อรัมภบท : มูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺอัลกุรอ่าน

بسم الله الرحمن الرحيم
الحمد لله والصلاة والسلام على رسول الله وعلى اله وصحبه اجمعين وبعد

“อัลกุรอ่าน”  (القرآن)  คือพจนารถของอัลลอฮฺ (تعالى) ที่ทรงประทานลงมาให้แก่ท่านนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم) โดยทยอยลงมาเป็นวาระตลอดช่วงอายุขัยของท่านนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم)  ซึ่งบางวาระก็ถูกประทานลงมาในรูปของบท (ซูเราะฮฺ) ที่ครบสมบูรณ์จนจบบทนั้นๆ เช่น บท อัล-ฟาติหะฮฺ, บท อัล-มุดดัษษิรฺ เป็นต้น ในบางวาระก็ถูกประทานลงมาจำนวน 10 อายะฮฺ

เช่น ตอนเริ่มของบท อัล-มุอฺมิน เป็นต้น และบางทีก็มีจำนวน 5 อายะฮฺ หรือเป็นบางส่วนของอายะฮฺอย่างนี้ก็มี การประทานอัลกุรอ่านโดยทยอยลงมานั้น บ้างก็เป็นไปตามเหตุการณ์และวาระโอกาสต่างๆที่ปรากฏในช่วงการประกาศศาสนาของท่านนบีมุฮํมมัด (صلى الله عليه وسلم) บ้างก็เป็นคำตอบให้กับบรรดาคำถามและให้ความกระจ่างในบรรดาข้อปัญหาที่มีผู้ถามหรือผู้สงสัยในประเด็นข้อชี้ขาดเกี่ยวกับกรณีและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น

และบางส่วนของอัลกุรอ่านที่ถูกประทานลงมาในเบื้องแรกโดยไม่มีมูลเหตุเข้ามาเกี่ยวข้องแต่มุ่งหมายในการกำหนดข้อบัญญัติและชี้นำสู่ทางนำอย่างนี้ก็มี เช่น ธรรมบัญญัติบางประการและเรื่องราวของผู้คนในยุคอดีตกาลเป็นต้น (ร่อวาอิอุ้ล-บะยาน ฟี อุลูม-อัลกุรอ่าน หน้า 17-18)

นักวิชาการได้แบ่งประเภทของอายะฮฺอัลกุรอ่านออกเป็น 2 ประเภท คือ

1) ประเภทที่ถูกประทานลงมาจากอัลลอฮฺ  (تعالى) ในเบื้องแรกโดยไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุใดๆ  เป็นกรณีเฉพาะ ซึ่งการประทานอายะฮฺอัลกุรอ่านประเภทนี้มุ่งหมายในการชี้นำมนุษยชาติสู่สัจธรรมเป็นสำคัญ

2) ประเภทของอายะฮฺอัลกุรอ่านที่ถูกประทานลงมาโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุเป็นกรณีฉพาะ (มะนาฮิล-อัลอุรฺฟาน ฟี อุลูมิลกุรอ่าน, อัซซัรกอนีย์ เล่ม 1 หน้า 106) และอายะฮฺอัลกุรอ่านประเภทที่สองนี้คือเนื้อหาหลักในการเขียนหนังสือเล่มนี้


นิยามคำว่า”มูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺอัลกุรอ่าน”

มูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺอัลกุรอ่าน เรียกในภาษาอาหรับว่า “สะบะบุน-นูซุ้ล (سبب النّزول)   ซึ่งนักวิชาการได้ให้คำนิยามว่า หมายถึง สิ่งซึ่งอายะฮฺหรือหลายอายะฮฺได้ถูกประทานลงมาโดยกล่าวถึงสิ่งนั้นหรือโดยอธิบายความอย่างชัดเจนให้แก่ข้อชี้ขาดของสิ่งนั้นในช่วงวันเวลาที่สิ่งนั้นเกิดขึ้น กล่าวคือ มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นในสมัยของท่านนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم)  หรือมีคำถามอย่างหนึ่งที่ถูกถามขึ้นยังท่านนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم)  แล้วอายะฮฺหนึ่งหรือหลายอายะฮฺก็ตามถูกประทานลงมาจากอัลลอฮฺ (تعالى) พร้อมด้วยคำอธิบายถึงสิ่งที่ผูกพันเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นๆหรือพร้อมด้วยคำตอบให้แก่คำถามนั้น

ทั้งนี้ไม่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นกรณีที่เกี่ยวกับข้อพิพาท (เช่นการพิพาทกันระหว่างกลุ่มชนในตระกูล “เอาส์” และกลุ่มชนในตระกูล “ค็อซฺรอจญ์” ด้วยเหตุการณ์เสี้ยมและยุยงของชาวยะฮูดียฺ ดังปรากฏในบท อาลิ-อิมรอน เป็นต้น) หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดที่มีผู้กระทำ หรือเหตุการณ์ที่เกิดนั้นเป็นความปรารถนาอันแรงกล้าที่มีบุคคลประสงค์ให้เกิดขึ้น และไม่ว่าคำถามดังกล่าวนั้นถูกพาดพิงไปยังนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم)  โดยเกี่ยวพันกับเรื่องราวในยุคอดีต อาทิเช่น คำถามเกี่ยวกับ ซุ้ล-ก็อรฺนัยน์ เป็นต้น หรือเกี่ยวพันกับเรื่องราว ณ เวลาปัจจุบัน เช่น คำถามเกี่ยวกับวิญญาณ เป็นต้น หรือเกี่ยวพันกับเรื่องราวในอนาคตเบื้องหน้า เช่น คำถามเกี่ยวกับวันสิ้นโลก เป็นต้น (อ้างแล้ว เล่ม 1/106-108)

คุณประโยชน์ในการรู้ถึงมูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺอัลกุรอ่าน มีดังนี้ :-

1)  รู้ถึงวิทยญาณ (ฮิกมะฮฺ) ของอัลลอฮฺ (تعالى)   ต่อการกำหนดเจาะจงในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงวางข้อบัญญัติทางศาสนาด้วยการประทานอัลกุรอ่านลงมา ซึ่งในสิ่งดังกล่าวเป็นคุณทั้งฝ่ายผู้ศรัทธาและผู้ไม่ศรัทธา กล่าวคือ ในฝ่ายผู้ศรัทธานั้นเมื่อรับรู้ถึงมูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺอัลกุรอ่านลงมาก็จะทำให้ความศรัทธาของตนเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น และมีความเพียรในการปฏิบัติตามข้อชี้ขาดของอัลลอฮฺ (تعالى)  และประพฤติตามคัมภีร์ของพระองค์ ในฝ่ายของผู้ไม่ศรัทธานั้นวิทยญาณที่ปรากฏชัดในอายะฮฺที่ถูกประทานลงมาก็จะนำพาผู้นั้นสู่การศรัทธาหากว่าผู้นั้นมีความเป็นกลางและพร้อมต่อการยอมรับในสัจธรรม

2)  เป็นการช่วยให้ผู้ศึกษาอัลกุรอ่านมีความเข้าใจในความหมายและนัยของอายะฮฺนั้นๆได้อย่างถูกต้องตลอดจนเป็นการขจัดข้อปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีทีไม่รู้ถึงมูลเหตุของการประทานอายะฮฺอัลกุรอ่าน อัลวาหิดีย์ กล่าวว่า : “ความรู้ในการอรรถาธิบายอายะฮฺอัลกุรอ่านย่อมเกิดขึ้นมิได้โดยไม่มีการยุติอยู่ ณ  เรื่องราวอันเป็นที่มาของอายะฮฺนั้น ตลอดจนการความกระจ่างในการประทานอายะฮฺนั้นลงมา” อิบนุตัยมียะฮฺ กล่าวว่า : การรู้ถึงมูลเหตุแห่งการประทานอายะฮิอัลกุรอ่านย่อมมีส่วนช่วยต่อการทำความเข้าใจอายะฮฺนั้นๆ เพราะการรู้ถึงมูลเหตุย่อมทำให้รู้ถึงผลที่เกิดขึ้น

3)  ทำให้ง่ายในการจดจำ สะดวกในการทำความเข้าใจและตราตรึงสิ่งที่ถูกประทานลงมาในจิตใจของผู้ที่รับฟังอายะฮฺนั้นๆ เมื่อเขารู้ถึงมูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺนั้นลงมา

แนวทางในการรู้ถึงมูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺอัลกุรอ่าน

การรู้ถึงมูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺอัลกุรอ่านมีเพียงแนวทางเดียว นั่นคือ การถ่ายทอดที่ถูกต้อง จึงไม่อนุญาติให้กล่าวถึงมูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺอัลกุรอ่านนอกจากต้องอาศัยการรายงาน (อัร-ริวายะฮฺ) และการรับฟังจากบุคคลที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ประทานอัลกุรอ่าน ดังนั้นถ้ามูลเหตุแห่งการประทานถูกรายงานมาจาก เศาะฮฺหาบีย์ (สาวกของท่านนบีมูฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم) )  สิ่งที่ถูกรายงานนั้นย่อมเป็นที่ยอมรับ (มักบูล) ถึงแม้ว่าสิ่งที่ถูกรายงานนั้นจะไม่มีรายงานอื่นมาสนับสนุนก็ตาม

ทั้งนี้เป็นเพราะว่าคำกล่าวของเศาะฮฺหาบีย์ในกรณีที่ไม่มีการวิเคราะห์ทางสติปัญญาเข้ามาเกี่ยวโยง ย่อมถือว่ามีสถานภาพเช่นเดียวกับสิ่งถูกอ้างอิงถึงท่านนบีมุฮํมมัด (صلى الله عليه وسلم)  เพราะเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากข้อเท็จจริงในการที่เศาะฮฺหาบีย์ได้กล่าวสิ่งนั้นตามอำเภอใจทั้งๆที่สิ่งนั้นเป็นการบอกเล่าที่ไม่มีที่มานอกจากต้องอาศัยการรับฟังและการรายงานถ่ายทอดหรือมีการอยู่ร่วมในเหตุการณ์และประจักษ์เห็น

ส่วนกรณีที่มูลเหตุแห่งการประทานนั้นถูกรายงานด้วยหะดีษมุรสัล อันหมายถึง หะดีษที่มีเศาะฮฺหาบีย์ตกไปจากสายรายงานและการรายงานสุดสิ้นยังชนรุ่นตาบีอีย์ (ผู้ที่อยู่ร่วมสมัยเศาะฮฺหาบีย์ แต่ไม่ทันพบท่านนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم) )  การรายงานเช่นนี้จะไม่ถูกยอมรับนอกเสียจากมีสายรายงานที่ถูกต้องและได้รับการสนับสนุนจากหะดีษมุรสัลอื่นๆ อีกทั้งผู้รายงานมูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺอัลกุรอ่านนั้นเป็นผู้หนึ่งจากบรรดาอิหม่ามในภาควิชาอรรถาธิบายอัลกุรอ่านที่รับเอาการอรรถาธิบายนั้นมาจากชนรุ่นเศาะฮฺหาบะฮฺ อาทิเช่น มุญาฮิด, อิกริมะฮฺ, สะอัด อิบนุ ญุบัยรฺ, อัลฮะซัน อัลบะเศาะห์รีย์, อะฎออฺ, เกาะตาดะห์ และ อัฎเฎาะหาก เป็นต้น (มานาฮิล อัลอุรฟานฯ เล่มที่ 1/114)

กาใช้สำนวนในการรายงานมูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺอัลกุรอ่าน

นักวิชาการจะใช้สำนวนในการรายงานมูลเหตุแห่งการประทานแตกต่างกันดังนี้ :-

1)  มีคำว่า “มูลเหตุ” (السبب) ปรากฏชัดเจนในสำนวน เช่นกล่าวว่า :  (سبب نزول الايةكذا) “มูลเหตุแห่งการประทานอายะฮิลงมาคืออย่างนั้นอย่างนี้…..” การใช้สำนวนเช่นนี้ถือเป็นตัวบท (نصّ) ในการระบุความเป็นมูลเหตุที่ชัดเจนไม่อาจตีความเป็นอื่นได้

2)  ไม่มีคำว่า “มูลเหตุ” (السبب) ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนแต่ในสำนวนมีอักษร ฟาอฺ (فإ) ที่นำหน้ากริยาซึ่งที่กระจายคำมาจากกริยา (نَزَلَ) “ลง” เช่น (فانزل الله) “ดังนั้นอัลลอฮฺจึงประทานลงมาว่า…” เป็นต้น ซึ่งโดยมากจะมาหลังจากการสาธยายถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น การใช้สำนวนเช่นนี้จึงเหมือนกับการใช้สำนวนในข้อที่ 1 ในการมีนัยบ่งถึงความเป็นมูลเหตุเช่นกัน

3) ในบางกรณีท่านนบีมุฮัมมัด  (صلى الله عليه وسلم)  ถูกถามถึงปัญหาข้อหนี่ง แล้วอัลลอฮฺ (تعالى)   ก็ทรงมีวะฮีย์มายังท่านนบี  (صلى الله عليه وسلم)  และท่านนบี  (صلى الله عليه وسلم)  ก็ตอบตามสิ่งที่ถูกประทานลงมาซึ่งในสำนวนไม่มีคำว่า “มูลเหตุ” ปรากฏอยู่และไม่มีอักษร “ฟาฮฺ” ดังเช่นข้อที่ 2 แต่ความเป็นมูลเหตุนั้นถูกเข้าใจได้อย่างแน่นอนจากท้องเรื่อง อาทิเช่น การรายงานของ อิบนุ มัสอู้ด (ร.ฎ.) ขณะที่ท่านนบี  (صلى الله عليه وسلم)  ถูกถามถึงเรื่องของวิญญาณ เป็นต้น ข้อชี้ขาด ของสำนวนที่ถูกเข้าใจได้จากท้องเรื่องนี้มีข้อชี้ขาดเช่นเดียวกับตัวบทที่ระบุถึงความเป็นมูลเหตุนั่นเอง

4) ใช้สำนวนในการรายงานว่า  (نزلت هذه الايةفيكذا)   “อายะฮฺนี้ลงมาในเรื่องนั้นเรื่องนี้” เป็นต้น การใช้สำนวนเช่นนี้มิใช่เป็นตัวบทถึงความเป็นมูลเหตุ หากแต่ตีความได้ว่าเป็นมูลเหตุก็ได้ เป็นเรื่องอื่นก็ได้ กล่าวคือ เป็นการอธิบายความถึงหลักการทางบัญญัติศาสนาที่อายะฮฺนั้นๆประมวลเอาไว้ กรณีแวดล้อม (قرية)  เท่านั้นจะเป็นสิ่งที่เจาะจงการตีความอย่างหนึ่งอย่างใดจากสองกรณีนั้นหรือจะเป็นเป็นสิ่งที่ให้น้ำหนักว่ากรณีใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน

ดังนั้นเมื่อมีสำนวน 2 สำนวนรายงานมาในเรื่องเดียวกัน สำนวนหนึ่งเป็นตัวบทระบุถึงความเป็นมูลเหตุสำหรับการประทานอายะฮฺหรือหลายอายะฮฺ อีกสำนวนหนึ่งมิใช่เป็นตัวระบุความเป็นมูลเหตุสำหรับการประทานอายะฮฺหรือหลายอายะฮฺ ก็ให้ยึดสำนวนที่เป็นตัวบทระบุถึงความเป็นมูลเหตุ และให้ตีความอีกสำนวนหนึ่งว่าเป็นการอธิบายความสำหรับนัยของอายะฮฺนั้น โดยถือตามหลักเกณฑ์ที่ว่า “ตัวบทที่ระบุถึงนัยบ่งชี้ ย่อมมีความแข็งแรงมากกว่าสิ่งที่อาจตีความได้”

ตัวอย่าง   มุสลิมได้บันทึกรายงานจากญาบิร (ร.ฎ.) ว่า : พวกยะฮูดีย์กล่าวกันว่า: “ผู้ใดร่วมสังวาสกับภรรยาในทวารหน้าจากทางด้านทวารหลัง ก็ย่อมไดบุตรที่ตาเหล่” ดังนั้นอัลลอฮฺ (تعالى)  จึงประทานลงมาว่า   (نساﺆكم حرث لكم ﻔﺄتواحرثكم انّى شئتم…الاية)   ภรรยาของสูเจ้าทั้งหลายนั้นคือที่นาสำหรับพวกสูเจ้า ดังนั้นพวกสูเจ้าจงมายังที่นาของพวกสูเจ้าอย่างไรก็ได้ ตามที่พวกสูเจ้าประสงค์” (จากบท อัล-บะเกาะเราะฮฺ) และบุคอรีย์ได้บันทึกรายงานจากอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ว่า  :  (نساؤكم حرث لكم)  ถูกประทานลงมาในเรื่องการร่วมสังวาสกับภรรยาในทวารหลังของพวกนาง”

สิ่งที่ถูกยึดถือเป็นหลักในเรื่องการแจ้งถึงมูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺนี้คือ รายงานแรกของท่านญาบิร (ร.ฎ.) เพราะมีการใช้สำนวนที่ปรากฏชัดในการบ่งชี้ถึงมูลเหตุ ส่วนรายงานของอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) นั้น ตีความได้ว่าเป็นการอธิบายความถึงข้อชี้ขาดในการร่วมสังวาสกับภรรยาในทวารหลังของนางอันเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเป็นการวิเคราะห์ของอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) เอง (อ้างแล้ว เล่ม 1/115)

บางทีอาจมี 2 รายงานในเรื่องมูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺอัลกุรอ่าน รายงานหนึ่งมีสายรายงานที่ถูกต้อง (ศ่อฮีฮฺ) แต่อีกรายงานหนึ่งมีสายรายงานที่ไม่ถูกต้อง ก็ให้ยึดเฉพาะรายงานที่มีน้ำหนักมากกว่าในการระบุถึงมูลเหตุ และสิ่งที่ให้น้ำหนักในกรณีนี้คือการที่หนึ่งในสองรายงานนั้นมีสายรายงานที่ถูกต้องมากกว่าอีกรายงานหนึ่งหรือปรากฏว่าผู้รายงานหนึ่งในสองรายงานนั้นเป็นผู้ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น

แต่ถ้าสองรายงานนั้นเสมอกันในระดับความถูกต้องของสายรายงานและไม่มีสิ่งที่ให้น้ำหนักแก่สายรายงานหนึ่งใดจากสองสายรายงาน โดยสามารถรวมระหว่างสองรายงานเข้าด้วยกันว่าเป็นมูลเหตุที่เกิดขึ้นทั้งคู่ และอายะฮฺนั้นๆก็ประทานลงมาภายหลังเกิดมูลเหตุทั้งสองพร้อมกันเนื่องด้วยมีเวลาไล่เลี่ยกัน ข้อชี้ขาดในกรณีนี้คือ ให้ถือว่าเรื่องนั้นมีมูลเหตุเกิดขึ้นหลายครั้ง เพราะเป็นสิ่งที่ปรากฏชัดและไม่มีข้อห้าม อิบนุ ฮะญัร กล่าวว่า :  “ไม่มีข้อห้ามว่ามูลเหตุแห่งการประทานจะมีหลายครั้งก็ได้”

ส่วนกรณีที่ทั้งสองรายงานเสมอกันในระดับความถูกต้องของสายรายงานโดยไม่มีสิ่งให้น้ำหนักแก่รายงานหนึ่งรายงานใด พร้อมกับเป็นไปไม่ได้ในการยึดเอาทั้งสองรายงานเนื่องจากมีช่วงระยะเวลาที่ห่างกันระหว่างมูลเหตุต่างๆก็ให้ตีความว่ามีการประทานอายะฮฺนั้นๆลงมาซ้ำตามจำนวนของบรรดามูลเหตุซึ่งทั้งสองรายงานกล่าวถึง ทั้งนี้เป็นการนำเอาทุกรายงานมาใช้ในการอธิบายความโดยไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด

อัซซะมัคชะรีย์ กล่าวว่า : “บางทีสิ่งหนึ่งอาจประทานลงมาถึงสองครั้งเพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งนั้นและเป็นการย้ำเตือนขณะเกิดมูลเหตุนั้น เนื่องจากเกรงว่าจะมีความหลงลืมเกิดขึ้น” ในทำนองนี้อายะฮฺเดียวอาจมีมูลเหตุมากกว่าหนึ่งในการประทานอายะฮฺนั้นลงมา และบางทีเรื่องเดียวอาจจะเป็นมูลเหตุในการประทานสองอายะฮฺหรือหลายอายะฮฺลงมาก็ได้  (ร่อวาอิอุ้ลบะยานฯ 67,68)