ภาคผนวก : 1. การญิฮาดตามหลักการอิสลาม

        1.1  คำนิยามและความหมายของ “การญิฮาด”
        คำนิยามตามหลักภาษา : คำว่า “ญิฮาด” เป็นคำอาการนาม (مصدر) มาจาก คำกริยาว่า ญาฮะด้า (جاهد) หมายถึง “ทุ่มเทความพยายามอย่างสุดกำลัง”, คำว่า อัลญะฮฺดุ้ (الجَهْدُ) หรือ อัลญุฮฺดุ้ (الجُهْدُ) หมายถึง ศักยภาพ, กำลัง, ความสามารถ (الطاقة-الاستطاعة) – อัลมุนญิดฯ หน้า 106, ดารุ้ลมัชริก, เบรุต (2002) – ชัยคฺ อะฏียะฮฺ ซอกรฺ กล่าวว่า : คำว่า อัลญิฮาด ถูกนำมาจากคำว่า อัลญะฮฺดุ้ (الجَهْدُ) หมายถึง ความเหน็ดเหนื่อย หรือมาจากคำว่า อัลญุฮฺดุ้ (الجُهْدُ) หมายถึง พลัง

 

        ดังนั้น ผู้ที่ทำการญิฮาด (มุญาฮิด) จะทุ่มเทพลังซึ่งจะมีความรู้สึกในการทุ่มเทนั้นถึงความเหน็ดเหนื่อย (อะฮฺซะนุ้ลกะลาม ฟิลฟะตาวา วัลอะฮฺกาม 2/478 ดารุ้ลฆอดฺอัลอะรอบียฺ) ในหนังสือ “มุฟร่อดาตุ้ลกุรอาน” ของอัรรอฆิบ อัลอัซฟาฮานีย์ ระบุว่า “คำว่า “อัลญิฮาด” และ “อัลมุญาฮะดะฮฺ” หมายถึง การทุ่มเทกำลังความสามารถจนหมดสิ้นในการต่อสู้กับศัตรู” (อ้างจาก อาซารุ้ลฮัรบฺ ฟิล ฟิกฮิลอิสลามี่ย์, วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลี่ย์, หน้า 32, ดารุ้ลฟิกฮฺ, ดามัสกัส (1992)

 

        นักวิชาการมุสลิมระบุว่า : การญิฮาดมี 3 ประเภท คือ 1- การต่อสู้กับศัตรูที่ปรากฏชัด 2- การต่อสู้กับมารร้าย 3- การต่อสู้กับอารมณ์กิเลส (ตัฟซีรอัลมะน๊าร, ร่อชีด ริฎอ 10/306, สำนักพิมพ์ อัลมะน๊าร, กรุงไคโร (ฮ.ศ.1346) ตามมุมมองของศาสนาอิสลามถือว่า ทั้งหมด คือศัตรู ดังนั้น คำว่า “ญิฮาด” จึงเป็นคำที่มีนัยกว้าง การกล่าวอ้างว่า ญิฮาดคือการทำสงครามของชาวมุสลิมกับชนต่างศาสนิก เพื่อบังคับให้ชนต่างศาสนิกเข้ารับอิสลาม จึงเป็นคำใส่ไคล้ ต่ออิสลามโดยแท้ (อ้างแล้ว 10/307)

 

        คำนิยามตามหลักวิชาการ
        นักนิติศาสตร์อิสลามได้กำหนดคำนิยาม ญิฮาด เอาไว้หลากหลาย ดังนี้
        1.1.1 นักนิติศาสตร์อิสลามสังกัดกลุ่มฮานาฟียะฮฺ กล่าวว่า : คำว่า ญิฮาด ตามจารีตของนิติธรรมอิสลาม (อัชชัรอีย์) โดยส่วนใหญ่ หมายถึงการต่อสู้กับเหล่าผู้ปฏิเสธ (กุฟฟ๊าร) กล่าวคือ การเรียกร้องเชิญชวนเหล่าผู้ปฏิเสธสู่ศาสนาที่แท้จริง และการสู้รบกับพวกเขา ในกรณี ที่พวกเขาไม่ยอมรับ และคำว่า ญิฮาด ในด้านภาษานั้นมีนัยกว้างกว่าที่ว่ามานี้ (ฟัตฮุ้ลกอดีร ; 4/277, อัลอินายะฮฺ อะลัล ฮิดายะฮฺ ; 4/279, อัลฟะตาวา อัลฮินดียะฮฺ ; 2/188 หรือ (ญิฮาด) หมายถึง การอุทิศกำลังและความสามารถในวิถีทางของพระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ) ด้วยชีวิต ทรัพย์สิน ลิ้น (วาจา) และอื่นๆ (อัลบะดาอิอฺ ; 7/97, อิบนุ อาบิดีน (รอดดุ้ลมุคต๊าร) ; 3/301)

 

        1.1.2 อิบนุ อะร่อฟะฮฺ นักนิติศาสตร์สังกัดกลุ่มอัลมาลีกียะฮฺ ได้นิยามคำ “ญิฮาด” ว่า : คือการที่ชาวมุสลิมสู้รบกับผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) ที่มิใช่ผู้มีพันธะสัญญา เพื่อเทิดทูนพระดำรัสของ พระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ) ให้สูงส่ง หรือ เนื่องจากศัตรูได้รุกรานชาวมุสลิมก่อนหรือเนื่องจากศัตรูได้รุกล้ำดินแดนของชาวมุสลิม (อัลคอรชี่ย์ 3/107, อัลมุกอดดิมาต, อัลมุมะฮฺฮิด๊าต, อิบนุ รุชด์ 1/258, ฮาชียะฮฺ อัลอะดาวีย์ 2/2)

 

        1.1.3 นักนิติศาสตร์สังกัดกลุ่มอัชชาฟิอียะฮฺ กล่าวว่า : คำว่า ญิฮาด ในด้านวิชาการนั้น หมายถึง การสู้รบกับบรรดาผู้ปฏิเสธเพื่อช่วยให้ศาสนาอิสลามมีชัย และยังเรียกการต่อสู้กับอารมณ์กิเลสและมารร้ายว่า ญิฮาด อีกด้วย แต่การญิฮาดที่ถูกมุ่งหมายนั้นคือประการแรก กล่าวคือ มุ่งหมายถึงการสู้รบกับกลุ่มชนผู้ตั้งภาคี (มุชริกีน) (ฮาชียะฮฺ อัชชัรกอวีย์ 2/391)

 

        อัลบาญูรีย์ ได้กล่าวว่า : การญิฮาด อันหมายถึง การสู้รบในวิถีทางของพระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ) มากจากคำว่า มุญาฮะดะฮฺ (مجاهدة) คือ การต่อสู้เพื่อดำรงศาสนา นี่เป็นการ ญิฮาดเล็ก (جهادأصغر) ส่วนการญิฮาดที่ยิ่งใหญ่ (جهاداكبر) นั่นคือการต่อสู้กับอารมณ์กิเลส (جهادالنفس) ด้วยการดังกล่าว ท่านศาสดา (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวในขณะที่ท่านกลับจากการญิฮาด (การศึก) ว่า : “เราได้กลับจากการญิฮาดเล็กสู่การญิฮาดที่ยิ่งใหญ่” (ฮาชียะฮฺ อัลบาญูรีย์ อะลา อิบนิ กอซิม 2/268)

 

        จากคำนิยามข้างต้นของบรรดานักนิติศาสตร์อิสลาม ได้ข้อสรุปเบื้องต้นสำหรับคำว่า ญิฮาด ดังนี้
        1) การญิฮาด คือ การทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดเพื่อต่อสู้กับบรรดาศัตรู ซึ่งมีทั้งศัตรูใน เชิงรูปธรรมและนามธรรม
        2) การญิฮาดหรือการทำสงครามกับผู้ปฏิเสธนั้น มีคุณสมบัติเป็นตัวกำหนด กล่าวคือ ผู้ปฏิเสธนั้นต้องไม่ใช่ผู้มีพันธะสัญญากับประชาคมมุสลิมหรือรัฐอิสลาม และผู้ปฏิเสธนั้น ได้รุกรานชาวมุสลิมก่อนหรือได้รุกล้ำดินแดนของชาวมุสลิม
        3) การญิฮาดต้องเป็นไปเพื่อเชิดชูและสนับสนุนศาสนาอิสลามให้มีชัย ไม่ได้เป็นไป เพื่อสิ่งอื่น
        4) นัยของการญิฮาดนั้นยังครอบคลุมถึงการต่อสู้กับอารมณ์กิเลสและมารร้ายอีกด้วย

 


 

        1.2 ชนิดของการญิฮาด (أنواع الجهاد)
        การญิฮาดโดยลักษณะทั่วไปแบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ

        1.2.1 การญิฮาดกับบรรดาผู้ปฏิเสธและผู้รุกราน ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการทำสงครามเพียงอย่างเดียว หากแต่มีรูปแบบหลากหลายและขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความเหมาะสมและสถานภาพของผู้ทำการญิฮาด รูปแบบดังกล่าวได้แก่

                1) การญิฮาดด้วยลิ้นหรือวาจา โดยการอ้างหลักฐานหักล้างและตอบโต้ข้อคลุมเครือ ที่มุ่งร้ายต่อศาสนาอิสลามและชาวมุสลิม

                2) การญิฮาดด้วยมือ คือการใช้กำลังเพื่อปกป้องศาสนาและดินแดนของรัฐอิสลาม การญิฮาดตามรูปแบบนี้คือการทำสงครามกับผู้ปฏิเสธที่รุกรานศาสนาอิสลามหรือรุกล้ำดินแดนของรัฐอิสลาม

                3) การญิฮาดด้วยทรัพย์สิน คือการสละทรัพย์สินเพื่อเตรียมกองทัพ อาวุธยุทโธปกรณ์ และการพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในการสงคราม ตลอดจนการสนับสนุนกิจการของศาสนาในด้านต่างๆ

                4) การญิฮาดด้วยหัวใจ คือ การไม่พึงใจต่อการปฏิเสธของกลุ่มชนผู้ปฏิเสธ (อัฎวาอฺ มิน ซีเราะฮฺ อัรร่อซู้ล, อะฮฺมัด อุมัร ฮาชิม หน้า 158 ; 1997) ทั้งนี้ โดยอ้างพระวจนะของท่านศาสดา (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ระบุว่า

جاهدواالمشركين بأموالكم وأنفسكم وألسنتكم  “พวกท่านจงญิฮาดกับบรรดาผู้ตั้งภาคีด้วยทรัพย์สิน, ชีวิตและลิ้นของพวกท่าน”
(รายงานโดยอะฮฺมัด, อบูดาวูด, อันนะซาอีย์)

 

        1.2.2  การญิฮาดกับเหล่าคนชั่ว (ฟาซิก) และบรรดาผู้ประกอบอุตริกรรมทางศาสนา (อะฮฺลุ้ล บิดอะฮฺ) มีรูปแบบแตกต่างกันไปเหมือนกับการญิฮาดชนิดที่หนึ่ง กล่าวคือ ญิฮาดด้วย มือ, ลิ้น (วาจา) และหัวใจ ทั้งนี้โดยอ้างหลักฐานจากพระวจนะของท่านศาสดา (ศ้อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ระบุว่า

من رأىمنكم منكرافليغيره بيده فإن لم يستطع فبلسانه فإن لم يستطع فبقلبه وﺬلك أضعف الايمان
“ผู้ใดจากพวกท่านได้ประจักษ์เห็นการกระทำที่ผิดต่อศีลธรรมอันดี ผู้นั้นจงเปลี่ยนแปลงมันด้วยมือของเขา หากเขาไม่สามารถก็จงเปลี่ยนแปลงมันด้วยลิ้นของเขา และหากเขาไม่สามารถก็จงเปลี่ยนแปลงมันด้วยหัวใจของเขา (คือแสดงความไม่พอใจ) และนั่นคือระดับขั้นของความศรัทธา ที่อ่อนแอที่สุด”
(รายงานโดยมุสลิม)

        1.2.3 การญิฮาดกับอารมณ์กิเลสและมารร้าย (ชัยฏอน) ด้วยการฝืนอารมณ์กิเลสของตนและต่อต้านการล่อลวงของมารร้าย

        1.2.4 การญิฮาดกับบรรดาผู้ก่อการกบฏต่อผู้นำรัฐอิสลามตลอดจนกลุ่มชนผู้บ่อนทำลายความสามัคคีของประชาคมมุสลิม (อ้างแล้ว หน้า 160)

 


 

        1.3 องค์ประกอบสำคัญของการญิฮาด
        การญิฮาดในรูปแบบของสงครามตามหลักนิติธรรมอิสลาม มีองค์ประกอบสำคัญดังนี้

        1.3.1 การมีเจตนาบริสุทธิ์ (النيةالصالحة) กล่าวคือ การญิฮาดต้องเป็นไปเพื่อเทิดทูนพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ) ให้สูงส่ง หาใช่อื่น (มินญาฮุ้ลมุสลิม ; อบูบักร อัลญะซาอิรี่ย์ หน้า 392 ; 1996) ดังมีระบุในพระวจนะของท่านศาสดา (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่า

من قاتل لتكون كلمة الله هي العليافهوفي سبيل الله
“ผู้ใดสู้รบเพื่อให้พระดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺคือสิ่งสูงสุด ผู้นั้นอยู่ในวิถีทางของพระองค์อัลลอฮฺ”
(บุคอรีย์และมุสลิม)

        หากการสู้รบเป็นไปเพื่อจุดประสงค์อื่น นั่นไม่เรียกว่าเป็นการญิฮาดที่แท้จริง ผู้ใดสู้รบเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง หรือต้องการทรัพย์สงครามหรือแสดงวีรกรรมความกล้าหาญหรือชื่อเสียง ผู้นั้นย่อมไม่ได้รับอานิสงค์แต่อย่างใด (ฟิกฮุซซุนนะฮฺ ; อัซซัยยิด ซาบิก 3/134-135 ; 1996) มิหนำซ้ำ การมีเจตนาเป็นอื่น ย่อมเป็นการนำพาตนเองสู่การลงทัณฑ์ในวันปรโลกอีกด้วย (อ้างแล้ว 3/136) ดังนั้น การญิฮาดจึงมิได้มุ่งหมายถึง การเอาชนะศัตรูแต่อย่างใด หากแต่เป้าหมายหลักของการญิฮาดนั้นคือ การพิทักษ์ศาสนาเอาไว้เพียงนั้น (อัลมุนตะกอ ; 3/159, อีฎอฮุ้ลมะซาลิก ; ก็อฟ 95 บาอฺ, มุกอตดิมาต อิบนิ รุชด์ 1/379)

        การญิฮาดเป็นเครื่องมืออันกอรปด้วยปัญญาในมือของมุสลิม หาใช่เป็นสิ่งอื่น โหดร้าย ทารุณ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อยึดครองโลกหรือเพื่อสร้างอำนาจอันมั่นคง หรือเพื่อการขยายอำนาจ หรือลบล้างศาสนาอื่นๆ และเปลี่ยนดินแดนคู่สงคราม (دارالحرب) ให้เป็นรัฐอิสลาม (دارالاسلام) โดยไร้เหตุผลรองรับ (คุดูรีย์, อัลฮัรบฺ วัซซลาม หน้า 53)

 

        1.3.2 การญิฮาดต้องเป็นไปเบื้องหลังผู้นำมุสลิม และอยู่ภายใต้ร่มธงและการอนุมัติ ของผู้นำ ทั้งนี้เมื่อไม่อนุมัติให้ชาวมุสลิม (ถึงแม้จะมีจำนวนเล็กน้อย) ดำเนินชีวิตโดยไร้ผู้นำ ก็ไม่อนุมัติให้ชาวมุสลิมทำการสู้รบโดยไร้ผู้นำ (มินฮาญุลมุสลิม, อบูบักร อัลญะซาอิรี่ย์ หน้า 392 ; 1996)

 

        หลักนิติธรรมอิสลามไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่ถูกรับรองไว้ในบรรดารัฐธรรมนูญของกลุ่มประเทศยุคใหม่เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า ผู้นำ (วะลียุ้ลอัมรฺ) หรือ อิหม่าม อะอฺซอม (ประมุขสูงสุดของรัฐอิสลาม) คือ ผู้นำสูงสุดของกองทัพและเป็นผู้มีสิทธิเฉพาะต่อการประกาศสงคราม โดยเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาคมมุสลิม ตลอดจนสิ่งที่ปรากฏชัดจากการปรึกษาหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ชำนัญการ ในกรณีเกี่ยวกับสงครามและนโยบายทางทหาร (อัลกอนูน อัดดุวะลี่ย์ อัลอาม ; ดร. ฮาฟิซ ฆอนิม หน้า 144) ที่มาของสิทธิอันชอบธรรมของบรรดาผู้นำในเรื่องนี้กลับไปยังกรณีที่ว่า การเป็นผู้นำของพวกเขานั้น เป็นการทำหน้าที่แทนจากผู้บัญญัติหลักนิติธรรมอิสลาม (ซอฮิบุชชัรอิ) ในการพิทักษ์ศาสนาและการใช้นโยบายทางโลก (อัลอะฮฺกาม อัซซุลฏอนียะฮฺ, อัลมาวัรดีย์ หน้า 14)

 

        ท่านอิบนุ กุดามะฮฺ ได้กล่าวว่า : เรื่องการญิฮาดนั้นถูกมอบหมายยังผู้นำและการใช้ดุลยพินิจของผู้นำ และถือเป็นภาระที่บรรดาผู้อยู่ภายใต้การปกครอง จำต้องเชื่อฟัง ในสิ่งที่ผู้นำมีความเห็นจากสิ่งดังกล่าว (อัลมุฆฟีย์ ; 8/352, อัชชัรฮุ้ลกะบีร ; 10/372, มุฆนีย์ อัลมุฮฺต๊าจญ์ 4/220) ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่ชัดเจนว่า ผู้นำ (วะลียุ้ลอัมรฺ) คือผู้รับผิดชอบในเบื้องต้นเกี่ยวกับการประกาศสงคราม และผู้ใดที่อยู่ภายใต้การปกครอง ย่อมไม่สามารถทำการสู้รบกับเหล่าผู้ปฏิเสธเพียงแค่ความต้องการและสอดคล้องกับอารมณ์ของตนเท่านั้น อันที่จริง การญิฮาดจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากผู้นำ ทั้งนี้เพื่อให้ความสัมพันธ์ต่างๆ กับฝ่ายศัตรูดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับระเบียบและกระบวนการที่ถูกต้อง (อาซารุ้ลฮัรบฺ ฟิล ฟิกฮิลอิสลามี่ย์ ; หน้า 149) และการญิฮาดนั้น ถูกบัญญัติขณะที่มีการละเมิด และการกำหนดว่ามีการละเมิดนั้นเป็นสิ่ง ที่กลับไปยังดุลยพินิจของบรรดาผู้นำในแต่ละยุคสมัย (อ้างแล้ว ภาคผนวก หน้า 788)

 

        1.3.3 การจัดเตรียมความพร้อมสำหรับการญิฮาด ไม่ว่าจะเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ กำลังพลในกรอบของความเป็นไปได้ พร้อมกับทุ่มเทศักยภาพอย่างสมบูรณ์ (มินฮาญุ้ลมุสลิม หน้า 393)

 

        1.3.4 ความพึงพอใจและการอนุญาตของบิดาและมารดา สำหรับบุคคลที่บิดามารดาหรือท่านหนึ่งท่านใดยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ยกเว้นในกรณีที่ศัตรูเข้าประชิดดินแดนแล้ว หรือผู้นำ ได้เจาะจงบุคคลผู้นั้น การอนุญาตของบิดามารดาถือเป็นอันตกไป (อ้างแล้ว,393)

 

        อนึ่ง การญิฮาดที่เป็นหน้าที่บังคับ (วาญิบ) นั้น จะไม่พิจารณาเรื่องการได้รับอนุญาต จากบิดามารดา ส่วนการญิฮาดที่เป็นการอาสา (ตะเตาวุอฺ) นั้น จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจาก บิดามารดาที่เป็นมุสลิมเสรีชนเสียก่อน ในหนังสือ “ชิรอะตุ้ลอิสลาม” ระบุว่า “จะไม่ออกสู่การ ญิฮาด นอกเสียจากบุคคลที่ปลอด (ไม่มี) ครอบครัว ลูกๆ และการปรนนิบัติบิดามารดา เพราะ สิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่สำคัญก่อนการญิฮาด อีกทั้งยังเป็นการญิฮาดที่ประเสริฐที่สุดด้วยซ้ำไป” (ฟิกฮุซซุนนะฮฺ 3/127) และในกรณีของผู้มีหนี้สินที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จะอาสาทำญิฮาดได้ เมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าหนี้เสียก่อนหรือวางทรัพย์จำนองเอาไว้หรือมีผู้ค้ำประกันหนี้เท่านั้น (อ้างแล้ว หน้า 127)

 

        1.3.5 เชื่อฟังผู้นำ ผู้ใดทำการสู้รบในสภาพที่ฝ่าฝืนคำสั่งของผู้นำและเสียชีวิต ผู้นั้นเสียชีวิตแบบญาฮิลียะฮฺ (ยุคอนารยชนก่อนการประกาศศาสนาอิสลาม) (มินฮาญุ้ลมุสลิม หน้า 393)

 


 

        1.4 เป้าหมายของการญิฮาด
        นักนิติศาสตร์สังกัดกลุ่มอัชชาฟิอียะฮฺ ระบุว่า : ความจำเป็นของการญิฮาดคือความจำเป็นของสื่อ (وساﺋل) มิใช่เป้าหมายแต่อย่างใด กล่าวคือ เป้าหมายของการสู้รบนั้น อันที่จริงคือ ชี้ทางนำ (ฮิดายะฮฺ) และสิ่งอื่นจากการได้รับชะฮีด ส่วนการเข่นฆ่าบรรดาผู้ปฏิเสธนั้นมิใช่เป้าหมาย แม้กระทั่งหากเป็นไปได้ในการชี้ทางนำด้วยการดำรงหลักฐานโดยไม่มีการญิฮาด ย่อมปรากฏว่า นั่นดีกว่าการญิฮาด (ฟัตฮุ้ลมุอีน ชัรฮฺ กุรร่อตุลอัยนฺ หน้า 133, มุฆนีย์ อัลมุฮฺต๊าจญ์ 4/210)

 

        1.4.1 เป้าหมายจากการญิฮาดคือ การประกันเสรีภาพทางความเชื่อ การเผยแผ่ศาสนา การช่วยเหลือผู้ถูกอธรรมและปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน และดินแดน (อาซารุ้ลฮัรบฺ (ภาคผนวก) หน้า 789)

 

        1.4.2 ปัจจัยที่ส่งผลให้มีการญิฮาดคือ การละเมิด มิใช่ความแตกต่างทางความเชื่อ (อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน) และการละเมิด (อัลอุดวาน) นั้น คือ สถานการณ์ที่มีการละเมิด ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประชาคมมุสลิมหรือทรัพย์สิน หรือดินแดนของชาวมุสลิม โดยส่งผลกระทบในการมีอธิปไตยของประชาคมมุสลิม หรือการกดขี่ข่มเหงตลอดจนการสร้างความวุ่นวายปั่นป่วนในทางศาสนา หรือ คุกคามต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของประชาคมมุสลิม การลิดรอนสิทธิในการเผยแผ่ศาสนาของพวกเขา (อัลวะฮฺยุ้ลมุฮำมะดีย์ หน้า 234, ตัฟซีร อัลมะน๊าร 2/215) และการกำหนดว่ามีการละเมิดหรือไม่อย่างไรนั้น เป็นดุลยพินิจของผู้นำประชาคมมุสลิมในแต่ละยุคสมัย

 

        1.4.3 หลักพื้นฐานในการมีความสัมพันธ์ระหว่างประชาคมมุสลิมกับประชาคมอื่นที่มิใช่มุสลิม คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ส่วนกรณีของการเกิดสงครามนั้น เป็นไปเพื่อตอบโต้ การละเมิด และการพิทักษ์คุ้มครองการเผยแผ่ศาสนา มิได้เป็นไปเพื่อเอาชนะหรือความแตกต่างทางศาสนา ท่านอิบนุ อัซซ่อลาฮฺ ได้ยืนยันทัศนะของปวงปราชญ์ว่า : หลักพื้นฐานเดิมคือ การ คงอยู่ของเหล่าผู้ปฏิเสธและรับรองการมีอยู่ของพวกเขา เพราะพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) ไม่ทรงมี พระประสงค์ในการทำลายล้างมนุษยชาติ และพระองค์มิได้สร้างพวกเขามาเพื่อให้เข่นฆ่า ประหัตประหารกันเอง (ฟะตะวา อิบนิ อัซซ่อลาฮฺ, ก็อฟ 223)


 

        1.5 การประกาศญิฮาดในรูปแบบสงคราม
        การประกาศสงครามญิฮาดเป็นหน้าที่เฉพาะของผู้นำสูงสุดของประชาคมมุสลิม ภายหลังการใช้ดุลยพินิจชี้ขาดว่ามีการละเมิดที่มิอาจใช้วิถีทางอื่นนอกจากการทำสงคราม และการ ทำสงครามในอิสลามจะเริ่มต้นด้วยหนึ่งในสามแนวทาง ดังนี้ คือ

 

        1.5.1 มุ่งปฏิบัติการในการทำสงครามโดยตรง เมื่อปรากฏว่ามีภาวะสงครามเกิดขึ้นแล้วกับฝ่ายศัตรู หรือฝ่ายศัตรูมุ่งก่อสงครามโดยตรง หรือมีข้อตกลงระหว่างกัน และฝ่ายศัตรูเป็น ผู้ทำลายข้อตกลงนั้น ในกรณีข้างต้น อนุมัติให้ทำสงครามต่อต้านศัตรูและเปิดแนวรุกกับศัตรูได้ เมื่อศัตรูอยู่ในดินแดนของพวกเขาโดยไม่จำเป็นต้องมีการแจ้งเตือน หรือประกาศสงครามแก่ฝ่ายศัตรูก่อน

        ทั้งนี้เพราะศัตรูคือฝ่ายที่เป็นเหตุในการก่อสงคราม (ชัรฮุซซัยริ อัลกะบีร 4/8, อัลมุ่เดาวะนะฮฺ 3/3, มุฆนีย์ อัลมุฮฺต๊าจญ์ 4/223, อัลอะฮฺกาม อัซซุลตอนียะฮฺ หน้า 35, กัชชาฟุ้ล กินาอฺ 3/36) ตัวอย่างในกรณีนี้ได้แก่ การที่ท่านศาสดา (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ปิดล้อมชนเผ่ากุรอยเซาะฮฺ ภายหลังการทำลายข้อตกลงของพวกเขา และท่านศาสดา (ศ้อลลัลลอฮุอะลัย ฮิวะซัลลัม) ไม่ได้เตือนชนเผ่ากุรอยซ์ก่อนในวันที่มีการพิชิตนครมักกะฮฺ เนื่องจากเผ่ากุรอยซ์ เป็นฝ่ายเริ่มบิดพลิ้วและทรยศในสนธิสัญญาอัลฮุดัยบียะฮฺก่อน

 

        1.5.2 ประกาศสงครามและการขับศัตรูออกจากดินแดนของรัฐอิสลามไปยังสถานที่ซึ่งได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กรณีนี้เมื่อศัตรูอาศัยอยู่ในดินแดนของชาวมุสลิมโดย มีข้อตกลงหรือสนธิสัญญามาก่อน ต่อมามีการทำลายข้อตกลงที่มิใช่เป็นการจารกรรมข่าวสารด้านความมั่นคงหรือการสังหารหรือการสร้างความเสียหายในผืนแผ่นดิน ไม่อนุญาตให้ทำสงครามกับพลเมืองของฝ่ายศัตรู แต่ให้ขับออกนอกดินแดนไปยังสถานที่ซึ่งพลเมืองของฝ่ายศัตรูได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (อาซารุ้ลฮัรบฺ 150/151)

 

        1.5.3 การเผยแผ่หลักคำสอนของศาสนาอิสลามหรือการแจ้งเตือนในขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการทำสงคราม กรณีนี้คือการให้ฝ่ายศัตรูเลือกเอาระหว่างการยอมรับอิสลามหรือการทำข้อตกลงร่วมกันหรือการทำสงคราม

        นักนิติศาสตร์อิสลามมีความเห็นแตกต่างกันในการเผยแผ่หลักคำสอนของอิสลาม แบ่งออกเป็น 3 ทัศนะ คือ
        1) จำเป็นต้องมีการนำเสนอข้อเชิญชวนสู่อิสลามก่อนการทำสงคราม โดยไม่มีข้อแม้ ไม่ว่าคำสอนของอิสลามจะถึงฝ่ายศัตรูแล้วหรือไม่ก็ตาม
        2) ไม่จำเป็นต้องมีการนำเสนอข้อเชิญชวนสู่อิสลามแต่อย่างใด
        3) จำเป็นต้องเชิญชวนสู่ศาสนาอิสลามในกรณีที่ศาสนาอิสลามยังไปไม่ถึงฝ่ายศัตรู แต่ถ้าหากศาสนาอิสลามแพร่หลายและเป็นที่ทราบกันในหมู่พลเมืองของศัตรู การเชิญชวน สู่อิสลาม ถือเป็นเรื่องที่ควรกระทำ แต่ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น (อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน)

 

        1.5.4 ฝ่ายมุสลิมจะต้องชดใช้สิ่งที่ฝ่ายมุสลิมได้ก่อความเสียหายจากทรัพย์สินของฝ่ายศัตรู หรือมีการหลั่งเลือดฝ่ายศัตรูก่อนการเชิญชวนฝ่ายศัตรูสู่อิสลาม หรือการแจ้งเตือนฝ่ายศัตรูด้วยหลักฐาน (อ้างแล้ว หน้า 789) และไม่อนุญาตให้ทำร้ายพลเมืองของฝ่ายศัตรูที่มีการรับรองความปลอดภัยแก่พวกเขาในดินแดนของชาวมุสลิม เมื่อเกิดสงครามกับกลุ่มชนของพลเมืองดังกล่าว (อ้างแล้ว หน้า 793)

 


 

        1.6 ผลพวงที่ตามมาจากการเกิดสงคราม

        1.6.1 การแบ่งดินแดนคู่สงคราม (รัฐอิสลามกับฝ่ายศัตรู) ออกเป็นดินแดนอิสลาม (ดารุ้ลอิสลาม) และดินแดนสงคราม (ดารุ้ลฮัรบฺ) ในส่วนของดินแดนอิสลามนั้น นักนิติศาสตร์อิสลามมีคำนิยามแตกต่างกัน นักนิติศาสตร์อิสลามที่สังกัดกลุ่ม มาลิกียะฮฺ และชาฟิอียะฮฺ ส่วนใหญ่ถือกันว่าการดำรงสัญลักษณ์ต่างๆ (พิธีกรรม) ของอิสลามคือสิ่งที่ทำให้ดินแดนนั้นเป็นดินแดนอิสลาม

 

        ดังนั้น เมื่อการดำรงสัญลักษณ์ทางศาสนาขาดตอนลงและอำนาจของมุสลิมหมดไป ดินแดนนั้นจึงกลายเป็นดินแดนสงคราม (ดารุ้ลฮัรบฺ) (ฮาชียะฮฺ อัดดุซูกีย์ 2/173, ตุฮฺฟะฮฺ อัลมุฮฺตาจญ์ 8/63) ฝ่ายอิหม่ามอบูฮะนีฟะฮฺ ถือว่า พื้นฐานของความแตกต่างของดินแดนคือ การมีความปลอดภัยและสันติภาพสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในดินแดนนั้น เมื่อปรากฏว่าในดินแดนนั้น มีความปลอดภัยโดยสิ้นเชิงสำหรับชาวมุสลิม ดินแดนนั้นคือ ดินแดนอิสลาม และเมื่อชาวมุสลิม ไม่มีความปลอดภัยในดินแดนนั้น นั่นคือ ดินแดนสงคราม ทั้งนี้มีเงื่อนไขสามประการสำหรับ การสูญสิ้นความปลอดภัยของฝ่ายมุสลิมและทำให้ดินแดนนั้นกลายเป็นดินแดนสงคราม กล่าวคือ

        1) การปรากฏชัดของอำนาจปกครองฝ่ายปฏิเสธ และมีการบังคับใช้อำนาจในดินแดนนั้น

        2) ดินแดนนั้นอยู่ติดต่อกับดินแดนของฝ่ายปฏิเสธและคู่สงคราม

        3) ไม่มีมุสลิมคงอยู่ในดินแดนนั้นหรือไม่มีชนแห่งพันธะสัญญา (ซิมมี่ย) ที่ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากฝ่ายมุสลิมอยู่ในดินแดนนั้น (อัลบะดาอิอฺ 7/130, อัลฟะตาวา อัลคอนียะฮฺ 3/584, ดุรอรุ้ลฮุกกาม 1/295)

 

        นักวิชาการผู้ชำนัญการได้ระบุว่า : ขอบข่ายของการชี้ขาดต่อดินแดนหนึ่งว่าเป็นดินแดนอิสลามหรือดินแดนสงคราม คือ ความปลอดภัยทางศาสนา ถึงแม้ว่ามุสลิมได้อาศัยอยู่ในดินแดนที่ไม่มีศาสนาหรือศาสนาของดินแดนนั้นเป็นศาสนาอื่นที่มิใช่ ศาสนาอิสลาม และมุสลิมก็สามารถปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาโดยเสรีภาพ ดินแดนนั้น คือ ดินแดนอิสลาม หมายความว่า ไม่จำเป็นที่มุสลิมผู้นั้นต้องอพยพจากดินแดนนั้น (อะฮฺซ่านุ้ลกะลาม ฟิลฟะตาวา วัลอะฮฺกาม 2/438) และการอพยพ (ฮิจเราะฮฺ) จากดินแดนของผู้ปฏิเสธ (ดารุ้ลกุฟร์) สู่ดินแดนอิสลามนั้นยังคงมีผลบังคับใช้ตราบวันสิ้นโลก

 

        แต่ทว่าการอพยพนั้น เป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) หรือเป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริม (มันดู๊บ)? นักวิชาการกล่าวว่า : หากมุสลิมเกรงว่าจะมีภัยต่อศาสนา จริยธรรม และทรัพย์สินของเขา ถือว่าผู้นั้นจำเป็นต้องอพยพ และถ้าหากเขา ไม่กลัวสิ่งดังกล่าว การอพยพก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่เป็นซุนนะฮฺ อย่างไรก็ตาม นักวิชาการผู้ชำนาญการได้กล่าวว่า : เมื่อมุสลิมพบว่าการคงอยู่ของตนในดินแดนปฏิเสธ (ดารุ้ลกุฟร์) จะส่งผลดีต่อชาวมุสลิมที่มีอยู่ในดินแดนอิสลาม หรือจะส่งผลดีต่อชาวมุสลิมที่อยู่ในดินแดนปฏิเสธ อาทิเช่น การสั่งสอนและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของชาวมุสลิมเหล่านั้น หรือส่งผลดี ต่อศาสนาอิสลามเองด้วย การเผยแผ่หลักคำสอนของอิสลามและตอบโต้ข้อกล่าวหาที่มีต่อศาสนาอิสลามย่อมปรากฏว่า การอยู่ของมุสลิมผู้นั้นในสังคมดังกล่าว ย่อมดีกว่าการอพยพออกจากดินแดนนั้น (อ้างแล้ว 2/440)

 

        1.6.2 กฎในการทำสงคราม ในการทำสงครามญิฮาดกับฝ่ายศัตรูนั้นมีกฎหรือมารยาท ในการทำสงครามญิฮาด ดังนี้
                 1) ไม่อนุญาตให้ทำลายหรือสร้างความเสียหายโดยไม่จำเป็น เช่น การทำลายอาคาร บ้านเรือน หรือการตัดต้นไม้ เป็นต้น
                 2) ไม่อนุญาตให้ทำสงครามกับผู้ที่ไม่มีส่วนร่วมในการทำสงคราม อาทิเช่น สตรี เด็ก พลเมืองผู้บริสุทธิ์ นักการศาสนา และหมอ เป็นต้น
                 3) ไม่อนุญาตในการประทุษร้ายคนป่วยหรือผู้บาดเจ็บ แต่ให้ปฏิบัติกับพวกเขาอย่าง มีมนุษยธรรม
                 4) ต้องห้ามในการประทุษร้ายต่อศพของศัตรูหรือการปล้นสะดมทรัพย์สินติดตัวของ ฝ่ายศัตรู
                 5) ห้ามไม่ให้เผาศัตรู เป็นต้น (มินฮาญุ้ลมุสลิม หน้า 396)

 

        1.6.3 ประเด็นการญิฮาดกับการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน
        ความคิดหรือความพยายามในการแบ่งแยกดินแดนตามหลักการของศาสนาถือว่า เป็นการละเมิดพันธะสัญญา (นักฎุ้ล อะฮฺดี้) ที่ได้เคยกระทำไว้ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การทำสงครามรบพุ่งระหว่างรัฐเกิดขึ้นจริง และการทำสนธิสัญญาและข้อตกลงระหว่างรัฐสยามกับ รัฐปัตตานีก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงเช่นกัน อีกทั้งการทำสงครามระหว่างรัฐทั้งสองก็เป็นเรื่องของการเมืองการปกครอง มิได้มีเหตุมาจากเรื่องการกดขี่ทางศาสนาหรือความเชื่อแต่อย่างใด แม้ภายหลังสิ้นรัฐปัตตานีและมีการผนวกดินแดนและพลเมืองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศแล้ว

 

        ฝ่ายอำนาจรัฐโดยองค์พระมหากษัตริย์ก็มิได้มีนโยบายกดขี่บังคับพลเมืองมุสลิมในเรื่องศาสนาและความเชื่อ แต่องค์พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์และให้เสรีภาพใน การประกอบศาสนกิจแก่พลเมืองมุสลิมอย่างสมบูรณ์ ถึงแม้ในบางช่วงจะมีนโยบายของฝ่ายรัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมของชาวมุสลิมเกิดขึ้นบ้างก็ตาม แต่ได้แปรเปลี่ยนและกลับคืนสู่สภาวะปกติแล้ว โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ระบุถึงอำนาจหน้าที่และสิทธิของพลเมืองทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติหรือศาสนาใด

 

        ดังปรากฏในหมวด ๓ “สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย” มาตรา ๓๐ “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง อันขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้”

 

        และมาตรา ๓๘ “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนาหรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุนี้คือ ศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมของศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือแตกต่างจากบุคคลอื่น” และมาตรา ๔๖ “บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

 

        จักเห็นได้ว่าความสมบูรณ์แห่งการมีสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองมุสลิมโดยเฉพาะเรื่องการถือศาสนาและการปฏิบัติตามศาสนบัญญัตินั้นได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเปรียบเสมือน “พันธะสัญญา” (อัลอะฮฺดุ้ล, อัลวะซีเกาะฮฺ) ระหว่างรัฐ กับพลเมือง โดยพลเมืองมุสลิมจำต้องธำรงรักษาพันธะสัญญาดังกล่าวและจะละเมิดมิได้ ดังมีข้อความระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า “และสูเจ้าทั้งหลายจงธำรงรักษาพันธะสัญญาอย่างสมบูรณ์” (บทอัลอิสรออฺ พระบัญญัติที่ ๓๔)

 

        และข้อความที่ว่า “(ศรัทธาชนที่แท้จริงนั้น) คือบรรดา ผู้ซึ่งพวกเขาได้ธำรงรักษาหน้าที่มอบหมายและพันธะสัญญาของพวกเขา” (บทอัลมุอฺมินูน พระบัญญัติที่ ๘, บทอัลมะอาริจฺญ์ พระบัญญัติที่ ๓๒) และพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) ได้ทรงตรัสถึงคุณสมบัติอันประเสริฐของศรัทธาชนอีกเช่นว่า “และพวกเขาคือบรรดาผู้ธำรงรักษาพันธะสัญญาของพวกเขาอย่างสมบูรณ์ เมื่อพวกเขาได้ตกลงทำสัญญา” (บทอัลบะกอเราะฮฺ พระบัญญัติที่ ๑๗๗)

 

        ดังนั้น การปฏิบัติตามพันธะสัญญาอย่างสมบูรณ์จึงเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) ตามหลักการของศาสนาอิสลาม โดยไม่อนุญาตให้ผิดสัญญา ไม่ว่าสัญญาข้อตกลงนั้นจะกระทำกับชาวมุสลิมหรือมิใช่มุสลิมก็ตาม (อัตตัฟซีร อัลมุนีร, ดร.วะฮฺ บะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ เล่มที่๑ หน้า ๑๑๕) และการรักษาสัญญานั้นถือเป็นความดี ไม่ว่าจะเป็นพันธะสัญญาของพระองค์ อัลลอฮฺ (ซ.บ) -อะฮฺดุ้ลลอฮฺ- ด้วยการปฏิบัติตามและภักดีต่อพระองค์ หรือเป็นพันธะสัญญาระหว่างมุนษย์ด้วยกัน –อะฮฺดุ้นน๊าซ- ด้วยการธำรงรักษาพันธะสัญญาและข้อตกลงต่างๆ ตราบใดที่พันธะสัญญานั้นมิได้ขัดต่อบัญญัติของศาสนา

 

        อีกทั้งการรักษาสัญญานั้นเป็นเครื่องหมายประการหนึ่งของการมีศรัทธาที่ถูกต้อง และการทรยศและผิดสัญญานั้นเป็นหนึ่งจากเครื่องหมายของการเป็นผู้กลับกลอก (มุนาฟิก) ดังปรากฏในพระวจนะของท่านศาสดา (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่า : เครื่องหมายของผู้กลับกลอกนั้นมี ๓ ประการ กล่าวคือ เมื่อเขาพูดเขาก็มุสา , เมื่อเขาสัญญาเขาก็ผิดสัญญา และเมื่อเขาได้รับความไว้วางใจเขาก็บิดพลิ้ว” (รายงานพ้องกันโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม) ในอีกสายรายงานหนึ่งระบุว่า “ถึงแม้ว่าผู้นั้น จักถือศิลอด, ละหมาด และกล่าวอ้างว่าตนเป็นมุสลิมก็ตาม” (ริยาดุซซอลิฮีน, อันน่าวาวีย์ หน้า ๙๘ อัลหะดีษเลขที่ ๑๙๙)

 

        ฉะนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญมีสถานภาพเหมือนข้อตกลงหรือ พันธะสัญญาระหว่างรัฐกับพลเมืองมุสลิมที่มีการรับรองผ่านกระบวนการของระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบอบที่ใกล้เคียงกับระบอบรัฐศาสตร์อิสลาม โดยพันธะสัญญานี้มิได้ขัดต่อหลักคำสอนของศาสนา การละเมิดรัฐธรรมนูญอันเป็นพันธะสัญญานี้จึงถือเป็นการประพฤติผิดสถานหนักตามข้อชี้ขาดของคัมภีร์อัลกุรอานและพระวจนะของท่านศาสดา (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดอธิปไตยหรือการแบ่งแยกดินแดนหรือการประกอบอาชญากรรมที่ผิดกฎหมายบ้านเมืองและหลักคำสอนของศาสนาและศีลธรรมอันดีงาม หากการแบ่งแยกดินแดนเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการตั้งรัฐอิสลามตามคำอ้างของผู้ก่อการ ก็จำต้องพิจารณาต่อไปว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และส่งผลกระทบต่อพลเมืองมุสลิมส่วนใหญ่หรือไม่แน่นอนหากพิจารณาเรื่องข้อตกลงในพันธะสัญญาอันได้แก่รัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรงและถือเป็นการละเมิดสัญญาดังที่กล่าวมาข้างต้น

 

        และหากการดำเนินการเพื่อแบ่งแยกดินแดนจะเป็นผลนำไปสู่ความเสียหายต่อพลเมืองมุสลิมโดยรวม อาทิเช่น ส่งผลให้ขาดเสรีภาพในการถือศาสนาและการประกอบศาสนกิจ เป็นต้น การดำเนินการเพื่อการนั้นจำต้องยุติโดยถือตามหลักนิติศาสตร์อิสลามที่ชี้ขาดว่า “การปัดป้องความเสียหายทั้งปวงย่อมมาก่อนการถือเอาประโยชน์” และถือตามคำวินิจฉัยของปวงปราชญ์ที่ชี้ขาดว่า “อนุญาตให้ละทิ้งสิ่งที่มีน้ำหนักน้อยกว่า” หรือ “อนุญาตให้ละทิ้งสิ่งที่ดีกว่าไปสู่สิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้” ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าการตั้งรัฐอิสลามจะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาคมมุสลิมและเป็นความหวังสูงสุดในด้านอุดมคติสำหรับมนุษยโลก แต่เนื่องด้วยเหตุปัจจัยและสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยให้กระทำเช่นนั้นได้ อีกทั้งยังอาจจะนำไปสู่ความวุ่นวายและปัญหาที่ใหญ่กว่าที่เป็นอยู่ ก็จำต้องเลือกเอาสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมน้อยกว่า ตามหลักนิติศาสตร์อิสลามที่ระบุว่า “ให้ยึดกรณีที่ ส่งผลร้ายน้อยกว่า” (อัลอัคฺซุ้ บี้ อะค็อฟฺฟี่ อัฎฎ่อร่อรอยนี่)

 

        กล่าวคือการไม่มีรัฐอิสลามสำหรับประชาคมมุสลิมถือเป็นผลร้ายแต่การมีรัฐอิสลามในยามนี้ จะส่งผลร้ายยิ่งกว่าต่อประชาคมมุสลิม ก็ให้ยึดเอาประเด็นแรกเป็นข้อปฏิบัติและบรรทัดฐาน ซึ่งในความเป็นจริง สำหรับประชาคมมุสลิมในประเทศไทยแล้ว ได้รับความสะดวกในการใช้กฎหมายอิสลามและรูปแบบการปกครอง ส่วนหนึ่งจากรัฐศาสตร์อิสลามเกือบจะครบถ้วนสมบูรณ์เช่นกัน ถึงแม้จะไม่ใช่ทั้งหมดก็ตาม ดังเช่นกรณีการใช้กฎหมายอิสลามในหมวดการประกอบศาสนกิจ (อิบาดะฮฺ) ตามหลักมูลฐาน ๕ ประการ (อัรกานุ้ลอิสลาม) โดยรัฐมิได้แทรกแซงและลิดรอนสิทธิในข้อนี้แต่ประการใด หากแต่ยังได้ส่งเสริมและอุปถัมภ์อีกด้วย เช่น การสร้างมัสยิดสถาน การมีพระราชบัญญัติว่าด้วยกิจการฮัจญ์และอุมเราะฮฺ การก่อตั้งกองทุนซะกาต (เคยริเริ่มและดำเนินการในระดับหนึ่งแต่ยังไม่บรรลุผล) เป็นต้น

 

        การใช้กฎหมายอิสลามในหมวดธุรกรรม (อัลมุอามาล๊าต) ก็เช่นกัน พลเมืองมุสลิมในประเทศไทยก็มีสิทธิเสรีภาพในการใช้กฎหมายอิสลามหมวดนี้โดยพฤตินัย อาทิเช่น การซื้อขาย การจำนอง การสมรส และการรับมรดก เป็นต้น อีกทั้งฝ่ายรัฐยังได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเหตุจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2486 และจัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งแม้ในบางประเทศมุสลิมเอง ก็หาได้รับการอุปถัมภ์และส่งเสริมเช่นนี้ไม่ ในส่วนรูปแบบการปกครองประชาคมมุสลิมในประเทศไทย ก็ได้รับการสนับสนุนด้วยการประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540

 

        ฉะนั้น การอ้างว่าพลเมืองมุสลิมไม่มีสิทธิเสรีภาพในการใช้กฎหมายอิสลาม และปกครองตามระบอบอิสลามโดยสิ้นเชิง และจำต้องแบ่งแยกดินแดนเพื่อตั้งรัฐอิสลาม จึงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงและขาดเหตุผลรองรับที่ชัดเจน

 

        ทั้งนี้อาจมีผู้ค้านว่า :
        “ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะคุ้มครองสิทธิพลเมืองและเสรีภาพในการถือศาสนา แต่นั่นก็เป็นเพียงลายลักษณ์อักษรและถ้อยคำอันสวยหรู ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจต่อการบังคับใช้มาตราแห่งรัฐธรรมนูญอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม โดยกลไกของรัฐ เช่น ข้าราชการ ทหาร และตำรวจ ยังคงรังแกพลเมืองมุสลิมใน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้อยู่เนืองๆ การก่อความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าวของกลุ่มผู้ก่อการ จึงเป็นความ ชอบธรรมและเป็นการต่อสู้กับความยุติธรรม!”

 

        ความเห็น
        หลักการและเงื่อนไขที่ถูกกำหนดย่อมถือเป็นบรรทัดฐานในการชี้ขาดเสมอ ถึงแม้จะเป็นเพียงลายลักษณ์อักษรหรือทฤษฎีก็ตาม สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นตามคำกล่าวอ้างนั้นย่อมมิอาจนำมาหักล้างและยกเลิกเงื่อนไขที่ถูกกำหนดเป็นบรรทัดฐานได้ เพราะมิเช่นนั้น สังคมมนุษย์ย่อมเกิดความสับสนวุ่นวายและไร้ระเบียบแบบแผนในการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคง อันจักนำไปสู่ภาวะ “อนาธิปไตย” ได้ทุกเมื่อเพียงเพราะอ้างสถานการณ์ที่ขัดกับหลักการและบรรทัดฐาน ทางสังคม หากฝ่ายรัฐไม่ปฏิบัติตามมาตราของรัฐธรรมนูญและดำเนินนโยบายซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยบรรทัดฐานและหลักการย่อมถือว่ารัฐบกพร่องและขาดความชอบธรรม

 

        กรณีเช่นนี้จำต้องกดดันให้รัฐปรับเปลี่ยนนโยบายและดำเนินตามหลักการของรัฐธรรมนูญ โดยพลเมืองที่ได้รับผลกระทบย่อมมีสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการเรียกร้องความยุติธรรมผ่านกระบวนการในระบอบประชาธิปไตยและสันติวิธี การใช้ความรุนแรงเพื่อตอบโต้ความบกพร่องของรัฐย่อมมิใช่วิถีทางของผู้ศรัทธาตามหลักคำสอนของฝ่ายอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญ่ามาอะฮฺ (ซุนนีย์) หากแต่เป็นแนวคิดของกลุ่มอุตริกรรมฝ่าย “ค่อวาริจญฺ”  ในขณะเดียวกันการนิ่งเฉยและไม่ดำเนินการ อันใดเลย ก็มิใช่วิถีทางตามหลักคำสอนของฝ่ายอะฮฺลุซซุนนะฮฺฯ เช่นกัน หากแต่เป็นแนวคิด ของกลุ่มอุตริกรรมฝ่าย “มุรญิอะฮฺ” ดังนั้น การเรียกร้องความ อยุติธรรมโดยสันติวิธีและไม่นิ่ง ดูดายต่อความอยุติธรรม จึงเป็นทางสายกลางอันเป็นหัวใจสำคัญของประชาคมมุสลิมที่ยึดมั่นตามแนวทางของอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญ่ามาอะฮฺ

        ดังนั้นความอธรรม (อัซซุ้ลมุ้) อันเกิดจากฝ่ายรัฐ ย่อมมิใช่เหตุผลสำหรับการอนุญาตให้พลเมืองที่ได้รับผลกระทบจากความอธรรมนั้นตอบโต้ด้วยการละเมิดตอบ ทั้งนี้ตามหลักคำสอนของอิสลามระบุห้ามไว้ชัดเจนว่า “ย่อมไม่มีการทำร้ายและย่อมไม่มีการประทุษร้ายตอบ” (ลา ฎ่อร่อร่อ ว่าลาฎิรอร่อ) และมีบัญญัติในคัมภีร์อัลกุรอานอีกเช่นกันว่า: *และสูเจ้าจงอย่าละเมิด แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺมิทรงรักบรรดาผู้ละเมิด” (บทอัลบะกอเราะฮฺ พระบัญญัติ ที่ ๑๙๐, บทอัลมาอิดะฮฺ พระบัญญัติที่ ๘๗)

 

        อนึ่ง อาจมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าการตอบโต้ ความไม่ชอบธรรมสามารถใช้วิธีการเช่นเดียวกันได้ เข้าทำนอง “หนามยอกเอาหนามบ่ง” หรือ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” โดยอ้างถ้อยความจากคัมภีร์อัลกุรอานที่ว่า : “ฉะนั้นผู้ใดล่วงละเมิด ต่อพวกสูเจ้า ดังนั้นพวกสูเจ้าก็จงละเมิดตอบต่อผู้นั้นเยี่ยงสิ่งที่ผู้นั้นได้ละเมิดต่อพวกสูเจ้า” (บทอัลบะกอเราะฮฺ พระบัญญัติที่ ๑๙๔) การอ้างเช่นนี้ถือเป็นการบิดเบือนและค้านกับหลักการของศาสนาหลายประเด็นด้วยกัน กล่าวคือ

 

        1) พระบัญญัติที่ ๑๙๔ นี้ถือเป็นบทเฉพาะกาลในกรณีเกิดสงครามระหว่างฝ่ายศรัทธาชนกับฝ่ายผู้รุกรานต่อศาสนาอิสลาม ทั้งนี้เพราะบัญญัติก่อนหน้านี้ระบุถึงกฎในการทำสงคราม ตามวิถีทางแห่งพระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ) ซึ่งย้ำว่าฝ่ายศรัทธาชนจะต้องไม่ใช่ฝ่ายที่เริ่มทำสงครามก่อน และจะต้องไม่ละเมิดต่อกฎเกณฑ์และหลักการที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) ทรงบัญญัติไว้ในกรณี เกิดสงครามขึ้นจริง เมื่อเป็นบทเฉพาะกาลในภาวะสงครามจะนำมาบังคับใช้ในภาวะปกติที่ไม่มีสงครามมิได้ (ดู อัตตัฟซีร อัลมุนีร เล่มที่ ๒/๑๗๙,๑๘๘)

 

        2) นัยยะจากพระบัญญัติที่ ๑๙๔ ยังบ่งถึงเรื่องการกิซ๊อซ (คือบทลงโทษว่าด้วยการละเมิดต่อชีวิตและร่างกาย) ซึ่งจะดำเนินการผ่านอำนาจรัฐ (หรือฮากิม) มิใช่ด้วยการล้างแค้นหรือการดำเนินการโดยพละการของปัจเจกชนหรือหมู่คณะที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ กล่าวคือ สิทธิในการใช้บทลงโทษเรื่อง กิซ๊อซ นั้นเป็นสิทธิของฝ่ายปกครอง (วาลียุ้ลอัมริ) หากมีการสำเร็จโทษกับอาชญากรก่อนได้รับอนุญาตจากฝ่ายปกครองโดยพละการ ถือว่าเป็นการสร้างความเสียหายและเป็น การทำลายล้าง และผู้ปกครองมีสิทธิลงโทษ (ตะอฺซีร) ผู้กระทำการโดยพละการได้ในกรณีเช่นนี้ (ฟิกฮุซซุนนะฮฺ , อัซซัยยิด ซาบิก เล่มที่ ๓/๓๖, ๓๗)

 

        3) หากคำอ้างเข้าข่ายว่าเป็นสงครามเพื่อศาสนา (อัลญิฮาด) จริงดังว่า ก็ไม่อนุญาตเช่นกันในการละเมิด เพราะในพระบัญญัติที่ ๑๙๐ จากบทอัลบะกอเราะฮฺ ซึ่งเป็นตัวบท ว่าด้วยเรื่องสงครามเพื่อปกป้องศาสนาได้ระบุชัดเจน ว่า “และพวกสูเจ้าจงสู้รบในวิถีทางของพระองค์อัลลอฮฺกับบรรดาผู้ซึ่งสู้รบกับพวกเจ้าและสูเจ้าทั้งหลายจงอย่าละเมิด แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺมิทรงรักบรรดาผู้ละเมิด” คำว่า “ละเมิด” (อัลอิอฺติดาอฺ) ในพระบัญญัติหมายถึง การประพฤติสิ่งต้องห้ามทั้งปวง ดังที่ท่านอัลหะซัน อัลบอซอรีย์ได้ระบุไว้ ไม่ว่าจะเป็นการประจานศพของศัตรู (อัลมุซละฮฺ) -ดังกรณีการฆ่าตัดคอเหยื่อ- การทรยศหักหลัง, การเข่นฆ่าสังหารสตรี, เด็ก, คนชรา อันหมายถึง บรรดาผู้ซึ่งไม่มีความสามารถในการสู้รบ ซึ่งนักบวชหรือพระสงฆ์ ก็เข้าอยู่ในกรณีนี้ ตลอดจนการเผาทำลายต้นไม้และฆ่าสัตว์โดยไร้ประโยชน์ ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเข้าอยู่ในข้อห้ามที่ว่า “และสูเจ้าทั้งหลายจงอย่าละเมิด” ทั้งสิ้น (ร่อวาอิอุ้ลบะยาน ตัฟซีรอายาต อัลอะฮฺกาม, มุฮัมมัด อะลี อัซซอบูนีย์ เล่มที่ ๑/๒๓๓) ฉะนั้น หากผู้ก่อการ อ้างว่าสิ่งที่ตนกระอยู่ในขณะนี้เป็นสงครามเพื่อศาสนา นั่นก็เป็นเพียงคำอ้างที่เจือสมเอาเอง และเป็นสงครามที่ขาดความชอบธรรม

 

        4) การต่อสู้กับความอยุติธรรมสามารถกระทำได้หลายวิธีตามกระบวนการสันติวิธี อาทิเช่น การนำเสนอหรือตีแผ่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐาน ของพลเมืองอันเกิดจากฝ่ายรัฐสู่การรับรู้ของสาธารณชน, การชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างสงบสุขและอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย, การรวมตัวของกลุ่มองค์กรในท้องถิ่นเพื่อสร้างพลังต่อรองกับฝ่ายรัฐ เป็นต้น ทั้งนี้โดยหลักการของศาสนาได้กำหนดให้อิสลามิกชนทุกคนมีภารกิจ ในการธำรงความยุติธรรมในสังคมและหลีกห่างจากการกระทำที่ถือเป็นความอยุติธรรมในทุกรูปแบบ หากรัฐเป็นฝ่ายที่สร้างความอยุติธรรมแก่พลเมือง

 

        ฝ่ายพลเมืองก็จำต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและดำเนินตามกระบวนการสันติวิธีในการเรียกร้องความเป็นธรรม โดยหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการที่รุนแรง เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เข้าข่ายเป็นกบฏและละเมิดอธิปไตยของรัฐ เพราะการกระทำดังกล่าวอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายและเป็นผลร้าย เป็นเท่าทวีคูณยิ่งกว่าการอยุติธรรมของฝ่ายรัฐ ย่อมมิอาจกระทำการเช่นนั้นได้ โดยฝ่ายพลเมืองจำต้องอดทน (อัซซอบรุ้) ต่อการอธรรมนั้น เพราะในการอดทนต่อสภาวการณ์เช่นนี้ ศาสนาถือว่าเป็นการลบล้างความผิดและมีอานิสงค์มากเป็นเท่าทวีคูณ ทั้งนี้เพราะพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) มิได้ทรงกำหนดให้ผู้ปกครองที่อยุติธรรมมีอำนาจเหนือเราเว้นเสียแต่มีเหตุมาจากการประพฤติ ไม่ดีของเราเอง เพราะการตอบแทนนั้นเกิดจากประเภทของการกระทำ เราในฐานะผู้ศรัทธาจำต้องเพียรพยายามในการขอลุแก่โทษ การกลับเนื้อกลับตัวและปรับปรุงความประพฤติของเรา ให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมของศาสนา ดังนั้นเมื่อพลเมืองประสงค์ที่จะหลุดพ้นจากความอยุติธรรมของผู้ปกครองที่อยุติธรรม (พลเมือง) ก็จงละทิ้งความอธรรมนั้นเสีย กล่าวคือ จะต้อง ไม่ตอบโต้ด้วยความธรรมนั่นเอง (อัลอะกีดะฮฺ อัตตอฮาวียะฮฺ หน้า ๓๘๑)

 

        ที่กล่าวอย่างนี้มิได้หมายความว่า ให้พลเมืองยอมจำนนและก้มหน้ารับความอธรรมที่เกิดขึ้นตามยถากรรมโดยมิกระทำการอันใดเลย แต่ต้องการเน้นย้ำว่า การต่อสู้กับความอธรรมนั้นมีระดับขั้นและวิถีทาง ทุกหลากหลาย ความอธรรมเป็นสิ่งผิดและค้านกับหลักศีลธรรม เรียกว่า “มุงกัร” และการขจัดความอยุติธรรมหรือมุงกัรนั้นเป็นหน้าที่ของอิสลามิกชนทุกผู้ทุกนาม โดยขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคล ดังมีปรากฏในพระวจนะของท่านศาสดา (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่า “ผู้ใดจากหมู่สูเจ้าประจักษ์เห็นสิ่งที่ผิดต่อหลักธรรม (มุงกัร) ผู้นั้นจงเปลี่ยนแปลงมันด้วยมือ ของเขา แต่ถ้าหากเขาไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ ผู้นั้นจงเปลี่ยนแปลงมันด้วยลิ้นของเขา (คือใช้วาจา) แต่ถ้าหากเขาไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ ผู้นั้นจงใช้หัวใจของตน (คือหัวใจปฏิเสธและไม่ยินดีต่อความผิดนั้น) และดังกล่าวคือศรัทธาที่อ่อนแอเป็นที่สุด” (บันทึกโดยมุสลิม) ทั้งนี้นักวิชาการได้ระบุไว้เป็นหลักการว่า “การเปลี่ยนแปลงความชั่วด้วยดาบและอาวุธ ซึ่งเกรงว่าจะเกิดความวุ่นวาย (ฟิตนะฮฺ) และการหลั่งเลือดพี่น้องมุสลิมตามมา นั่นมิใช่สิ่งที่ศาสนา มุ่งปรารถนา… และความจำเป็นในข้อนี้ย่อมตกไป เมื่อมั่นใจได้ว่าจะเกิดผลร้ายที่ยิ่งใหญ่กว่าตามมา” (อัลวาฟีย์ ฟิชัรฮิลอัรบะอีน อันนะวาวียะฮฺ, หน้า ๒๕๘,๒๖๐)