ขุนนางสายตระกูลสุลต่านสุลัยมาน

ขุนนางมุสลิมสายตระกูลสุลต่านสุลัยมาน สืบสายเลือดมาจากสุลต่านสุลัยมานชาห์ราชาธิบดีแห่งสิงขรนคร (ซิงโคร่า-สงขลา) ซึ่งปกครองเมืองสงขลา (สิงขรนคร) ในช่วง พ.ศ. 2185-2211 (ค.ศ. 1642-1668) สุลต่านสุลัยมานชาห์เป็นบุตรของดาโต๊ะโมกอลล์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นมุสลิมเชื้อสายอินโด-อิหร่าน (เปอร์เซีย) ถือศาสนาอิสลามนิกายสุนนียฺ ที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานในเมืองสิเลห์ บนเกาะชวา อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานที่มีน้ำหนักบ่งชี้ว่าดาโต๊ะโมกอลล์เป็นมุสลิมเชื้อสายมลายู-ชวา ซึ่งมาจากแคว้นมากัสซาร์ (มักกะสัน)

 

ต่อมาถูกพวกฮอลันดารุกรานจึงอพยพเข้ามาตั้งชุมชนการค้าในบริเวณหัวเขาแดง แขวงเมืองพัทลุง และได้พัฒนาบริเวณนี้จนกลายเป็นท่าเรือการค้าใหญ่ ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2148-2153 / ค.ศ. 1605-1615) ทรงแต่งตั้งดาโต๊ะโมกอลล์เป็นผู้ดูแลเมืองพัทลุงและหัวเขาแดง ดาโต๊ะโมกอลล์ถึงแก่กรรมในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2153-2171  ค.ศ. 1615-1628) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สุลัยมานบุตรชายคนโตของดาโต๊ะโมกอลล์เป็นเจ้าเมืองสงขลาและเมืองพัทลุง (ดูรายละเอียดใน ประชุมพงศาวดารเมืองพัทลุง (พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา , 2505) หน้า 25 , ศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร , ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา (สงขลา ; ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สถาบันราชภัฏสงขลา , 2539) หน้า 92-94)

 

ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2173-2198 ฝ ค.ศ. 1630-1655) ท่านสุลัยมานบุตรดาโต๊ะโมกอลล์ได้ประกาศแข็งเมืองและตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา และเฉลิมพระนามว่า สุลต่านสุลัยมานชาห์ราชาธิบดี แห่งสิงขรนคร ใน พ.ศ. 2173

 

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพในหัวเมืองภาคใต้ร่วมกันปราบปราม แต่ก็พ่ายแพ้แก่กองทัพสิงขรนครถึงสองครั้ง ในปี พ.ศ. 2191 และ พ.ศ. 2198 (ตามหลักฐานบันทึกของพวกดัชท์ที่เก็บรักษาไว้ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์) ตลอดรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้น สุลต่านสุลัยมานชาห์ มีอำนาจครองดินแดนกว้างขวางตลอดชายฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ด้านใต้จรดปัตตานีและไทรบุรี ด้านเหนือจรดเมืองนครศรีธรรมราช

 

ในจดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศสระบุว่า “….เมื่อ พ.ศ. 2186 (ความจริงเป็นปี พ.ศ. 2173 – ผู้เขียน) มีแขกมลายูคนหนึ่ง ได้ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองสงขลา และได้กบถต่อเจ้ากรุงสยาม แขกมลายูผู้นี้ได้ทำป้อมประตูหอรบอย่างแข็งแรงแน่นหนา และในไม่ช้าก็ได้ชักชวนบรรดาพ่อค้าทั้งหลายให้เข้าไปการค้าในเมืองสงขลาอย่างใหญ่โตมาก ฝ่ายไทยก็ยกทัพไปปราบปรามหลายครั้งแต่ก็พ่ายแพ้กลับมาทุกคราว พอสักหน่อยแขกมลายูคนนี้ก็ตั้งตนเป็นกษัตริย์เรียกกันว่าพระเจ้าเมืองสงขลา”

 

การขยายอำนาจและดินแดนของสิงขรนคร (สงขลา) ในรัชสมัยสุลต่านสุลัยมานชาห์นั้นมีหลักฐานระบุว่าสงขลาได้ร่วมมือกับไทรบุรีเข้ายึดเมืองพัทลุง พ.ศ. 2189 และในปีพ.ศ. 2192 ได้เข้ายึดครองเมืองนครศรีธรรมราช และแผ่อำนาจถึงเมืองไชยาด้วย (รองศาสตราจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม , สายสกุลสุลต่านสุลัยมานชาห์ , จัดพิมพ์ในมุสลิมในประเทศไทย (2539) หน้า 91-92)

 

สุลต่านสุลัยมานชาห์ราชาธิบดี แห่งสิงขรนคร ได้ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2211 หลังจากได้ครองรัฐอิสระเป็นเวลา 46 ปี ท่านมุสตอฟาราชบุตรองค์โตของสุลต่านสุลัยมานชาห์ได้ปกครองสิงขรนคร (นครสงขลา) สืบต่อมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2223 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2234) จึงโปรดเกล้าฯให้ทัพหลวงยกไปร่วมทัพห้วเมืองภาคใต้ปราบปรามนครสงขลาจนได้รับชัยชนะ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้สลายเมืองสงขลาและกำลังทหารเสียเกือบหมดสิ้น

 

สุลต่านสุลัยมานชาห์มีบุตรชาย 3 คน คือ มุสตาฟา บุตรชายคนโต หะซันบุตรชายคนรอง และหุเซนบุตรชายคนเล็ก สมเด็จพระนารายณ์โปรดเกล้าฯ ให้ท่านมุสตาฟาและบริวารย้ายภูมิลำเนาไปตั้งอยู่ที่ไชยา เมืองสุราษฎร์ธานี ต่อมาได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งท่านมุสตาฟาให้เป็น “พระยาไชยา” มีราชทินนามว่า “พระยาพิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2225 ท่านมุสตาฟาหรือพระยาไชยา ได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ไชยา มีการปักหลักประตูเมือง ซึ่งเรียกว่า “เสาประโคนชัย” อยู่กลางเมือง ยังคงปรากฏหลักฐานจวบจนปัจจุบัน

 

ส่วนท่านหะซันน้องชายคนรองของท่านมุสตาฟาได้เข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “พระยาราชบังสัน (หะซัน) จางวางกรมอาสาจามว่าที่แม่ทัพเรือแห่งกรุงศรีอยุธยา และตำแหน่งราชบังสันนี้ ได้สืบเนื่องกันมาในวงศ์วารสายตระกูลสุลต่านสุลัยมานตลอดระยะเวลาของกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

 

ท่านหุเซน น้องชายคนเล็กของท่านมุสตาฟาได้เข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยาระยะหนึ่ง ต่อมาได้กลับไปช่วยราชการพระยาไชยา (มุสตาฟา) ที่เมืองไชยาในตำแหน่งปลัดเมืองไชยา ภายหลังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นพระยาพัทลุง เมื่อปี พ.ศ. 2226 (ดูรายละเอียดใน สายสกุลสุลต่านสุลัยมาน , จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการประมวลประวัติสายสกุลสุลต่านสุลัยมาน (2531) หน้า 13-15)

 

ขุนนางมุสลิมสายตระกูลสุลต่านสุลัยมานที่ดำรงตำแหน่งพระยาราชบังสัน (ออกญาราชวังสันเสนี) เจ้ากรมอาสาจาม-มลายู มีดังต่อไปนี้

1.พระยาราชบังสัน (หะซัน)       รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์

2.พระยาราชบังสัน (ตะตา)       รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ

3.พระยาราชบังสัน (หมัด-จุ้ย)    รัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

4.พระยาราชบังสัน (แม้น-เฒ่า)   ปลายแผ่นดินกรุงธนบุรี รัชกาลที่ 1 (รัตนโกสินทร์)

5.พระยารางวังสัน (หวัง)         สมัยรัชกาลที่ 1 (นายกองเรือพาณชย์นาวี)

6.พระยาราชบังสัน (ฉิม)           สมัยรัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 2

7.พระยาราชบังสัน (นก)           สมัยรัชกาลที่ 3

8.พระยาราชบังสัน (บัว)           สมัยรัชกาลที่ 4 – รัชกาลที่ 5

 

ขุนนางมุสลิมในสายตระกูลสุลต่านสุลัยมานชาห์ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองพัทลุง มีราชทินนามว่า พระยาแก้วโกรพพิชัย มีดังนี้

1.พระยาพัทลุง (หุเซน) พ.ศ. 2226

2.พระยาราชบังสัน (ตะตา) เป็น พระยาพัทุลงในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ. 2249-2301)

3.พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) เปลี่ยนศาสนาเป็นชาวพุทธ เป็นต้นตระกูล “ณ พัทลุง” บุตรของพระยาพัทลุง (ขุน) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองพัทลุงสืบมาอีกหลายท่าน ตลอดจนพระยาพัทลุง  (เผือก) ซึ่งเป็นน้องชายพระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) ก็มีผู้สืบตำแหน่งเจ้าเมืองพัทลุงต่อมาเช่นกัน

 

ส่วนขุนนางมุสลิมในสายตระกูลสุลต่านสุลัยมานชาห์ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองไชยา มีดังนี้

1.พระยาไชยา (มุสตาฟา) มีราชทินนามว่า “พระยาพิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม” รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

2.หลวงคชสวัสดิ์ราชบังสัน (เตาฟีค) บุตรพระยาไชยา (มุสตาฟา) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น พระยาพิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม ว่าที่พระยาไชยาต่อจากบิดา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2235 จนถึง พ.ศ. 2248

3.พระยาไชยา (ฟารุก) บุตรพระยาไชยา (เตาฟีค-ตาไฟ)

4.พระยาไชยา (บุญชู) บุตรพระยาไชยา (เตาฟีค) ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและสิ้นชีวิตในปี พ.ศ. 2526 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1

 

กล่าวโดยสรุป ขุนนางในสายตระกูลสุลต่านสุลัยมานชาห์แห่งนครสงขลา (สิงขรนคร) ซึ่งดำรงตำแหน่งพระยาราชบังสันจางวางกรมอาสาจามนับตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจวบจนถึงรัชกาลที่ 5 แห่งบรมราชจักรีวงศ์นั้นล้วนแต่เป็นมุสลิมทั้งสิ้น ในขณะที่ลูกหลานในสายตระกูลนี้ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองพัทลุง เจ้าเมืองไชยา เจ้าเมืองตะกั่วป่า เจ้าเมืองจะนะ และเป็นถึงเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ ที่สมุหนายกในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

 

สายตระกูลในชั้นหลังส่วนหนึ่งยังคงเป็นมุสลิมจวบจนปัจจุบัน ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนไปนับถือพุทธศาสนาและเป็นต้นสกุลสำคัญของพลเมืองในสยามประเทศตราบจนปัจจุบัน สายสกุลสุลต่านสุลัยมานจึงเป็นสายสกุลของคนไทยที่สามารถย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ชาติไทยได้ถึง 400 ปี