เป็นชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดหลายสกุล  ในวงศ์  Canidae ลำตัวมีขนปกคลุม  มีเขี้ยว 2 คู่  ตีนหน้ามี 5 นิ้ว ตีนหลังมี 4 นิ้ว ซ่อนเล็บไม่ได้  อวัยวะเพศของตัวผู้มีกระดูกอยู่ภายใน 1 ชิ้น  ที่ยังคงเป็นสัตว์ป่า เช่น หมาใน (Cuon alpinus) ที่เลี้ยงเป็นสัตว์บ้าน คือ ชนิด Canis familliaris

                    ในภาษาอาหรับเรียกหมาว่า กัลบุนฺ  (كَلْبٌ )  มีรูปพหูพจน์ว่า กิลาบุน (كَلاَبٌ ) หรือ อักลาบุน (أَكْلاَبٌ )  นักภาษาศาสตร์อาหรับนิยามว่า  หมายถึงสัตว์ที่เห่าหอน  อันเป็นที่รู้กัน ในคัมภีร์อัลกุรอาน  ระบุคำว่า “กัลบฺ” (สุนัข, หมา) เอาไว้ 5 แห่ง  หนึ่งแห่งอยู่ในบทอัลอะอฺร๊อฟ อายะฮฺที่ 176  และอีก 4 แห่งอยู่ในบทอัลกะฮฺฟี่ อายะฮฺที่ 18  และอายะฮฺที่ 22  ( 3 ครั้งในอายะฮฺนี้) 

                    ในส่วนของอายะฮฺที่ 176  จากบทอัลอะอฺร๊อฟนั้น  พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ)  ได้ทรงเปรียบเปรยปราชญ์หรือปุโรหิตชั่วของชาวยิวที่ไม่ยอมนำเอาบัญญัติของพระเจ้ามาปฏิบัติโดยโลภโมโทสัน  และติดยึดอยู่กับโลกนี้  อุปมัยดั่งสุนัขที่ลิ้นของมันจะห้อยอยู่เสมอทั้งในยามที่มันเหน็ดเหนื่อยและยามปกติ  นักวาทศิลป์เรียกการเปรียบเปรยนี้ว่า ตัชบีฮฺ อัตตัมซีล (การเปรียบเปรยเชิงอุปมาอุปมัย)

                    ส่วนสุนัขที่ถูกระบุในบทอัลกะฮฺฟี่นั้นเป็นสุนัขของคนเลี้ยงสัตว์ที่บรรดาคนหนุ่มที่ยึดมั่นในศรัทธาเดินผ่านขณะที่พวกเขาหลบหนีการกดขี่ของกษัตริย์ดิกยานูสแห่ง อฟิซุสไปยังถ้ำ  สุนัขได้ตามชายหนุ่มกลุ่มนี้ไปและเฝ้าอยู่หน้าถ้ำ  นักวิชาการมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับสีของสุนัขตัวนี้และชื่อของมัน  ท่านอิบนุอับบาส (ร.ฎ) ระบุว่า มันมีสีขาวแซมดำ  ท่านมุกอติ้ล บอกว่า มันมีสีเหลือง  ท่านมุฮำมัด อิบนุ กะอฺบ์ ระบุว่า มันมีสีแดงอมเหลืองค่อนไปทางสีแดง  อัลกัลบี่ย์ กล่าวว่า สีของมันขาวเหมือนหิมะ  บ้างก็ว่า สีเหมือนแมว หรือ สีฟ้า

                    เลยไม่รู้ว่ามันมีสีอะไรแน่  ส่วนชื่อของมันนั้นมีรายงานจากท่านอาลี (ร.ฎ) ว่า มันมีชื่อว่า รอยฺยาน ในขณะที่ท่านอิบนุอับบาส (ร.ฎ) ระบุว่า มันชื่อกิฏมีร หรือ กิฏมีรี่ย์  บ้างก็ว่า ชื่อ กิฏมู๊ร หรือ กิฏฟีรฺ  ท่านมุญาฮิด  กล่าวว่า กอนฏูรียา  และยังมีอีกหลายชื่อ เช่น บะซีฏ , ตัฟนี่ย์ , ตูน และนัตวีย์ เป็นต้น  ดูเหมือนว่า กิฏมีรน่าจะเป็นชื่อของมัน

                    มีบางรายงานระบุว่า  เหล่าคนหนุ่มชาวถ้ำเกรงว่าเจ้าสุนัขตัวนี้ ซึ่งวิ่งตามนายของมันมาด้วย  จะเห่าหอนและทำให้เรื่องแตก  จึงไล่มันอยู่หลายครั้ง  มันก็ไม่ยอมไปไหน  จึงเอาหินขว้าง เจ้ากิฏมีร จึงพูดอย่างฉะฉานว่า จะไล่ฉันทำไม  ฉันศรัทธาต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ) พวกท่านจงปล่อยให้ฉันคอยเฝ้ายามแก่พวกท่านเถิด  ฟังดูก็แปลกดี  เพราะหมาพูดได้  ก็ฟังหูไว้หู เพราะเรื่องเช่นนี้เป็นไปได้เหมือนกัน  ลำพังเรื่องของชาวถ้ำที่ตายแล้วฟื้นก็มหัศจรรย์เป็นที่สุดแล้ว  ดังที่อัลกุรอานได้ระบุเอาไว้

                    ชาวอาหรับระบุว่า  หมาหรือสุนัขเป็นสัตว์ที่เชื่องและฝึกได้ง่าย  มีความซื่อสัตย์  หิวตลอดเวลา  และอดตาหลับขับตานอนได้เก่ง  ใช้ให้ทำอะไรได้หลายอย่าง เป็นยามชั้นยอดและคอยไล่พวกหัวขโมยได้ดีกว่าอาบังแขกยามเสียอีก  อัลญาฮิซฺ กล่าวว่า  ส่วนหนึ่งจากความฉลาดของเจ้าตูบ (ก็หมานั่นแหล่ะ) เมื่อมันไล่ล่า (อันนี้คงหมายถึงสุนัขล่าเนื้อ) สัตว์ที่มีเท้าเป็นกลีบจำพวกเก้ง กวาง  แพะป่า มันจะสามารถแยกแยะแพะป่าตัวผู้กับตัวเมียได้  หากเป็นแพะป่าตัวเมียมันจะไม่ไล่ตาม  ส่วนแพะตัวผู้นั้นเจ้าสุนัขล่าเนื้อจะวิ่งไล่ตามจนมันอ่อนแรง  เพราะขณะที่แพะตัวผู้วิ่งไปมันจะฉี่ออกมา  เนื่องจากความกลัวและลนลาน  เมื่อฉี่ออกมามาก แรงและกำลังของเจ้าโบ๊ะ (แพะตัวผู้) ก็จะลดลง  วิ่งได้ไม่เร็วเหมือนเดิม  ก็ย่อมตกเป็นเนื้อถูกล่าได้โดยง่าย

                    ความมหัศจรรย์ของสุนัขที่เป็นที่ทราบกันคือ  เรื่องดมกลิ่น  มนุษย์เราสามารถแยกแยะกลิ่นที่แตกต่างกันได้ถึง 10,000 กลิ่น  เนื่องจากจมูกของคนเรามีเซลล์ซึ่งไวต่อกลิ่นอยู่ 5 ล้านเซลล์  ฟังดูมากมายมหาศาล  แต่ถ้าเทียบกับสุนัขแล้ว  มนุษย์ก็แพ้เจ้าตูบหลุดลุ่ย  เพราะเซลล์รับกลิ่นของจมูกสุนัขมีมากกว่า 220 ล้านเซลล์  หรือมีความไวต่อกลิ่นมากกว่าจมูกมนุษย์ ประมาณ 1 ล้านเท่า  มนุษย์จึงฝึกสุนัขไว้ใช้ในเรื่องการดมกลิ่นและการติดตามคนร้ายตลอดจนการล่าสัตว์