อัสบาบุนนุซูล | อายะฮฺที่ 142-144 สูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ

 

 سَيَقُولُ السُّفَهَاءُ مِنَ النَّاسِ مَا وَلَّاهُمْ عَن قِبْلَتِهِمُ الَّتِي كَانُوا عَلَيْهَا ۚ قُل لِّلَّـهِ الْمَشْرِقُ وَالْمَغْرِبُ ۚ يَهْدِي مَن يَشَاءُ إِلَىٰ صِرَاطٍ مُّسْتَقِيمٍ ﴿١٤٢

 

وَكَذَٰلِكَ جَعَلْنَاكُمْ أُمَّةً وَسَطًا لِّتَكُونُوا شُهَدَاءَ عَلَى النَّاسِ وَيَكُونَ الرَّسُولُ عَلَيْكُمْ شَهِيدًا
وَمَا جَعَلْنَا الْقِبْلَةَ الَّتِي كُنتَ عَلَيْهَا إِلَّا لِنَعْلَمَ مَن يَتَّبِعُ الرَّسُولَ مِمَّن يَنقَلِبُ عَلَىٰ عَقِبَيْهِ ۚوَإِن كَانَتْ لَكَبِيرَةً إِلَّا عَلَى الَّذِينَ هَدَى اللَّـهُ ۗ وَمَا كَانَ اللَّـهُ لِيُضِيعَ إِيمَانَكُمْ ۚ إِنَّ اللَّـهَ بِالنَّاسِ لَرَءُوفٌ رَّحِيمٌ 
﴿١٤٣
 

 

قَدْ نَرَىٰ تَقَلُّبَ وَجْهِكَ فِي السَّمَاءِ ۖ فَلَنُوَلِّيَنَّكَ قِبْلَةً تَرْضَاهَا ۚ فَوَلِّ وَجْهَكَ شَطْرَ الْمَسْجِدِ الْحَرَامِ ۚ وَحَيْثُ مَا كُنتُمْ فَوَلُّوا وُجُوهَكُمْ شَطْرَهُ ۗ وَإِنَّ الَّذِينَ أُوتُوا الْكِتَابَ لَيَعْلَمُونَ أَنَّهُ الْحَقُّ مِن رَّبِّهِمْ ۗ وَمَا اللَّـهُ بِغَافِلٍ عَمَّا يَعْمَلُونَ ﴿١٤٤

 

ความว่า : “บรรดาคนโฉดเขลาจากผู้คนจะกล่าวว่า สิ่งใดหนอที่ทำให้พวกเขา (บรรดามุสลิม) ผินออกจากทิศกิบละฮฺของพวกเขา ซึ่งพวกเขาเคยอยู่บนทิศกิบละฮฺนั้น จงกล่าวเถิด (โอ้ มุฮัมมัด) ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ พระองค์จะทรงนำทางแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์สู่วิถีอันเที่ยงตรง (142)

 

และเช่นนั้นแหล่ะ เราได้บันดาลให้พวกสูเจ้าเป็นประชาคมสายกลางที่เที่ยงธรรม ทั้งนี้เพื่อพวกสูเจ้าจะได้เป็นสักขีพยานต่อผู้คน และเพื่อศาสนทูตนั้นจะได้เป็นสักขีพยานให้แก่พวกสูเจ้า และเรามิได้กำหนดทิศกิบละฮฺซึ่งท่านเคยอยู่บนทิศกิบละฮฺนั้น นอกเสียจากเพื่อเราจะได้รู้ว่าผู้ใดที่ปฏิบัติตามศาสนทูตนั้นแยกจากผู้ที่พลิกกลับบนสองส้นเท้าของเขา (ตกศาสนา) และแน่แท้การผินหน้าจากบัยตุลมักดิสกลับสู่อัล-กะอฺบะฮฺ (หรือการละหมาด) นั้นย่อมเป็นเรื่องใหญ่ (และหนักอึ้ง) ยกเว้นต่อบรรดาผู้ที่อัลลอฮฺทรงนำทาง และอัลลอฮฺมิทรงทำให้การศรัทธา (การละหมาด) ของพวกสูเจ้านั้นสูญเปล่า แท้จริงอัลลอฮฺทรงการุญอีกทั้งทรงเมตตาต่อมวลมนุษย์ (143)

 

แน่แท้เราได้เห็นการแหงนหน้าของท่านสู่ทิศเบื้องบน (เพื่อรอวะหิยฺ) ดังนั้นเราจะให้ท่านผินหน้ายังทิศกิบละฮฺที่ท่านพอใจต่อทิศนั้นอย่างแน่นอน ดังนั้นท่านจงผินใบหน้าของท่านสู่ทิศที่ตั้งของมัสญิดหะรอม (อัลกะอฺบะฮฺ) เถิด และไม่ว่าพวกสูเจ้าอยู่ ณ ที่ใด พวกสูเจ้าก็จงผินใบหน้าของพวกสูเจ้าไปยังทิศนั้น และแท้จริงบรรดาผู้ที่ถูกนำมาให้แก่พวกเขาซึ่งคัมภีร์ (พวกยะฮูดียฺและนะศอรอ) ย่อมรู้ดีโดยแท้ว่านั่น (วะหิยฺซึ่งมีมายังท่าน) เป็นความจริงจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา และอัลลอฮฺมิทรงหลงลืมจากสิ่งที่พวกเขาได้ประพฤติกัน (144)

 

มูลเหตุแห่งการประทาน

อัล-บุคอรียฺรายงานจากอัล-บะรออฺ (ร.ฎ.) ว่า : เมื่อครั้งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้มาถึงนครมะดีนะฮฺท่านได้ละหมาดหันหน้าไปยังบัยตุลมักดิสอยู่ 16 เดือน หรือ 17 เดือน ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ปรารถนาที่จะหันหน้าไปยังทิศที่ตั้งของอัล-กะอฺบะฮฺ (นครมักกะฮฺ) อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จึงทรงประทานอายะฮฺที่ว่า “แน่แท้เราได้เห็นการแหงนหน้าของท่านสู่ทิศเบื้องบน” บรรดาคนโฉดเขลาจากผู้คนคือ พวกยะฮูดียฺก็กล่าวว่า “สิ่งใดหนอ? ที่ทำให้พวกเขาผินออกจากทิศนั้น” อัลลอฮฺจึงทรงดำรัสว่า “จงกล่าวเถิด (โอ้ มุฮัมมัด) ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ”

 

ในเศาะฮฺหิหฺอัล-บุคอรียฺและมุสลิมบันทึกรายงานจากอัล-บะรออฺ (ร.ฎ.) ว่า : มีหลายคนได้เสียชีวิตไปบนทิศกิบละฮฺนั้นก่อนที่จะถูกเปลี่ยน พวกเราจึงไม่ทราบว่าจะพูดสิ่งใดในเรื่องของพวกเขา อัลลออฺ (ซ.บ.) จึงทรงประทานอายะฮฺที่ว่า “และอัลลอฮฺมิได้ทรงทำให้การศรัทธา (การละหมาดที่ผินหน้าไปยังทิศที่ตั้งบัยตุลมักดิส) ของพวกสูเจ้านั้นสูญเปล่า” ลงมา (อัต-ตัฟสีร อัล-มุนีร 2/6 , ลุบาบุนนุกูล หน้า 22)

 

อิบนุ อิสหากกล่าวว่า : อิสมาอีล อิบนุ คอลิดได้เล่าหะดีษจากอบีอิสหาก จากอัล-บะรออฺ (ร.ฎ.) ว่า : ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยทำละหมาดหันหน้าไปยังบัยตุลมักดิส (เยรูซาเล็ม – ปาเลสไตน์) และท่านได้แหงนหน้ามองฟ้าเบื้องบนอยู่หลายครั้งโดยรอคอยคำบัญชาของอัลลอฮฺ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จึงทรงประทานอายะฮฺที่ว่า “แน่แท้เราไดเห็นการแหงนหน้าของท่านสู่ฟ้าเบื้องบน…”

 

มุสลิมคนหนึ่งจึงกล่าวว่า “เราปรารถนาอย่างยิ่งหากเราได้รู้ถึง (สภาพและผลของการละหมาดของ) บุคคลที่เสียชีวิตไปก่อนหน้าการที่เราได้หันไปยังทิศกิบละฮฺ (อัล-กะอฺบะฮฺ) และการละหมาดของพวกเราที่เคยหันหน้าไปยังทิศของบัยลุตมักดิสว่าเป็นอย่างไร?”  อัลลออฺ (ซ.บ.) จึงทรงประทานอายะฮฺที่ว่า “และอัลลอฮฺจะไม่ทำให้การศรัทธา (การละหมาด) ของพวกสูเจ้าสูญเปล่า” ลงมา (ลุบาบุนนุกูล หน้า 28)