุคนี้แคว้นอัลอันดะลุสได้เคลื่อนสู่ชีวิตใหม่ซึ่งอิสลามได้มีอำนาจปกครอง ชาวคริสเตียนและชนพื้นเมืองได้ถูกปลดปล่อยจากการกดดันทั้งปวง และเข้ารับอิสลามเพิ่มมากขึ้น

2.  มีการจัดระเบียบการบริหารการปกครองนครรัฐและกำหนดตำแหน่งขุนนางในราชสำนักและเสนาบดีว่าการ

3.  มีการตราเหรียญกษาปณ์อิสลามและใช้เป็นเงินตราในการแลกเปลี่ยน

4.  มีการให้ความสนใจในด้านการสร้างความเจริญทางสังคมเมือง, การสร้างเมืองและบรรดามัสญิดญามิอฺแห่งใหม่เป็นจำนวนมากตลอดจนการสร้างสาธารณูปโภค, สวนพันธุ์ไม้ และการขุดคลองชลประทาน

5.  มีการแลกเปลี่ยนวิทยาการระหว่างอัลอันดะลุสและดินแดนทางตะวันออกของโลกอิสลาม มีนักวิชาการศาสนาในภาควิชานิติศาสตร์อิสลามและนักวิชาการอัลหะดีษเกิดขึ้นเป็นอันมาก ที่สมควรกล่าวถึงคืออับบาส อิบนุ ฟิรนาส ซึ่งเป็นนักประดิษฐ์คิดค้นคนสำคัญในด้านการบินและการทำกระจกจากหิน ตลอดจนการทำเครื่องมือวัดเวลา

6.  มีการสร้างโรงเรียน และสถาบันการศึกษาเป็นจำนวนมาก โดยรัฐเป็นผู้ให้สวัสดิการทางการศึกษาทั้งชายและหญิง อีกทั้งยังมีการกำหนดให้ภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการในสถานศึกษาทั้งที่เป็นของชาวมุสลิมและมิใช่มุสลิม

7.  การพิพากษาและการตุลาการมีความโปร่งใสและเป็นอิสระทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งของพลเมือง

8.  มีการญิฮาดกับเขตแดนตอนเหนือและพวกแฟรงก์น้อยลง

9.  วิถีชีวิตทางสังคมมีความอยู่ดีกินดีมากขึ้น ผู้คนมีความโน้มเอียงสู่การละเล่นและมหรสพ ศิลปะการดนตรีและวรรณกรรมเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะการประพันธ์กาพย์กลอนแบบอัลอันดะลุส

  1. ไม่มีความตื่นตัวทางการเมืองกับระบอบคิลาฟะฮฺอับบาซียะฮฺทางตะวันออก
  2. มีการจลาจลและความวุ่นวายเกิดขึ้นหลายครั้งในหลายหัวเมือง
  3. มีการให้ความสนใจทางด้านการทหาร การประดิษฐอาวุธยุทธภัณฑ์และการจัดระเบียบกองทัพ กองกำลังทางเรือมีความเข้มแข็งและแบ่งอัลอันดะลุสออกเป็นเขตทหารที่มีกำลังพลขึ้นในสังกัดแต่ละเขตมีกองทัพที่ควบคุมโดยแม่ทัพหรือเจ้าเมือง และในยามสงครามกองทัพของแต่ละเขตจะรวมตัวกันในเขตรวมพลาหรือนครโคโดบาฮฺ และจากที่นั่นกองทัพจะออกสู่สมรภูมิ หลังเสร็จสิ้นการทำศึกแต่ละกองทัพก็จะกลับสู่ที่มั่นในเขตของตน