20. คำอธิบายของฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ประสงค์จะให้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในวันพฤหัสฯ มหาวิปโยค

ก่อนที่เราจะได้ลงรายละเอียดถึงสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีความประสงค์จะให้มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในวันพฤหัสฯ ขณะที่ท่านมีอาการป่วยหนักตามคำอธิบายของฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ เราขอสรุปประเด็นอันเป็นสาระสำคัญที่ได้จากการวิภาษข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺกับพวกดังนี้

 

1) ในวันพฤหัสฯ ก่อนหน้าการเสียชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) 3-4 วัน (แล้วแต่จะนับโดยถือเอารายงานจากท่านอะนัส (ร.ฎ.) ที่ระบุว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เสียชีวิตในวันจันทร์ถัดมา) วันนั้นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีอาการป่วยหนักตามที่ท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) รายงาน และภายในบ้านของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีเศาะหาบะฮฺอยู่จำนวนหนึ่ง คือหลายคนแต่มิใช่เศาะหาบะฮฺทั้งหมด หนึ่งในเหล่าเศาะหาบะฮฺนั้นคือ ท่านอุมัร (ร.ฎ.)

2) ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้มีคำสั่งให้เศาะหาบะฮฺที่อยู่ภายในบ้านของท่านในวันนั้นนำวัสดุที่ใช้ในการบันทึกกับน้ำหมึกมาให้แก่ท่าน เพื่อที่ท่านจะได้สั่งให้บันทึกข้อความที่เหล่าเศาะหาบะฮฺจะได้ไม่ผิดพลาดในภายหลัง คำสั่งนั้นเป็นสำนวนคำสั่งที่ชัดเจน แต่มีนัยบ่งชี้ที่ตีความได้ว่าเป็นเรื่องจำเป็นก็ได้ เป็นเรื่องที่ส่งเสริมก็ได้

 

เหตุนั้นเศาะหาบะฮฺที่อยู่ร่วมในขณะนั้นจึงมีความเห็นต่างเกี่ยวกับนัยของคำสั่ง ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสมควรที่จะทำตามคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่ด้วยสภาพอาการป่วยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่มีอาการป่วยหนัก ท่านอุมัร (ร.ฎ.) จึงมีความเห็นว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีอาการป่วยหนักควรที่จะให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้พักผ่อน ไม่ควรรบกวนท่าน โดยกล่าวว่า เหล่าเศาะหาบะฮฺมีคัมภีร์อัล-กุรอานซึ่งสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว สิ่งที่อัล-กุรอานระบุไว้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว เศาะหาบะฮฺอีกฝ่ายหนึ่งจึงเห็นด้วยกับคำกล่าวของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ซึ่งท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ไม่ได้ตำหนิความเห็นของท่านอุมัร (ร.ฎ.)

 

แต่เมื่อเศาะหาบะฮฺกลุ่มแรกแสดงความเห็นค้านว่า ทำไมจึงไม่ให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เขียนบันทึกตามที่ท่านประสงค์เล่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ออกคำสั่งแล้วก็ควรทำตาม ท่านไม่ได้พูดจาเพ้อเจ้อเนื่องจากอาการป่วยของท่านเสียหน่อย! ถ้าสงสัยก็ให้ถามท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ดู เศาะหาบะฮฺที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์จึงถามท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวขึ้นว่า พวกท่านจงปล่อยฉันเถิด สิ่งที่ฉันเป็นอยู่นี้ย่อมดีกว่าสิ่งที่พวกท่านเรียกร้องฉันไปยังสิ่งนั้น เมื่อเศาะหาบะฮฺยังคงถกเถียงในระหว่างกันและส่งเสียงดังในระหว่างพวกเขา ท่านจึงสั่งว่า ให้ทั้งหมดลุกขึ้นและออกไปจากท่าน เพราะไม่สมควรที่จะมีขัดแย้งกันต่อหน้าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

 

การถกเถียงและส่งเสียงดังของเหล่าเศาะหาบะฮฺเป็นการส่งเสียงดังในระหว่างพวกเขากันเอง ไม่ใช่ส่งเสียงดังและเถียงกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กระนั้นก่อนที่เหล่าเศาะหาบะฮฺจะออกไป ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ได้กำชับสั่งเสียพวกเขา 3 ประการด้วยกัน เนื้อหาของทุกรายงานที่ระบุเหตุการณ์ในวันพฤหัสฯ อธิบายได้อย่างนี้ เหตุการณ์ไม่ได้ลุกลามใหญ่โตและมีเงื่อนงำใดๆ แอบแฝงอย่างที่อัต-ตีญานียฺกับพวกพยายามสร้างมโนภาพให้เป็นเช่นนั้นแต่อย่างใด หากจะถือเป็นข้อผิดพลาดของเหล่าเศาะหาบะฮฺก็เป็นเรื่องของการเสียมารยาทที่ถกเถียงกันต่อหน้าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้สำหรับบรรดาเศาะหาบะฮฺ เพราะพวกเขามิใช่ผู้ที่บริสุทธิ์จากความผิดพลาด มิใช่เป็นบุคคลมุอฺศูม

 

3) ท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) มิได้กล่าวหาท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่าพูดเพ้อ เพราะไม่มีข้อความใดบ่งชี้เช่นนั้น ตามที่มีระบุในเนื้อหาของรายงานหะดีษ และสำนวนที่ระบุว่าเศาะหาบะฮฺกล่าวถึงเรื่องการเพ้อของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็มิใช่การกล่าวหา แต่เป็นสำนวนคำถามที่ค้านความเห็นของอีกฝ่ายว่าทำไมจึงไม่ทำตามที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) สั่ง ท่านพูดเพ้อหรือไร? ถึงไม่ทำตาม! และการเขียนของอัต-ตีญานียฺกับพวกเป็นการสรุปเอาเองว่าท่านอุมัร (ร.ฎ.) กล่าวหานบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่าเพ้อ ทั้งๆ ที่สำนวนของหะดีษไม่มีระบุเช่นนั้น

 

4) หลังเหตุการณ์วันพฤหัสฯ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ไม่ได้มีคำสั่งในเรื่องการบันทึกอีกเลย จนกระทั่งท่านได้เสียชีวิตในวันจันทร์ ซึ่งบ่งชี้ว่าคำสั่งของท่านในวันพฤหัสฯ มิใช่สิ่งจำเป็นที่จำต้องเผยแผ่ตามบัญชาของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) แต่เป็นการเผื่อเอาไว้ เพราะหากเป็นเรื่องจำเป็นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็จะไม่ละทิ้งเรื่องการบันทึกดังกล่าว ไม่ว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺจะเห็นด้วยหรือใม่ก็ตาม

 

5) การเรียกเหตุการณ์วันพฤหัสฯ ว่าเป็นความอับโชคหรือมหาวิปโยคเป็นการเรียกตามสิ่งที่ท่านอิบนุอับบาส (ร.ฎ.) กล่าวถึงกรณีที่เหล่าเศาะหาบะฮฺมีการถกเถียงและส่งเสียงดังในระหว่างกันจนเป็นเหตุให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มิได้บันทึกสิ่งที่ท่านมีความประสงค์ ความอับโชคหรือความวิปโยคเป็นกรณีของคนที่สงสัยในสถานภาพการเป็นเคาะลีฟฟะฮฺของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) หลังจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เสียชีวิต การรายงานหะดีษนี้และการร้องไห้ของท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) เป็นคนละช่วงเวลากับการเกิดเหตุการณ์วันพฤหัสฯ กล่าวคือ การรายงานหะดีษนี้เกิดขึ้นภายหลังการจากไปของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดกลุ่มอุตริกรรมทั้งหลาย

 

และการรำลึกถึงการล้มป่วยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เป็นเหตุให้ท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ร้องไห้ ท่านมิได้ร้องไห้เนื่องจากการถกเถียงของเหล่าเศาะหาบะฮฺในวันพฤหัสฯ ขณะที่นบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยังมีชีวิตอยู่และมิได้เป็นเหตุมาจากการหลงผิดของประชาคมมุสลิม เพราะหลังการสิ้นชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ประชาคมมุสลิมก็มีมติเห็นพ้องหลังเหตุการณ์ที่สะกีฟะฮฺในการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) และให้สัตยาบันแก่ท่าน และท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ก็คือบุคคลหนึ่งที่เห็นชอบและให้สัตยาบันแก่ ท่านอบูบักร (ร.ฎ.) เรื่องทั้งหมดอธิบายได้อย่างนี้เมื่อนำเอารายงานทั้งหมดมารวมกัน เรื่องราวไม่ได้เลวร้ายอย่างที่อัต-ตีญานียฺกับพวกพยายามเขียนให้เป็นอย่างที่มีมโนภาพและคาดเดาแต่อย่างใด

 

สำหรับคำอธิบายของฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺถึงสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีคำสั่งให้ทำการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในวันพฤหัสฯ ที่ท่านมีอาการป่วยหนักนั้น นักปราชญ์ชาวสุนนะฮฺส่วนมากมีทัศนะว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีความประสงค์ที่จะกำหนดเป็นตัวบทด้วยการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการเป็น เคาะลีฟะฮฺของท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) แต่ต่อมาท่านก็ละทิ้งสิ่งดังกล่าวโดยถือตามสิ่งที่ท่านรู้ดีจากการกำหนดลิขิตของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) คำกล่าวที่ว่านี้ ท่านสุฟยาน อิบนุ อุยัยนะฮฺได้เล่าไว้จากนักปราชญ์ในรุ่นก่อนหน้าท่าน (ชัรหุ เศาะหิหฺ มุสลิม , อัน-นะวาวียฺ 11/90 และตามคำกล่าวนี้ อิมามอัล-กุรฏุบียฺ (อัล-มุฟฮิม 4/558) ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ (มินฮาญุสสุนนะฮฺ 6/23 , 24 , 316 และอัส-สุวัยดียฺ (อัศ-ศอริม อัล-หะดีด 2/48) มีความเห็นโดยอาศัยหลักฐานที่มีระบุในเศาะหิหฺทั้งสองจากหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า : เธอจงเรียกอบูบักรฺและพี่น้องของเธอมาให้ฉันเพื่อที่ฉันจะได้เขียนหนังสือฉบับหนึ่ง เพราะฉันเกรงว่าจะมีคนที่ปรารถนาเกิดความปรารถนา และมีผู้กล่าวว่า : ฉันสมควรกว่า และอัลลอฮฺตลอดจนเหล่าผู้ศรัทธาย่อมไม่ยอมนอกจากอบูบักรฺเท่านั้น (มุสลิม 4/1857 หะดีษเลขที่ 2387 , อัล-บุคอรียฺในฟัตหุลบารียฺ 13/205 หะดีษเลขที่ 7217)

 

อิมามอัล- บุคอรียฺรายงานจากอัล-กอสิม อิบนุ มุฮัมมัด จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) โดยสำนวนของอัล-หะดีษระบุว่า : ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวว่า : ทว่าฉันเองก็ปวดศีรษะ และแน่แท้ฉันตั้งใจว่าจะส่งคนไปยังอบูบักรฺและบุตรของเขา แล้วฉันก็ได้ทำสัญญา เกรงว่าจะมีผู้กล่าวหรือมีผู้ปรารถนาจะเกิดความปรารถนา แล้วฉันก็กล่าวว่า อัลลอฮฺทรงไม่ยอมและบรรดาผู้ศรัทธาก็จะทัดทาน หรืออัลลอฮฺจะทรงทัดทานและบรรดาผู้ศรัทธาจะไม่ยอม (เศาะหิหฺ อัล-บุคอรียฺ เล่มที่ 6 กิตาบอัล-อะหฺกาม เลขที่ 6791) โดยสำนวนการรายงานของ อิมามมุสลิมได้ขยายความประโยคดังกล่าวว่า “และอัลลอฮฺตลอดจนบรรดาผู้ศรัทธาจะไม่ยอม นอกจากอบูบักรฺเท่านั้น”

 

ความตั้งใจของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในการบันทึกลายลักษณ์อักษรให้แก่ท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) เกิดขึ้นในวันแรกที่ท่านเริ่มล้มป่วยดังปรากฏในหะดีษของศอลิหฺ อิบนุ กัยสานจากอัซ-ซุฮฺรียฺ จากท่านอุรฺวะฮฺจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : ฉันได้เข้าไปหาท่าน รสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในวันซึ่งท่านเริ่มมีอาการเจ็บป่วย ท่านก็กล่าวว่า “เธอจงเรียกบิดาและพี่น้องของเธอมาให้ฉัน เพื่อที่ฉันจะได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแก่อบูบักรฺ” ต่อมาภายหลังท่านก็กล่าวว่า “อัลลอฮฺและบรรดามุสลิมจะไม่ยอมเว้นเสียแต่อบูบักรเท่านั้น” หะดีษนี้อยู่ในเศาะหิหฺทั้งสอง

 

และมีรายงานจากอิบนุ อบี มุลัยกะฮฺจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : เมื่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีอาการป่วยหนักท่านได้กล่าวว่า “เธอจงเรียกอับดุรฺเราะหฺมาน อิบนุ อบีบักรฺมาให้ฉันที เพื่อที่ฉันจะได้ให้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแก่อบูบักรฺ จะได้ไม่มีการขัดแย้งต่อกัน” ภายหลังท่านก็กล่าวว่า : ขอความคุ้มครองต่อพระองค์อัลลอฮฺในการที่บรรดาศรัทธาชนจะขัดแย้งกันในอบูบักร” (อัล-มุนตะกอมิน มินฮาญิล อิอฺติดาล ; อัซ-ซะฮฺบียฺ หน้า 56 ดารฺ อาลัม อัล-กุตุบริยาฏ พิมพ์ครั้งแรก 1996)

 

และเป็นที่ทราบกันว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ล้มป่วยเป็นเวลา 13 หรือ 14 วันด้วยกัน โดยวันแรกที่ท่านเริมมีอาการป่วยคือวันที่ 29 เดือนเศาะฟัรฺ ปีฮ.ศ. ที่ 11 ตรงกับวันจันทร์หลังจากการที่ท่านกลับจากญะนาซะฮฺที่สุสานบะเกียะอฺ (อัร-เราะหิก อัล-มัคตูม ; เศาะฟียุรเราะหฺมาน อัล-มุบารอกฟูรียฺ หน้า 341) นั่นย่อมหมายความว่า เรื่องการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺเป็นสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยปรารภหรือมีความตั้งใจมาก่อนวันพฤหัสฯ มหาวิปโยคนั่นแล้วตั้งแต่วันแรกที่ท่านเริมมีอาการป่วย แต่ต่อมาท่านก็ปล่อยให้เรื่องนี้เป็นไปตามกำหนดลิขิตของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และสิ่งที่ประชาคมมุสลิมเห็นพ้องในการเลือกผู้นำของพวกเขาหลังการจากไปของท่าน ซึ่งคำกล่าวของท่านเป็นการแสดงความมั่นใจว่า ประชาคมมุสลิมจะเลือกท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) และเห็นพ้องในการให้สัตยาบัน และเป็นไปได้ว่าเมื่อเวลาได้ผ่านไปจนถึงวันพฤหัสฯ ที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีอาการเจ็บหนักในการล้มป่วยของท่าน ท่านก็มีความประสงค์อีกครั้งในการที่จะให้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อความชัดเจนสำหรับเหล่าเศาะหาบะฮฺที่อาจจะยังมีข้อสงสัยในเรื่องนี้

 

ครั้นเมื่อการถกเถียงของเศาะหาบะฮฺในวันพฤหัสเกิดขึ้นตามที่ระบุรายงานในเศาะหิหฺทั้งสอง ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ยุติความประสงค์ในเรื่องการบันทึกนี้และปล่อยให้เป็นไปตามสิ่งที่ท่านเคยมีท่าทีในการตัดสินใจมาก่อนแล้วในวันแรกที่ท่านล้มป่วย คือ ท้ายที่สุดแล้วพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ก็จะทรงลิขิตให้อบูบักรฺ (ร.ฎ.) เป็นเคาะลีฟะฮฺและประชาคมมุสลิมก็จะไม่ยอมรับผู้ใดให้เป็นเคาะลีฟะฮฺนอกจากอบูบักรฺ (ร.ฎ.) เท่านั้น และเหตการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้คาดการณ์เอาไว้ทุกประการ นี่คือตำอธิบายของนักวิชาการฝ่ายอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺที่เกี่ยวกับตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่างเคาะลีฟะฮฺหลังจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) คือ ท่านอบูบักร์ (ร.ฎ.) ซึ่งท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็ยอมรับและให้สัตยาบันแก่ท่านอบูบักร์ (ร.ฎ.) ไม่ว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) จะให้สัตยาบันนับแต่แรกหรือล่าช้าก็ตาม แน่นอน อัต-ตีญานียฺและฝ่ายชีอะฮฺคงไม่ยอมรับในคำอธิบายนี้ และเราก็คงไม่หวังให้พวกเขายอมรับในเรื่องนี้ เพราะหากพวกเขายอมรับแล้วไซร้ หลักความเชื่อของพวกเขาในเรื่องอิมามะฮฺก็ย่อมพังพาบอย่างไม่ต้องสงสัย!