พิชัยสงครามตำรับอาสาจาม-มลายู

ชนชาติจามเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับชนชาติมลายู-ชวา มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อ ตลอดจนสรรพศาสตร์ที่มีอิทธิพลของอินเดียเป็นเครื่องหล่อหลอมและสังเคราะห์จนเกิดอัตลักษณ์ในความเป็นชนชาติจามในอาณาจักรจัมปาซึ่งสั่งสมและมีพัฒนการมาตลอดระยะเวลาเกือบพันปี

 

อาณาจักรจัมปา มีวัฒนธรรมแบบชาวทะเลแห่งเดียวบนผืนแผ่นดินใหญ่ของทวีปอาเซีย (พระธรรมปิฎก ; อ้างแล้ว หน้า 226) และถึงแม้ว่าอาณาจักรจัมปาจะตั้งอยู่ในแถบทะเลชายฝั่งด้านตะวันตกของคาบสมุทรอินโดจีน แต่จัมปาก็ได้รับอิทธิพลของอารยธรรมอินเดียเช่นเดียวกับอาณาจักรฟูนัน และอาณาจักรศรีวิชัยบนคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะอินโดนีเซีย (นุสันตารา)

 

การที่อาณาจักรจัมปามีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับอาณาจักรของชนชาติมลายู-ชะวาทั้งในยามสงบและยามสงครามระหว่างกันย่อมเป็นเหตุสำคัญในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ศิลป และวิทยาการตลอดจนลัทธิศาสนาและความเชื่อระหว่างกัน โดยมีเส้นทางการค้าทางทะเลเป็นเหมือนเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างกัน มีการเคลื่อนย้ายของพลเมืองในการตั้งถิ่นฐานและมีการสมรสระหว่างกันทั้งในระดับราชกลุดและสามัญชน (เกษม ท้วมประถม ; “มุสลิมเชื้อสายจาม” บทความในมุสลิมในประเทศไทย (2539) หน้า 189) ชนชาติจามนับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายโยมีลัทธิไวษณพนิกายเข้ามาปะปนบ้าง และในบางช่วงของประวัติศาสตร์ก็เคยนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน (ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล , ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง ; สำนักพิมพ์มติชน (2539) หน้า 199)

 

ความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติจามกับกลุ่มแคว้นศรีวิชัยบนคาบสมุทรมลายูโดยเฉพาะกลุ่มแคว้นไชยา นครศรีธรรมราช สทิงพระ (พัทลุง-สงขลา) และแคว้นปัตตานี ตลอดจนรัฐศรีวิชัยในสุมาตรา รวมถึงแคว้นทวารวดีที่มีลักษณะร่วมกันในด้านคติความเชื่อซึ่งรับมาจากอินเดีย ทั้งในรูปแบบศาสนาพราหมณ์ และพุทธศาสนาแบบมหายาน โดยมีภาษาสันสกฤตเป็นภาษาสำคัญย่อมเป็นสิ่ง ชี้ชัดได้ประการหนึ่งว่า ชนชาติจามมีความเป็นพวกหรือความเป็นสมาชิกเครือข่ายที่มีวัฒนธรรมและคติความเชื่อร่วมกัน ดังนั้นจึงมิใช่เรื่องแปลกเมื่อดินแดนแว่นเคว้นบนคาบสมุทรมลายูและรัฐเครือข่ายของอาณาจักรศรีวิชัยในมาลัยทวีป (สุมาตรา-ชะวา) เริ่มนับถือศาสนาอิสลามที่แผ่มาถึงในราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 โดยเส้นทางการค้าพาณิชย์นาวีชนชาติจามในอาณาจักรจัมปาก็ย่อมได้รับอิทธิพลของปรากฏการณ์ดังกล่าวไปด้วย

 

และการที่ชนชาติจามได้อพยพเคลื่อนย้ายเข้าสู่ดินแดนแว่นแคว้นบนคาบสมุทรมลายูและแคว้นสุวรรณภูมิซึ่งต่อมาคือรัฐอโยธยาที่มีสัมพันธ์กับกลุ่มแว่นแคว้นนับแต่สุโขทัยจรดนครศรีธรรมราช จึงเท่ากับเป็นการเคลื่อนเข้าสู่ภูมิภาคศูนย์กลางของกลุ่มเครือข่ายทางอารยธรรมที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายูตอนบน เป็นไปในทำนองเดียวกันกับการอพยพย้ายถิ่นฐานจากชะวากลางของต้นสายตระกุลสุลต่านสุลัยมานชาห์ในช่วงเวลาต่อมา และตั้งรัฐอิสระขึ้นในแคว้นเดิมบนคาบสมุทรมลายูคือ แคว้นสะทิงพระ

 

แม้ภายหลังในช่วงสลายนครสงขลาแล้ว ลูกหลานในตระกูลสุลต่านสุลัยมานชาห์ก็ยังได้มีอำนาจปกครองถึงแคว้นไชยาต่อมาอีกนับร้อยปี จึงกล่าวได้ว่าการเข้าสู่สุวรรณภูมิในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของชนชาติจามโดยมีเมืองปะทาคูจามในอยุธยา การตั้งกองอาสาจามนับแต่แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ การส่งกองอาสาจามไปตั้งมั่นที่เมืองหน้าด่านทางภาคใต้คือชุมพร การเติบใหญ่ของกองอาสาจามจนกลายเป็นกรมอาสาต่างชาติที่มีขนาดกำลังพลและสายการบังคับบัญชาที่ซับซ้อนและใหญ่ที่สุดของขุนนางมุสลิมเชื้อสายจาม-มลายู นับแต่ปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และต้นแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ

 

การกำเนิดขึ้นของสิงขรนครบริเวณหัวเขาแดง โดยดาโต๊ะโมกอลล์และลูกหลานในสายตระกูลของท่านสุลต่านสุลัยมานชาห์ซึ่งเป็นชะวา-มลายู การเข้ามาบังคับบัญชาของพระราชบังสันและสายตระกูลสุลต่านสุลัยมานชาห์ในกรมอาสาจาม-มลายู และการดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองในเขตแคว้นของศรีวิชัยเดิมนับจากนครศรีธรรมราชถึงเมืองไชยาทั้งหมดที่กล่าวมาคือการบรรจบอย่างลงตัวและการรวมศูนย์ของพลเมืองและกลุ่มขุนนางที่มีวัฒนธรรมเดียวกันนั่นคือ ชะวา-มลายู

 

ปรากฏการณ์การบรรจบและการรวมตัวของพลเมืองและกลุ่มชนชั้นที่มีกรมอาสาจามเป็นศูนย์รวมนี้ย่อมทำให้เกิดการถ่ายทอดศิลปะวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการทำสงครามและยุทธ์ศิลป์แขนงต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายสั่งสมและรวบรวมเอาไว้ ต่อมาจึงเกิดการผสมผสานศิลปะวิทยาการนั้นเข้าด้วยกันและกลายเป็นแบบแผนเฉพาะตัวที่เรารู้จักกันว่า เป็นพิชัยสงครามแบบอาสาจาม-มลายู ซึ่งหมายถึงแบบแผนที่ว่าด้วยกลยุทธ์และวิธีการเอาชนะในสงครามตามอย่างจาม-มลายูนั่นเอง

 

การกล่าวถึงพิชัยสงครามแบบจาม-มลายูมิได้มุ่งหมายถึงตำราที่มีการจดบันทึกรวบรวมศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับกลุยุทธ์และการทำศึก แต่มุ่งหมายถึงพิชัยสงครามแบบจาม-มลายูที่มีอยู่จริง ในการฝึกพลอาสาจาม-มลายูและการใช้พิชัยสงครามดังกล่าวในภาคสนามเมื่อมีสงครามการรบพุ่งไม่ว่าจะเป็นการรบทางบกหรือทางทะเลก็ตาม

 

ดังนั้นการที่เราไม่พบหลักฐานในรูปเอกสารโบราณ เช่น สมุดข่อยหรือตำราที่มีการจดบันทึกรวบรวมและคัดลอกด้วยตัวอักษรโบราณ นั่นก็มิได้หมายความว่า พิชัยสงครามของชนชาติจามและชนชาติมลายู-ชะวาไม่มีอยู่จริง เพราะแม้แต่ตำราพิชัยสงครามของไทยเองก็มีอยู่เพียงไม่กี่ฉบับ ฉบับที่เก่าแก่ที่สุดก็คือตำราพิชัยสงครามที่สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2034-2072) เรียกว่า “ตำราพิชัยสงครามฉบับหลวง” โดยมีเนื้อหาว่าด้วยการจัดกระบวนทัพ การตั้งค่าย การเดินทัพ การเข้าจู่โจม และการตั้งรับ เป็นต้น (รองศาสตราจารย์ดนัย ไชยโยธา ; 53 พระมหากษัตริย์ไทยฯ สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ , กรุงเทพฯ (2553) หน้า 91)

 

ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133-2148) จึงได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงและชำระตำราพิชัยสงครามให้ครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 ตำราพิชัยสงครามก็กระจัดกระจายและสูญหายไปเป็นอันมาก ฉบับที่มีการคัดลอกขึ้นใหม่ก็เป็นตำราพิชัยสงครามที่มีอายุอยู่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์มานี่เอง

 

การที่เรายืนยันว่า พิชัยสงครามตำรับอาสาจาม-มลายูมีอยู่จริงก็มีเหตุผลเช่นเดียวกับการที่เราเชื่อว่าชาติไทยมีพิชัยสงครามมาตั้งแต่ครั้งโบราณก่อนการรวบรวมและสร้างเป็นตำราพิชัยสงครามในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เหตุผลดังกล่าวก็คือ การทำสงครามรบพุ่งเพื่อปกป้องดินแดนจากการรุกรานของอริราชศัตรูและการใช้กองทัพเพื่อทำสงครามในการแผ่ขยายอาณาเขตซึ่งก็คือการรุกรานรัฐที่อยู่ใกล้เคียงนั่นเอง เมื่อชนชาติไทยนับแต่ครั้งอาณาจักรน่านเจ้าทำศึกสงครามทั้งรุกและรับ ป้องกันและโจมตี ชนชาติจัมปาในอินโดจีนและชนชาติมลายู-ชะวาในคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะในมาลัยทวีปก็มีสงครามทั้ง 2 รูปแบบนั้นเช่นกัน

 

ในส่วนของจัมปาประเทศนั้นเคยทำศึกกับจีน ขอมโบราณ และอานัม (เวียดนาม) มาโดยตลอดไม่น้อยกว่า 900 ปี ชนชาติจามจึงเป็นชาตินักรบโดยสายเลือดและดูเหมือนว่าช่วงเวลาแห่งความสงบและปลอดสงครามของชนชาติจามนั้นเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของอาณาจักรจัมปา แม้ภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรจัมปาและการอพยพของพลเมืองชาตินักรบสู่ดินแดนต่างๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ พลเมืองจามก็ยังคงเป็นกองกำลังทางทหารที่ออกศึกสงครามให้แก่กษัตริย์ในดินแดนที่รับชนชาติจามเอาไว้ในเวลาต่อมาดังเช่นกรณีกรมอาสาจามในสยามประเทศเป็นต้น

 

สมมุติฐานหรือการสรุปว่าชนชาติจามไร้พิชัยสงครามของตนจึงเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักของตรรกะและความสมเหตุสมผลโดยสิ้นเชิง ในทำนองเดียวกัน พลเมืองมลายู-ชะวาในอาณาจักรศรีวิชัยเดิมทั้งในมาลัยทวีปและคาบสมุทรมลายูก็เป็นชนชาตินักรบทั้งทางบกและทางทะเลควบคู่กับความชำนาญในการเดินเรือที่แม้แต่สยามเองยังต้องอาศัยชนชาติมลายู-ชะวาในการดังกล่าว อาณาจักร “ตามพรลิงค์” หรือ แคว้นนครศรีธรรมราช ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 1701-1800) ก็ปรากฏหลักฐานด้านต่างๆ ระบุว่า กษัตริย์ในราชวงศ์ “ปัทมวงศ์” ทรงเป็นผู้ครองแคว้น “ตามพรลิงค์” แล้วทรงรวบรวมบรรดบ้านเมืองและแว่นเคว้นน้อยใหญ่ในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ทั้งหมดให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้สำเร็จ อาณาจักรตามพรลิงค์มีกองทัพที่เข้มแข็งจนสามารถยกไปคุกคามบ้านเมืองในลังกาโน่นเลยทีเดียว (รัฐปัตตานีในศรีวิชัยฯ , สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ , สำนักพิมพ์มติชน (2542) หน้า 127,128)

 

และชนชาติมลายู-ชะวาในมาลัยทวีป (หมู่เกาะสุมาตรา-ชวา) ก็ทำสงครามพุ่งกับแว่นแคว้นบนคาบสมุทรมลายูและอินโดจีนตลอดระยะเวลาอันยาวนานในประวัติศาสตร์ อาณาจักรจัมปาเองก็ถูกชวารุกรานอย่างหนักในปี พ.ศ. 1317 (พระธรรมปิฎก ; อ้างแล้ว หน้า 221) อาณาจักรเจนละใต้หรือเจนละน้ำในกัมพูชาก็ถูกกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทรแห่งชวา ยกกองทัพเรือข้ามทะเลมาตีและยึดครองอาณาจักรเจนละใต้ไว้ใต้อำนาจในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 14 (พระธรรมปิฎก ; อ้างแล้ว : หน้า 10)

 

จึงเป็นไปไม่ได้ที่ชนชาติมลายู-ชะวาจะไม่มีตำรับพิชัยสงครามของตนเองทั้งๆ ที่เคยแผ่แสนยานุภาพทางการทหารไปทั่วดินแดนในภูมิภาคอุษาคเนย์ สิ่งที่ยืนยันได้อีกประการหนึ่งก็คือ อาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นพุกาม สุวรรณภูมิ คาบสมุทรอินโดจีน คาบสมุทรมลายู และมาลัยทวีปล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมของอินเดียทั้งสิ้น และส่วนหนึ่งจากผลพวงของอารยธรรมอินเดียที่ชนชาติในภูมิภาคนี้รับเอาไว้ก็คือ ตำราพิชัยสงครามตามคติแบบแผนของฮินดู-พราหมณ์ จึงไม่ใช่สิ่งที่เกินเลยแต่อย่างใด หากเราจะกล่าวว่า ราชสำนักที่มีอำนาจปกครองอาณาจักรในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทั้งหมดมีตำรับพิชัยสงครามอันเดียวกันเป็นแม่แบบ นั่นคือตำรับพิชัยสงครามของอินเดียนั่นเอง

 

ตำรับพิชัยสงครามของอินเดียได้เดินทางมาถึงภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับคติความเชื่อ ศิลปะ วิทยาการแขนงต่างๆ และปรัชญาในการดำเนินชีวิตแบบพราหมณ์-ฮินดู และพุทธทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท(หินยาน) ศาสตร์ในการทำสงครามหรือพิชัยยุทธ์ถือเป็นศาสตร์ชั้นสูงที่เหล่ากษัตริย์ในสมัยโบราณต้องศึกษาเรียนรู้อย่างแตกฉานโดยผ่านการถ่ายทอดจากพราหมณ์หรือบัณฑิตประจำราชสำนักเพราะกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงคือจอมทัพหรือนักรบที่จะต้องทำศึกสงครามทั้งในเขตราชอาณาจักรและนอกเขตราชอาณาจักรของตน การศึกษาสรรพวิชาของพระมหากษัตริย์ถือเป็นหนึ่งในราชกิจที่ขาดไม่ได้ตามโบราณประเพณี ดังนั้นความรู้อันเป็นศาสตร์ชั้นสูงว่าด้วยพิชัยสงครามจึงเป็นศาสตร์ของกษัตริย์ชาตินักรบในทุกอาณาจักรของโลก ตำรับพิชัยสงครามจึงมี 2 ลักษณะนั่นคือ

 

1. พิชัยสงครามตามแบบแผนของราชสำนัก เรียกว่า “ตำรับหลวง”

 

2. พิชัยสงครามตามแบบแผนของสามัญชนซึ่งเป็นขุนนางที่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพนายกองลงไปถึงไพร่พลของกองทัพ เรียกว่า “ตำรับราษฎร์” ซึ่งเป็นกำลังพลที่ถูกเกณฑ์เข้าร่วมในกองทัพเมื่อมีการระดมพล และพิชัยสงคราม “ตำรับราษฎร์” นี้จะมีนายกองที่สังกัดกองทัพเป็นผู้ถ่ายทอด ฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ทั้งแบบมีอาวุธและมือเปล่าให้แก่กำลังพลที่ตนรับผิดชอบ และในยามสงครามนั้นบรรดาขุนนางทั้งในฝ่ายกลาโหมและฝ่ายพลเรือนก็ต้องถูกเกณฑ์ให้เป็นแม่ทัพนายกองทั้งสองฝ่าย การมีความรู้ในศาสตร์แห่งสงครามจึงมิได้จำกัดอยู่เฉพาะฝ่ายกลาโหมหรือกองทัพหลักเท่านั้น แต่จำต้องมีการถ่ายทอดหรือฝึกฝนให้แก่ราษฎร์หรือไพร่ที่ถูกเกณฑ์เป็นกำลังพลในการทำศึกด้วย โดยเฉพาะศิลปะการต่อสู้ที่ต้องใช้ในการทำสงครามเพื่อรักษาชีวิตและเอาชนะศัตรูในสนามรบ

 

หลังเสร็จศึกในยามบ้านเมืองสงบ กำลังพลหลักของกองทัพและกรมทหารอาสาต่างชาติทั้งที่สังกัดฝ่ายกลาโหม ฝ่ายพลเรือนเช่นกรมท่า เป็นต้น ก็จำต้องฝึกกำลังทหารให้มีความพร้อมอยู่เสมอสำหรับการสงครามที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ส่วนไพร่สามัญชนที่เคยได้รับการฝึกศาสตร์ในการรบหากไม่รับราชการต่อก็อาจจะต่อยอดด้วยการศึกษาวิทยาคมเพิ่มเติมจากครูบาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ เมื่อสำเร็จการศึกษาวิทยาคมนั้นแล้วก็ตั้งสำนักเพื่อถ่ายทอดศิลปะการต่อสู้นั้นต่อไป จึงเป็นเหตุให้เกิดสำนักดาบและสำนักมวยในหัวเมืองต่างๆ ตามมา ครั้นเมื่อเกิดศึกสงครามขึ้นอีก บรรดาครูดาบและครูมวยตลอดจนเหล่าศิษยานุศิษย์ที่เป็นไพร่สามัญชนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นกำลังพลที่พร้อมทำศึกของกองทัพไปโดยปริยาย การสืบทอดศิลปะการต่อสู้ด้วยการใช้อาวุธและอวัยวุธ (คือการใช้อวัยวะเป็นอาวุธ) จึงเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามวิถีของผู้คนในสมัยโบราณ

 

เมื่อศาสตร์ในการต่อสู้ของนักรบสมัยโบราณคือ ความชำนาญในการใช้อาวุธจำพวกดาบ กริช กระบี่ หอก ทวน เขน และดั้ง เป็นต้น ความชำนาญอีกอย่างหนึ่งที่จำต้องมีควบคู่อยู่ด้วยคือศิลปะการต่อสู้ด้วยการใช้อวัยวะในร่างกายเป็นอาวุธเมื่อนักรบผู้นั้นไร้อาวุธที่เป็นโลหะ ศิลปะการต่อสู้ด้วยอวัยวุธนี้เป็นส่วนหนึ่งของตำรับพิชัยสงครามแน่นอน เพราะนักรบและขุนศึกในอดีตต้องมีความจัดเจนในการใช้อาวุธทั้งศาสตราวุธและอวัยวุธซึ่งเรียกกันว่า “มวย” นั่นเอง

 

ดังนั้นศิลปะการต่อสู้ในเชิงมวยจึงปรากฏอยู่ในพิชัยสงครามของทุกกองทัพในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นมวยพม่า มวยเขมร มวยไทยโบราณ หรือมวยจีน และสำหรับชนชาติมลายู-ชะวาก็มีมวยของตนเองที่เรียกกันว่า สิละ หรือ ปัญจสิละ ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ การต่อสู้แบบสิละมีมาตั้งแต่ 400 ปีก่อน โดยกำเนิดที่เกาะสุมาตราและแพร่หลายไปในหมู่ชนชาติมลายู/ชะวาทั้งในมาลัยทวีปและคาบสมุทรมลายู (Mubin Sheppard , Teman Indera (Kualalamper , 1970) , p.104)

 

ที่สำคัญตำนานการกำเนิดสิละได้อ้างถึงปรมาจารย์ผู้คิดค้นสิละให้กลายเป็นศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าว่ามี 3 คน คือ บุรฮานุดดีน ชัมสุดดีน และอามีนุดดีน (ประพนธ์ เรืองณรงค์ , “บุหงาปัตตานี คติชนไทยมุสลิมชายแดนภาคใต้” , กรุงเทพฯ (สำนักพิมพ์มติชน 2540ป หน้า 158) ซึ่งทั้งสามคนเป็นชาวมุสลิมสุมาตราหรือที่เรียกว่า “แขกปินังกะเบา” สิละจึงเป็นภูมิปัญญาของชนมุสลิมเชื้อสายมลายู-ชะวาที่มีความเกี่ยวพันกับชนชาติจามที่รับนับถือศาสนาอิสลามและมีวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากมุสลิม-ชะวาในหมู่เกาะนุสันตารา (อินโดนีเซีย) ความสัมพันธ์ดังกล่าวยังรวมไปถึงขุนนางมุสลิมในสายตระกูลสุลต่านสุลัยมานชาห์แห่งสิงขรนคร (สงขลา) และกรมอาสาจามนับแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอีกด้วย

 

กล่าวคือขุนนางมุสลิมในสายตระกูลสุลต่านสุลัยมานชาห์เป็นมุสลิมมลายู-ชะวา กรมอาสาจามก็ประกอบไปด้วยชาวมุสลิมเชื้อสายจามและมลายู ศิลปะและวิทยายุทธในการทำสงครามของกรมอาสาจาม-มลายูก็คือตำรับพิชัยสงครามแบบจาม-มลายู ศิลปะการต่อสู้ด้วยการใช้ศัตราวุธและอวัยวุธก็เป็นแบบจาม-มลายู คือมีเพลงดาบแบบจาม-มลายู และมี “สิละ” เป็นศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าเยี่ยงชาวมลายูในอุษาคเนย์ทั่วไป

 

แต่สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ ทั้งเพลงดาบและศิลปะการต่อสู้แบบสิละของกรมอาสาจาม-มลายูมีพัฒนาการต่อยอดมากไปกว่าเพลงดาบและสิละของชนชาติมลายูทั่วไปโดยผ่านขุนนางมุสลิมในสายตระกูลสุลต่านสุลัยมานชาห์ทั้งที่สังกัดกรมอาสาจามในกรุงศรีอยุธยาและหัวเมืองภาคใต้ในฐานะเจ้าเมืองไชยา พัทลุง ตะกั่วป่า และเมืองจะนะในสงขลานั่นเอง คือ การผสมผสานและประยุกต์ศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าแบบสิละของคนมลายูเข้ากับศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยพื้นเมืองในดินแดนใต้ของสยามที่มีแพร่หลายอยู่ในหัวเมืองภาคใต้ดังกล่าวจนกลายเป็นมวยไทยพาหุยุทธ์ศิลป์ที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า “มวยไทยไชยา” หรือ “มวยไชยา” นั่นเอง

 

ภาพประกอบจาก http://www.muaythaichaiyarat.com/