การจัดตั้งกรมอาสาจาม-มลายู

กรมอาสาจามเป็นหน่วยงานใหญ่สังกัดอยู่กับฝ่ายกลาโหม เป็นหนึ่งในกรมอาสาต่างชาติ หรือที่เรียกว่า อาสา 6 เหล่า ซึ่งประกอบไปด้วย มอญ จีน แขก ญี่ปุ่น ฝรั่งแม่นปืน และจาม กรมอาสาแขกนั้นน่าจะหมายถึงกองทหารอาสาต่างชาติที่เรียกว่า แขกมัวร์ (Moor) ประกอบด้วยมุสลิมเชื้อสายอิหร่าน อาหรับ เตอร์ก และอินเดีย ดังที่เชอวาลิแยร์ เดอ โชมองค์ (Chevalier dr Chaumont) ราชทูตฝรั่งเศสในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์กล่าวว่า พวกมัวร์ในสยามประกอบไปด้วย เตอร์ก อิหร่าน โมกุล กอลกอนดาและเบงกอล (Michael Smitjies , tr. , The Chevalier de Chaumont and the Abbe de Choisy Aspects of the Embassy to Siam 1685 , p. 84)

 

กรมอาสาแขกน่าจะเป็นทหารรักษาพระองค์ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ้างมาเป็นกองกำลังพิเศษ อาจเป็นกองอาสาหรือทหารอาสาต่างชาติที่จ้างมาโดยเฉพาะ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่าเป็นทหารที่มีความสามารถพิเศษ คืออาศัยการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำให้เฉพาะแต่คนพวกนั้น จึงคัดเลือกคนแต่ล้วนที่สมัครใจ ถอนมารวมเป็นกรมเฉพาะแต่คนพวกนั้น เรียกว่า กองอาสา

 

มีหลายกรมเป็นกองทหารพิเศษ วิธีทหารอาสานี้ต่อมาเมื่อชาวต่างประเทศมีมากขึ้น มีส่วนหนึ่งหรือมากด้วยกันในพวกนั้นๆ สมัครจะรับราชการทัพศึก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชดำริเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่การสงคราม จึงอนุญาตให้เป็นกองเฉพาะผู้สมัครนั้น จึงเกิดกองทหารอาสาญี่ปุ่น อาสาจาม เป็นต้น (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ , พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัด , 2534 หน้า 242) เกี่ยวกับกองอาสาแขกมัวร์นี้ ในหนังสือ “สำเภากษัตริย์สุไลมาน”  กล่าวว่า : สมเด็จพระนารายณ์ทรงจ้างชาวอิหร่าน 200 คนจากอินเดียมาเป็นทหารรักษาพระองค์ (Muhammad Rabi , The Ship of Sulaiman , p. 100)

 

และปรากฏในจดหมายเหตุการเดินทางของบาทหลวงตาชาร์ด ซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2228 (ค.ศ. 1685) ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์บรรยายถึงพิธีรับรองคณะราชทูตฝรั่งเศสชุดเชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ว่า : มีกองร้อยทหารมัวร์ขี่ม้าหอกเฝ้าอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นสอง ส่วนเขตพระราชฐานชั้น 4 ที่โถงสองข้างมีกองทหารรักษาพระองค์ชาวเปอร์เซียอยู่ราว 500 คน (Guy Tachard , A Relation of The Voyage to Siam , p. 166)

 

ส่วนอาสาจามนั้นเป็นคนละพวกกับอาสาแขกมัวร์ และดูเหมือนว่ากรมอาสาจามนี้จะมีขนาดใหญ่กว่ากรมอาสาต่างชาติเหล่าอื่น เพราะขุนนางตำแหน่งต่างๆ ที่สังกัดอยู่ในกรมอาสาจามนั้นมีอยู่จำนวนมาก และอาจกล่าวได้ว่าหน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานผู้ชำนาญการมุสลิมใหญ่ที่สุดในระบราชการสยาม เนื่องจากเป็นหน่วยงานด้านการรบจึงมีไพร่พลในสังกัดจำนวนมากทำให้สายการบังคับบัญชาค่อนข้างซับซ้อน ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในทำเนียบของพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมืองดังนี้

เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างและสายการบังคับบัญชาในกรมอาสาจาม จะพบว่าพระราชวังสรรเป็นจางวางกรมอาสาจามทั้งซ้าย-ขวา มีศักดินา 2,000 ในขณะที่หลวงศรีมหาราชา หลวงสุรินทเสนีเจ้ากรมอาสาจามซ้าย และหลวงลักษมาณา และหลวงสรเสนี (ษรเสนี-สุรเสนี) เจ้ากรมอาสาขวา มีศักดินา 1,600 แสดงว่าตำแหน่งจางวางกรมอาสาจามซึ่งมีพระราชวังสรรหรือออกญาราชวังสันเสนีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งมีบรรดาศักดิ์สูงกว่าเจ้ากรมซึ่งมีขุนนางอาสาจามถึง 4 คน

 

ตำแหน่งจางวางนี้ เป็นตำแหน่งยศข้าราชการชั้นสูงในกรมมหาดเล็กก็มี เป็นตำแหน่งผู้กำกับการก็มี หรือเป็นตำแหน่งหัวหน้าข้ารับใช้ของเจ้านายชั้นบรมวงศ์หรือทรงกรมก็มี แต่ภายหลังได้ถูกยกเลิกไป สำหรับราชทินนาม “ราชวังสัน” ซึ่งเป็นราชทินนามของเจ้ากรมนั้นในเอกสารประวัติศาสตร์มีเขียนไว้แตกต่างกันบ้างคือ ราชวังสรร ราชบังสัน ราชวังสันเสนี หรือราชวังสันเสนา ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่ายังเขียนชื่อขุนนางเจ้ากรมจามซ้าย-ขวาต่างกันไปบ้าง เช่น     ษรเสนี เป็น สุรเสนี ลักษมาณา เป็น ลักษณมานา ศรีมหาราชา เป็น สีหราชา และสุรินทรเสนี เป็น เทวาสรไกร (ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ ; ขุนนางมุสลิมสมัยอยุธยา , เอกสารประกอบคำบรรยาย หน้า 17)

 

กรมอาสาจามเป็นหน่วยงานใหญ่ฝ่ายทหารซึ่งเป็นกำลังพลสำคัญของกองทัพโดยเฉพาะการรบทางทะเล และการเดินเรือในยามปกติ เช่น ลักษมาณา (Laksamana) ซึ่งเป็นราชทินนามของขุนนางตำแหน่งเจ้ากรมอาสาจามขวาในกรมอาสาจามของสยามเป็นแม่ทัพเรือเชื้อสายมลายูที่มีบทบาททางด้านการค้าให้กับราชสำนักสยามควบคู่ไปกับบทบาทด้านการทหาร ในบันทึกของโตเม ปิเรส ระบุว่า”ชาวสยามแล่นเรือค้าขายแข่งกับมะละกาโดยมีชาวมลายูเป็นผู้จัดวางเส้นทางเดินเรือให้แก่ชาวสยาม

 

กล่าวกันว่าลักษมาณา (Laksamana) เป็นกัปตันเรือ ดังนั้นเขาจึงได้รับเกียรติอย่างสูงตั้งแต่นั้นมา” (กรมศิลปากร , 470 ปี แห่งมิตรสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกส , หน้า 46) แสดงว่าราชสำนักอยุธยาอาศัยประโยชน์จากความชำนาญที่มีอยู่หลายด้านของมุสลิมเพื่อดำเนินกิจการต่างๆ ให้ (ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ ; อ้างแล้ว หน้า 11)

 

การจัดตั้งกรมอาสาจามน่าจะมีมาก่อนรัชสมัยสมเด็จพระเนนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133-2148) เพราะมีปรากฏอยู่ในกฏมณเฑียรบาล สมัยพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถระบุถึงทำเนียบ   ศักดินาของขุนนางในกรมอาสาจาม (รัชนี กีรติไพบุลย์ (สาดเปรม) ; บทบาทของชาวมุสลิมในภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2325-2453” จัดพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานเมาลิดกลางแห่งประเทสไทย ประจำปีฮิจเราะฮฺศักราช 1424 , หน้า 41)

 

แต่การกำหนดตำแหน่งขุนนางและศักดินาอย่างเป็นกิจลักษณะคงเกิดขึ้นพร้อมกับทหารอาสาเหล่าอื่นในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 22 ว่าด้วยการตั้งกองทหารชาวต่างประเทศ (พระนคร ; องค์การค้าคุรุสภา 2507) หน้า 123-125)

 

ในพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์บันทึกว่า “ลุศักราช 914 ปีเถาะ เอกศก พระมหาอุปราชาเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ยกพลห้าสิบหมื่น ช้างเครื่องเจ็ดร้อย ม้าสามพันข้ามเมืองเมาะตะมะ มาโดยแม่น้ำแม่กษัตริย์เข้าทางด่านเจดีย์สามองค์…. พระบาทสมเด็จบรมพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จยังเกย ตรัสให้ท้าวพระยานายกองทัพหลวงยกขบวนเบญจเสนา….พระราชวังสรรขี่ช้างพลายแก้วมาเมือง ถือพลอาสาจามห้าร้อย..”

 

แสดงว่ากองอาสาจามปรากฏมีอยู่แล้วในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ และในคราวที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพไปตีกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ. 2136 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชวังสัน จางวาง อาสาจามเป็นแม่ทัพคุมพลอาสาจามและทัพเมืองจันทรบุรีคุมเรือรบ 150 ลำ พลรบพลแจว 10,000 สรรพไปด้วยเครื่องศัตราวุธ ยกทัพไปตีทางปากน้ำพุทไธมาศ ทัพพระยาราชวังสันเข้าตีได้เมืองพุทไธมาศ เมื่อตีได้เมืองพุทไธมาศแล้วได้ร่วมกับทัพของพระยาเพชรบุรียกเข้าตีได้เมืองจตุรมุข เมื่อทัพของพระยาราชวังสันและพระยาเพชรบุรีตีได้เมือง จตุรมุขแล้ว ก็ยกขึ้นไปบรรจบทัพหลวง ณ เมืองละแวก…”

 

ขุนนางและข้าราชการในกรมอาสาจามนอกจากจะประกอบด้วยมุสลิมเชื้อสายจามแล้วยังรวมถึงมุสลิมเชื้อสายมลายูด้วย ดังหลักฐานในลิลิตกระบวนแห่พยุหยาตราทางสถลมารคและชลมารค พระนิพนธิ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ดังนี้

จามพลตนแต่งแม้น                มลายู

ปั้นเหน่งโอบเอวดู                 เพรอศแพร้ว

เหน็บกฤชพิศไพร                  โดยรัต แลฤา

หอกคู่ชูอาดแล้ว                   กลอกแกล้วแสดงหาญฯ

แต่งแขกสองพวกเพี้ยน            แยกสยาม เพศแฮ

หมู่หนึ่งอาสาจาม                  อ่าล้ำ

มลายูเยี่ยงแต่งกาย                สนอบสนับ เพลาฤา

รจิตรกระบวนซ้ำ                    โหมดย้อมโอบเศียร

 

(สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส , ลิลิตกระบวนแห่พยุหยาตราทางสถลมารคและชลมารค (กรุงเทพฯ : บัณฑิตการพิมพ์ , 2528 พิมพ์ประกาศเกียรติคุณ “วันอดีตอาวาสวัด พระเชตุพนวิมลมังคลารามและดิถีคล้ายวันเกิด สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณณศิริ) สมเด็จพระสังฆราช วันที่ 7 ธันวาคม 2528) , หน้า 83)

 

และปรากฏในฉันท์สรรเสริญพระพุทธมหามณีรัตน์ปฏิมากร พระนิพนธิ์ในสมเด็จกรมพระยาเดชา  ดิศรฯ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า “อาสาจามชำนาญการ ทเลล้วนมลายู” (สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศรฯ , “ฉันท์สรรเสริญพระพุทธมหามณีรัตน์ปฏิมากร” ใน ชุมนุมฉันท์ดุษฎีสังเวย (พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา , 2503) หน้า 8)

 

แสดงว่ากรมอาสาจามมีมุสลิมชาวจามกับมลายูปะปนกันอยู่ นอกจากนี้ราชทินนาม “ลัษมาณา” ซึ่งเป็นตำแหน่งของเจ้ากรมอาสาจามซ้ายในทำเนียบพระไอยการฯ สยามก็ตรงกับตำแหน่งแม่ทัพเรือของมลายู (กาญจนาคพันธุ์ , ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์ เล่ม 3 , พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ , บุรินทร์การพิมพ์) หน้า 386)

 

บทบาทของทหารอาสาจามนี้ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับทหารไทยคือเป็นกำลังของชาติ ในพ.ศ. 2181 ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ได้ส่งหลวงลักษมาณาไปตีเมืองปัตตานี (อิบราเฮม-ชาตรี  , ประวัติมลายูปัตตานี , เอกสารพิเศษกองโบราณคดี) ถึงแม้การศึกครั้งนั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็เป็นหลักฐานว่าทหารกรมอาสาจามมีบทบาทสำคัญเท่ากับทหารไทย (รัชนี กีรติไพบุลย์ (สาดเปรม) , อ้างแล้ว หน้า 42)

 

อาสาจามเป็นผู้ที่ชำนาญการรบทางทะเลและมีบทบาทสำคัญในการสงครามตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ขุนนางที่มีบทบาทสำคัญอยู่ในกรมอาสาจามตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์คือกลุ่มขุนนางสายตระกูลสุลต่าน สุลัยมาน แห่งสิงขรนคร (สงขลา)