19.อัต-ตีญานียฺโน้มเอียงยังทัศนะของฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺในการอธิบายว่าสิ่งที่ท่าน รสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ประสงค์ให้บันทึกคือการแต่งตั้งท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นเคาะลีฟะฮฺ

อัต-ตีญานียฺเขียนว่า : “ไม่มีข้อสงสัยใดๆ ว่าแท้จริงการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรนี้มีสิ่งใหม่สำหรับมุสลิมที่จะตัดรอนทุกข้อสงสัยเหนือพวกเขา และเราจะต้องละคำกล่าวของฝ่ายชีอะฮฺที่ว่า : แท้จริงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ประสงค์ที่จะเขียนชื่อของท่านอะลีว่าเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่าน และอุมัรฺก็มีไหวพริบถึงเรื่องนั้น อุมัรฺจึงได้ห้ามท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ดังนั้นจึงดูเหมือนว่าพวกเขาไม่ได้ทำให้เรายอมรับต่อข้ออ้างนี้ซึ่งไม่ได้ทำให้เรายินดีโดยหลักมูลฐาน…” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 96) “…..และข้าพเจ้าเกือบที่จะโน้มเอียงยังทัศนะของฝ่ายชีอะฮฺในการอธิบายถึงเหตุการณ์นี้ เพราะมันเป็นการให้เหตุผลในเชิงตรรกะและมีสิ่งบ่งชี้อยู่หลายประการ

และข้าพเจ้ายังคงนึกถึงคำตอบของสัยยิด มุฮัมมัด บากิรฺ อัศ-ศอดร์ ขณะที่ข้าพเจ้าได้ถามท่านว่า : เป็นไปได้อย่างไรที่ท่านอุมัรฺในหมู่เศาะหาบะฮฺเข้าใจถึงสิ่งที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ประสงค์ที่จะให้เขียนสิ่งนั้น คือการแต่งตั้งท่านอะลีเป็นเคาะลีฟะฮฺ – ตามที่พวกท่านกล่าวอ้าง – และสิ่งนี้คือความชาญฉลาดของท่านอุมัรฺ” (อ้างแล้ว หน้า 98)

 

วิภาษ

ทัศนะของฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺที่อัต-ตีญานียฺละเอาไว้ในตอนแรก มิใช่เป็นสิ่งที่อัต-ตีญานียฺปฏิเสธ และแสดงความไม่ยินดีแต่อย่างใด เพราะอัต-ตีญานียฺปักใจเชื่อตามทัศนะและคำอธิบายของฝ่ายชีอะฮฺอยู่ก่อนแล้ว การวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) และเหล่าเศาะหาบะฮฺในเหตุการณ์วันพฤหัสมหาวิปโยคเป็นเพียงการปูทางไปสู่การยอมรับต่อคำอธิบายของฝ่ายชีอะฮฺเท่านั้น เพราะเรื่องนี้มีระบุอยู่ในหนังสืออัล-มุรอญิอาตของชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺที่เป็นแรงบันดาลใจของอัต-ตีญานียฺมาก่อนแล้ว และคำอธิบายของสัยยิดมุฮัมมัด บากิรฺ อัศ-ศอดร์ก็สอดคล้องกับสิ่งที่ชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺเขียนไว้เช่นกัน

 

อัล-มูสาวียฺเขียนว่า “ถ้าได้ใช้สติปัญญาอย่างอิสระพิจารณาเรื่องนี้จะเห็นว่าพวกเขาเหล่านั้นต่างก็รู้ดีอยู่แล้วว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีความประสงค์อย่างยิ่งที่จะทำการแต่งตั้งให้ท่านอะลีดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮฺเป็นการเฉพาะ อีกทั้งจะทำการสั่งเสียเกี่ยวกับเรื่องของบรรดาอิมามผู้ซึ่งสืบเชื้อสายของท่านอีกด้วย ดังนั้น พวกเขาจึงได้ขัดขวางท่านศาสนทูตเกี่ยวกับเรื่องนี้…” (อัล-มุรอญิอาต (ฉบับแปลภาษาไทย) หน้า 527)

 

ส่วนคำอธิบายของอัส-สัยยิด อัศ-ศอดร์ ที่อัต-ตีญานียฺเล่าเอาไว้นั้นก็ระบุว่า : อุมัรฺมิใช่คนเดียวที่เข้าใจว่าจุดมุ่งหมายของท่านรสูล แต่ทว่าผู้ที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ส่วนใหญ่ก็เข้าใจสิ่งที่อุมัรฺเข้าใจ เพราะก่อนหน้านั้นท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็เคยกล่าวเหมือนกับสิ่งนี้ กล่าวคือ ท่านกล่าวกับพวกเขาว่า แท้จริงฉันได้ละทิ้งไว้ในหมู่พวกท่าน 2 สิ่งที่หนักอึ้ง คือ คัมภีร์ของอัลลอฮฺ และอิตเราะฮฺของฉันคือครอบครัวของฉัน ตราบใดที่พวกท่านยึดมั่นต่อสิ่งทั้ง 2 นั้น พวกท่านก็จะไม่มีวันที่จะหลงผิด และในการป่วยของท่าน ท่านได้กล่าวกับพวกเขาว่า : มาเถิด ฉันจะเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่พวกท่าน พวกท่านจะไม่หลงผิดหลังจากนั้น บรรดาผู้ที่ร่วมอยู่และส่วนหนึ่งจากพวกเขาก็คืออุมัรฺต่างก็เข้าใจว่า ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ต้องการที่จะตอกย้ำสิ่งที่ท่านเคยกล่าวถึงในวันเฆาะดีรฺคุม โดยเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร…เหมือนกับว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ต้องการจะกล่าวว่า : พวกท่านจงยึดมั่นอัล-กุรอานและอะลี…” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 98-99)

 

จะเห็นได้ว่าคำอธิบายของอัส-สัยยิด อัศ-ศอดร์และชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺ (ดู อัล-มุรอญิอาต หน้า 527) ตลอดจนการเขียนของอัต-ตีญานียฺเป็นเรื่องในทำนองเดียวกัน และคำอธิบายดังกล่าวไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) แต่ยังรวมบรรดาเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์วันพฤหัสอับโชคว่า ทั้งหมดเข้าใจเป็นอย่างดีว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ประสงค์จะบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรให้ท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นเคาะลีฟะฮฺหลังจากท่าน เหตุนั้นบรรดาเศาะหาบะฮฺจึงสมรู้ร่วมคิดกันขัดขวางท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มิให้กระทำสิ่งนั้น

 

ซึ่งถ้าหากคำอธิบายนี้เป็นจริงดังว่า แล้วเหตุไฉนท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงละทิ้งการบันทึกดังกล่าวในช่วง 3-4 วันหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต หากการบันทึกสิ่งนั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่จะปกป้องประชาคมมุสลิมมิให้หลงผิดและเป็นเรื่องจำเป็นที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะต้องไม่ปิดบังหรือละเลยไม่ได้ เพราะเกี่ยวพันกับความรอดของประชาคมมุสลิมจากความหลงผิด ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ย่อมไม่ละทิ้งการเขียนข้อความสำคัญดังกล่าวเพียงเพราะการขัดแย้งกันของเหล่าเศาะหาบะฮฺหรือเพราะเหตุผลใดๆ ก็ตาม เนื่องจากภาระกิจของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนด้วยอายะฮฺอัล-กุรอานที่ว่า

 

يَا أَيُّهَا الرَّسُولُ بَلِّغْ مَا أُنزِلَ إِلَيْكَ مِن رَّبِّكَ وَإِن لَّمْ تَفْعَلْ فَمَا بَلَّغْتَ رِسَالَتَهُ وَاللَّهُ يَعْصِمُكَ مِنَ النَّاسِ

“โอ้ ผู้เป็นศาสนทูต ท่านจงเผยแผ่สิ่งที่ถูกประทานลงมายังท่านจากพระผู้อภิบาลของท่าน และหากว่าท่านไม่กระทำแล้วไซร้ ท่านก็หาได้เผยแผ่สาส์นของพระองค์ไม่ และอัลลอฮฺจะทรงปกป้องท่านจากผู้คนทั้งหลาย” (อัล-มาอิดะฮฺ : 67)

 

และอัล-กรุอานยังได้กล่าวถึงคุณลักษณะของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อีกด้วยว่า

لَقَدْ جَاءَكُمْ رَسُولٌ مِّنْ أَنفُسِكُمْ عَزِيزٌ عَلَيْهِ مَا عَنِتُّمْ حَرِيصٌ عَلَيْكُم بِالْمُؤْمِنِينَ رَءُوفٌ رَّحِيمٌ

“แน่แท้ ศาสนทูตหนึ่งจากตัวของพวกเจ้าได้มายังพวกเจ้าแล้ว เป็นผู้ที่มีความลำบากเหนือเขาซึ่งสิ่งที่พวกเจ้ามีความยากลำบาก เป็นผู้มีความพยายามอย่างยิ่งยวดเหนือพวกเจ้า เป็นผู้ที่กรุณาอีกทั้งเมตตาอย่างยิ่งต่อเหล่าผู้ศรัทธา” (อัต-เตาบะฮฺ : 128)

 

ประโยคที่ว่า “เป็นผู้มีความพยายามอย่างยิ่งยวดเหนือพวกเจ้า” หมายถึง มีความพยายามอย่างยิ่งยวดต่อการชี้ทางนำให้แก่พวกเขา และการทำให้บรรลุถึงผลประโยชน์ทั้งโลกนี้และโลกหน้าสำหรับพวกเขา (ตัฟสีรฺ อิบนุกะษีรฺ 2/404)

 

ในเมื่อเป็นที่รู้กันว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีภาระกิจในการเผยแผ่ สาส์นของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และมีความเพียรพยายามอย่างที่สุดในการนำพาประชาคมของท่านสู่ทางนำก็ย่อมไม่มีข้อสงสัยใดๆ ว่า หากการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรในวันพฤหัสมหาวิปโยคจะเป็นสิ่งที่ปกปักรักษาประชาคมของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มิให้หลงผิดและเบี่ยงเบนออกจากศาสนาตลอดจนเป็นสิ่งที่จะขจัดความขัดแย้งและแตกพวกในระหว่างประชาคมตราบจนถึงวันอวสานของโลกอย่างที่อัต-ตีญานียฺเขียนไว้ ก็ย่อมไม่มีข้ออนุโลมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นบัญญัติทางศาสนาหรือเหตุผลทางปัญญาในการที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะทำการล่าช้าในการดำเนินการเรื่องนั้นจนผ่านเลยมาถึงช่วงเวลาที่คับขันนั้น

 

และถ้าหากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ล่าช้าในเรื่องนั้น ท่านก็ย่อมไม่ละทิ้งการดำเนินการดังกล่าวเพียงแค่การขัดแย้งของเหล่าเศาะหาบะฮฺที่เกิดขึ้นต่อหน้าท่าน และย่อมไม่มีผู้ใดทัดทานได้ตลอดจนท่านก็ไม่ต้องกลัวผู้ใดที่จะขัดขวางภาระกิจของท่านในเมื่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงรับเป็นกิจของพระองค์ในการปกป้องท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จากเหล่ามนุษย์ตามที่อัล-กุรอานระบุ

 

ในชีวประวัติของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีระบุไว้ในหลายเหตุการณ์ที่เหล่าเศาะหาบะฮฺเคยขอให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทบทวนสิ่งที่ท่านได้วินิจฉัย (อิจญ์ติฮาด) แต่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ไม่เคยละทิ้งคำสั่งของพระองค์ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของพวกเขา ดังเช่นกรณีการบอกเลิกการครองอิหฺรอมหัจญ์ไปสู่การครองอิหฺรอมอุมเราะฮฺในกรณีของบุคคลที่ไม่ได้ไล่ต้อนสัตว์ที่จะเชือดพลีมาด้วย หรือในครั้งเหตุการณ์อัล-หุดัยบียะฮฺที่กล่าวถึงมาแล้ว รวมถึงกรณีการแต่งตั้งท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ให้เป็นแม่ทัพ (ดู ฟัตหุลบารียฺ 3/606 หะดีษเลขที่ 1785 , 8/587 หะดีษเลขที่ 4844 , 8/152 หะดีษเลขที่ 4468 , 4469)

 

จะเป็นไปได้หรือว่า ในวันพฤหัสฯอับโชคนั้น ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะละทิ้งคำสั่งของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่สำคัญยิ่งกว่าเรื่องที่เคยเกิดขึ้นเพียงแค่การขัดแย้งของเหล่าเศาะหาบะฮฺ และหากสมมุติว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ละทิ้งความประสงค์ของท่านในวันนั้นเนื่องจากท่านมีเหตุผลบางอย่างก็ต้อถามว่า อะไรเล่า? ได้มาห้ามมิให้ท่านสั่งใช้ให้นำวัสดุที่ใช้เขียนและน้ำหมึกมาเขียนถ้อยความสำคัญนั้นอีกครั้งหลังจากที่เศาะหาบะฮฺกลุ่มนั้นถูกไล่ออกจากบ้านของท่านไปแล้ว เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยังคงมีชีวิตอยู่ต่ออีกหลายวัน

 

กล่าวคือท่านสิ้นชีวิตในวันจันทร์ตามที่มีรายงานของท่านอะนัส (ร.ฎ.) ระบุมาอย่างชัดเจน (ดู เศาะหิหฺอัล-บุคอรียฺ (ฟัตหุลบารียฺ) 8/143 หะดีษเลขที่ 4448 , เศาะหิหฺมุสลิม 1/315 หะดีษเลขที่ 419) แต่เหตุการณ์การบันทึกนั้นเกิดขึ้นในวันพฤหัสโดยการเห็นพ้องของทั้งสองฝ่าย ถึงแม้ว่าอัต-ตีญานียฺจะอ้างในข้อเขียนของเขาว่า “วิทยปัญญาของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงนำพาว่า ท่านจะไม่เขียนบันทึกดังกล่าวแก่พวกเขา เพราะว่าท่านถูกกล่าวหาในสิ่งนั้นขณะท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะทำอย่างไรได้กับสิ่งนั้นภายหลังการเสียชีวิตของท่าน พวกที่กล่าวหาย่อมพูดว่า : นั่นเป็นเพราะท่านนบีเพ้อจากคำพูดนั้น และบางทีพวกเขาอาจจะตั้งข้อสงสัยเอาได้ในข้อชี้ขาดบางเรื่องซึ่งท่านนบีได้กระทำไว้ในการป่วยที่ท่านเสียชีวิต เพราะความเชื่อของพวกเขาว่านบีเพ้อเป็นสิ่งที่ยืนยันได้” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 98)

 

หากการที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ละทิ้งการเขียนบันทึกนั้นมีเหตุผลเพียงแค่กลัวว่าจะถูกข้อครหาอย่างที่อัต-ตีญานียฺอ้าง กล่าวคือ กลัวว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺจะไม่ยอมรับและคัดค้านสิ่งที่ท่านเขียนด้วยข้อหาว่าท่านเพ้อ หากเป็นเช่นนั้นจริง ข้อครหาที่มโนภาพเอาเองนั้นก็ไม่ได้ส่งผลร้ายใดๆ แก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หากว่าท่านจะสั่งให้เขียนในภายหลังเพราะนั่นเป็นภาระกิจของท่านที่จำต้องเผยแผ่และเปิดเผยความจริง ดังที่อัล-กุรอานระบุว่า “ผู้ใดเชื่อศาสนทูต แน่แท้ผู้นั้นเชื่อฟังอัลลอฮฺ และผู้ใดผินหลัง (ไม่ยอมรับ) เราก็มิได้ส่งท่านมาเพื่อเป็นผู้ควบคุมดูแล (พฤติกรรม) ของพวกเขาอยู่แล้ว” (อัน-นิสาอฺ : 80)

 

ดังนั้นเมื่อเป็นที่ยืนยันอย่างชัดเจนระหว่าง 2 ฝ่ายว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ได้สั่งให้เขียนบันทึกนั้นอีกเลยหลังเหตุการณ์วันพฤหัสฯ จนกระทั่งท่านได้สิ้นชีวิต ก็ย่อมเป็นที่รับรู้ได้ว่า เรื่องที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ประสงค์จะให้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่ท่านถูกสั่งใช้ให้เผยแผ่ เพราะถ้าเป็นเรื่องจำเป็นท่าน นบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ย่อมไม่ละทิ้งหรือปล่อยให้เรื่องจบลงอยู่เพียงแค่นั้น

 

เพราะแม้แต่ 3 ประการที่ท่านได้สั่งเสียในเหตุการณ์วันพฤหัสฯ คือการขับพวกตั้งภาคีออกจากคาบสมุทรอาหรับ การอนุญาตให้คณะตัวแทนเหมือนอย่างที่ท่านเคยอนุญาต และการจัดเตรียมทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ยังกำชับสั่งเสียต่อเหล่าเศาะหาบะฮฺในเหตุการณ์วันพฤหัสฯ นั้น แล้วทำไมเรื่องการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรท่านจะสั่งใช้ให้มีการเขียนอีกครั้งไม่ได้หรืออย่างน้อยท่านก็สามารถบอกกล่าวด้วยวาจาก็ได้ หากจะอ้างว่าถ้าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) บอกกล่าวด้วยวาจาก็จะถูกครหาว่าเพ้ออีก แล้วคำสั่งเสีย 3 ประการของท่านเล่าจะว่าอย่างไร? เพราะไม่มีรายงานใดๆ ระบุว่าคำสั่งเสียของท่านก็ถูกครหาว่าเป็นผลมาจากการเพ้อแต่อย่างใด

 

แน่นอน เหตุการณ์วันพฤหัสฯ อับโชคมีบันทึกตรงกันทั้ง 2 ฝ่ายตามที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้าง แต่การอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ประสค์จะให้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น แต่ละฝ่ายต่างก็มีคำอธิบายตามมุมมองและทัศนะของตน คือเห็นไม่ตรงกันอยู่ดี และอัต-ตีญานียฺก็เลือกที่จะเห็นตามคำอธิบายของฝ่ายชีอะฮฺซึ่งอัต-ตีญานียฺถือว่าสมเหตุสมผลและกินกับปัญญา คำอธิบายที่ว่านั้นก็คือสิ่งที่ชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺเขียนไว้ในอัล-มุรอญิอาตของเขาและเป็นสิ่งที่สัยยิด มุฮัมมัด บากิรฺ อัศ-ศอดร์ได้ให้คำตอบแก่อัต-ตีญานียฺเอาไว้ นั่นคือ การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อแต่งตั้งท่านอะลี (ร.ฎ.) ให้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺหลังการเสียชีวิตของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) และเหล่าเศาะหาบะฮฺไม่อาจจะยอมรับได้ตามคำกล่าวอ้างของอัต-ตีญานียฺและฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺและการกล่าวอ้างเช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการกล่าวอ้างว่าพวกตนล่วงรู้ถึงสิ่งที่อยู่ในจิตใจของท่านอุมัร (ร.ฎ.) และหัวใจของเหล่าเศาะหบะฮฺว่าพวกท่านเหล่านั้นคิดอะไร? อัต-ตีญานียฺและอาจารย์ชาวชีอะฮฺของเขารู้ชัดถึงขนาดนั้นเชียว! นี่หรือมาตรฐานในการวิเคราะห์และสืบค้นที่ตั้งอยู่บนตวามเป็นกลางและไม่คาดเดาของอัต-ตีญานียฺ ไม่เลย! สิ่งดังกล่าวเป็นเพียงมโนภาพที่เต็มไปด้วยอคติเท่านั้น!

 

เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ชีอะฮฺ อิมามียะฮฺกล่าวอ้างอยู่เสมอว่า แท้จริงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กำหนดเป็นตัวบทอันชัดแจ้งที่ไร้ข้อกังขาว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) คือผู้สืบทอด (วะศียฺ) ตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺหรืออิมามหลังจากท่านโดยตรง อัล-มูสาวียฺก็อ้างว่ามีตัวบทถึง 40 ตัวบทที่ชัดเจนระบุถึงการเป็นอิมามะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) (ดู อัล-มุรอญิอะฮฺ 48 อัล-มูสาวียฺระบุหะดีษ 40 บท ตั้งแต่หน้า 305-327 ฉบับแปลภาษาไทย) อัล-ลามะฮฺ อับดุลลอฮฺ ชิบฺร์ ปราชญ์ของชีอะฮฺก็รายงานหะดีษจำนวน 13 บทที่ยืนยันถึงการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่าน อะลี (ร.ฎ.) ในหนังสือหักกุลยะกีนของเชา (หักกุลยะกีน ฟี มะอฺริฟะฮฺ อุศูลิดดีน ; อับดุลลอฮฺ ชิบฺร์ เล่มที่ 1 หน้า 174-282)

 

ฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺเชื่อมั่นอย่างเด็ดขาดโดยพวกเขามีบรรดาหลักฐานและสิ่งบ่งชี้ที่ไม่อาจนับจำนวนได้ว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้แต่งตั้งเคาะลีฟะฮฺของท่านไว้แล้ว และกำหนดเป็นตัวบทตลอดจนออกชื่อเอาไว้อย่างชัดเจนก่อนที่ท่านจะจากไปยังโลกสุดท้ายในหลายวาระโอกาส และในหลายตัวบท (ดิรอสาต ฟี อะกออิด อัช-ชีอะฮฺ อัล-อิมามียะฮฺ ; สัยยิด มุฮัมมัด อะลี อัล-หะสะนียฺ หน้า 68) และสำหรับชีอะฮฺ อิมามียะฮฺมีหลักฐานมากมายที่บรรดานักปราชญ์ของพวกเขากล่าวถึงในบรรดาตำราของพวกเขาซึ่งทำการวิเคราะห์ถึงเรื่องอิมามะฮฺ เหตุนี้ชีอะฮฺจึงเชื่อมั่นอย่างเด็ดขาดว่าแท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กำหนดเจาะจงเคาะลีฟะฮฺของท่านเอาไว้แล้วและกำชับสั่งเสียตลอดจนตั้งให้ผู้นั้นเป็นอิมามหลังจากท่าน

 

และเคาะลีฟะฮฺที่ถูกเจาะจงและถูกแต่งตั้งจากทางท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตลอดจนมีตัวบทระบุว่าผู้นั้นเป็นอิมามหลังจากท่าน อีกทั้งเป็นผู้พิทักษ์หลักชะรีอะฮฺของท่านคือ ท่านอิมาม อะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (อะลัยฮิสสลาม) โดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ และฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺยังได้อ้างหลักฐานถึงการเป็นอิมามและเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (อ.ล.) ภายหลังจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ด้วยอายะฮฺอัล-กุรอานบางอายะฮฺที่มีระบุในคัมภีร์อัล-กุรอาน เช่น อายะฮฺอัล-วิลายะฮฺ (อัล-มาอิดะฮฺ : 15) อายะฮฺอัล-มุบาฮะละฮฺ (อาลิ อิมรอน : 61) อายะฮฺอัต-ตัฏฮีรฺ (อัล—อะหฺซาบ : 33) อายะฮฺอัล-มะวัดดะฮฺ (อัช-ชูรอ : 23) อายะฮฺอัล-อีมาน (อัส-สะญะดะฮฺ : 18) – อ้างแล้ว หน้า 77-88) ส่วนหลักฐานจากบรรดาหะดีษที่ยืนยันถึงการเป็นอิมามของท่านอะลี (ร.ฎ.) นั้นก็เช่น กะดีษ อัล-มันซิละฮฺ , หะดีษอัล-เฆาะดีรฺ เป็นต้น (อ้างแล้ว หน้า 89-98)

 

ในเมื่อฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺมีหลักฐานมากมายที่ชัดเจนทั้งในคัมภีร์อัล-กุรอานและ หะดีษของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แล้วเหตุไฉนจึงมายึดเอาสิ่งที่เป็นเพียงเปลือกกระพี้เล่าโดยตอกย้ำว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ประสงค์จะเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อกำหนดเป็นตัวบทว่าท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) คือเคาะลีฟะฮฺภายหลังจากท่านเพราะเมื่อหลักฐานที่ชัดเจนมากมายถึงเพียงนั้นแล้ว ทำไมท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงต้องสั่งให้เหล่าเศาะหาบะฮฺทำการบันทึกตัวบทนั้นอีก

 

แต่ถ้าหากอัต-ตีญานียฺและชีอะฮฺ อิมามียะฮฺจะอ้างว่า ที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ต้องทำเช่นนั้นก็เป็นเพราะฝ่ายอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺอาจจะไม่ยอมรับบรรดาตัวบทเหล่านั้นหรือตีความไปเป็นอื่นก็ตอบได้ว่า ในเมื่อฝ่ายสุนนะฮฺยังปฏิเสธบรรดาตัวบทที่ชัดเจนตามที่ชีอะฮฺอ้าง และเป็นตัวบทที่รับรู้กันต่อหน้าสาธารณชนอย่างหะดีษ อัล-เฆาะดีรฺ แล้วทำไมฝ่ายสุนนะฮฺจะปฏิเสธการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่มีคนกลุ่มเล็กๆ ร่วมรับรู้อยู่ด้วยไม่ได้ และสมควรกว่าที่จะถูกปฏิเสธด้วยซ้ำไป การอ้างของฝ่ายชีอะฮฺจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการตีรวนและสร้างเรื่องให้เป็นที่เคลือบแคลงเท่านั้น เพราะถึงอย่างไรพวกเขาก็มีหลักฐานมากมายที่ชัดเจนอยู่แล้วในการยืนยันว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นเคาะลีหะฮฺหลังจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยตรง ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะเขียนบันทึกนั้นหรือไม่ก็ตาม

 

อัต-ตีญานียฺเขียนว่า “จากจุดนี้ข้าพเจ้าจึงมีจุดยืนที่สับสนในคำอธิบายท่าทีซึ่งท่านอุมัรฺ อิบนุ อัล-คอฏฏอบมีจุดยืนต่อคำสั่งของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) คือคำสั่งอันใดหรือ? เป็นคำสั่งที่จะปกป้องจากความหลงผิดให้แก่ประชาคมนี้ และไม่ต้องสงสัยเลยว่า แท้จริงสิ่งที่จะบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรนี้ย่อมปรากฏมีสิ่งใหม่ในนั้นสำหรับชาวมุสลิมที่มันจะตัดรอนเหนือพวกเขาซึ่งข้อสงสัยทั้งหมด” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 96)

 

วิภาษ

หากอัต-ตีญานียฺสับสนกับท่าทีของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ที่แสดงจุดยืนต่อคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เราก็คงต้องสับสนกับจุดยืนของอัต-ตีญานียฺที่มีต่อบรรดาหลักฐานที่ชัดเจนซึ่งระบุว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) คือเคาะลีฟะฮฺและอิมามที่ชอบธธรมหลังจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เป็นหลักฐานที่มากมายจนไม่อาจนับจำนวนได้และน่าจะเพียงพอสำหรับการไม่ต้องใส่ใจกับสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีคำสั่งให้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรในวันพฤหัสฯ มหาวิปโยคนั้นเลยด้วยซ้ำ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะสั่งให้เขียนหรือไม่ก็ตาม และหลักฐานเหล่านั้นก็น่าจะเพียงพอในการตัดรอนข้อสงสัยทั้งหมดเกี่ยวกับความชอบธรรมของท่านอะลี (ร.ฎ.) และพิทักษ์ประชาคมมุสลิมให้รอดพ้นจากการหลงผิด

 

และสิ่งที่อัต-ตีญานียฺอ้างว่า ในการบันทึกนั้นย่อมมีสิ่งใหม่สำหรับชาวมุสลิมอย่างไม่ต้องสงสัย อะไรคือสิ่งใหม่ที่ว่านั้น? ในเมื่อก่อนหน้านั้นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ระบุอย่างชัดเจนแล้วในหลายวาระว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) คือเคาะลีฟะฮฺผู้สืบทอดที่ชอบธรรมโดยเฉพาะในเหตุการณ์เฆาะดีรฺคุม ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเหตุการณ์วันพฤหัสฯ อับโชคเป็นเวลานับเดือน หากสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะสั่งให้บันทึกเป็นเรื่องใหม่จริงดังคำกล่าวอ้างแล้วเรื่องใดคือเรื่องเก่าก่อนหน้านั้นเล่า?

 

คำตอบก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการแต่งตั้งท่านอะลี (ร.ฎ.) ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮฺเป็นการเฉพาะ อัต-ตีญานียฺอาจจะเขียนไว้เพียงแค่เรื่องของท่านอะลี (ร.ฎ.) แต่ปราชญ์อย่างชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺเขียนเลยไปอีกว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยังได้ทำการสั่งเสียเกี่ยวกับเรื่องของบรรดอิมามผู้ซึ่งสืบเชื้อสายของท่านต่อไปอีกด้วย (ดู อัล-มุรอญิอาต หน้า 527 ฉบับแปลภาษาไทย)

 

เรื่องนี้กระมังที่เป็นเรื่องใหม่ซึ่งอัต-ตีญานียฺเขียนเปรยเอาไว้ เพราะลำพังเรื่องการแต่งตั้งท่านอะลี (ร.ฎ.) นั้นย่อมถือเป็นเรื่องเก่า แต่กรณีของอิมามมะอฺศูมที่เหลือและสืบเชื้อสายจากท่านน่าจะเป็นเรื่องใหม่ที่แม้แต่ท่านอุมัร (ร.ฎ.) และเหล่าเศาะหาบะฮฺที่พยายามขัดขวางในวันพฤหสฯอับโชคก็ยังนึกไม่ถึง ที่สำคัญคำตอบของสัยยิด มุฮัมมัด บากิรฺ อัศ-ศอดร์ที่อัต-ตีญานียฺเขียนถึง และข้อเขียนของชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺที่อ้างว่า หะดีษเรื่องการบันทึกในวันพฤหัสฯ อับโชคกับหะดีษษะเกาะลัยนฺเป็นเรื่องเดียวกัน หรือมีความหมายที่ใช้ไปในประเด็นเดียวกัน

 

อะไรคือหะดีษษะเกาะลัยนฺ? นั้นคือหะดีษที่ว่า แท้จริงฉันได้ละทิ้งไว้ในหมู่พวกท่าน ซึ่งสิ่งที่ถ้าหากพวกท่านได้ยึดมั่นกับสิ่งนั้นแล้ว พวกท่านจะไม่หลงผิด นั่นคือคัมภีร์ของอัลลอฮฺ และเชื้อสายของฉันแห่งอะฮฺลิลบัยตฺ (อัล-มุรอญิอาต หน้า 527 , ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 98) อัล-มูสาวียฺเขียนว่า “ท่านจะสามารถพิจารณาได้ทันทีว่าความหมายในสองหะดีษนี้ชี้ในประเด็นเดียวกัน กล่าวคือ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีความประสงค์ที่จะบันทึกข้อความให้แก่เหล่าสาวกทั้งหลายในขณะที่ท่านนอนเจ็บอยู่ ซึ่งสิ่งที่เป็นข้อกำหนดให้แก่พวกเขาเหล่านั้นตามที่ระบุอยู่ในหะดีษษะเกาะลัยนฺ” (อัล-มุรอญิอาต หน้า 527)

 

หากเป็นดังที่อัล-มูสาวียฺกล่าวอ้าง และอัต-ตีญานียฺก็โน้มเอียงยังคำกล่าวอ้างนี้ นั่นย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การบันทึกเรื่องนี้ซ้ำตามความประสงค์ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงไม่ใช่เรื่องจำเป็นและไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะหะดีษษะเกาะลัยนฺเป็นเรื่องเก่าและมีความชัดเจนที่ไร้ข้อครหาว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวหะดีษษะเกาะลัยนฺโดยเพ้อเจ้อ และถ้าหากสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ประสงค์จะให้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรคือ เนื้อหาของหะดีษษะเกาะลัยนฺ เพราะมีประเด็นเดียวกันคือ พวกท่านจะไม่หลงผิดและพิทักษ์ประชาคมมุสลิมให้รอดพ้นจากความหลงผิด และการขัดแย้งในระหว่างกัน ซึ่งอัต-ตีญานียฺอ้างว่าทุกข้อสงสัยจะยุติลงทันที

 

กอปรกับข้อเขียนของอัล-มูสาวียฺที่ลากเรื่องนี้ไปถึงบรรดาอิมามมะอฺศูมที่จะสืบต่อจาท่านอะลี (ร.ฎ.) ด้วย แล้วเหตุไฉนหะดีษษะเกาะลัยนฺจึงไม่สามารถพิทักษ์รักษาให้กลุ่มของชีอะฮฺด้วยกันเองรอดพ้นจากความหลงผิดและขัดแย้งกันเองเล่า ทำไมชีอะฮฺจึงแตกกลุ่มออกได้มากมายเพียงนั้น และต่างฝ่ายต่างก็ถือว่าชีอะฮฺกลุ่มที่อยู่นอกแนวทางของตนเป็นผู้หลงผิด ซึ่งเรื่องนี้เราคงไม่จำเป็นต้องนำมากล่าวถึง ณ ที่นี้เอาไว้เมื่อถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะได้ลงในรายละเอียดอีกครั้ง อินชาอัลลอฮฺ